นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 16
เมื่อฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย ได้ไปตรวดราชการหัวเมืองไนมนทลอุดรกับมนทลอีสานเมื่อ พ.ส. 2449 และได้เขียนเล่าเรื่องที่ไปครั้งนั้นไห้หอพระสมุดฯ พิมพ์แต่เมื่อ พ.ส. 2463 แล้ว ไนนิทานนี้จะพรรนนาว่าแต่ด้วยลัทธิทำเนียมกับของแปลกประหลาดที่ฉันได้พบเห็นเมื่อไปครั้งนั้น เปนเรื่องยาวหยู่สักหน่อย จึงแบ่งเปนนิทาน 2 เรื่อง เรียกว่า "เรื่องลานช้าง" เรื่องหนึ่ง "เรื่องแม่น้ำโขง" เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องราวที่ไปจะบอกเพียงไห้รู้ว่าไปทางไหนบ้าง
ฉันออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ไปด้วยรถไฟพิเสสจนถึงเมืองนครราชสีมา ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมนทลอุดร ขี่ม้าไป 14 วันถึงเมืองหนองคาย ครั้งนั้นรัถบาลฝรั่งเสสมีแก่ไจจัดเรือไฟชื่อลาแครนเดียอันเปนพาหนะสำหรับข้าหลวงลำหนึ่ง กับเรือไฟสำหรับบันทุกของลำหนึ่ง ส่งมาไห้ฉันไช้ทางลำแม่น้ำโขง จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคาย ระยะทาง 4 วันถึงเมืองนครพนม ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง 3 วันถึงเมืองสกลนคร จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป 3 วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง 2 วันถึงเมืองมุกดาหาร ขึ้นเดินบกแต่เมืองมุกดาหารเข้ามนทลอิสานทาง 5 วันถึงเมืองยโสธร เวลานั้นข้าหลวงปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเสสกำลังประชุมกันหยู่ที่เมืองอุบล ฉันจึงไม่ไปเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เปนแต่ได้สนทนากันด้วยโทรสัพท์ ออกจากเมืองยโสธรเดินบกไปเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด แล้วผ่านเมืองมหาสารคามมาไนเขตมนทลอิสาน ทาง 7 วันถึงเมืองผไทสงปลายเขตมนทลนครราชสีมา แต่นั้นมาทาง 3 วันถึงเมืองพิมาย ได้รับสารตรากะซวงมหาดไทยว่า พระเจ้าหยู่หัวซงพระกรุนาตรัดห้ามมิไห้เข้าไปพักที่เมืองนครราชสีมา ด้วยเปนเวลามีกาลโรค ออกจากเมืองพิมายเดินทาง 2 วันมาถึงบ้านท่าช้างห่างเมืองนครราชสีมา 450 เส้น จึงพักแรมหยู่ที่นั่น แล้วออกเดินแต่ดึก าถึงสถานีรถไฟ พอได้เวลาขึ้นรถไฟพิเสสกลับมาถึงกรุงเทพฯ ไนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ส. 2449 นั้น รวมเวลาที่ไปตรวดหัวเมืองครั้งนั้น 3 เดือนหย่อน 4 วัน ซึ่งสามาถไปได้นานวันถึงเพียงนั้น เพราะทางที่ไปเลียบสายโทรเลขไปโดยมาก เปนบุญคุนของอธิบดีกรมโทรเลขที่ไห้พนักงานไปกับฉันด้วยพวกหนึ่ง ถึงที่พักแรมเขาเอาเครื่องต่อเข้ากับสายโทรเลข อาดจะพูดกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ที่ออกห่างทางโทรเลขจะพูดกับกรุงเทพฯ ไม่ได้มีไม่กี่วัน การคมนาคมกับกรุงเทพฯ เมื่อไปครั้งนั้นจึงสดวกเสียยิ่งกว่ามนทลที่ไกล้ ๆ บางแห่งเช่นมนทลเพชรบูรน์เปนต้น ตอนไปไนมนทลอุดรสบรึดูหนาวเย็นสบายดี บางทีถึงเย็นเกินต้องการ เช่นเมื่อวันพักแรมที่ตำบนน้ำซวย แขวงจังหวัดหนองคาย ปรอทลงถึง 38 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ยังอีก 6 ดีกรีก็จะถึงน้ำแขง ฉันไม่เคยพบหนาวที่ไหนไนเมืองไทยเหมือนวันนั้น แต่มาสบรึดูร้อนเมื่อขากลับไกล้จะถึงมนทลนครราชสีมา ก็ร้อนจัดเหลือทนจนต้องเปลี่ยนเวลาเดินทาง ออกเดินแต่ดึก 4 นาลิกา มีคนถือคบแซงสองข้างทางไปจนรุ่งสว่าง แล้วรับไปไห้ถึงที่พักแรมแต่ก่อน 9 นาลิกา กินอาหารแล้วก็เที่ยวหาร่มเงา ซุกตัวซ่อนแสงแดดไปจนเวลาเย็น จึงเดินเที่ยวเตร่ตรวดราชการต่าง ๆ แต่เดินทางด้วยไม่ประมาท ก็หามีไครที่ไปด้วยกันเจ็บไข้หย่างไดไม่ พรรนนาการเดินทางแล้ว แต่นี้จะกล่าวถึงฉเพาะสิ่งฉเพาะหย่างต่อไป
เมืองนครราชสีมามีชื่อเปน 2 ชื่อ แต่ก่อนมาคนทั้งหลายเรียกว่า "เมืองโคราช" ทั่วไป เรียกว่า "เมืองนครราชสีมา" แต่ไนทางราชการ ถึงเดี๋ยวนี้ราสดรก็ยังเรียกกันว่าเมืองโคราชเปนพื้น เหตุไฉนจึงมี 2 ชื่อเช่นนั้น ฉันเคยค้นเค้าเงื่อนแต่เมื่อขึ้นไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก เวลานั้นไปรถไฟได้เพียงตำบนทับกวางไนดงพระยาไฟแล้วต้องขี่ม้าต่อไป เมื่อฉันไปพักแรมที่บ้านสูงเนิน เขาบอกว่าไนอำเพอนั้นมีเมืองโบรานหยู่ 2 เมือง ฉันจึงไห้เขาพาไปดู เห็นเปนเมืองย่อม ๆ ไม่สู้ไหย่โตนัก แต่ก่อปราการด้วยสิลาและมีของโบรานหย่างอื่น สแดงฝีมือว่าเปนเมืองส้างครั้งสมัยขอมทั้ง 2 เมือง เมืองหนึ่งตั้งหยู่ทางฝั่งซ้ายลำตะคอง อันเปนลำธารมาแต่เขาไหย่น้ำไหลไปตกลำน้ำมูล อีกเมืองหนึ่งหยู่ทางฝั่งขวาลำตะคอง ไม่ห่างไกลกันนัก เมืองทางฝั่งซ้ายเรียกชื่อว่า "เมืองเสมาร้าง" เมืองทางฝั่งขวาเรียกชื่อว่า "เมืองเก่า" สังเกตดูเครื่องหมายสาสนา ดูเหมือนผู้ส้างเมืองเสมาร้างจะถือสาสนาพราหมน์ ผู้ส้างเมืองเก่าจะถือพระพุธสาสนา ฉันยังจำได้ว่ามีพระนอนสิลาขนาดไหย่หยู่ที่เมืองเก่าองค์หนึ่ง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา เห็นลักสนะเปนเมืองฝีมือไทยส้างเมื่อพายหลัง 2 เมืองที่กล่าวมาก่อน รู้ได้ด้วยป้อมปราการล้วนก่อด้วยอิถ และรื้อเอาแท่งสิลาจำหลักจากปราสาทหินครั้งขอมมาก่อแซมกับอิถก็มีหลายแห่ง เมื่อได้เห็นทั้ง 3 เมืองดังว่ามา ฉันคิดวินิจว่า "เสมาร้าง" น่าจะมีก่อนเพื่อน เดิมเห็นจะเรียกว่า "เมืองเสมา" เมื่อตั้ง "เมืองเก่า" เพราะเหตุอันไดอันหนึ่ง ทิ้งเมืองเสมาเปนเมืองร้าง คำว่า "ร้าง" จึงติดหยู่กับชื่อเมืองเสมา เหตุไดจึงเรียกชื่ออีกเมืองหนึ่งว่า "เมืองเก่า" นั้นก็พอคิดเห็นได้ เพราะคำว่า "เก่า" เปนคู่กับ "ไหม่" ต้องมีเมืองไหม่จึงมีเมืองเก่า แสดงความว่าเมืองเดิมตั้งหยู่ที่ตำบนสูงเนิน ครั้นส้างเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ขึ้น ย้ายมาหยู่เมืองไหม่แล้ว จึงเรียกเมืองเดิมว่า "เมืองเก่า" แต่เมื่อเมืองยังตั้งหยู่ที่เมืองเก่า ต้องมีชื่อเรียกเมืองนั้นหย่างไดหย่างหนึ่ง เพราะจะเรียกว่า "เมืองเก่า" เมื่อยังไม่มี "เมืองไหม่" ไม่ได้ ข้อนี้ที่ฉันคิดเห็นว่าเมื่อส้าง "เมืองเก่า" ไนสมัยขอม พวกพราหมน์คงเอาชื่อ "เมืองโคราฆะบุระ" ไนมัชชิมประเทสอันหยู่ข้างไต้ไม่ห่างกับเมืองกบิลพัสดุ์ที่พระพุทธองค์สเด็ดประทับเมื่อยังเปนพระโพธิสัตว์มาขนาน หย่างเดียวกันกับเอาชื่อเมืองอื่น ๆ ไนอินเดียมาขนานไนประเทสนี้มีอีกหลายเมือง เช่นเมืองอยุธยาและเมืองลพบุรีเปนต้น เมืองเก่านั้นเดิมคงเรียกว่า "เมืองโคราฆะบุระ" อันเปนมูลของชื่อที่เรียกเพี้ยนมาว่า "เมืองโคราช" ยังคิดเห็นต่อไปอีกว่า ชื่อที่เรียกเมืองไหม่ว่า "เมืองนครราชสีมา" น่าจะเอาชื่อ "เมืองโคราฆะ" กับ "เมืองเสมา" มาผสมกันประดิถเปนชื่อ "นครราชสีมา" ด้วย
ส่วนตัวเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ ฉันพิจารนาดูลักสนะที่ส้างกับทั้งขนาดและแผนผังทั้งรูปป้อมปราการ ละม้ายเหมือนกับเมืองนครสรีธัมราชมาก เห็นว่าจะส้างไนสมัยเดียวกันทั้ง 2 เมือง แต่จะส้างไนรัชกาลไหนไนกรุงสรีอยุธยา ฉันนึกว่าได้เคยเห็นไนหนังสือฝรั่งแต่งแต่โบรานเรื่องหนึ่งว่าส้างไนรัชกาลสมเด็ดพระนารายน์มหาราช แต่เมื่อเขียนนิทานนี้นึกชื่อหนังสือไม่ออกจึงไม่กล้ายืนยัน กล่าวได้โดยมีหลักถานแต่ว่าส้างก่อน พ.ส. 2225 เพราะไนเรื่องพงสาวดารมีว่า เมื่อสมเด็ดพระนารายน์สวรรคต พระเพทราชาชิงได้ราชสมบัติ เมืองนครราชสีมากับเมืองนครสรีธัมราชตั้งแข็งเมือง กองทัพไนกรุงออกไปตีได้ด้วยยาก เพราะมีป้อมปราการทั้ง 2 เมือง
ไนเขตจังหวัดนครราชสีมา ตามทางไปมนทลอุดรมีทุ่งไหย่ ๆ หลายแห่งที่ทำไร่นาไม่ได้เพราะเปนที่ลุ่ม เวลารึดูแล้งดินแห้งแขงกะด้างถากไถไม่ลง ถึงรึดูฝนตกดินอ่อนถ้าถากไถทำไร่นา พอปลูกพรรนไม้ขยายกอเกิดนำต้นยังไม่ทันออกพืชผล ก็ถึงเวลาน้ำป่าไหลหลากลงมาขังไนท้องทุ่งนั้น ท่วมพรรนไม้ตายหมด เปนหย่างนั้นทุกปี จึงไม่มีไครไปทำไร่นา มีแต่กอหย้าที่ขึ้นเอง แล้วถูกน้ำท่วมเหลือแต่ซากหยู่ไนท้องทุ่ง เขาบอกว่าถึงรึดูแล้งมีนกกะเรียน มาทำรังไข่กับแผ่นดินไนทุ่งว่างนั้นตั้งหมื่นตั้งแสน พอจวนรึดูฝน ลูกบินได้ก็พากันหายไปหมด ถึงรึดูแล้งหน้าก็กลับมาทำรังอีกเสมอทุกปี นกกะเรียนที่มีเลี้ยงกันตามบ้านไนกรุงเทพฯ ล้วนดักเอาลูกนกไปจากทุ่งนั้นทั้งนั้น เมื่อฉันเดินทางจากเมืองนครราชสีมาไป 2 วัน ถึงทุ่งมะค่า ก็เห็นฝูงนกกะเรียนทำรังหยู่มากมายหย่างเขาว่า พอมันเห็นคนหมู่ไหย่ก็ตื่นพากันทิ้งรังบินหนีขึ้นไปร่อนหยู่เต็มท้องฟ้า ดูจำนวนนกนับด้วยหมื่น ไม่เคยเห็นมีที่ไหนเหมือน ไนเมืองไทยนี้นกกะเรียนก็ไม่มีชุม เคยเห็นชินตาแต่ที่เขาจับเอามาเลี้ยงไว้ แต่นกกะเรียนเถื่อนมิไคร่จะได้เห็น จึงน่าพิสวงว่าไฉนนกกะเรียนนับหมื่นจึงพร้อมไจกันมาทำรังไนทุ่งมะค่าและมาเสมอทุกปี พิเคราะห์ดูไปเข้าเค้าที่พวกนักปราชญ์ไนยุโรปเขาสอบสวน ได้ความว่ามีนกบางชนิดย้ายที่หยู่ไปต่างทวีปตามรึดูกาลเสมอทุกปี ยกตัวหย่างดังเช่นนก "สตอก" Stork รูปร่างคล้ายกับนกฝักบัวของไทย เวลารึดูร้อนชอบไปเที่ยวอาสัยทำรังออกลูกบนหลังคาเรือนคนไนยุโรปข้างฝ่ายเหนือ พอจะเข้ารึดูหนาวมันก็พากันบินหนีออกจากยุโรปไปหยู่ไนทวีปอาฟริกา จนถึงรึดูร้อนจึงกลับไปทำรังไข่ไนยุโรปอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหย่างนั้นเสมอทุกปี ชรอยนกกะเรียนที่มาทำรังไนทุ่งมะค่าก็จะทำนองเดียวกัน อาดจะเปนนกกะเรียนที่แยกย้ายกันหยู่ตามประเทสต่าง ๆ ไนทวีปเอเซียนี้ มันรู้กันด้วยหย่างไดหย่างหนึ่งว่า ที่ทุ่งมะค่าไนเมืองไทยเหมาะแก่การทำรังออกลูกยิ่งกว่าที่อื่น ๆ ถึงรึดูทำรังก็มารวมกันทำรังไข่ที่ทุ่งมะค่า จำนวนนกกะเรียนจึงมากนับหมื่นเพราะมาแต่หลายประเทสด้วยกัน หาไช่แต่นกกะเรียนไนเมืองไทยเท่านั้นไม่ นกพรรนอื่นที่มาหยู่ไนเมืองไทยแต่บางรึดูก็ยังมีอีก เช่นนก "ปากง่าม" Snipe ก็มีแต่ไนรึดูทำนา เขาตรวดได้ความว่า มันทำรังออกลูกหยู่ไนพาคไซบีเรียของประเทสรุสเซีย ถึงรึดูจึงไปเที่ยวหากินตามประเทสอื่น ๆ ไนเวลาเมื่อประเทสนั้น ๆ มีอาหารบริบูรน์ ถึงนกอีแอ่นที่ทำรังไห้คนกินหยู่ตามเกาะไนทะเล พอลูกบินได้มันก็หายไปหมด ไม่รู้ว่าไปไหน จนถึงรึดูทำรังปีหน้าจึงกลับมาไหม่เสมอทุกปี นิสัยสัตว์มันก็รู้จักโลกได้ดีตามประสาของมัน เปนแต่มนุสไม่รู้ว่ามันบอกเล่านัดหมายกันหย่างไรเท่านั้น
ฉันเดินบกไปจากเมืองนครราชสีมา 5 วัน เข้าเขตมนทลอุดรที่เมืองชนบท พอถึงเมืองชนบทก็เห็นชาวเมืองผิดกับเมืองนครราชสีมา ทั้งเครื่องแต่งตัวและฟังสำเนียงพูดพาสาไทยแปร่งไปอีกหย่างหนึ่ง ซึ่งชาวกรุงเทพฯ สำคันกันมาแต่ก่อนว่าเปนลาว แต่เดี๋ยวนี้รู้กันมากแล้วว่าเปนไทยมิไช่ลาว ถึงไนราชการแต่ก่อนก็อ้างว่าหัวเมืองไนมนทลพายัพกับมนทลอุดรและอิสานเปนเมืองลาว เรียกชาวมนทลพายัพว่า "ลาวพุงดำ" เพราะผู้ชายชอบสักมอมตั้งแต่พุงลงไปจนถึงเข่า เรียกชาวมนทลอุดรและอิสานว่า "ลาวพุงขาว" เพราะไม่ได้สักมอมหย่างนั้น เมื่อจัดหัวเมืองชายพระราชอานาเขตเปนมนทลไนรัชกาลที่ 5 ราว พ.ส. 2433 แรกก็ขนานนามหัวเมืองลาวพุงดำว่า "มนทลลาวเฉียง" ขนานนามหัวเมืองลาวพุงขาวว่า "มนทลลาวพวน" มนทลหนึ่ง "มนทลลาวกาว" มนทลหนึ่ง เปนเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัว ซงเปลี่ยนแปลงการลักสนะการปกครองพระราชอานาเขตตั้งแต่ พ.ส. 2435 เปนต้นมา ด้วยซงพระราชปรารพว่าลักสนะการปกครองแบบเดิมนิยมไห้เปนหย่างประเทสราชาธิราช Empire อันมีเมืองคนต่างชาติต่างพาสาเปนเมืองขึ้นหยู่ไนพระราชอานาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอานาเขต 3 มนทลนั้นเปน "เมืองลาว" และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเปนชน "ชาติไทย" ว่าลาว แต่ลักสนะการปกครองหย่างนั้นพ้นเวลาอันสมควนเสียแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับไห้โทสแก่บ้านเมือง จึงซงพระราชดำริไห้แก้ลักสนะการปกครองเปลี่ยนเปนหย่างพระราชอานาเขต Kingdom ประเทสไทยรวมกัน เลิกประเพนีที่มีเมืองประเทสราชถวายต้นไม้ทองเงิน และไห้เปลี่ยนนามมนทลลาวเฉียงเปน "มนทลพายัพ" เปลี่ยนนามมนทลลาวพวนเปน "มนทลอุดร" และเปลี่ยนนามมนทลลาวกาวเปน "มนทลอิสาน" ตามทิสของพระราชอานาเขต ทั้งไห้เลิกเรียกไทยชาวมนทลทั้ง 3 นั้นว่าลาวด้วย แต่นั้นก็เรียกรวมกันว่า "ไทยเหนือ" แทนเรียกว่าลาว ถ้าเรียกแยกกันก็เรียกตามชื่อมนทลที่หยู่ว่า ชาวมนทลพายัพ ชาวมนทลอุดร และชาวมนทลอิสาน หย่างเช่นเรียกชาวมนทลปักส์ไต้ฝ่ายตะวันตกว่า "ชาวนคร" (นครสรีธัมราช) ครั้นมาถึงสมัยเมื่อเลิกมนทลเสียแล้ว มีผู้รู้โบรานคดีคนหนึ่งแต่งหนังสือเอาชื่อของแว่นแคว้นมนทลพายัพแต่โบรานมาไช้เรียกชาวมนทลพายัพว่า "ชาวลานนา" ฉันเห็นชอบด้วย จึงเอาหย่างมาเรียกชาวมนทลอุดรและอิสานไนนิทานนี้ว่า "ชาวลานช้าง" ตามชื่อแว่นแคว้นอันเปนคู่กันกับ "ลานนา" มาแต่ก่อน
ไทยชาวลานช้างมีลัทธิทำเนียมที่ถือกันสืบมาแต่ดั้งเดิมหลายหย่าง ท่านผู้รู้ มีสมเด็ดพระมหาวีรวงส์ (อ้วน) เปนต้น ได้เขียนอธิบายลงพิมพ์ไว้แล้วหลายเรื่อง ไนนิทานนี้ฉันจะเล่าถึงลัทธิทำเนียมแต่บางหย่างที่ฉันได้เห็นเมื่อขึ้นไปครั้งนั้น
ตั้งแต่เมืองชนบทไป ฉันพักที่เมืองไหน พวกชาวเมืองก็มาทำพิธีบายสรีทำขวันทุกเมือง คือ เอาของกินตั้งเรียงไนพานซ้อนกันสองชั้นสามชั้น ประดับประดาด้วยดอกไม้สดหย่างประนีตบันจง ขนาดของ ขนาดของบายสรีไหย่หรือเล็กตามถานะของเมือง พวกชาวเมืองเข้าขบวนกันแห่บายสรีมาทำขวัน เมืองไหย่ก็มีขบวนแห่และเครื่องประโคมมาก่อน ถ้าเปนเมืองน้อย คนเชินบายสรีก็นำหน้า มีผู้เถ้าสองสามคนนำราสดรชายหยิงเดินตามบายสรีมาตั้งร้อย ฉันนั่งรับที่มุขหน้าพลับพลา เขาเอาบายสรีมาตั้งที่ตรงหน้า คนที่มาทำขวันนั่งหลังบายสรีต่อออกไป ถ้าที่บนพลับพลาไม่พอก็นั่งหลามลงไปถึงไนสนามหน้าพลับพลา เริ่มพิธีด้วยผู้เถ้าที่เปนหัวหน้าจุดธูปเทียนเครื่องสักการะ แล้วว่าคำเชินขวันเปนทำนอง บางคนเสียงดีทำนองก็ไพเราะน่าฟัง ความขึ้นต้นขอคุนพระรัตนตรัยและขอพรเทวดา แล้วประสิทธิพรไห้แก่ฉันเปนอเนกปริยาย เมื่อจบแล้วผู้เถ้าเอาด้ายคาดข้อมือฉัน ที่บางแห่งเวลาคาดด้ายนั้นคนที่มาด้วยแตะต้องตัวกันต่อ ๆ ไปจนหมด เปนนัยว่าช่วยกันคาดด้ายทุก ๆ คน ที่บางแห่งเมื่อทำขวันแล้วยังมีการฟ้อนรำเปนเครื่องมหรสพไห้ดูด้วย อันประเพนีบายสรีทำขวันนี้ ดูเปนประเพนีโบรานของชนชาติไทย มีด้วยกันทุกจำพวก ชาวลานนาก็ทำเหมือนกับชาวลานช้าง ไทยไนราชธานีก็ยังมีพิธีทำขวัน เปนแต่ไม่แห่บายสรี ดังเช่นทำขวันเด็กก็ทำบายสรีมีของกินไส่ชามตกแต่งด้วยดอกไม้สด เรียกว่า "บายสรีปากชาม" มีผู้เถ้าว่าคำเชินขวันแล้วผูกด้ายคาดข้อมือไห้เด็ก เมื่อเด็กจะโกนจุกหรือจะบวด ก็ทำขวันด้วยมีบายสรีตองทำหลายชั้นคล้ายฉัตร และมีคนว่าคำเชินขวัน เปนแต่เอาพิธีเวียนเทียนของพราหมน์เพิ่มเข้า พิธีหลวงสมโภชเจ้านาย ก็เอาพานแก้ว ทอง เงิน ซ้อนกันเปนบายสรี มีเครื่องกะยา เปนแต่เปลี่ยนไปไห้พราหมน์เวียนเทียนผูกด้ายคาดข้อพระหัถ แต่หามีสวดเชินขวันไม่ ถึงกะนั้นก็เห็นเปนเค้าได้ว่า พิธีบายสรีเปนพิธีดั้งเดิมของชนชาติไทย และไทยยังทำหยู่ทุกจำพวกจนบัดนี้
เวลาฉันไปเที่ยวตามบ้านเรือนราสดร ไถ่ถามถึงการทำมาหากินและประเพนีที่ปกครองบ้านเรือน ได้ฟังคำพวกชาวบ้านไนมนทลอุดรอธิบาย ยิ่งรู้ก็ยิ่งคิดพิสวง ด้วยเห็นว่า ชนชาติไทยได้เคยถึงวัธนธัม Civilization มาแล้วหลายหย่างตั้งแต่ดึกดำบรรพ จะพรรนนาถึงหมู่บ้านไนตำบนซึ่งฉันได้ไปแห่งหนึ่งไห้เห็นเปนตัวหย่าง แต่เรียกชื่อว่าบ้านอะไรลืมไปเสียแล้ว หยู่ไนระหว่างเมืองชนบทกับเมืองขอนแก่น เปนตำบนมีบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนด้วยกัน ราสดรไนตำบนนั้นครัวหนึ่งก็มีบ้านหยู่แห่งหนึ่ง เรือนโรงไนบ้านล้วนทำด้วยไม้มุงแฝก มีรั้วล้อมรอบบริเวนบ้าน ลานบ้านตอนไนรั้วทำสวนปลูกผักฟักแฟงที่กินเปนอาหาร กับคอกเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ลานบ้านนอกรั้วออกไปทำไร่ฝ้าย และสวนกล้วย สวนพลู สวนปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม กับคอกเลี้ยงวัวควาย ต่อหมู่บ้านออกไปถึงทุ่งนา พวกชาวบ้านต่างมีนาทำทุกครัวเรือน และถือกันเปนทำเนียมว่า ไครทำงานได้ต้องทำงานทุกคน ผู้ชายทำงานหนัก เช่นทำนาและเลี้ยงปสุสัตว์ ทั้งทำการปลูกส้างและแบกขนต่าง ๆ ผู้หยิงทำงานเบาหยู่กับบ้าน เช่นทำสวนทำไร่ เลี้ยงไหมและไก่หมู ตลอดจนปั่นฝ้าย ชักไหม และทอผ้า ทุกครัวเรือนสามาถหาอาหารและสิ่งซึ่งจำเปนจะต้องไช้ไนการเลี้ยงชีพได้โดยกำลังลำพังตนเพียงพอไม่อัตคัด ฉันถามว่า สิ่งของที่ทำไม่ได้เอง เช่นมีดพร้าและขีดไฟเปนต้น หาได้ด้วยหย่างได เขาบอกว่า สัตว์ที่เขาเลี้ยง เช่นวัวควายไก่หมู ย่อมออกลูกมีเหลือไช้เสมอ ถึงปีก็มีคนพวกค้าขายสัตว์ เช่นพวกที่ส่งหมูลงมาขายกรุงเทพฯ เปนต้น ไปเที่ยวหาซื้อ เขาขายสัตว์ที่เหลือไช้ได้เงินพอซื้อของที่ต้องการทุกหย่าง ส่วนการปกครองนั้น ไครเปนพ่อบ้านก็ปกครองผู้คนไนบ้านของตน หมู่บ้านอันหนึ่งมีผู้ไหย่ที่คนนับถือเปน "จ่าบ้าน" ดูแลว่ากล่าวผู้คนไนหมู่บ้านนั้น และที่สุดมี "ตาแสง" เปนนายตำบน ซึ่งเจ้าเมืองเลือกคนไนตำบนนั้นที่ผู้คนนับถือมากตั้งเปนหัวหน้าคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักสนะปกครองท้องที่มีกำนันผู้ไหย่บ้าน จึงปรับเข้ากับวิธีปกครองหย่างโบรานที่เปนหยู่แล้วได้โดยง่าย ว่าต่อไปถึงคดีธัม ก็มีวัดซึ่งราสดรช่วยกันส้าง แล้วนิมนต์พระภิกสุสงค์ไปหยู่สั่งสอนสีลธัมและวิชาความรู้แก่ชาวบ้านไห้สมบูรน์ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธัมทุกตำบน ลักสนะสมาคมของไทยแต่โบราน ถ้าว่าโดยย่อก็คือคนไนตำบนนั้นมีที่หยู่และมีที่ทำมาหากินพอกันไม่มีไครอดหยาก แต่ไครทำงานได้ต้องทำงานทุกคนทั้งชายหยิง ไม่มีคนสำรวยหยู่เปล่าหรือเที่ยวขอทานไครกิน ทั้งตำบนไม่มีเสตถีและไม่มีคนจนเข็นไจ จึงมิไคร่มีไครเปนโจรผู้ร้าย เพราะหยู่เย็นเปนสุขสบายด้วยกันหมด จึงเห็นควนนับว่าถึงวัธนธัมหย่างสูงตามสมควนแก่ท้องถิ่นด้วยประการฉะนี้
เมื่อคิดดูถึงความประสงค์ของฝรั่งพวกโซเซียลิสม์ซึ่งเห็นว่าต้องเฉลี่ยทรัพย์และสิทธิต่าง ๆ ไห้มนุสมีเสมอพาคกันจึงจะเปนสุขนั้น หากสำเหร็ดดังว่า ก็จะเปนหย่างเช่นชาวมนทลอุดรนี่เอง ถ้าจะอวดว่าสมาคมโซเซียลิสม์มีมาไนเมืองไทยหลายร้อยปีแล้วก็จะได้กะมัง
ยังมีวัธนธัมที่ไทยเคยมีมาแล้วแต่โบรานอีกหย่างหนึ่งซึ่งฉันได้ไปพบไนมนทลอุดร คือ ที่ตำบนหนองหย้าปล้องไนแขวงเมืองชนบท มีบ้าน "คนขี้ทูด" คือคนเปน "โรคกุตถัง" ตำบนหนึ่ง เขาว่า จำนวนคนกว่า 1,000 คน เห็นจะนับรวมทั้งคนไข้และคนดีที่เปนครอบครัวด้วย บ้านขี้ทูดนั้นจะตั้งมาแต่เมื่อไดไม่มีไครซาบ แต่พวกชาวเมืองว่า เปนทำเนียมมาแต่โบรานทั่วทั้งมนทลอุดรและน่าจะตลอดไปถึงมนทลอิสานด้วย ถือกันว่า ถ้าไครเปนโรคกุตถัง ต้องย้ายไปหยู่บ้านขี้ทูดที่ตำบนหนองหย้าปล้องนั้น แต่ไปส้างบ้านปลูกเรือนหยู่และทำไร่นาหากินเหมือนหย่างคนสามัญ ไม่มีไครควบคุมกักขังหย่างไร เปนแต่คนนอกครัวเรือนไม่เข้าไปหยู่ด้วย และไม่มีไครยอมรับคนเปนโรคกุตถังไว้ไนบ้าน ถือกันเหมือนเปนกดหมายมาแต่ดึกดำบรรพว่า ถ้าไครเปนโรคกุตถัง ก็ต้องย้ายไปหยู่บ้านขี้ทูด และย้ายไปเองไม่ต้องมีไครขับไล่ จึงมีจำนวนคนมากตั้ง 1,000 กำนันผู้ไหย่บ้านที่ปกครองก็ล้วนหยู่ไนพวกกุตถัง เมื่อฉันผ่านไป เขาเล่าไห้ฟังว่า เมื่อเร็ว ๆ นั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งแต่งงานได้ไม่ช้า ปรากตว่าเปนโรคกุตถัง เจ้าตัวกลัวโรคจะติดเมีย เตรียมจะทิ้งมาแต่ตัว แต่เมียรักผัว สิ้นกลัวโรคกุตถัง ตามมาหยู่ด้วย ได้ฟังก็นึกสงสาร แต่หมอฝรั่งผู้เชี่ยวชาญการรักสาโรคกุตถังเขาว่า โรคนั้นไม่ติดคนที่พ้องพานไปทุกคน แม้ลูกของคนกุตถังก็มีเชื้อโรคติดตัวมาแต่บางคน ที่เปนปรกติไปจนตลอดชีวิตก็มี
เมื่อฉันผ่านไปไนแขวงเมืองกุมพวาปี ถึงตำบนบ้านสองเปลือย ผู้นำทางเขาบอกว่า ไนตำบนนั้นมีพวก "ลาว" (ไทยลานช้าง) ชาวเมืองนครนายกที่อพยพกลับมาจากเวียงจันท์ แต่หมดกำลังไม่สามาถจะลงไปไห้ถึงเมืองนครนายกได้ ยังต้องตั้งทำมาหากินหยู่ที่บ้านสองเปลือยหลายครัว ฉันได้ยินแทบจะออกปากว่า "สมน้ำหน้า" แต่หากละอายไจด้วยความสงสาร เพราะฉันเคยรู้เรื่องของคนพวกนั้นมาแต่ต้น ด้วยไนหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเสสเมื่อ ร.ส. 112 (พ.ส. 2436) มีความข้อหนึ่ง ว่า "ถ้าลาวเชื้อสายของชาวเวียงจันท์ที่ไทยกวาดเปนชเลยมา (เมื่อรัชกาลที่ 3) หยากจะกลับไปบ้านเมืองเดิม รัถบาลไทยจะยอมไห้ไปไม่ขัดขวาง" ดังนี้ แต่แรกไม่มีไครหยากไป ต่อมาฝรั่งเสสแต่งไห้กรมการชาวเมืองเวียงจันท์คนหนึ่งเปนพระยา แต่ชื่อไรฉันลืมไปเสียแล้ว จะสมมตเรียกไนนิทานนี้ว่า "พระยาเมือง" กับพัคพวกลงมาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกเชื้อสายชาวเวียงจันท์ มีพวกที่หยู่เมืองนครนายกสมัคจะไปเมืองเวียงจันท์ราวสัก 200 คน เพราะพระยาเมืองมาสัญญาว่า เมื่อขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ รัถบาลฝรั่งเสสจะไห้ที่ไร่นา กับทั้งบ้านเรือนวัวควายไถคราดและเงินทุนไห้พอทำมาหากินเปนสุขทุกคน ฉันไห้เจ้าเมืองกรมการชี้แจงว่าไม่จริงได้ดังว่าดอก ก็ไม่เชื่อ พากันขายเหย้าเรือนไร่นาแล้วอพยพไป ต่อมาฉันได้ยินว่า มีพวกเวียงจันท์ลงมาเกลี้ยกล่อมคนอีก ฉันนึกขึ้นถึงคำที่เขาพรรนนาว่า นิสัยแมวนั้น ถ้าไครดึงหนังท้อง มันก็โก่งหลัง ถ้าไครดึงหลัง มันก็แอ่นท้อง จึงเปลี่ยนอุบายไหม่ คราวนี้สั่งหย่าไห้ห้ามปราม ถ้าไครหยากไปไห้เจ้าเมืองกรมการสงเคราะห์ช่วยหาคนซื้อไร่นาวัวควายเร่งไห้มันไปตามไจสมัค ก็กลายเปนหย่างแมวได้จริง ๆ ไม่มีไครไป ฝ่ายพวกที่อพยพไปคราวแรกนั้น ไปถึงเมืองเวียงจันท์ก็ไม่ได้ลาภผลตามสัญญา ทั้งไปได้ความรู้ว่า นาทางลานช้างทำไม่ได้ผลมากเหมือนนาทางข้างไต้ ก็พากันอพยพกลับมา ที่ยังมีทุนกลับมาได้ถึงเมืองนครนายกก็มี ที่หมดทุนก็ต้องตกค้างหยู่ที่บ้านสองเปลือย แต่เรื่องนี้ยังมีข้อขำต่อไปอีก เมื่อวันฉันไปถึงเมืองอุดรธานี เขากะซิบบอกไห้ดูชายคนหนึ่งซึ่งยืนรับหยู่ที่ซุ้มคร่อมถนนที่ทำรับฉัน สังเกตดูเปนคนกลางคนอายุราวสัก 50 ปี เขาบอกว่า คนนั้นแหละคือพระยาเมืองที่ได้ลงไปเกลี้ยกล่อมคนที่เมืองนครนายก เมื่อกลับไปหยู่เมืองเวียงจันท์ ไปเกิดผิดไจกับฝรั่งเสสขึ้นหย่างไดหย่างหนึ่ง จึงอพยพครอบครัวของตนข้ามมาขอพึ่งไทย พระยาสรีสุริยราชวรานุวัติรับไว้ไห้หยู่ไนเมืองอุดรธานี แล้วเลยไห้เปนนายงานทำซุ้มรับฉัน จึงยืนรับหยู่ที่ซุ้มนั้น
เมืองอุดรธานีแต่เดิมเรียกว่า "บ้านเดื่อหมากแข้ง" เพิ่งตั้งเปน "เมือง" เมื่อ ร.ส. 112 (พ.ส. 2436) ยังไม่มีอะไรที่น่าพรรนนาไนนิทานนี้ นอกจากตัวพระยาสรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ซึ่งจะเรียกต่อไปตามสดวกว่า "พระยาโพธิ" ผู้เปนสมุหเทสาพิบาลมนทลอุดรไนเวลาเมื่อฉันไปครั้งนั้น ด้วยเปนคนเคยทำความชอบหย่างแปลก และมีความสามาถก็เปนหย่างแปลก แต่ตัวถึงอนิจกัมเสียนานแล้ว ฉันรู้เรื่องประวัติหยู่บ้างจะเล่าฝากไว้ไนนิทานนี้ เพื่อไห้ความชอบความดีของพระยาสรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ปรากตหยู่หย่าไห้สูญเสีย พระยาโพธิดูเหมือนจะเปนชาวเมืองจันทบุรี เข้ามาถวายตัวเปนมหาดเล็กหยู่กับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์แต่เพิ่งรุ่นหนุ่ม จะได้สึกสามาแต่ก่อนหย่างไรบ้างไม่ปรากต แต่มาได้รับความอบรมด้วยตามสเด็ดติดพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เข้าวังและไปไหน ๆ หยู่เนืองนิจ จนรู้จักเจ้านายขุนนางและรู้ขนบทำเนียมไนราชสำนัก แม้ตัวฉันก็รู้จักพระยาโพธิตั้งแต่ยังเปนมหาดเล็กกรมหลวงสรรพสิทธิฯ แต่จะเปนเพราะเหตุไดหาทราบไม่ เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิฯ สเด็ดออกไปรับราชการนะเมืองนครราชสีมาและเมืองอุบล พระยาโพธิไม่ได้ตามสเด็ดไปด้วย จึงขึ้นไปคิดค้าขายทางเมืองเหนือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิสถสักดิ์ เมื่อยังเปนสมุหเทสาพิบาลมนทลพิสนุโลก พบตัว เห็นเปนคนมีแววดี จึงชวนเข้ารับราชการ ได้เปนตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นผู้น้อย เลื่อนที่ขึ้นไปโดยลำดับด้วยความสามาถ จนได้เปนพระสีหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิถ
เมื่อ พ.ส. 2445 เกิดเหตุพวกผู้ร้ายเงี้ยวปล้นได้เมืองแพร่ เวลานั้นผเอินเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ลงมารั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกะซวงมหาดไทยแทนพระยามหาอำมาจเมื่อไปรับราชการยุโรป และตัวฉันก็ได้เคยไปเมืองเหนือและเคยเดินบกแต่เมืองอุตรดิถไปเมืองแพร่ รู้เบาะแสภูมิลำเนาหยู่ด้วยกันทั้ง 2 คน พอได้รับโทรเลขบอกข่าวเกิดผู้ร้ายเงี้ยวฉบับแรก เมื่อพวกผู้ร้ายตีเมืองแพร่ได้แล้ว ปรึกสากันไนขนะนั้นเห็นว่า พวกเงี้ยวคงกำเริบเลยลงมาตีเมืองอุตรดิถ เพราะเปนเมืองที่มีทรัพย์สินมากและไม่มีไครรู้ตัว จึงรีบมีโทรเลขไปยังเมืองอุตรดิถฉบับหนึ่ง สั่งพระยาโพธิไห้รวบรวมกำลังกับเครื่องสาตราวุธ รีบยกไปกักทางที่ช่องเขาพรึงอันเปนที่คับขันไนทางเดินมายังเมืองอุตรดิถ โทรเลขอีกฉบับหนึ่งมีถึงพระยาสัชนาลัยบดี (จำไม่ได้ว่าตัวชื่อไร และเวลานั้นยังเปนพระมีนามว่าหย่างไร) ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก สั่งไห้รีบรวมกำลังและเครื่องสาตราวุธ ยกจากเมืองสวรรคโลกขึ้นไปตีเมืองแพร่ทางเมืองลองอีกกองหนึ่ง พระยาโพธิยกไปถึงเขาพรึง ก็พบเงี้ยวยกลงมาดังคาดไว้ ได้รบกับเงี้ยวที่ปางต้นผึ้ง 2 วัน กักพวกเงี้ยวไว้ได้ พอพวกเงี้ยวรู้ว่า มีกำลังเมืองสวรรคโลกยกขึ้นไปเมืองแพร่ทางข้างหลังอีกกองหนึ่ง ก็พากันถอยหนีจากเขาพรึงกลับไปเมืองแพร่ พระยาโพธิรบเงี้ยวป้องกันเมืองอุตรดิถไว้ได้ครั้งนั้นเปนแรกที่จะปรากตเกียรติคุน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรน์ และเลื่อนบันดาสักดิ์จากที่พระสีหสงครามขึ้นเปนพระยาสรีสุริยราชวรานุวัติยเปนบำเหน็ดความชอบ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ย้ายไปเปนสมุหเทสาพิบาลมนทลพายัพแล้ว พระยาโพธิได้เปนสมุหเทสาพิบาลมนทลพิสนุโลก แต่ไม่ช้าก็ย้ายไปเปนสมุหเทสาพิบาลมนทลอุดร ด้วยเปนที่สำคันกว่ามนทลพินุโลก เพราะหยู่ต่อแดนต่างประเทสและอานาเขตกว้างไหย่ ผู้คนพลเมืองมากกว่ามนทลพิสนุโลก นอกจากนั้น ฉันเห็นว่าเหมาะแก่คุนวิเสสฉเพาะตัวพระยาโพธิด้วย เพราะสังเกตมาตั้งแต่ยังเปนผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิถอันเปนที่ประชุมชนต่างชาติต่างภาสาไปมาค้าขายเปนอันมากหยู่เนืองนิจ เห็นว่า พระยาโพธิมีอัธยาสัยถนัดเข้ากับคนต่างชาติต่างภาสา สามาถวางตนไห้คนต่างจำพวกเคารพนับถือ เมื่อไปหยู่มนทลอุดรก็ปรากตคุนวิเสสเช่นว่ามา พึงเห็นเช่นพระยาเมืองชาวเวียงจันท์มาขอพึ่งดังเล่ามาแล้ว และยังมีเรื่องสำคันกว่านั้น จะเล่าไห้เห็นเปนตัวหย่างอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพายหลังฉันไปมนทลอุดรได้สักปีหนึ่ง วันหนึ่งราชทูตฝรั่งเสสไห้มาบอกว่า กิจการทางชายแดนฝรั่งเสสกับไทยก็เรียบร้อยมานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าสมุหเทสาพิบาลมนทลอุดร รับยวนหัวหน้าพวกกบดที่หนีจากเมืองยวนเลี้ยงไว้คนหนึ่ง เหตุไดจึงทำเช่นนั้น ฉันได้ฟังออกประหลาดไจ ตอบไปว่า ฉันไม่ทราบเลยทีเดียว แต่เทสาฯ คนนั้นฉันไว้ไจว่าคงไม่ทำอะไรไห้ผิดความประสงค์ของรัถบาล ถ้ารับยวนหัวหน้ากบดเลี้ยงไว้ ก็เห็นจะเปนเพราะไม่รู้ว่าเปนคนเช่นนั้น ฉันจะถามดูก่อน เมื่อมีตราถามไป พระยาโพธิตอบมาว่า เดิมยวนคนนั้นไปหาที่เมืองอุดรธานีว่า จะขอรับจ้างทำการงานเลี้ยงชีพแล้วแต่จะไช้ พระยาโพธิสืบได้ความว่า เคยเปนหัวหน้าพวกกบดหนีมาจากเมืองยวน คิดว่า ที่ไนมนทลอุดรธานีมีพวกยวนเข้ามาตั้งค้าขายหยู่หลายแห่ง ถ้าปล่อยยวนคนนั้นไปเที่ยวหากินตามชอบไจ อาดจะไปชักชวนพวกยวนที่หยู่ไนมนทลอุดรไห้ร่วมคิดกับพวกกบด ก็จะเกิดลำบากขึ้นไนระหว่างรัถบาลทั้งสองฝ่าย ครั้นจะจับกุมกักขังยวนคนนั้น ก็ไม่ได้ทำความผิดหย่างไดไนเมืองไทย เห็นว่า หางานไห้ทำหยู่ไกล้ ๆ จะดีกว่าหย่างอื่น มันทำหย่างไรจะได้รู้ จึงได้จ้างยวนนั้นไว้เปนคนเลี้ยงม้า ฉันอ่านคำตอบชอบไจ ส่งไปไห้ทูตฝรั่งเสสดู ก็ชมมาว่า เทสาฯ ทำถูกแล้ว
พระยาโพธิเปนสมุหเทสาพิบาลมนทลอุดรมาจนถึงอนิจกัม ไนเวลานั้นฉันยังเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย รู้สึกเสียดายหย่างยิ่ง
เมื่อฉันขึ้นไปมนทลอุดร กรมหลวงประจักส์ฯ สเด็ดกลับลงมากรุงเทพฯ เสียกว่า 10 ปีแล้ว เห็นจะเปนเพราะราสดรไม่ได้เห็นเจ้านายมาช้านาน พอได้ยินข่าวว่าจะมีเจ้านายสเด็ดขึ้นไปอีก ก็พากันปีติยินดี ตั้งแต่ฉันเข้าเขตมนทลอุดร เดินทางผ่านตำบนไหน ก็เห็นราสดรชาวบ้านไนตำบนนั้นทั้งชายหยิงเด็กผู้ไหย่ พากันมานั่งคอยเคารพหยู่ที่ริมทางเปนหมู่ ๆ และมาก ๆ เวลาไปหยุดพักที่ไหน พวกราสดรก็พากันมานั่งห้อมล้อมรอบข้าง บางคนก็มาไหว้ด้วยมือเปล่า บางคนมีเครื่องสักการะมาด้วย บางคนก็ถึงเอาน้ำไส่ขันมาขอไห้ทำน้ำมนต์ และหยากเข้าไห้ไกล้ชิดทุกคน พวกหนึ่งเข้ามากราบไหว้แล้วถอยออกไป พวกไหม่ก็เข้ามาแทน มีกิจที่ต้องรับและปราสรัยไห้พรราสดรเพิ่มขึ้นตลอดทางที่ไปทุกแห่ง แต่ที่ไหนไม่เหมือนที่เมืองหนองคาย เวลาฉันพักหยู่ที่นั่น แต่พอเช้าก็มีพวกราสดรมาหาทุกวัน พวกไหนมาถึงก็เข้ามานั่งหยู่ที่หน้าพลับพลา คอยหยู่จนฉันออกไปปราสรัยแล้วจึงกลับไป พวกหนึ่งไปแล้วพวกอื่นก็มาอีก ถ้าไม่ได้พบฉันก็ไม่กลับ ต้อง "สเด็ดออก" ร่ำไปไม่รู้ว่าวันละกี่ครั้ง จนฉันออกปากว่าอ่อนไจ พวกกรมการเมืองหนองคายเขาจึงบอกไห้รู้ว่า พวกราสดรที่มาหานั้นมิไช่แต่ชาวเมืองหนองคายเมืองเดียว พวกราสดรทางฝั่งซ้ายไนแดนฝรั่งเสสก็มามาก ฉันได้ฟังก็เกิดลำำบากไจ ด้วยเดิมคิดไว้ว่าจะหาโอกาสไปดูเมืองเวียงจันท์ แต่นึกขึ้นว่า ถ้าเวลาเมื่อฉันไป มีพวกราสดรไนเมืองเวียงจันท์พากันมาห้อมล้อมไหว้เจ้าตามประสาของเขาเหมือนหย่างทางฝั่งข้างนี้ ก็อาดจะกะเทือนไปถึงการเมือง จึงงดความประสงค์ เลยไม่ได้ไปเห็นเมืองเวียงจันท์ แต่ถึงกะนั้นก็ยังไม่พ้นลำบากได้ทีเดียว ด้วยเมื่อลงเรือไฟลาแครนเดียของฝรั่งเสสล่องลำแม่น้ำโขงลงไปจากเมืองหนองคาย ถึงเวลาบ่ายไนวันแรกล่องนั้น นายเรือขอจอดรับฟืนที่สถานีของฝรั่งเสสแห่งหนึ่งทางฝั่งซ้าย เวลาขนฟืนลงเรือ ฉันนั่งหยู่บนดาดฟ้าด้วยกันกับนายพันตรีโนลังฝรั่งเสสซึ่งรัถบาลไห้เปนผู้ไปกับฉัน มียายแก่คนหนึ่งถือพานเครื่องสักการะเดินไต่ตลิ่งลงมาจากสถานี ฉันเห็นก็นึกว่าคิดถูกที่ไม่ไปเมืองเวียงจันท์ แต่ที่นี่มีเพียงยายแก่คนเดียว จะประสานการเมืองได้ไม่ยากนัก พอแกลงมาไนเรือเดินตรงเข้ามาหาฉัน ฉันชี้มือไห้แกไปที่นายพันตรีโนลัง แต่เขาก็คิดทันท่วงที ลุกขึ้นเดินไปรับพานเครื่องสักการะจากมือยายแก่เอามาส่งไห้ฉัน ก็เปนการเรียบร้อยด้วยอัชชาสัยทั้งสองฝ่าย