ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 14/คำอธิบาย

จาก วิกิซอร์ซ
คำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หนังสือซึ่งเรียกว่า "คำให้การ" เหล่านี้เป็นจดหมายเหตุประเภท ๑ ซึ่งรัฐบาลให้ถามเรื่องราวไว้จากผู้ที่รู้เห็น ด้วยประเพณีแต่ก่อนมา ถ้ารัฐบาลประเทศใดได้ชาวต่างประเทศที่รู้การงานบ้านเมืองมาก็ดี ฤๅแม้ชนชาวประเทศของตนเองได้ไปรู้เห็นการงานบ้านเมืองต่างประเทศมาก็ดี ถ้าและการงานบ้านเมืองต่างประเทศนั้น เป็นประโยชน์ที่รัฐบาลต้องการจะรู้ ก็เอาตัวชาวต่างประเทศฤๅชาวเมืองของตนที่ได้ไปรู้เห็นการงานมาให้เจ้าพนักงานซักไซ้ไต่ถามข้อความที่อยากจะรู้ และจดเป็นคำให้การขึ้นเสนอต่อรัฐบาล

ประเพณีอันนี้เห็นจะมีเหมือนกันทุกประเทศ แม้ที่สุดทางตะวันออกนี้ก็มีมาแต่โบราณทีเดียว ด้วยมีหนังสือทำนองคำให้การอย่างว่านี้ในจำพวกหนังสือไทยเก่า ๆ หลายเรื่อง เช่น เรื่องขุนสิงหฬได้หนังราชสีห์ และเรื่องขุนการเวกไปบูชาพระเมาฬีเจดีย์ณเมืองหงสาอันติดอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือนั้น เป็นต้น ต่อมาในสมัยเมื่อไทยกับพะม่าเป็นข้าศึกทำสงครามขับเคี่ยวกัน วิธีที่ถามคำให้การเช่นกล่าวมานี้ยิ่งเป็นการสำคัญขึ้น เพราะเป็นทางที่จะได้ความรู้ภูมิประเทศและรู้กำลังตลอดจนพงศาวดารและขนบธรรมเนียมของข้าศึก พะม่าจับไทยไปได้ก็เอาไปถามคำให้การ ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งหอพระสมุดฯ ได้สำเนาฉะบับหลวงมาแต่เมืองพะม่า ได้ให้แปลและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ส่วนข้างไทยเรา เมื่อจับพะม่าข้าศึกมาได้ ฤๅได้คนซึ่งไปรู้เห็นการงานเมืองพะม่ามา ก็เอาตัวถามคำให้การเรื่องเมืองพะม่าเหมือนกัน หนังสือคำให้การว่าด้วยเรื่องราวและกิจการในประเทศต่าง ๆ มีสำเนาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายเรื่อง กรรมการได้รวมพิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคอื่นแล้วก็มี

ส่วนคำให้การ ๒ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คำให้การมะยิหวุ่นเป็นคำให้การของแม่ทัพพะม่าที่ไทยจับมาได้จากเมืองเชียงรายเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชชกาลที่ ๑ เจ้าพนักงานถามคำให้การขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์

มะยิหวุ่นคนนี้ ในหนังสือเก่าเรียกชื่อหลายอย่าง บางแห่งเรียกชื่อว่า อาปะระกามะนี บางแห่งเรียกว่า "มะยิหวุ่น" บ้าง "โปมะยุง่วน" บ้าง สอบสวนได้ความว่า ที่เรียกว่า อาปะระกามะนี นั้น ตามบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่า มะยิหวุ่น นั้น ตามยศที่เป็นเจ้าเมือง คำว่า โป แปลว่า นายพล เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่า โปมะยุง่วน คือ โปมะยิหวุ่น หมายความว่า เจ้าเมืองผู้เป็นนายพล คำข้างหลังทั้ง ๒ นี้เห็นจะเป็นคำคนพื้นเมืองเรียก อย่างไทยเราเรียกว่า "เจ้าคุณ" ฤๅ "เจ้าคุณแม่ทัพ" ชื่อที่พะม่าเขาเรียกในพงศาวดารเรียกว่า อาปะระกามะนี ตามบรรดาศักดิ์

ประวัติของอาปะระกามะนีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้น เดิมเป็นขุนนางอยู่เมืองอังวะ ครั้นเมื่อปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๒๔ พ.ศ. ๒๓๐๕ สมัยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพระที่นั่งสุริยามรินทร์ครองกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอังวะมังลอกผู้เป็นราชโอรสและได้ครองราชสมบัติสืบวงศ์พระเจ้าอลองพญาให้ติงจาแมงข่อง และมังมหานระทก กับอาปะระกามะนีคนนี้ คุมกองทัพพะม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งในเวลานั้นดูเหมือนจะเป็นอิศระอยู่ เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าอังวะจึงตั้งให้อาปะระกามะนีเป็นมะยิหวุ่นผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ต่อมา ตั้งแต่นั้น เมื่อพะม่ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยคราวใด อาปะระกามะนีก็ได้เป็นนายพลคุมพวกเมืองเชียงใหม่มาช่วยรบไทยด้วยทุกคราวตลอดมาจนถึงครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพหน้า ครั้งนั้น พะม่าแต่งให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละซึ่งเป็นหัวหน้าพวกชาวเชียงใหม่คุมพลลงมาต่อสู่กองทัพกรุงธนบุรี พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละกลับมาสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เข้าสมทบกองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ อาปะระกามะนีกับพวกพะม่าเสียเมืองแล้วก็พากันถอยหนีขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน แล้วลงมารบกวนหัวเมืองข้างฝ่ายเหนือต่อมาอีกหลายคราว จนรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตโกสินทร เมื่อปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระเจ้าอังวะปะดุงจัดกองทัพพม่ามาเพิ่มเติมเข้ามาสมทบกองทัพอาปะระกามะนีให้ยกลงมาตีเมืองฝางในมณฑลพายัพ ในเวลานั้น พวกชาวมณฑลพายัพเอาใจมาเข้าข้างไทยเสียหมดแล้ว อาปะระกามะนีเกณฑ์กองทัพ ผู้คนพลเมืองก็พากันหลบเลื่อมระส่ำระสาย ครั้นกองทัพพะม่าที่มาจากเมืองอังวะไปตั้งอยู่เมืองฝาง ทางเมืองเชียงแสน พวกชาวเมืองมีพระยาแพร่ (มังไชย) พระยายอง และพระยาเชียงราย เป็นหัวหน้า เห็นได้ที จึงระดมตีพวกพะม่าที่ยังเหลืออยู่ จับได้ตัวอาปะระกามะนีส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ณกรุงเทพมหานครฯ จึงได้โปรดให้ถามคำให้การที่พิมพ์นี้

คำให้การของอาปะระกามะนี เมื่อถาม จะเป็นกี่ตอนกี่เรื่องยังทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดฯ ได้ต้นฉะบับไว้แต่ตอนที่เล่าถึงพงศาวดารพะม่าตอนเดียว สำนวนภาษาไทยที่เรียบเรียงคำให้การอาปะระกามะนี ผู้ใดจะเรียบเรียงไม่ทราบ แต่มีลายพระราชหัดถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชมไว้ในต้นฉะบับดังนี้ว่า

"สมุดนี้เป็นสมุดเก่า สำนวนเก่า เรียงแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ใครเรียงไม่รู้เลย แต่เห็นว่า ถูกต้องที่ใช้ แก่ กับ ถึงจะมีคำที่ไม่ควรใช้ บุตรสาว พระวสา ลูกเจ้า อยู่บ้างก็ดี คำว่า กับ กับ กับ กับ ถี่ไป อย่างหนังสือทุกวันนี้ไม่เห็นมีเลย ใช้ กับ แล แก่ ถูกทุกแห่ง ให้อาลักษณคัดไว้เป็นตัวอย่างแล้วส่งสมุดคืนมา สมุดนี้ก็มิใช่สมุดเดิม เป็นฉะบับเขาลอกเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดอก"

ตามพระราชหัดถเลขาที่ปรากฏมาดังนี้ ควรนับถือว่า หนังสือเรื่องคำให้การมะยิหวุ่นนี้เป็นหนังสือแต่งดีด้วยอีกสถาน ๑

       

คำให้การมหาโค มหากฤช นั้น มหาโคเป็นไทยชาวกรุงเก่า พะม่าจับเอาไปกับพระเจ้าอุทุมพร คือ ขุนหลวงหาวัด (ในคำให้การเรียกว่า เจ้าวัดประดู่) ไปพลัดกันที่เมืองแปร มหาโคตกค้างอยู่ที่นั่น ได้โอกาสจึงบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายพรรษา แล้วสึกออกมาได้ภรรยา มีลูกชาย คือ มหากฤช ทั้งพ่อลูกพึ่งบุญอยู่ในพระมเหษีของพระเจ้ามังระซึ่งเป็นมารดาของเจ้าจิงกูจา อยู่มาจนเจ้านายสิ้นบุญแล้วค่อยหลบเลี่ยงจากราชธานีของพะม่ามาโดยลำดับ แล้วบวชเป็นพระพากันหนีมาเหมืองไทยทางเมืองเชียงใหม่ มาถึงกรุงเทพฯ ในรัชชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๕๓ เจ้าพนักงานจึงถามคำให้การเรื่องประวัติของพระมหาโค มหากฤช ตลอดจนเรื่องราวเหตุการณ์ในเมืองพะม่าในเวลาพระมหาโค มหากฤช อยู่ที่นั่น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มูลเหตุของคำให้การทั้ง ๒ เรื่องมีดังกล่าวมานี้

คำที่เรียกว่า มหาโค มหากฤช บางทีจะชวนให้ผู้อ่านสงสัยว่า เป็นเปรียญฤๅอย่างไร จึงเรียกว่า "มหา" ข้อนี้ได้ทราบมาว่า แต่ก่อน คำว่า มหา ไม่ได้เรียกฉะเพาะแต่เปรียญ พระภิกษุองค์ใดซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปการะแล้ว ถ้าเป็นอนุจร ก็เรียกว่า มหา ทั้งนั้น จะยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆัง ท่านไม่ได้เข้าแปลหนังสือ แต่ว่าเทศน์เพราะมาแต่เป็นเณร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระเมตตาโปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เรียกกันว่า มหาโต แต่นั้นมา มหาโค มหากฤช นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเห็นจะทรงอุปการะด้วยพากเพียรหนีข้าศึกกลับมาบ้านเมือง จึงได้เรียกว่า มหา ทั้ง ๒ องค์ ใช่วิสัยที่จะแปลหนังสือเป็นเปรียญได้ในทันที.