นิทานอีสป/นิทานที่ 30

จาก วิกิซอร์ซ
นิทานที่ ๓๐ เรื่อง เทพารักษ์กับคนตัดไม้

ยังมีชาวป่าผู้หนึ่ง ขณะที่ตัดต้นไม้อยู่ริมลำธาร ทำขวานหลุดมือพลัดตกจมหายไปในน้ำ ตัวเป็นคนว่ายน้ำไม่เป็น ครั้นจะลงไปงม ก็กลัวจมน้ำตาย ไม่รู้ที่จะทำประการใด ก็ลงนั่งกอดเข่าร้องไห้อยู่ริมลำธารนั้น เทพารักษ์ที่เป็นผู้รักษาลำธารมีความสงสาร จึงมาปลอบโยนเอาใจให้หยุดร้องไห้ แล้วก็ลงไปงมเอาขวานทองขึ้นมาส่งให้เล่มหนึ่ง ชายผู้นั้นเห็นว่า ไม่ใช่ขวานของตน ก็ไม่รับเอา จึงบอกไปแก่เทพารักษ์ว่า "ขวานของข้าพเจ้าไม่ใช่เล่มนี้" เทพารักษ์ก็วางขวานนั้นเสีย ลงไปงมให้ใหม่ คราวนี้ เทพารักษ์ถือเอาขวานเงินขึ้นมาส่งให้ ชายผู้นั้นก็ไม่รับอีก ยืนยันว่า ไม่ใช่ขวานของตนอยู่นั่นเอง ครั้งนี้ เทพารักษ์งมเอาขวานเหล็กเล่มที่ตกน้ำนั้นขึ้นมาให้ ชายผู้นั้นก็ดีใจ ยกมือขึ้นไหว้แล้วรับเอา เทพารักษ์เห็นชายผู้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์ จึงเลยยกขวานเงินและขวานทองทั้งสองเล่มนั้นให้ด้วย

เมื่อชายผู้นั้นกลับบ้าน เพื่อนบ้านใกล้เคียงได้รู้เรื่องที่ได้ขวานเงินขวานทองเพราะขวานตกน้ำ ก็พากันเล่าลือต่อ ๆ กันไป ยังมีชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นสหายของชายสัตย์ซื่อผู้นั้น เมื่อได้ทราบข่าวเล่าลือ นึกอยากจะใคร่ได้ขวานเงินขวานทองบ้าง จึงฉวยขวานของตนเข้าป่าไปที่ข้างลำธารนั้น ทำทีดังว่าตัดไม้ แล้วก็เหวี่ยงขวานลงไปในน้ำ แกล้งทำเป็นนั่งร้องไห้คร่ำครวญอยู่ข้างลำธาร ในมิช้ามินาน เทพารักษ์องค์นั้นก็มาปลอบโยนดังเช่นที่ทำกับชายผู้สัตย์ซื่อคนก่อน แล้วก็ลงไปดำเอาขวานทองขึ้นมายื่นให้ ถามว่า "นี่ขวานของเจ้าหรือมิใช่" ชายผู้นั้นแลเห็นขวานทองก็ดีใจ รีบตะลีตะลานรับว่าเป็นขวานเล่มที่ตนทำตกน้ำในทันที เทพารักษ์จึงว่า "เมื่อเจ้ารักจะประพฤติเป็นคนไม่ซื่อสัตย์สุจริตอยู่ดังนี้ ก็อย่าเอาขวานทองเล่มนี้เลย ถึงขวานเล่มที่ทำตกน้ำ ข้าก็จะไม่งมให้ด้วยเหมือนกัน" พอว่าดังนั้นแล้ว เทพารักษ์ก็หายไปกับทั้งขวานทอง เหลือแต่ชายผู้นั้นนั่งแลตะลึงอยู่คนเดียว

* * *

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หาประโยชน์ด้วยความซื่อสัตย์แน่นอนดีกว่าหาด้วยความเท็จ