ข้ามไปเนื้อหา

นิทานเวตาล/ต้นเรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
นิทานเวตาล

ต้นเรื่อง

พระราชาทรงนามวิกรมาทิตย์[1] ครองราชย์อยู่กรุงอุชชยินีนับเวลามาถึงบัดนี้ได้เกือบ ๒๐๐๐ ปี พระองค์เปนกษัตริย์ทรงนามเลื่องลือ สามารถทั้งในทางศึกแลในทางปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เย็นเปนสุข ทั้งเปนผู้เอื้อเฟื้อต่อการเรียนรู้ มีปราชญ์ ๙ คน เรียกว่าเนาวรัตนกวี คือกาลิทาสเปนต้น แต่งกลอนยอพระเกียรติ์ไว้ปรากฏจนเวลานี้ว่า รัชชกาลพระวิกรมาทิตย์เปนเวลาที่วิชารุ่งเรือง

ประวัติของพระราชาองค์นี้มีเรื่องจริงปะปนกับเรื่องซึ่งประดิษฐ์ขึ้น กล่าวตามความที่เปนคำนำเรื่องนี้ว่า เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงครองสมบัติรุ่งเรืองอยู่หลายปี จนพระชนมายุได้ ๓๐ พรรษา จึงทรงพระดำริว่า บ้านเมืองต่างประเทศที่ได้ทรงยินชื่อแต่มิได้เคยเห็นนั้นมีมาก สมควรจะเสด็จไปดูให้เห็นเสียสักครั้งหนึ่ง ราชประสงค์คือจะเที่ยวลอดรู้การในบ้านเมืองเหล่านั้น หาช่องทางที่จะเอารวมเข้ามาเปนเมืองขึ้นด้วยกำลังอาวุธหรือกำลังปัญญา ทรงคิดฉนี้ จึงมอบราชการบ้านเมืองให้พระอนุชาทรงนามพระภรรตฤราชปกครองแทนพระองค์ แล้วทรงเครื่องปลอมเปนโยคี มีพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ทรงนามธรรมธวัช ตามเสด็จเที่ยวเตร็จเตร่ไปในป่าแลเมืองต่าง ๆ

พระภรรตฤราชผู้อนุชาซึ่งปกครองสมบัติแลราชการเมืองแทนพระราชานั้นเปนบุรุษมีหฤทัยซึมเซาเปนปกติ เพราะได้เสียนางผู้เปนชายาไปด้วยเหตุประหลาด มีเรื่องตามที่กล่าวต่อกันมาว่า วันหนึ่งพระภรรตฤราชเสด็จออกล่าเนื้อในป่า พบหญิงแม่หม้ายเข้าสู่กองเพลิงซึ่งเผาศพพราหมณ์ผู้สามี หญิงนั้นแสดงความมั่นในใจปราศจากความสทกสท้าน ครั้นพระภรรตฤราชเสด็จกลับถึงวัง จึงเล่าแก่นางผู้เปนชายาแห่งพระองค์ว่า นางพราหมณีมีความสัตย์แลความกล้าฉันนั้น ๆ พระชายาทูลตอบว่า เมื่อผัวสิ้นชีพไปแล้ว หญิงดีย่อมจะสิ้นชีวิตด้วยเพลิงแห่งความทุกข์ หาต้องตายในกองเพลิงซึ่งเผาสามีไม่ พระภรรตฤราชทรงฟังดังนั้นก็นิ่งตรึกตรอง มิได้ตรัสประการใด ครั้นวันรุ่งเสด็จออกป่าล่าเนื้ออีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าตรัสให้มหาดเล็กเชิญเครื่องทรงซึ่งขาดแลเปื้อนเปรอะกลับไปทูลพระชายาว่า เกิดเหตุวิบัติในป่า พระภรรตฤราชสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระชายาได้ยินดังนั้นก็ล้มลงสิ้นชีวิตด้วยเพลิงแห่งความทุกข์ พระภรรตฤราชกลับจากป่าก็เสียพระหฤทัยหนักหนา มีอาการซึมเซากระเดียดไปข้างจะออกเปนฤษีอยู่ร่ำไป แม้มีชายาองค์อื่น ๆ จำนวนไม่น้อย ก็ไม่ทำให้แช่มชื่นได้ (จนได้นางมาใหม่อีกองค์หนึ่ง)

เมื่อได้รับตำแหน่งปกครองแทนองค์พระราชาแล้ว พระภรรตฤราชก็ปฏิบัติราชการโดยทางที่ชอบ แต่ไม่สนุกในงานที่กระทำ จนกามเทพแผลงศรดอกไม้ทลุหฤทัยอีกครั้งหนึ่ง

นางนั้นมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมดังเมฆสีนิลโลหิตซึ่งอุ้มฝนห้อยอยู่ในฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมลิให้ได้อาย มีตาเหมือนเนื้อทรายซึ่งระแวงภัย ริมฝีปากเหมือนดอกทับทิม คอเหมือนคอนกเขา มือเหมือนสีแห่งท้องสังข์ เอวเหมือนเอวเสือดาว บาทเหมือนดอกบัว พร้อมด้วยลักษณะนางงามอย่างแขก ซึ่งไทยเราแต่งกาพย์กลอนก็พลอยเอาอย่างมาเห็นงามไปด้วย พระชายาองค์ใหม่งามเช่นนี้ พระภรรตฤราชก็ลุ่มหลง แต่นางมิได้จงใจภักดีต่อพระสามี กลับไปมีใจรักใคร่กับอำมาตย์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ มหิบาล มิช้าก็เกิดเหตุ

ในที่ใกล้พระราชวัง มีพราหมณ์คนหนึ่งกับภริยาเป็นคนจนยากแค้นแสนเข็ญ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ทำตบะ คือ อดข้าว แลทรมานตัวต่าง ๆ หน้าหนาวลงแช่น้ำ หน้าร้อนนั่งผิงไฟรอบตัว จนเทวดาเบ็ดเตล็ดพากันยำเกรงทั่วไป ในที่สุด เทวทูตลงมาจากสวรรค์ ยื่นผลไม้ให้ผลหนึ่ง บอกว่า เป็นผลไม้อำมฤต ถ้ากินแล้วจะยืนชีวิตอยู่ค้ำฟ้า

ครั้นเทวทูตอันตรธานไปแล้ว พราหมณ์ก็อ้าปากซึ่งฟันหมดไปแล้วเพื่อจะกัดแลกินผลอำมฤต พอนางพราหมณีร้องห้ามว่า "ท่านเอย ท่านจงยั้งชั่งใจดูก่อน ความตายนั้นเป็นทุกข์ชั่วขณะเดียว ความมีชีวิตยากแค้นเช่นเรานี้เป็นทุกข์ยาวนาน ท่านอยากจะมีทุกข์เช่นนี้จนค้ำฟ้าหรือ ความยากจนนี้เป็นบาปที่เราทำไว้ในหนหลัง ท่านจะยืดทุกข์คอชีวิตไปทำไมเล่า ผลไม้นั้นท่านอย่ากินเลย"

พราหมณ์ได้ยินภริยาท้วงดังนั้น ก็ลังเลในใจ นั่งนิ่งปากอ้าตาเพ่งอยู่สักครู่หนึ่ง จึงกล่าวแก่ภริยาว่า "ข้าได้รับผลไม้นี้ไว้จากเทวทูตด้วยหมายจะกิน เมื่อเจ้าคัดค้านฉะนี้ ข้าก็สงสัยในใจ เจ้าผู้มีปัญญาจะเห็นควรให้ข้าทำอย่างไรต่อไปเล่า"

นางพราหมณีตอบว่า "ท่านกับข้าพเจ้าเวลานี้ก็แก่แล้ว ความชราย่อมเกียจกันความสุขซึ่งมีในใจหนุ่มแลสาว คนแก่จะอยู่ปรำปราอีกช้านานก็หาประโยชน์มิได้ ถ้าการกินผลไม้นี้กลับให้ความเป็นหนุ่มแก่ท่าน ข้าพเจ้าก็จะมิคัดค้านเลย"

พราหมณ์ได้ยินภริยากล่าวดังนั้น ก็สิ้นความลังเลในใจ ทิ้งผลไม้ลงยังพื้นดิน นางพราหมณีก็ยินดี แต่ซ่อนความอิ่มใจไว้มิให้สามีเห็น ความอิ่มใจนั้นเกิดแต่ความเห็นแก่ตนเองถ่ายเดียว คือ นางพราหมณีเห็นว่า นางได้อยู่เป็นสามีภริยากับพราหมณ์มาก็ช้านานจนถึงความชราเห็นปานฉะนี้แล้ว ถ้าสามีได้กินผลอำมฤตมีชีวิตยืนยงต่อไป ส่วนนางเองมิพ้นความตายได้ไซร้ ความเที่ยงธรรมจะมีก็หาไม่ ครั้นสามีทิ้งผลไม้อำมฤตลงบนพื้นดินฉะนั้นแล้ว นางก็กล่าวติเตียนความอายุยืนซ้ำเติมอีก จนสามีเห็นจริง กลับโกรธเทวดาว่า นำผลอำมฤตมาให้ด้วยความปองร้าย หยิบผลไม้นั้นจะโยนเข้ากองไฟ ภริยาห้ามไว้แล้วกล่าวว่า "ท่านอย่าเพิ่งทำเร็วไปนัก ผลไม้นี้มิใช่ของหาง่าย เมื่อได้มาแล้ว ก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ท่านจงไปเฝ้าพระภรรตฤราช ถวายผลไม้นี้ เธอคงจะประทานรางวัลให้สมแก่ราคาของ รางวัลนั้นแหละจะปลดทุกข์คือความจนของเรา ท่านทำตบะมาช้านานจนได้ผลเช่นนี้แล้ว ท่านจงกระทำตามคำข้า เพื่อให้ผลแห่งตบะนั้นเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขเถิด"

พราหมณ์สามีได้ฟังภริยากล่าวเช่นนั้นก็เห็นด้วย จึงนำผลอำมฤตเข้าไปเฝ้าพระภรรตฤราช ทูลให้ทราบคุณแห่งผลไม้นั้น แล้วทูลว่า "พระองค์จงรับผลไม้นี้เป็นของซึ่งข้าพเจ้าถวายเถิด พระองค์ทรงพระชนมายุยืนนาน จะได้เป็นที่พึ่งแก่ประชาราษฎร์ทั่วไป แลถ้าประทานรางวัลแก่ข้าพเจ้าให้สมแก่ค่าแห่งผลไม้นี้ ความเป็นที่พึ่งของพระองค์ก็ยิ่งแผ่กว้างทวีออกไป"

พระภรรตฤราชได้ฟังดังนั้น ก็ทรงยินดี รับผลไม้จากพราหมณ์ แล้วตรัสให้พราหมณ์ตามเสด็จเข้าไปในคลังทองอันเป็นที่ซึ่งทองซายกองอยู่หลายพ้อม แล้วตรัสให้พราหมณ์ขนเอาไปเต็มแรงที่จะขนได้ พราหมณ์ก็เปลื้องผ้าออกห่อทองซายแลบรรจุในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะบรรจุได้ รวมทั้งในปากอันพูดคล่องแลไม่มีฟันนั้นด้วย ครั้นพราหมณ์ออกจากวังไปแล้ว พระภรรตฤราชก็เสด็จไปสู่ตำหนักแห่งพระชายาองค์ใหม่ ประทานผลไม้แก่นาง แล้วตรัสว่า "เจ้าจงกินผลไม้อำมฤตนี้เถิด ความงามของเจ้าจะอยู่ให้ข้าชมไปชั่วกาลนาน"

พระชายาซึ่งมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมดังเมฆสีนิลโลหิตซึ่งอุ้มฝนห้อยอยู่บนฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย ฯลฯ ฯลฯ ทรงรับผลอำมฤตจากพระภรรตฤราช แล้ววางพระหัตถ์บนอุระพระสามี จุมพิตพระเนตรแลพระโอษฐ์ พลางทูลว่า "พระองค์จงเสวยผลไม้นี้เถิด หรือมิฉะนั้น แบ่งเสวยกับข้าพเจ้าองค์ละครึ่งผล เพื่อจะได้ยืนชนมายุไปด้วยกัน ความเป็นสาวอยู่เสมอนั้น ถ้ามิได้มีชายผู้เป็นที่รักอยู่ด้วยแล้ว ประโยชน์อันใดจะมีเล่า"

พระภรรตฤราชทรงฟังดังนั้น ก็แช่มชื่นในพระหฤทัย แต่ตรัสแก่นางว่า ผลอำมฤตนั้นต้องกินคนเดียวหมดผลจึ่งจะมีคุณดังกล่าว ถ้าแบ่งกินคนละครึ่งก็ไม่มีประโยชน์เลย รับสั่งเท่านั้นแล้วก็เสด็จไปจากตำหนักนาง ทิ้งผลอำมฤตไว้ให้เสวยตามสบาย

ฝ่ายพระชายาผู้มีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมเหมือนเมฆสีนิลโลหิตซึ่งอุ้มฝนห้อยอยู่บนฟ้า ฯลฯ ฯลฯ ครั้นพระสามีเสด็จพ้นตำหนักไปแล้ว นางก็ตรัสให้คนสนิทไปตามอำมาตย์หนุ่มผู้เป็นที่พึงพระหฤทัยไปที่ตำหนัก แลประทานผลอำมฤตแก่อำมาตย์หนุ่มด้วยกิริยาแลวาจาซึ่งสำแดงเสน่หาอย่างน้อยเสมอกับที่ได้แสดงต่อพระภรรตฤราชผู้สามี อำมาตย์หนุ่มรับผลอำมฤตด้วยกิริยาแลวาจาซึ่งสำแดงเสนหาไม่หย่อนกว่าที่นางสำแดง แล้วกลับจากตำหนักพระชายา พบนางสนมรูปงามคนหนึ่งซึ่งเป็นที่พิสวาทของอำมาตย์หนุ่ม ๆ ก็ให้ผลอำมฤตแก่นางนั้นด้วยกิริยาแลวาจาซึ่งสำแดงเสนหาไม่หย่อนกว่าที่ได้แสดงต่อพระชายาประมาณ ๕ นาฑีซึ่งพ้นมาแล้ว นางสนมรูปงามได้รับผลไม้สำคัญ ไม่ทราบเรื่องแต่เดิมมา คิดจะหาความชอบต่อพระภรรตฤราช โดยความฝันว่า จะได้เป็นใหญ่ จึ่งนำผลไม้ไปถวาย ทูลว่า เป็นผลอำมฤตซึ่งถ้าเสวยให้หมดผลจะทรงพระชนม์ยืนยาวชั่วกัลปาวสาน

พระภรรตฤราชทรงรับผลอำมฤตจากนางแล้วประทานทรัพย์เป็นรางวัลมากมาย ครั้นนางออกจากที่เฝ้าแล้ว ก็ทรงถือผลไม้ในพระหัตถ์ พิศพลางทรงรำพึงว่า

"มายาคือความมั่งคั่งแลมายาคือความรักนี้มีคุณดีที่ไหนบ้าง ความชื่นบานอันเกิดแต่มายาทั้งสองนี้อยู่ได้ครู่เดียวก็กลับเป็นความขมตลอดชาติ ศฤงคารนี้เหมือนเหล้าในถ้วยของนักเลงสุรา เมื่อจิบครั้งแรก มีรสดีเอิบอาบไปทั่วกาย ยิ่งดื่มบ่อยเข้า ยิ่งหย่อนรส ในที่สุด เป็นทุกข์อันหนัก ชีวิตนี้มิใช่อื่นไกล คือความหมุนเวียนแห่งความชื่นบานซึ่งเป็นความหลงกับความเร่าร้อนซึ่งเป็นความจริงเท่านั้น วันที่จะตื่นจากชีวิตก็คือวันที่สิ้นสุดแห่งชีวิตนั้นเอง ทางที่สองรองความตื่นจากชีวิตนี้ก็คือความเป็นดาบสไว้ศรัทธาในตบะเพื่อพระผู้เป็นเจ้าจะได้ทรงกรุณาประทานในโลกน่า ความสุขซึ่งไม่ประทานในโลกนี้"

เราได้กล่าวมาในเบื้องต้นว่า พระภรรตฤราชเป็นผู้มีหฤทัยซึมเซาชวนจะเป็นฤษีอยู่เสมอ ๆ แล้ว ถ้อยคำที่ทรงรำพึงนี้เป็นคำของคนที่ใกล้จะออกป่าเป็นดาบส เราท่านฟังดูไม่เห็นได้ความเป็นเรื่องเป็นราวอะไร เพราะเรายังอยู่ห่างไกลจากความเป็นดาบสมาก แลมิได้แสวงที่จะออกป่าเป็นฤษีเลย ส่วนพระภรรตฤราชนั้น เมื่อทรงรำพึงเช่นกล่าวนั้นแล้ว ก็ตกลงในหฤทัยว่า จะออกป่าเป็นโยคี แต่ยังอยากจะสนทนากับพระชายาผู้มีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ฯลฯ ฯลฯ อยู่ จึ่งเสด็จไปตำหนักนาง ซ่อนผลอำมฤตไปด้วย ครั้นเสด็จถึง จึงตรัสถามว่า ผลอำมฤตที่ประทานนั้น นางเสวยแล้วหรือ นางทูลตอบว่า "ไฉนพระองค์จึ่งตรัสถามเช่นนี้ ข้าพเจ้าได้รับประทานก็กินแล้วเป็นแน่ พระองค์ทรงเห็นข้าพเจ้าสวยน้อยไปกว่าเมื่อตะกี้นี้หรือ"

พระภรรตฤราชทรงหยิบผลอำมฤตออกชูให้นางดู แล้วมีดำรัสแก่ราชบุรุษอำนวยวิธีตัดหัวนางอย่างละเอียด ส่วนผลอำมฤตนั้น มีรับสั่งให้ล้างจนสิ้นมลทินที่ติดจากมือคนต่าง ๆ แล้ว ก็เสวยหมดทั้งผล แล้วทิ้งราชสมบัติเข้าป่าเป็นโยคี คนบางพวกกล่าวว่า พระภรรตฤราชยังทรงโยคะอยู่ในแถบเขาหิมาลัยอันเป็นที่กว้างยากที่ใครจะไปตามพบ คนบางพวกกล่าวว่า เมื่อจำเริญตบะยิ่ง ๆ ขึ้น ก็ได้เข้ารวมอยู่ในภาวะแห่งพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นที่ประมวลคนดีทั่วไป

ส่วนราชสมบัติกรุงอุชชยินีซึ่งว่างผู้ปกครองนั้น ก็ร้อนถึงพระอินทร์ตามเคย พระอินทร์ตรัสให้อสูรตนหนึ่งชื่อ ปัถพีบาล ลงมาป้องกันกรุงอุชชยินีมิให้มีภัยมาถึง ต่อเมื่อพระวิกรมาทิตย์กลับเข้ากรุงเมื่อใด จึ่งให้อสูรกลับไปที่อยู่ได้ ปัถพีบาลรับเทวบัญชาดังนั้นก็มาอยู่ประจำการที่กรุงอุชชยินี เฝ้ายามทั้งวันทั้งคืนมิให้ภัยมีมาได้

ฝ่ายพระเจ้าวิกรมาทิตย์ เมื่อเสด็จพาพระโอรสปลอมเป็นโยคีเที่ยวเตร็จเตร่ตามเมืองแลป่าต่าง ๆ ประมาณปีหนึ่ง ก็บังเกิดเบื่อหน่าย เพราะเสื้อผ้าเครื่องทรงไม่สะบายควรแก่ราชูประโภค บางคราวก็หิว บางคราวก็ต้องต่อสู้สัตว์ป่าที่นึกว่า กษัตริย์ ๒ องค์คือเนื้อ ๒ ก้อน อนึ่ง พระราชาทิ้งราชสมบัติไปนาน ก็คิดเป็นห่วง เกิดวิตกต่าง ๆ ทั้งได้ยินลือกันว่า พระภรรตฤราชทิ้งเมืองเข้าป่าเป็นฤษีไปเสียแล้ว เหตุเหล่านี้รวมกัน ทำให้พระวิกรมาทิตย์พาพระโอรสหันพระพักตร์สู่นคร สององค์ทรงด่วนดำเนิรหลายวัน ถึงประตูนครเวลาเที่ยงคืน พอจะเสด็จเข้าเมือง ก็มีผู้มีกายใหญ่ยืนขวางประตู ร้องถามด้วยเสียงดังสนั่นว่า "ใครมา จะไปไหน จงหยุดอยู่กับที่แลบอกชื่อไปก่อน"

พระวิกรมาทิตย์ทรงโกรธเป็นกำลัง ตรัสว่า "เราคือพระราชาวิกรมาทิตย์ จะกลับเข้าสู่นครของเรา เจ้าคือใคร จึ่งกำเริบมาห้ามฉะนี้"

อสูรปัถพีบาลตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เทพดาให้มารักษาเมืองนี้ ถ้าท่านคือพระราชาวิกรมาทิตย์จริง จงมาสู้กันลองฤทธิ์ดูก่อน"

พระราชาตรัสว่า "ตกลง" เพราะไม่โปรดจะทำอะไรยิ่งกว่ารบ ครั้นทรงเหน็บผ้าทรงมั่นคงแล้ว ก็ตรงเข้าต่อสู้กับอสูร อสูรนั้นกำหมัดเท่าผลแตงโม ลำแขนแข็งราวตะบองเหล็ก ฟาดลงมาแต่ละครั้งดังต้นไม้ใหญ่ซึ่งพยุพัดล้มฟาดลงมา ส่วนพระราชานั้นสูงเพียงสดือยักษ์ ยักษ์ก้มลงฟาดกำหมัดคราวไรก็ตวาดด้วยเสียงอันดัง คนที่ไม่กล้าหาญมั่นคงอาจแพ้เพราะเสียงนั้นอย่างเดียว

ต่อสู้กันอยู่ครู่หนึ่ง ยักษ์เหยียบพลาดล้มลง พระราชบุตรเข้าช่วยนั่งทับอยู่บนท้องยักษ์ พระราชาขึ้นขี่อยู่บนคอ สองพระหัตถ์จิกลงไปในกระบอกตา ตรัสว่า ถ้ายักษ์ไม่ยอมแพ้ จะควักดวงตาออกเสีย

ยักษ์ร้องทูลว่า "พระองค์ได้ทีแล้ว นับว่า ทำให้ข้าพเจ้าล้มได้ ข้าพเจ้ายอมถวายชีวิตของพระองค์แก่พระองค์"

พระวิกรมาทิตย์ทรงสำรวลแลตรัสว่า "เจ้าจะเป็นบ้าดอกกระมัง เจ้าอยู่ในอำนาจของข้าแล้ว ข้าจะตัดลมหายใจของเจ้าเสียก็ได้ในบัดนี้ เจ้าจะกลับมาให้ชีวิตของข้าแก่ข้าอย่างไรเล่า เจ้าไม่ต้องให้ชีวิตข้า ๆ ก็มีชีวิตต่อไปได้"

ยักษ์ตอบว่า "พระองค์อย่ากล่าวเย่อหยิ่งให้เกินไป พระองค์ตั้งอยู่ในความไม่รู้ พระองค์จะสิ้นชีวิตในเร็ววันนี้เอง ถ้าข้าพเจ้าช่วยให้พระองค์พ้นภัยถึงแก่ชีวิต คือข้าพเจ้าถวายชีวิตแก่พระองค์ พระองค์จงฟังเรื่องซึ่งข้าพเจ้าจะเล่าถวาย แล้วทรงตรึกตรองดูเถิด ถ้าเชื่อข้าพเจ้าแลทำตามคำข้าพเจ้า พระองค์จะทรงชนมายุยืนยาวประกอบด้วยผาสุกสวัสดีเป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์ไปชั่วกาลนาน แลเมื่อถึงคราวดับพระชนม์ ก็จะดับด้วยความไม่กระสับกระส่าย"

พระราชาแลพระราชบุตรเสด็จลงจากตัวยักษ์ยืนอยู่ยังดิน ยักษ์ลุกขึ้นนั่งแล้วเล่าเรื่องดังต่อไปนี้

"ในกรุงอุชชยินีนี้ มีคนเกิดในวันเดือนปีเดียวกันแลฤกษ์เดียวกัน ๓ คน คนที่ ๑ คือ พระองค์ผู้ทรงนาม พระวิกรมาทิตย์ คนที่ ๒ เป็นบุตรคนค้าน้ำมัน คนที่ ๓ เป็นโยคีฆ่าคนที่ ๒ ตายเสียแล้ว โยคีนั้นฆ่าคนทั้งหลายที่มีโอกาสฆ่าได้เพื่อบูชานางทุรคา ครั้นฆ่าบุตรคนค้าน้ำมันแล้ว โยคีนั้นก็ไปทำตบะห้อยตัวเอาหัวลงอยู่บนต้นไม้ในป่าช้า มีความคิดจะฆ่าพระองค์ผู้เป็นพระราชา แลได้ฆ่าแล้วซึ่งบุตรของตน"

พระราชาตรัสถามว่า "โยคีเหตุไรจึ่งมีบุตร"

ยักษ์ตอบว่า "ข้าพเจ้ากำลังจะเล่าอยู่เดี๋ยวนี้ ในเวลาซึ่งพระราชบิดาของพระองค์ยังทรงพระชนม์ครองราชสมบัติอยู่นั้น วันหนึ่ง เสด็จออกเที่ยวป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นโยคีตนหนึ่งนั่งทำตบะอยู่ในป่า ฝูงปลวกพากันมาทำรังเกาะอยู่รอบตัวโยคี สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ พากันไต่ตามกายแลหน้า หมาร่าทำรังห้อยอยู่บนผม แต่โยคีก็มิได้รู้สึกตัว นั่งนิ่งเหมือนคนไม่มีใจ ต่อเมื่อพิจารณาละเอียดจึงเห็นได้ว่ามีชีวิต พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็แปลกพระหฤทัย สักครู่หนึ่ง ก็เสด็จคืนพระนคร ทรงม้านิ่งตรึกตรองตลอดทาง ครั้นถึงพระนคร ก็รับสั่งถึงโยคีนั้นร่ำไป ยิ่งทรงนึกถึงแลรับสั่งถึง ก็ยิ่งใคร่ทรงทราบเรื่องแลทดลองตบะแห่งโยคีนั้น ในที่สุด มีรับสั่งให้ป่าวทั่วพระนครว่า ถ้าผู้ใดทำให้โยคีเข้ามาในพระนครได้โดยลำพังความชักชวน จะประทานรางวัลมีจำนวน ๑๐๐ เหรียญสุวรรณ์

"ยังมีนางเวศยาคนหนึ่งชื่อ นางวสันตเสนา มีชื่อเสียงชำนาญการร้องรำทำเพลงยิ่งกว่าสามารถสำรวมฤดี นางนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาผู้พระราชบิดาของพระองค์ อาศาจะไปนำโยคีเข้ามายังท้องพระโรง แลจะให้แบกทารกมาด้วย พระราชาทรงฟังก็สงสัยคำที่นางกล่าวว่าจะทำได้ แต่ประทานใบพลูแก่นางใบหนึ่งเป็นสัญญา ตกลงให้ทำตามอาศา แล้วประทานอนุญาตให้ออกจากท้องพระโรงไป"

"นางวสันตเสนา ครั้นออกจากที่เฝ้าแล้ว ก็ไปยังป่า เที่ยวหาโยคี พบนั่งหิวแลกระหายน้ำอยู่แทบใกล้ต้นไม้ใหญ่ มีอาการเหมือนใกล้จะสิ้นชีวิตด้วยความร้อนแลความหนาว นางจึ่งทำอาหารน้ำอย่างหนึ่งซึ่งมีรสหวานแหลม ค่อยย่องเข้าไปใกล้ แล้วค่อย ๆ ป้ายอาหารนั้นที่ปากโยคี ๆ รู้สึกความหวานก็เลียอาหารนั้นเข้าไป นางก็ป้ายเติมอีกเป็นหลายครั้ง ครั้นวันที่ สามโยคีค่อยมีกำลัง พอรู้สึกนิ้วป้ายที่ปากก็ลืมตาขึ้นดู เห็นนางวสันตเสนา ก็ถามว่า 'เจ้ามาที่นี่ทำไม'"

"นางวสันตเสนาเตรียมตอบไว้แล้ว ครั้นโยคีถามดังนั้น ก็ตอบว่า 'ข้าพเจ้าเป็นลูกสาวเทวดา ได้กระทำพรตอยู่ในสวรรค์ บัดนี้ ข้าพเจ้าลงมาพักอยู่ในป่านี้เพื่อจะถือพรตต่อไป'"

"โยคีเห็นนางรูปร่างงาม ก็คิดว่า การทรงพรตอยู่ใกล้ ๆ นางมีโฉมเช่นนี้สำราญกว่าอยู่คนเดียวมาก จึ่งถามว่า ที่อยู่ของนางอยู่ไหน นางวสันตเสนาก็ชี้ว่า อยู่ใกล้ ๆ นั้นเอง แล้วแกะดินปลวกให้หลุดออกจากกายโยคี ชักชวนให้อาบน้ำชำระกาย แล้วพาไปที่กระท่อมซึ่งได้จัดให้มีผู้มาสร้างขึ้นเตรียมไว้ในป่านั้น ครั้นถึงกระท่อม ได้เห็นของดี ๆ ต่าง ๆ ซึ่งควรแก่ชาวนคร ล้วนเป็นสิ่งซึ่งโยคีไม่เคยพบเห็น โยคีก็พิศวงยิ่งนัก นางวสันตเสนาก็อธิบายว่า นางถือพรตชะนิดที่ต้องใช้ของดีที่สุดซึ่งจะหาได้ ต้องแต่งตัวให้สวย ต้องกินอาหารประกอบด้วยรสทั้ง ๖ ทั้งต้องบำรุงความรื่นเริงต่าง ๆ (ชรอยจะทำนองเดียวกันกับชนหมู่หนึ่งซึ่งนับถือคำสั่งสอนของวัลลภาจารย์ยังมีอยู่ในอินเดียจนถึงทุกวันนี้)

"ครั้นไปถึงกระท่อม นางวสันตเสนาก็เลี้ยงดูโยคีเป็นอันดี ฝ่ายโยคี เมื่อได้รู้รสทั้ง ๖ ก็ชอบใจ ละพรตอย่างเก่ามาถือพรตอย่างใหม่ ถือการกินแลดื่มแทนการอด มิช้าก็ได้อยู่กินกับนางวสันตเสนาตามวิธีคนธรรพวิวาหะ ครั้น ๑๐ เดือนล่วงแล้วไป ก็มีบุตรคนหนึ่ง ดังนี้ โยคีจึ่งมีบุตร

"ฝ่ายนางวสันตเสนา ครั้นมีบุตรแล้ว วันหนึ่ง ชักชวนโยคีผู้สามีว่า "ดูกร ท่านผู้ทรงโยคะ เราได้ถือพรตมาในป่านี้ช้านานแล้ว มาเราไปยังท่าน้ำอันเป็นบุณยะสถานต่าง ๆ เพื่อล้างกายให้หมดบาปเป็นที่จำเริญสุขต่อไป"

"โยคีได้ฟังดังนั้นก็เห็นชอบ จึ่งแบกทารกผู้บุตรขึ้นบ่าแล้วออกเดิรตามนางผู้ภริยา นางก็นำตรงเข้ากรุงอุชชยินี เข้ายังท้องพระโรงในเวลาที่พระราชาประทับอยู่ พระราชาเสด็จอยู่ท่ามกลางอำมาตย์มนตรี ทอดพระเนตรเห็นนางวสันตเสนานำโยคีแบกทารกเข้ามา ก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า 'อโห. หญิงเวศยาไปพาโยคีแบกทารกมาแล้ว'

"พวกอำมาตย์มนตรีพร้อมกันทูลว่า 'พระองค์ตรัสถูกแท้ หญิงคนนี้เจียวรับจะไปพาโยคีมา นางรับจะทำอันใดก็ทำอันนั้นสำเร็จแล้วทุกประการ'

"พระราชาได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล ผู้ที่เฝ้าอยู่ก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน ประหนึ่งโยคีเป็นเครื่องสนุกอย่างใหญ่ ฝ่ายโยคี เมื่อได้ยินพระราชาตรัสแลได้ยินคนอื่น ๆ พูดแล้วหัวเราะเกรียวกราวดังนั้น ก็คิดว่า พวกนี้เจียวแต่งนางไปล่อเราให้เสียผลแห่งตบะที่ได้บำเพ็ญมา ครั้นรู้สึกเช่นนั้นแล้ว ก็แบกลูกขึ้นบ่า สาปคนทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้น แล้วออกจากท้องพระโรงไป คำที่โยคีสาปนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเสียตบะเสียแล้ว

"ครั้นโยคีกลับไปถึงป่า ก็ฆ่าบุตรของตนเสีย แล้วเริ่มทำตบะใหม่ มาตรหมายจะแก้แค้นพระราชบิดาแห่งพระองค์ บัดนี้ พระราชบิดาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว โยคีตั้งหน้าจะทำร้ายพระองค์ต่อไป หวังจะเอาเลือดพระราชาและพระราชบุตรเป็นเครื่องบูชานางทุรคา เพื่อได้รับความเป็นใหญ่ในโลกเป็นรางวัล"

ปัถพีบาลเล่าเรื่องจบแล้วก็ทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า "ข้าพเจ้าได้กล่าวสัญญาแล้วว่า จะช่วยชีวิตพระองค์ พระองค์จงฟังข้าพเจ้าเถิด ต่อไปนี้ จงระวังพระองค์ อย่าเชื่อคำผู้มีสำนักในหมู่คนตาย แลทรงจำใส่พระหฤทัยไว้ว่า ผู้ใดมุ่งจะฆ่าชีวิตพระองค์ พระองค์อาจตัดหัวผู้นั้นเสียก่อนได้โดยคลองธรรม ต่อนั้นไป จะทรงครอบครองสกลโลกด้วยความสุข ปรากฏพระนามไปชั่วกาลนาน"

ปัถพีบาลทูลเท่านั้นแล้วก็อันตรธานไป พระวิกรมาทิตย์กับพระราชบุตรก็เสด็จเข้าไปในพระนคร

ฝ่ายชาวเมือง ครั้นพระราชาเสด็จคืนครองราชสมบัติ ก็พากันยินดีรื่นเริง ต่างแต่งกายโอ่อ่าประกวดกัน บ้างก็ร้องรำทำเพลง บ้างก็ประโคมดนตรีกึกก้องไป เนาวรัตนกวีก็แต่งกลอนยอพระเกียรติเชิดชูเป็นเครื่องจำเริญพระยศ พระราชาก็ทรงสำราญ แวดล้อมด้วยพระราชวงศ์อำมาตย์มนตรีและจัตุรงคเสนา เหมือนหนึ่งสุรเทพนิกรแวดล้อมศักรเทวราชครองราชัยอยู่ในกรุงอมราวดีจัดเป็นทิพยนครฉะนั้น

ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ ครั้นสงบความรื่นเริงในการเสด็จนครแล้ว ก็ทรงปกครองประชาราษฎร์โดยเยี่ยงอย่างประเสริฐ คนทำผิดก็ลงราชทัณฑ์ตามโทษานุโทษ เป็นต้นว่า อำมาตย์คนหนึ่งขึ้นชื่อว่า รับสินบล ก็โปรดให้ริบทรัพย์สมบัติของอำมาตย์นั้นไปขึ้นท้องพระคลังเสียสิ้น คนชาติต่ำคนหนึ่งมีกลิ่นเหล้าออกจากปาก ก็โปรดให้สักหน้าเป็นเครื่องหมายโทษ ช่างทองคนหนึ่งประกอบการฉ้อโกง ก็โปรดให้เอามีดโกนขีดเนื้อเป็นรอยยาว ๆ เหมือนฉีกผ้า คนหนึ่งเป็นคนปากร้าย พูดจาให้โทษ ก็โปรดให้เจาะที่กะโหลกหลังศีร์ษะ แล้วเอาคีมจับลิ้นลากย้อนรอยไปออกทางช่องซึ่งเจาะนั้น คนฆ่าคนตายสองสามคน ก็โปรดให้เอาขึ้นเผาทั้งเป็นบนตารางเหล็ก และโปรดให้อ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าในขณะเดียวกันให้คนเหล่านั้นพ้นโทษซึ่งน่ากลัวจะได้รับในปรโลก

ส่วนการรบแย่งเมืองของผู้อื่น ก็ได้ทรงทำด้วยความสามารถ มิช้าก็มีอาณาจักรไปในสกลโลก

วันหนึ่ง พระวิกรมาทิตย์เสด็จออกว่าราชการเมือง มีพ่อค้าคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าในท้องพระโรง พ่อค้าคนนี้มาจากเมืองไกล ขึ้นชื่อว่า มั่งมีนัก ครั้นได้เข้าเฝ้า ก็นำผลไม้ผลหนึ่งถวายพระราชาแล้วทูลลาไป เมื่อพ่อค้าไปแล้ว พระวิกรมาทิตย์ทรงดำริว่า คนที่ยักษ์บอกให้เราระวังนั้นอาจเป็นคนนี้ก็ได้ ไม่ควรเราจะกินผลไม้นี้ ทรงดำริฉะนั้นแล้ว ก็ตรัสเรียกชาวคลังมารับผลไม้ไปรักษาไว้ รุ่งขึ้น พ่อค้าก็เข้าไปเฝ้าอีก และถวายผลไม้อีกผลหนึ่ง พระราชาก็ตรัสให้ชาวคลังรับผลไม้นั้นไปเก็บไว้อีก เป็นดังนี้ทุกวัน จนผลไม้มีอยู่ในคลังกองใหญ่

วันหนึ่ง พระวิกรมาทิตย์เสด็จลงไปทอดพระเนตรม้าณโรงม้าต้น ประสพเวลาที่พ่อค้าไปเฝ้า พ่อค้าก็ถวายผลไม้ที่โรงม้า พระราชาทรงรับแล้วก็ทรงเดาะผลไม้นั้นเล่นและทรงนิ่งตรึกตรองอยู่ เพอินผลไม้ตกจากพระหัตถ์กลิ้งไปใกล้ลิงซึ่งผูกไว้ในโรงม้าต้นสำหรับคอยรับอุปัทวันตรายต่าง ๆ มิให้เกิดแก่ม้า ลิงเห็นผลไม้กลิ้งไปใกล้ก็ฉวยเอาไปฉีกกิน ทับทิมเมล็ดใหญ่งามช่วงโชติก็ตกจากผลไม้นั้น พระราชาและข้าราชการที่ตามเสด็จต่างก็พิศวง เพราะไม่มีใครเห็นทับทิมงามเช่นนี้เลย

พระวิกรมาทิตย์ทอดพระเนตรพิศทับทิมอยู่สักครู่หนึ่ง ก็ระแวงพระหฤทัย ตรัสถามพ่อค้าว่า "เหตุไรเจ้าจึ่งให้ทรัพย์แก่เราถึงเช่นทับทิมเมล็ดนี้"

พ่อค้าทูลว่า "คัมภีร์โบราณสอนว่า เมื่อจะไปเฝ้าพระราชา ๑ ไปหาอุปัชฌาย์ ๑ ไปหาตุลาการ ๑ ไปหาหญิงสาว ๑ ไปหาหญิงแก่ผู้มีลูกสาวซึ่งเราใคร่ได้ ๑ อย่าให้ไปมือเปล่า ข้าพเจ้าได้ถวายทับทิมเช่นเดียวกันนี้แก่พระองค์มามากมายแล้ว เหตุใดจึ่งรับสั่งแต่เมล็ดนี้เมล็ดเดียวเล่า ผลไม้ที่ข้าพเจ้าถวายทุก ๆ วันนั้นมีทับทิมอย่างเดียวกับเมล็ดนี้ซ่อนอยู่ข้างในทุกผล"

พระราชาได้ทรงฟังดังนั้นก็ตรัสเรียกนายคลังให้ไปขนผลไม้มาทั้งสิ้น ครั้นขนมาแล้ว ก็ตรัสให้ผ่าออกดู พบทับทิมผลละเมล็ดขนาดใหญ่ และน้ำงามเสมอกันทุก ๆ เมล็ด พระวิกรมาทิตย์ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงโสมนัส จึ่งตรัสให้ตามพ่อค้าพลอยเข้ามาแล้วตรัสว่า "มนุษย์เรา เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว จะพาสิ่งใดจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าได้นั้นไม่มี ความทรงธรรมเป็นคุณวิเศษยิ่งสิ่งอื่นในโลกนี้ เพราะฉะนั้น เจ้าจงบอกแก่เราว่า ทับทิมเหล่านี้เมล็ดหนึ่ง ๆ มีค่าเท่าไร"

พ่อค้าพลอยทูลตอบว่า "พระราชารับสั่งถูกต้องทุกประการ ผู้ใดมีธรรมในใจ ผู้นั้นเป็นเจ้าของสิ่งทั้งปวงในโลก ธรรมย่อมจะเป็นเพื่อนไปในที่ทั้งปวง มีประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อันทับทิมเหล่านี้ ถ้าข้าพเจ้าทูลว่า แต่ละเมล็ดมีราคาถึงสิบล้านเหรียญสุวรรณ (๑๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐) พระองค์ก็ยังไม่ทรงทราบราคาจริงของทับทิมเมล็ดหนึ่ง อันที่จริง ราคาทับทิมเหล่านี้แต่ละเมล็ดอาจซื้อทวีปได้ทวีปหนึ่งจากจำนวน ๗ ทวีปซึ่งรวมกันเป็นโลกนี้"

พระราชาได้ฟังก็ทรงสำราญพระหฤทัย ประทานรางวัลแก่พ่อค้าพลอย แล้วตรัสให้พ่อค้าผู้ถวายทับทิมตามเสด็จคืนเข้าท้องพระโรง รับสั่งให้นั่งในที่อันควรแล้วตรัสว่า "ราชัยไอศวรรย์ของเราทั้งหมดไม่มีราคาครึ่งค่อนราคาแห่งทับทิมนี้เมล็ดหนึ่ง ๆ ท่านเป็นคนหาประโยชน์ในการค้าขาย เหตุไรท่านจึ่งให้ทับทิมแก่เราถึงเท่านี้"

พ่อค้าทูลตอบว่า "ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ คัมภีร์โบราณกล่าวว่า ข้อความบางอย่างไม่ควรกล่าวในที่ชุมนุม คือ การขอพร ๑ การร่ายมนต์ ๑ การวางยา ๑ การกล่าวคุณความดี ๑ การในเรือน ๑ การกินอาหารที่ห้าม ๑ การกล่าวลบหลู่เพื่อนบ้าน ๑ ถ้าข้าพเจ้าได้เฝ้าฉะเพาะพระองค์ ข้าพเจ้าจะทูลความประสงค์ของข้าพเจ้า การอันใดในโลกนี้ ถ้าได้ยินถึง ๖ หู ก็สิ้นเป็นความลับ ถ้าได้ยินเพียง ๔ หู บางทีจะไม่มีใครทราบต่อไป ถ้าได้ยินแต่ ๒ หู แม้พระพรหมก็ไม่ทราบได้" (ตรงนี้ เราท่านสมัยนี้ควรเห็นว่า ถ้า ๒ หูนั้นเป็นหูพระพรหม ๆ ก็อาจทราบได้บ้างกระมัง)

พระวิกรมาทิตย์ทรงฟังดังนั้นก็รับสั่งให้พ่อค้าเข้าไปเฝ้าในที่ลับแล้วตรัสว่า "ท่านได้ให้ทับทิมแก่เรามากมายฉะนี้ เรายังมิได้ทำอันใดตอบแทนท่านเลย แม้จะได้เลี้ยงอาหารจนครั้งหนึ่งก็หามิได้ ท่านจะประสงค์สิ่งใดก็จงบอกเราเถิด"

พ่อค้าทูลตอบว่า "ข้าพเจ้ามิใช่พ่อค้า ข้าพเจ้าเป็นโยคีชื่อ ศานติศีล ข้าพเจ้ากำลังจะกระทำพิธีอันหนึ่งในป่าช้าริมฝั่งแม่น้ำโคทาวรี เมื่อข้าพเจ้าทำสำเร็จแล้วจะได้ความเป็นใหญ่ในโลก ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์และพระธรรมธวัชผู้พระราชบุตรช่วยข้าพเจ้าในการนี้ เชิญเสด็จไปที่ป่าช้าคืนหนึ่งและกระทำการตามสั่งข้าพเจ้าทุกประการ ถ้าพระองค์โปรดข้าพเจ้าเช่นนี้ การพิธีของข้าพเจ้าจะสำเร็จ"

พระวิกรมาทิตย์ได้ยินกล่าวถึงป่าช้าก็สดุ้งพระหฤทัยด้วยระลึกถึงคำที่ยักษ์ทูลไว้ แต่พระองค์เป็นมหากษัตริย์ ทรงทราบวิธีซ่อนความรู้สึกมิให้ปรากฏในกิริยาอาการ โยคีศานติศีลจะได้ทราบว่าทรงระแวงนั้นหามิได้ พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง ทรงดำริว่า ได้ลั่นพระโอษฐ์แล้ว ถ้าไม่ทำตาม จะเสียคำไป จึ่งตรัสว่า "เราจะไปยังป่าช้าและช่วยท่านในพิธีที่กล่าวนั้น ท่านจงบอกกำหนดวันและเวลาเถิด"

โยคีทูลว่า "เชิญเสด็จไปที่ป่าช้าจำเพาะแต่พระองค์กับพระราชบุตร มิให้มีคนตามเสด็จ แต่ให้ทรงถืออาวุธไปด้วย กำหนดวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนนี้"

พระราชาทรงรับแม่นมั่นแล้ว โยคีก็ทูลลาจากวังไปเตรียมการสำหรับพิธีที่กล่าวนั้น

ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ ครั้นโยคีทูลลาไปแล้ว ก็เสด็จขึ้นข้างใน ทรงดำริข้อความซึ่งประทานคำมั่นแก่โยคี ไม่มีท่าทางจะถอยได้ แต่การอันนี้เป็นเครื่องซึ่งอาจให้ได้อาย จึ่งมิได้รับสั่งแพร่งพรายแก่ใคร แม้อำมาตย์ที่สนิทก็มิได้ตรัสให้รู้เรื่อง

ครั้นถึงกำหนดกลางคืนแรม ๑๔ ค่ำ พระราชากับพระราชบุตรก็เตรียมพระองค์ ทรงผ้าโพกพันไปใต้คาง ทรงถือดาบอันเป็นอาวุธคู่พระหัตถ์สามารถสู้อริทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ สององค์พากันเสด็จออกจากวังดำเนิรไปตามถนน บ่ายพระพักตร์สู่ป่าช้าซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโคทาวรี

คืนนั้น มืดนัก พยุพัด ฝนตก เยือกเย็น ผู้คนไม่มีเดิรไปมาในถนน พระราชาและพระราชบุตรตั้งพระพักตร์รีบดำเนิรไปจนเห็นแสงไฟอยู่กลางป่าช้า ก็เสด็จตรงเข้าไปหาแสงไฟ เมื่อถึงขอบป่าช้า พระราชาหยุดชะงักเพราะรังเกียจเหยียบที่ดินโสโครกด้วยซากศพ ทรงเหลียวดูพระราชบุตร เห็นมิได้ครั่นคร้ามเลย สององค์ก็ทรงดำเนิรตรงเข้าไป

สักครู่หนึ่ง ถึงกลางป่าช้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจต่าง ๆ อยู่ล้อมกองไฟซึ่งได้เผาศพใหม่ ๆ ภูตผีปิศาจปรากฏแก่ตารอบข้าง เสือคำรามอยู่ก็มี ช้างฟาดงวงอยู่ก็มี หมาไนซึ่งขนเรือง ๆ อยู่ในที่มืดก็กินซากศพซึ่งกระจัดกระจายเป็นชิ้นเป็นท่อน หมาจิ้งจอกก็ต่อสู้กันแย่งอาหาร คือ เนื้อและกระดูกมนุษย์ หมีก็ยืนเคี้ยวกินตับแห่งทารก ในที่ใกล้กองไฟ เห็นรูปผีนั่งยืนและลอยอยู่เป็นอันมาก ทั้งมีเสียงลมและฝน เสียงสุนัขเห่าหอน เสียงนกเค้าแมวร้อง และเสียงกระแสน้ำไหลกลบกันไป

ในท่ามกลางสิ่งที่น่าเกลียดและน่ากลัวเหล่านี้ โยคีศานติศีลนั่งอยู่ใกล้กองไฟ มีกะโหลกศีร์ษะวางอยู่บนข มือถือกระดูกแข้งมือละท่อน เคาะกะโหลกเป็นเพลงให้ภูตต่าง ๆ รำและโลดไปมาอยู่รอบข้าง

พระวิกรมาทิตย์ทรงความกล้าอย่างที่สุดดังจะเห็นได้ในเวลาที่รบยักษ์นั้นแล้ว แต่ความกล้านั้นประกอบด้วยความระมัดระวังพระองค์ ครั้นเห็นมนุษย์แวดล้อมด้วยผีดังนั้น ก็ซ้ำคิดถึงคำยักษ์ เห็นเป็นช่องอันดีที่จะทำลายศัตรูซึ่งมุ่งร้ายต่อพระองค์ ทรงคิดว่า ในขณะนั้น ถ้าตรงเข้าไปฟันด้วยพระแสงดาบอันคมกล้าให้หัวโยคีขาดไป ก็จะทำได้สำเร็จประสงค์โดยง่าย แต่ทรงรำลึกว่า ได้ทรงสัญญาเสียแล้วว่า จะมารับใช้โยคีในคืนวันนั้น จำต้องปฏิบัติตามข้อสัญญา และระวังพระองค์ คอยหาโอกาสในเวลาข้างหน้าต่อไป

พระราชาทรงดำริห์ฉะนี้แล้ว จึ่งเสด็จทรงนำพระราชบุตรเข้าไป กระทำกิริยาเคารพโยคีเป็นอันดี แล้วทรงนั่งลงบนพื้นดินตามคำโยคีทูลเชิญ สักครู่หนึ่ง พระราชาตรัสว่า "เรามาทั้งนี้โดยสัญญาจะปฏิบัติคำสั่งแห่งท่าน ท่านจะให้เราทำอันใด จงว่าไปเถิด"

โยคีทูลตอบว่า "พระองค์เสด็จมาถึงแล้ว ก็จงปฏิบัติตามประสงค์ข้อหนึ่งของข้าพเจ้าก่อน คือ ในทิศใต้ มีป่าช้าเช่นเดียวกันนี้อีกแห่งหนึ่ง ในป่าช้านั้นมีต้นอโศก บนต้นอโศกนั้นมีศพแขวนอยู่ศพหนึ่ง พระองค์จงไปพาศพนั้นมาให้ข้าพเจ้าโดยเร็ว"

พระราชาทรงฟังดังนั้น ก็จับพระหัตถ์พระราชบุตรพากันเดิรไปในทิศใต้ ทรงทราบแน่ในพระหฤทัยว่า ศานติศีลนี้เองคือโยคีซึ่งพระราชบิดาได้ทรงก่ออริ ในเวลานี้ ศานติศีลกำลังตั้งพิธีจะทำร้ายพระองค์และพระราชวงศ์ของพระองค์ จำเป็นพระราชาต้องคิดอุบายป้องกันมิให้โยคีกระทำการเป็นภัยแก่พระองค์ได้ ทรงพระราชดำริห์เช่นนี้พลางทรงดำเนิรไป ได้ยินเสียงดนตรีของโยคีและเสียงภูตผีปิศาจต่าง ๆ เต้นรำทำเพลงอื้ออึงในป่าช้า ทางที่เดินนั้นมืดถึงแก่จะเดิรให้ตรงมิได้ ทั้งมีภูตตามล้อหลอกให้ตกใจ บ้างก็แกล้งขวางจะให้สดุดล้ม บ้างก็เป็นงูมาพันพระชงฆ์ บ้างก็ทำแสงวูบวาบข้าง ๆ ทางเดิร บ้างก็ทำเสียงดังลั่นใกล้ ๆ พระองค์ แม้คนที่กล้าก็น่าหวาดเสียวไม่อาจดำเนิรต่อไปได้ แต่พระราชากับพระราชบุตรก็มิได้ถอย พากันทรงดำเนิรไปจนถึงป่าช้าซึ่งโยคีทูลนั้น สักครู่หนึ่ง เห็นต้นอโศกต้นใหญ่ลุกเป็นไฟแดงไปทั้งต้น พระราชาไม่ทรงย่อท้อ ก็เดิรตรงเข้าไป ประเดี๋ยวได้ยินเสียงผีร้องบอกว่า "ฆ่าเสีย ฆ่าเสียทั้งสองคน จับตัวให้ได้ ช่วยกันจับตัวเผาในไฟบนต้นไม้ให้ไหม้เป็นจุณไป ทำให้รู้สึกพิษไฟแห่งบาดาล"

พระราชาไม่ทรงครั่นคร้าม ก็ตรงเข้าไปถึงต้นไม้ แต่เปลวไฟบนต้นอโศกนั้นมิได้ร้อน เพราะเป็นไฟที่ปิศาจสำแดงหลอกเท่านั้น เมื่อเข้าไปถึงโคนต้นไม้ พระราชาก็หยุดพิศดูศพซึ่งแขวนอยู่บนกิ่งอโศก ศพนั้นลืมตาโพลน ลูกตาสีเขียวเรือง ๆ ผมสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นซี่โครงเป็นซี่ ๆ ห้อยเอาหัวลงมาทำนองค้างคาว แต่เป็นค้างคาวตัวใหญ่ที่สุด เมื่อจับถูกตัวก็เย็นชืดเหนียว ๆ เหมือนงู ปรากฏเหมือนหนึ่งว่าไม่มีชีวิต แต่หางซึ่งเหมือนหางแพะนั้นกระดิกได้

พระวิกรมาทิตย์ทอดพระเนตรเห็นเช่นนี้ ก็ทรงคิดในพระหฤทัยว่า ตัวที่ห้อยอยู่นั้นคือเวตาล แต่เดิมทรงคิดว่า ศพนี้คือศพลูกชายของพ่อค้าน้ำมันซึ่งยักษ์ได้ทูลไว้ว่า โยคีเอาไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ครั้นเมื่อเห็นเป็นเวตาลเช่นนี้ ก็ทรงพิศวง แต่ทรงดำริห์ว่า ชะรอยโยคีจะแกล้งเปลี่ยนศพลูกชายพ่อค้าน้ำมันให้มีรูปเป็นเวตาลเพื่อจะลวงให้สนิทดอกกระมัง

ทรงคิดเช่นนี้แล้ว พระราชาก็ทรงปีนขึ้นไปบนต้นไม้ ตรัสให้พระราชบุตรยืนหลีกให้ห่างออกไป แล้วทรงพระแสงดาบฟันกิ่งไม้ซึ่งเวตาลห้อยอยู่นั้นขาดตกลงยังดินทั้งเวตาลด้วย ฝ่ายเวตาล เมื่อตกลงถึงดิน ก็กัดฟันร้องเสียงเหมือนทารกซึ่งได้รับความเจ็บ พระราชาตรัสว่า "อ้ายตัวนี่มีชีวิต" แล้วเสด็จโจนลงจากต้นไม้ ตรัสถามเวตาลว่า "เองนี้อะไร"

ตรัสแทบจะยังไม่ทันขาดคำ เวตาลหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วกลับขึ้นไปห้อยเกาะกิ่งไม้กิ่งอื่นอยู่บนต้นไม้อย่างเก่า ห้อยพลางหัวเราะจนตัวแกว่งไปแกว่งมา

ฝ่ายพระราชาทรงคิดว่า เวตาลนี้คงจะเป็นบุตรพ่อค้าน้ำมันเป็นแน่ จำจะต้องปีนขึ้นไปตัดกิ่งไม้ลงมาอีกครั้งหนึ่ง จึงตรัสแก่พระราชบุตรว่า คราวหน้า เมื่อเวตาลตกลงมาถึงพื้นดิน ก็ให้จับไว้ให้จงได้ ตรัสสั่งแล้วพระราชาทรงปีนขึ้นบนต้นไม้ ตัดกิ่งตกลงมาอิกกิ่งหนึ่งพร้อมกับเวตาล พระราชบุตรคอยอยู่ข้างล่างก็ตรงเข้าจับเวตาลไว้แน่น พระราชาเสด็จรีบลงจากต้นไม้เข้าช่วยพระราชบุตรยึดแล้วตรัสถามว่า "เองนี้คือใคร"

ทันใดนั้น เวตาลก็หัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วลื่นหลุดลอยขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นไม้อย่างเก่า ห้อยพลางหัวเราะเย้ยอยู่บนกิ่งไม้อันสูง

ฝ่ายพระราชา เมื่อเวตาลหลุดไปได้ถึงสองครั้งเช่นนี้ ก็ทรงพิโรธ ตรัสสั่งพระราชบุตรว่า เมื่อเวตาลตกลงมาถึงดิน ให้ฟันหัวให้ขาดออกไป แล้วทรงปีนขึ้นต้นไม้ จับผมเวตาลกระชากจนหลุดจากกิ่งไม้เกาะ แล้วทิ้งลงมาถึงดิน พระราชบุตรคอยอยู่ข้างล่างก็ฟันด้วยพระแสงดาบถูกหัวเวตาล ดาบบิ่นไป ปรากฏเหมือนหนึ่งฟันหิน พอพระราชาเสด็จลงจากต้นไม้มาถึงดิน ตรัสถามว่า "เองคือใคร" แทบจะยังไม่ทันสุดสำเนียง เวตาลก็หัวเราะแล้วลอยไปเกาะอยู่บนต้นไม้อย่างเก่า

พระวิกรมาทิตย์เสด็จปีนขึ้นและลงหลายครั้งก็ไม่ย่อท้อ ปรากฏความเพียรเหมือนหนึ่งว่าจะยอมปีนขึ้นปีนลงอยู่จนสิ้นยุค แต่ไม่จำเป็นต้องเพียรนานถึงเท่านั้น เพราะเวตาลยอมให้จับในครั้งที่เจ็ดและกล่าวว่า แม้เทวดาก็ขืนใจคนหัวดื้อไม่ได้ ฝ่ายพระราชา เมื่อจับเวตาลไว้ได้ ก็ปลดผ้าผืนหนึ่งออกจากพระองค์ ผูกเป็นย่ามจะใส่เวตาล เวตาลนิ่งดูครู่หนึ่งแล้วถามว่า "ท่านนี้คือใคร ท่านจะทำอะไร"

พระราชาตรัสตอบว่า "เอ็งจงรู้ว่า ข้าคือพระวิกรมาทิตย์ พระราชากรุงอุชชยินี ข้าจะจับตัวเอ็งไปให้คน ๆ หนึ่งซึ่งเห็นสนุกในการเคาะกะโหลกหัวผีเป็นเพลงให้ผีฟัง"

เวตาลทูลตอบว่า "พระองค์ผู้เป็นราชา จงจำภาษิตโบราณไว้ว่า ลิ้นคนนั้นตัดคอคนเสียมากต่อมากแล้ว ข้าพเจ้าจะยอมตามพระหฤทัยพระองค์ และตามเสด็จไปหาบุรุษที่ทำดนตรีด้วยกะโหลกหัวผี พระองค์จะผูกข้าพเจ้าสะพายหลังเหมือนย่ามคนขอทานก็ตามพระประสงค์ แต่พระองค์จงฟังคำข้าพเจ้า จำใส่พระหฤทัยไปตลอดทาง คือ ข้าพเจ้าเป็นผู้ช่างพูด และทางเดินตั้งแต่ที่นี้ไปถึงป่าช้าซึ่งเพื่อนของพระองค์นั่งทำดนตรีอยู่นั้นกินเวลาชั่วโมงเศษ ในเวลาเดินทางนั้น ข้าพเจ้าจะเล่านิทานเล่น เพราะปราชญ์ผู้มีความรู้ย่อมใช้เวลาของตนในเรื่องหนังสือ มิใช่ใช้เวลาในการนอนและการขี้เกียจอย่างคนโง่ ในเวลาเล่านิทานนั้น ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาถามพระองค์ และพระองค์ต้องสัญญาข้อนี้เสียก่อน ข้าพเจ้าจึ่งจะยอมไปด้วย คือ เมื่อข้าพเจ้าตั้งปัญหา ถ้าพระองค์ตอบ จะเป็นด้วยกรรมในปางก่อนบันดาลให้ตอบ หรือด้วยแพ้ความฉลาดของข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าล่อให้ทรงแสดงความเย่อหยิ่งว่ามีความรู้ก็ตาม ถ้าตรัสตอบปัญหาข้าพเจ้าเมื่อใด ข้าพเจ้าจะกลับไปที่อยู่ของข้าพเจ้า ต่อเมื่อพระองค์ไม่ตอบปัญหาเพราะได้สติหรือด้วยความโง่เขลาของพระองค์ก็ตาม ข้าพเจ้าจึ่งจะยอมไปด้วย ข้าพเจ้าขอทูลแนะนำเสียแต่ในบัดนี้ว่า พระองค์จงสงบความหยิ่งในพระหฤทัยว่า เป็นผู้มีความรู้ เมื่อเกิดมาเป็นคนโง่แล้ว ก็จงยอมโง่เสียเถิด มิฉะนั้น พระองค์จะไม่ได้ประโยชน์ซึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้วไม่มีใครจะอำนวยได้"

พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังดังนั้นก็คิดขัดเคืองในพระหฤทัย เพราะพระราชาไม่เคยฟังใครดูหมิ่นว่าโง่ แต่ครั้นจะไม่ยอมสัญญาตามคำเวตาล ก็จะไม่ได้ตัวไปดังประสงค์ ทรงดำริห์เช่นนี้แล้ว มิได้ตรัสตอบประการใด

พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังดังนั้นก็คิดขัดเคืองในพระหฤทัย เพราะพระราชาไม่เคยฟังใครดูหมิ่นว่าโง่ แต่ครั้นจะไม่ยอมสัญญาตามคำเวตาล ก็จะไม่ได้ตัวไปดังประสงค์ ทรงดำริห์เช่นนี้แล้ว มิได้ตรัสตอบประการใด ทรงจับเวตาลใส่ลงในย่าม ยกขึ้นสพาย แล้วตรัสให้พระราชบุตรรีบตามให้ทัน พลางเสด็จออกรีบทรงดำเนิรไป

ฝ่ายเวตาล ครั้นออกเดิรได้สักครู่หนึ่ง ก็ทูลถามปัญหาสั้น ๆ กล่าวด้วยลม และฝน และโคลนในถนน พระราชามิได้ตรัสตอบประการใด  เวตาลจึ่งทูลว่า "ข้าพเจ้าจะเล่านิทานซึ่งเป็นเรื่องจริงถวายในบัดนี้ พระองค์จงฟังเถิด"


  1. นาม วิกรมาทิตย์ คือ วิก๎รม + อาทิต๎ย. อ่านว่า วิก๎รมาทิตย์ หรือ วิ กระ มา ทิตย์.