ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 52 (2482)
ด้วยพระโสภณอักษรกิจได้แสดงความจำนงมายังกรมศิลปากรว่า ในวาระที่พระยาและคุณหญิงอรรถศาสตร์โสภณจะประกอบการกุศลปัญญาสมวารอุทิศแด่คุณนายเชย วิฏฐารวินิจฉัย ใคร่จะพิมพ์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๒ เรื่อง "จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต" ช่วยเจ้าภาพเพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมกุศลในงานนั้น กรมศิลปากรจึงอนุญาตให้พิมพ์ได้ตามความประสงค์
ขออนุโมทนากุศลซึ่งพระโสภณอักษรกิจได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้อุทิศเป็นทักษิณานุปทาน จงเป็นผลบันดาลให้สำเร็จความสุขแด่คุณนายเชย วิฏฐารวินิจฉัย โดยควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพเทอญ.
วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๒
คุณนายเชย วิฏฐารวินิจฉัย เป็นผู้เคารพนับถือของข้าพเจ้า ได้ถึงมรณกรรมโดยกะทันหันในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ มิได้ล้มเจ็บให้เป็นที่ยากลำบากแก่ผู้รักษาพยาบาลอย่างใดเลย นับว่า ได้ไปโดยดี ฝากความอาลัยไว้แก่บุตร์หลานญาติมิตร์เป็นอันมาก ในวาระที่พระยา แลคุณหญิงอรรถศาสตร์โสภณ บุตรี ประกอบการกุศลปัญญาสมวารอุทิศแก่ท่านผู้ล่วงลับเป็นการสนองคุณคราวนี้ ข้าพเจ้าใคร่ที่จะสร้างสิ่งที่ระลึกไว้แก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้พิมพ์จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต อันเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยมรณานุสตินี้ เป็นของชำร่วยแก่ท่านผู้มาในงาน ขออานิสงส์อันนี้จงมีแก่คุณนายเชย วิฏฐานวินิจฉัย สำเร็จผลตามความมโนรถปรารถนาเทอญ
เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่ตำบลหว้ากอ | หน้า | ๑ |
เสด็จกลับกรุงเทพฯ | " | ๒ |
ทรงพระประชวรไข้ | " | ๒ |
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงประชวรพระยอด | " | ๓ |
ตั้งกองล้อมวงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ | " | ๕ |
ทรงมอบหมายการรักษาแผ่นดินแก่พระราชวงศและขุนนางผู้ใหญ่ | " | ๖ |
พระราชทานประคำทองแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ | " | ๖ |
พระราชกระแสเรื่องสืบราชสมบัติ | " | ๘ |
รับสั่งจะให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ เข้าเฝ้า | " | ๑๐ |
ทรงฝากฝังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ แก่พระยา | ||
สุรวงศฯ | " | ๑๑ |
ทรงอำลาพระราชวงศและข้าราชการ | " | ๑๓ |
พระราชดำรัสเรื่องราชการแผ่นดิน | " | ๑๔ |
ทรงพระราชนิพนธ์คำขมาสงฆ์ภาษาบาลี | " | ๑๕ |
คำแปลคำขมาสงฆ์ | " | ๑๗ |
เสด็จสวรรคต | " | ๑๙ |
พระราชวงศและข้าราชการที่มาประชุมเมื่อเสด็จสวรรคต | " | ๑๙ |
อปโลกถวายราชสมบัติพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ | " | ๒๒ |
อปโลกผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน | หน้า | ๒๔ |
อปโลกพระมหาอุปราช | " | ๒๕ |
คำปรึกษาถวายราชสมบัติ | " | ๒๘ |
ล้อมวงกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ | " | ๒๙ |
สรงพระบรมศพ | " | ๓๐ |
ประดิษฐานพระบรมศพ | " | ๓๑ |
แต่ก่อนแต่ไรมา ไม่ปรากฎว่า ได้เคยเห็นสุริยอุปราคาถึงหมดดวงที่ในประเทศสยามนี้ จนถึงกล่าวในตำราโหราศาสตรบางฉะบับซึ่งแต่งไว้แต่โบราณว่า มีหมดดวงแต่จันทรอุปราคา แต่สุริยอุปราคานั้นหามีที่จะถึงหมดดวงไม่ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาวิชชาโหราศาสตรทั้งตามตำราไทยและตำราฝรั่งจนชำนาญ ทรงคำนวณทราบว่า ในปีมะโรง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเห็นสุริยอุปราคาหมดดวงในประเทศสยามนี้เมื่อวันอังคาร ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๑๐ และทางโคจรของดวงอาทิตย์จะให้เห็นสุริยอุปราคาหมดดวงได้ที่ตำบลหว้ากอ แขวงจังหวัดประจวบคีรีขัณฑ์ อยู่ใต้คุ้งมะนาว ที่ตั้งสถานีอากาศยานเดี๋ยวนี้ไม่ห่างนัก มีพระราชดำรัสแถลงแก่พวกโหรไทยในสมัยนั้น ก็มิใคร่มีใครเห็นพ้องด้วย เพราะผิดกับที่กล่าวไว้ในตำรา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ตรัสเล่าเมื่อภายหลังว่า แม้พระองค์ท่านเองก็ไม่ทรงเชื่อ แต่หากเกรงพระราชอัธยาศัย ก็รับจะตามเสด็จไปดูด้วย จึงโปรดฯ ให้ตั้งพลับพลาสถานที่สำหรับทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่ตำบลหว้ากอนั้น แล้วเสด็จทรงเรือพระที่นั่งอัครราชวรเดชออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ ประทับณที่บางแห่งในระยะทาง เสด็จไปถึงพลับพลาที่ตำบลหว้ากอเมื่อวันจันทร เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ครั้งนั้น เซอแฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ขึ้นมาเฝ้าฯ และรัฐบาลฝรั่งเศสก็แต่งให้พวกโหรมาดูสุริยอุปราคาด้วย ที่หว้ากอมีการรับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์สูงด้วยอิกอย่าง ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าอยู่หัว ทรงตรากตรำทำการคำนวณสุริยอุปราคามาตั้งแต่ก่อนเสด็จไปจากกรุงเทพฯ ชั้นหนึ่งแล้ว ด้วยทรงเกรงว่า ถ้าไม่เป็นจริงดังทรงพยากรณ์ จะถูกพวกโหรหมิ่น ครั้นเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ที่พลับพลาหว้ากอ ก็ยังทรงตรากตรำด้วยการรับแขกเมือง กับทั้งทรงคำนวณสุริยอุปราคา คือ พยากรณ์เวลาที่จะเริ่มจับ เวลาที่จะหมดดวง และเวลาที่ดวงพระอาทิตย์จะเป็นโมกขบริสุทธิ เป็นต้น บรรดาผู้ซึ่งไปโดยเสด็จและอยู่ใกล้ชิดพระองค์ได้สังเกตเห็นพระสิริรูปซูบลงและพระฉวีก็มัวคล้ำไม่ผ่องใสตั้งแต่เสด็จไปจากกรุงเทพฯ แล้ว เวลาเสด็จประทับอยู่ที่หว้ากอก็ยังเป็นเช่นนั้น และมีอาการทรงพระกรรสะเพิ่มขึ้นด้วยอิกอย่างหนึ่ง แต่บางทีจะเป็นเพราะพระปิติปราโมทด้วยสุริยอุปราคาเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ นั้นหมดดวงดังทรงพยากรณ์และตรงเวลาดังได้ทรงคำนวณมิได้เคลื่อนคลาศ เป็นเหตุให้ทรงเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาเสด็จประทับอยู่หว้ากอ ๙ วัน ครั้นณวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๒ ค่ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งกลับคืนมายังพระนคร เสด็จถึงกรุงเทพฯ เมื่อณวันศุกร เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ต่อมาอิก ๕ วัน ถึงวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ก็เริ่มมีพระอาการประชวรไข้จับ ตั้งแต่จับประชวรได้ไม่ช้า พระองค์ก็ทรงทราบโดยพระอาการว่า ประชวรครั้งนั้นเห็นจะเป็นที่สุดพระชนมายุสังขาร ได้มีรับสั่งแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ให้ทรงทราบ[1] มีพระราชดำรัสสั่งพระราชประสงค์และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ แล้วจึงมีรับสั่งแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ อธิบดีกรมหมอ ว่า พระอาการประชวรครั้งนี้มากอยู่ ให้ประชุมแพทย์ปรึกษากันตั้งพระโอสถ และมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เสด็จเข้าไปอยู่ประจำกำกับหมอที่ในพระบรมมหาราชวัง.
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรเสด็จออกไม่ได้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ก็เสด็จเข้าไปพยาบาลอยู่ข้างที่ ทรงพยาบาลสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่ได้วัน ๑ จับมีพระอาการไข้ไม่ทรงสบาย แต่ถึงเวลาก็ยังอุส่าห์เสด็จเข้าไปเฝ้าพยาบาลอยู่ข้างที่ตามเคย ต่อถึงวันที่ ๒ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกพระหัตถ์ลูบพระพักตรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เห็นร้อนผิดปรกติ ก็ทรงทราบว่า ประชวรไข้ด้วย จึงตรัสสั่งให้เสด็จกลับไปพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ อย่าให้ทรงเป็นกังวลถึงการที่จะเข้าไปเฝ้ารักษาพยาบาลเลย ให้เร่งรักษาพระองค์ให้หาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จกลับออกมาถึงพระตำหนัก พระโรคไข้ป่าก็กำเริบมากขึ้น ประชวรไข้อยู่หลายวัน พอพระอาการไข้ค่อยคลาย ก็เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระสอ พระอาการกลับซุดลงไปอิกจนถึงประชวรเพียบหนักอยู่เป็นหลายเวลา พระอาการจึงค่อยคลายขึ้น แต่พระกำลังยังอ่อนเพลียมากนัก จึงต้องปกปิดมิให้ทรงทราบพระอาการของสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดมาจนพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต.
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร พระอาการซุดลงโดยลำดับ[2] ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระราชพิธีศรีสัจปานกาล เสด็จออกไม่ได้ ข้าราชการประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[3] แล้ว จึงพร้อมกันมาถวายบังคมที่ในท้องพระโรงพระอภิเนาวนิเวศ[4] และในที่นั้น พระราชวงศานุวงศประชุมกันถือน้ำตามประเพณีที่ไม่เสด็จออกวัดฯ ในเวลาที่พระราชวงศานุวงศและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น[5] เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในข้าราชการทั้งปวง กล่าวในที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร พระอาการมากอยู่ ทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ก็ประชวรอยู่ด้วย ไม่ควรจะประมาท แล้วจึงสั่งให้จัดการรักษาพระบรมมหาราชวังกวดขันขึ้นกว่าปกติ และให้ตั้งกองล้อมวงพระตำหนักสวนกุหลาบอันเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ด้วย ตั้งแต่วันนั้นมา เจ้านายและเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ก็เข้ามาอยู่ประจำที่ในพระบรมมหาราชวัง
ถึงณวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร ซึ่งเป็นพระราชวงศผู้ใหญ่โดยเจริญพระชนมายุกว่าพระองค์อื่น ๆ พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระราชวงศผู้ใหญ่ในราชการพระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในข้าราชการทั้งปวงคน ๑ เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน แล้วมีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจในการปกครองพระราชอาณาจักรให้ท่านทั้ง ๓ ปรึกษาหารือกันบังคับบัญชาการต่างพระองค์ในเวลาทรงพระประชวร อย่าให้ราชการบ้านเมืองติดขัดผันแปรเป็นเหตุให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน
และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำนั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวาย แล้วทรงเลือกพระประคำทองสาย ๑ อันเป็นของพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[6] กับพระธำมรงค์เพ็ชร์องค์ ๑ ให้พระราชโกษา[7] เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และบอกให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ทราบตามพระกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบ ด้วยเวลานั้น ปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมชนกนาถประชวร พระอาการมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ว่า ของทั้ง ๒ สิ่งนั้นพระราชทานเป็นของขวัญโดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่า พระอาการที่ประชวรค่อยคลายขึ้น เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ดำรัสถามว่า ของขวัญ เหตุใดจึงพระราชทานพระประคำพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้ว ต่างก็กลับมา ในเวลานั้น เห็นจะเป็นด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเห็นว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรเห็นการที่จัดตั้งกองล้อมวงแล้ว กลับเข้าไปข้างในก็คงจะกราบทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อกลับมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศกับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทปรึกษากันว่า ควรจะกราบทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบถึงการที่จัดไว้ จึงสั่งพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเข้าไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านายผู้ใหญ่กับเสนาบดีปรึกษากันเห็นว่า พระอาการที่ทรงพระประชวรมากอยู่ ไม่ควรจะประมาทแก่เหตุการณ์ ได้สั่งให้จัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระบรมมหาราชวังให้กวดขันขึ้น และได้ตั้งกองล้อมวงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วย[8] เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบทูลความนี้ให้ทรงทราบ มีรับสั่งถามว่า ได้เห็นผู้คนล้อมวงที่สวนกุหลาบจริงหรือ และมีผู้หลักผู้ใหญ่ใครดูแลการล้อมวงอยู่ที่นั่น เมื่อได้ทรงทราบแล้ว จึงดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกลับออกไปทูลกรมหลวงวงศาฯ และแจ้งแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศว่า การที่จะสืบสนองพระองค์นั้น ขอให้คิดมุ่งหมายเอาแต่ความเรียบร้อยมั่นคงของพระราชอาณาจักรเป็นประมาณ พระองค์ไม่ได้ตั้งพระราชหฤทัยมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไรดอก ผู้ที่จะรับราชสมบัติจะเป็นน้องยาเธอก็ได้ หลานเธอก็ได้ ขอแต่ให้ได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังทรงพระเยาว์นัก จะทรงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองได้และหรือ ขอให้คิดกันดูให้ดี เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ท่านทั้งสองนั้นจึงเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ มาปรึกษาอิกพระองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้เข้าไปกราบบังคมทูลว่า ได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ สมควรจะรับราชสมบัติสืบสนองพระองค์ ราชการบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ ข้อซึ่งทรงพระปริวิตกว่า ยังทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ รับจะสนองพระเดชพระคุณช่วยดูแลประคับประคองในส่วนพระองค์มิให้เสื่อมเสียได้ เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีนำความเข้าไปกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระปริวิตกว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีจะเชิญกระแสรับสั่งออกไปแจ้งไม่ถูกถ้วนตามพระราชประสงค์ ครั้นรุ่งขึ้น ณวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ จึงดำรัสสั่งให้พระศรีสุนทรโวหาร[9] เขียนกระแสรับสั่งพระราชทานให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญออกมายังที่ประชุมพระราชวงศและเสนาบดีว่า ผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระบรมราชวงศต่อไปนั้น ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันแล้วแต่จะเห็นว่า เจ้านายพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดี พระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานเธอก็ดี สมควรจะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อพร้อมกันเห็นว่า พระองค์ใดจะปกครองรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้นสืบสนองพระองค์ต่อไป กระแสรับสั่งซึ่งโปรดฯ ให้เขียนออกไปอ่านในที่ประชุมเสนาบดีนี้ ไม่ปรากฎว่า มีคำที่ประชุมตอบประการใด
ในระหว่างนั้น เห็นจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ประชวร พระอาการมากอยู่นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลฯ ให้ทรงทราบ เพราะเกรงกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ ก็จะทรงพระปริวิตกวุ่นวาย พระอาการจะซุดหนักไป จึงปิดความเสีย ครั้นณวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีถวายปฏิญาณก่อน แล้วจึงดำรัสถามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งรับสั่งเรียกว่า "พ่อใหญ่" นั้น สิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังมีพระชนม์อยู่[10] ขอให้กราบทูลแต่โดยสัตย์จริง ถ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ก็จะได้หมดห่วง พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบบังคมทูลฯ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เดิมประชวรไข้ ครั้นไข้ค่อยคลาย เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระสอ พระอาการมากอยู่คราวหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ ค่อยคลายขึ้นแล้ว เป็นความสัตย์จริงดังนี้ มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ให้ไปทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ว่า ถ้าพระอาการค่อยคลาย พอจะมาเฝ้าได้ ให้เสด็จมาเสียก่อนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ถ้ารอไปจนถึงวันแรมค่ำ ๑ ก็จะได้แต่สรงพระบรมศพ ไม่ทันสั่งเสียอันใด พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ท่านทั้งสองปรึกษากันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระกำลังยังอ่อนนัก ถ้าเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าในเวลานั้น คงจะทรงพระโศกาดูรแรงกล้า น่ากลัวพระโรคจะกลับกำเริบขึ้น เห็นควรจะระวังรักษาอย่าให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ มีภัยอันตรายจะดีกว่า จึงพร้อมกันห้ามเสียไม่ให้ไปทูลให้ทราบพระราชประสงค์ และให้กราบทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระอาการค่อยคลายแล้ว แต่พระกำลังยังน้อยนัก เสนาบดีปรึกษากันเห็นว่า ยังจะเชิญเสด็จมาเฝ้าไม่ได้
ในวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น จึงมีรับสั่งให้หาพระยาสุรวงศวัยวัฒน์[11] จางวางมหาดเล็ก เข้าไปเฝ้าพร้อมกับพระยาบุรุษฯ ดำรัสถามพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ว่า พระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า พระอาการค่อยคลายขึ้นแล้ว ตรัสถามต่อไปว่า การแผ่นดินเดี๋ยวนี้จัดกันอย่างไร พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ผู้บิดา เห็นว่า อาการที่ทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษากับพระราชวงศและข้าราชการผู้ใหญ่เห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ควรจะรับสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์ต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงได้สั่งให้เจ้าพนักงานตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบหลายเวลามาแล้ว มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ พระชันษายังเยาว์ จะทรงบังคับบัญชาราชการแผ่นดินอย่างไรได้ เกรงจะทำการไปไม่ตลอด เจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงพระสติปัญญาก็มีอยู่มาก พระองค์ใดควรจะว่าราชการแผ่นดินได้ จะเลือกพระองค์นั้นก็ควร อย่าให้เกิดเป็นภัยอันตรายแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ขึ้นครองราชสมบัติ น่ากลัวจะมีเหตุร้ายไปภายหน้า ด้วยคนทั้งหลายตลอดจนชาวนานาประเทศก็นิยมนับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ว่า เป็นรัชชทายาท แม้สมเด็จพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมปเรอฝรั่งเศส ก็ได้มีพระราชสาสนทรงยินดี ประทานพระแสงมีจารึกยกย่องพระเกียรติยศเป็นรัชชทายาทมาเป็นสำคัญ ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การภายหน้าเห็นจะไม่ปกติเรียบร้อยได้ มีพระราชดำรัสว่า เมื่อเห็นพร้อมกันเช่นนั้น ก็ตามใจ แล้วทรงชี้แจงต่อไปถึงครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีรับสั่งให้หาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศเข้าไปทรงฝากฝังสั่งเสียราชการแผ่นดิน รับสั่งให้หาแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ แต่ยังเป็นจางวางมหาดเล็ก เข้าไปทรงสั่ง ครั้งนี้ พระองค์ทรงประพฤติตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิได้มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเข้ามาสั่งเสีย ให้พระยาสุรวงศวัยวัฒน์เป็นผู้รับสั่ง เมื่อจะขัดขวางอย่างใด ก็จงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ผู้เป็นบิดา เถิด ไหน ๆ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ก็ได้เป็นเขย การที่ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ครองราชสมบัติต่อไปนั้น ขอทรงฝากฝังให้ช่วยกันทำนุบำรุงให้ดี อย่าให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจจะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกัน ต้องระวังอย่าให้มีเหตุเช่นพระเสนหามนตรี[12] ถ้าเกิดเหตุขึ้นเช่นนั้น จะอายเขา พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลฯ รับว่า จะไปคิดอ่านกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ผู้บิดา สนองพระเดชพระคุณมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้
ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก เข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสว่า เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้ กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตรายหรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนียรเทศ ขอให้ท่านทั้ง ๓ จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด ท่านทั้ง ๓ เมื่อได้ฟังก็พากันร้องไห้สอึกสอื้นอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อกาละมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า มีพระราชประสงค์จะรับสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า สติสัมปชัญญยังเป็นปกติ ถึงภาษาอื่น มิใช่ภาษาของตน ก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่า มิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็นพระธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อนให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน[13] อนึ่ง ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่ที่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็จงยกย่องพระองค์นั้นขึ้น จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินให้พระราชวงศานุวงศข้าราชการและอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาตามเห็นว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด มีพระราชดำรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสสั่งถึงราชการแผ่นดินอีกต่อไป เวลาเย็นวันนั้น ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำขอขมาและลาพระสงฆ์โดยภาษาบาลี แล้วทรงพระปริวิตกว่า พระองค์ทรงพระประชวร พระอาการมากถึงเพียงนั้น พระสติสัมปชัญญะจะฟั่นเฟือนไป จึงมีรับสั่งให้หาพระศรีสุนทรโวหาร ฟัก เปรียญ เข้าไปเฝ้าที่ข้างที่พระบรรทม ทรงท่องพระราชนิพนธ์ให้ฟัง แล้วตรัสถามว่า ยังทรงภาษาบาลีถูกต้องอยู่หรือประการใด พระศรีสุนทรกราบทูลว่า ยังถูกต้อง จะหาวิปลาสแต่แห่งใดนั้นมิได้ จึงมีรับสั่งให้พระศรีสุนทรฯ เขียนพระราชนิพนธ์นั้นดังต่อไปนี้
ยกฺเฆ ภนฺเต สงฺโฆ ชานาตุ มยฺหํ ภิกฺขุกาเล ปุนปฺปุนํ เอสา วาจา ภาสิตา ยโตหํ มหาปวารณาย ชาโต กาลํ กุรุมาโน สเจ มหาปวารณาทิวเส พาฬฺหคิลาโน อุโปสถาคาเร มหาปวารณาสนฺนิปาตํ นีโต ตถารูเปน พเลน สมนฺนาคโต ยถารูเปน พเลน สงฺฆํ เตวาจิกํ ปวาเรตฺวา สงฺฆสฺส สมฺมุขา กาลํ กเรยฺยํ ตํ สาธุวตสฺส ตํ เม อนุรูปํ อสฺส อิติ เอวรูปี วาจา ปุนปฺปุนํ ภิกฺขุกาเล ภาสิตา อิทานมฺหิ คหฎฺโฐ กฺยาหํ กาหามิ เตนาหํ อิเม สกฺกาเร วิหารํ ปหินามิ อิเมหิ สกฺกาเรหิ มหาปวารณากมฺมํ กโรนฺตํ สงฺฆํ ธมฺมเมว ปูเชมิ อตฺตานํ วิย กตฺวา อยํ มหาปวารณา คุรุวาริกา ยถา มม ชาตทิวโส อาพาโธ เม อภิวฑฺฒติ เอวํ ภายามิ อชฺช กาลํ กเรยฺยํ อาปุจฺฉามหํ ภนฺเต สงฺฆํ จิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ อรหนฺตํ สมฺมาสมฺพุทฺธํ ตสฺส ธมฺมํ นมสฺสามิ อริยญฺจ สงฺฆํ นมามิ ยมฺหํ รตนตฺตยํ สรณํ คโตมฺหิ
อจฺจโย มํ ภนฺเต อจฺจคฺคมา ยถาพาลํ ยถามุฬฺหํ ยถาอกุสลํ โยหํ ภนฺเต อิมสฺมึ อตฺตภาเว ตถา ตถา ปมตฺโต อกุสลานิ กมฺมานิ อกาสึ ตสฺส เม ภนฺเต สงฺโฆ อจฺจยํ อจฺจยโต ปฏิคฺคณฺหตุ อายตึ สํวราย
อิทานิ มยา ปญฺจสุ สีเลสุ สํวราธิฏฺฐานํ กตํ ตสฺส มยฺหํ เอวรูโป มนสิกาโร อนุฏฺฐหิยติ สิกฺขิยติ ปญฺจสุ ขนฺเธสุ ฉสุ อชฺฌตฺติเกสุ อายตเนสุ ฉสุ พาหิเรสุ อายตเนสุ ฉสุ วิญฺญาเณสุ ฉสุ สมฺผสเสสุ ฉสุ ฉทฺวาริเกสุ เวทนาสุ นตฺเถตํ โลกสฺมึ ยํ อุปาทิยมานํ อนวชฺชํ อสฺส ยํ วา ปุริโส อุปาทิยนฺโต อนวชฺชวา อสฺส อนุปาทานํ สิกฺขามิ สพฺเพ สํขารา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ยถาปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เม โส อตฺตา อิติ ยํ ยํ มรณํ สตฺตานํ ตํ อนจฺฉริยํ ยโต เยตํ สพฺเพสํ มคฺโค อปฺปมตฺตา โหนฺตุ ภนฺเต อาปุจฺฉามิ วนฺทามิ ยํ เม ปราธํ สพฺพํ เม สงฺโฆ ขมตุ.
อาตุรสฺมึปิ เม กาเย | จิตฺตํ น เหสฺสตาตุรํ | |
เอวํ สิกฺขามิ พุทฺธสฺส | สาสนานุคตึ กรํ. |
ขอเตือนสงฆ์จงรู้ เมื่อครั้งดีฉันเป็นภิกษุอยู่ ดีฉันได้กล่าววาจานี้เนือง ๆ ว่า เพราะดีฉันได้เกิดแล้วในวันมหาปวารณา เมื่อจะทำกาละ ถ้าในวันมหาปวารณาป่วยหนักลง ภิกษุสงฆ์สามเณรช่วยนำไปยังที่สงฆ์ประชุมทำมหาปวารณาณโรงอุโบสถ ประกอบไปด้วยกำลังเช่นนั้น ด้วยกำลังเช่นใดเล่า ดีฉันจะพึงปวารณากะสงฆ์ถ้วนกำหนดสามคำได้แล้วทำกาละณที่ฉะเพาะหน้าสงฆ์ ความที่ดีฉันทำได้ดังนี้จะเป็นกรรมดีเทียวหนอ ความทำได้ดังนี้จะเป็นกรรมสมควรแก่ดีฉันเทียวหนอ วาจาเช่นนี้ดีฉันได้กล่าวแล้วเนือง ๆ เมื่อครั้งเป็นภิกษุ บัดนี้ ดีฉันเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว จักทำอะไรได้ เพราะเหตุนั้น ดีฉันจึงส่งเครื่องสักการเหล่านี้ไปยังวิหารบูชาสงฆ์ซึ่งทำปวารณากรรมกับทั้งพระธรรม ด้วยเครื่องสักการเหล่านี้ทำให้เป็นประหนึ่งตน วันมหาปวารณาวันนี้ก็เป็นวันพฤหัสบดี เช่นกับวันดีฉันเกิดเหมือนกัน อาพาธของดีฉันก็เจริญกล้า ดีฉันกลัวอยู่ว่า จะทำกาลเสียณเวลาวันนี้ ดีฉันขอลาพระสงฆ์ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธแม้ปรินิพพานแล้วนาน นมัสการพระธรรม นอบน้อมพระอริยสงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดีฉันได้ถึงพระรัตนไตรยไรเล่าว่า เป็นสรณที่พึ่ง โทษล่วงเกินได้เป็นไปล่วงดีฉันผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ดีฉันผู้ใดได้ประมาทไปแล้วด้วยประการนั้น ๆ ทำอกุสลกรรมไว้แล้วณอัตตภาพนี้ พระสงฆ์จงรับโทษที่เป็นไปล่วง โดยความเป็นโทษเป็นไปล่วงจริงของดีฉันผู้นั้น เพื่อสำรวมระวังต่อไป
บัดนี้ ดีฉันได้ทำความอธิษฐานการสำรวมในศีลห้าแล้วมนสิการ ความทำในใจเช่นนี้ดีฉันได้ให้เกิดขึ้นศึกษาอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ อายตนภายใน ๖ อายตนภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนาที่เป็นไปในหกทวาร ๖ สิ่งใดที่สัตว์มาถือเอามั่นจะพึ่งเป็นของหาโทษมิได้ อนึ่ง บุรุษมายึดมั่นสิ่งไรไว้จะเป็นผู้หาโทษมิได้ สิ่งนั้นไม่มีเลยในโลก ดีฉันมาศึกษาการไม่ยึดมั่นอยู่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงใช่ตัวตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย สิ่งนั้นใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นเรา ส่วนนั้นมิใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ ความตายใด ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ความตายนั้นไม่น่าอัศจรรย์ เพราะความตายนั้นเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเถิด ดีฉันขอลา ดีฉันไหว้ สิ่งใดดีฉันได้ผิดพลั้ง สงฆ์จงอดสิ่งทั้งปวงนั้นแก่ดีฉันเถิด
เมื่อกายของดีฉันแม้กระสับกระส่ายอยู่ จิตต์ของดีฉันจักไม่กระสับกระส่าย
ดีฉันมาทำความไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศึกษาอยู่ด้วยประการดังนี้ ฯ
แล้วโปรดฯ ให้พระศรีสุนทรโวหารเชิญพระราชนิพนธ์นี้ไปพร้อมด้วยเครื่องสักการ ไปอ่านในที่ประชุมพระสงฆ์ มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นประธาน ที่ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐเมื่อเวลาค่ำก่อนพระสงฆ์ทำพิธีปวารณา พอถึงเวลา ๙ นาฬิกา พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่เสด็จสวรรคตณพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ จดหมายเหตุทรงพระประชวรยังมีความข้ออื่นอีก ปรากฎอยู่ในท้ายพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ คัดเนื้อความมากล่าวไว้ในที่นี้ฉะเพาะแต่ข้อความอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็สั่งให้เจ้าพนักงานล้อมวงรักษาพระราชมนเทียรทั้งข้างหน้าข้างใน แล้วสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมรวม ๒๕ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นหัวหน้า มานั่งเป็นประธานในที่ประชุมพระราชวงศานุวงศและข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งประชุมกันอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม
พระราชวงศานุวงศซึ่งประทับอยู่ในที่ประชุมเวลานั้น พระเจ้าน้องยาเธอ ๗ พระองค์ คือ ๑ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ๒ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓ กรมหมื่นถาวรวรยศ ๔ กรมหมื่นวรศักดาพิศาล ๕ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ๖ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ๗ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ พระเจ้าราชวรวงศเธอ ๖ พระองค์[15] คือ ๑ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ๒ กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ ๓ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ๔ กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ๕ กรมหมื่นอักษรสารโสภณ ๖ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระเจ้าบวรวงศเธอ ๓ พระองค์ คือ ๑ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ๒ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ ๓ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ นอกจากนี้ พระเจ้าลูกยาเธอที่เป็นชั้นใหญ่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๗ พระองค์ คือ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร ๒ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ๓ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ ๔ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ๕ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ๖ พระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย์ ๗ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ เจ้านายทั้งปวงนี้ เวลาประชุม ประทับทางด้านตะวันตก แต่ตรงหน้าพระแท่นเศวตฉัตรเรียงไปข้างด้านเหนือ ข้างด้านเหนือพระสงฆ์นั่ง กรมหมื่นบวรรังษีฯ ประทับเป็นประธานอยู่ข้างหน้า ส่วนพระสงฆ์ที่มานั่งในที่ประชุมนั้น มีพระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระสาสนโสภณ (สา) วัดราชประดิษฐ ๑ พระอมรโมลี (นพ) วัดบุบผาราม ๑ นอกนั้นเป็นถานานุกรมและเปรียญล้วนคณะธรรมยุติกาที่มาประชุมฟังพระอาการอยู่ที่วัดราชประดิษฐทุก ๆ วัน[16] สังฆการีย์ไปนิมนต์ จึงได้มาพร้อมกันโดยเร็ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะฝ่ายมหานิกายด้วย แต่มาไม่ทันประชุม ส่วนขุนนางนั้นนั่งด้านตะวันออก จางวางมหาดเล็กอยู่ทางด้านใต้ ขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าประชุมเวลานั้น ข้าราชการฝ่ายพระบรมมหาราชวัง คือ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ๒ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายก ๓ พระยามหาอำมาตย์ (ลมั่ง สนธิรัตน) ๔ พระยาราชภักดี (ช้าง เทพหัสดิน ณอยุธยา) ๕ พระยาศรีพิพัฒน (แพ บุนนาค) ๖ พระยาเพชรพิชัย (หนู เกตุทัต) ๗ พระยาสีหราชเดโช (พิณ) ๘ พระยาสีหราชฤทธิไกร (บัว) ๙ พระยาราชวรานุกูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ๑๐ พระยาเทพประชุม (ท้วม บุนนาค)[17] ๑๑ พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย ยมาภัย) ๑๒ พระยาอนุชิตชาญชัย (อุ่น) ๑๓ พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ (วร บุนนาค) ๑๔ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) ๑๕ พระยาศรีเสาวราช (ภู่) ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง ๑๖ เจ้าพระยามุขมนตรี (เกต สิงหเสนี) ๑๗ พระยามณเฑียรบาล (บัว) ๑๘ พระยาเสนาภูเบศ (กรับ บุณยรัตพันธุ์) ๑๙ พระยาศิริไอศวรรย์ ๒๐ พระยาสุรินทรราชเสนี (ชื่น กัลยาณมิตร)[18] นอกจากขุนนางผู้ใหญ่ ยังมีเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจขัดกระบี่นั่งประจำอยู่ข้างหลังเสนาบดีข้างมุขตะวันออกอีกหลายคน แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการประชุม
พอเวลาเที่ยงคืน ที่ประชุมพร้อมแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประสานมือหันหน้าไปทางเจ้านาย กล่าวในท่ามกลางประชุมว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อเวลายาม ๑ บัดนี้ แผ่นดินว่างอยู่ การสืบพระบรมราชสันตติวงศตามราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนนั้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะสวรรคต ไม่ได้ทรงสั่งมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด ด้วยอาการพระโรคตัด ตรัสสั่งไม่ได้ เสนาบดีจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคต มีรับสั่งคืนราชสมบัติแก่เสนาบดีตามแต่จะปรึกษากันให้เจ้านายพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศและเสนาบดีปรึกษากันถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรอยู่ ได้มีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ และเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าไปเฝ้า พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ว่า ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้น ให้พระราชวงศานุวงศและข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่า พระราชวงศพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอ ซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศพระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ บัดนี้ ท่านทั้งหลายทั้งปวงบรรดาอยู่ในที่ประชุมนี้จะเห็นว่า เจ้านายพระองค์ใดสมควรจะเป็นที่พึ่งแก่พระบรมวงศานุวงศ ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎร ดับยุคเข็ญได้ ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางประชุมนี้ อย่าได้มีความหวาดหวั่นเกรงขาม.
ขณะนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร ซึ่งมีพระชนมายุยิ่งกว่าพระราชวงศานุวงศทั้งปวง จึงเสด็จลุกคุกพระชงฆ์ หันพระพักตร์ไปทางข้างตะวันออก ประสานพระหัดถ์ ตรัสขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเดชพระคุณ ได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศและมุขมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงมาเป็นอันมาก พระคุณเหลือล้น ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนให้ถึงพระคุณได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
เมื่อกรมหลวงเทเวศร์ฯ ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงถามที่ประชุมเรียงพระองค์เจ้านายและเรียงตัวข้าราชการผู้ใหญ่ แต่ส่วนพระ ถามฉะเพาะกรมหมื่นบวรรังษีฯ พระองค์เดียว ถามตั้งแต่กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้นมา ทุกพระองค์ทุกท่านประสานพระหัดถ์และประสานมือยกขึ้นรับว่า "สมควร" เมื่อเห็นชอบพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงอาราธนาพระสงฆ์สวยชยันโตและถวายอติเรก.[19]
เมื่อประชุมเห็นพร้อมกันว่า ควรถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ แล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงกล่าวถามต่อไปในที่ประชุมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบบังคมทูลฯ ให้ทรงทราบว่า ปรึกษากันจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า ทรงพระวิตกอยู่ ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังทรงพระเยาว์ จะไม่ทรงสามารถว่าราชการแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขแก่พระราชวงศานุวงศข้าทูลละอองธุลีพระบาทสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ดังสมควร พระกระแสที่ทรงพระปริวิตกเช่นนี้ จะคิดอ่านกันอย่างไร.
กรมหลวงเทเวศร์ฯ ตรัสว่า ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศว่าราชการแผ่นดินไปกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ จะทรงผนวชพระ[20] เจ้าพระยาศรีสุริยวงศถามความข้อนี้แก่ที่ประชุม ก็ให้อนุมัติเห็นสมควรพร้อมกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องการพระราชพิธีต่าง ๆ ท่านไม่สู้เข้าใจ ขอให้เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศด้วยอิกพระองค์หนึ่ง ที่ประชุมก็อนุมัติเห็นชอบด้วย.
เมื่อเสร็จการปรึกษาตอนถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ แล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงกล่าวขึ้นอิกว่า แผ่นดินที่ล่วงแล้วแต่ก่อน ๆ มา มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีมหาอุปราชฝ่ายหน้า เป็นเยี่ยงอย่างมาทุก ๆ แผ่นดิน ครั้งนี้ ที่ประชุมจะเห็นควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่.
กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทรเสด็จลุกคุกพระชงฆ์ประสานพระหัดถ์ตรัสขึ้นอิกว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณมาแก่พระบรมวงศานุวงศและข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก ควรจะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นบวรวิชัยชาญก็ทรงชำนิชำนาญการต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงศึกษามาตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงปกครองพวกข้าไทยฝ่ายพระราชวังบวร และคงจะเป็นความยินดีของพวกวังหน้าด้วย.
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศถามที่ประชุมเรียงไปดังแต่ก่อน โดยมากรับว่า "สมควร" หรือให้อนุมัติโดยอาการไม่คัดค้าน แต่กรมขุนวรจักรฯ ตรัสขึ้นว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่ง พระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมที่จะเลือกพระมหาอุปราช" เจ้าพระยาศรีสุริยวงศซักไซ้กรมขุนวรจักรฯ ว่า เหตุใดจึงขัดขวาง กรมขุนวรจักรฯ ทรงชี้แจงต่อไปว่า เห็นราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนอย่างนั้น ครั้งรัชชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวร ถึงรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพย์เป็นกรมพระราชวังบวร มาในรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นเคยทรงตั้งมาทุกรัชชกาล จึงเห็นว่า มิใช่หน้าที่ของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช เจ้าพระยาศรีสุริยวงศขัดเคือง ว่ากล่าวกรมขุนวรจักรฯ ต่าง ๆ ลงที่สุด ทูลถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักรฯ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอม ก็ต้องยอม" การก็เป็นตกลง เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงอาราธนาให้พระสงฆ์สวดชยันโตและอดิเรกอิกครั้งหนึ่ง.[21]
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศกล่าวในที่ประชุมต่อไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชการแผ่นดิน ด้วยได้เคยทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึง ๒ แผ่นดิน ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติและพระคลังต่าง ๆ และสำเร็จราชการในสถานราชกิจ เป็นผู้อุปถัมภ์ในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน เป็นเสร็จการประชุมเวลาราว ๗ ทุ่มเศษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงให้อาลักษณจดคำปรึกษา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ดังนี้[22]
"ศรีศยุภมัศดุ พระพุทธศักราชอดีตกาล ชมัยสหัสสังวัจฉร จตุสตาธฤก เอกาทศสังวัจฉัร ปัตยุบันกาล มังกรสังวัจฉร อัสยุชมาส ศุกรปักษ์ บรรณสิยดฤถี คุรุวาร บริเฉทกาลอุกฤษฐ เวลา ๔ ทุ่ม ทุติยบาท
กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ พระราชาคณะ พระวงศานุวงศ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อย ปรึกษาพร้อมกัน กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ พระสาสนโสภณ พระอมรโมลี พระราชาคณะคามวาสีและอรัญวาสี กับพระครู ถานานุกรม เปรียญ ทั้งปวง ข้างฝ่ายพุทธจักร และฝ่ายข้างพระราชอาณาจักร กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมหมื่นถาวรวรยศ กรมหมื่นวรศักดาพิศาล กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล กรมหมื่นอักษรสารโสภณ กรมหมื่นเจริญผลพูนสวัสดิ์ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ พระวงศานุวงศผู้น้อยที่ยังไม่ได้รับกรม กับข้าทูลละอองฯ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชภักดี พระยาศรีพิพัฒน พระยาเพ็ชรพิชัย พระยาสีหราชเดโช พระยาสีหราชฤทธิไกร พระยาราชวรานุกูล (พระยาเทพประชุน) พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตชาญชัย พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระยาศรีเสาวราช ท่านเจ้าพระยามุขมนตรี พระยามณเฑียรบาล พระยาเสนาภูเบศร์ พระยาศิริไอศวรรย์ พระยาสุรินทรราชเสนี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน ทั้งพระพุทธจักรและพระราชอาณาจักร ประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคมปรึกษาพร้อมกันว่า พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสู่สวรรคตแล้ว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงกอปด้วยพระวัยวุฒิปรีชาญาณสุรภาพ และทรงพระสติปัญญาพระเมตตามหาปรกมอันประเสริฐ สามารถเป็นบรมสาสนูปถัมภกพระพุทธสาสนา สมควรที่จะดำรงราชสมบัติปกป้องพระมหานครขอบขัณฑเสมาสมณพราหมณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ด้วยพระบุญฤทธิมหาบารมีอันส่ำสมมาหาผู้จะเสมอมิได้ จึงกราบทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นผ่านพิภพมไหศวรรยาธิปัติถวัลยราชประเพณี สืบศรีสุริยสันติวงศ ดำรงพิภพมณฑลสกลกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทราโยธยา มหาดิลกภพนพรัตนราศี มหานครบวรราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อันอำพลด้วยสามนตประเทศนานามหาไพบูลยพิศาลราชเจ้าสีมาอาณาเขตต์มณฑลทั้งปวง โดยบุรพประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบ ๆ มา"
ในกลางคืนวันนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศสั่งให้ตั้งกองล้อมวงที่วังใหม่เหนือพระราชวังบวรฯ อันเป็นที่ประทับกรมหมื่นบวรวิชัยชาญอีกแห่งหนึ่ง[23] และสั่งให้เชิญเสด็จพระองค์เจ้าเณรคัคณางคยุคลกับพระองค์เจ้าเณรทวีถวัลยลาภลาผนวช เพื่อจะได้ประคองพระโกษฐพระบรมศพในกระบวนแห่เมื่อวันรุ่งขึ้น[24]
ณวันศุกร์ เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ เจ้าพนักงานจัดเตรียมการสรงสการพระบรมศพและเตรียมกระบวนแห่และที่ประดิษฐานพระบรมศพพร้อมเสร็จ พระบรมวงศานุวงศข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยประชุมพร้อมกันณพระที่นั่งอนันตสมาคมแต่เวลาเช้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจึงให้พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ[25] ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กำลังยังอ่อนเพลียมาก ด้วยทรงพระประชวรมากว่าเดือน และซ้ำประสพทรงโศกศัลย์แรงกล้า ไม่สามารถจะทรงพระราชดำเนิรได้ ต้องเชิญเสด็จทรงพระเก้าอี้หามขึ้นไปจนในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญที่สรงพระบรมศพ พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัดถ์ขึ้นถวายบังคมเท่านั้นแล้วก็ทรงสลบนิ่งแน่ไป เจ้านายผู้ใหญ่ซึ่งเสด็จอยู่ที่นั่นกับหมอที่ตามเสด็จกำกับเข้าไปช่วยกันแก้ไขพอฟื้นคืนได้สมประฤดี แต่พระกำลังยังอ่อนนัก ไม่สามารถจะเคลื่อนพระองค์จากเก้าอี้ได้ จึงมีรับสั่งขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ ถวายน้ำสรงทรงเครื่องพระบรมศพแทนพระองค์ เจ้านายผู้ใหญ่เห็นว่า จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไป เกรงพระอาการประชวรจะกลับกำเริบขึ้น จึงสั่งให้เชิญเสด็จมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยซึ่งได้จัดห้องในพระฉากข้างด้านตะวันออกไว้เป็นที่ประทับระหว่างเวลากว่าจะได้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร[26] ทางโน้น เจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ สรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพ แล้วเชิญลงพระลองเงิน แห่พระบรมศพเป็นกระบวรมา ออกประตูสนามราชกิจ เชิญพระโกษฐขึ้นตั้งบนพระยานนุมาศสามลำคาน ประกอบพระโกษฐทองใหญ่ มีพระมหาเศวตฉัตรกั้น แห่กระบวรใหญ่ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เชิญพระโกษฐพระบรมศพขึ้นประดิษฐานเหนือแว่นฟ้าทองคำ ในมหาปราสาทด้านตะวันตกตั้งเครื่องสูง เครื่องราชูปโภค ตั้งเตียงพระสงฆ์สวดอภิธรรม ๒ เตียง และมีนางร้องไห้ มีเครื่องประโคมตามอย่างพระบรมศพแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ และบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณด้วยประการต่าง ๆ ทุกวันมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสมภพในรัชชกาลที่ ๑ เมื่อณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด ตรงกับ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อณวันพุธ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔
เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระชนมายุ ๖๕ ปี
- นายพันธุ์ ลักษณะสุต ผู้พิมพ์โฆษณา
- พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
- พ.ศ. ๒๔๘๒
- ↑ ข้อนี้เขียนตามที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเล่า
- ↑ จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร มีอยู่ ๒ ฉะบับ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ข้าหลวงเดิม เวลานั้นเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก อยู่ในผู้หนึ่งซึ่งได้อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลข้างที่ แต่งไว้ฉะบับ ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศแต่งไว้ในตอนท้ายพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ อิกฉะบับ ๑ ความที่เจ้าพระยาทิพากรวงศกล่าวนั้น เข้าใจว่า ท่านคงถามมาจากเจ้าพระยามหินทรฯ ด้วยตัวท่านเองเป็นเวลาอยู่นอกราชการ ไม่ได้เข้าวัง จดหมายเหตุทั้ง ๒ ฉะบับที่กล่าวมานี้ ความข้อสำคัญคลาดเคลื่อนกันอยู่บางแห่ง แต่อ้างถึงพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ เวลานั้นปรากฎพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี เป็นผู้อยู่ประจำรักษาพยาบาลข้างที่เป็นนิจพระองค์ ๑ ว่า เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่งออกมาข้างหน้าในเวลาเมื่อทรงประชวรนั้นเนือง ๆ เวลาข้าพเจ้าแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศก็ถึงพิราลัย เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงก็ถึงอสัญกรรมไปเสียแล้ว จะถามข้อสงสัยในจดหมายเหตุต่อท่านทั้ง ๒ นั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงกราบทูลถามกรมหลวงสมรรัตนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ในปีที่เริ่มแต่งหนังสือนี้ ได้ความตามที่กรมหลวงสมรรัตนฯ ตรัสเล่า ข้าพเจ้าเห็นแม่นยำได้ความชัดเจนสิ้นสงสัย สมควรจะจดไว้ให้ปรากฎ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวเนื้อความในหนังสือนี้ตามที่ได้ทราบจากกรมหลวงสมรรัตนฯ เว้นไว้แต่แห่งใดที่ท่านไม่ทรงทราบ ข้าพเจ้าจึงกล่าวตามจดหมายเหตุของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง
- ↑ แต่ก่อนถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง ถือน้ำตรุษเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้ง ๑ ถือน้ำสารทเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำครั้ง ๑
- ↑ พระอภิเนาวนิเวศอยู่ตรงที่สวนศิลาลัยบัดนี้ เดิมเป็นสวนที่เสด็จประพาสครั้งรัชชกาลที่ ๒ ถึงรัชชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรขึ้นใหม่ ทำอย่างแบบตึกฝรั่ง มีชื่อพระที่นั่งหลายองค์ เรียกรวมกันว่า พระอภิเนาวนิเวศ ต่อมาเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ พระราชมนเทียรหมู่นี้ชำรุดซุดโซมลง เพราะเป็นตึกมีเสาไม้เป็นโครง ไม้ผุเหลือที่จะซ่อมแซมให้คืนดี จึงต้องรื้อเสียทั้งหมู่
- ↑ พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์แรก เป็นท้องพระโรงในพระอภิเนาวนิเวศ อยู่ตรงหลังพระที่นั่งสุทไธศวรรย์
- ↑ พระประคำทองสายนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะสวรรคต จะพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราศีในรัชชกาลที่ ๔ แต่บังเอิญเจ้าพนักงานหยิบผิดสาย กรมหมื่นอุดมไม่ได้ไป จึงถือว่า เป็นของสิริมงคลสำหรับแต่ผู้มีบุญญาภินิหาร
- ↑ ชื่อ จัน ในรัชชกาลที่ ๕ เป็นพระยา เป็นบิดาพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) เดี๋ยวนี้
- ↑ ประเพณีการตั้งกองล้อมวงรักษาพระองค์เจ้านายพระองค์ใดในเวลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เป็นการแสดงว่า เจ้านายพระองค์นั้นจะเป็นผู้รับราชสมบัติ เคยตั้งกองล้อมวงพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาก่อน
- ↑ พระศรีสุนทรโวหาร ฟัก ต้นสกุล สาลักษณ์ เป็นศิษย์ ข้าหลวงเดิม เมื่อบวช ได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค และเป็นพระราชคณะที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ อยู่วัดบวรนิเวศ แล้วจึงลาสิกขาบทเมื่อในรัชชกาลที่ ๓
- ↑ ข้าพเจ้าเคยได้ยินพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเล่าตรงกัน
- ↑ พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ (วร) เป็นบุตรเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ต่อมาในรัชชกาลที่ ๕ ได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม เวลานั้น ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ คือ เจ้าคุณพระประยุรวงศ เป็นอัครบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ
- ↑ เหตุเรื่องพระเสนหามนตรีนั้น คือ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ถึงอสัญกรรมในรัชชกาลที่ ๔ พระเสนหามนตรี (หนูพร้อม) ผู้เป็นบุตรใหญ่ อายุยังเยาว์ ยังไม่ได้บวช มีผู้ซึ่งเป็นเชื้อวงศเจ้าพระยานคร (น้อย) คิดปรารถนาจะเป็นพระยานครศรีธรรมราชหลายคน แต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะโปรดฯ ให้พระเสนหามนตรีเป็นพระยานครฯ จึงยังรอการตั้งพระยานครไว้ ครั้นพระเสนหามนตรีมีอายุครบอุปสมบท เข้ามาบวชอยู่วัดพิไชยญาติการามเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ คืนวันหนึ่ง พระเสนหามนตรีไหว้พระอยู่ในกุฏิ มีผู้ร้ายเอาปืนยิงเข้าไปทางช่องฝา บังเอิญปืนลั่นออกเมื่อขณะพระเสนหามนตรีกราบพระ กระสุนปืนข้ามไป จึงไม่ถูก การไต่สวนต่อมาก็ไม่ได้ตัวผู้ร้าย พอพระเสนหามนตรีลาสิกขาบท ก็ทรงตั้งให้เป็นพระยานครฯ พระยานคร (หนูพร้อม) อยู่มาจนชรา ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเมื่อในรัชชกาลที่ ๕
- ↑ ประเพณีราษฎรถวายฎีกามาแต่ก่อน เป็นที่เข้าใจกันว่า ถ้าใครมีความทุกข์ร้อน ให้เข้าไปตีกลองใบ ๑ ซึ่งแขวนไว้ที่ทิมดาบกรมวัง เมื่อเสียงกลองถึงพระกรรณ ก็โปรดฯ ให้ราชบุรุษออกมารับฎีกา เรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา" เห็นจะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ตามการที่เป็นจริง ไม่ใคร่มีใครกล้าเข้าไปตีกลองร้องฎีกา ถ้ามีทุกข์ร้อนจะถวายฎีกา ก็ถวายในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังที่ไหน ๆ นอกพระราชวัง เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ มิใคร่จะมีเวลาเสด็จไปไหน ราษฎรที่ถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงจะถวายฎีกาได้ด้วยยาก พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบพฤติการอันนี้มาแต่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ครั้นเสด็จผ่านพิภพ จึงเอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะเสด็จออกพระราชทานโอกาสให้ราษฎรถวายฎีกาได้โดยสะดวกมาตลอดรัชชกาล
- ↑ คำแปลนี้แปลขึ้นภายหลัง
- ↑ เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ใช้คำนำพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระเจ้าราชวรวงศเธอ พึ่งมาเปลี่ยนเป็น พระเจ้าบรมวงศเธอ ชั้น ๓ และใช้คำนำพระนามเจ้านายวังหน้าว่า ราชวรวงศ เมื่อในรัชชกาลที่ ๖
- ↑ ด้วยเป็นสานุศิษย์ของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงตั้งลัทธิธรรมยุติกาแต่เดิมมา
- ↑ คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ ท่านว่า ตัวท่านก็ได้อยู่ในที่ประชุม แต่ในจดหมายเหตุอาลักษณหาปรากฎชื่อไม่
- ↑ เสนาบดีที่มีตัวอยู่ แต่มิได้ปรากฎว่า ได้อยู่ในที่ประชุม ๓ คน คือ เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) เห็นจะป่วย เจ้าพระยาธรรมา (บุญศรี ต้นสกุล บุรณศิริ) เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ชราทุพพลภาพทั้ง ๒ คน.
- ↑ ธรรมเนียมถวายอติเรกนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า ควรจะถวายต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ราชาภิเษกแล้ว ยังเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ การที่ถวายอติเรกในที่ประชุมครั้งนั้น เห็นจะเป็นด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศไม่ทราบพระราชนิยม และกรมหมื่นบวรรังษีฯ ก็ไม่กล้าทรงทัดทาน.
- ↑ คือ เมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นเวลาที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ๕ ปี.
- ↑ เรื่องตอนประชุมถวายราชสมบัติที่กล่าวมานี้ ได้ทูลถามกรมหมื่นราชศักดิสโมสร ท่านตรัสเล่าให้ฟัง ด้วยเวลานั้น ท่านทรงผนวชเป็นสามเณร ได้ประทับอยู่ในที่ประชุม ทรงจำความที่กล่าวกันในที่ประชุมถ้วนถี่ละเอียดกว่าจดหมายเหตุที่เจ้าพระยาทิพากรวงศและเจ้าพระยามหินทรได้จดไว้ เนื้อความก็ไม่เคลื่อนคลาดกัน ความในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศและเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงกล่าวถึงการเลือกกรมพระราชวังบวรฯ แต่ตอนปลายว่า ที่ประชุมยอมพร้อมกัน เห็นจะเป็นเพราะแต่งหนังสือนั้นในเวลาผู้ซึ่งเกี่ยวข้องยังอยู่ จึงไม่กล้ากล่าวถึงการที่มีผู้คัดค้าน แต่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งเจ้านายและขุนนางผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นท่านเล่าเป็นอย่างที่กล่าวมานี้ ทราบด้วยกันโดยมาก ต่อมา ได้ฟังเจ้าพระยาภาณุวงศฯ เล่าเมื่อก่อนจะอสัญกรรมไม่ช้านักอิกครั้งหนึ่งว่า การเลือกกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งนั้น ถ้อยคำที่กรมหลวงเทเวศร์ฯ ตรัส เจ้าพระยาศรีสุริยวงศจดถวาย ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) แต่ยังเป็นขุนสมุทโคจร นั่งเขียนที่พระทวารเมื่อก่อนเวลาประชุม และในเมื่อปรึกษากันนั้น ในข้อจะถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ยินยอมพร้อมกันด้วยความยินดีจริง แต่เมื่อเลือกพระมหาอุปราช ท่านสังเกตดู ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบโดยมาก ที่ยอมเป็นด้วยกลัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเท่านั้น.
- ↑ คำปรึกษานี้ได้มาแต่กรมราชเลขาธิการ และการที่เขียนคำปรึกษาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเช่นนี้ ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งรัชชกาลที่ ๓ และรัชชกาลที่ ๔.
- ↑ วังใหม่ที่กล่าวนี้อยู่ริมคลองโรงไหมฝั่งเหนือตรงที่สร้างโรงพยาบาลทหารบกบัดนี้
- ↑ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจำนงจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กับเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ ประคองโกษฐพระบรมศพ ได้ดำรัสสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ แต่วันแรกทรงพระประชวร ผู้อื่นหาได้ทราบพระราชประสงค์ไม่ แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประชวรเสียด้วยตลอดมา การเรื่องนี้จึงมิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในเวลานั้น พระเจ้าลูกยาเธอที่โสกันต์แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ทั้ง ๗ พระองค์ ที่เลือก ๒ พระองค์นั้น เพราะพระองค์เจ้าคคณางคยุคล คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นหลานเลี้ยงของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ คือ กรมหมื่นภูธรธำรงศักดิ์ เป็นหลานตัวเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก
- ↑ การที่ให้พระยาสุรวงศวัยวัฒนไปเชิญเสด็จนั้น ทำตามแบบอย่างครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านพิภพ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ เวลานั้น เป็นเจ้าพระยาพระคลัง หัวหน้าข้าราชการทั้งปวง ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ ซึ่งเป็นบุตร เวลานั้น เป็นจมื่นราชามาตย์ ไปเชิญเสด็จที่วัดบวรนิเวศ
- ↑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เวลาก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประทับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเหมือนกัน แต่เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ เวลาระหว่างเฉลิมพระราชมนเทียรถึงเดือนครึ่ง จึงปลูกพลับพลาถวายเป็นที่ประทับที่โรงแสงใน เพื่อให้ทรงสำราญกว่าประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย.
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต. (2482). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. [พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวารศพคุณนายเชย วิฏฐารวินิจฉัย ณวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482].
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก