ประกาศรวมพนักงานอัยการ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2458
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า พนักงานอัยการเวลานี้ยังแยกกันอยู่หลายกระทรวง สมควรที่จะรวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เพื่อให้ทำการสดวกแก่ราชการยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไป ดังนี้
มาตรา๑ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ สืบไป ให้ยกเลิกข้อความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๓ แล ๓๔ หมวดที่ ๙ ว่าด้วยอัยการในพระธรรมนูญศาลสถิตย์ยุติธรรม (ร.ศ. ๑๒๗) พ.ศ. ๒๔๕๑ กับมาตรา ๒๕ หมวดที่ ๕ ว่าด้วยธุระในการศาลหัวเมือง ในพระธรรมนูญศาลหัวเมือง (ร.ศ. ๑๑๔) พ.ศ. ๒๔๓๘ รวมสามมาตรานั้น เสีย อย่าให้ใช้สืบไป แลให้เปลี่ยนนามตำแหน่งยกระบัตร์มณฑลแลยกระบัตร์เมืองผู้มีน่าที่เปนพนักงานใหญ่ของอัยการในมณฑลแลหัวเมืองนั้นเสีย ให้เรียกว่า อัยการมณฑล แลอัยการเมือง สืบไป
มาตรา๒ให้ใช้ข้อความที่กล่าวต่อไปนี้แทนความในมาตรา ๓๓ แล ๓๔ กับ ๒๕ ซึ่งยกเลิกเสียข้างต้นนั้น ว่า มาตรา ๓๓ ให้มีพนักงานอัยการไว้สำหรับเปนทนายแผ่นดินแทนรัฐบาลในศาลทั้งในกรุงแลหัวเมือง เรียกว่า กรมอัยการ ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรม มาตรา ๓๔ วิธีตั้งพนักงานอัยการนั้น ถ้าเปนตำแหน่งอธิบดีเจ้ากรมปลัดกรมอัยการแลอัยการมณฑลอัยการเมืองแล้ว ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเปนผู้จัดสรรตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ถ้าเปนพนักงานอัยการอื่น ๆ ให้อธิบดีหรือเจ้ากรมอัยการเปนผู้จัดสรรตั้งโดยได้รับอนุมัติของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มาตร ๒๕ ถ้าหากว่ามีคดีซึ่งจะต้องแต่งทนายแผ่นดินว่ากล่าวมากเกินกว่าพนักงานอัยการที่มีประจำตำแหน่ง ฤๅผู้บัญชาการเมืองจะเห็นสมควรโดยเหตุอย่างอื่น จะแต่งทนายแผ่นดินเพิ่มเติมขึ้นว่าความเฉพาะเรื่องฤๅชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้ว เมื่ออุปราชฤๅสมุหเทศาภิบาลได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแล้ว ก็ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ที่ว่ามาแล้วนี้ได้
มาตรา๓น่าที่ของพนักงานอัยการในหัวเมืองแห่งมณฑลทั้งหลายเคยกระทำมาแต่ก่อนแล้วแลกระทำอยู่ตามข้อบังคับสำหรับอัยการซึ่งได้มีตราพระราชสีห์ออกไปเปนหลักข้อบังคับยืนอยู่อย่างไร ก็ให้คงเปนอันใช้อยู่อย่างนั้นทุกประการจนกว่าจะได้มีตราจันทรมณฑลออกไปให้แก้ไขยเสียใหม่ จึงให้เปนไปตามที่แก้ไขยนั้น
มาตรา๔พนักงานอัยการซึ่งประจำอยู่ในหัวเมืองแห่งใด ๆ ก็ดี ฤๅที่ได้ย้ายจากหัวเมืองอื่นฤๅในกรุงออกไปกระทำการในหัวเมืองแห่งใด ๆ ก็ดี ให้ฟังบังคับบัญชาของผู้ใหญ่ในราชการหัวเมืองแห่งนั้น ๆ ตามอย่างที่เคยได้ฟังบังคับบัญชามาโดยที่ชอบด้วยราชการเสมอเหมือนกับคำสั่งของผู้ใหญ่ในกรมอัยการ
มาตรา๕ถ้าจะมีเหตุเกิดขึ้นให้เห็นว่า น่าที่พนักงานอัยการจะขาดตกบกพร่องฤๅจะเหลือเกินกว่าการที่สมควรจะเปนอยู่แห่งใด ๆ ก็ดี ฤๅจะมีเหตุเกิดขึ้นให้เห็นว่า มีการขัดข้องอยู่เพราะคำสั่งในกรมอัยการณกรุงเทพฯ แก่งแย่งไปถูกต้องกันกับคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้ใหญ่ในหัวเมืองแห่งใด ๆ ก็ดี ฤๅว่ามีการขัดข้องเกิดขึ้นเพราเหตุใด ๆ ก็ดี ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมปฤกษาหารือกันกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยฤๅเสนาบดีกระทรวงนครบาลแลอุปราชหรือสมุหเทศาภิบาลแห่งมณฑลที่มีเหตุเกิดขึ้นนั้นคิดอ่านแก้ไขยเสียให้เรียบร้อยกัน แล้วให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทำเปนกฎข้อบังคับไว้ให้เปนหลักในราชการแลประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกัน
มาตรา๖ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรวบรวมข้อบังคับอันเปนหลักราชการของพนักงานอัยการที่ได้มีตราพระราชสีห์บังคับไว้แต่ก่อนแล้วแลคงมีข้อความที่สมควรจะใช้ได้อยู่สืบไปนนั้นมาพิมพ์ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกันด้วย
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศรวมพนักงานอัยการ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2458". (2458, 19 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 32, ตอน 0 ก. หน้า 501–504.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"