งานแปล:ไคดัง: เรื่องเล่าขานและการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งประหลาด/บทที่ 12
เรื่อง อาโอ- ยางิ |
ในยุคบุมเม (1469–1486) มีซามูไรหนุ่มผู้หนึ่งนาม โทโมตาดะ เป็นข้ารับใช้ของฮาตาเกยามะ โยชิมูเนะ เจ้าแห่งโนโตะ โทโมตาดะเป็นคนพื้นถิ่นเอจิเซ็ง แต่ในวัยเยาว์ ถูกส่งตัวไปเป็นมหาดเล็กในพระตำหนักของไดเมียวแห่งโนโตะ และได้รับการศึกษาภายใต้การดูแลของเจ้าชายพระองค์นั้นเพื่อให้มาปฏิบัติอาชีวะทางการยุทธ์ ครั้นโตขึ้น เขาก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นบัณฑิตที่ดีงามและเป็นทหารที่ดีเลิศ และยังคงเป็นที่โปรดปรานของเจ้าชาย ด้วยเหตุที่มีอุปนิสัยน่ารักใคร่ วาทศิลป์ชนะใจ และรูปกายหล่อเหลาอย่างยิ่งเป็นพรสวรรค์ เขาจึงเป็นที่เชิดชูและชื่นชมมากในหมู่เพื่อนซามูไร
เมื่อโทโมตาดะอายุได้สัก 20 ปี ก็ได้รับการส่งไปปฏิบัติภารกิจลับให้แก่โฮโซกาวะ มาซาโมโตะ มหาไดเมียวแห่งเคียวโตะ พระญาติของฮาตาเกยามะ โยชิมูเนะ หลังได้รับบัญชาให้เดินทางผ่านเอจิเซ็ง ชายหนุ่มจึงขอและได้รับอนุญาตให้แวะระหว่างทางเพื่อเยี่ยมมารดาม่ายของตนได้
เมื่อเขาเริ่มเดินทางนั้น เป็นช่วงเวลาอันหนาวเย็นที่สุดแห่งปี ทั้งประเทศมีหิมะปกคลุม และแม้จะควบไปบนอาชาที่ทรงพละกำลัง แต่เขาก็ต้องพบว่า ตนจำต้องเดินหน้าไปอย่างช้า ๆ ถนนที่เขาดั้นด้นไปนั้นทะลุผ่านเขตภูเขาซึ่งมีชุมชุนคนอาศัยอยู่น้อยนิดและห่างไกลซึ่งกันและกัน และในวันที่สองของการเดินทางนั้น หลังขี่ม้ามาหลายชั่วโมงจนอิดโรย เขาก็แปลกใจที่พบว่า ไปไม่ถึงที่หยุดพักดังตั้งใจไว้สักที จนราตรีล่วงเข้าดึกดื่นแล้ว เขามีเหตุให้หวั่นวิตก เพราะพายุหิมะรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นพร้อมลมหนาวอย่างสาหัส ทั้งม้าก็แสดงอาการเหนื่อยหอบ กระนั้น ในห้วงเวลาแห่งความเหนื่อยยากนั้น โทโมตาดะก็เผอิญเห็นหลังคามุงฟางของกระท่อมแห่งหนึ่งบนยอดเนินใกล้ ๆ ซึ่งมีต้นหลิวงอกงามอยู่ เขาเร่งเจ้าสัตว์พาหนะอันเหนื่อยอ่อนให้ไปยังที่พักแห่งนั้นด้วยความยากเย็น และเขาเคาะอย่างดังลงบนประตูชั้นนอกซึ่งถูกปิดไว้กันลมพายุ หญิงชรานางหนึ่งเปิดประตูออกมาและร้องด้วยความเวทนาเมื่อได้เห็นคนจรรูปงามผู้นี้ว่า "อา ช่างน่าสงสาร! ในอากาศเช่นนี้พ่อหนุ่มยังเดินทางตามลำพังอีก! . . . เชิญเข้ามาเถิดนายน้อย"
โทโมตาดะลงจากหลังพาหนะ และเมื่อจูงม้าเข้าไปในโรงด้านหลังแล้ว ก็เข้าไปในกระท่อม ณ ที่นั้น เขาเห็นชายชราคนหนึ่งกับหญิงสาวคนหนึ่งกำลังผิงไฟที่ก่อขึ้นด้วยเศษไม้ไผ่ พวกเขาเชื้อเชิญโทโมตาดะให้เข้ามาใกล้ไฟด้วยใจนอบน้อม และจากนั้น เหล่าคนชราก็จัดการอุ่นสาเกบางส่วนพร้อมประกอบอาหารมาให้ชายผู้สัญจร ก่อนลองไถ่ถามถึงการเดินทางของเขา ขณะเดียวกัน สาวน้อยผู้นั้นก็หลบตัวไปอยู่หลังฉากกั้น โทโมตาดะสังเกตเห็นด้วยความพิศวงว่า สาวคนนั้นสวยงามเหลือใจ แม้อาภรณ์บนกายจะเป็นชนิดที่เศร้าหมองอย่างถึงที่สุด และเผ้าผมอันยาวและปล่อยหลุดลุ่ยจะยุ่งเหยิงก็ตาม เขาฉงนใจว่า เหตุใดจึงมีหญิงสาวสวยสะคราญถึงเพียงนี้อาศัยอยู่ในที่อันน่าอเนจอนาถและอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเช่นนี้ได้
ชายเฒ่ากล่าวแก่เขาว่า
"พ่อผู้เจริญ หมู่บ้านถัดไปนั้นอยู่ห่างไกล และหิมะก็ตกหนาตา ส่วนลมที่พัดมาก็เย็นเฉียบ และหนทางก็เลวร้ายนัก ฉะนั้น จะออกเดินทางต่อไปในราตรีนี้คงจะมีอันตรายเป็นแน่แท้ ถึงแม้เพิงแห่งนี้จะไม่คู่ควรให้พ่อมาอยู่ และแม้เราจะไร้สิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ มาปรนเปรอ กระนั้น ก็คงจะปลอดภัยกว่าถ้าคืนนี้จะพำนักอยู่ใต้ชายคาอันน่าสังเวชแห่งนี้ . . . ส่วนม้าของพ่อ เราจะดูแลให้อย่างดีนะ"
โทโมตาดะยอมรับคำเสนออันอ่อนน้อมนี้ ทั้งแอบดีใจที่การนี้จะทำให้เขามีโอกาสชมดูแม่สาวน้อยอีก ในไม่ช้า อาหารชั้นต่ำแต่มากล้นก็ได้รับการนำมาตั้งไว้ต่อหน้าเขา และหญิงสาวก็ออกมาจากหลังฉากแล้วรินสาเกให้ บัดนี้ นางแต่งกายใหม่ด้วยเสื้อคลุมทอมืออย่างหยาบแต่ก็สะอาดสะอ้าน ส่วนเผ้าผมอันยาวและปล่อยไว้นั้นได้รับการหวีและสางมาอย่างประณีต ในยามที่นางโน้มกายลงรินสุราเบื้องหน้าเขา โทโมตาดะนั้นเล่าก็ประหลาดใจที่ได้เห็นว่า นางงดงามเกินกว่าจะเทียบด้วยสตรีใด ๆ ที่เขาได้พบเห็นมาก่อน และทุกกิริยาท่าทีของนางก็ช่างอ่อนหวานจนทำให้เขาพิศวง แต่เหล่าผู้เฒ่าเริ่มออกปากขอโทษเกี่ยวกับนาง โดยว่า "พ่อเอ๋ย อาโอยางิ[1] ลูกสาวเรา ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ที่นี่ ในท่ามกลางหุบเขา และแทบจะอยู่อย่างลำพัง ทั้งนางก็ไม่รู้อันใดเกี่ยวกับการปรนนิบัติอันอ่อนช้อย เราขอให้พ่ออภัยในความเขลาและไม่รู้ประสาของนางด้วยเถิด" โทโมตาดะท้วงว่า เขาสิเห็นว่า ตนเองโชคดีเพียงไรที่ได้แม่หญิงที่น่าดูชมถึงเพียงนี้มาคอยรับใช้ แม้เขาจะเห็นว่า สายตาที่เขาจ้องมองนางอย่างชื่นชมนั้นทำให้นางหน้าแดงเรื่อ แต่เขาละสายตาไปจากนางมิได้เลย และเขาก็ได้ลิ้มชิมสุราอาหารทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า ฝ่ายมารดาหญิงจึงพูดขึ้นว่า "พ่อผู้กรุณา เนื่องจากพ่อน่าจะต้องลมเย็บเฉียบจนหนาวเหน็บ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งเหลือเกินว่า พ่อจะลองกินลองดื่มมากกว่านี้สักนิด ถึงแม้อาหารชาวไร่ชาวนาของเราจะเป็นอย่างทรามที่สุดก็ตาม" ดังนั้น เพื่อเอาใจผู้ชรา โทโมตาดะจึงกินและดื่มเท่าที่ตนจะทำได้ แต่เสน่ห์ยวนใจของหญิงสาวผู้เขินอายจนใบหน้าแดงก่ำนั้นยังเกาะกุมเขาไม่สร่าง เขาจึงพูดกับนาง และพบว่า วาจาของนางนั้นหวานฉ่ำเหมือนโฉมหน้าของนาง นางอาจได้รับการเลี้ยงดูมาในภูผาป่าดง แต่ในกรณีเช่นนี้ บิดามารดาคงต้องเคยเป็นบุคคลชั้นสูงมาสักระยะ เพราะนางเอื้อนเอ่ยและเคลื่อนไหวดุงดังสตรีมีศักดิ์ ในทันใด ความยินดีในหัวใจก็ดลใจให้เขากล่าวแก่นางเป็นบทกลอน ซึ่งเป็นเชิงไถ่ถามอยู่เช่นกัน ว่า
- "ทาซูเนะสึรุ
- ฮานะ คะ โทเตะ โคโซะ
- ฮิ โวะ คูราเซะ
- อาเกนุ นิ โอโตรุ
- อากาเนะ ซาซูรัง"
"กลางทางเยี่ยมมารดา | พบบุปผาพาหลงใหล | |
จึงพักกายพักใจ | อยู่ที่นี่จนสุดวัน | |
ฉันใดนะฉันใด | ยังไม่แจ้งแสงตะวัน | |
เห็นแสงแดงเรื่อกัน | ใครตอบได้ไม่รู้เลย"[2] |
ไม่รีรอแม้ชั่วขณะ นางก็ตอบเขาไปด้วยบทกลอนเหล่านี้
- "อิซูรุ ฮิ โนะ
- โฮโนเมกุ อิโระ โวะ
- วางะ โซเดะ นิ
- สึสึมาบะ อาซุ โมะ
- คิมิยะ โทมารัง"
"ตะวันแห่งวันใหม่ | ส่องแสงใสว่องไวเหลือ | |
บังไว้ด้วยชายเสื้อ | เผื่อชายข้าไม่ลาไป"[3] |
ด้วยเหตุนั้น โทโมตาดะจึงรับรู้ว่า นางตอบรับความปฏิพัทธ์ของเขา และศิลปะในการสื่อสารความรู้สึกผ่านบทกลอนของนางนั้นแทบจะไม่ทำให้เขาประหลาดใจน้อยไปกว่าอารมณ์ยินดีที่ได้รับความมั่นใจผ่านบทกลอนนั้นเลย บัดนี้ เป็นที่แน่นอนสำหรับเขาแล้วว่า ทั่วทั้งโลกใบนี้ การที่จะพบเจอหญิงสาวคนใดที่งามตาและทรงปัญญามากไปกว่านางบ้านนอกผู้อยู่ต่อหน้าเขาคนนี้อีกแล้วนั้นไม่มี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการที่ชนะใจหญิงสาวเช่นนั้นได้อีก และเสียงในหัวใจของเขาก็ดูจะร่ำร้องโดยพลันว่า "รับวาสนาที่เทพยดาประทานมาทางเจ้าซะ!" พูดกันสั้น ๆ เขาตกบ่วงเสน่ห์ ตกลงไปจนถึงขั้นที่ไม่อารัมภบทอันใดแล้วออกปากขอแก่ผู้เฒ่าให้ยกลูกสาวมาสมรสด้วย ขณะเดียวกันก็แจ้งพวกเขาถึงชื่อเสียงเรียงนามและเถือกเถาเหล่ากอของตน กับทั้งชั้นยศในการเป็นราชบริพารของเจ้าแห่งโนโตะ
เหล่าผู้เฒ่าน้อมกายลงต่อหน้าเขาพร้อมอุทานเป็นการใหญ่ด้วยความพิศวงใจอย่างซาบซึ้ง ทว่า หลังจากอึกอักอยู่สักขณะอย่างเห็นได้ชัด ผู้บิดาก็ตอบว่า
"นายท่านผู้เจริญ พ่อเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูง และมีแววจะได้เลื่อนขึ้นไปสู่หลายสิ่งที่สูงยิ่งกว่า ความเมตตาที่พ่อโปรดมอบให้เรานั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน ส่วนความขอบคุณของเราสำหรับเรื่องนั้นก็ลึกซึ้งเกินกว่าจะพรรณาหรือหยั่งถึงได้ แต่ลูกสาวของเรานี้เป็นสตรีชนบทไร้สติปัญญา ชาติตระกูลก็ต่ำ ซ้ำมิได้รับการฝึกฝนหรืออบรมอย่างใด ๆ เลย คงมิบังควรที่จะให้นางได้เป็นภริยาซามูไรสูงศักดิ์ แม้เพียงจะเอ่ยเรื่องเช่นนี้ขึ้นมาก็นับว่า ไม่เหมาะแล้ว . . . แต่เมื่อพ่อเห็นว่า นางต้องใจพ่อ และพ่อยอมลดตัวลงมาโดยไม่ถือสากิริยาแบบชาวนาชาวไร่ ทั้งมองข้ามไปซึ่งความหยาบคายหนักหนาของนาง เราก็ยินดีมอบนางให้ไปเป็นสาวใช้ต้อยต่ำของพ่อ เพราะฉะนั้น จากนี้ไป เชิญปฏิบัติต่อนางตามอัธยาศัยอันน่าเลื่อมใสของพ่อเถิดหนา"
ก่อนเช้า พายุก็ผ่านพ้นไป และฟ้าก็สางขึ้นทางทิศตะวันออกอันไร้เมฆหมอก ถึงแม้ชายเสื้อของอาโอยางิจะบดบังสีแดงระเรื่อของรุ่งสางนั้นจากสายตาของชายคนรัก แต่เขาก็ร่ำไรอยู่ต่อไปมิได้อีก ทว่า เขาก็ทำใจจากแม่สาวไปมิได้เช่นกัน และครั้นตระเตรียมทุกอย่างสำหรับการเดินทางแล้ว เขาจึงกล่าวแก่บิดามารดาของนางว่า
"แม้จะดูเป็นการไม่สำนึกบุญคุณถ้าจะขอเพิ่มเติมจากที่ข้าได้รับมาแล้ว แต่ข้าก็ต้องวอนขอท่านอีกสักคราให้ยกธิดามาเป็นภริยาของข้า คงยากที่ข้าจะแยกจากนางได้ในเวลานี้ และเพราะนางเองก็ยินดีจะติดตามข้าไปหากได้รับอนุญาตจากท่าน ข้าจึงสามารถพานางไปกับข้าตามฐานะที่นางเป็นอยู่ ถ้าท่านจะมอบนางให้แก่ข้า ข้าจะนับถือท่านเป็นบิดามารดาไปตลอดกาล . . . และขณะเดียวกัน ขอได้โปรดรับสิ่งคำนับอันบกพร่องนี้สำหรับน้ำใจไมตรีอันประเสริฐของท่านด้วย"
เอ่ยฉะนั้นแล้ว เขาก็นำเหรียญทองถุงหนึ่งมาวางต่อหน้าเจ้าบ้านผู้อ่อนน้อม แต่ชายเฒ่าเอาแต่กราบกรานเป็นหลายหน แล้วดันของขวัญนั้นกลับคืนไปเบา ๆ ก่อนว่า
"พ่อผู้กรุณา ทองคำคงหาประโยชน์อย่างใดต่อเรามิได้ดอก และพ่อคงจะต้องใช้มันในระหว่างการเดินทางแสนยาวไกลและหนาวเหน็บ ที่นี่เราไม่ต้องซื้อหาอันใด และถึงแม้เราจะอยาก เราก็ไม่อาจใช้จ่ายเงินเพื่อตัวเราเองเป็นอันมากถึงปานนั้นได้ . . . สำหรับลูกสาวเรา เราได้มอบให้เป็นของขวัญที่ไม่คิดค่าราคาใดแล้ว นางเป็นของพ่อแล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นเลยที่พ่อจะต้องมาขออนุญาตพานางไป นางได้บอกเราแล้วว่า นางปรารถนาจะติดตามพ่อไปและอยู่รับใช้พ่อตราบใดที่พ่อยังพอใจจะทนเห็นนางอยู่ เพียงได้รู้ว่า พ่อเมตตารับนางไว้ เราก็ดีใจหนักหนาแล้ว และเราขอให้พ่ออย่าเป็นทุกข์ร้อนด้วยเรื่องของเราเลย ในที่แห่งนี้ เราไม่อาจจัดหาเสื้อผ้าดี ๆ มาให้นางได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสินทรัพย์ใด ๆ ก่อนสมรส อนึ่ง เราก็แก่เฒ่ากันแล้ว อีกไม่นานก็คงต้องจากนางไปในยามใดก็ยามหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นเคราะห์ดียิ่งนักที่พ่อเต็มใจรับนางไปด้วยในครั้งนี้"
โทโมตาดะเพียรกล่อมผู้เฒ่าให้รับของกำนัลเท่าใดก็ไร้ผล เขาพบว่า คนเหล่านั้นไม่สนใจไยดีในเงินทองเลย แต่ก็เห็นว่า พวกเขาหวั่นวิตกยิ่งนักที่จะฝากชะตากรรมของบุตรสาวไว้ในมือเขา และด้วยเหตุนั้น เขาจึงตัดสินใจพานางไปกับตน ครั้นแล้ว เขาก็ยกนางขึ้นม้า และกล่าวอำลาผู้ชราไปก่อน พร้อมแสดงความซาบซึ้งน้ำใจจากใจจริงเป็นหลายรอบ
"พ่อผู้เจริญ" ผู้บิดาตอบกลับ "มิใช่พ่อดอก แต่เป็นเราที่มีเหตุให้ต้องซาบซึ้งน้ำใจ เราแน่แก่ใจว่า พ่อจะกรุณาต่อลูกสาวเรา และเราไม่หวั่นใจใด ๆ ในเรื่องของนางเลย" . . .
[ตรงนี้ ในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น เส้นเรื่องตามปรกติมีการแตกออกไปอย่างพิลึก โดยจากนั้นไปก็กลายเป็นเรื่องที่แหวกจากตอนก่อนหน้าอย่างน่าสงสัย สำหรับมารดาของโทโมตาดะก็ดี บิดามารดาของอาโอยางิก็ดี ไดเมียวแห่งโนโตะก็ดี ไม่มีการกล่าวถึงอีก เห็นได้ชัดว่า ณ จุดนี้ คนเขียนเหนื่อยกับงานเขียนของตนแล้ว จึงเร่งเนื้อเรื่องให้ถึงตอนจบที่ชวนระทึกใจสักทีโดยไม่มีความรอบคอบเสียเลย ข้าพเจ้าไม่อาจเสริมเติมแต่งจุดที่ผู้เขียนขาดตกไป และไม่อาจแก้ไขจุดผิดพลาดในโครงเรื่องของเขาได้ แต่ข้าพเจ้าต้องขอลองนำเสนอรายละเอียดเพื่อเป็นการอธิบายสักเล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่มีแล้ว เรื่องเล่าส่วนที่เหลือก็คงต่อกันไม่ติด . . . ปรากฏว่า โทโมตาดะรุดพาอาโอยางิไปเคียวโตะพร้อมกับตน และต้องตกอยู่ในความเดือดร้อนเพราะเหตุนั้น แต่เราไม่ทราบว่า ทั้งคู่อยู่อาศัยกันที่ใดในเวลาหลังจากนั้น]
. . . ในยามนี้ มีข้อห้ามซามูไรสมรสโดยไร้ความยินยอมจากเจ้าของตน และโทโมตาดะไม่อาจคาดหมายว่า จะได้รับความเห็นชอบเช่นนั้นก่อนบรรลุภารกิจ ในพฤติการณ์ดังนั้น เขามีเหตุให้หวั่นเกรงว่า ความงามของอาโอยางิจะตกเป็นเป้าสนใจอันล่อแหลม และอาจมีคนค้นคิดลู่ทางมาชิงนางไปจากเขา ฉะนั้น เขาจึงพยายามกำบังนางจากสายตาที่ช่างสอดส่องในเคียวโตะ แต่วันหนึ่ง ราชบริพารของเจ้าแห่งโอโซกาวะก็มาเจอะอาโอยางิ ล่วงรู้ความสัมพันธ์ของนางกับโทโมตาดะ แล้วทูลรายงานเรื่องนั้นต่อไดเมียว ฉับพลันจากนั้น ไดเมียว ซึ่งเป็นเจ้าชายหนุ่มและพอพระทัยในใบหน้าสะสวย ก็รับสั่งให้พาแม่สาวผู้นั้นมายังพระตำหนัก และนางก็ถูกนำตัวมาที่นั้นในทันที โดยไม่มีการพูดพร่ำทำเพลงใด ๆ
โทโมตาดะโทมนัสเกินจะพรรณนา แต่เขาก็รู้ตัวดีว่า ไร้กำลังอำนาจ เขาเป็นแต่คนเดินสารต้อยต่ำซึ่งรับใช้ไดเมียวจากแดนไกล ทั้งในเวลานั้นเขาก็อยู่ในภายใต้ความควบคุมของไดเมียวที่มีอำนาจมากยิ่งกว่า ผู้ซึ่งใครก็ไม่กล้าสงสัยในพระประสงค์ อีกประการหนึ่ง โทโมตาดะรู้ว่า ตนได้ประพฤติเหลวไหลจนนำพาเคราะห์ร้ายมาสู่ตนเข้าแล้ว ด้วยการแอบมีความสัมพันธ์ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายสำหรับชนชั้นนักรบ เวลานี้มีความหวังเพียงอย่างเดียวหลงเหลือให้เขา เป็นความหวังอันเลื่อนลอย คือ อาโอยางิต้องสามารถและต้องเต็มใจหลีกเร้นออกมาและหนีไปกับเขา หลังใคร่ครวญอยู่เป็นนาน เขาจึงตกลงใจจะลองส่งจดหมายไปหานาง ความพยายามครั้งนี้อาจเสี่ยง แน่ล่ะ ลายลักษณ์ใด ๆ ที่ส่งไปหานางคงตกไปอยู่ในพระหัตถ์ของไดเมียวเป็นแน่ และการจะส่งจดหมายรักไปหานางห้ามคนใด ๆ ในพระตำหนักนั้นเป็นความผิดเกินอภัย แต่เขาก็ปลงใจจะลองเสี่ยง และจึงแต่งจดหมายในแบบบทกลอนของจีน แล้วอุตส่าห์จัดให้ส่งไปถึงนาง บทกลอนนี้เขียนด้วยอักษรเพียง 28 ตัว แต่ด้วยอักษรทั้ง 28 ตัวนี้ เขาจะสามารถส่งผ่านความปรารถนาอันลุ่มลึกทั้งหมดของตน และบอกเป็นนัยถึงความรวดร้าวทั้งหลายในการสูญเสียได้[4]
- โคชิ โอซง โกจิง โวะ โอ
- เรียวกูจุ นามิดะ โวะ ทาเรเตั รากิง โวะ ฮิตาตารุ
- โคมง ฮิโตตาบิ อิริเตะ ฟูกากิ โคโตะ อูมิ โนะ โกโตชิ
- โคเระ โยริ โชโร โคเระ โรจิง
"คราวเจ้าเยาวราช | ปรารถนานารีรัตน์ | |
ตามติดประชิดจัด | ด้วยอุ้งหัตถ์อันมิคลาย | |
โฉมงามน้ำตาตก | หกท่วมรดหมดทั้งกาย | |
โศกอยู่ไม่รู้วาย | ใจสลายตายทั้งเป็น | |
โอ้เจ้าหนอเจ้าชาย | กระหายนางไม่ว่างเว้น | |
ไฟใฝ่ที่ใครเห็น | เทียบท้องน้ำล้ำลึกเกิน | |
จึงฆ่าใจข้าพัง | แม้ความหวังยังยับเยิน | |
คนช้ำจำต้องเดิน | จากไปเปล่าทิ้งเจ้าเอย" |
ในเย็นวันที่มีการส่งบทกลอนนี้เข้าไป โทโมตาดะก็ถูกเรียกไปเข้าเฝ้าเจ้าโฮโซกาวะ ชายหนุ่มสงสัยทันทีว่า มีคนไม่ซื่อตรงต่อความไว้วางใจที่เขามีให้เสียแล้ว และเขาคงหวังจะรอดพ้นโทษทัณฑ์สุดฉกาจฉกรรจ์ไปไม่ได้ ถ้าไดเมียวได้ทรงเห็นจดหมายแล้ว "ทีนี้ เขาคงจะสั่งประหารฆ่า" โทโมตาดะคิด "แต่ถ้าไม่ได้อาโอยางิคืนมา ข้าก็ไม่ไยดีกับชีวิตดอก ประการหนึ่ง หากจะมีรับสั่งฆ่าข้า อย่างน้อยข้าก็ควรลองฆ่าโฮโซกาวะดูบ้าง" เขาสอดดาบเข้ากับรัดประคดแล้วเร่งรุดไปยังพระตำหนัก
เมื่อเข้าสู่ท้องพระโรง เขาเห็นเจ้าโฮโซกาวะประทับอยู่บนพระแท่น เนืองแน่นแวดล้อมไปด้วยซามูไรสูงศักดิ์สวมหมวกและเสื้อคลุมสำหรับพิธีการ ทุกคนไม่พูดไม่จาดุจดังประติมากรรม และขณะที่โทโมตาดะเคลื่อนเข้าไปถวายบังคมนั้น ความเงียบงันก็ดูประหนึ่งจะเป็นลางร้ายและรุนแรงสำหรับเขา ราวกับความสงบก่อนพายุจะมา ทว่า ในทันใด โฮโซกาวะก็เสด็จลงจากพระแท่น แล้วทรงโอบชายหนุ่มขึ้นด้วยพระพาหา พลางเริ่มตรัสไปมาถึงถ้อยคำในบทกลอนว่า "โคชิ โอซง โกจิง โวะ โอ" . . . พอโทโมตาดะเงยหน้าขึ้นมอง ก็เห็นคลองพระเนตรของเจ้าชายนองไปด้วยอัสสุชลแห่งความอ่อนโยน
ครั้นแล้ว โฮโซกาวะก็ตรัสว่า
"เพราะพวกเจ้ารักใคร่กันและกันยิ่งนัก ข้าจึงจักถือเป็นธุระของข้าที่จะอนุมัติการสมรสของพวกเจ้าแทนเจ้าแห่งโนโตะ ญาติของข้า และบัดนี้ ให้เฉลิมฉลองงานวิวาห์ของพวกเจ้าต่อหน้าข้า แขกเหรื่อก็มาประชุมกันแล้ว ของรับขวัญก็พร้อมแล้วนี่"
เมื่อได้สัญญาณจากเจ้าพระองค์นั้น ฉากเลื่อนที่กั้นบังส่วนอื่น ๆ ของพระที่นั่งก็ได้รับการเลื่อนเปิด และ ณ ที่นั้น โทโมตาดะเห็นเหล่าผู้ทรงศักดิ์แห่งราชสำนักประชุมพร้อมกันเพื่อการพิธี ส่วนอาโอยางินั่งรอเขาอยู่ในชุดเจ้าสาว . . . นางได้รับการคืนกลับมาสู่เขาในลักษณะนั้น และงานวิวาห์ก็เป็นไปด้วยความเบิกบานและอลังการ ทั้งคู่หนุ่มสาวก็ได้รับของรับขวัญอันล้ำค่าจากเจ้าชายและสมาชิกราชตระกูล
หลังงานวิวาห์ครั้งนั้น โทโมตาดะกับอาโอยางิก็ได้ครองคู่อยู่ด้วยกันอย่างเปี่ยมสุขมา 5 ปี แต่ในเช้าวันหนึ่ง ขณะพูดคุยกับสามีด้วยเรื่องบางประการในครัวเรือน อาโอยางิก็เปล่งเสียงร้องสุดทรมานขึ้นมาในทันใด ก่อนจะกลายเป็นหน้าซีดตัวเซียวอย่างหนักและแน่นิ่งไป ไม่กี่ครู่ถัดมา นางก็กล่าวด้วยเสียงระโหยโรยแรงว่า "อภัยข้าเถิดที่ร้องออกมาอย่างไร้มารยาทเช่นนั้น แต่จู่ ๆ ก็ปวดขึ้นมา! . . . ทูนหัวของข้า การที่เราได้มาครองคู่กันคงเป็นเพราะมีกรรมบางอย่างต้องกันแต่ชาติปางก่อน และข้าเห็นว่า ความสัมพันธ์อันเปี่ยมสุขนี้จะนำพาให้เราได้อยู่ด้วยกันในอีกหลายภพชาติข้างหน้า แต่สำหรับชาตินี้ของเรา ความสัมพันธ์ของเราคงต้องสิ้นลงแล้วในยามนี้ เราจะต้องจากกันแล้ว ข้าวอนขอให้ท่านช่วยท่องบทภาวนาพุทธานุสสติให้ข้าด้วย เพราะข้ากำลังจะตายแล้ว"
"โอ! เรื่องมายาบ้าบอพิลึกอะไรกันนี่" เสียงสามีผู้ตระหนกร้องตะโกน "คนดีของข้า เจ้าเพียงเจ็บไข้เล็กน้อย . . . นอนลงสักหน่อยแล้วพักผ่อนก็จะหายป่วยเองนะ" . . .
"ไม่ ๆ!" นางตอบ "ข้ากำลังจะตาย ข้าไม่เคยคาดฝันเรื่องนี้เลย ข้ารู้! . . . และตอนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องปิดบังความจริงจากท่านอีกแล้ว ทูนหัวของข้า ข้าหาใช่มนุษย์ วิญญาณของต้นไม้คือวิญญาณของข้า หัวใจของต้นไม้คือหัวใจของข้า น้ำเลี้ยงของต้นไม้คือชีวิตของข้า และในเวลาอันโหดร้ายเช่นนี้ มีใครบางคนกำลังโค่นต้นของข้าลง ด้วยเหตุนั้น ข้าจึงต้องตาย! . . . ตอนนี้ แค่จะร้องไห้ก็เกินกำลังของข้าแล้ว! เร็วเข้า เร็วเข้าเถิด ท่องพุทธานุสสติให้ข้า . . . เร็วเข้า! อา!" . . .
พลางกับที่เสียงครางอย่างเจ็บปวดดังขึ้นอีกครั้ง นางก็เบนศีรษะอันงามของนางไปทางอื่น และพยายามปิดบังใบหน้าด้วยชายเสื้อ แต่แทบจะในยามเดียวกันนั้นเอง กายทั้งกายของนางก็ดูจะทรุดลงอย่างน่าประหลาดเหลือใจ และยุบลงไป ๆ ๆ จนราบเรียบไปกับพื้น โทโมตาดะกระโจนเข้าไปประคองนาง แต่ไร้สิ่งใดให้ประคอง! ณ ที่นั้น มีแต่เสื้อคลุมว่างเปล่าซึ่งเคยเป็นของสิ่งมีชีวิตที่งดงามกับทั้งเครื่องประดับที่นางเคยสวมใส่ไว้บนผมกองอยู่บนพรม ส่วนร่างกายนั้นไม่มีอยู่อีกแล้ว . . .
โทโมตาดะโกนศีรษะ กระทำปฏิญาณแบบพุทธ และออกบวชเป็นพระธุดงค์ เขาจาริกไปทั่วทุกมณฑลในจักรวรรดิ และในทุกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เขาแวะไป เขาได้ภาวนาอุทิศให้แก่วิญญาณของอาโอยางิ ครั้นลุถึงเอจิเซ็งในระหว่างออกธุดงค์ เขาก็ติดตามหาบ้านเรือนของบิดามารดาแห่งหญิงคนรัก แต่เมื่อมาถึงสถานที่เปล่าเปลี่ยวท่ามกลางเนินเขาที่ซึ่งพวกเขาเคยพำนักอยู่ ก็พบว่า กระท่อมหายไปแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นหมุดหมายแม้แต่ในจุดที่กระท่อมนั้นเคยตั้งอยู่ เว้นแต่ตอต้นหลิว 3 ตอ เป็นต้นแก่ 2 ต้น กับต้นอ่อน 1 ต้น ซึ่งถูกโค่นลงเสียก่อนเขามาถึง
เขาสร้างสุสานเป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้เคียงตอต้นหลิวเหล่านั้น โดยจารึกข้อความศักดิ์สิทธิ์มากมายเอาไว้ และ ณ ที่นั้น เขาประกอบพิธีกรรมหลายอย่างในทางพุทธเพื่อดวงวิญญาณของอาโอยางิและบิดามารดาของนาง
- ↑ ชื่อนี้มีความหมายว่า ต้นหลิวสีเขียว แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็ยังใช้กันอยู่
- ↑ บทกลอนนี้อาจตีความได้ 2 แง่ และบางถ้อยคำ ก็มีความหมายแฝง แต่ศิลปะของการตีความนั้นไม่จำเป็นต้องอธิบายกันมากความ และคงไม่เป็นที่สนใจมากนักสำหรับผู้อ่านที่เป็นชาวตะวันตก ความหมายที่โทโมตาดะต้องการถ่ายทอดนั้น คือว่า "ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมแม่ ข้าพบคนน่ารักดุจดังดอกไม้ และเพื่อประโยชน์ของคนน่ารักผู้นั้น ข้าจึงใช้เวลาทั้งวันอยู่ที่นี่ แม่คนงามเอ๋ย ทำไมจึงมีสีแดงระเรื่อทั้งที่ยังไม่รุ่งสาง นี่หมายความว่าเจ้ามีใจให้ข้าแล้วใช่ไหม"
- ↑ สามารถตีความในหลายแง่ แต่บทกวีนี้สื่อถึงคำตอบดังตั้งใจไว้
- ↑ คนเล่าเรื่องญี่ปุ่นคงอยากจะให้เราเชื่ออย่างนั้น ถึงแม้บทกวีเหล่านี้เมื่อแปลออกมาแล้วก็ดูไม่มีอะไรพิเศษ ข้าพเจ้าได้ลองถ่ายทอดความหมายโดยทั่วไปของบทกลอนนี้แล้ว ส่วนการแปลให้มีประสิทธิภาพตามตัวอักษรนั้น คงต้องอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตสักหน่อย