ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 21

จาก วิกิซอร์ซ
ประชุมพงศาวดารภาค ๒๑
จดหมายเหตุเรื่องเจรจาความเมืองระหว่างไทยกับพม่า
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
โปรดให้พิมพ์
ในงานศพพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เจ้ากรม
เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

สารบาน
น่า
๑๑
๑๔
๑๕
๑๘
๒๐
๒๓
๓๒
๓๕
๔๔
๔๔
๔๖
๕๕
๕๗
๕๗
๕๙
๖๘

  • พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เจ้ากรมใน
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช.
  • (ผ.ท.บ.)


พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เจ้ากรมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช มีนามเดิมว่า แย้ม นามสกุลว่า สินศุข สืบสาโลหิตมาจากสกุลนักรบอันสูงศักดิ์สกูล ๑ คือ เปนบุตรเจ้าพระยายมราช (ศุข) ๆ เปนบุตรพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ๆ เปนบุตรเจ้าจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์ ซึ่งเปนโอรสของขุนหลวงตากเจ้ากรุงธนบุรี

เจ้าพระยายมราช (ศุข) จะได้เปนตำแหน่งใดแต่เดิมไม่ปรากฎ ๆ แต่เมื่อเปนพระยาเพชรบุรีในรัชกาลที่ ๓ แต่เข้าใจว่าเห็นจะเคยราชการทัพศึกมาแต่ครั้งพระยากลาโหมราชเสนาผู้บิดาเปนแม่ทัพไปรักษาเมืองถลางเมื่อรัชกาลที่ ๒ เพราะฉนั้น จึงได้เปนนายทัพน่าคราวพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ, ปราบแขกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ” นั้น ภายหลังพระยาเพชรบุรี (ศุข) ได้เปนพระยาสุรเสนา ครั้นที่ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนเจ้าพระยายมราช

เจ้าพระยายมราช (ศุข) มีบุตรและธิดาอันเกิดแต่เอกภรรยาและอนุภรรยาต่างกันมากหลาย อนุภรรยาผู้ ๑ ชื่อ สาด เปนชาวเพชรบุรี บุตรและธิดาที่มีกับภรรยาผู้นี้ ๔ คน คือ ที่ ๑นายบัว เปนมหาดเล็กหลวงที่ ๒ นายเอม เปนมหาดเล็กหลวง ที่ ๓ นางเจียนบุนนาก อนุภรรยาของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาก) ซึ่งเปนมารดาพระยารำไพพงศ์บริพัตร (จิตร บุนนาก) ที่ ๔ นายแย้ม คือ พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชนั้น เจ้าพระยายมราช (ศุข) มีคฤหสถานตั้งอยู่ณตำบลใกล้ปากคลองตลาดฟากตวันออกในกำแพงพระนคร เมื่อเจ้าพระยายมราช (ศุข) ถึงอสัญญกรรมแล้ว บรรดาบุตรและธิดาซึ่งยังไม่ได้แยกบ้านเรือนไปอยู่ณะที่อื่นก็รวบรวมกันอยู่ในที่นั้นเปนส่วน ๆ อยู่ในความครอบครองอุปการของพระยาเพชรฎา (นก) ผู้เปนบุตรใหญ่ในท่านผู้หญิง, ได้ปกปักรักษาสกุลวงศ์สืบต่อมา

พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เกิดที่บ้านตำบลปากคลองตลาดนี้เมื่อวันพุฒที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ เมื่อบิดาถึงอสัญญกรรม มีอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ จึงอยู่ในความปกปักรักษาของพระยาเพชรฎา (นก) ๆ ได้อุปการบำรุงมาจนเติบโตถึงคราวบวช, ได้อุปสมบทอยู่ณวัดราชบุรณะ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ เปนเวลาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แต่เมื่อยังดำรงพระยศเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์, เสด็จประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังณหอราชพิธีกรรมริมประตูศรีสุนทร พระยาเพชรฎา (นก) พาตัวนายแย้มน้องชายผู้ซึ่งมีอายุได้ ๒๕ ปีเข้าถวายตัวเปนมหาดเล็กในพระองค์ ขณะนั้นได้ทรงรับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามเจ้าฟ้าแล้วตามพระราชประเพณี ก็เหมือนว่าได้ทรงกรมแล้ว จึงมีตำแหน่งข้าหลวงประจำกรม คือ เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ทั้ง ๓ มีนามบรรดาศักดิ์เปนหมื่น และมีจางวาง นายเวร ปลัดเวร สารวัด เต็มตามอัตราอย่างเจ้าฟ้าทรงกรมเต็มที่ แต่หาได้ใช้นามกรมต่อท้ายพระนามเดิมไม่ ตำแหน่งข้าหลวงน้อยในกรมนี้, เมื่อทรงเห็นว่าผู้ใดสมควรรับตำแหน่ง ก็ทรงตั้งแต่งขึ้นตามลำดับ, ขณะนี้ได้ทรงตั้งให้นายแย้มมหาดเล็กเปนนายเวรตำรวจขึ้นนาย ๑

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ ถึงเวลาเสด็จออกไปประทับอยู่ณะพระราชวังสราญรมย์, โปรดให้นายแย้มนายเวรเปนจางวางฝีพาย รับราชการทั้งในหลวงและในกรมกับทั้งการในพระองค์เรียบร้อยตามน่าที่มาช้านานตลอดถึงกาลที่ได้เสด็จประทับอยู่ณะวังบุรพาภิรมย์ และได้ทรงรับกรมเปนกรมหลวงทั้งเมื่อเลื่อนขึ้นเปนกรมพระภายหลังแล้ว จางวางแย้ม สินศุข ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งนี้ตลอดมา เพราะเหตุว่าตำแหน่งจางวางฝีพายมีน่าที่กิจการยานพาหนะและควบคุมกำลังผู้คนที่เกี่ยวแก่การนั้น สมัยก่อน ๆ กำลังพาหนะเปนสิ่งสำคัญอย่าง ๑ ซึ่งจำเปนต้องมีต้องใช้สำหรับราชการในหลวงและในกรมเพื่อประดับพระเกียรติยศ เช่น ในการเรือกระบวนพระกฐินและเรือประพาศหัวเมือง เปนต้น ตลอดจนการที่ต้องกะเกณฑ์แห่แหนและทำการโยธาทั้งหลาย อันต้องการผู้ซึ่งรับตำแหน่งนี้เปนคนซื่อสัตย์ กล้าหาญ มั่นคง แขงแรง อดทนต่อน่าที่ จางวางแย้ม สินศุข ทำกิจการอันนี้ดี มีประโยชน์ เหมาะแก่ตำแหน่ง แม้มีที่เสด็จไปในทางไกลหรือกันดารปานใด ได้เคยไปตามเสด็จและทำการตามน่าที่โดยกวดขัน ถึงจะได้รับความลำบากตรากตรำปานใดก็มิได้ย่อท้อ, ทั้งนี้ก็เพราะเปนผู้ที่มีใจจงรักต่อเจ้านายของตนติดสันดาน ทั้งมีร่างกายกำลังวังชาแขงแรง และมีนิสัยชอบการเตร็จเตร่แต่เดิมมาด้วย ได้เคยไปเที่ยวหัวเมืองหลายจังหวัดแทบมณฑล ที่ชำนาญมากทางตวันตกและตวันออก ครั้ง ๑ เมื่อพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น อัมรานนท์) ออกไปเปนข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลเขมร ได้ทูลขอจางวางแย้ม สินศุข ต่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพรภาณุพันธุวงศ์วรเดชให้ออกไปราชการครั้งนั้นด้วย เพื่อได้ช่วยจัดเรื่องเกวียนราษฎรที่เกี่ยวแก่การพาหนะในมณฑลนั้น, ทรงเห็นว่ากิจการในน่าที่จางวางฝีพายในกรมชั้นหลัง ๆ ขณะนั้นเบาบางไม่สำคัญเหมือนชั้นก่อน ๆ แล้วจึงทรงอนุญาต ภายหลังเมื่อจางวางแย้ม สินศุข กลับเข้ามาแล้ว ก็คงรับราชการในกรมตามน่าที่จางวางฝีพายอยู่ตามเดิม เพราะตำแหน่งที่สูงขึ้นไปกว่ายังไม่มีว่าง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ เจ้ากรมในขณะนั้นซึ่งยังมีบรรดาศักดิ์เปนพระภาณุพันธ์ธุวงศ์วรเดชอยู่นั้นมีความทุพพลภาพ หลวงภูเบศรบริบาลปลัดกรมต้องทำการในน่าที่เจ้ากรม จึงโปรดให้จางวางแย้ม สินศุข ทำการในน่าที่ตำแหน่งปลัดกรม, ถึงพ.ศ. ๒๔๔๘ เลื่อนขึ้นทำการในน่าที่ตำแหน่งเจ้ากรมต่อมา ครั้นถึงรัชกาลปัตยุบันนี้เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ดำรงพระอิศริยยศเลื่อนขึ้นเปนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา ตำแหน่งข้าหลวงน้อยประจำกรมก็เลื่อนบรรดาศักดิ์ตามลำดับ คือ เจ้ากรมเปนพระยา ปลัดกรมเปนพระ สมุห์บาญชีเปนหลวง จึงโปรดตั้งให้เจ้ากรมแย้ม สินศุข เปนพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช รับราชการในหลวงและในกรมสมตำแหน่งน่าที่เปนอันดี ได้รับตำแหน่งนี้คงที่ตลอดมาจนถึงแก่กรรม

เมื่อจะกล่าวถึงครอบครัวของพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) ในชั้นหลัง ซึ่งได้แยกนามสกุลว่า สินศุข ขึ้นแล้วนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระยาภาณุพันวงศ์วรเดช แต่ยังเปนนายแย้มจางวางอยู่นั้น ได้ทำการสมรสกับนางเพียนธิดาพระอนันตคีรี (แก้ว) ผู้ว่าราชการเกาะพงัน (เดิมขึ้นจังหวัดไชยา) มีบุตรคน ๑ ชื่อหลง เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ มีธิดาคน ๑ ชื่อเยื้อน เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ครั้นนายหลงมีอายุได้ ๑๕ ปี บิดาได้ส่งเข้าเปนนักเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ออกจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับยศทหารบกชั้นสัญญาบัตรต่อมาตามลำดับ ส่วนบรรดาศักดิ์ ได้เปนหลวงอาวุธสิขิกรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ออกไปศึกษาวิชาอากาศยานณประเทศฝรั่งเศส ๓ ปี กลับเข้ามารับราชการในกรมอากาศยานทหารบกสืบมา ในเวลานี้ได้มียศทหารบกเปนนายพันโท มีบรรดาศักดิ์เปนพระพิเศษสุรฤทธิ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานกรมอากาศยานทหารบก

เมื่อว่าถึงสถานที่อยู่ ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระยาภาณุพันธุวงศ์วเดช (แย้ม สินศุข) เกิดที่บ้านบิดาณะตำบลปากคลองตลาด เมื่อเจ้าพระยายมราช (ศุข) บิดาถึงอสัญญกรรม มีอายุยังเยาว์ จึงอยู่ในความปกครองของพระเพชรฎา (นก) ผู้เปนพี่ใหญ่ บรรดาญาติผู้ใหญ่ ๆ นอกจากที่ได้แยกกันไปอยู่ณตำบลอื่นแล้ว ต่างก็แยกที่อยู่กันเปนส่วน ๆ ในบ้านนั้น เมื่อถึงเวลาล่วงลับกับไปตามลำดับ ที่บ้านนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาล เมื่อนายแย้ม สินศุข มีอายุขึ้นมากแล้ว ก็ได้ครอบครองบ้านเรือนส่วน ๑ ณตำบลปากคลองตลาดนั้นตลอดมา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ทางราชการจะต้องการที่บ้านตำบลนี้สร้างตึก และตัดถนนริมคลองตลาดฟากตวันออก ถูกในส่วนซึ่งจางวางแย้ม สินศุข ตั้งอยู่ ต้องขายที่นั้นแก่รัฐบาล เปนอันจะต้องรื้อเรือนไปหาที่ปลูกสร้างใหม่, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วงเดชทรงสงสาร โปรดประทานอนุญาตให้จางวางแย้ม สินศุข รื้อเรือนเดิมมาปลูกอาศรัยอยู่ในที่ดินนอกกำแพงพระนครอันเปนเขตรน่าวังบุรพาภิรมย์สืบต่อมา ในระหว่างเวลารื้อเรือนปลูกเรือนใหม่ โปรดให้ยกครอบครัวมาอาศรัยศาลาหมู่ ๑ ในวังบุรพาภิรมย์ชั่วคราว เมื่อสร้างเรือนใหม่เสร็จแล้ว ได้ออกอยู่ในที่นั้น ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงเลื่อยไม้น่าวังบูรพาภิรมย์ เขตรเรือนจางวางแย้ม สินศุข อยู่ใกล้ชิด โรงเลื่อย เพลิงไหม้บ้านเรือนหมด โปรดให้ยกครอบครัวเข้ามาอยู่ในวังบุรพาภิรมย์เช่นครั้งก่อน จางวางแย้ม สินศุข นั้น นอกจากหมดกำลังที่จะสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่อีกแล้ว ยังเต็มใจที่จะอาศรัยอยู่ในวังสืบไป โดยเหตุว่าเปนการสดวกแก่น่าที่ซึ่งภายหลังต้องมีต้องทำอยู่ใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น ที่ดินเดิมซึ่งจางวางแย้ม สินศุข ได้ตั้งบ้านเรือนเพลิงไหม้ว่างเปล่าอยู่นั้น, โปรดให้ผู้อื่นเช่าสร้างบ้านเรือนอาศรัยอยู่ต่อไป ภายหลังผู้เช่าต้องออกจากบ้านนั้น ทูลขอขายเรือนต่าง ๆ ที่ปลูกสร้างไว้ เมื่อได้ทรงรับซื้อเรือนทั้งหมู่เปนสิทธิของพระองค์แล้ว จึงโปรดให้พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) ไปอาศรัยอยู่ณะเรือนหลังใหญ่ เพื่อได้ดูแลรักษาบ้านเรือนหมู่นั้น เรือนหลังเล็ก ๆ ผู้อื่นได้อาศรัยอยู่ตามควร ได้ยกครอบครัวไปอยู่ในที่นั้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ มีเหตุเพลิงไหม้ขึ้นอีกในที่นั้น เรือนทุกหลังในบ้านนั้นเปนอันตรายหมด ขณะนั้นพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) ก็อยู่ในฐานอันชราภาพและมีความเจ็บป่วยประจำตัวอยู่เสมอ ๆ ไม่สามารถที่จะทำกิจการในน่าที่ได้เต็มบริบูรณ์, ทั้งที่อาศรัยเดิมในวังบุรพาภิรมย์ก็ได้เปลี่ยนแปลงเปนอย่างอื่นไปเสียแล้ว, การที่จะเข้ามาอยู่ในวังเช่นแต่ก่อน แม้แต่จะจัดหาที่อื่นได้ ก็จะเปนที่เล็ก ไม่สมฐานของผู้ใหญ่ ทั้งจะได้ความลำบากแก่ผู้ชราภาพซึ่งป่วยเจ็บอยู่ด้วย, เพื่อที่จะให้เกิดความศุขสำราญและดำรงชีพยืนยาวสืบไป เมื่อนายพันโท พระพิเศษสุรฤทธิ (หลง สินศุข) ผู้บุตรชายคนเดียวของพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) ทูลขอรับบิดาไปไว้ยังบ้านตนซึ่งตั้งอยู่ณริมถนนพญาไท ตำบลพญาไทนั้นแล้ว จึงโปรดประทานอนุญาต เพราะ ทรงเห็นว่าจะเปนผลอันดีซึ่งจะได้รับอากาศบริสุทธิเปนเครื่องเกื้อกูลแก่การรักษาความป่วยเจ็บ, เพื่อยังชีวิตให้เปนยืนยาว เมื่อพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) ไปอยู่ที่บ้านนายพันโท พระพิเศษสุรฤทธิ แล้ว ก็หาได้ลืมความกตัญญูต่อเจ้านายของตนไม่ แม้ว่ามีกิจการในกรมที่จำเปนพอสามารถจะมาได้ ก็อุตสาหะมาทำตามน่าที่อยู่เนือง ๆ ลำดับนี้ได้โปรดประทานอภัยให้พักรักษาตัวอยู่ยังบ้านบุตรเปนอันได้รับความศุขสบายดียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่นั่นและ สังขารไม่เปนของเที่ยง ความป่วยเจ็บอันเนื่องจากชราภาพก็เกิดเบียดเบียนยิ่งขึ้นจนมีอาการหนักลง ครั้นถึงวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เวลา ๖ นาฬิกา พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เจ้ากรม ถึงแก่กรรมที่บ้านพระพิเศษสุรฤทธิ์นั้น มีอายุได้ ๗๓ ปี

วันที่ ๑๐ มกราคม มีการอาบน้ำศพ ได้รับพระราชทานน้ำหลวงและหีบทองทึบเปนเกียรติยศศพตามบรรดาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จไปเปนประธานในการอาบน้ำศพนี้ ได้ตั้งหีบศพไว้ณบ้านพระพิเศษสุรฤทธิ, และได้มีการบำเพ็ญกุศลต่อมาตามวาระอันควร

บัดนี้ คุณหญิงเพียน ภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับนายพันโท พระพิเศษสุรฤทธิ์ (หลง สินศุข) ผู้บุตร ทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชว่า มีความปรารถนาจะใคร่ทำการฌาปนกิจศพสามีและบิดา, มีการบำเพ็ญกุศลเริ่มงานที่บ้านพระพิเศษสุรฤทธิ แล้วยกหีบศพไปสู่เมรุริมบรมบรรพตวัดสระเกษ, บำเพ็ญกุศลพิเศษเสร็จแล้วพระราชทานเพลิง เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชได้ทรงพระอนุญาตแล้วทรงรำพึงว่า, พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เปนข้าในกรมเก่าแก่มาช้านานถึง ๔๗ ปี ได้กระทำความดีต่อพระองค์เปนอเนกประการ มีคุณสมบัติหลายอย่าง ตั้งต้นแต่เปนผู้มีชาติตระกูลอันดี มีนิสัยความประพฤติดี, ตลอดถึงความดีซึ่งได้กระทำน่าที่ในตำแหน่งมาเปนลำดับ ดังได้กล่าวลเอียดไว้ข้างต้นแล้ว ในการฌาปนกิจศพเจ้ากรมในพระองค์ครั้งนี้ นอกจากที่จะทรงบำเพ็ญพระกุศลในทางพระศาสนาแล้ว จะทรงพิมพ์หนังสือแจกตามธรรมเนียม ได้ทรงทูลขอให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ สภานายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงเลือกเรื่องที่เปนสาระประโยชน์เกี่ยวแก่การทหาร, เพื่อสมกับนิสัยของผู้มรณภาพอันเนื่องมาจากสกุลนักรบ กรมพระดำรงราชนุภาพได้ทรงแนะนำให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุเรื่องเจรจาความเมืองในระหว่างไทยกับพม่า หนังสือเรื่องนี้ถึงเปนเรื่องการเมืองก็เกี่ยวแก่การยุทธ อาจเปนประโยชน์แก่ผู้ที่รับราชการทหาร ความบรรยายเรื่องหนังสือเปนอย่างไรแจ้งอยู่ในคำนำนั้นแล้ว หนังสือนี้โปรดให้พิมพ์ขึ้น ๑๐๐๐ เล่มเพื่อเปนเครื่องหมายเชิดชูความดีและไว้อาลัยในพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินศุข) เจ้ากรมผู้เปนข้าเก่าเจ้าเลี้ยงอันร่วมทุกข์ศุขตลอดมา ทรงอุทิศส่วนพระกุศลที่ได้ทรงสร้างหนังสือนี้แก่ผู้มรณภาพ, เพื่อสำเร็จผลเผยแผ่นามและความดีปรากฎอยู่สืบไปชั่วกาลนาน.

  • วังบุรพาภิรมย์
  • วันที่ ๗ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔


ไทยกับพม่าได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมาแต่ก่อนอย่างไร เรื่องราวได้รวบรวมไว้แล้วในหนังสือหลายเรื่อง คือ หนังสือพระราชพงศาวดาร แลหนังสือพงศาวดารเรื่องเรารบพม่า เปนต้น แต่ยังมีเรื่องเนื่องด้วยการที่ไทยรบพม่าพม่าอิกส่วน ๑ คือซึ่ งไทยกับพม่าเจรจาความเมืองเพื่อจะเลิกรบพุ่งกลับเปนไมตรีกัน ซึ่งเคยมีมาหลายครั้ง ยังหาได้รวบรวมเรื่องราวเข้าไว้ด้วยกันเหมือนอย่างเรื่องที่ทำสงครามกันนั้นไม่ เรื่องราวที่ไทยกับพม่าเจรจาความเมืองกันในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานีมีปรากฎอยู่เพียงในหนังสือพงศาวดาร ไม่มีจดหมายเหตุที่แปลกออกไปกว่านั้น แต่เรื่องเจรจาความเมืองกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้มีจดหมายเหตุแลสำเนาหนังสือที่โต้ตอบกันปรากฎอยู่หลายฉบับ พิมพ์แล้วบ้าง ยังไม่ได้พิมพ์บ้าง ที่เปนพระราชนิพนธ์ก็มี เปนหนังสือน่าอ่าน สมควรจะรวบรวมพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญเสีย ด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการที่กล่าวมา จึงได้รวบรวมเรื่องไทยเจรจาความเมืองกับพม่าเข้าเปนประชุมพงศาวดารภาคอันหนึ่ง ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ตามความที่ปรากฎมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ไทยกับพม่าได้เจรจาความเมืองกัน ๗ ครั้ง คือ:—

ครั้งที่ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่
ครั้งที่ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ ในรัชกาลที่

การที่เจรจาความเมืองกันทั้ง ๗ ครั้งที่ปรากฎมานี้ ฝ่ายพม่ามาขอเจรจาก่อนทุกครั้ง พิเคราะห์ดูเรื่องราวในจดหมายเหตุบางครั้งดูประหนึ่งประสงค์จะดีกันจริง ๆ จนถึงแต่งราชทูตไปมาปฤกษาข้อความที่จะตกลงเปนไมตรีกันก็มี บางครั้งเปนแต่มีหนังสือโต้ตอบกันก็มี แลบางครั้งพม่ามาขอเจรจาความเมือง ไทยขับไล่ทูตพม่าไปเสียด้วยไม่ไว้ใจ ไม่ยอมเจรจาด้วยทีเดียวก็มี การที่ได้เจรจากันทั้ง ๗ ครั้งนั้น คงมีข้อขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใดทุกครั้ง จึงไม่เป็นผลถึงที่จะเปนไมตรีกันได้ จนกระทั่งพม่าเสียบ้านเมืองแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

ไทยกับพม่าได้เจรจาความเมืองกันอย่างใด แลมีเหตุขัดข้องอย่างใด จึงไม่เปนไมตรีกันได้ แจ้งอยู่ในรายการที่จะพรรณาต่อไปข้างน่า แต่จดหมายเหตุเรื่องเจรจาความเมืองกับพม่าที่ปรากฎอยู่ บางคราวก็พิศดาร บางคราวก็ย่นย่อพอแต่รู้เค้าเรื่อง ความที่กล่าวต่อไปจะไม่พิศดารได้เหมือนกันทุก ๆ คราว ขอบอกไว้ให้ทราบเสียก่อน


เรื่องที่ไทยกับพม่าเจรจาความเมืองกันครั้งนี้หามีในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ ไปปรากฎอยู่ในหนังสือพระยากาญจนบุรีตอบครั้งพม่าขอเปนไมตรีเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ ว่า “เมื่อปีมโรง (จุล) ศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗) พม่ากับไทยก็ได้เจรจากันณตำบลอังงิว ปลายน้ำปิลอก ตำบลด่านพระเจดีย์สามองค์ ว่า จะเปนทางพระราชไมตรีจนถึงได้ให้ของตอบแทนกัน ในเดือนนั้น พม่าก็มาจับเอาคนทางเมืองเพ็ชรบุรีไป ๙ คน ครั้น (จุล) ศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘ คือ แต่เจรจากันมาได้ปี ๑) พระเจ้าอังวะก็ยกทัพมา ฝ่ายกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในกรุณาการุญแก่ประชากรพวกพลทั้ง ๒ ฝ่าย เพื่อจะให้พ้นชีวิตันตราย จึงให้นายขานสร้อย ตองสินสู่ ซึ่งเปนพม่าด้วยกันถือ หนังสือออกมาว่ากล่าวก็มิฟัง” มีเรื่องราวปรากฎในจดหมายเหตุเพียงเท่านี้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเรื่องพงศาวดารทั้ง ๒ ประเทศในสมัยนั้น เห็นพอจะอธิบายเหตุการณ์ที่พม่าขอเปนไมตรีครั้งนั้นได้โดยทางสันนิษฐานคือ:—

เมื่อพระเจ้ามังระครองแผ่นดินพม่า ให้มาตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมาในไม่ช้า ขุนหลวงตากก็กลับตั้งเมืองไทยเปนอิศรภาพอิก พม่าพยายามให้กองทัพมารบพุ่งปราบปรามหลายครั้งก็แตกพ่ายแพ้ไทยไป ไทยกับตีมณฑลภาคพายัพข้างตอนใต้ มีเมืองเชียงใหม่เปนต้น อันเปนของพม่าอยู่แต่ก่อนได้มาเปนของไทย ในที่สุดพระเจ้ามังระให้อะแซหวุ่นกี้เปนแม่ทัพคนสำคัญของพม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทยอิกครั้งหนึ่งก็ไม่สำเร็จ พอพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชโอรสได้รับรัชทายาท ก็เกิดขบถขึ้นในแผ่นดินพม่า มังหม่อง ชิงราชสมบัติพระเจ้าจิงกูจา แล้วตะแคงปดุงซึ่งเปนอาว์ชิงราชสมบัติจากมังหม่อง พวกประเทศราชแลเมืองขึ้นของพม่าเห็นการในราชธานีเปนจลาจล ก็พากันกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติ ต้องทำสงครามปราบปรามเมืองขึ้นอยู่หลายปี เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปดุงจะยกกองทัพไปปราบปรามเมืองยะไข่ซึ่งเคยเปนประเทศราชขึ้นเมืองพม่าอยู่ทางทิศตวันตก ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบดาภิเศกได้ ๒ ปี พระเจ้าปดุงคงคิดเกรงว่า ในเวลายกกองทัพหลวงไปตีเมืองยะไข่ ไทยได้ช่องจะยกกองทัพออกไปตีเมืองพม่าข้างหลัง จึงให้มาขอเปนไมตรีเพื่อจะมิให้ไทยยกไปตีเมืองพม่า การที่พระเจ้าปดุงให้มาขอเปนไมตรีครั้งนั้น จะเปนแต่อุบายกลศึกประสงค์เพียงจะเจรจาความเมืองหน่วงไว้มิให้ไทยทำร้ายในเวลาพม่าเสียเปรียบ ฤๅจะตั้งพระหฤไทยที่จะเปนไมตรีกับไทยโดยสุจริต ก็อาจเปนได้ทั้ง ๒ สถาน แต่ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังมา ชวนให้เห็นว่า พระเจ้าปดุงมิได้ตั้งพระไทยที่จะเปนไมตรีให้ยืดยาว ถ้าได้ทีเมื่อใดก็คงจะทำร้ายไทยอิก ฝ่ายข้างไทยก็เห็นจะรู้เท่าพม่ามาแต่แรก แต่ในเวลานั้นกำลังของไทยยังไม่พอที่จะไปตีเมืองพม่า เพราะพม่ากวาดเอาผู้คนไปเสียเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยาเปนอันมาก จึงเห็นประโยชน์ในการที่จะลองเจรจากับพม่า ถ้าหากพม่าจะเปนไมตรีจริง ก็คงจะต้องผ่อนผันให้พอใจไทย จึงแต่งข้าราชการให้ไปเจรจาความเมืองกับข้าราชการพม่าที่ปลายแดน ที่ไม่ยอมให้ทูตพม่าเข้ามาราชธานีนั้น ก็ตามประเพณีที่จะมิให้เห็นการในพระนครด้วยยังเปนข้าศึกกัน ข้อความที่เจรจากันครั้งนั้นก็ดูเหมือนพอจะคาดได้ว่าว่ากันด้วยข้อใด คือ ข้างไทยคงเกี่ยงว่า ถ้าพม่าจะเปนไมตรีจริง ก็ให้คืนผู้คนแลทรัพย์สมบัติซึ่งพม่าเก็บกวาดเอาไปเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยามาให้ก่อน จึงจะเปนไมตรีด้วย ความคงไม่ตกลงกันในข้อนี้ ครั้นพระเจ้าปดุงตีเมืองยะไข่ได้ กลับมีอำนาจเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้ามังระ ก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทยในรุ่งปีขึ้น คือ คราว “ลาดหญ้า” ที่พม่ายกมาทุกทิศทุกทางนั้น เข้าใจว่าเรื่องราวที่ไทยกับพม่าเจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๑ จะเปนดังแสดงมา


เรื่องเจรจาความเมืองกับพม่าครั้งที่ ๒ นี้ มีเนื้อความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อเดือน ๓ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ พระเจ้าปดุงให้พม่าเจ้าเมืองเมาะตะหมะซึ่งเปนเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญที่ต่อแดนไทยมีหนังสือให้เนรายะยันกิสูพม่าคน ๑ กับพระยามอญคน ๑ ถือมาถึงพระยากาญจนบุรี ๆ บอกส่งหนังสือเจ้าเมืองเมาะตะหมะเข้ามายังกรุงเทพฯ แปลได้ความว่า พม่าชวนให้ไทยเปนไมตรีกัน แต่พลความในหนังสือที่พม่ามีมาจะว่าอย่างไร ไม่ได้ลงสำเนาไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงไม่สามารถจะทราบได้ ปรากฎแต่ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่ง ให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปยังเจ้าเมืองเมาะตะหมะ ลงสำเนาหนังสือตอบไว้ในพระราชพงศาวดารเต็มทั้งฉบับ ดังนี้:—

อักษรบวรสันถวมิตรสนิทเสน่หาเมตยาภิฌาไศรยในท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรีมาถึงท่านผู้ครองเมืองเมาะตะหมะ ด้วยให้พม่า ๙ คนถือหนังสือเปนเรื่องราวสรรเสริญพระเกียรติคุณในพุทธจักรอาณาจักรเปนทางเจรจาความเมืองนั้น ได้ส่งหนังสือเข้าไปยังท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ๆ ได้แจ้งทุกประการแล้ว จึงประชุมเสนาพฤฒามาตย์ปฤกษาพร้อมกันว่า ครั้นจะนำขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ (ก็หาควรไม่) ด้วยเหตุว่าเปนแต่หนังสือเจ้าเมืองเมาะตะหมะ เกลือกจะเหมือนหนึ่งเมื่อศักราช ๑๑๔๖ ปี พม่ากับไทยก็ได้เจรจากันณอังงิวปลายน้ำปิลอกตำบลพระเจดีย์สามองค์ว่าจะเปนทางพระราชไมตรีจนถึงได้ให้ของตอบแทนกัน ในเดือนนั้นฝ่ายพม่าก็มาจับเอาคนทางเมืองเพ็ชรบุรีไป ๙ คน ครั้นศักราช ๑๑๔๗ ปี พระเจ้าอังวะก็ยกทัพมา ฝ่ายกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในกรุณาการุญแก่ประชากรพวกพลทั้งสองฝ่าย เพื่อพ้นชีวิตอันตรายอกุศลกรรม จึงให้นาขานสร้อยตองสิงสู่ซึ่งเปนพม่าด้วยกันถือหนังสือออกมาว่ากล่าวก็มิฟัง อันพม่ากับไทยทำศึกกันหานิยมมิได้ เหมือนน้ำกับน้ำมัน แล้วมีหนังสือกลับเข้ามาว่า นาขานสร้อยตองสิงสู่ออกไปเหมือนน้ำขุ่น ครั้งนี้เหมือนเอาแก้วทิ้งลงไปให้น้ำใสนั้น ถ้าจะใสจริง ชอบจะให้นาขานสร้อยตองสิงสู่ผู้ถือหนังสือเดิมถือหนังสือกลับเข้ามาถึงจะชอบ

ประการหนึ่ง ซึ่งว่า เจ้าอังวะปรารถนาโพธิญาณเมตตากรุณาแก่สัตว์ชุบเลี้ยงท้าวพระยานายทัพนายกองให้งามดี ความข้อนี้ดีชั่วก็ไว้แต่ในใจของท่านเถิด เราแจ้งอยู่แล้ว

ข้อซึ่งว่า (ถ้า) ทั้งสองพระนครปราศจากปัจจามิตรเปนทางพระราชไมตรี (ก็จะ) มีความศุขนั้น คำอันนี้เปนสัตย์จริง ๆ ฤๅจะเปนกลอุบาย ถ้าจะเปนกลอุบายแล้ว อย่าคิดเลยว่าพม่าจะลวงไทยได้ ถ้าจะเปนทางพระราชไมตรีกันนั้น จะให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายร่วมเสวตรฉัตรกันฤๅ ฤๅจะให้แต่เสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทแกล้วทหารทำสัตย์กัน ฤๅจะไม่ทำสัตย์แล้ว แต่จะไม่ทำยุทธสงครามแก่กัน ต่างคนต่างอยู่ประการใด ให้เสนาบดีเอาเนื้อความทูลแก่พระเจ้าอังวะ จะประพฤติฉันใดก็ให้แต่งขุนนางพม่าเปนทูตานุทูต (มา) กับขุนนาง (ไทย) ผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจรบศึกเสียกรุง ซึ่งพม่ากวาดเอาไปไว้นั้น ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีแล้ว จนแต่หัวหมื่นมหาดเล็กก็เอาเถิด ให้มาสักสามนายสี่นายกับพระสงฆ์อันทรงศิลสังวรบริสุทธิ จะได้เปนสักขีทิพพยาน จึงจะเปนสัตย์มั่นคงได้ ถ้ากรุงอังวะแต่งมาได้ดังนี้ จะบอกเข้าไปให้ท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่เอาเนื้อความกราบทูลพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ถ้ามิทำได้ อย่าเจรจากันต่อไปเลย ต่างคนต่างประพฤติโดยยถานุฌาไศรย (เถิด)

การที่พม่ากับไทยเจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๒ ที่พรรณามาตอนนี้ น่าสงไสยว่า หนังสือพระราชพงศาวดารจะลงไว้ผิดปี เพราะเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น เปนปีที่ไทยรบกับพม่าที่เมืองทวาย ดูไม่เปนโอกาศที่จะเจรจาความเมืองกัน โดยถ้าหากว่าพม่าจะมาชวนเปนไมตรีเมื่อเลิกการสงครามที่เมืองทวายแล้ว ก็เห็นจะต้องกล่าวถึงการที่รบกันครั้งนั้นในหนังสือด้วยมิมากก็น้อย นี่เรื่องเมืองทวายดูไม่มีวี่แววที่จะว่าในหนังสือเสียทีเดียว จึงสงไสยว่าจะเปนการก่อนปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๖


เรื่องเจรจาความเมืองครั้งปีจอนี้ มีเนื้อความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า เมื่อเดือน ๑๒ ปีจอนั้น มีทูตพม่ามาถึงเมืองกาญจนบุรี บอกว่า ถือหนังสือเสนาบดีพม่ามาถึงเสนาบดีไทย จะขอเจริญทางพระราชไมตรีให้สองพระนครเปนทองแผ่นเดียวกันสืบไป เมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีรับสั่งว่า พม่าไม่ได้ตั้งใจจะเปนไมตรีโดยสุจริต มาพูดจาจะขอเปนไมตรีทีไร ต่อมาไม่ช้าก็มีศึกพม่ามาทุกที การที่มาพูดจาเปนแต่ล่อลวงให้ตายใจ จะเชื่อถือไม่ได้ ให้พระยากาญจนบุรีขับไล่ทูตพม่าไปเสีย ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวดังว่ามานี้ แต่ความไปมีปรากฎในหนังสือพระยากาญจนบุรีตอบพม่าเมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ในคราวเจรจาความเมืองครั้งที่ ๕ อ้างถึงที่พม่าได้เข้ามาพูดจาคราวก่อน ซึ่งเข้าใจว่าหมายความว่าคราวปีจอนี้เอง มีเรื่องแปลกออกไปว่า ผู้ที่เปนทูตพม่าเข้ามาถูกประหารชีวิตรคน ๑ ปล่อยกลับไปคน ๑ แลพระยากาญจนบุรีที่รับทูตพม่าก็ถูกถอดด้วย จึงสันนิษฐานว่า ทูตพม่าที่มาคราวนี้เห็นจะเปนพม่าคน ๑ เปนมอญคน ๑ พระยากาญจนบุรีส่งตัวเข้ามากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ คนชรอยพม่าที่ว่าเปนทูตนั้น จะมาทำอย่างไรให้ปรากฎว่า ที่จริงเปนผู้มาสอดแนมสืบการในบ้านเมือง มิได้มาเพื่อจะเจรจาความเมืองโดยสุจริต จึงได้ประหารชีวิตเสีย ส่วนมอญอิกคน ๑ เปนแต่ผู้มาด้วย จึงให้ปล่อยกลับไป ข้อที่พระยากาญจนบุรีถูกถอดนั้น ก็คงเปนเพราะเหตุที่หลงเชื่อถือพม่า แลรีบส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ มิได้ไล่เลียงเหตุการณ์ให้ตระหนักเสียก่อน เพราะฉะนั้น ในคราวหลังต่อมาจึงปรากฎว่าซักไซ้ไต่ถามกันในชั้นก่อนส่งทูตพม่าเข้ามากรุงเทพฯ ดังจะเห็นได้ในเรื่องเจรจาความเมืองครั้งที่ ๖ ต่อไปข้างน่า.


เรื่องที่พม่ากับไทยเจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๔ นี้ หาได้กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ ไปมีปรากฎในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อปีขาลนั้น ราชทูตไทยออกไปเมืองพม่า ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าปดุงที่พลับพลาณเมืองเมงกูเมื่อเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ บอกวันเดือนมั่นคงดังนี้ แลมีจดหมายเหตุฝ่ายไทยประกอบอิกฉบับ ๑ ครั้งเฮนรีเบอรนี ทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้นไทยได้ช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ครั้นพม่าแพ้ อังกฤษชวนไทยให้ทำหนังสือสัญญากับพม่า ฝ่ายไทยไม่ยอม อ้างว่า พม่าไม่มีสัตย์ ได้มาขอเปนไมตรีกับไทยแต่ก่อนมาหลายครั้ง จนในที่สุดเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๑ พม่ามาขอเปนไมตรี ไทยได้ยอมรับที่จะเปนไมตรีด้วย จนได้แต่งทูตไปมาถึงกันแล้ว ต่อมาไม่ช้าพม่าก็ลอบมาตีหัวเมืองไทยอิก ที่จะทำหนังสือสัญญากับพม่า เห็นว่าหามีประโยชน์อันใดไม่ ความที่กล่าวมานี้ยุติต้องกับที่อ้างในพงศาวดารพม่า จึงควรเชื่อเปนหลักฐานว่า พม่ากับไทยได้เจรจาความเมืองกันเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ แลครั้งนี้จวนจะได้เปนไมตรีกันจริงยิ่งกว่าครั้งอื่น จะเก็บเนื้อความเรื่องเจรจาความเมืองครั้งปีขาลซึ่งปรากฎอยู่ในที่ต่าง ๆ รวมมาเรียบเรียงลงต่อไปนี้

ความปรากฎในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าปดุงเสวยราชย์ครองแผ่นดินพม่ามาได้ราว ๒๕ ปี เกิดเบื่อหน่ายในการทำสงคราม แปรพระอัธยาศรัยไปประสงค์จะเปนอรรคสาสนูปถัมภก ให้คิดแบบอย่างจะสร้างพระมหาสถูปที่เมืองเมงกูนองค์ ๑ จะให้ใหญ่โตยิ่งกว่าพระสถูปที่มีณะที่ไหน ๆ ทั้งสิ้น พระเจ้าปดุงให้กะเกณฑ์ผู้คนพลเมืองทั้งในหัวเมืองพม่าแลเมืองขึ้นทั้งปวงให้ผลัดเปลี่ยนกันไปเข้าเวรสร้างพระมหาสถูปนั้นคราวละหลายหมื่นคน ส่วนพระองค์นั้นก็มอบราชการบ้านเมืองให้พระมหาอุปราชบังคับบัญชา แล้วไปประทับพลับพลาทรงอำนวยการสร้างพระมหาสถูปอยู่ที่เมืองเมงกูน ในระยะนี้ที่พระเจ้าปดุงให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนเข้ามาเมืองไทย ชวนเปนไมตรีเลิกการที่จะรบพุ่งกันต่อไป

ตามความที่ปรากฎในคำเสนาบดีเล่าให้เฮนรีเบอร์นีฟังกล่าวว่า ข้างฝ่ายไทยในครั้งนั้น เสนาบดีคิดวิตกอยู่ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระชราทุพลภาพมากอยู่แล้ว จึงปฤกษาเห็นพร้อมกันว่าควรจะรับเปนไมตรีกับพม่า (กล่าวไว้เพียงเท่านี้ รายการต่อไปหาได้กล่าวไม่ จะต้องว่าต่อไปโดยสันนิษฐานตามเหตุการณ์ที่ปรากฎ) จึงโปรดฯ ให้ทูตไทยไปตอบแทนพม่า ทูตไทยจึงได้ไปเฝ้าพระเจ้าปดุงที่เมืองเมงกูนเมื่อเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ดังกล่าวไว้ในพงศาวดารพม่า

ผลของการที่เจรจากันครั้งปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ นี้ ทราบแต่ว่าไม่ตกลงเปนไมตรีกันได้ แต่จะเปนด้วยข้อขัดข้องอย่างไรหาทราบไม่ สันนิษฐานว่า น่าจะเปนด้วยความ ๒ ข้อ คือ ฝ่ายพม่าจะให้ไทยคืนหัวเมืองลานนาไทย คือ มณฑลภาคพายัพให้แก่พม่า ฝ่ายไทยไม่ยอม เพราะเห็นว่ามณฑลภาคพายัพเปนกำลังอันสำคัญของพม่าที่จะสามารถมาตีเมืองไทย ให้คืนไปจะเปนทางเกิดภัยอันตรายแก่เมืองไทยในภายน่า อิกข้อหนึ่งนั้น ฝ่ายไทยคงเกี่ยงให้พม่าคืนผู้คนแลทรัพย์สมบัติซึ่งพม่าเก็บกวาดไปเมื่อครั้งตีกรุงเก่า พม่าไม่ยอม เห็นจะไม่ตกลงในความข้อนี้ข้อใดข้อหนึ่งฤๅทั้งสองข้อด้วยกัน แต่การที่ไม่ตกลงกันคงเปนแต่สงบการเจรจาไว้คราว ๑ ไม่ถึงกลับเปนอริกัน เพราะฉะนั้น พระเจ้าปะดุงจึงแต่งทูตมาเจรจาความเมืองต่อมาอิกครั้ง ๑ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า.


เรื่องพม่ากับไทยเจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๕ ไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่มีสำเนาหนังสือซึ่งมีไปมาโต้ตอบกันอยู่ในหอพระสมุดฯ บริบูรณ์ ยังหาได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อนไม่ มีเรื่องราวดังบรรยาต่อไปนี้:—

เดิมเมื่อเดือน ๑๑ ปีมโรง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑ พม่าเจ้าเมืองเมาะตะหมะซึ่งเปนเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ให้พระยาอินทจักร ๑ อากาปันยี ๑ ถือหนังสือเสนาบดีพม่ามีถึงเสนาบดีไทย แลคุมตัวพระยาพิมพิสารกับพรรคพวกแลสิ่งของต่าง ๆ เข้ามาที่เมืองกาญจนบุรี แจ้งความว่า พระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) แต่งให้พระยาพิมพิสารถือศุภอักษร กับเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าปะดุง จะขอเอาเมืองเชียงใหม่กลับขึ้นไปแก่พม่าอย่าเดิม พระเจ้าปะดุงทรงเห็นว่า จะรับไว้ก็จะเกิดวิวาทกับไทย จะใคร่ให้สองพระนครเปนมหามิตรกันโดยทางธรรม จึงให้ส่งตัวพระยาพิมพิสารกับศุภอักษรของพระเจ้าเชียงใหม่เข้ามาถวาย

พระยากาญจนบุรีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงมีท้องตราสั่งให้ส่งทูตพม่ากับพระยาพิมพิสารมาไต่สวนที่เมืองราชบุรี แล้วทำนองจะโปรดให้พระยาท้ายน้ำเปนข้าหลวงออกไปกำกับการไต่สวนด้วย จึงปรากฎในเบื้องต้นจดหมายเหตุว่า “เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีมโรง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑ พระยาท้ายน้ำคุมเอาหนังสือพม่าเขียนใส่กระดาษฝรั่งฉบับ ๑ สมุดดำ (คำให้การ) พระยาพิมพิสารฉบับ ๑ เข้ามาให้พระวิสูตรโกษา นายบุญไทย สมิงพระตะบะ นายทองคำ มองสอยอู แปลออกเปนคำไทย ได้ความ (ดังนี้) ว่า”


บารมีอันใหญ่ยิ่งอันประเสริฐ เปนเจ้าพระยาฉัททันต์[1] บรมจักรเปนใหญ่ในขอบขัณฑเสมา เหมือนหนึ่งดอกประทุมทอง เสนาบดีรับใส่เกล้าฯ ไว้ได้ว่ากิจราชการบ้านเมืองเข้าขอบขัณฑเสมา สมณะชีพราหมณ์ให้ตั้งอยู่ในพระสาสนา ชำระกิจศุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎร เปนอรรคมหาเสนาบดีกระษัตริย์ศึก มาถึงอรรคมหาเสนาบดีทั้งปวงณกรุงทวารวดีศรีอยุธยาซึ่งอยู่ในยศธรรม เปนที่พึ่งแก่สมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวง

แลเจ้าฟ้าเมืองเชียงใหม่มีราชสาสนแผ่นทองเครื่องบรรณาการกับช้าง ๔ ช้าง จะใคร่พึ่งพระบารมีจะขอให้มีความศุข แลทรัพย์สินเครื่องอัญมณีจะไม่ได้เปนอันตรายเพราะพระบารมีอานุภาพพระเจ้าฉัททันต์ ให้พระยาพิมพิสารคุมเอาเครื่องบรรณาการไปถวาย ได้เอาเครื่องบรรณาการข้อความกราบทูล จึงมีรับสั่งเจ้าอังวะว่า เมืองเชียงใหม่ (กับหัวเมืองลานนาไทย) ๕๗ เมืองเปนเมืองขึ้นมาแต่ก่อน ครั้งพระพี่เปนเจ้า หัวเมืองเหล่านี้หาอยู่ในสัตย์ธรรม หารู้จักคุณไม่ เปนคนชั่ว

อนึ่ง เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเล่าเลี้ยงไว้เหมือนบุตร พระราชทานเครื่องยศศักดิ์ให้ ก็หาอยู่ในสัตย์ธรรมไม่ ละน้ำพิพัฒน์สัจจาเสีย ไปคบหากับพวกเมืองเชียงใหม่ เปนคนชั่ว หาดีไม่ แลเมืองยอง เมืองเชียงแขง นั้นเล่า เปนเชื้อวงศ์มาแต่ก่อน จึงตั้งให้เปนเจ้าฟ้า ประทานเครื่องยศศักดิ์ให้ ก็หาอยู่ในสัตย์ธรรมไม่ ประทุษฐร้าย ละน้ำพิพัฒน์สัจจาเสีย เปนคนชั่ว

เจ้าอังวะจึงว่า คนจำพวกนี้ที่จะกลับตั้งอยู่ในศีลในสัตย์เห็นไม่มี อุประมาเหมือนสุนักข์จิ้งจอกได้กินอาหารเดนพระยาราชสีห์ มีกำลังมาก เชื่อถืออวดตัวว่าเปนพระยาราชสีห์ ยกย่องถือทิษฐิมานะ แลธรรมดาสุนักข์จิ้งจอกหางคด จะดัดให้ตรงได้ (ก็แต่) เมื่อขณะใส่กระบอก ครั้นชักออกมาจากกระบอกแล้วก็กลับงอเข้า แลช้าง ๔ ช้างนั้น มหาราชาเจ้าเมืองกระแซ อุปราชาผู้น้อง นำบุตรสาวมาถวาย พระราชทานให้มหาราชาช้าง ๑ อุปราชาช้าง ๑ รวม ๒ ช้าง ล้มเสียช้าง ๑ ยังเหลืออยู่ช้าง ๑ ให้จัดเอาช้างหลวงในเมืองอังวะให้มาแทน ๓ ช้าง เข้ากันเปน ๔ ช้าง (ให้นำ) สิ่งของกับพระยาพิมพิสารแลหนังสือแผ่นทองเข้ามาส่งทางเมืองเมาะตะหมะ

แลเจ้าอังวะ (เจ้านายของ) เราทุกวันนี้ (ทรง) รักษาฝ่ายกุศลตั้งอยู่ในทศกรรมบถ ๑๐ ประการ มีช้างเผือกขาวบริสุทธิ์เหมือนพระยาฉันทันต์ กับนางช้างเผือก ๒ ช้าง แลเมืองเวสาลี เมืองมณีบุระกระแซ เมืองศรีจันท์ เมืองขันตีประเทศราช เมืองติงษาประเทศราช เมืองสังค้านวงประเทศราช เมืองยุงจุงประเทศราช ทั้งปวงนี้เอาเครื่องราชบรรณาการประหลาดมาถวาย เจ้าอังวะได้สั่งสอนให้โดยพุทธโอวาท แล้วให้จัดเครื่องบรรณาการพระราชทานตอบให้ตามสมควร ให้เปนทางพระราชไมตรีไปมาค้าขายถึงกัน แลพระมหามุนีพระพุทธรูปณเมืองยะไข่นั้น เจ้าอังวะแต่ก่อนสืบ ๆ มาหาอาราธนามาไว้นมัสการได้ไม่ เจ้าอังวะเราทุกวันนี้อาราธนามาไว้นมัสการณะเมืองอังวะได้

อนึ่ง พระยาสากยราชเจ้าเมืองพาราณสีสร้างพระพุทธรูปไว้มีอิทธิฤทธิ์นัก เจ้าอังวะก็ได้อาราธนามาไว้นมัสการอยู่ณเมืองอังวะด้วย แลเจ้าเมืองอังวะบุญญาธิการมาก รักฝ่ายกุศลเปนใหญ่ จะใคร่ให้อาณาประชาราษฎรสรรพสัตว์ทั้งปวงมีความศุข ถ้าหาความศุขมิได้ ไม่พอพระหฤไทย แลครั้งมังลองพระราชบิดา แลเจ้าผู้พี่เปนเจ้าอังวะ ได้กรุงศรีอยุทธยา ได้ลูกหลานเจ้าแลเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาไปไว้ ก็ให้จัดแจงเลี้ยงทนุบำรุงไว้ตามตำแหน่งยศศักดิ์ หาได้ถอดยศเสียไม่ เพราะเมืองปลายด่านแดนข้าขอบขัณฑเสมาประเทศราชเปนคนชั่ว กระทำให้กรุงใหญ่ทั้ง ๒ หมองหมางวิวาทกัน ไม่ชอบ ธรรมดาอาณาประชาราษฎรทั้งปวงในโลกนี้จะได้มีความศุขก็เพราะพระมหากระษัตรยิ์ ฉันใดทั้ง ๒ พระนครจะได้เปนมหามิตรทางเงินทองไปมาถึงกันให้ตั้งอยู่ในธรรม อาณาประชาราษฎรทั้งปวงจะได้อยู่เย็นเปนศุข (จง) บอกมาให้รู้ ๚ะ


หริภุญไชยเมืองเชียงใหม่เจ้าฟ้ามยุจาลานนา ๕๗ หัวเมืองทูลถานมากราบฉลองไหว้สามหาธรรมิกราชบรมบพิตรบรมราชราชาธิบดีมีชื่อตลธิปติบราชนาอมรบุญรัตนมหานครราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศมหาสถาน เสวยศุขอยู่เปนเจ้าช้างเผือกบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แลเจ้าบ่อเงินบ่อทองบ่อแก้ว ๗ ประการ ทานศีลบริจาคพร้อมทั้งราชธรรม ๑๐ ประการ สัสสเมธ ปุริสสเมธ สังคหธรรม อปริหานิยธรรม ๗ ประการ แลทรงธรรมทุกประการ ดังอมรินทราธิราช แลราชคุณธรรม ๘ ประการ สติพล ปาหุพล อมิตพล โภคพล ปัญญาพล อันว่ากำลังทั้ง ๕ ประการ สามัญโจ สักขาโก โสตุกัญจ วิชิตํ พลํ รัชชํกานิเต สัตตเตกาสยุง อันว่าปรกติสีลา ๗ ประการนั้นบริบูรณ อยู่ตนตัวแล้ว จึงอุสาหะสติ มันตสติ ปภาวสติ อันว่าธรรม ๓ ประการนั้น ยังเร่งแรงส่องเห็นด้วยทิพจักษุ มีใจโสมนัศมุทุตา กรุณาในอาณาประชาราษฎร เปนมั่นคงอยู่ทุกเพลา

แลครั้งเมื่อพระเจ้าช้างเผือกตนเปนพี่นั้น มยุหง่วนพม่ามารั้งเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าทั้งปวงหาโทษมิได้ มยุหง่วนจะเอาโทษถึงตาย จึงได้หนีไปพึ่งแต่พ้นไภยอันตรายก่อน บัดนี้เจ้าหอน่าตายแล้ว[2] บุตรเจ้าหอน่าทั้ง ๒ แลพระยากลาโหมปลัดหลวง แลขุนหลวงทั้งปวง ๔๐ เศษ หาโทษมิได้ ก็ฆ่าเสียแล้ว ยังเมียเจ้าหอน่าก็ยังไม่ได้เปนหอเปนเรือน[3] เปนอันร้อนไหม้ไม่มั่นเที่ยงสท้านหวั่นไหวอยู่เปนนิจ ข้าพเจ้าขอทำราชการแต่พอรอดชีวิตร กับอย่าให้เปนอันตรายแก่สมบัติบ้านเมืองไพร่พลเมืองไม่ให้เปนศึกเปนโจร ให้ได้อยู่สวัสดี ไพร่อยู่ค้าข้าอยู่ขายตามจารีตซึ่งมีมาแต่ก่อน ซึ่งได้หนีไปพึ่งกรุงศรีอยุธยาฝ่ายใต้ล่วงไปเสียแล้วนั้น เหตุว่ากลัวเจ้าตนเปนเจ้า จึงได้ไปพึ่ง เจ้าก็เล็งเห็นด้วยปัญญาทิพย์อยู่แล้ว ไพร่ไทยอันใด พม่ามอญก็ดี ไปตกอยู่ณกรุงศรีอยุธยานั้น เปนข้าเจ้าทั้งสิ้น อิก ๔ ปีภายน่า หอกดาบก็มิให้หัก ให้มารอดถึงสำนักพื้นตีนพระมหากระษัตริย์เจ้า

บัดนี้ข้าพเจ้าแต่งให้พระยาพิมพิสาร ท้าวอินทจักร คนที่มีชื่อทั้งปวง เปนทูตคุมเอาช้าง ๔ ช้าง กับสิ่งของดีมีหลายประการหลายสิ่งมากราบไหว้สา ก็เปนด้วยเดชะบุญเจ้าช้างเผือกตัวประเสริฐเกิดมีได้ทรงเปนเจ้าช้างเผือกแล้ว ก็ปราถนาสัพพัญญุตญาณองค์หนึ่งภายน่า จึงมีราชอาชาอันชอบแม่นแล้ว เดชะบุญตนตัวรุ่งเรืองแล้ว เขาทั้งหลายจึงมีน้ำใจชื่นชมยินดีมากราบไหว้สา ข้าพเจ้าก็จะปันลูกปันน้องปันมยุจาหมู่มาตยาอันชอบควรใช้สอยลงมารอดถึงพื้นตีนเปนข้าขอกินน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อเจ้าแล้ว วรพุทธสาสนาก็จะรุ่งเรือง ข้าพเจ้าไพร่ไทยใหญ่น้อยสัตวโลกทั้งหลายจะได้อยู่เย็นเปนศุข เพราะบุญพระมหากษัตริย์เจ้า ข้าพเจ้าทั้งปวงมีเจตนามาฉนี้แล ๚ะ


พระเจ้าฉัตทันต์พระเจ้าช้างเผือกได้ครองราชสมบัติ ๒๕ ปีทศธิมสุตทิน ๗๔๐ ณวัน ค่ำ มีหนังสือแผ่นทองกับเครื่องบรรณาการมาถวาย จึงมีรับสั่งเจ้าอังวะสั่งอิงแซะวังน่า เจ้าจักแกงบุตรอิงแซะ เจ้าแปร เจ้าตองอู เจ้าภุกาม เจ้าปะกัน เจ้าเมืองมิต ให้จัดแจงปลูกโรง ให้ทูตอยู่ที่บ้านซุยจะเยียด แลอิงแซะวังน่า เจ้าจักแกงบุตรอิงแซะเจ้าแปร เจ้าตองอู เจ้าภุกาม เจ้าปะกัน เจ้าเมืองมิต ให้เจ้าฟ้าบ้านหม้อ เนมโยแมงละนรธา นะคานสิรินรธา เจ้าเมือง แลกัญญานรธา จเรกีนันตะสุระ อาลักราชานันตะมิตกะแซลงเจยะ สิริยนันตะสุระ ซุยตองตองแจกตะจอ ไปถามพระยาพิมพิสารว่า (ผู้ใดใน) กรุงศรีอยุธยาใช้พระยาพิมพิสารมาครั้งนี้ ได้ความประการใด จะได้ทูลเจ้าอังวะ แลเจ้าฟ้าบ้านหม้อ เนมะโยแมงละนรธา นะคานสิริยนรธา นะเมืองแล กัญญานรธา จเรกินนันตะสุระ อาลักราชานันตะมิต กะแซลงเจยะ สิริยนันตะสุระ ซุยตองแจกะจอลาม ไปถามพระยาพิมพิสารต่อหน้าเจ้าจักแกงบุตรอิงแซะ ให้จุยกองจิตจอล่ามถามแปลคำพระยาพิมพิสาร จอแทงถาจะซู จองแทงนันตะซู สิริยเจยะซู เปนคนเขียนคำให้การพระยาพิมพิสาร แลพระยาพิมพิสารว่า จะถามข้าพเจ้าประการใด ข้าพเจ้าจะให้การให้สิ้นเชิง

ถามข้อ ๑ ว่า มาทั้งนี้ด้วยความประการใด พระยาพิมพิสารว่า ครั้งนี้พระเจ้าเชียงใหม่ใช้ให้ข้าพเจ้าถือราชสาสนแผ่นทองกับเครื่องบรรณาการให้ข้าพเจ้าคุมมาถวายเจ้าอังวะ

ถามข้อ ๒ ว่า พระเจ้าเชียงใหม่แลบุตรภรรยาญาติแลขุนนางทั้งปวงอยู่ดีกินดีอยู่ฤๅ มาได้ทางกี่วัน พระยาพิมพิสารว่า มาแต่เมืองเชียงใหม่ หยุดพักแรมมาบ้าง ได้เดือนหนึ่งกับ ๓ วัน เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่เมืองเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ญาติวงศ์แลขุนนางทั้งปวงอยูดีกินดีหามีอันตรายไม่

ถามข้อ ๓ ว่า พระสาสนารุ่งเรือง สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรรักษาศีลทำบุญให้ทานปรกติอยู่ฤๅ พระยาพิมพิสารว่า ณเมืองเชียงใหม่นั้น พระสาสนารุ่งเรือง สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรรักษาศีลทำบุญให้ทานปรกติอยู่

ถามข้อ ๔ ว่า พระเจ้าเชียงใหม่ใช้มาทั้งนี้ จะให้มาว่ากล่าวประการใดบ้าง พระยาพิมพิสารว่า เมื่อล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตนั้น กรุงศรีอยุธยาวุ่นวายอยู่ไม่ปรกติ เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงแสน เมืองยอง เมืองเชียงแขง ๕๗ หัวเมือง ก็หาปรกติกันไม่ แลเมืองเหล่านี้ละอย่างธรรมเนียมเสีย ถ้าพึ่งพระบารมี (พระเจ้าอังวะ) อาณาประขาราษฎรทั้งปวงจะได้อยู่เย็นเปนศุข จะหามีอุปัทววิบัติไม่

ถามข้อ ๕ ว่า เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงแสน เมืองยอง เมืองเชียงแขง ๕๗ หัวเมือง จะพึ่งบุญ (พระเจ้าอังวะ) ไม่ให้เสียอย่างธรรมเนียมนั้น ก็รู้แจ้งอยู่แล้ว ซึ่งมอญพม่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีอยู่เปนอันมากนั้น จะว่าประการใดเล่า พระยาพิมพิสารว่า พระเจ้าเชียงใหม่สั่งมาว่า มอญพม่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น ถ้าจะต้องประสงค์ (จะคิดอ่านเอามาถวาย) เว้นไว้แต่เดือนกับดาว

ถามข้อ ๖ ว่า คนมานี้นายไพร่เท่าใด พระยาพิมพิสารว่า มาแต่เมืองเชียงใหม่ ๑๒ คน มหาขนาน (เมืองเชียงตุง) ให้มาด้วย ๒๐ คน เข้ากันเปน ๓๒ คน คุมกล่องแดงใส่ถุงผ้าแดงตีตราหงษ์ ๑ กล่องเงินหนัก ๕๗ บาท ๑กล่องทองหนัก ๕๙ บาท ๑ ลานทองหนัก ๑ ตำลึง ๒ บาทสลึงเฟื้อง ยาว ๑ ศอก ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว เขียนเปนอักษร ๗ บรรทัด ตีตราประทับหลัง ๑ ถุงแพร ๑ ช้าง ๔ ช้าง ขันทอง ๒ ขัน ขันเงิน ๒ รวม ๔ ขัน พานทอง ๒ พานเงิน ๒ รวม ๔ พาน คนโททอง ๑ คนโทเงิน ๑ รวม ๒ คนโท กะโถนทอง ๑ กะโถนเงิน ๑ รวม ๒ กะโถน ตลับทอง ๑ ตลับเงิน ๑ รวม ๒ ตลับ ตะพานทอง ๑ ตะพานเงิน ๑ รวม ๒ ตะพาน ขอช้างหุ้มทอง ๒ หุ้มเงิน ๒ รวม ๔ ขอ เครื่องช้างทอง ๒ เครื่องช้างเงิน ๒ รวม ๔ สำรับ โหมด ๗ สี ๑๔ อย่าง แพร ๗ สี ๑๔ อย่าง จันทน์แดงจันทน์ขาวหนัก ๑๕ ชั่ง.


วัน ๑๐ ฯ  ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑) พระยาอมรินทรฦๅไชย อภัยประเทศราช ชาติอธิบดี ศรีสุริยสงคราม ผู้ครองเมืองราชบุรี ออกณโรงทำเนียบพร้อมด้วยพระยาปลัด พระยกรบัตร พระเมือง พระพล กรมการทั้งปวง จึงให้หาพระยาอินทจักร ยันโตจักกี เยกองปยันกี อากาปันยี สุราจักกียอ นาทองถ่อป้าน พระยาจักร นันตกะยอ เข้ามาพร้อมกัน จึงให้หลวงแพ่ง หลวงสัสดี หมื่นพินิจภาษา ถามพระยาพิมพิสารว่า ตัวอยู่บ้านไหนเมืองไหน เหตุไรจึงมาอยู่ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ ใช้ให้ตัวถือหนังสือลานทองแลสิ่งของ ๑๑ หีบ กับช้าง ๔ ช้างไปถวายพระเจ้าอังวะ ดังหนังสือเสนาบดีเมืองอังวะบอกมานั้น จริงฤๅประการใด ให้ตัวให้การตามจริง

ข้าพเจ้า พระยาพิมพิสาร ให้การว่า เปนความสัตย์ความจริง เดิมข้าพเจ้าชื่อแสนภาพ บุตรแสนเขื่อน อยู่เมืองเชียงตุง เมื่อครั้งพระเจ้าอังวะให้ราชาจอมหงษ์ลงมาตั้งอยู่ณเมืองสาด เกลี้ยกล่อมพระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) ราชาจอมหงษ์ใช้ให้ข้าพเจ้า กับพระยาวัง พระยาไชยธานี ท้าวสิงคราชา พวกราชาจอมหงษ์ แสนเขื่อนเมืองพยาด พระยาไชยเสนาเมืองเชียงแสน พระยาเทพวงศาเมืองเชียงแขง ราชาธรรมเมืองยอง ท้าววงศ์เมืองเชียงราย แสนแก้วเมืองเลน นาย ๑๐ คน ไพร่ ๕๐ คน รวม ๖๐ คน คุมเอาแพรสี ๑๒ ไม้ ม้า ป่าน ม้า ๑ ลงมาให้พระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึงให้จำข้าพเจ้าแลนายไพร่ทั้งปวงไว้ แล้วให้อุปราชยกกองทัพไปจับราชาจอมหงษ์ลงมาได้ จึงถอดข้าพเจ้ากับนายไพร่มีชื่อออก ข้าพเจ้าก็ทำราชการอยู่ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงศรีอยุธยามีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไปตีเมืองเชียงแสน เมืองเชียงตุง เมืองยอง เมืองเชียงแขง สิบสองพันนา ได้แล้ว นายทัพนายกองพาท้าวพระยาเจ้าเมืองลงมาถวาย ผู้คนระส่ำระสายบ้านเมืองไม่ปรกติ พระเจ้าเชียงใหม่จึงแต่งให้พระยากรเมือง ท้าวศรีริยะ ท้าวคำ หมื่นภาพ กับข้าพเจ้า คุมไพร่ ๓๐๐ คนถือหนังสือไปเกลี้ยกล่อมเรียกหาผู้คนเมืองเชียงรุ้ง ลื้อสิบสองพันนา บ้านเล็กเมืองน้อย ให้กลับคืนเข้ามาตั้งบ้านเมืองตามภูมิลำเนาดังก่อน แล้วกลับมาหามหาขนานณเมืองยาง พระยากรเมืองบอกมหาขนานว่า ให้มหาขนานไปบอกชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงซึ่งจะสมัคทำราชการด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้เข้ามา มหาขานจึงมีหนังสือแต่งให้มางเมียบ นายไพร่ ๕ คนไปบอกฟ้าแสนหวีว่า บัดนี้พระเจ้าเชียงใหม่ให้พระยากรเมืองกับข้าพเจ้าขึ้นมาว่าบ้านเล็กเมืองน้อย บ้านใดเมืองใดพม่ามากระทำย่ำยีได้ความเดือดร้อนอยู่มิได้ ให้เข้ามาหาขนานณเมืองลอย จะได้พามาหาพระเจ้าเชียงใหม่

ครั้นณวัน ๑๒ ค่ำ ปีขาล อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๔๙) มหาเซกตอแซโปเมืองหน่ายกับฟ้าแสนหวีจัดให้จิกแจงจา พระยาเชียงแสนพม่า เชียงอู เมืองตัน ห้อม้ากอนเอา ห้อม้าไหแสง เงี้ยว กับไพร่พม่าเงี้ยว ๓๔ คน มาหามหาขนาน พระยากรเมือง แลข้าพเจ้า ณเมืองยางว่า ซึ่งให้หนังสือไปนั้นได้แจ้งแล้ว บัดนี้โปเมืองหน่าย ฟ้าแสนหวี ใช้ให้มาถามว่า พระยากรเมือง พระยาพิมพิสาร ขึ้นมาจากเมืองเชียงใหม่ มีกองทัพยกขึ้นมาด้วยฤๅ ๆ จะมาคิดอ่านประการใด มหาขนานจึงบอกว่า จะได้ยกกองทัพขึ้นมาหามิได้ พระเจ้าเชียงใหม่ให้ขึ้นมาจัดแจงผู้คนบ้านเมือง จิกแจงจาจึงว่า ถ้าท่านคิดอ่านปะแปงให้เปนบ้านพี่เมืองน้อง อย่ารบพุ่งกันเลย ก็จะได้เปนศุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย มหาขานว่าแต่โปเมืองหน่าย ฟ้าแสนหวีจะให้มาพูดจาอย่างนี้ ไม่เว้าเปนแม่นยำได้ ถ้าจะดีต่อกันแล้ว ให้โปเมืองหน่าย ฟ้าแสนหวี บอกลงไปเมืองอังวะ เราก็จะบอกลงไปเมืองเชียงใหม่จึ่งจะเอาเปนแน่ได้ จิกแจงแลพระยาเชียงแสน ห้อม้าไหแสงก็กลับไปเมืองแสนหวี แต่เชียงอูเมืองตัน ห้าม้ากอนเอาไพร่ ๑๘ คนอยู่ด้วยมหาขนานณเมืองยาง.

ครั้นประมาณเดือนเศษ พระยาเชียงแสน ห้อม้าไหแสง ถือหนังสือเจ้าเมืองแสนหวีมาถึงมหาขนาน พระยากรเมือง ว่า จะให้ขุนนางเงี้ยวลงมาถึงเมืองเชียงใหม่ ให้พาลงไปณกรุงศรีอยุธยา แลพระยาเชียงแสน ห้อม้าไหแสง บอกแก่มหาขนาน พระยากรเมือง ว่า เจ้าเมืองแสนหวีสั่งมาว่า จะต้องการสิ่งใดให้บอกไป จะจัดมาให้ พระยากรเมืองว่า สิ่งของทั้งปวงมีบริบูรณ์อยู่แล้ว เงี้ยวจึงว่า ถ้าไม่มีสิ่งของให้นั้นจะไปหากันนั้นไม่ควร จะต้องการสิ่งใดก็อย่าเกรงใจเลย มหาขนาน พระยากรเมือง จึงว่า ถ้าเจ้าเมืองแสนหวีมีใจ ก็ให้จัดม้าที่ดีมาสัก ๔ ม้าเถิดพระยาเชียงแสน ห้อม้าไหแสง จึงกลับไปบอกฟ้าแสนหวี ๆ ให้พระยาเชียงแสนเชียงเปียง ขุนหมื่นในแสนหวี ๓ ไพร่ ๕๐ คุมม้ากับผ้าจำพึง ๔ ผืน ผ้าไหมนุ่ง ๗ ผืน ผ้าขาวกาสา ๓ พับ กล่องลาย ๓๕ ใบมาถึงมหาขนานให้เอามาไหว้สาพระเจ้าเชียงใหม่ แล้วบอกว่าฟ้าแสนหวีจะต้องการช้าง ๒ ช้าง มหาขนาน พระยากรเมือง จึงจัดเอาช้างในกองทัพเปนช้างมหาขนานช้าง ๑ ช้างพระยาเหล็กช้าง ๑ ให้ข้าพเจ้ากับมาตสามท้าวอินทจักรจเรแก้ว รวม ๓ คน ไพร่ ๓๔ รวมเปน ๓๗ คน คุมช้างไปให้ฟ้าแสนหวี แล้วฝากจอกเงิน ๔ ใบ ให้ฟ้าแสนหวี ๓ ใบ ให้ปะทวยตอใบ ๑

ครั้น (ไปถึง) ท่ามอญฟากแม่น้ำคง (คือลำน้ำสาละวิน) ตวันตก พบกองทัพ ๒ ทัพ เมืองจองโปพม่าทัพ ๑ มังกลาโปเมืองแสนหวีทัพ ๑ คนประมาณ ๑๐๐๐ เศษ มังกลาโปแม่ทัพเมืองแสนหวีกับแสนหลวงชิงเปียงมาว่ากับข้าพเจ้าว่า จะไปบัดนี้ จะต้องฝ่ากองทัพพม่าไป[4] ครั้นจะบอกว่าถือราชสาสนมา ราชสาสนก็หามีไม่ จำจะใช้ให้ไปหาปะทวยตอซึ่งตั้งอยู่ณเมืองออก ให้ทำลานทองใส่ถุงปิดตราออกมาก่อน แล้วถามข้าพเจ้าว่า ขุนนางในเมืองกรุงฯ ที่เปนผู้ใหญ่กั้นร่มอย่างไร กินเครื่องยศอย่างไร ข้าพเจ้าบอกว่า ขุนนางผู้ใหญ่กั้นร่มแพรแดง กินกล่องเงินเครื่องทอง แม่ทัพจึงทำร่มแพรแดงคัน ๑ เสื้อแพรแดงตัว ๑ ให้แก่ข้าพเจ้า ครั้นอยู่มา ๓ วั นห้อม้าซ่วย ๑ กับไพร่เงี้ยว ๗ คนเอาหนังสือแผ่นทองมาส่งให้ข้าพเจ้ากับมาตสามว่า ถ้าพม่าถามจึงเอาออกให้ดูว่าเปนหนังสือเมืองเชียงใหม่ให้ไปเมืองอังวะ ครั้นมาพบกองทัพพม่า ๓ ทัพ คนประมาณ ๔๐๐๐ (เจ้า) ฟ้าสีป่อทัพ ๑ คนประมาณ ๖๐๐ คน พม่าถามข้าพเจ้ากับมาตสามว่า เปนผู้ถือราชสาสนนั้น ราชสาสนอยู่ไหนเล่า ข้าพเจ้ากับมาตสามยกเอากล่องใส่แผ่นทองออกไปให้พม่าดู พม่าว่า นายทัพนายกองยังไม่พร้อมกัน ให้เอากลับคืนไปไว้เสียก่อน อยู่สักครู่หนึ่ง พม่ามาเรียกเอากล่องใส่แผ่นทองไปอิก ข้าพเจ้ากับมาตสาให้จเรแก้วเอาไปให้พม่าดูแล้วกลับเอามาไว้

ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าปะทวยตอเงี้ยวคุมคน ๗๐๐ คน อุยินมูพม่าคุมคน ๕๐๐ คนยกมารับข้าพเจ้ากับลาวมีชื่อไปถึงเมืองออก หยุดอยู่ ๓ วัน มองปะแลกองทัพพม่าซึ่งตั้งณเมืองหน่ายใช้พม่ามาว่าให้ข้าพเจ้าไปทางเมืองหน่าย ข้าพเจ้ากับมาตสามลาวมีชื่อไม่ไป อยู่มาอิก ๒ วัน ปะทวยตออุยินมูให้ตอจาโปจักกายมองยาคุมข้าพเจ้ากับลาวมีชื่อไปถึงเมืองแสนหวี ฟ้าแสนหวีจึงว่า จะคิดอ่านไปเปนไมตรี ถึงจะเสียเงินสัก ๒๐ ชั่ง ทองสัก ๑๐ ชั่ง ก็ตามเถิด ของเมืองไทยอย่างไร จะทำไปให้เหมือนอย่างนั้น แล้วจึงซื้อช้างมาตสามที่ขี่ไปช้าง ๑ เปนเงิน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง ซื้อช้างพระยาเชียงแสนซึ่งซื้อไปจากพระยาศรีวิไชยช้าง ๑ เปนเงิน ๒ ชั่ง ซื้อ ๒ ช้างเปนเงิน ๔ ชั่ง ๕ ตำลึง กับช้างมหาขนาน ๒ ช้าง เข้ากัน ๔ ช้าง จะส่งลงไปถวายเจ้าอังวะ ฟ้าแสนหวีให้หยุดอยู่ ๑๕ วัน ฟ้าแสนหวีให้ทำเครื่องช้างแลสิ่งของกล่องทองกล่องเงินเครื่องบรรณาการใส่หีบ ๑๑ ใบ แล้วเรียกเอากล่องใส่ลานทองคืนไป ฟ้าแสนหวีจึงเข้าไปในเมือง ให้ข้าพเจ้ากับมาตสามท้าวอินทจักรลาวมีชื่อเข้าไป แล้วบ่าวพระยาเชียงแสนซึ่งตามพระยาเชียงแสนเข้าไปกลับออกมาบอกข้าพเจ้าว่า หนังสือแผ่นทองนั้น ฟ้าแสนหวีให้พระยาเชียงแสนเขียนเปนอักษรลาว จะว่าเปนประการใดไม่รู้ ครั้นเพลาค่ำ ฟ้าแสนหวียกเอาหีบ ๑๑ ใบมาณโรงข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าถามฟ้าแสนหวีว่า สิ่งของในหีบมีสิ่งใดบ้าง ฟ้าแสนหวีบอกว่า มีเครื่องทอง ๒ เครื่องเงิน ๒ รวม ๔ สำรับ ขอช้างทอง ๒ ขอช้างเงิน ๒ รวม ๔ อันคนโททอง ๑ คนโทเงิน ๑ รวม ๒ คนโท ขันทอง ๑ ขันเงิน ๑ รวม ๒ ขัน สพานทอง ๑ สพานเงิน ๑ รวม ๒ สพาน แผ่นทอง ๑ แผ่นเงิน ๑ รวม ๒ แผ่น จานทอง ๑ จานเงิน ๑ รวม ๒ จาน แพรสี ๗ อย่าง จันทน์หอมหนัก ๑๕ ชั่ง จะให้ข้าพเจ้าคุมลงไปถวายพระเจ้าอังวะ ให้ว่าเปนสิ่งของมาแต่เมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าว่า จะให้คุมเอาช้างแลสิ่งของหนังสือแผ่นทองลงไปเมืองอังวะนั้น ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ยังไม่รู้ กลัวจะได้ความผิด ฟ้าแสนหวีว่า ข้างกรุงศรีอยุธยาก็เปนพระมหากระษัตริย์ เมืองอังวะก็เปน (พระมหา) กระษัตริย์ด้วยกัน เมืองแสนหวีอยู่หว่างกลาง ฟ้าแสนหวีจะคิดอ่านให้เปนบ้านพี่เมืองน้องเปนไมตรีกัน[5] ซึ่งข้าพเจ้ากลัวจะได้ผิดนั้น อย่าให้กลัวเลย จะได้ความชอบเสียอิก ให้เอาไปเถิด ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า พระเจ้าอังวะก็ให้เกลี้ยกล่อมพระเจ้าเชียงใหม่มาช้านานแล้ว แม้นรู้ว่าแต่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอังวะก็จะชื่นชมยินดี ข้าพเจ้าคิดเบาไป จึงไปด้วยฟ้าแสนหวี ครั้นไปถึงลาดเสีย จึงจัดม้าให้ข้าพเจ้ากับมาตสามท้าวอินทจักรขี่ไปคนละม้า แล้วยกไปถึงหนองพอหยุด ๓ วัน ให้เงินแก่ข้าพเจ้ากับมาตสามคนละ ๑ ชั่ง ท้าวอินทจักร ๕ ตำลึง จเรแก้ว ๓ ตำลึง หมื่นภาพ ๓ ตำลึง ไพร่คนละ ๑ ตำลึงบาท แล้วยกไปนอนสี่ดาบ เจ้าเมืองแสนหวีให้หาข้าพเจ้ากับมาตสามไปณโรงเลี้ยงเหล้า แล้วเจ้าเมืองแสนหวีว่า ซึ่งจะไปเมืองอังวะนั้น อย่าได้กลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย แม้นพม่าจะไต่ถาม ให้บอกพม่าว่า ลุแต่กรุงศรีอยุธยา เมืองเชียงใหม่

ฟ้าแสนหวีพาข้าพเจ้าไปยังทางอิก ๒ คืนจะถึงเมืองอังวะ พม่าแต่งต้อนรับเปนอันมาก[6] มีคนถือหอกดาบปืนยืนรายเปนแถวสองข้างทาง แลขี่ช้างม้าถือทวนถือหอกซัด ตีปี่พาทย์ฆ้องกลองเวียนเนื่องกันไปจนกระทั่งถึงเมืองอังวะ ณเดือน ๔ ข้างพม่ารับข้าพเจ้าไปไว้ณโรงบ้านส่วยเจียดเยียดนอกเมืองอังวะ เจ้าฟ้าบ้านหม้อ นคานตอกี ชานตอคาง วะเวหยอก จเรตอกี้ มินตอเย นายโค นายแขกไทย ออกมาถามว่า มาแต่เมืองเชียงใหม่ฤๅ ข้าพเจ้าก็ให้การตามคำฟ้าแสนหวีสอนให้ว่า มาแต่เมืองเชียงใหม่ พม่าเอาขันทองมารับหนังสือแผ่นทองกับสิ่งของแลช้างเข้าไปแล้วว่า แขกเมืองกะแซพานางมาถวายถึงแล้ว จึงจะให้ข้าพเจ้าเข้าไปด้วยพร้อมกัน

ครั้นรุ่งขึ้นวะเวเหยอกมาบอกว่า ให้จัดคนกลับไปแจ้งราชการเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าจัดจเรแก้ว ท้าวห้าวไพร่ ๔ พม่าให้ถือหนังสือเสนาบดีเมืองอังวะกลับมาเมืองเชียงใหม่ อยู่ ๑๕ วัน มองกะเลเมืองหน่ายลูกจักกายเมืองแสนหวีมีหนังสือลงมาว่า พม่าพาตัวเจ้าจันทร์ลงมาเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง กองทัพเมืองเชียงใหม่ (กับ) มหาขนานยกไปตี แล้วว่า พระยาพิมพิสารมิใช่มาแต่เมืองเชียงใหม่ ฟ้าแสนหวีมหาขนานคิดอ่านทำเอง พม่าก็หารับข้าพเจ้าไปไม่

อยู่มา ๑๔ วันพม่าออกมาเอาตัวข้าพเจ้ากับฟ้าแสนหวี ท้าวอินทจักรกับมาตสามหมื่นภาพไพร่มีชื่อเข้าไปณเมืองอังวะว่า ข้าพเจ้ากับลาวมีชื่อมิใช่มาแต่เมืองเชียงใหม่ เปนคนของมหาขนานให้มาดูการบ้านเมือง เจ้าอังวะให้จำตรวนข้าพเจ้ากับท้าวอินทจักรมาตสามหมื่นภาพรวม ๔ ไพร่ ๒๔ รวมเปน ๒๘ คน ขุนนางแสนหวี ๘ รวมทั้งสิ้นเปน ๓๖ คนไว้ แล้วพม่าให้ฟ้าแสนหวีแต่งเงี้ยวไปเอาตัวปะทวยตอลงไปณเมืองอังวะ ครั้นมาถึงแล้ว จำปะทวยตอเสียด้วย จำไว้ ๔ เดือนกับ ๘ วัน แต่ฟ้าแสนหวีนั้นป่วยอยู่ขอโทษตัว ถวายเงินเจ้าอังวะ ๒๔๐ ชั่ง ฟ้าแสนหวีหาต้องจำไม่

อยู่มา ๓ วันมีหนังสือโปเมืองหน่าย มองปะเล เจ้าจันทร์ โปกองง่วน บอกลงไปอิกว่า จันทราชา มหาขนาน เข้ากันกับมหาวังเมืองเชียงรุ้งยกกองทัพไปรบโปกองง่วน เจ้าจันทร์ ณเมืองแจ อยู่ประมาณ ๒ เดือนทองกุยบ่าวอุยินมูมาบอกว่า โปเมืองหน่ายเอาตัวอุยินมูไปฆ่าเสียณเมืองหน่าย แลเจ้าอังวะให้มีหนังสือขึ้นมาหาอุยินมูลงไปเมืองอังวะ โปเมืองหน่ายบอกลงไปเมืองอังวะว่า อุยินมูกระทำความผิดกลัวฆ่าตัวเสียแล้ว แล้วฟ้าเมืองจาง ชิงอูเมืองตัน ซึ่งเจ้าเมืองแสนหวีให้คุมม้าลงให้พระเจ้าเชียงใหม่กลับคืนไปว่า ข้าพเจ้ามิใช่คนมหาขนาน เปนคนเมืองเชียงใหม่จริง เจ้าอังวะจึงให้ถอดข้าพเจ้านายไพร่ออกให้ปะทวยตอกลับไปเมืองแสนหวี ให้มาตสามท้าวอินทจักรนามหลวงไพร่ ๔ คนกลับไปบอกมหาขนานว่า จะให้พระยาพิมพิสารกลับไปอยู่แล้ว ให้พม่ามาส่งด้วย ๑๕ คน อยู่ประมาณ ๓ เดือนเศษ เจ้าอังวะให้ฟ้าแสนหวีแลนายไพร่กลับไปเมือง

เดือน ๗ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เจ้าเมืองเมาะตะหมะให้มองมวยไพร่ ๕ คนถือหนังสือไปเมืองอังวะว่า ทางเหมาะตะหมะได้ให้อากาปันยีเข้ามาพูดจากับชาวด่านว่าจะเปนทางไมตรีกับไทย[7] ให้ส่งพระยาพิมพิสารมาทางเมืองเมาะตะหมะ เจ้าอังวะ ท้าวอินทจัก เยกองปันยี แมงยันโตปะกี พาข้าพเจ้ากับสิ่งของ ๑๑ หีบมาทางเมืองร่างกุ้ง เมืองร่างกุ้งส่งข้าพเจ้ามาเมืองเมาะตะหมะ เจ้าเมืองเมาะตะหมะแต่งอากาปันยี ๑ จเรตอกี ๑ ทนายเจ้าเมืองเมาะตะหมะ ๒ ไพร่ ๑๘ รวม ๒๒ คน กับขุนนางเมืองอังวะ พาข้าพเจ้าแลนายไพร่ ๑๔ คนมาทางพระเจดีย์สามองค์ ชาวด่านไปรับข้าพเจ้าเข้ามา สิ้นคำให้การข้าพเจ้าเปนความสัตย์จริงแต่เท่านี้


หนังสือท่านอรรคมหาเสนาธิบดินทร์นรินทรามาตย์ อันเปนสวามิประวาศบาทมุลิกากร แห่งพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐณกรุงบวรทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน มาถึงเสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะ

ด้วยพระยาราชบุรี พระยากาญจนบุรี บอกปรนนิบัติเข้าไปว่า เสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะมีหนังสือแต่งให้พระยาอินทจักร อากาปันยี พาเอาตัวพระยาพิมพิสารนายไพร่ ๑๔ คน กับแผ่นทองสิ่งของ ๑๑ หีบ ส่งเข้ามาว่าเปนบรรณาการพระเจ้าเชียงใหม่แต่งไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ ไม่รับไว้นั้น พระยาราชบุรี พระยาปลัด พระยกรบัตร กรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้เอาหนังสือแผ่นทองแลคำให้การจดหมายสอบถามพระยาพิมพิสาร สืบลาวไพร่มีชื่อต่อหน้าพระยาอินทจักร ยันโตจัคคี เยกองปยันกี อากาปันยี สุรายจักกียอ นาทองถ่อป้าน พระยาจักร นันทกะยอ พม่ามอญ ก็ได้ยินแจ้งอยู่ด้วยกัน ได้จดหมายถ้อยคำให้การพระยาพิมพิสาร น้อยนันตา ส่งให้ออกไปด้วยแล้ว แลพระยาพิมพิสารให้การยั่งยืนมั่นคงอยู่ฉนี้ ฝ่ายเสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะก็มีวิจารณปัญญาอยู่ ยังจะเห็นว่าหนังสือแผ่นทองสิ่งของทั้งนี้พระเจ้าเชียงใหม่ทำไปแต่เมืองเชียงใหม่อยู่อิกฤๅ มาทแม้นพระเจ้าเชียงใหม่จะกลับไปขอขึ้นแก่กรุงอังวะจริงดังว่านั้น ไหนเลยลาวจะยกกองทัพไปกระทำสงครามกับพม่าเงี้ยวส่งลงมากรุงศรีอยุธยาอิกเนือง ๆ เล่า แลคำพระยาพิมพิสาร น้อยนันตา ให้การยุติต้องกันกับพระยาหลวงไชย ซึ่งเจ้าฟ้าเมืองน่านจับได้ในกองทัพเจ้าจันทร์ แลจเรแก้วที่ถือหนังสือกลับมาแต่เมืองอังวะนั้นให้การไว้แจ้งอยู่แต่ก่อนแล้ว[8]

ข้อความทั้งนี้เมื่อพิเคราะห์ดูก็หาเห็นเปนทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีไม่ มีแต่นิเทศสำแดงโดยอิฏฐารมณ์ตามอัธยาศรัยแห่งตนต่าง ๆ อันธรรมดาพระมหากระษัตราธิราชซึ่งมีกฤษฎาภินิหารบารมีเปนอันมาก กอบไปด้วยทศกุศลกรรมบถ มีกุญชรพาหนะเปนตระกูลฉัตทันต์ตัวประเสริฐดังพรรณามานั้น ย่อมจะฦๅชาปรากฎไปในนานาประเทศ อุประมาดังเสียงอสนีหากบันฦๅลั่นไปทั่วทิศานุทิศนั่นเอง หาพักต้องประหารจึงดังประดุจเภรีนั้นไม่ อันกรุงศรีอยุธยากับกรุงอังวะก็เปนปรปักษ์ปัจจามิตรข้าศึกได้กระทำการยุทธสงครามกันมาช้านาน แต่ครั้งศักราชได้ ๑๑๔๖ ปีมโรงนักษัตร ฉศก พม่ากับไทยก็ได้ปฏิสัณฐารสนทนาในการนครกถาว่าจะดำเนินทางพระราชไมตรีเปนมิตรสันถวะปฏิการ จนให้สิ่งของตอบแทนแก่กันไปมา ครั้นศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสง นักษัตร สัปตศก พม่ามิได้ตั้งอยู่ในสัจธรรมวาที ยกกองทัพมากระทำแก่กรุงศรีอยุธยา ก็ปราไชยไปเอง แต่พม่าให้เข้ามาเจรจาความเมืองจะเปนไมตรีถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้งแล้ว ก็กลับมากระทำการสงครามอิกเล่า

ครั้งนี้ซึ่งแต่งให้พระยาอินทจักร อากาปันยี พม่ามอญมีชื่อ เข้ามาเจรจาความเมืองว่าจะให้สองพระนครเปนสุวรรณปัถพีแผ่นเดียวกันโดยมหามิตรราชไมตรีทางเงินทางทองนั้น เห็นหาสุจริตไม่ หากไม่สมคิดจึงเคลือบแฝงแสร้งส่งเข้ามาเปนกลอุบาย หมายจะให้ช่วยโกรธฤๅ อย่าพึงสงไสยเลยว่ากรุงศรีอยุธยาจะรู้มิทัน แลซึ่งเสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะให้พระยาอินทจักร อากาปันยี พาตัวพระยาพิมพิสารแลหนังสือแผ่นทองสิ่งของทั้งปวงให้เข้ามาถึงเรานั้น ก็ขอบใจแล้ว แต่ตัวพระยาพิมพิสารนายไพร่ ๑๔ คนเปนข้าขอบขัณฑเสมา ได้ให้ส่งคืนขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แลหนังสือแผ่นทองสิ่งของทั้งนี้เปนของมีเจ้าของอยู่ จะรับไว้มิได้ ได้ให้พระยาอินทจักร อากาปันยี พม่ามอญมีชื่อคุมคืนออกไป แต่ช้าง ๔ ช้างนั้นเปนช้างเขาตอบแทนมา เจ้าเมืองแสนหวี ๒ ช้าง เจ้าเมืองแสนหวีซื้อ ๒ ช้าง ราคาค่าช้างเขาให้กันแล้ว อย่าส่งช้างเข้ามาเลย แลบัดนี้ได้ให้ของแก่พระยาอินทจักร อากาปันยี คือ แพรหงอนไก่โพกแดงศีศะคนละผืน เสื้อริ้วทองคนละตัว ๑ ผ้าปูมก้านแย่งคนละผืน ๑ ให้ยันโตจันคี เยกองปันยี สุรายจักกียอ นาทองถ่อป่าน พระยาจักรนันทะกะยอ คือ แพรแสโพกศีศะคนละผืน เสื้อกระบวนจีนคนละตัว ผ้าเชิงปูมคนละผืน แลไพร่ ๒๕ คนนั้นได้แจกเสื้อผ้าให้คนละสำรับทุกคนแล้ว หนังสือมาณวัน ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรง สัมฤทธิศก ฯ


หนังสือพระยาพิไชยภักดีศรีมไหสวรรย์ มหันตเดชาวราฤทธิณรงค์ พงศ์พฤฒามาตย์ ผู้ครองเมืองกาญจนบุรีศรีรัตนอาณาเขตรประเทศขัณฑเสมาแห่งกรุงทวาราวดี มีความขอบใจมาถึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะ

ด้วยพระยาอินทจักร อากาปันยี ถือหนังสือเข้ามาเปนใจความว่า เมืองเชียงใหม่ให้พระยาพิมพิสารนายไพร่ ๑๔ คน คุมหนังสือลานทองสิ่งของทั้งนี้มาถวายพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะ ๆ ไม่รับไว้ให้ส่งเข้ามา แล้วมีมธุรปราไสยมาถึงเราเปนทางธรรมว่า ที่สำแดงรู้ซึ่งคุณแลโทษแห่งพระนครใหญ่น้อยนานาประเทศทั้งปวงอันเปนสัมมาทิษฐิ ก็แจ้งอยู่แล้ว ซึ่งว่าสองพระนครมิได้สามัคคีรศ ยังเปนปรปักษ์ปัจจามิตรแก่กันอยู่ดังนี้ เหตุว่าเสนาบดีกรุงอังวะแต่งให้เข้ามาเจรจาความเมืองนั้น ก็หาเหมือนดังถ้อยคำที่ว่าไม่ เพราะมิได้ตั้งใจจะทนุบำรุงแผ่นดินให้วัฒนโดยสุจริต หาคิดที่จะไว้เกียรติยศสัตยานุสัตย์ไม่

แลบัดนี้ท่านผู้จะสามิภักดิ์ต่อพระมหากระษัตราธิราชทั้ง ๒ ฝ่ายมีจิตรจินตนาปรารภจะใคร่ดำเนินทางพระราชไมตรีให้สองพระนครเปนสุวรรณปัถพีเดียวกันนั้น ก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่ากลัวเกลือกจะเปนเหมือนเมื่อท่านมาครองเมืองเมาะตะหมะ ปัญญาสมิงเจ้าเมืองว่า ครูปัญญาเจยะ เยหละนรา ธรรมสาริยะ อากาปันยี สิริแทง นรากะยอ เข้ามาเจรจาความเมือง ฝ่ายท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรีแต่ก่อนก็ได้ช่วยทนุบำรุงบอกส่งเข้าไปถึงกรุงจนได้กลับออกมาครั้งหนึ่งแล้ว ท่านก็หามีชอบไม่ กลับได้ผิดจนตัวต้องราชทัณฑ์ถอดจากยศถาศักดิ์ ผู้ที่เข้าไปก็เปนโทษถึงสิ้นชีวิตร ยังเหลืออยู่แต่อากาปันยีคนนี้กับพระยาไชยะ ความนี้เราได้แจ้งก็คิดวิตกด้วยอยู่ แลบัดนี้ท่านได้กลับลงมาครองเมืองเมาะตะหมะใหม่ เราก็มีความโสมนัศยินดีด้วย

อนึ่งท่านว่ามาเปนทางปรมรรถธรรมเห็นไภยเหนื่อยหน่ายในยุทธนาการ หวังวะระงับอรินราชสงครามทั้งสองฝ่าย ให้คืนคนข้างโน้นข้างนี้ซึ่งถอยทีจับไปมานั้น ถ้าสุจริตจริง ก็หากจะเปนไปเอง ถึงแต่ก่อนนั้น พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวแห่งเราผู้สืบสร้างโพธิสรรภาระณพุทธวงธางกูรวิริยาธิกกอบไปด้วยสมันตสมถานสุทธจิตจริยะกรุณาการุณธิกะแก่สรรพสัตว์อันข้องอยู่ในอันตรายแห่งชีวิตร ก็ได้ปล่อยพม่าไปเปนอันมาก เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรง ฉศก ฝ่ายทหารกองตระเวรล้อมจับพม่าได้ทั้งค่ายตำบลวังราว ก็ให้ชีวิตรปล่อยไปทั้งเครื่องสาตราอาวุธครั้งหนึ่งแล้ว แลเมื่อพม่ายกกองทัพมากระทำสงครามรบพุ่งติดพันกัน จับพม่าได้ในที่รบเปนเดนอาวุธแห่งมือทหาร ก็ให้ปล่อยพม่าไปอิกหลายครั้ง แต่กำหนดจำไว้ได้ทางพระเจดีย์สามพระองค์ ๑๙ ลาดหญ้า ๑๘ กรามช้าง ๔ แม่น้ำน้อย ๓ เมืองนครลำปาง ๑๐๐ เมืองระแหง ๑๐๐ รวม ๒๔๔ คน ได้ทางเมืองเชียงใหม่ ๒ ครั้ง ๆ หนึ่งนายไพร่ ๑๐๐ ครั้งหนึ่งนายกำนันเจ้าเมืองยอหลานฟ้าแสนหวี ๑ อำมาตย์คำฦๅ ๑ ไหมเงินจเร ๑ แสนกำจิ้ง ๑ ไพร่เงี้ยว ๓ รวม ๗ คน รวม ๒ ครั้ง ๑๐๗ คน รวมทั้งสิ้นเปน ๓๕๑ คน แลท่านว่า ได้ส่งน้อยอุตมะสอวคนพ่อลูกที่พม่าจับไปนั้น แต่ถ้าจะปล่อยพม่าไปทางเดียวก็ไม่ได้อิก ซึ่งแต่งให้พระยาอินทจักร อากาปันยี เข้ามานั้น ก็ได้จัดแจงเลี้ยงดูช่วยทนุบำรุง บอกส่งหนังสือลานทองสิ่งของคำให้การตัวพระยาพิมพิสารลงไปยังท่านพระยาอมรินทรฦๅไชย อภัยประเทศราชชาติอธิบดีศรีสุริยสงคราม ผู้ครองเมืองราชบุรี ท่านผู้ครองเมืองราชบุรีได้หาตัวพระยาอินทจักร อากาปันยี เข้าไปณโรงทำเนียบ ให้เอาคำให้การสอบซักพระยาพิมพิสารนายไพร่ ก็ได้ความว่า หนังสือลานทองสิ่งของทั้งนี้เปนของเจ้าเมืองแสนหวี หาเปนเมืองเชียงใหม่ไม่ ต้องกันกับหนังสือท่านที่มีเข้ามาว่า ความทั้งนี้ไม่จริง ฝ่ายท่านผู้ครองเมืองราชบุรีจึงเอาคำให้การทั้ง ๒ ฉบับบอกปรนนิบัติเข้าไปยังท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ท่านอรรคมหาเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า ความทั้งนี้หาจริงไม่ ด้วยแจ้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้วว่าเปนกลมารยาเจ้าเมืองแสนหวีล่อลวงแก่กัน หากเสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะไม่วิจารณ์ตรึกตรองนำเอาความเท็จมิจริงทูลเจ้านายแห่งตนให้ชื่นชมยินดี จนมีหนังสือให้จเรปแก้วถือมาปฏิสันฐารปราไสเกลี้ยกล่อมพระเจ้าเชียงใหม่ พาให้เสียเกียรติยศครั้งหนึ่งแล้ว แลบัดนี้กลับย้อนส่งสิ่งของเข้ามาดังนี้เล่า ซึ่งจะรับไว้เหมือนอย่างเสนาบดีกรุงอังวะนั้นไม่ได้ ให้ส่งขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ แลช้าง ๔ ช้างเปนของเขาตอบแทนซื้อขายแก่กัน อย่าให้ส่งเข้ามาเลย อนึ่ง ซึ่งสิ่งของที่จัดเข้ามาให้เราช่วยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้น เห็นไม่ชอบ ด้วยพระนครทั้งสองฝ่ายยังเปนปัจจามิตรข้าศึกแก่กัน ท่านก็จะเปนนอกใจเจ้า ฝ่ายเราก็จะพลอยผิดด้วย จึงคืนของทั้งนี้ไป อย่าน้อยใจเลย แลบัดนี้ท่านอรรคมหาเสนาธิบดีก็ได้มีหนังสือตอบไปอังวะด้วยฉบับหนึ่ง กับจดหมายคำให้การพระยาพิมพิสาร น้อยนันตา ส่งออกไปด้วยแล้ว แลท่านพระยาอมรินทรฦๅไชยผู้ครองเมืองราชบุรีจัดได้ผ้ายกทองพื้นตองผืน ๑ เสื้อริ้วทองพื้นม่วงตัว ๑ ผ้าโพกศีศะพื้นม่วงกรองทองเทศผืน ๑ ฝากมาให้ท่านผู้ครองเมืองเมาะตะหมะด้วย ซึ่งท่านฝากของมาให้แก่เรานั้น ก็ได้รับไว้แล้ว แลบัดนี้เราจัดได้แพรหลินแดง ๘ พับ แพรแส ๘ พับ ปิ่นโตสานใบ ๑ หมึก ๕๐ แท่งฝากออกมาให้แก่ท่าน แล้วแต่งให้หลวงขุนหมื่นชาวด่านออกมาส่งพระยาอินทจักร อากาปันยี พระยามอญมีชื่อ ณะพระเจดีย์สามองค์ด้วยแล้ว

หนังสือมาณวันเสาร์ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมโรงนักษัตร สัมฤทธิศก ฯ (พ.ศ. ๒๓๕๑)

หมดสำเนาหนังสือในเรื่องเจรจาความเมืองครั้งที่ ๕ ซึ่งมีอยู่ในหอพระสมุดฯ เพียงเท่านี้ เมื่อพิเคราะห์ตามความที่ปรากฎในหนังสือเรื่องนี้ แลเห็นความในเรื่องพงศาวดารอันยังมิได้ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ แจ่งแจ้งออกไป จะอธิบายไว้ในที่นี้ด้วย คือ:—

เมื่อแรกไทยได้มณฑลพายัพมาจากพม่านั้น ได้แต่บรรดาเมืองที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง แลเมืองน่านเปนต้น พม่ายังยึดหัวเมืองที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงไว้ ตัวแม่ทัพพม่าถอยไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนริมแม่น้ำโขง พม่าได้พยายามยกลงมาหมายจะติเอาเมืองเชียงใหม่แลเมืองนครลำปางคืนเปนหลายครั้งก็ แตกพ่ายแพ้ไทยทุกที พระเจ้าปดุงจึงเปลี่ยนอุบายคิดจะเกลี้ยกล่อมพวกเมืองเชียงใหม่ให้กลับไปเข้ากับพม่าโดยดี ทำนองราชาจอมหงษ์ซึ่งเปนเจ้าเมืองในพวกไทยใหญ่ฤๅพวกเขินจะเปนญาติวงศ์ฤๅคุ้นเคยกับพระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) จึงรับอาสาพระเจ้าปดุงมาเกลี้ยกล่อมเมืองเชียงใหม่ แต่การไม่สำเร็จ

ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้กองทัพยกขึ้นไปตีได้เมืองเชียงแสน ขับไล่พม่าหนีข้ามแม่น้ำโขงไปหมดแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้าปล่อยไว้ พม่าจะไปตั้งมั่วสุมในหัวเมืองไทยใหญ่แลลื้อเขินที่ติดต่อเขตรแดน แล้วยกกลับลงมารบกวนมณฑลภาคพายัพอิก การศึกเปนท่วงทีอยู่ด้วยพม่ากำลังแตกหนี จึงโปรดให้กองทัพยกตามขึ้นไปตีหัวเมืองไทยใหญ่แลลื้อเขินอันเปนของพม่าเมื่อปลายปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พวกประเทศราชเมืองลื้อในแว่นแคว้นสิบสองปันนา มีเจ้าเมืองเชียงรุ้งเปนต้น ทั้งพวกประเทศราชเมืองเขิน มีมหาขนานเจ้าเมืองเชียงตุงเปนต้น ตลอดจนเจ้าเมืองแสนหวีไทยใหญ่ เห็นว่า พม่าพ่ายแพ้ไทย ก็หวาดหวั่นครั้นคร้าม พากันมาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑเสมาโดยมาก กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) เปนนายทัพคนสำคัญ ได้ตัวเจ้านายแลครัวลื้อเขินส่งลงถวายเปนอันมาก แต่พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริห์ว่า อาณาเขตรไทยใหญ่แลลื้อเขินอยู่ในระหว่างแดนไทยจีนแลพม่า ยากที่จะรักษาไว้ให้มั่นคง จึงโปรดให้เจ้านายที่มาสามิภักดิ์รับครัวกลับคืนไปครอบครองบ้านเมืองอย่างเดิม ครั้งนั้นพระราชอาณาเขตรกรุงสยามก็แผ่ขึ้นไปจนจดแดนจีนทางด้านเหนือ แลล่วงเข้าไปในแดนประเทศราชไทยใหญ่ของพม่าทางด้านตวันตกเฉียงเหนือด้วย

ในตอนนี้พระเจ้าปดุงเห็นจะให้กองทัพพม่ายกขึ้นไปโดยประสงค์จะปราบปรามเมืองประเทศราชไทยใหญ่แลลื้อเขินที่โจทมาสามิภักดิ์แก่ไทย พวกเจ้าเมืองเหล่านั้นเปนญาติวงศ์เกี่ยวดองกันโดยมาก พากันรู้สึกเสมออย่างว่า “อยู่ในระหว่างเขาควาย” เกรงอันตรายทั้งสองฝ่าย จึงคบคิดกันในบางเมืองบอกไปยังราชธานีประหนึ่งว่าได้เกลี้ยกล่อมเมืองเชียงใหม่กลับไปยอมสามิภักดิ์ต่อพม่าได้ ประสงค์จะให้พระเจ้าปดุงพอพระหฤไทยสิ้งสงไสยพวกหัวเมืองเหล่านั้น จะได้เลิกการที่ส่งกองทัพมาปราบปราม ชั้นเดิมพระเจ้าปดุงก็หลงกลพวกประเทศราช ทีหลังมาได้วี่แววจะมิใช่ความจริง จึงคิดอุบายซ้อนกลเหมือนอย่างว่า “จะขายออกตัวแก่ไทย” จึงให้ส่งพระยาพิมพิสารเข้ามาให้ไทย อ้างเอาบุญคุณให้เห็นว่ายังอยากจะเปนไมตรีกับไทย แต่ที่แท้นั้นประสงค์จะให้ที่ในกรุงเทพฯ เกิดแหนงกับพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ถ้าถอดถอนพระเจ้ากาวิละซึ่งเปนนายทัพคนสำคัญของไทยข้างฝ่ายเหนือเสียได้ ก็จะเปนประโยชน์แก่พม่า เพราะฉะนั้น การที่พม่ามาเจรจาความเมืองครั้งปีมโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ นี้เปนกลอุบาย หาได้มาโดยสุจริตไม่

ผลของเจรจาความเมืองครั้งที่ ๕ นี้ยังมียืดยาวต่อไปอิก ความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารยุติต้องกับในพงศาวดารพม่าว่า ในการที่พระเจ้าปดุงเพลิดเพลินไปในทางที่จะเปนเอกอรรคสาสนูปถัมภกนั้น กลับเปนเหตุให้เกิดความเดือดร้อนร้ายแรง ด้วยพระเจ้าปดุงทรงจัดการแก้ไขลัทธิในสมณะมณฑลตามอำเภอพระราชหฤไทย พระสงฆ์ในเมืองพม่าพากันได้ความเดือดร้อนเปนอันมาก ฝ่ายราษฎรพลเมืองก็ได้ความเดือดร้อนที่ถูกกะเกณฑ์ไปสร้างพระเจดีย์ใหญ่ที่เมืองเมงกุน พากันระส่ำระสาย เสนาบดีพม่าปฤกษากันว่าจะต้องคิดอ่านให้พระเจ้าปดุงเลิกความเพลิดเพลินในการบำรุงพระสาสนาเสีย คิดเห็นกันว่า แต่ก่อนพระเจ้าปดุงโปรดทำศึกสงคราม จะต้องคิดอ่านชักชวนให้ไปคิดทำศึกสงคราม จึงจะเลิกที่หลงบำรุงพระสาสนา นัยว่า เสนาบดีชวนให้ไปทำศึกทางเมืองมณีบุระข้างฝ่ายเหนือ แต่ประจวบเวลาทูตพม่าที่เข้ามาเจรจาความเมืองครั้งปีมโรงกลับไปถึงเมืองพม่า ทำนองจะไปทูลพระเจ้าปดุงว่า ที่ในเมืองไทย แม่ทัพนายกองที่เคยทำศึกสงครามมาแต่ก่อน เช่นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเปนต้น หมดตัวไปเสียมากแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงพระชราทุพพลภาพ พระเจ้าปดุงได้ทราบความดังนี้ จึงให้เตรียมกองทัพจะยอกมาตีเมืองไทยอิกครั้ง ๑ ให้อะเติงหวุ่นเปนแม่ทัพใหญ่ ลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองพม่าแลเมืองมอญ ตลอดลงมาจนเมืองทวาย เปนจำนวนคน ๔๐๐๐๐ ให้มาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะหมะ แล้วจะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ แต่เวลานั้นราษฎรในเมืองพม่ากำลังเดือดร้อนระส่ำระสาย พวกที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพพากันหลบหนีเสียเปนอันมาก อะเติ่งหวุ่นแม่ทัพเกรงความผิด มีหนังสือลับขึ้นไปถึงเสนาบดีพม่าขอให้ช่วยทูลทัดทานในเรื่องที่จะยกกองทัพใหญ่เฃ้ามาตีกรุงเทพฯ เสนาบดีจึงไปทูลพระเจ้าปดุงว่า การที่จะไปตีเมืองไทยนั้น เกรงจะเสียพระเกียรติยศ ด้วยพึ่งโปรดให้ทูตเข้าไปเจรจาความเมืองเพื่อจะเปนไมตรีมาไม่ช้านัก ถ้ายกทัพจู่ไป ก็จะเกิดข้อครหา พระเจ้าปดุงเห็นชอบด้วย จึงให้มีตราสั่งเลิกกองทัพ แต่อะเติ่งหวุ่นมีใบบอกย้อนขึ้นไปอิกว่า การเตรียมทัพได้ลงทุนไปมาก ถ้าจะไม่ยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ขอมาตีเมืองถลางพอให้ได้ทรัพย์สมบัติใช้ทุนคืนบ้าง ขณะนั้นประจวบเวลาพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสวรรคต พระเจ้าปดุงจึงให้กองทัพพม่ายกมาตีเมืองถลางเมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒ ในตอนต้นรัชกาลที่ ๒ ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร.


เรื่องพม่ามาขอเจรจาความเมืองครั้งที่ ๖ นี้ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อเดือนยี่ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๕๖ พม่าเจ้าเมืองเมาะตะหมะส่งสุริยนันทสุระ เปนบุตร์จมื่นเสมอใจราชครั้งกรุงเก่าคน ๑ กับพราหมณ์ชื่อสังฆรัน (เห็นจะเปนพราหมณ์เทศ) ซึ่งเคยอยู่ในกรุงเก่าคน ๑ กับพวกรวมทั้งนายไพร่เปนจำนวน ๗๑ คน เข้ามายังพระยากาญจนบุรีว่า พระเจ้าประดุงให้เปนราชทูตมาขอเจรจาความเมือง พระยากาญจนบุรีบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริห์ว่า ผู้ที่มาเปนแต่ถือหนังสือเสนาบดี มิได้เชิญพระราชสาสน์มาตามประเพณีราชทูต จะรับอย่างเปนราชทูตหาควรไม่ จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งออกไปให้ผู้ที่มาพักอยู่แต่ที่เมืองกาญจนบุรี ให้ส่งแต่หนังสือเสนาบดีพม่าเข้ามายังกรุงเทพฯ แปลออกเปนเนื้อความดังนี้.


หนังสืออรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่กรุงอังวะมาถึงเสนาบดีผู้ใหญ่กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ด้วยพระเจ้ากรุงรัตนะบุระอังวะประกอบไปด้วยสัตย์ธรรมสิบประการ แต่ได้ผ่านสมบัติรักษาแผ่นดินกรุงอังวะมา ก็ได้ทำราชยุทธการสงครามขับเคี่ยวกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยามาถึงสองแผ่นดินแล้ว ก็ไม่แพ้ชนะกัน ทะแกล้วทหารไพร่พลช้างม้าล้มตายทั้งสองฝ่ายเหลือที่จะนับจะประมาณ จนพระชนมายุล่วงมาถึงเพียงนี้ มีความสังเวชพระหฤไทยนัก เหนื่อยหน่ายในการยุทธสงคราม บัดนี้ตั้งพระไทยฝักฝ่ายในการกองกุศล หาความพยาบาทมิได้ จะใคร่ให้สองพระนครเปนมหามิตรอันเดียวกัน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้อยู่เย็นเปนศุขไปชั่วบุตรแลหลาน จึงมีรับสั่งให้มีหนังสือมาถึงเสนาบดีกรุงพระมหานครศรีอยุธยา จงตรึกตรองดูให้เปนผลประโยชน์ เมื่อเห็นชอบด้วย ก็ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าช้างเผือกกรุงศรีอยุธยาให้ทราบ แล้วขอตอบไปให้แจ้งด้วย สิ้นความในหนังสือแต่เท่านี้

จึงโปรดฯ ให้ทำเปนหนังสือเสนาบดีให้ข้าหลวงถือไปบอกให้สุริยนันทสุระแลพราหมณ์สังฆรันนำความไปแจ้งแก่เสนาบดีพม่า[9] ว่า เสนาบดีกรุงอังวะได้มีหนังสือมาว่าดังนี้ก็หลายครั้ง การก็ไม่จริงเหมือนถ้อยคำ ครั้งนี้ว่าพระเจ้าอังวะสั่งให้มา ก็ไม่มีสลักสำคัญอันใด เปนแต่หนังสือเสนาดีมีมาเจรจาความเมือง ก็มิใช่ราชสาสน ไม่ต้องด้วยอย่างธรรมเนียมราชประเพณีพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชแต่ปางก่อน เมื่อพระเจ้าอังวะมีพระไทยสังเวชเกรงบาปกรรมจะติดตามไปภายน่า จะเปนทองแผ่นเดียวกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยาจริง ก็ให้มีพระราชสาสนแต่งทูตานุทูตเชิญเข้าไปกับพระสงฆ์ไทยอันทรงศีลบริสุทธิ์ให้ต้องด้วยอย่างธรรมเนียม แม้นมิได้ทำดังนี้ ก็อย่าเจรจาต่อไปเลย ถ้อยทีหาความศุขทั้งสองฝ่ายเถิด อย่าทำอันตรายแก่กันก็แล้วกัน แล้วโปรดฯ ให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะที่มีหนังสือมาถึงพระยากาญจนบุรีฉบับหนึ่ง


อักษรวรวาทีศรีสุทธอัชฌาไศรยในท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรีมาถึงท่านผู้ครองเมืองเมาะตะหมะ ด้วยให้สุริยนันทสุระกับพราหมณ์สังฆรันถือหนังสือมาถึงเรา มีเนื้อความตักเตือนจะให้เราทำนุบำรุงพระราชไมตรีแลไมตรีให้ราชธานีทั้งสองมีสมานสุจริตสนิทเสนหาแก่กันไป จะได้เปนที่ตั้งบวรพุทธสาสนา เย็นอกสมณะพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวง แลมีเนื้อความเปนหลายประการ คือ จะให้เรามีหนังสือส่งให้คนถือไปถึงท่าน ๆ จะได้ให้คนถือหนังสือขึ้นไปกราบทูลเจ้าอังวะ ขอให้มีทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนามาถึงกรุงเทพมหานครนั้น เราได้ส่งหนังสือเขาไปกราบเรียนท่านอรรคมหาเสนาบดี ๆ ได้ชุมนุมเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตพร้อมกับปฤกษาว่า หนังสือนี้แก้เกี้ยว หาต้องกันกับข้อศุภอักษรซึ่งกรุงศรีอยุธยาให้ไปแต่ก่อนนั้นไม่ ไม่ควรจะนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ท่านจึงบังคับให้เราตอบหนังสือมาว่า ซึ่งข้อ (ความที่กล่าวในหนังสือของท่านว่า)กาลมีสองประการ คือกาลวิบัติหนึ่ง คือกาลสมบัติหนึ่ง แลกาลวิบัตินั้นคือเกิดทุพภิกขันตรกัลป แลสัตถันตรกัลป รบพุ่งฆ่าฟันกัน โรคันตรกัลป แลกาลวิบัตินี้จะใกล้สิ้นอยู่แล้ว (ข้อซึ่ง) จะถึงกาลสมบัติบริบูรณ์ขึ้น (นั้น ก็) เพราะผลกุศลอุสาหะตั้งจิตรบำเพ็ญทานรักษาศีลภาวนาตามพระบวรพุทธสาสนาให้ยิ่งขึ้น จึงอาจจะบันดาลให้เทวดารักษาโรค นำเอาความดีมาชี้แจงดลจิตรกรุงกระษัตริย์ทั้งสองฝ่าย ตั้งอยู่ในประโยคสมบัติปรนนิบัติซื่อตรงกายแลวาจาต้องกันกับจิตรมิได้วิปริตแล้ว ก็เห็นว่ากาลวิบัติทั้งนั้นจะเสื่อมสูญ ถ้าแลตั้งอยู่ในประโยควิบัติปรนนิบัติผิดจิตรกับกายแลวาจามิต้องกันยังแผกผันอยู่ฉนี้ ก็เห็นว่าจะเกิดกาลวิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าได้ร้อยเท่าพันทวีอีก

แลข้อซึ่งว่า อยู่ณเดือนสิบสอง แรมสามค่ำ ศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) ชาวด่านสมิไปลาดตระเวณถึงริมคลองมีปรัก ได้หนังสือแขวนแล้วเอาไปส่งให้เยทางนรทานายบ้านอัดรัน ๆ จึงเอาหนังสือขึ้นไปให้เจ้าเมืองเมาะตะหมะ ๆ จึงแต่งคนให้ถือหนังสือแขวนขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะนั้น แลความข้อนี้เห็นว่า พระเจ้าอังวะจะแจ้งในหนังสือกรุงศรีอยุทธยาตัดภ้อไปว่า ถ้าจะเปนทางพระราชไมตรีกันนั้น จะให้พระมหากระษัตริย์ทั้งสองฝ่ายร่วมเสวตรฉัตรกันฤๅ ๆ จะให้แต่เสนาผู้ใหญ่ผู้น้อยทะแกล้วทหารทำสัตย์กัน ฤๅจะไม่ทำสัตย์แล้วแต่จะไม่ทำยุทธสงครามแก่กันต่างคนต่างอยู่ประการใด ให้เสนาบดีเอาเนื้อความทูลแก่เจ้าอังวะ ๆ จะประพฤติฉันใด ก็แต่งขุนนางพม่าเปนทูตานุทูตกับขุนนางไทยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจรบศึกเสียกรุงแก่พม่าจึงได้กวาดเอาไปไว้นั้นมา ถ้ามิได้ผู้ใหญ่แล้ว จนแต่หัวหมื่นมหาดเล็กก็เอาเถิด ให้มาสักสามนายสี่นาย กับพระสงฆ์อันทรงศีลสังวรบริสุทธิ จะได้เปนสักขีพยาน จึงจะเปนสัตย์ธรรมมั่นคงได้ ถ้ากรุงอังวะแต่งมาดังนี้ จะบอกเข้าไปให้ท่านอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่เอาเนื้อความกราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแห่งเรา ถ้าทำมิได้ อย่าเจรจากันต่อไปเลย แลว่า เนื้อความนี้ก็ได้กราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ทราบแล้ว ไฉนจึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะไม่มีหนังสือมาถึงเรา กลับว่าให้เราแต่งหนังสือให้คนถือไปถึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะ ๆ จะได้บอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะอิกเล่า เนื้อความนี้เห็นแปลกอยู่

แลข้อว่า ให้ฝ่ายเรามีใจใสสุจริตในวัตปรหิตานุหิตประโยชน์สองประการ แลให้มีหิริโอตัปปะ แลให้ตั้งอยู่ในสัตย์สุจริตกล้าหาญมั่นคง สู้เสียชีวิตรคิดที่จะบำรุงพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งสอง อย่าให้ขุ่นหมองพระไทยแก่กัน ให้เปนพันธุมิตรมีพระไทยดำรงในพระราชไมตรีเปนอันหนึ่งอันเดียวสืบไป พึงหวังใจอย่าให้หดสั้น ควรกระทำให้ชอบในการที่จะได้เสวยรมย์ชมศุขไปในปัจจุบันแลอนาคตนั้น ข้อนี้อย่าพักตักเตือนเลย ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยาทุกวันนี้ให้มีพระราชบัญญัติไว้ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยกรมฝ่ายน่าฝ่ายในให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถ แลสิงคาโลวาทวัฏวินัย แลให้เข้าใจปรนนิบัติในหมวดพระโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ด แลอุโบสถสี่ประการ คือ ปรกติอุโบสถ แลปฏิชาครอุโบสถ แลปฏิวิหาริยปักขอุโบสถ แลอริยอุโบสถ แลให้ปรนนิบัติตามอนุบบุพปติปทา มีศีลขันธ์ แลพระสมาธิขันธ์ แลปัญญาขันธ์ มีพระอรหัตที่สุดฉนี้ อย่าวิตกเลยที่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะมิตั้งอยู่ในสัตย์สุจริต ที่จะมิสู้เสียชีวิตรเอาความชอบช่วยทำนุบำรุงพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งสองให้ตั้งอยู่ในคลองพระราชประเพณีอันชอบนั้น ปรารภแต่ฝ่ายข้างโน้นให้มั่นอยู่ในสัตย์สุจริตเถิด

แลข้อว่ากรุงทวารดีนี้เปนกรุงอยุธยาสืบมามาแต่โบราณ เปนราชธานีใหญ่สำหรับผู้มีบุญ แลกรุงมหานครอมรบุรีมีนามตามพงศาวดาร แลบรรดากรุงใหญ่มีขอบขัณฑเสมา แลกรุงสุนาปรันตะ กรุงตามพะทีปะ[10] กรุงกัมพูชา เปนที่ตั้งพระบวรพุทธสาสนาเปนสัมมาทฤษฐิ นับถือพระรัตนไตรยาทิคุณด้วยกัน แม้ว่ากรุงใหญ่ใด ๆ จะคิดประทุษร้ายกัน ถึงจะได้รี้พลทะแกล้วทหารช้างม้าโคกระบือร้อยพันหมื่นก็ดี ที่จะได้สำเร็จราชการเปนสิทธิ์ขาดทีเดียวนั้นหามิได้ มีแต่จะเปนเวรานุเวรสืบกันไปเปนโทษในอนาคต แลชมพูทวีปนี้กว้างถึงหมื่นโยชน์ อันกรุงสองกรุงไม่ควรที่จะเปนปรปักษ์กัน พอที่จะสำเร็จความเมืองได้ เพราะเหตุมีจิตรฉลาดชิงเชิงกันอยู่จึงมิได้สำเร็จการ แลความทั้งนี้นักปราชญ์บัณฑิตจะได้จดหมายเปนพระราชพงศาวดารไว้สืบไป แลให้เราผู้ครองเมืองกาญจนบุรีจงยำเกรงนั้น ประการนี้สมควรนัก ด้วยภูมิสถานทั้งสาม คือ ชมพูทวีป ๑ แลดาวดึงษ์สวรรค์เทวโลก ๑ อเวจีมหานรก ๑ มีปริมณฑลกว้างขวางหมื่นประโยชน์เสมอกัน แลดาวดึงษเทวโลกนั้นก็มั่นคงไปด้วยหมู่เทพบุตรเทพธิดา มีมโนรมย์หรรษาด้วยทิพยศุขสมบัติ แต่ชมพูทวีปกับอเวจีนี้เปนคู่กัน ฝ่ายชมพูทวีปมีภูมิสถานว่างบางร้างโรย เปนที่เปล่าไม่มีหมู่มนุษย์จะไปอยู่ให้เต็มบริบูรณ์ได้ เพราะเกิดกาลวิบัติฉิบหายล้มตายด้วยประโยควิบัติ ปฏิบัติมิเปนยุติธรรม มีสันดานหนาไปด้วยโลภะ โทษะ โมหะ อันเปนอกุศลมูล ช่วงชิงสมบัติพัศถานเกิดยุทธนาการแก่กัน เปนครุกรรมก่อการวิบัติฉนี้ ฝ่ายอเวจีก็มากขึ้นด้วยฝูงสัตว์เยียดยัดกันอยู่มิได้มีว่างช่องที่ห่างจากสัตว์ได้เลย ทุกขเวทนาอยู่ในพื้นเหล็กดังนั้น แลให้เจ้าเมืองเมาะตะไมะรำพึงมีเพียรพิจารณาประพฤติราชกิจโดยสัตย์สุจริตเปนแท้ที่จะทำนุบำรุงพระราชไมตรีในทไวยราชธานีให้จิรฐิติกาลเปนเกียรดิ์ไว้ชั่วกัลปาวสาน จะได้เปนพงศาวดารสืบต่อไป ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยาเห็นเปนแม้เปนสัตย์ธรรมในทางสุจริตแล้ว ก็จะประพฤติตามกรุงอังวะทุกประการ

ครั้นถึงเดือนสี่จึงให้พระยากาญจนบุรีจัดเสบียงอาหารให้สุริยนันทสุระ พราหมณ์สังฆรัน นายไพร่ ถือหนังสือตอบกลับออกไป แลในเดือนสี่ ปีระกานั้น พม่าเอาหนังสือมาแขวนไว้ที่ต่อแดนทางด่านสิงขร[11] ฉบับ ๑ เปนหนังสือนายด่านพม่าบอกความแก่นายด่านฝ่ายไทยว่า เดี๋ยวนี้พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้พระนครทั้งสองเปนทองแผ่นเดียวกัน ให้คนทั้งสองฝ่ายไปมาหากันได้โดยสดวกแล้ว อย่าให้กองตระเวนฝ่ายไทยจับกุมรบพุ่งพม่าสืบต่อไป เมืองเพ็ชรบุรีบอกส่งหนังสือนั้นเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้พระยาพลสงครามจางวางด่านเมืองเพ็ชรบุรีทำหนังสือตอบพม่าไปแขวนไว้ที่ปลายแดนว่า นายด่านฝ่ายไทยได้นำหนังสือซึ่งพม่ามาแขวนไว้ไปเสนอต่อพระยาเพ็ชรบุรีแล้ว สั่งให้ตอบมาว่า แต่พม่าแต่งให้คนถือหนังสือเข้ามาเจรจาความเมืองถึง ๖ ครั้ง ๗ ครั้งแล้ว ก็ไม่มีความสัตย์ความจริงไม่เที่ยงแท้ จึงแต่งให้ออกไปลาดตระเวณจับเอาผู้คนมา พม่าซึ่งไทยจับมาได้ก็ให้การรับว่า ทูตซึ่งแต่งให้เข้ามาเจรจาความเมืองนั้นไม่ได้ตั้งใจมาโดยสุจริตทั้งนั้น เพราะเหตุด้วยเมืองอังวะไม่ปรกติเหมือนแต่ก่อน กลัวไทยจะยกกองทัพไปตี จึงเกลี้ยกล่อมทำไมตรีไว้ คำพม่าว่ายุติต้องกันเช่นนี้เปนหลายคน

ข้อซึ่งว่า ไทยไปจับคนพม่าก็จะจับบ้าง ถ้ารบก็จะรบบ้าง ว่าเช่นนี้ก็เปนเยี่ยงอย่างธรรมดาทหารทำการสงครามเปนประเพณีสืบมา ถึงมาทว่าเปนคนดีมีสติปัญญา ใช่ว่าจะเหาะเหินเดินอากาศได้ก็หาไม่ พม่ากับไทยก็ย่อมหาบเสบียงผ่อนลำเลียงเลี้ยงชีวิตรโดยความคิดติดพันรบราฆ่าฟันกันมาก็หลายครั้งหลายหน การแพ้ชนะก็แจ้งมาแต่ก่อนแล้ว ซึ่งอวดอ้างว่าคนดีมีฤทธิ์มีปัญญามาแต่เมืองอังวะ ความคิดเช่นนี้เหมือนจะเขียนเสือให้วัวกลัว หาตกใจไม่ ซึ่งว่า จะให้ไทยคืนคนไปให้แต่ฝ่ายเดียวนั้น ยังไม่ได้ ให้พม่าส่งคนเมืองถลางซึ่งตกค้างอยู่ณเมืองมฤต เมืองตะนาวศรี มาแลกเปลี่ยนกันโดยไมตรี จึงจะคืนไปให้ ให้ชาวด่านผู้ได้หนังสือนี้เอาไปแจ้งแก่เจ้าเมืองมฤต เจ้าเมืองตะนาวศรี ให้คิดดูแต่ตามที่ชอบ อันจะเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองนั้นเทอญ.

ต่อมาอิกปี ๑ ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๕๗ พม่าเอาหนังสือมาแขวนไว้ที่ปลายด่านเมืองกาญจนบุรี เปนหนังสือตอบพระยากาญจนบุรีที่ให้สุริยนันทสุระกับพราหมณ์สังฆรันถือไปถึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะเมื่อปีระกานั้น เนื้อความในหนังสือพม่าว่า เนมิโยนรธาเจ้าเมืองทวายแจ้งความมาถึงพระยากาญจนบุรี[12] ด้วยมีหนังสือปิดตราใส่ถุงประจำครั่งออกไปนั้น ได้แต่งให้เยคองคะแยแคงปลัดเมืองทวายถือขึ้นไปเมืองอังวะด้วยกันกับสุริยนันทสุระ กับพราหมณ์สังฆรัน ปลัดเมืองทวายกลับลงมาจากเมืองอมรบุระเมื่อเดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๕๗ มีหนังสืออรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ลงมาด้วยฉบับหนึ่ง ความว่า เจ้าเมืองกาญจนบุรีมีหนังสือออกไปถึงเมืองเมาะตะหมะนั้น เปนความเพียงเจ้าเมืองต่อเจ้าเมืองว่ากล่าวติดพันกัน ที่คิดจะให้เปนประโยชน์ในราชการก็ชอบอยู่แล้ว แต่ว่าจะนำขึ้นกราบทูลพระเจ้าอังวะยังไม่ควร[13] ถ้าเปนหนังสือออกไปจากกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา จะได้เอาขึ้นกราบทูลให้ถึงพระเจ้าอังวะ

ตัวเราผู้รักษาเมืองทวายปลายด่านข้างพม่าก็เปนต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอังวะ ท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรีเล่าก็เปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้รักษาน่าด่านกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา เราทั้งสองควรจะช่วยกันคิดอ่านให้เปนประโยชน์แก่พระนครทั้งสองให้สนิทสนมกันจึงจะชอบ สัตว์ทั้งปวงจะได้เปนศุข พระบวรพุทธสาสนาก็จะได้รุ่งเรืองสืบไป ตัวเราผู้รักษาเมืองทวายแลท่านผู้รักษาเมืองกาญจนบุรีจงช่วยกันคิดอ่านอย่าให้มีการจับกุมผู้คนกันสืบไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เมืองทวายกำลังคิดอ่านเตรียมการจะ ให้คนถือหนังสือเข้ามายังเมืองกาญจนบุรี ฝ่ายกองตระเวนกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยาลอบออกไปจับคนกองด่านค่ายบ้านตะแลงยามาเปนอันมากเมื่อณเดือน ๑๑ แรม ๗ ค่ำ ถ้าความข้อนี้ทราบขึ้นไปถึงพระเจ้าอังวะ ก็จะทำให้ความเก่าแปรปรวนไปเสีย เราทั้งสองเปนผู้ใหญ่รักษาราชการอยู่น่าด่านอย่าทำให้เสียถ้อยคำที่ได้ว่าไว้แต่ก่อนจึงจะชอบ คนที่ไทยจับมานั้นขอให้ปล่อยกลับไปโดยเร็วอย่าให้เนิ่นช้า จะได้คิดอ่านการอันเปนประโยชน์แก่พระนครทั้งสองสืบไป

หนังสือพระยาทวายฉบับนี้ ฝ่ายไทยจะได้มีตอบไปฤๅประการใดหาปรากฎไม่ สิ้นเนื้อความเรื่องเจรจาความเมืองครั้งที่ ๖ เพียงเท่านี้

เหตุที่พม่าเจรจาความเมืองในรัชกาลที่ ๒ เมื่อครั้งปีระกาที่กล่าวมานี้ ตรวจดูในพงศาวดารพม่าได้ความว่า ในปีนั้นพม่ามีสงครามกับพวกกระแซทางข้างฝ่ายเหนือ แต่ก็เปนการเล็กน้อยไม่ใหญ่โตอันใด พิเคราะห์ดูเห็นว่า จะมิใช่เพราะเกรงไทยจะยกกองทัพออกไปตีเมือง พม่าจึงมาชวนเจรจาความเมืองถ่วงไว้เหมือนเมื่อในรัชกาลที่ ๑ คงเปนด้วยเหตุอื่น เหตุอื่นที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับพม่าในตอนนั้น มีเรื่องครัวมอญอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในปีจอ พ.ศ. ๒๓๕๖ นั้นเปนอันมาก ในพงศาวดารกล่าวว่า เพราะพวกมอญถูกเจ้าเมืองเมาะตะหมะบังคับกดขี่ ทนไม่ไหว จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย สันนิษฐานว่า การที่พม่ามาขอเขรจาความเมืองเมื่อครั้งปีระกา จะเปนด้วยเหตุเรื่องมอญนี้เอง ทำนองพวกมอญจะเกิดกำเริบระส่ำระสายขึ้นเมื่อในปีระกา พระเจ้าปดุงเกรงว่า พวกมอญจะเปนขบถขึ้นเหมือนครั้งพระยาเจ่ง แลจะได้กำลังในเมืองไทยอุดหนุน เพราะมีมอญเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแต่ก่อนแล้วเปนอันมาก ประสงค์จะตัดกำลังมอญมิให้เปนขบถ จึงให้เข้ามาขอเปนไมตรีกับไทย เพื่อจะขู่มอญ เห็นจะเปนด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การที่แต่งให้บุตรจมื่นเสมอใจกับพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าเปนทูตเข้ามา ก็แลเห็นได้ว่าตั้งใจจะทำให้ถูกประสงค์ของไทย ดังปรากฎว่าได้บอกไปแต่ก่อนว่า ถ้าพม่าประสงค์จะเปนไมตรีจริง ให้ส่งข้าราชไทยที่พม่าได้ไปจากกรุงเก่ากับพระภิกษุสงฆ์ไทยเข้ามาพูดจา จึงจะเชื่อฟัง แต่เมื่อปีระกานั้นนับเวลาแต่เสียกรุงเก่าได้ถึง ๔๖ ปี เห็นจะหาข้าราชการแลพระสงฆ์ครั้งกรุงเก่าไม่ได้ จึงได้ส่งบุตรข้าราชการครั้งกรุงเก่ากับพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าเข้ามาแทน ความประสงค์ของพม่าในครั้งนี้เห็นจะอยากเปนไมตรีจริงเพื่อป้องกันมิให้พวกมอญกำเริบ.


ตั้งแต่เจรจาความเมืองกันครั้งที่ ๖ เมื่อรัชกาลที่ ๒ แล้ว พม่ากับไทยก็มิได้เจรจาความเมืองกันอิกช้านาน เปนเวลาว่างการเจรจาถึง ๔๓ ปี เรื่องพงศาวดารในระยะนี้มีเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพม่านั้น พระเจ้าปดุงสิ้นพระชนม์เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๖๒ จักกายแมงราชนัดดาได้รับรัชทายาทครองแผ่นดินพม่าต่อมา เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น เมืองพม่าผู้คนพลเมืองกระด้างกระเดื่องไม่เปนปรกติ พระเจ้าจักกายแมงวิตกเกรงจะเกิดขบถขึ้นในแผ่นดิน พอได้ข่าวไปว่า ในเมืองไทยเกิดไข้อหิวาตกะโรคเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ผู้คนล้มตายระส่ำระสายมาก พระเจ้าจักกายแมงเห็นได้ที จึงให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองไทย หวังจะให้พวกพลเมืองพม่านับถือว่าเข้มแขงในการทัพศึกเหมือนพระเจ้าปดุงผู้เปนพระอัยกา แต่ฝ่ายไทยรู้ตัวทัน ทันเรียมกองทัพดักไว้ทุกทาง พม่าก็ไม่อาจยกมาเข้ามา พอพวกเมืองมณีบุระกำเริบขึ้นข้างเหนือ พระเจ้าจักกายแมงก็ต้องถอนกองทัพไปทำสงครามกับเมืองมณีบุระ แล้วเลยก้าวก่ายเข้าไปทางแดนอินเดีย พม่าจึงไปเกิดรบกับอังกฤษขึ้นเปนครั้งแรกเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ แลครั้งนั้นอังกฤษมาชวนไทยให้ไปช่วยรบพม่าด้วย แต่ฝ่ายไทยยังมิทันที่จะได้ตกลงประการใด พอพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๘๗ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถิงถวัลยราชสมบัติเปนรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดให้กองทัพยกไปช่วยอังกฤษรบพม่าจนถึงเมืองเมาะตะหมะ[14]

พระเจ้าจักกายแมงแพ้สงคราม เสียเมืองประเทศราชทั้งปวง ทั้งหัวเมืองมอญเมืองทวายที่อยู่ใต้ปากน้ำสลวินลงมา จนเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี แก่อังกฤษ ก็ทรงโทมนัศเลยถึงสัญญาวิปลาศ ต้องถูกปลงจากราชสมบัติเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๘๐ พระเจ้าแสรกแมงราชอนุชาขึ้นครองประเทศพม่าต่อมา ๙ ปีเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๙ พระเจ้าภุกามแมงราชโอรสได้รับรัชทายาท ครองราชสมบัติอยู่ ๖ ปีเศษ พม่าเกิดรบกับอังกฤษเปนครั้งที่ ๒ ในเวลาเมื่อพม่าเกิดรบกับอังกฤษครั้งนี้ ทางเมืองไทย พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนรัชกาลที่ ๔ พม่าแพ้สงครามครั้งที่ ๒ เสียหัวเมืองมอญแก่อังกฤษทั้งหมด พระเจ้าภุกามแมงก็ถูกปลงจากราชสมบัติเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ มินดงราชอนุชาได้ครองแผ่นดินพม่าแต่นั้นมา แล้วจึงสร้างเมืองมันดะเลขึ้น แลย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ณเมืองมันดะเลนั้น เรื่องพงศาวดารมีเนื้อความดังกล่าวมานี้


เรื่องที่พม่ามาจเรจาความเมืองครั้งที่ ๗ นี้มีเนื้อความปรากฎว่า เมื่อณวันศุกร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ[15] ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ มีพม่า ๔ คน ชื่องะซวยซีคน ๑ งะซวยมองคน ๑ งะคลาคน ๑ งะทวยคน ๑ มาที่เมืองเชียงใหม่ บอกว่า มาแต่กรุงอังวะ ถือหนังสือเดินทางของเมลซอสันหะริงขุนนางในราชสำนักของพระเจ้ามินดงฉบับ ๑ กับหนังสือเสนาบดีพม่ามีถวายสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑ กับเครื่องไทยธรรมสำหรับจะถวายสมเด็จพระสังฆราชกับพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ อิกหลายอย่าง พระเจ้านครเชียงใหม่จึงบอกส่งลงมายังกรุงเทพฯ เจ้ากระทรวงให้พระยาศรีหากเพ็ชร (เห็นจะเปนชาวเชียงใหม่ที่คุมมา) กับขุนวิเศษภาษาล่ามพม่า แปลหนังสือที่พม่าถือมาได้ความดังนี้:—


หนังสือเมลซอสันหะริงขุนนางฝ่ายในเฝ้าอยู่เปนนิจ ให้งะซวยซี งะซวยมอง งะคลา งะทวย ถือเข้ามาณกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ด้วยได้ข่าวว่า กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระพุทธสาสนารุ่งเรือง พระภิกษุสงฆ์ประกอบศีลาสมาธิคุณ มีอุสาหะเล่าเรียนฝ่ายคันถธุระวิปัสนาธุระ มีศีลบริสุทธิ์ เจ้าอังวะจึงมอบสิ่งของแลหนังสือเข้ามาให้ถวายพระสังฆราชแลพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง แล้วสั่งกำชับผู้ถือหนังสือเข้ามาว่า ให้ระวังรักษาหนังสือให้ดี แล้วอย่าให้เนิ่นช้าอยู่ในกลางทาง ให้รีบเร่งเข้ามาให้ถึงโดยเร็ว จะพูดจาว่ากล่าวเปนประการใด ให้ปฤกษาหารือให้พร้อมกันอย่าให้แตกร้าวได้

ถ้าถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาแล้ว ก็ให้ไปสำนักอาไศรยอยู่ในที่สมควรอันชอบ จะพูดจาว่ากล่าวกินอยู่หลับนอนให้สมควรประเพณีบ้านเมืองประเทศอันใหญ่ ถ้าแลจะพูดจาว่ากล่าวประการใดให้พร้อมกันเปนคำเดียว ถ้าแลจะเข้าไปหาสมเด็จพระสังฆราช เอาหีบไขกุญแขเอาของในหีบถวายพระสังฆราชแล้วก็เอาหนังสือถวายสมเด็จพระสังฆราชด้วย

ถ้าแลพระสังฆราชจะไต่ถามด้วยเรื่องราวพระสาสนาในเมืองอมรบุระอังวะ ก็ให้เรียนพระสังฆราชว่า เจ้าเมืองอังวะเปนพระมหากระษัตริย์พระเจ้าช้างเผือกผู้ประเสริฐ ได้ครอบครองซึ่งกระษัตริย์ทั้งหลายอันมีเสวตรฉัตรในแว่นแคว้นบ้านเมืองอันใหญ่อันเปนมหาราชผู้บำรุงพระพุทธสาสนาพระพุทธเจ้าโดยวิเศษยิ่งนัก ทรงพระราชศรัทธาถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ทั้งหลายเปนอันมากทุกวันทุกเวลา มิให้พระสงฆ์ขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอเปนนิจทุกเดือนทุกปีมิได้ขาด จะได้มีพระไทยย่อหย่อนต่อการบุญหามิได้ พระเจ้าช้างเผือกนั้นทรงพระราชศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอันเล่าเรียนแลทรงไว้ซึ่งพระสาสนาทั้ง ๓ คือ ปริยัติสาสนา ปฏิบัติสาสนา ปฏิเวธสาสนา แลพระสงฆ์ที่มีอุสาหะเล่าเรียนคันถธุระวิปัสนาธุระทั้งคามวาสีอรัญวาสีอันอยู่ในแว่นแคว้น

ข้อหนึ่งว่า ราษฎรชาวบ้านทั้งหลาย ไม่ว่าชาติใดตระกูลใด สุดแท้แต่ว่ามีศรัทธาเสื่อมใสในพระสาสนา ฟังธรรมเทศนาจำแนกแจกทานรักษาศีลจำเริญภาวนา พระเจ้าช้างเผือกก็อุปถัมภ์ค้ำชูด้วย เพราะอาไศรยเหตุอันนั้น ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็ได้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ได้ประพฤติธรรมจริยาสมจริยา ที่กรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามีพระสาสนารุ่งเรืองอยู่ พระเจ้าช้างเผือกได้ทราบดังนั้น จึงให้คนทั้ง ๔ ถือหนังสือเข้ามาร่ำเรียนด้วย ในกรุงศรีอยุธยามีพระสงฆ์ซึ่งเล่าเรียนประพฤติในพระสาสนาสักเท่าใด พระไตรปิฎกที่นับถือเล่าเรียนมีสักเท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกอย่างใด ในกรุงศรีอยุทธยาจะต้องการพระไตรปิฎกสักเท่าใด ก็ให้ร่ำเรียนจดหมายให้มั่นคง แล้วอย่าให้เนิ่นช้าอยู่ ให้รีบกลับออกมาโดยเร็ว อย่าได้อวดอ้างอื้ออึงไปในระหว่างหนทางที่ไปมา คนที่มาด้วยกันนั้นอย่าให้วิวาทกัน ถ้ามีวิวาทแตกร้าวขึ้นแล้ว สืบไปภายหลังจะมีโทษจงหนัก


ข้าพเจ้า มหาเมลซีซู ซึ่งเปนเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้กินบ้านเมืองหมอ เปนข้าหลวงเดิมฝ่ายในแห่งพระเจ้าช้างเผือกอันประเสริฐ ซึ่งได้เปนใหญ่บังคับบัญชากระษัตริย์ทั้งหลายทั้งปวงอันมีเสวตรฉัตรครอบครองเมืองใหญ่ มีต้นว่าสุนาปรันตประเทศ ตามพทีปประเทศ ซึ่งมีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว บ่อกาเยนทั้งหลายต่าง ๆ แลมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แลเปนเจ้าน้ำเจ้าดินอันมีจักราวุธอันประเสริฐ ลอองฝ่าพระบาททั้งสองเหมือนหนึ่งเกสรประทุมชาติ์ เหตุการณ์บ้านเมืองซึ่งมีเปนอันมาก ข้าพเจ้าได้กราบทูลอยู่เปนนิจ

ข้าพเจ้ากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ทราบความว่า แต่ต้นวิวัฏฐายีภัทกัลป จำเดิมแต่พระบรมโพธิสัตว์ลงมาบังเกิดเปนพระเจ้ามหาสมมุติราช เสวยสมบัติอยู่ในชมพูทวีปสืบต่อมาเปนกระษัตริย์ได้ ๒๕๒,๕๕๖ พระองค์ ภายหลังในมัชฌิมประเทศ กบิลพัสดุ์ เทวะทหะ โกลิยะ ได้ตั้งบ้านเมืองใหญ่ในมัชฌิมประเทศ คือ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเทวะทหะ เมืองโกลิยะ ๓ เมือง พระยาโอกากมุขอันมีเปลวเพลิงพลุ่งออกจากปาก บุตรพระยาโอกากมุขชื่อว่าพระยาจันทิมะ บุตรแห่งพระยาจันทิมะชื่อว่าพระยาจันทมุข บุตรแห่งพระยาจันทมุข ชื่อว่าพระยาสญชัย บุตรแห่งพระยาสญชัยชื่อว่าพระยาเวสสันดรอันเปนเจ้าของแห่งพระยามหาปัจจัยนาค บุตรพระยาเวสสันดรบรมกระษัตริย์ชื่อว่าพระยาชาลี บุตรพระยาชาลีชื่อว่าพระยาสีหวา บุตรพระยาสีหวาชื่อพระยาสีหัสร

จำเดิมแต่พระยาสีหัสรมาเปนกระษัตริย์ ๘๒,๐๑๐ กระษัตริย์สืบต่อมาเปนที่สุด เมื่อนางกัจจานีผู้เปนพระราชบิดาแห่งพระเจ้าเทวะทหะอภิเศกด้วยพระเจ้าสีหหณุราชอันเปนบุตรแห่งพระยาชัยเสนแล้ว จึงได้พระราชบุตรทรงพระนามชื่อว่า พระเจ้ากรุงศิริสุทโธทน์ เมื่อพระศิริมหามายาผู้เปนพระราชธิดาแห่งพระอัญชนราชราชาภิเศกด้วยพระเจ้ากรุงศิริสุทโธทน์แล้ว จึงได้พระโอรสทรงพระนามว่า พระสิทธารถราชกุมารบรมโพธิสัตว์ ครั้นพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา แวดล้อมเพลิดเพลินไปด้วยนางทั้งหลายทั้งปวง ๔๐, ๐๐๐ มีนางยโสธราราชเทวีเปนต้น เสวยราชสมบัติอยู่ในปราสาททั้งสาม ชื่อราม ชื่อศุภ ชื่อ สุรามปราสาท ในเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้เห็นซึ่งนิมิตรอันใหญ่ ๔ ประการ คือ เห็นคนแก่ประการ ๑ คนเจ็บประการ ๑ คนตายประการ ๑ รูปสมณะประการ ๑ แล้วได้ธรรมสังเวชสละเสียซึ่งราชสมบัติแลปราสาททองอันใหญ่ เสด็จออกไปทรงผนวชแล้วไปประพฤติซึ่งทุกรกิริยาถึง ๖ ปี ทรงชนะซึ่งมารทั้ง ๕ ประการในควงไม้พระมหาโพธิมณฑล ครั้นเมื่อได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า ไม่มีใครเสมอในภูมิทั้งสาม ทรงตรัสเทศนาซึ่งอมฤตยรศธรรม โปรดเวนัยสัตว์ทั้งหลายอันล่มจมอยู่ในสงสารสาคร เมื่อได้ ๔๕ พรรษา พระชนมายุภายในเต็ม ๘๐ (ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน)

ภายหลังเมื่อ (พระพุทธองค์) เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน สาสนาก็รุ่งเรืองในมัชฌิม (ประเทศแล) สีหฬประเทศ สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นว่า พระพุทธสาสนาจะรุ่งเรืองยืดยาวในประเทศพม่าทั้งสอง คือ ประเทศสุนาปรัตน ประเทศตามพทีป เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่นั้น เสด็จไปสู่พระวิหารอันมหาบุญ จุลบุญ พี่น้องคนกระทำด้วยไม้แก่นจันทน์แดงเนือง ๆ จำเดิมแต่ได้เทศนาอมฤตยรศธรรม โปรดซึ่งสัตว์อันควรจะพ้นทุกข์เปนลำดับไม่ขาดแถวจนกระทั่งถึงความรุ่งเรือง ประเทศพม่า เมืองสุเรเขตรา เมืองปูกาม เมืองเมงจัน เมืองจะกัน เมืองปัญญ เมืองรัตนบุร เมืองรัตนสิงขร จนกระทั่งถึงเมืองอมรบุร กระษัตริย์พม่าตั้งแต่พระเจ้าปู่ชวดแลสมเด็จพระเจ้าปู่เปนสุริยวงศ์ อสัมภินขัติย ได้ตั้งบ้านเมืองเสวตรฉัตรปราสาททองครอบครองสืบกันมาชวนกันได้รับความเจริญในพระพุทธสาสนา แลได้ความเจริญแก่อาณาประชาราษฎรทั้งสิ้น พระยาทรงธรรมอันเปนเจ้าพิภพแลเปนเจ้าแห่งพระยาช้างฉัททันต์ ก็ได้ครอบครองซึ่งบ้านเมืองแว่นแคว้นกับด้วยปราสาททองเสวตรฉัตร กับด้วยเมืองอมรรัตนบุรอังวะสืบต่อกันมา สมเด็จพระเจ้าปู่ก็ได้ทรงขอพรอันประเสริฐ ถึงว่าได้ครอบครองบ้านเมืองอันใหญ่ ก็ไม่หลงลืมในการกุศล ได้รักษาศีลเปนนิจ เหมือนกับพระยาศีลว พระยาทัศนจักร พระยาเนมี พระยาเวสสันดรโพธิสัตว มีความอดใจจำแนกแจกทานรักษาศีลเมตตากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร แลบังคับตัดสินขัดข้องราษฎร ผู้ใดผิดก็ทำตามผิด ผู้ใดชอบก็ทำตามชอบ มิได้เห็นแก่หน้าบุคคล ผู้ใดมีความอุสาหะในความเจริญโลกีย์แลโลกอุดร มีสติ ๓ ประการ คือ ชุมนุมปฤกษาด้วยอำมาตย์ผู้มีปัญญาวันละ ๓ ครั้ง สัส์สเมธ ส่วย ๑๐ ส่วนเอาแต่ส่วน ๑ ปุริสเมธ ให้เสบียงอาหารแก่ข้าราชการ ๖ เดือนครั้ง ๑ สัมมาปาส ให้ทุนรอนแก่ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองถึง ๓ ปี แล้วจึงเรียกเอาคืน วาจาเปยย กล่าวซึ่งถ้อยคำอันเพราะเปนที่รัก สังคหะธรรม ๔ ประการ กายพล บริบูรณ์ไปด้วยกำลังกายแลกำลังมือ ปาหุปาล บริบูรณ์ไปด้วยรัตนทั้งปวงมีเงินทองเปนต้น เปนโภคพล มากไปด้วยหมู่อำมาตย์ พลทหาร เปนอมัจจพละ เปนอสัมภินสากยวงศ์ไม่ขาดแถว จำเดิมแต่พระยามหาสันทปฐมกัลปมีพระญาติวงศาเปนอันมาก เปนอภิชัจจพล มีพระปัญญาอันคมว่องไวเปนปัญญาพล มีกำลัง ๔ ประการ ขมา มีความอดไว้ ชาคริย ตื่นอยู่ในความเพียร อุฏฐาน มีความหมั่นลุกขึ้น สํวิภาค อาจในที่จำแนกทาน ทยา มีความเอ็นดู อิก์ขนา พิจารณาดูในการทั้งปวงนี้ เปนนายกคุณ ๖ ประการ สันนิปาต เสด็จออกปฤกษาด้วยการบ้านเมืองวันละ ๓ ครั้ง สมัคค พรักพร้อมไปด้วยราชวงศ์ราชบุตรแลเสนาอำมาตย์ ปฏิปัชชน ไม่ละเสียซึ่งข้อบัญญัติบุราณไม่แต่งจัดเสียใหม่ นิวาตวุตติ กระทำเคารพแก่คนผู้มีอายุอันสูง มีคุณอันใหญ่ อปสัย๎ห ไม่ข่มขี่เอาบุตรหญิงชายชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย พลีกร ทำการบวงสรวงบูชาตามบุราณ คุตติ สร้างกุฏิให้สมณทั้งหลายอันมาถึงแล้วให้เพลิดเพลิน ระวังรักษาสมณทั้งหลายซึ่งยังมิได้ นี้เปนอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จำแนกแจกทานเพื่อจะให้เปนภูมิแก่อิธโลก ปรโลก ทาน กิริยาที่จำแนกแจกทาน ศีล กิริยาที่รักษาศีล ๕ ประการ อาชชว ซื่อตรงประดุจเขาพระสุเมรุราช มัททว กายแลน้ำจิตรอ่อนโยน ตป รักษาอุโบสถศีล อโกธ ไม่โกรธ มีเมตตาจิตรเปนเบื้องน่า อวิสิงห ไม่เบียดเบียนให้กรุณาจิตรบังเกิดขันติ อดใจเหมือนดังแผ่นพระธรณี อวิโรธน ไม่รบกวนราษฎรกระทำตามสมควร เปนราชธรรม ๑๐ ประการ แลประพฤติธรรมในบิดามารดาแลบุตรภรรยาญาติทั้งหลาย ประพฤติธรรมในข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอันเปนมิตร ในหมู่พลโยธาหาญสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง แลสัตว์จตุรบาททวิบาททั้งปวง บรรดาอาศรัยอยู่ในน้ำในบก แลสัตว์ที่บินได้ในอากาศเปนชาติเดรฉานทั้งสิ้น ประพฤติธรรมให้คุ้นเคยชำนิชำนาญไม่ให้หลงลืมในราชธรรม ๑๐ ประการ แลอุปถัมภ์ค้ำชูพลโยธาหาญ แลบำรุงรักษาราชตระกูลมิให้เสื่อมถอย แลอุปถัมภ์ข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทั้งปวง แลอุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์ แลเนื้อนกสัตว์เดรฉานชาติทั้งหลาย แลอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งชนชาวนิคมชนบทน้อยใหญ่ทั้งหลาย แลห้ามปรามคนทั้งหลายในแว่นแคว้นอาราเขตรมิให้กระทำความชั่วแลความผิด เกื้อหนุนให้ทุนรอนแก่ราษฎรที่ยากจน ให้ประกอบการหากินเลี้ยงบุตรภรรยาโดยผาสุก แลหมั่นพูดจาธรรมสากัจฉาในสำนักสมณพราหมณาจารย์ในเหตุอันไม่ควรจะผูกใจอยากได้ ก็ไม่ผูกใจอยากได้ ไม่อยากได้ทรัพย์สิ่งของ ๆ คนอื่นอันไม่ควรจะพึงได้ อันนี้เปนข้อปฏิบัติของมหาจักรพรรดิ ๑๒ ประการ ประพฤติในราชธรรมทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้งกลางวันแลกลางคืน

ทรงอภิบาลรักษาดูแลซึ่งราษฎรทั้งหลายทั้งปวง ดังหนึ่งว่าบุตรอันเกิดในอุทร เหมือนดังพระยาอชาตศัตรูอันได้ครอบครองราชคฤห์ในมัชฌิมประเทศ เหมือนหนึ่งพระยากาลาโศกอันได้ครอบครองเมืองเวสาลีอันใหญ่ เหมือนพระยาศรีธรรมาโศกอันได้ครอบครองเมืองปาตลีบุตรอันใหญ่ เหมือนหนึ่งพระยาเทวานัมปิยดิศอันได้ครอบครองเมืองลังกาสีหฬ เหมือนอย่างพระยาทุฏฐคามินีแลกระษัตริย์อื่น ๆ อันได้บำรุงพระสาสนาให้รุ่งเรือง มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระรัตนไตรยทั้งสาม มีความอุสาหะจัดแจงพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้าไว้เปนที่ไหว้สักการะบูชา แลจัดแจงซ่อมแปลงกถฏิวิหารที่หักพังให้คืนดีดังเก่า ให้สมณที่มีศีลวิสุทธิบริบูรณ์ไปด้วยสมาธิคุณต่าง ๆ แลรู้พระไตรปิฎกควรนับถือบูชา ตั้งไว้ให้เปนสังฆราชเพื่อจะให้พระสาสนารุ่งเรือง องค์แห่งอลัชชี ๓ ประการควรอันภิกษุสงฆ์จะละเว้น มีต้นว่ากุหก ๙๓ ประการ กุลโทสก ๘ ประการ อเนสน ๒๑ ประการ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ไม่ให้ประพฤติ สมเด็จพระพุทธเจ้ามีประสงค์บัญญัติไว้ซึ่งจาตุปาริสุทธศีลสิกขาบท ๒๒๗ ประการ คือ คันถธุระวิปัสนาธุระให้ประพฤติสิกขาบทตามวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระพุทธสาสนาก็จะรุ่งเรืองวิเศษยิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่เมืองอมรปุร มีพระอารามชื่อมหาสีวการามซึ่งพระสังฆราชอยู่ กับอารามนอกนั้นมีอยู่ ๗๐ อารามเศษ มีพระภิกษุสามเณรประมาณหมื่นรูปเศษนั้น ได้ถวายจัตุปัจจัยทั้งสี่แลนิตยภัตรมิได้ขาด แล้วได้ถวายจตุปัจจัยกับพระสงฆ์สามเณรซึ่งอยู่ในพระอารามนอกพระนครบรรดาอยู่ในเขตรแดนเมืองอมรปุรทั้งสิ้น แลได้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรชาวบ้านให้ถวายจตุปัจจัยด้วย กับได้ประกาศให้ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ทุกวันอุโบสถ เพื่อจะให้เปนหนทางสวรรค์ทางนิพพาน ด้วยอำนาจผลทานศีลภาวนา บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุข ฝนก็ตกตามฤดู ราคาเข้าก็ถูก ภัยอันตรายก็ไม่มีกับบ้านเมือง พระสงฆ์ก็ได้ปฏิบัติเล่าเรียนสัทธรรมทั้ง ๓ อย่าง คือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม พระสาสนาก็จะรุ่งเรือง ดังหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ได้ทำการพระสาสนาถึงเพียงนี้แล้วก็ยังไม่สมดังพระไทยปราถนาอิก

พระสาสนาในลังกาทวีป เมืองอมรบุระ ในกรุงศรีอยุธยา ก็รุ่งเรืองบริบูรณ์ทั้ง ๓ แห่ง พระสงฆ์ก็ประกอบไปด้วยศีลาจารวัตรสมาธิคุณ เนื้อความก็แผ่ซ่านเลื่องฦๅไปถึงว่า ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระสงฆ์ก็ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนพระสังฆราช ที่ให้ถือหนังสือเข้ามาทั้งนี้เพื่อจะรู้ว่า พระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาจะมีสักเท่าใด หนังสือพระไตรปิฎกมีอยู่เท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกเท่าใด ให้เอาไทยทานเข้าไปถวาย แล้วให้ทูลถามพระสังฆราชดู ขุนนางฝ่ายในชื่อเมลซอสันหะริงได้ทูลพระเจ้าทรงธรรมอันเปนเจ้าพิภพว่า จะให้งะซวยชี งะซวยมอง งะคลา งะทวย ๔ คน ถือหนังสือแลคุมสิ่งของมาสู่สำนักพระสังฆราช ไทยทานที่ถวายเข้ามานั้น ประคำยางไม้กาเยน ๔๐ สาย ให้มอบถวายพระสังฆราช

พระยาธรรมราชพระเจ้าช้างเผือกนั้นเปนพระยามหาธรรมราชสาสนทายก แต่พอได้ฟังสารคดีเหตุกิติศัพท์กิติคุณแห่งพระสังฆราชก็มีความยินดีศรัทธาเลื่อมใสนัก พระสงฆ์ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎก มีมากน้อยเท่าใด จะต้องการหนังสือพระไตรปิฎกสักเท่าใด ให้พระสังฆราชแจ้งความมากับคน ๔ คนที่ถือหนังสือนี้เถิด ตัวข้าพเจ้าขอเปนศิษย์อันสนิทในกุฏิ เหมือนอย่างศิษย์ตั้งแต่เล็ก ๆ มา ไม่ว่าปัจจัยอันใด เปนต้นว่าหนังสือพระไตรปิฎกบรรดาที่ต้องการนั้น ก็จะให้คนที่เดิมใช้ไปนั้นเอากลับมาถวาย ข้าแต่พระสังฆราชดังข้าพเจ้ากราบทูลมา

ในเวลานั้นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าสังฆปรินายก สิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) เมื่อยังเปนที่พระพรหมมุนี มีลิขิตตอบ[16] ให้พวกพม่าที่มาถือกลับไปยังเสนาบดีพม่าดังนี้.


ลิขิตพระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังกรณ์ มหาคณฤศรบวรสังฆรามคามวาสี สถิตย์ณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารพระอารามหลวง เปนอัพภันตรารามภายในกำแพงพระนคร ตั้งอยู่ณทิศทักษิณแห่งพระบรมมหาราชวัง ณกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี อันประดิษฐานตั้งในบางกอกประเทศ ขอแสดงความมายังท่านที่มีชื่อในหนังสือซึ่งผู้ถือหนังสือเข้ามาอ้างให้เราได้ยินว่า มหาเมลซีซู เสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งได้ครองเมืองบ้านหมอ แลคนอื่น ๆ ที่ควรจะอ่านแลรู้ความในหนังสือทั้งปวงให้ทราบ.

ด้วยเมื่อณเดือนภัทรบทมาศ ปีมโรงนักษัตร อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ปี มีพวกพม่า ๔ คนเข้ามาทางเหนือนครเชียงใหม่ ลงมากับด้วยเจ้านายแลขุนนางเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ซึ่งลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ครั้งนี้ถึงกรุงเทพมหานคร ขึ้นพักอยู่ที่วัดราชาธิวาศ เปนพระอารามน้อยขึ้นกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารพระอารามหลวง จึงขึ้นไปหาพระสงฆ์ในพระอารามนั้น เล่าความให้ฟังว่า มาเพื่อจะพบพระสงฆ์ที่เปนใหญ่ในพระพุทธสาสนา พระสงฆ์ในพระอารามนั้นจึงพาตัวมายังสำนักเราณวัดพระเชตุพนฯ พม่า ๔ คนจึงแจ้งว่า

คนหนึ่งชื่องะซวยซี คนหนึ่งชื่องะซวยมอง คนหน่งชื่องะคลา คนหนึ่งชื่องะทวย แลว่า เจ้าแผ่นดินกรุงอังวะให้เข้ามานมัสการสมเด็จพระสังราชซึ่งเปนผู้ใหญ่ในพระพุทธสาสนาณกรุงสยาม แลได้ยื่นหนังสือให้แก่เราเปนอักษรพม่าฉบับ ๑ แลได้ถวายไทยธรรม คือ ประคำกาเยนยางไม้ใหญ่ ๒๙ สาย เล็ก ๑๐ สาย รวม ๓๙ สาย หีบกำมลอ ๑ กล่องอย่างเงี้ยวใหญ่ ๒ เล็ก ๒ รวม ๔ โอลายอย่างเงี้ยว ๒ แหนบ ๒ กระจก ๑ เปนของ ๘ สิ่งให้แก่เรา กับไทยธรรมอื่นอิก คือ กล่องอย่างเงี้ยว ๔๔ โอลายอย่างเงี้ยว ๔๔ แหนบ ๔๔ กระจก ๔๔ ได้ถวายพระเถรานุเถรอื่นอิก ๔๔ รูปแล้ว เราทั้งหลายพร้อมกันได้กระทำอนุโมทนาให้ต่อหน้าพม่า ๔ คนในวัน ๑๐ ค่ำนั้นแล้ว

เราได้หาล่ามพม่ามาให้อ่านแปลหนังสือนั้นออกเปนภาษาไทย ก็ได้ความไพเราะวิจิตรด้วยกิติคุณการสรรเสริญเจ้าแผ่นดินกรุงอังวะมหาราชธานีแดนพม่า ฟังก็หน้าเพลิดเพลินใจ เราจึงคิดว่า ถ้าคนเหล่านี้เปนคนซึ่งผู้มีอิศริยยศบันดาศักดิ์ในเมืองใหญ่ใช้เข้ามาจริง เราก็มีความประสงค์เพื่อจะให้ท่านผู้ที่ใช้เข้ามานั้นได้เชื่อด้วยสลักสำคัญเปนแน่นอนว่า ผู้ที่รับใช้เข้ามานั้นได้มาถึงเราแล้วจริง หนังสือกับสิ่งของไทยธรรมได้มอบให้แก่เรา แลถวายแก่พระเถรานุเถรอื่น ๆ ตามจำนวนของนั้นตามบังคับมาแล้วจริง เราจึงรจนาการลิขิตขึ้นมาให้เปนสำคัญ ถ้าท่านผู้ใช้มามีตัวจริงแล้ว เราขออวยพรอนุโมทนาทานด้วยปราถนาความเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ แลสวัสดิมงคลผลอย่างอื่น ๆ แลความประสงค์สิ่งไรของท่านซึ่งเปนกุศลไม่มีโทษ จงสำเร็จทุกประการเทอญ

เพราะเราได้รับธรรมบรรณาการ ความรำพันพรรณาถึงเจ้ากรุงอังวะเปนมหาราชกระษัตริย์ แลสรรเสริญสมบัติทั้งพระเกียรติยศธรรมคุณต่าง ๆ ยืดยาวนักหนา เราก็ควรจะต้องกล่าวความในกรุงสยามประเทศนี้แสดงออกไปเปนปฏิบรรณาการตอบแทนให้ท่านฟังบ้าง แต่ปรกติไทยชาวกรุงสยามประเทศนี้ย่อมรู้ประมาณในทางกถา ความใด ๆ ถึงจะจริงแท้ แต่ถ้าเปนความไกลตา เห็นว่าเปนคนไกล ๆ จะเชื่อยาก ก็ไม่อยากกล่าวยืดยาวไป ด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ แลคำยกยอว่า กระษัตริย์มหาสมมุติราชวงศ์อสัมภินขัติยพงศ์บริสุทธิมาเนือง ๆ ในพระบาฬีแลอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ นั้น คนทั้งปวงชาวประเทศต่าง ๆ ได้ทราบทั่วกันว่าเปนคำยกย่องของคนโบราณใช้ในมัธยมประเทศที่ได้รู้อยู่บัดนี้ว่าฮินดูสถาน เพราะบาฬีเปนของสังคายนายในมัธยมประเทศนั้น แลอรรถกถาฎีกาก็เปนคำกล่าวแก้บาฬี แต่การในมัธยมประเทศไม่ได้ว่าด้วยการประเทศอื่น ๆ แลคนบางพวกในประเทศนั้นได้ชื่อว่ากระษัตริย์ เพราะเนื่องด้วยขัติยชาติตามเชื้อชาติสืบตระกูลเปนลำดับมาดังนี้ ชาติอื่น คือ พราหมณ์ แพสย์ สูท จัณฑาล เนศาท ปกุส, เปนต้น ซึ่งถือกันต่าง ๆ ในประเทศนั้น แลคนที่ใช่ชาติกระษัตริย์เดิม จะชื่อว่ากระษัตริย์ด้วยเปนเจ้าแผ่นดินก็หาไม่ แลเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้นคนทั้งหลายย่อมนับถือให้ได้ราชาภิเศกเฉภาะแต่ขัติยชาติเปนธรรมเนียมมา ชาติอื่นแม้มีอำนาจว่าการแผ่นดินก็ไม่ได้ราชาภิเศก แต่ถ้าจะว่าโดยธรรมราชวงศ์แล้ว แม้นถึงในประเทศอื่นผู้ที่ได้ครอบครองราชสมบัติเปนเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้น ๆ เมื่อประพฤติถูกต้องความมูลนิติขัติยธรรมเหมือนกระษัตริย์ในมัธยมประเทศซึ่งเปนต้นแบบอย่างกฏหมายบ้านเมืองต่าง ๆ สืบมา ก็จะพึงกล่าวได้บ้าง โดยที่ได้ตั้งอยู่ในธรรมราชวงศ์ของกระษัตริย์ แต่ก็หาสู้ต้องการนักไม่ ด้วยชื่อว่ากระษัตริย์ขัติยนี้ เมื่อความดีมีอยู่แล้ว ก็เปนความดี แลข้อซึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น ๆ มีชาติบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ เจือปนนักไม่เจือปนมาแต่เดิมนั้น ถึงจะว่าจริง ก็เปนการไกลห่างล่วงมาแล้วนาน ก็เชื่อยาก จะเอาเปนประมาณไม่ได้ ด้วยว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงเปนของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนยักย้ายไปเปนธรรมดา เพราะฉนั้น คำเกิน ๆ เช่นนี้ เราจะขอยกเสียไม่เลียนตามว่าตาม ซึ่งไม่ว่านั้นเพราะจะเห็นว่าพระเจ้ากรุงสยามของเราต่ำตระกูลกว่าเจ้านายในกรุงอังวะบัดนี้นั้นก็หามิได้ ด้วยว่าต้นเชื้อวงศ์ในประเทศพม่าแลไทยซึ่งใกล้เคียงกัน ก็มีสืบมาในพระราชพงศาวดารแลคำให้การคนไปมาเนือง ๆ ความจริงอย่างไรก็ย่อมแจ้งแก่คนทั้งสองประเทศที่พอใจฟังโดยจริงอยู่ด้วยกัน จะขอว่าแต่การที่ควร อันนี้เปนธรรมเนียมคนทั้งปวงทุกประเทศย่อมนับถือเจ้านายที่มีชาติภาษาแลกูลจารีตธรรมลัทธิเสมอกันมากกว่าชาติอื่นภาษาอื่น เพราะฉนั้น ฝ่ายข้างกรุงสยามนี้ ถึงเมื่อบ้านเมืองได้เปนระส่ำระสายยักย้ายไป ต้องอยู่ในอำนาจชาติอื่นภาษาอื่น แลความลำบากยากเข็ญซึ่งเปนมาแล้วแต่หลัง ดังครั้งจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีนั้นก็ดี ก็ยังได้รวบรวมประดิษฐานราชตระกูล มีเจ้านายที่สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎร์ทั้งปวงนับถือวงศ์ตระกูลแลคุณธรรมแต่เดิมมานั้นขึ้นดำรงรักษาพระราชอาณาจักรเปนพระเจ้าแผ่นดินเอกราช ไม่ต้องพึ่งเมืองอื่น ครอบครองแผ่นดินสืบมา แลพระราชวงศ์นี้มิใช่โจรราชอาณาจักร คือ ใครกล้าแขงกว่าผู้อื่นแล้วก็ขึ้นเปนใหญ่โดยลำพังพลานุภาพเท่านั้น อันพระราชวงศ์นี้เปนบรมวงศ์มหาราชอาณาจักรดำรงราชตระกูลมาด้วยความยินดียอมพร้อมเพรียงแห่งคนทั้งปวงซึ่งได้รับพระเดชพระคุณแลนับถือสืบมาในราชตระกูลแลอมัจจตระกูลสืบมาได้สี่ลำดับพระเจ้าแผ่นดิน นับกาลก็เกือบได้ร้อยปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้เปนบรมนัดดาธิราชของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์เปนปฐมพระบรมราชวงศ์นี้ แลเปนพระบรมราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์มาเปนที่สอง แลเปนบรมขนิษฐาธิราชของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์ลงมาเปนที่สาม แลพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเปนที่สี่ในพระบรมราชวงศ์นี้ ไม่มีคนตระกูลอื่นขัดคั่นแทรกแซงให้เสื่อมทราม เสวยราชสมบัติมาได้ ๗ ปีทั้งปีนี้ เมื่อก่อนยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนในพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาเปนอันมาก บัดนี้ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ได้ดำรงรักษาสยามราชอาณาจักรทั้งประเทศราชทั่วทุกทิศให้มีความศุขสำราญโดยราชวิธานกิจนั้น ๆ แลได้ทรงอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงให้มีอิศริยยศบริวารยศโดยถานานุศักดิ แลทรงทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองดำรงอยู่เปนปรกติ แลทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งปวงโดยสมควรแก่ศีลคุณสุตคุณ พระนครนี้เจริญรุ่งเรืองเปนศุขสำราญนิราศอุปัทวอันตราย.

อนึ่ง เพราะคำซึ่งมีมาในหนังสือว่า พม่าซึ่งมาครั้งนี้มานมัสการพระสังฆราชซึ่งเปนพระมหาเถรเจ้าเปนประธานในพระพุทธสาสนาในสยามประเทศนี้ แลพม่าพวกซึ่งมาครั้งนี้หาได้พบพระมหาเถรที่เรียกชื่อดังนั้นไม่ ก็ด้วยเหตุนั้นท่านผู้ใช้มาจะเข้าใจว่าในกรุงสยามบัดนี้การพระพุทธสาสนาจะไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชา เพราะฉนั้น จะขออธิบาย ชี้แจงมาให้ทราบ ด้วยตำแหน่งพระสังฆราชนั้นเดิมแต่ก่อนอย่างธรรมเนียมในสยามประเทศนี้แลเมืองอื่น ๆ ใกล้เคียงกันบรรดาเปนเมืองมีพระสงฆ์อยู่เปนที่นับถือโดยปรกติคนในพื้นบ้านเมืองนั้นย่อมมีจารีตมา คือ พระมหาเถรเจ้าองค์ใดซึ่งพระเถรานุเถรผู้น้อยผู้ใหญ่เจ้าหมู่เจ้าคณะในพระพุทธสาสนาเปนอันมากพร้อมใจกันนับถือบูชา เปนผู้ประกอบด้วยศีลแลปัญญาศรัทธาธิคุณควรจะเปนประธานที่พึ่งแก่พระสงฆ์ทั้งปวงแลราชตระกูลทั้งราษฎรในการสั่งสอนแนะนำให้ปฏิบัติการกุศลในพระพุทธสาสนาได้ด้วยดีแล้ว ในพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกับความคิดท่านเสนาบดีก็ย่อมแต่งตั้งพระมหาเถรเจ้าองค์นั้นให้มีอิศริยยศ บันดาศักดิอย่างใหญ่อย่างสูงกว่าพระสงฆ์ทั้งปวง เรียกนามว่าพระสังฆราช เยี่ยงอย่างนี้มีมานาน ครั้นเมื่อถึงรัชกาลแผ่นดินปัจจุบันนี้ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามได้ทรงสังเกตการเก่าที่มีมาในพระบาฬีอรรถกถาโดยเลอียดแล้ว ทรงปฤกษาด้วยพระสังฆเถรานุเถรผู้รู้พระปริยัติธรรม แลนักปราชญ์ราชบัณฑิตเปนอันมากเห็นพร้อมกันว่า คำว่าราชานี้ไม่ควรจะใช้เปนชื่ออันควรจะเรียกจะให้แก่บรรพชิตอื่นนอกจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะในบาฬีแลคัมภีร์อรรถกถาฎีกาใช้แต่พระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว เรียกบางแห่งว่าธรรมราชา ถึงฤาษีมุนีนอกจากพระสาสนาจะชื่อว่าราชิสีก็มีแต่พระเจ้าทัฬหเนมี พระเวสสันดร เปนต้น ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ก่อนแล้วออกทรงผนวช จึงได้นามเดิมมาเรียกบ้าง อย่างในจักรวัตติสูตรแลชาดกว่าราชฤาษี แต่ในพระพุทธสาสนาแล้ว ถึงท่านที่เปนเจ้าแผ่นดินมาแต่เดิม อย่างพระเจ้ามหากบิลราช พระเจ้าภัททิยราช พระเจ้าปุกกุสาติราช เปนต้น เมื่อได้ออกทรงบรรพชาแล้ว มีแต่นามว่าพระมหากบิลเถร พระภัททิยเถร พระปุกกุสาติภิกษุ ไม่ได้ปรากฎนามว่าราชาเลย ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมาแล้วถึงพระมหากัสสป พระสัพพกามิเถร แลพระโมคลีบุตรดิศเถร ซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในการปฐมทุติยตติยสังคายนายก็ดี พระมหินทเถรซึ่งเปนพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชออกไปประดิษฐานพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปก็ดี ก็ไม่ได้เรียกว่าสังฆราชเลย เพราะฉนั้น จึงพร้อมกันให้ยกตั้งนามว่าสังฆราชนั้นเสีย ไม่ได้ตั้งท่านองค์ใดเปนที่พระสังฆราชเลย แลในการแรกตั้งแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระบรมวงศ์เธอพระองค์หนึ่งเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์เปนปฐมในพระบรมราชวงศ์นี้ เปนขนิษฐาธิบดีของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศ์มาเปนที่สอง ได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาแต่ทรงพระเยาว์มา จนทรงพระเจริญพระชนม์ได้หกสิบพรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขระวิธี แลพุทธวจนะ แลวิชาการคดีโลกอื่น ๆ ในสำนักแห่งพระบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นมา ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงปฤกษาด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลเสนาบดีผู้ใหญ่ แลพร้อมด้วยอนุมัตยาภิชฌาไศรยแห่งพระเถรานุเถรเจ้าหมู่เจ้าคณะทั้งปวงด้วยกันแล้ว ได้สถาปนาพระบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นให้มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เปนพระสมณุตมมหาสังฆปรินายกอันใหญ่ยิ่งกว่าสงฆบริสัชทั่วทั้งสกลราชอาณาจักร กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเจ้านั้นจึงได้ทรงจัดแจงมอบคณะฝ่ายเหนือให้ขึ้นแก่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสถิตย์ณวัดสุทัศนเทพวราราม คณะใต้ให้ขึ้นแก่สมเด็จพระวันรัตนสถิตย์ณวัดอรุณราชวราราม คณะกลาง คือ พระสงฆ์ในเขตรแดนพระนครนี้ แบ่งกันบังคับว่ากล่าวเปน ๓ คณะ คือ ขึ้นณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามโดยมาก ขึ้นในพระบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ สถิตย์ณวัดบวรนิเวศวรวิหารบ้าง ขึ้นแก่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สถิตย์ณวัดมหาธาตุบ้างตามที่คุ้นเคย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้เสด็จดำรงอยู่ได้ ๓ พรรษาก็ทรงพระประชวรสิ้นพระชนม์ล่วงไป ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจึงโปรดให้จัดแจงการถวายพระเพลิงกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโรสเสร็จแล้ว ก็ยังทรงพระอาไลยถึงยิ่งนัก จึงได้โปรดให้ประดิษฐานพระอัฐิธาตุไว้ณพระตำหนักซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นได้เสด็จอยู่เหมือน ยังมีพระชนม์ มิได้ทรงตั้งแต่ท่านผู้ใดเปนที่พระสังฆราชต่อไปอิกเลย มีแต่ท่านที่เปนมหาเถรผู้ใหญ่เปนเจ้าคณะทั้งห้าว่ากล่าวตามคณะจนบัดนี้ ฝ่ายเราเปนเชษฐันเตวาสิกในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสจึงได้มาปฏิบัติเฝ้าพระอัฐิ แลรักษาหมู่คณะอยู่ณพระอารามนี้ตามอย่างเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะฉนั้น เมื่อพม่า ๔ คนมาถึงวัดราชาธิวาศ ไต่ถามพระสงฆ์ว่าจะมาหาพระสังฆราชพระสงฆ์ในพระอารามนั้น จึงได้พาพวกพม่ามายังสำนักเราณวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเคยเปนที่สถิตย์แห่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นดังนี้ แลการพระพุทธสาสนาในกรุงสยามนี้ถึงจะไม่มีสมเด็จพระสังฆราชตามอย่างเดิม เจ้าหมู่คณะทั้ง ๕ ก็มีสมัครสโมสรพร้อมกันปฤกษาว่ากล่าวการทั้งปวงให้เรียบร้อยเปนปรกติ การปฏิบัติเล่าเรียนก็บริบูรณ์อยู่ทุกประการ.

แต่ก่อนมาจนบัดนี้ คนชาวกรุงสยามประเทศนี้ได้รู้ทั่วกันมานานว่า พม่าเปนข้าศึกกับไทย เมื่อก่อนแต่นี้ไปภายน่าใน ๒๐๐ ปีลงมา พม่าได้กล่าวไทยว่าเปนอย่างไรกับพม่านั้น การที่จริงที่แท้อย่างไรในคำนั้นก็ดี พม่าได้ทำกับเมืองไทยอย่างไรก็ดี การทั้งปวงนั้นก็แจ้งอยู่กับใจของไทย แลบุตรหลานของไทยที่ตกอยู่ณเมืองพม่า ฤๅแต่ตัวพม่าที่เปนคนซื่อสัตย์มักสืบสาวการโบราณรู้เรื่องราวราชพงศาวดารแต่ก่อนอันจริงนั้นทุกประการแล้ว อย่าให้เราผู้เปนสมณต้องกล่าวถึงความบ้านเมืองแต่หลังมานั้นเลย ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงสยามแต่ก่อน ๆ ครั้งนี้ขึ้นไปนั้น มีพวกพม่าได้เข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานครหลายครั้งแล้ว มาอวดอ้างว่าเปนขุนนางทูตพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพม่าใช้มาบ้าง ว่าตัวเปนคนมีชาติมีตระกูลเปนเชื้อเจ้านายบ้าง เข้ามาขอเจริญทางพระราชไมตรีผูกพันสองพระนครให้เปนทองแผ่นเดียวกันบ้าง ฤาว่าจะหนีไภยข้างเมืองโน้นมา ฤๅขอให้ช่วยตัวด้วยกำลังอื่น ๆ บ้าง แลการที่คนเหล่านั้นให้การไว้อย่างไร ครั้นสืบฟังไป การก็เปนอย่างอื่นเปนเท็จแท้ไม่เปนจริงดังนั้น ภายหลังมามีพม่าบางพวกบางคนเข้ามาอิก มาพูดจากันต่าง ๆ เช่นนั้นอิก ก็ไม่มีใครเชื่อฟัง ผู้มีบันดาศักดิ์ย่อมมีความสงไสยว่าเปนคนสอดแนมเที่ยวสืบข่าวการบ้านเมือง ฤๅหลอกลวงจะเอาลาภผลรางวัลด้วยเล่ห์กล ท่านจึงจับตัวกักขังไว้บ้าง จองจำทำโทษเสียบ้าง มิได้ปล่อยให้ไปมาตามสบาย ครั้นข่าวนี้ทราบออกไปในเมืองพม่า คนในเมืองพม่า แม้ถึงเปนคนดีมีศรัทธาซื่อตรงประสงค์จะเข้ามาเที่ยวนมัสการพระเจดีย์แลทำบุญให้ทานด้วยเห็นแก่พระพุทธศาสนาฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวข้องด้วยราชการบ้านเมืองก็ดี ก็มีความสดุ้งเกรงกลัวจะต้องกักขังตัวไว้ จึงหาได้ไปมาถึงกันไม่นานแล้ว แต่บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์นี้ทรงพระกรุณาเมตตาแก่คนชาติมนุษย์ทุกประเทศที่ถือพระพุทธสาสนา ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาก็ทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองต่าง ๆ ที่เปนข้าศึกมาแต่ก่อนก็สงบเงียบมาช้านานแล้ว คนชาติอื่นภาษาอื่นที่ถือพระพุทธสาสนาถูกต้องกัน คือ พระสงฆ์ สามเณร แลคฤหัสถ์ จะเที่ยวชนบทจาริกแสวงหาข้อปฏิบัติแลนมัสการพระเจดีย์โดยความประสงค์ประโยชน์ชาติน่าก็ดี ฤๅลูกค้าวานิชเที่ยวค้าขายหมายผลประโยชน์ชาตินี้ก็ดี เมื่อไม่มีข้อเหตุต่าง ๆ ขัดขวางต่อการแผ่นดิน มาตามตรงไปตามตรงแล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดให้สำเร็จความประสงค์ของคนพวกนั้น จะมาให้มาจะไปก็ให้ไปตามสบาย ไม่ได้ห้ามหวงยึดหน่วงเอาตัวไว้ แลครั้งนี้เราได้เห็นพม่าพวกนี้เปนคนถือพระพุทธสาสนาเหมือนกัน เราได้ให้ล่ามไต่ถามพูดจาฟังดูก็เห็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องขัดขวางการแผ่นดินแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เราจึงได้รับรองโดยปรกติตามวิสัยสมณะ แลได้รับไทยธรรมของท่านโดยหารังเกียจมิได้ดังว่ามาแล้วแต่หลัง.

อนึ่ง เราขอแจ้งความมาให้ท่านเชื่อว่า ในกรุงเทพพระมหานครบัดนี้ พระพุทธสาสนาก็รุ่งเรืองดำรงอยู่ พระเถรานุเถรผู้ทรงคุณธรรมครอบครองหมู่คณะสั่งสอนพระสงฆ์สามเณรแลคฤหัสถ์ให้เล่าเรียนพระคัมภีร์ใหญ่น้อย แลได้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ก็มีอยู่มากทั้งภายในภายนอกพระนคร แลคัมภีร์พระพุทธวจนะ คือ บาฬีอรรถกถาฎีกาทั้งปวง ก็มีบริบูรณ์ในกรุงเทพมหานครนี้ เราทั้งหลาย คือ พระภิกษุสงฆ์ ขออนุโมทนาเจริญเมตตาอวยพรมาถึงท่าน ขอท่านจงมีความศุขสัวสดิเจริญ แลประกอบความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้มั่น จงบำเพ็ญการกุศลทานศีลภาวนาสัมมาปฏิบัติ เพื่อเปนอุปนิสัยแก่ทางสุคติสวรรค์นฤพาน ให้บริบูรณ์ทุกประการเทอญ ฯ

ลิขิตมาณวัน ฯ ค่ำ ปีมเสงนักกษัตร นพศก (พ.ศ. ๒๔๐๐)

เหตุที่พม่ามาเจรจาความเมืองในรัชกาลที่ ๔ ไม่เกี่ยวข้องแก่การที่ชวนเลิกรบพุ่งกันเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ได้พรรณามาแล้ว ด้วยล่วงมาถึงสมัยนี้พม่าเสิยอาณาเขตรแก่อังกฤษเสียเปนอันมาก หัวเมืองที่ต่อแดนไทยอันเปนหนทางแลทำเลที่รบพุ่งกันแต่ก่อนตกไปเปนหัวเมืองขึ้นของอังกฤษคั่นแดนไทยกับพม่าตลอดข้างตอนใต้ แดนไทยกับพม่ายังต่อติดกันแต่ทางเมืองประเทศราชไทยใหญ่ของพม่ากับมณฑลภาคพายัพข้างฝ่ายเหนือ เพราะฉนั้น ทูตพม่าที่มาคราวนี้จึงมาทางเมืองเชียงใหม่ มิได้มาทางเมืองกาญจนบุรีดังครั้งก่อน ๆ

ความประสงค์ของพม่าที่แต่งทูตเข้ามาปรากฎกล่าวในหนังสือของเสนาบดีพม่าถวายสมเด็จพระสังฆราชว่า ให้เข้ามาสืบการพระสาสนา ด้วยได้ข่าวเล่าลือไปว่า การพระสาสนาในเมืองไทยเจริญรุ่งเรืองมาก ความข้อนี้เห็นจะเปนมูลเหตุที่จริงส่วนหนึ่ง กิติศัพท์ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสามารถรอบรู้พระไตรปิฎก แลได้ทรงสอบสวนลัทธิพระธรรมวินัย วางระเบียบข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ให้เคร่งครัด มีผู้ศรัทธาประพฤติตามเปนอันมากมาแต่ครั้งยังทรงผนวชคงเลื่องฦๅออกไปถึงเมืองพม่า พระเจ้ามินดงจึงอยากทราบว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จผ่านพิภพแล้ว จะทรงจัดการฝ่ายพระพุทธจักรต่อมาประการใดบ้าง เพราะในเวลานั้นพระเจ้ามินดงกำลังปรารภจะบำเพ็ญเปนพุทธสาสนูปถัมภกให้เปนพระเกียรติยศแก้การที่พระเจ้าแผ่นดินพม่ารัชกาลก่อนแพ้สงครามอังกฤษ แต่เห็นจะยังมีความข้ออื่นอิกซึ่งเปนมูลเหตุให้พม่าแต่งทูตเข้ามาครั้งนั้น เพราะการที่แต่งทูตมาทางไกลต้องลงทุนรอนมาก การอันใดที่ทูตจะทำให้เปนประโยชน์ได้คงจะสั่งให้มาทำด้วยทั้งนั้น พิเคราะห์ดูกิจการอย่างอื่นซึ่งอาจจะเปนความมุ่งหมายขอบพม่าที่แต่งทูตมาครั้งนั้น สันนิษฐานว่า เห็นจะมีการที่พระเจ้ามินดงให้ทูตพม่ามาสืบอิก ๒ อย่าง คือ

อย่างที่ ๑ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๗ ไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ แลต่อมาในต้นปีมโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอเมริกันกับฝรั่งเศสอิก ๒ ชาติ ข่าวนี้คงทราบไปถึงเมืองพม่า ฝ่ายพม่าได้เคยทำหนังสือสัญญากับอังกฤษ แต่เปนสัญญาทำเมื่อแพ้สงครามครั้งแรก มาเมื่อแพ้สงครามอังกฤษครั้งที่ ๒ พระเจ้ามินดงไม่ยอมทำหนังสือสัญญา อ้างว่า พระเจ้าภุกามแมงที่ถูกปลงจากราชสมบัติเปนผู้ทำสงคราม พระเจ้ามินดงหาได้เปนผู้ทำสงครามไม่ การก็ค้างกันอยู่เพียงนั้น พระเจ้ามินดงคงอยากจะทราบว่า ไทยทำหนังสือสัญญากับฝรั่งโดยมิตรภาพได้ถึง ๓ ชาตินั้นด้วยอุบายอย่างใด แลฝรั่งที่มาเปนไมตรีกับไทยนั้นมาทำอย่างไรบ้าง จึงแต่งคนมาสืบสวนความข้อนี้อย่าง ๑

อย่างที่ ๒ นั้น แต่ก่อนไทยกับพม่าไปมาล่วงแดนกันไม่ได้ ด้วยต่างเกรงว่า ผู้ที่ไปมาจะสอดแนมการในบ้านเมืองโดยฐานปัจจามิตร ถ้าคนฝ่ายไหนล่วงแดนฤๅแม้แต่ไปใกล้ชายแดนก็มักถูกจับกุม ครั้นการสงครามสงบมา การที่จับกุมกันก็เสื่อมซาไป แต่ยังไม่บอกเลิกกันทั้ง ๒ ฝ่าย พม่าอยากจะเข้ามาค้าขายทางมณฑลภาคพายัพ พระเจ้ามินดงจึงแต่งให้คนมาสืบสวนถึงการที่ไทยจะยอมให้พม่ามายังเมืองไทยได้โดยสดวกฤๅยัง พม่าที่เข้ามาคงถามความข้อหลังนี้ที่พระพรหมมุนี จึงปรากฎกล่าวในลิขิตตอบว่า พระราชทานอนุญาตให้ผู้ที่จะไปมาโดยสุจริตไปมาค้าขายถึงกันได้ ไม่ห้ามปรามดังแต่ก่อน แลความข้อนี้ยังมีผลต่อมา ตั้งแต่ทูตพม่าเข้ามาคราวนั้นแล้ว ก็มีการค้าขายทางมณฑลภาคพายัพติดต่อกับแดนพม่า ต่อมาพระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์แต่งคนไปซื้อของที่เมืองพม่า พระเจ้ามินดงก็ให้รับรองจนถึงได้เข้าเฝ้าแทน แล้วพระเจ้ามินดงประทานสังวาลทองคำอันเปนทำนองเครื่องราชอิศริยาภรณ์ขอบพม่ามาให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์สาย ๑ เปนเหตุให้พวกลูกหลานพระเจ้าเชียงใหม่องค์ก่อนฟ้องหาว่า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เอาใจออกหากไปเข้ากับพม่า ถึงต้องมีข้าหลวงขึ้นไปไต่สวน พระเจ้ากาลิโลรสก็แก้คดีตามการที่เปนมา แล้วลงมายังกรุงเทพฯ เอาสังวาลนั้นมาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระเจ้ากาวิโลรสฯ หาได้คิดทรยศไม่ แต่สังวาลนั้นไม่ทรงรับไว้

เรื่องราวการที่ไทยกับพม่าได้เจรจาความเมืองกันมาแต่ก่อนหมดเนื้อความเพียงเท่านี้


  1. คำว่า เจ้าพระยาฉัททันต์ ตรงนี้หมายความว่า “พระเจ้าช้างเผือก”.
  2. คำว่า เจ้าหอน่า ตรงนี้หมายความว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
  3. ที่ว่า เมียเจ้าหอน่า ตรงนี้ เห็นจะหมายความว่า เจ้ารจจา ซึ่งเปนน้องของพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ
  4. ความตรงนี้ส่อให้เห็นว่า ในเวลาเมื่อเจ้าเมืองแสนหวีส่งบรรณาการมายังพระเจ้าเชียงใหม่แล้ว ทางโน้นไม่ช้าทัพพม่าก็มาถึงเมืองแสนหวี เกณฑ์พวกเมืองแสนหวีเข้าสมทบ จะยกลงมาขู่เหล่าเมืองที่ได้มาสามิภักดิ์ต่อไทย เจ้าเมืองแสนหวีร้อนใจ คงสั่งมังกลาโปแม่ทัพเมืองแสนหวีให้คิดลวงทั้งพม่าทั้งไทยเอาตัวรอด มังกลาโปจึงมาคบคิดกับพระยาพิมพิสาร ตรงนี้พระยาพิมพิสารไม่กล้าออกความตามจริง จึงให้การอ้อมแอ้ม
  5. ที่แท้คือจะลวงให้พอใจด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย
  6. ตรงนี้ความส่อว่า เจ้าเมืองแสนหวีคงบอกล่วงน่าไปทูลพระเจ้าอังวะว่าจะพาทูตเมืองเชียงใหม่ไปสามิภักดิ พระเจ้าอังวะจึงจัดการรับรองให้เปนพระเกียรติยศ
  7. ตรงนี้ ความจริงพระเจ้าอังวะคิดจะส่งพระยาพิมพิสารมาให้ไทยแล้ว จึงสั่งเจ้าเมืองเมาะตะหมะให้หาคนที่จะพามา เจ้าเมืองเมาะตะหมะจะคิดมาเจรจาความเมืองแต่โดยพลการนั้น ใช่วิสัยที่จะเปนได้
  8. ตรงนี้ส่อให้เห็นว่า เรื่องที่พระยาพิมพิสารไปเมืองพม่านั้น ฝ่ายไทยทราบอยู่ก่อนแล้ว
  9. เรื่องเจรจากันคราวที่ ๖ นี้ ปรากฎสำเนาหนังสือบริบูรณ์แต่หนังสือพระยากาญจนบุรีถึงเจ้าเมืองเมาะตะหมะฉบับเดียว นอกนั้นกล่าวไว้แต่เนื้อความทั้งนั้น.
  10. สูนาปรัตนตะ หมายความว่า ประเทศพม่า ตามพะทีป หมายความว่า ลังกาทวีป
  11. วิธีพม่ากับไทยมีหนังสือถึงกันในสมัยนั้น ใช้เอาหนังสือไปแขวนไว้ตรงหนทางที่ปลายแดน เพราะคอยจับกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ต่อเปนทูตมาจากเมืองหลวง จึงจะกล้าล่วงแดนเข้าไปหาอิกฝ่ายหนึ่ง
  12. คราวก่อนเมืองเมาะตะหมะเปนผู้มีหนังสือมา คราวนี้เปลี่ยนเปนเจ้าเมืองทวาย จะเปนด้วยขุนนางที่เปนเจ้าเมืองทวายได้รั้งราชการตำแหน่งเทศาภิบาลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ฤๅจะเปนด้วยพระเจ้าปดุงให้เปลี่ยนตัวผู้ที่จะพูดจากับไทยมาเปนเจ้าเมืองทวาย ก็อาจจะเปนได้ทั้งสองสถาน
  13. ความที่กล่าวว่าไม่ได้นำความขึ้นกราบทูลนั้น เปนแต่สำนวนทั้งฝ่ายเราแลฝ่ายเขา ที่จริงความถึงกราบทูลทุกฉบับ แลรู้เท่ากันดีทั้งสองฝ่าย
  14. เรื่องการสงครามคราวนี้ได้กล่าวไว้โดยพิสดารในหนังสือเรื่องพงศาวดารเรารบพม่า
  15. เดือน ๑๐ เหนือตรงกับเดือน ๘ ใต้
  16. ลิขิตนี้เปนพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนแน่ ไม่มีที่สงไสย.

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก