นิทานอีสป/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

ในการพระราชทานเพลิงศพพระยาเมธาธิบดีที่วัดมกุฏกษัตริยารามครั้งนี้ เจ้าภาพขอให้เขียนคำนำหนังสือที่ระลึกให้ ข้าพเจ้าเป็นญาติสนิทคนหนึ่ง เพราะเจ้าคุณเมธาธิบดีเป็นน้าผู้มีวิสาสะยิ่งกว่าญาติส่วนมาก นับว่านอกจากเป็นญาติแล้ว ยังได้เป็นเพื่อนที่คบกันมานานปีตั้งแต่เป็นนักเรียนอยู่ที่เมืองอังกฤษด้วยกัน ทั้งเจ้าคุณและคุณหญิงอรุณเป็นผู้ที่รักใคร่ชอบพอกันมานาน และเป็นผู้ที่เอาใจช่วยในความเป็นไปของข้าพเจ้าอยู่เสมอ ยังจำได้ว่า แม้ในไม่กี่ปีมานี้ ในโอกาสหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าปฏิบัติราชการชิ้นหนึ่ง เจ้าคุณเมธาธิบดีพอใจมากถึงน้ำตาตก เป็นโอกาสเดียวที่ได้เคยเห็นเจ้าคุณผู้มีใจแข็งโดยปรกตินั้นหยาดน้ำตาออกมาได้ ข้าพเจ้าเวียนรู้สึกอาลัยอยู่ไม่วาย ฉะนั้น สิ่งใดที่พอจะสนองคุณสนองน้ำใจของเจ้าคุณ คุณหญิง อีกทั้งลูก ๆ ของท่าน ข้าพเจ้าย่อมเต็มใจทำอย่างไม่มีปัญหา

เจ้าภาพได้เลือกหนังสืออันเป็นฝีปากเจ้าคุณเมธาธิบดีมาตีพิมพ์ครั้งนี้ ๓ เรื่อง คือ นิทานอีสป เรื่องหนึ่ง ปาฐะเรื่องประทุษร้ายต่อผู้ร้าย เรื่องหนึ่ง พระพุทธศาสนา เรื่องหนึ่ง

นิทานอีสปคนกรีกเขียนขึ้นไว้เป็นนิทานสุภาษิต ชาติทางอัสดงคตได้แปลไปหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฝรั่งได้นำนิทานเหล่านี้แพร่หลายมาทางบูรพทิศเช่นเมืองเรา เจ้าคุณเมธาธิบดีอาจะจได้เคยอ่านในระหว่างเล่าเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษก็เป็นได้ นิทานเหล่านี้ความจริงมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันมากกับนิทานสุภาษิตของมัธยมประเทศ เช่น ปญจตนตร และหิโตปเทศ ซึ่งก่อนนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้จักกันมากเหมือนกันในสังเวียนผู้รู้ แต่สังเวียนเช่นว่านี้ย่อมจำกัด เหตุฉะนั้น นิทานของมัธยมประเทศ แม้จะมีลักษณะใกล้มาทางไทยเรามากกว่า ก็หาได้เป็นที่นิยมหรือรู้จักกันแพร่หลายดังเช่นนิสานอีสปของเจ้าคุณเมธาธิบดีไม่ ในเวลาปัจจุบันซึ่งนักปราชญ์ได้ศึกษาเทียบเคียงวรรณคดีตะวันออกกับตะวันตก ก็ได้ความโดยปราศจากข้อควรสงสัยได้แล้วว่า แท้จริงนิทานอีสปนี้ ผู้แต่งที่เป็นกรีกได้เก็บความมาจากคัมภีร์สันสสกฤตเป็นแน่แท้ และเกือบจะชี้ลงไปได้ด้วยซ้ำว่า คัมภีร์ปญจตนตรนั่นเองเป็นต้นเค้าแห่งนิทานอีสป อย่างไรก็ดี หนังสือ "นิทานอีสป" เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าคุณเมธาธิบดีมีชื่อเสียงในบรรณโลกก่อนเรื่องอื่น ๆ เป็นการสมควรแล้วที่เลือกเรื่องนี้มาพิมพ์เรื่องหนึ่ง

เมื่อเจ้าคุณเมธาธิบดีออกจากราชการเมื่อสิ้นรัชกาลที่หกแล้วนั้น ได้ปรารภอยู่ว่า ยังมีกำลังกายกำลังใจแข็งแรง แต่ว่างงานอยู่ จึงใช้เวลาว่างแต่งหรือแปลหนังสือไว้หลายเรื่อง ในจำพวกหนังสือเหล่านี้ เรื่อง "พระพุทธศาสนา" เป็นหนังสือที่แต่งไว้ดี ได้ค้นคว้าพินิจพิเคราะห์ข้อความทั้งสกสมัยปรสมัย แล้วเขียนลงด้วยโวหารอาจารย์สมัยใหม่ เป็นความชัดเจน ไม่น่าเบื่อหน่ายเยี่ยงส่วนมากของหนังสือธรรมในภาษาไทย นับเป็นเรื่องดีอันหนึ่ง

ส่วน "ปาฐะเรื่องประทุษร้ายต่อผู้ร้าย" นั้นเป็นเรื่องแปลมาจากเรื่องของรอเบอรต เค. อิงเกอรซอลล์ ซึ่งแสดงเป็นปาฐะแล้วพิมพ์ไว้ในหนังสือของเนติบัณฑิตสภาแหงรัฐนิวยอร์คเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๙๐ เจ้าคุณเมธาเขียนไว้ในปรารภเบื้องต้นแห่งหนังสือของเจ้าคุณว่า เป็นเรื่องที่ "มีคติน่ารู้ เพราะเต็มไปด้วยวิจารณะอย่างหลักแหลมลึกซึ้ง" ผู้ที่ได้อ่านหนังสือนี้ก็พากันเห็นชอบว่า เป็นตัวอย่างอันดีของหนังสือแปล สมควรที่จะนำพิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้เขียนด้วยอีกเรื่องหนึ่ง

ขอผลแห่งการกุศลทักษณานุปทานซึ่งคุณหญิงเมธาธิบดีและบรรดาบุตรหลานได้ร่วมกันบำเพ็ญให้เป็นที่ระลึกถึงเจ้าคุณผู้วายชนม์ไปแล้วนี้จงรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของเจ้าคุณผู้นั้นให้ยั่งยืนไปนาน และเป็นเครื่องส่งเสริมให้อนุชนร่วมใจกันดำรงชื่อเสียงของสกุลสุทธเสถียรให้สมกันกับชื่อเสียงอันดีของท่านผู้เป็นต้นสกุล ข้าพเจ้าผู้หนึ่งซึ่งได้เคยนับถือความซื่อสัตย์สุจริตของต้นสกุลนี้ย่อมร่วมใจด้วยในแนวทางอันสมศักดิ์นี้.

  • บ้านถนนเพ็ชรบุรีในพระนครฯ
  • วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙
  • กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร