ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 56
คุณหญิงหงษ์ สิงหเสนี มาปรึกษาข้าพเจ้าถึงการที่จะเลือกเรื่องหนังสือสำหรับพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญที่หน้าศพพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครบ ๑๐๐ วัน ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้พิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๖ ซึ่งปรุงขึ้นใหม่ ว่าด้วยเหตุการณ์เมืองเขมรตอนเสร็จสงครามไทยกับญวนรบกัน ด้วยเรื่องตอนนี้แสดงอภินิหารและสติปัญญาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงห อันเป็นบรรพบุรุษของพระยาสิงหเสนี ผู้เป็นที่สมุหนายกและเป็นแม่ทัพใหญ่ในคราวนั้น โดยข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าพระยาสิงหเสนีเลือกเอง ก็เห็นจะพอใจยิ่งกว่าหนังสือเรื่องอื่นซึ่งจะหาให้ได้สำหรับงานนี้
หนังสือเรื่องนี้ ถ้าผู้อ่านเอาใจใส่ในเรื่องประวัติศาสตรและการเมืองครั้งรัชชกาลที่ ๓ อ่านโดยพิจารณา จะได้ความรู้หลายอย่าง จึงหวังใจว่า บรรดาผู้ที่ได้รับไปจะพอใจทั่วกัน
เมืองเขมรเป็นประเทศน้อย อยู่ระวางไทยกับญวนซึ่งมีกำลังมากกว่า ต้องยอมเป็นเมืองออกส่งบรรณาการทั้งสองฝ่ายมาช้านาน แต่เขมรนับถือไทยและสนิทกับไทยยิ่งกว่าญวน เพราะถือลัทธิศาสนาและขนบธรรมเนียมอย่างเดียว แต่ว่าพวกเขมรมักประทุษฐร้ายและรบพุ่งกันเองด้วยเรื่องชิงอำนาจกันเนือง ๆ พวกแพ้มักไปขอกำลังประเทศใหญ่ที่อยู่ใกล้ฝ่ายหนึ่งมาช่วย พวกที่ชนะก็ต้องขอกำลังประเทศใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งมาป้องกัน เมืองเขมรจึงคล้ายกับสมรภูมิระวางไทยกับญวนมาแต่สมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทรนั้น ประจวบสมัยเกิดจลาจลทั้งในเมืองญวนและเมืองเขมร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาอุปการะทั้งราชวงศญวนและราชวงศเขมรให้ได้คืนครองราชสมบัติ ต่างก็มีความเคารพต่อพระเดชพระคุณมาจนตลอดจนรัชชกาลที่ ๑ ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๒ องเชียงสือ ซึ่ง (เคยมาพึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นพระเจ้าเวียดนัมยาลองครองประเทศญวน แม้ยังมีทางไมตรีดีกับไทย ก็ตั้งตนตีเสมอ และเริ่มแผ่อำนาจญวนมาทางเมืองเขมร ผะเอิญเมื่อเริ่มรัชชกาลที่ ๒ นั้น ไทบกับพะม่ากลับรบกันขึ้นอีก มีท้องตราสั่งไปจากกรุงเทพฯ ให้เขมรเกณฑ์กองทัพมาช่วยรบพะม่า พวกขุนนางเขมร (ซึ่งโดยปกติปราศจากความสามัคคีกันอยู่แล้ว) เกิดแตกกันเป็นสองพวก พวกหนึ่งชังไทย เห็นว่า ไม่ควรทำตามท้องตรา ถ้าไทยเอาผิด ก็ควรไปพึ่งญวน อีกพวกหนึ่งชอบไทย เห็นว่า ควรเกณฑ์กองทัพมาช่วยตามท้องตรา สมเด็จพระอุทัยราชา (ชื่อ นักพระองค์จันท์) เข้าด้วยพวกชังไทย ให้จับขุนนางที่เป็นหัวหน้าพวกชอบไทยฆ่าเสีย นักพระองค์อิ่ม น้องสมเด็จพระอุทัยราชา ซึ่งเป็นตำแหน่งมหาอุปโยราช เป็นหัวหน้าพวกชอบไทยอยู่ในเวลานั้น หนีเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึ่งโปรดฯ ให้เจ้าพระยายมราชยกกองทัพออกไปเมืองเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาก็หนีลงไปพึ่งญวนที่เมืองไซ่ง่อน แต่นักพระองค์ด้วง ซึ่งเป็นน้องสมเด็จพระอุทัยราชาคนเล็ก มาเข้ากับไทย เมื่อเกิดเหตุขึ้นครั้งนั้น พระเจ้าเวียดนัมยาลองเห็นได้ช่อง ก็แต่งราชทูตให้เชิญพระราชสาส์นเข้ามายังกรุงเทพฯ ในราชสาส์นใช้ถ้อยคำอ่อนหวานเป็นทางไมตรี แต่ส่วนข้อความนั้นอ้างว่า เพราะเมืองเขมรเคยพึ่งทั้งไทยและญวนมาแต่ก่อน พระเจ้ากรุงสยามเสมือนเป็นบิดา และพระเจ้าเวียดนัมเสมือนเป็นมารดาของเจ้ากัมพูชา บัดนี้ สมเด็จพระอุทัยราชามีความผิดต่อบิดา ไปอ้อนวอนให้มารดาช่วยขอโทษ ก็มิรู้ที่จะทอดทิ้งเสียได้ จึงมีพระราชสาส์นมาขอพระราชทานโทษ และขอให้สมเด็จพระอุทัยราชาได้ครองกรุงกัมพูชาตามเดิม ก็ในเวลานั้นไทยกำลังเตรียมต่อสู้ศึกพะม่า ไม่อยากจะให้เกิดเป็นอริขึ้นกับญวนอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องจำยอมให้สมเด็จพระอุทัยราชากลับขึ้นมาครองเมืองเขมรดังกล่าว แต่นั้น เมืองเขมรก็ไปฝากฝ่ายอยู่กับญวน เป็นแต่ถึงกำหนดก็ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงเทพฯ ครั้นพระเจ้าเวียดนัมยาลองสิ้นพระชนม์ ถึงรัชชกาลพระเจ้าเวียดนัมมินมาง ราชบุตรซึ่งได้รับรัชชทายาท ญวนก็คิดแผ่อำนาจต่อเข้ามาทางเมืองลาวลุ่มลำน้ำโขงอีกทางหนึ่ง พอขึ้นรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร เจ้าอนุเจ้าเมืองเวียงจันท์เป็นกบฎขึ้นด้วยญวนอุดหนุน ถึงต้องรบพุ่งปราบปรามเป็นการใหญ่ ครั้นเจ้าอนุพ่ายแพ้หนีไปพึ่งญวน พระเจ้าเวียดนัมมินมางก็มีราชสาส์นเข้ามาว่ากล่าวขอโทษเจ้าอนุเหมือนอย่างครั้งเมืองเขมรในหนหลัง พระบาทสมเด็จพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองญวน ไม่ยอมทำตาม ให้ปราบปรามพวกกบฎเวียงจันท์จนราบคาบ ทางไมตรีในระวางไทยกับญวนก็หมองหมางกันแต่นั้นมา
ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนเป็นกบฎต่อเจ้าเวียดนัมมินมาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพระราชดำริว่า เป็นโอกาสที่จะเอาเมืองเขมรคืน และให้ญวนหายกำเริบเสียบ้าง จึ่งโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบกยกไปตีเมืองเขมรแล้วให้ตีหัวเมืองญวนลงไปจนเมืองไซ่ง่อน และให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายทะเล แล้วไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อนด้วยกัน พอกองทัพไทยเข้าแดนเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาก็หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน พวกเขมรพากันมาอ่อนน้อมโดยดี มิต้องรบพุ่ง กองทัพไทยก็ตีหัวเมืองชายแดนญวนเข้าไปจนถึงได้เมืองโจดก แล้วเข้าทางคลองขุดไปสมทบกันตีค่ายใหญ่ของญวนซึ่งตั้งรับอยู่ที่ด่านปากคลองข้างใน กองทัพเรือรบพุ่งอ่อนแอ กองทัพไทยตีเมืองด่านนั้นไม่ได้ ต้องตั้งรั้งราอยู่ เกิดขัดสนสะเบียงอาหาร และเมื่อพวกเขมรชาวหัวเมืองข้างใต้ซึ่งเคยกลัวญวนเห็นว่า กองทัพไทยทำการไม่สำเร็จ ก็เป็นกบฏขึ้นด้วย กองทัพไทยก็ต้องเลิกกลับมา ญวนก็ให้สมเด็จพระอุทัยกลับขึ้นมาอยู่เมืองพนมเพ็ญอย่างเดิม แต่คราวนี้ ญวนตั้งข้าหลวงและส่งทหารขึ้นม้าตั้งอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญและหัวเมืองเขมรที่ใกล้เคียงโดยอ้างว่า จะป้องกันมิให้ไทยไปย่ำยี เขมรก็อยู่ในอำนาจของญวนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๗๗ สมเด็จพระอุทัยราชาถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกลูกหญิงขึ้นครองเมือง และตั้งองเตียนกุน ขุนนางผู้ใหญ่ มาเป็นแม่ทัพกับทั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ฝ่ายพระองค์อิ่ม มหาอุปโยราชซึ่งอยู่กับไทย ได้ออกไปเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง กลับใจหนีไปเข้ากับญวน ด้วยประสงค์จะเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา แต่ญวนเห็นว่า ได้เมืองเขมรไว้ในเงื้อมมือแล้ว ก็กวาดเอาพวกราชวงศเขมรกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ไปไว้เสียเมืองญวน ญวนปกครองเมืองเขมรเองเป็นหัวเมืองของญวนต่อมา ให้เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในบ้านเมืองไปเป็นอย่างญวน และให้รื้อวัดสึกพระภิกษุสามเณรเสียเป็นอันมาก พวกเขมรเดือดร้อน ก็พากันเป็นกบฎต่อญวนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้วบอกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งตั้งขัดตาทัพคอยระวังเหตุการณ์อยู่ณเมืองพระตะบองว่า จะขอมาพึ่งไทยอย่างแต่ก่อน ขอกำลังลงไปช่วย และขอพระราชทานพระองค์ด้วง น้องของสมเด็จพระอุทัยราชาซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ออกไปครองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นเป็นท่วงทีที่จะเอาเมืองเขมรคืนจากญวนได้ บอกสนับสนุนคำขอของพวกเขมรเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึ่งโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพออกรบญวนในเมองเขมร และโปรดฯ ให้พระองค์ด้วงออกไปเข้ากองทัพช่วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อพระองค์ด้วงกราบถวายบังคมลา จึงพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งพิมพ์ไว้ต่อไปนี้
ด้วยพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้จดหมายพระราชโอวาทให้พระองค์ด้วงว่า เมืองเขมรเป็นจลาจลขึ้นครั้งนี้ ทรงทราบใต้ฝ่าละอองฯ ว่า ญวนจะทำลายพระบวรพุททศาสนาที่เมืองเขมรเสีย ให้สัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะแปลงเขมรให้ละเพศเป็นญวน ให้สึกพระสงฆ์ จะให้มีอยู่แต่วัดละองค์ ฯ รื้อพระอุโบสถวัดวาอารามที่เมืองพนมเป็ญเสียหลายวัด พระยาพระเขมรที่มีชาติมีสกุลก็พาลฆ่าเสีย ช้านานมาแล้ว จนพระยาพระเขมรที่มีชาติมีสกุลตายเสียเป็นอันมาก องค์อิ่มคิดกบฏประทุษฐร้ายโดยโลภเจตนากล้า หวังใจจะได้เป็นเจ้านายเมืองเขมร ไม่เห็นภัยในเบื้องหน้า กวาดครอบครัวไพร่พลเมืองปัตบองไปให้เป็นบำเหน็จความชอบกับญวน ๆ ก็ไม่เลี้ยงองค์อิ่มเป็นเจ้านายเมืองเขมรเหมือนตามความปรารถนา ส่งองค์อิ่มไปเสียเมืองเว้ อ้ายญวนคิดจะไม่ให้พระยาพระเขมรผู้ใหญ่มีสืบต่อไป จึงอุบายให้สมเด็จเจ้าพระยาฟ้าทลหะ พระยากลาโหม ขึ้นไปช่วยเจ้าเวียดนามทำวันออก ไปแล้วก็ไม่ได้กลับมา พระยาพระเขมรทั้งปวงก็ยังไม่รู้เท่าทันญวน จนญวนจับองค์มี องค์เภา องค์สงวน ส่งไปเมืองเว้อีก จับองค์แป้นจำไว้ที่ค่ายองเตียนกุน พระยาพระเขมรจึงได้พร้อมกันกลับใจคิดสู้รบญวน มีหนังสือมาขอพระองค์ด้วงออกไปเป็นเจ้านาย ขอพึ่งพระเดชเดชานุภาพพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวสืบต่อไปเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงสังเวชพระทัย เสียดายพระบวรพุทธศาสนา สงสารพระยาพระเขมรอาณาประชาราษฎรเมืองเขมรนัก ดำรัสว่า การเป็นไปดังนี้ก็เพราะองค์จันท จนพระศาสนาที่เมืองเขมรจะเสื่อมศูนย์สิ้น ทรงพระราชดำริจะรักษาพระบวรพุทธศาสนาเมืองเขมรไว้ให่ถาวรมั่นคง ไม่ให้ญวนมิจฉาทิฏฐิทำลายล้างเสีย ไม่ให้แปลงเขมรซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิให้กลับเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขมรจะพากันไปสู่อบายเสียทั้งสิ้น จะให้เขมรคงชาติคงสกุลอยู่ตามเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ด้วงออกไปเป็นเจ้านายเมืองเขมรตามซึ่งพระยาพระเขมรขอมา
ถ้าพระองค์ด้วงจะออกไปเถิงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ แล้ว ก็ให้ฟังบังคับบัญชาพระบาบดินทรเดชาฯ ให้ชอบด้วยราชการจงทุกประการ จะอยู่ใกล้อยู่ไกลประการใด ก็อย่าทำใจสูงล่วงบังคับบัญชา กลัวเกรงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ให้เสมอเป็นอารมณ์ ตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโดยสัตย์สุจริต จงมีจิตต์กตัญญูรู้พระเดชพระคุณว่า องค์อิ่มคิดกบฏประทุษฐร้ายแล้ว พระองค์ด้วงเป็นน้องพระองค์อิ่ม ไม่ทำลายล้างเสียเหมือนดังญวนกระทำกับองค์อิ่ม ยังทรงพระมหากรุณาเมตตาชุบเลี้ยงพระองค์ด้วงให้เป็นเจ้านายสืบเชื้อวงศ์กษัตริย์เมืองเขมรต่อไป สิ่งไรที่ชั่วที่ผิด อย่าประกอบไว้ในสันดาน อย่ากำเริบ อย่าโลภกล้าให้เกินประมาณ สุกแล้วจึงหอม งอมแล้วจึงหวาน
เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ จะจัดแจงเมืองโพธิสัตวให้เป็นเมืองใหญ่ ให้เมืองเขมรทั้งปวงขึ้นกับเมืองโพธิสัตว ให้พระองค์ด้วงเป็นเจ้านายครอบครองเขมรอยู่ที่เมืองโพธิสัตวนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ จะปรึกษาหารือด้วยจะตั้งแต่งพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่งประการใด ก็ให้พระองค์ด้วงไถ่ถามไล่เลียงพระยาพระเขมรทั้งปวงให้เห็นพร้อมกันว่า ผู้ใดมีชาติมีสกุลมีสติปัญญาการศึกสงครามเข้มแข็ง จัดเอามาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ตั้งแต่งเป็นพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามลำดับกัน และเขมรถือชาติถือสกุลตามสกุลผู้ใหญ่ผู้น้อย ถ้าจะตั้งแต่งพระยาพระเขมรสืบต่อไป ก็อย่าให่ลุอำนาจแต่โดยใจว่า คนผู้นี้เป็นพวกมาแต่ก่อน ผู้นี้มิได้เป็นพวกมาแต่ก่อน ให้พิเคราะห์ดูชาติสกุลและคนมีความชอบควรจะใช้ได้อย่างไรก็ให้ตั้งแต่งตามควร ให้ผู้น้อยกลัวผู้ใหญ่เป็นลำดับกัน อย่าถือผู้น้อยให้ข้ามเกินผู้ใหญ่ อย่าเห็นแก่หน้าเกรงใจบุคคล อย่าหูเบาใจเบาพระยาพระเขมรจะมีความโทมนัส พระยาพระเขมรนับถือยกย่องพระองค์ด้วงเป็นเจ้านายแล้ว พระองค์ด้วงก็ต้องนับถือคารวะพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควร เอาเนื้อเอาใจพระยาพระเขมรให้ดี รสวาจาก็ให้อ่อนหวายให้เป็นที่นิยมนับถือกับพระยาพระเขมรไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงซึ่งอยู่ไกลและใกล้ให้จงรักภักดีพรักพร้อมกัน
พระองค์ด้วงสติปัญญาอายุอานามก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว จะตริการสิ่งใด ก็ให้รอบคอบ ทำใจให้เสมอ อย่ากอบไปด้วยฉันทาโทษโมหาภยาคติ ตั้งตัวให้เที่ยงธรรม ทำให้คมคาย ให้พระยาพระเขรกลัวอำนาจ อย่าให้หมิ่นประมาทได้ กลัวนั้นมีอยู่ ๓ ประการ กลัวอาชญา ประการ ๑ กลัวบุญกลัววาสนา ประการ ๑ กลัวสติปัญญารู้เท่าทัน ประการ ๑ กลัวบุญ กลัววาสนา กลัวสติปัญญา ทั้งรักทั้งกลัว เขมรผู้ใดผิด กระทำโทษตามผิดนั้น ก็ให้หยิบยกโทษผิดออกให้เห็น อย่าให้ผู้อื่นติเตียนว่า กระทำโทษคนหาผิดมิได้ จะพิพากษาตัดสินกิจสุขทุกข์อาณาประชาราษฎรประการใด ก็ให้เป็นยุติธรรม ให้สอดส่องจงรอบคอบ อย่าให้พระยาพระเขมรทำข่มเหงเบียดเบียฬฉ้ออาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน นายก็อย่าให้เบียดเบียฬบ่าว ๆ จะได้มีใจรักนาย นายไพร่จะได้พร้อมมูลช่วยกันรักษาเจ้านายบ้านเมือง เต็มใจสู้รบอ้ายญวน กับให้ระวังพระยาพระเขมรอย่าให้อิจฉาริษยาชิงบ่าวไพร่ให้แตกสามัคคีรสกัน ถ้าแตกสามัคคีรสกันแล้ว สารพัดที่จะเสียการทุกอย่าง ถ้าตั้งอยู่ในสามัคคีรสพร้อมมูลกัน ถึงคนน้อย ก็สู้ข้าศึกศัตรูมากได้
ฝ่ายเราตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นครั้งนี้ ญวนรู้ไป กำลังโทโส ก็คงจะมากระทำตอบแทนอีก ปัญญาญวนคงจะคิดไม่ให้มีเจ้านายเขมร ให้เขมรสิ้นที่พึ่งสิ้นที่นับถือ แล้วญวนจึ่งจะอยู่ในเขตต์เมืองเขมรได้ ญวนทำศึกสนัดทางเรือ เขมรทำศึกสนัดทางบก ก็ต้องคิดตัดทางเรือเสีย อย่าให้เรือญวนเข้ามาเถิงบ้านเถิงเมือง ญวนจะขึ้นบกมา ก็ให้สู้รบญวนจงสามารถ ป้องกันรักษาบ้านเมืองไว้กว่ากองทัพช่วยจะออกไปเถิง ถ้ากองทัพออกไปเถิงแล้ว เถิงญวนจะมามากสักเท่าไร ก็จะทำไมกับบ้านเมืองฝ่ายเราได้ ญวนจะมากระทำภายนอกไม่ได้แล้ว จะคิดอุบายเต่งเขมรที่ยังเข้าอยู่กับญวนเป็นที่ไว้ใจญวนให้แปลกปลอมเข้ามาอยู่ในบ้านในเมืองสืบสวนถ้อยความคอยเหตุคอยผลคิดกระทำเป็นใส้ศึกขึ้นภายใน อย่างหนึ่ง จะตัดสะเบียงอาหารให้เขมรอดอยากขัดสน ให้พระองค์ด้วงคิดให้รอบคอบ ป้องกันรักษาตัวทั้งภายนอกภายใน อย่ามีความประมาท ให้หูไวใจเร็วสืบฟังข่าวคราวราชการ ให้รู้ปัญญาและความคิดญวน ๆ จะคิดประการใดให้รู้ความแต่เนิ่น จะได้จัดแจงการสู้รบญวนให้พร้อมสรรพ อย่าให้เสียทีพลั้งพลาดแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าขัดสนเข้าเกลือของกินสิ่งใด ก็ให้ใช้ผู้คนถือหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จงเนือง ๆ จะโปรดพระราชทานส่งออกไปทางเมืองตราด เมืองตราดกับเมืองโพธิ์สัตว์ใกล้กัน ให้จัดช้างจัดเกวียนลงมารับบรรทุกขนขึ้นไปแจกจ่ายกันกินกว่าบ้านเมืองจะค่อยเป็นปกติเข้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่ต้องพระราชประสงค์ผลประโยชน์สิ่งไรที่ในเมืองเขมร จะเอาแต่พระเกียรติยศสืบไปภายหน้าว่า ทรงกู้เมืองเขมรขึ้นไว้ไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมศูนย์
และฝ่ายพุทธจักร์ ก็ให้ตั้งพระราชาคณะถานานุกรมให้พร้อมกันกับตั้งพระยาพระเขมร ให้จัดหาพระสงฆ์เจ้าอธิการที่มีวัสสาอายุผู้ใหญ่ที่เขมรนับถือ กอบไปด้วยคุณธรรม มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ตั้งแต่งเป็นพระราชาคณะถานานุกรมฝ่ายคันถธุระฝ่ายวิปัสนาธุระขึ้นบ้าง พระสังฆราชาเดิมซึ่งเป็นที่เขมรนับถือนั้น ไม่อยู่ที่เมืองพนมเปญ ว่า ญวนเบียดเบียฬพระพุทธศาสนา เข้าไปอยู่เสียที่เมืองมงคลบุรี ให้พระองค์ด้วงคิดอ่านอาราธนาออกไปด้วย ตั้งแต่งพระราชาคณะนานุกรมขึ้นใหม่อาราธนาพระสังฆราชาออกไปได้ ก็จะเป็นที่นิยมกับเขมร กิตติศัพท์จะได้ฟุ้งเฟื่องไปทั่วทุกหัวเมืองเขมร ผู้มีศรัทธารู้แล้วก็จะได้โสมนัสสรรเสริญยินดี พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ ประดิษฐานตั้งอยู่แห่งใด เทพดาอารักษ์ก็รักษา พระพุทธศาสนาอยู่ ก็เหมือนรักษาบ้านรักษาเมืองเหมือนกัน ญวนเป็นมิจฉาทิฎฐิจะมาทำลายล้างพระพุทธศาสนาบ้านเมืองนั้นไม่ได้ ให้พระองค์ด้วง พระยาพระเขมรทั้งปวง จงมีศรัทธาอุตสาหะถวายไทยทานแก่พระภิกขุสงฆ์อย่าให้อดอยากขัดสน ทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรสืบไป เมื่อบ้านเมืองเป็นปกติแล้ว ก็ให้ฐาปนาวัดวาอารามขึ้นให้บริบูรณ์ดังเก่า
หนังสือเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก มาถึงพระยามหาอำมาตย์ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยข้าพระพุทธเจ้าบอกมาแต่ก่อนว่า ให้พระฤทธิสงครามนำพระยาพิบูลยราช พระยาสุริโยไทย พระยาวงษาสัตรี พระสุรินทรธิบดี พระราชานุชิต พระมหานุชิต พระทึกเดโข พระชิตสงคราม พระไกรสร พระสำอางสัตรี กับหนังสืออักษรเขมร ๑๘ ฉะบับ เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมขอพระองค์ด้วงออกไปครอบครองพระยาพระเขมรอาณาประชาราษฎร แจ้งมาในใบบอกข้าพระพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้นแล้ว
ครั้นณวันเดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีชวด โทศก (พ.ศ. ๒๓๘๓) พระยาสีหราชเดโช หลวงเทเพนทร เชิญท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปถึงข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานให้พระองค์ด้วงออกไปครอบบ้านครองเมืองอาณาประชาราษฎ รบังคับบัญชาพระยาพระเขมรทั้งปวง แล้วจะได้ยกย่องพระบวรพุทธศาสนาให้เป็นที่พึ่งกับบรรดาเขมรทั้งปวงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมได้พระราชทานเครื่องยศถาศักดิ์และเครื่องอุปโภคสำหรับเกียรติยศแก่พระองค์ด้วง กับพระแก้วผลึก หน้าตัก ๕ นิ้ว ทรงเครื่องทองคำ องค์หนึ่ง ผ้าไตรเนื้อดี ๑๐ ไตร กับเครื่องบริกขารพร้อม ข้าพระพุทธเจ้าจะได้จัดแจงให้แก่พระองค์ด้วงถวายพระสงฆ์ที่จะตั้งเป็นพระราขชาคณะถานานุกรม แล้วให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือประกาศบอกไปถึงพระยาพระเขมรเจ้าเมืองกรมการทั้งปวงให้รู้ความทั่วกันว่า พระยาพระเขมรพร้อมใจกันมีหนังสือให้พระยาพิบูลยราช พระยาสุริโยไทย กับพระยาพระเขมร เข้ามาขอพระองค์ด้วงออกไปเป็นเจ้าครอบครองบ้านเมืองราษฎรทั้งปวง พระยาพิบูลยราช พระยาสุริโยไทย พระยาพระเขมร เข้ามาเฝ้าทูลละองธุลีพระบาทแจ้งราชการณกรุงเทพพระมหานครแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐทรงพระมหากรุณาเมตตากับเขมร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระองค์ด้วงออกไปเปนเจ้าเขมรสืบวงศ์กษัตริย์ในแผ่นดินเมืองเขมรต่อไปอย่าให้สูนย์สิ้นเจ้านาย จะได้ช่วยกันยกย่องพระพุทธศาสนาขึ้น อย่าให้พระพุทธศาสนาสาบศูนย์ แต่เมืองเขมรทุกวันนี้ ญวนยังตั้งอยู่เมืองพนมเปญ จะต้องตั้งบ้านเมืองให้พระองค์ด้วงอยู่เมืองโพธิสัตว ๆ ใกล้กับเขตต์แดนกรุงเทพพระมหานคร จะได้ช่วยทำนุบำรุงไปกว่าเมืองเขมรจะได้เป็นบ้านเมือง เป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นได้ ให้พระยาพระเขมรมีความรักใคร่เสียดายพระพุทธศาสนา รักษาชาติสัมมาทิฏฐิ อย่าให้ญวนชาติมิจฉาทิฏฐิครอบงำบ้านเมืองล้างพระพุทธศาสนาเสีย ให้พร้อมมูลกันทำราชการ ต้านทานสู้รบญวนให้แข็งแรง ไว้ชื่อเสียงให้ปรากฎเป็นเกียรติยศอยู่ในแผ่นดินเมืองเขมร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะทรงสงเคราะห์กู้แผ่นดินเมืองเขมรให้เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนาขึ้นตามเดิม จะได้เป็นกองการกุศลผลประโยชน์กับบรรดาเขมรสืบไปภายหน้า จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าให้พระยาพิบูลยราช พระยาสุริโยไทย พระยาวงษาสัตรี พระทึกเดโช พระสุนรินทรธิบดี พระทึกสงคราม พระไกรสรมหาดไทย พระสำอางสัตรี พระมหานุชิต หลวงไกรสรนอกราชการ พระยาทึกโกษาสงครามเมืองพนมเปญ ขุนหมื่น ๗ คน ไพร่ ๓๐ คน ตามลำดับยศศักดิ พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อย กับพระราชทานเงินตราร้อยชั่ง คนโทปัญรี ๑๐ ใบ ราตคตหนามขนุน ๒๐ สาย เสื้อแพรต่างสี ๗๐ ตัว เสื้อกระบวนไหม ๓๐ ตัว เป็นเสื้อร้อยตัว ออกไปพระราชทานให้ข้าพระพุทธเจ้า สำหรับจะได้ใช้สอยแจกจ่ายให้บรรดาพระยาพระเขมร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสีหราชเดโช หลวงเทเพนทร ขุนหมื่น ๓๑ คน ไพร่ ๓๙ คน เข้ากัน ๘๐ คน หญิงหม้าย ๔ คน หญิงคนใช้ ๑๓ คน เข้ากัน ๑๗ คน เข้ากันชายหญิงนายไพร่ ๘๗ คน กับพระยาพิบูลยราช พระยาพระเขมร นาย ๑๙ ไพร่ ๓๐ เข้ากัน ๔๙ คน ออกไปทางบก ให้เป็นเกียรติยศกับพระองค์ด้วง โปรดให้มีพระราชโอวาทพระราชทานพระองค์ด้วงออกไป ข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง พร้อมกันได้กราบถวายบังคมต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานสิ่งของนอกท้องตราซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานออกไปนั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้
ครั้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด โทศก พระยาราชโยธา พระยาภิรมย์ราชา บอกนำดำเนิรท้องตรากับกระแสพระราชดำริส่งต่อตามระยะออกไปณเมืองปัตบอง ในท้องตราต้นกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมไปถึงข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง ว่า ซึ่งทำคุณไว้กับญวนปล่อยให้รอดขีวิตไปหาเสียเปล่าไม่ เป็นผลประโยชน์ในราชการอยู่ แต่ว่า เขมรรู้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าปล่อยญวนในที่ล้อมไป เขมรจะยินดีหรือจะไม่ชอบใจ ถ้าเขมรยินดีด้วยแล้ว เขมรคงจะนับถือ ถ้าเขมรไมชอบใจ จะเข้าใจว่า กลัวญวน ไม่รบพุ่ง ปล่อยญวนไปนั้น เขมรเสียใจ ก็ให้ข้าพระพุธเจ้าคิดอ่านพูดจากลบเกลื่อนแก้ความเสียให้สิ้นวิตกของเขมร ให้เขมรเห็นความว่า หากลัวเกรงฝีมือญวนไม่ ปล่อยญวนในที่ล้อมไป จะผ่อนการรบพุ่งให้รอลงแต่พอจะให้เขมรตั้งตัวได้ คิดอ่านไปอย่างนี้ ถ้าญวนหลงเชื่อ ก็เป็นประโยชน์มีคุณกับเขมรอยู่มาก ให้ข้าพระพุทธเจ้าพูดจาให้เห็นเป็นความดีกับเขมร อย่าให้เขมรเสียใจหมิ่นประมาทได้ แต่การซึ่งจะทำให้เป็นไมตรีไว้กับญวนนั้น หาเห็นเป็นไมตรีตลอดยืดยาวไปได้ไม่ องดีดก องอาน ผู้เป็นแต่นายทัพ นายกอง แม่ทัพใหญ่ญวนผู้สำเร็จราชการก็ยังมีอยู่ เมืองเขมรเป็นที่ปรารถนาของญวน ญวนรักเมืองเขมรมากนัก ญวนได้ผลประโยชน์ในแผ่นดินเมืองเขมรก็มาก ญวนจะทิ้งเมืองเขมรก็มีความเจ็บความอาย ญวนหาปล่อยเมืองเขมรไม่ ญวนจะทำแต่ทีอยู่ว่า จะเป็นไมตรีกับไทย ญวนจึงย่ำยีรบกวนเขมร เขมรจะมาพึ่งข้าพระพุทธเจ้า ๆ ก็จะต้องช่วยเขมรให้เต็มมือ เขมรจะไม่กลับใจเข้าหาญวน ถ้าไพร่พลกองทัพเป็นแต่ลาวเขมรป่าดงมาก ไม่แข็งแรงจะสู้รบญวนไม่ได้ จะขอนายทัพนายกองผู้ใดที่จะใช้สอยได้ ไพร่พลกองใดที่แข็งแรงจะต้องการอีก ๔๐๐๐–๕๐๐๐ ก็ให้ข้าพระพุทธเจ้าบอกขอเข้ามา จะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอุดหนุนเพิ่มเติมออกไป จะได้ช่วยกันรบพุ่งญวนเอาชัยชำนะญวนให้จงได้ แล้วให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดอ่านเอาเขมรเก่าที่มีสติปัญญาไว้ใจได้ให้แยกไปกำกับพระยาพระเขมรที่ตั้งตัวเป็นนายทัพนายกองอยู่ทุกแขวงเมืองเขมร จะได้ยั่วเย้าให้สู้รบญวนให้แข็งแรงกว่าจะแตกร้าวขาดกัน ไม่กลับใจเข้าหาญวนอีกได้ แล้วก็เป็นที่ไว้ใจได้อย่างหนึ่ง เมื่อแลกำลังญวนมากกำลังเขมรน้อย เขมรสู้รบกับญวนเคี่ยวขับไปมิได้ ก็ต้องพาครอบครัวถอยร่นเข้ามาถ้าข้าพระพุทธเจ้าคิดได้ดังนี้แล้วก็จะดี ครอบครัวเขมรข้าพระพุทธเจ้าพิทักษ์รักษาทำนุบำรุงไว้ได้แล้ว จะเอาฉกรรจ์เขมรเข้าสู้รบทำศึกกับญวนต่อไป การก็จะเบาแรงทแกล้วทหารไพร่พล ให้ข้าพระพุทธเจ้าตริตรองราชการให้รอบคอบ ควรจะได้ราชการบ้านเมืองไพร่พลเขมรประการใด ก็ให้คิดไปตามท่วงทีราชการ ๆ ครั้งนี้จะคิดพูดจาเป็นทางไมตรีกับญวนโดยจริงก็ดี จะเป็นไมตรีโดยอุบายก็ดี และการจะต้องต่อสู้รบประการใดก็ดี ก็ตามแต่ปัญญาความคิดข้าพระพุทธเจ้า สุดแต่จะอาบ้านเมืองไพร่พลเขมรให้จงได้ ถ้ามาตแม้นจะไม่ได้เขตต์แดนเมืองเขมรไว้ ก็อย่าให้เมืองเขมรได้ไปกับญวนอีกเลย ให้ข้าพระพุทธเจ้ารักษาพระองค์ด้วงอย่างดวงแก้ว ในท้องตรากระแสพระราชดำริซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปมีหลายประการนั้น ข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกอง ได้กราบถวายบังคมทราบเกล้าทราบกระหม่อมในท้องตรากระแสพระราชดำริทุกประการแล้ว
ซึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโทษข้าพระพุทธเจ้า นายทัพนายกองทั้งปวง ในท้องตรากระแสพระราชดำริ ให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณปรึกษาหารือกับนายทัพนายกองแต่จะเอาบ้านเมืองไพร่พลเขมรให้จงได้ อย่าให้เขมรได้ไปกับญวน พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานข้อความในท้องตรากระแสพระราดำริปรึกษานายทัพนายกองเห็นว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้พระองค์ด้วงไปเป็นเจ้าครอบครองบ้านเมืองพระยาพระเขมรอาณาประชาราษฎรทั้งปวงอยู่ณเมืองโพธิสัตว จะเอาเมืองโพธิสัตวเป็นเมืองใหญ่ เมืองโพธิสัตวก็ยังไม่เป็นบ้านเมืองแน่นหนาเป็นที่ไว้วางใจได้ จะต้องรับพระราชทานคิดทำบ้านเมืองโพธิสัตวให้มั่นคงก่อน ครั้นจะจัดแจงให้ทำบ้านเมืองขึ้นในเดือนยี่เดือนสามนี้ สะเบียงอาหารก็ยังขัดสน เข้าที่ได้ไว้ในค่ายญวนเมืองโพธิสัตว ก็รับพระราชทานเอาไว้พอจะได้แจกจ่ายเจือจานเลี้ยงพระยาพระเขมรครอบครัวเมืองโพธิสัตว เมืองขึ้นกับเมืองโพธิสัตว ทั้งพระยาพระเขมรที่จะสามิภักดิ์สมัครเข้ามาอยู่กับพระองค์ด้วง สะเบียงอาหารที่จะเลี้ยงกองทัพซึ่งจะยกออกไปทำบ้านเมืองรักษาเขตต์แดน จะไปปลูกยุ้งฉางไว้ที่เมืองโพธิสัตว ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้ไปจัดซื้อเข้าเมืองพนมศก เมืองสวายจิด เมืองมงคลบุรี เมืองอรัญประเทศ จะได้ให้เรือขนผ่อนเข้าออกไปให้พอจับจ่ายกองทัพ ๆ ที่จะทำบ้านเมืองยังอยู่กับข้าพระพุทธเจ้า กองกรุงเทพพระมหานคร ทัพเมืองนครราชสิมา ไปอยู่ค่าย จะอยู่ไปกับพระยาเสนาภูเบศร์ ทั้งอยู่ที่เมืองปัตบอง นายไพร่ ๕๐๐๐ คนเศษ จึงจะยกออกไปทำบ้านเมืองที่เมืองโพธิสัตวณเดือน ๔ นี้ให้แน่นหนามั่นคง จะได้ผ่อนเอาปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำออกไปไว้ให้มากเป็นที่ไว้วางใจได้ จึงจะให้พระองค์ด้วงออกไปอยู่เมืองโพธิสัตว เมืองเขมร หัวเมืองขึ้นกับเมืองเขมรถึง ๓๐ หัวเมือง ไพร่พลก็มาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าได้ให้พระองค์ด้วงมีหนังสือพระองค์ด้วงบอกไปให้พระยาเขมรเจ้าเมืองทั้งปวงใจความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสีหราชเดโชพาพระองค์ด้วงออกมาถึงณเมืองปัตบอง ให้เจ้าเมืองกรมการเข้ามารับนำพระองค์ด้วง จะได้ไปครอบครองบ้านเมือง ถ้าเจ้าเมืองกรมการยังสู้รับกับญวนราชการติดพันอยู่ ก็ให้แต่งบุตรหลานเข้ามารับพระองค์ด้วงณเมืองปัตบอง จึงจะได้เป็นเกียรติยศกับพระองค์ด้วง แต่ราชการที่ญวนกับเขมรแตกร้าววิวาทสู้รบกันครั้งนี้ เขมรที่พากันเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณคิดคืนเอาแผ่นดินเมืองเขมรมาเป็นขอบขัณฑเสมาตามเดิมก็มากหลายเมือง เขมรที่ยังเข้าอยู่กับญวนก็หลายเมือง จะไว้ใจว่า เขมรแตกร้าวกับญวนทั้งสิ้น ยังหาได้ไม่ ที่ข้าพระพุทธเจ้าพูดจาเป็นไมตรีกับญวน ถ้าญวนไปประชุมปรึกษาหารือพร้อมกัน ญวนจะยินดีเป็นไมตรีกับไทยโดยสุจริต ญวนก็จะเลิกถอยทัพไปจากเมืองพนมเปญตามสัญญา ถ้าญวนพูดจาเป็นกลอุบายแต่พออย่าให้กองทัพไทยยกอุดหนุนไปช่วยเขมร ญวนก็จะรักษาแผ่นดินเมืองพนมเปญไว้เหมือนแต่ก่อน ที่ข้าพระพุทธเจ้าปล่อยญวนในค่ายเมืองโพธิสัตวกลับคืนไป พระยาพระเขมรราษฎรที่เมืองใกล้มาพร้อมกันอยู่ที่เมืองโพธิสัตว ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าพูดจาเป็นไมตรีกับญวนแต่พอจะให้ญวนรอการที่จะสู้รบกับเขมร ๆ จะได้ตั้งตัวจัดแจงสะเบียงอาหารรักษาครอบครัวไว้ให้หมั่นคง ก็มีความยินดีพร้อมมูลกัน แต่พระยาพระเขมรที่เมืองไกล ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือบอกข้อราชการไปให้ทราบหลายเมือง จะยินดีหรือจะเสียใจหมิ่นประมาทประการใด ยังหาทราบเกล้าทราบกระหม่อมไม่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดขุนนางเขมรเก่าให้ออกไปกับพระยาพระเขมรหัวเมืองทั้งปวงที่ตั้งตัวเป็นนายทัพนายกองให้ยั่วเย้าพระยาพระเขมรรบสู้ญวนให้แข็งแรง ให้เขมรกับญวนแตกร้าวกันจงได้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าให้พระยาสังขโลกคนเก่า พระนรินทรโยธา ปลัดเมืองปัตบอง ออกไปพูดจาชักชวนพระยาพระเขมรทางเมืองพนมเปญให้มีความอุตสาหะสู้รบกับกองทัพญวน ให้พระเสนาราชกุเชน พระองค์แก้ว กรมการเมืองนครเสียมราบ ไปกำกับยั่วเย้าพระยาพระเขมรให้สู้รบกับญวนทางเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย ราชการที่จะคิดทำฉลองพระเดชพระคุณให้บ้านเมืองเขมรราบคาบเป็นปกติเกลือกจะยืดยาวต่อไป จะไว้ใจแก่ราชการยังไม่ได้ ด้วยญวนก็ยังคิดพูดจาเกลี้ยกล่อมทำศึกสงครามกับเขมรติดพันไปอยู่ เกลือกญวนจะยกกองทัพทุ่มเทขึ้นมากระทำกับเขมรในฤดูน้ำ เดือน ๘ เดือน ๙ ปีฉลู ตรีนิศก เขมรจะต้านทานสู้รบกับกองทัพญวนไม่ได้ เขมรจะบอกขอกองทัพเข้ามาณเมืองปัตบอง เรือรบที่เมืองปัตบองก็ขัดสน เรือซึ่งข้าพระพุทธเจ้าให้ต่อขึ้นไว้ที่เมืองปัตบอง เขมรช่างหมันที่เมืองปัตบองก็ทำหมันช้ำเหล็กคัดหมันหาได้ไม่ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดทัพเรือให้ไปรักษาปากน้ำเมืองโพธิสัตวขัดด่านไว้ครั้งนี้ ได้สู้รบกับกองทัพญวน ยิงปืนใหญ่หน้าเรือได้ลำละ ๒ นัดบ้าง ๓ นัดบ้าง ก็บิดคอคายหมันชำรุดรั่ว เห็นจะใช้ราชการต่อไปไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าตัดมาดยาว ๙ วามาทำเป็นเรือศีร์ษะมีดโกนไว้ที่เมืองปัตบอง ๒ ลำ ได้เอาปืนกระสุน ๓ นิ้ว ๔ นิ้วลงใส่หน้าเรือยิงลองดู เห็นจะได้ราชการอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานนายช่างเรือสัก ๑๐ คน จะให้ไปตั้งทำเรือศีร์ษะมีดโกนที่เมืองอรัญประเทศยาว ๙ วา ๑๐ วา ๑๑ วาไว้สำหรับราชการสัก ๔๐ ลำ ๕๐ ลำตามแต่จะได้ก่อน ด้วยไม้ใหญ่ยาวที่เมืองอรัญประเทศพอจะหาได้บ้าง ถึงฤดูฝน เดือน ๘ เดือน ๙ ก็เอาเรือมาทางน้ำถึงเมองปัตบองได้คล่อง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพระพุทธเจ้าปรึกษาราชการกับเจ้าพระยานครสิมา ๆ ก็ป่วย กราบถวายบังคมลากลับไปเมืองนครราชสิมาแต่ณวันเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีชวด โทศก อาการเจ้าพระยานครราชสิมาป่วยครั้งนี้ เกลือกจะไม่หายเร็ว ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานเจ้าพระยายมราชออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชานายทัพนายกองไพร่พลและพระยาพระเขมรหัวเมืองทั้งปวง คิดราชการรักษาเขตต์แดนบ้านเมืองครอบครัวทางเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย กับกองทัพมอญไทยหัวเมืองซึ่งข้าพระพุทธเจ้าบอกขอเข้ามาแต่ก่อน ครั้งนี้ จะขอรับพระราชทานสัก ๓๐๐๐ คน จะได้ยกออกไปกับเจ้าพระยายมราชโดยเร็ว ๑๐๐๐ คนก่อน กองทัพ ๒๐๐๐ คนนั้นจะขอรับพระราชทานไว้ให้ฟังราชการอยู่ที่เมืองกระบินทร์บุรีให้พร้อมมูลก่อน ด้วยเข้าที่จะเลี้ยงกองทัพมาก ที่เมืองนครเสียมราบก็ขัดสน ยังให้จัดซื้อขนถ่ายอยู่ ถ้ามีราชการศึกสงครามหนักแน่นร้อนเร็วมาประการใด กองทัพ ๒๐๐๐ คนที่อยู่ณเมืองกระบินทร์บุรีจะได้รีบยกอุดหนุนเจ้าพระยายมราชออกไปให้ทันท่วงที อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าบอกมาแต่ก่อนว่า ได้มีหนังสือให้พระอินทรธิบาลถือไปถึงพระยาราชิกูลด้วยข้อราชการทางเมืองโพธิสัตว แล้วให้พระยาราชนิกูล นายทัพนายกอง จัดแจงผ่อนปรนกองทัพรักษาเขตต์แดน ครอบครัวทางเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย ไว้ให้มั่นคง แจ้งมาในบอกข้าพระพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้นแล้ว
ครั้นณวันเดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีชวด โทศก พระอินทรธิบาล เจ้ากรมพระตำรวจ กลับมาถึงเมืองปัตบอง พระยาราชนิกูลมีหนังสือบอกราชการทางเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย ว่า ณวันเดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีชวด โทศก องญวนในค่ายกะพงธม ห้ภาษาถี ล่ามญวน ออกมาพูดจากับพระยามนตรีเสน่หา เจ้าเมืองไพรกะดี หลวงมนตรีพิมล กรมการเมืองนครเสียมราบ ว่า องตอเวียนภู อาลัน จะใคร่พบพระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาน ให้พระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย ไปหาที่หน้าค่ายญวน พระยาอภัยสงคราม หลวงรักษาเทพ จึงให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ พระฤทธิฦๅไชย พระยาสังฆะ ไปจะพูดกับองตอเวียนภู องลัน ๆ ให้แต่ภาษากี ล่าม ออกมาพูดจากับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ พระฤทธิฦๅไชย พระยาสังฆะ ว่า องตอเวียนกู องลัน จะขอพบกับพระยาเดโช หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ พระฤทธิฦๅไชย พระยาสังฆะ บอกภาษาก็ ล่าม ว่า พระยาเดโชป่วย มาไม่ได้ องตอเวียนภู องลัน จะพูดกับพระยาเดโชประการใด ก็ให้มาพูดกับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ พระฤทธิฦๅไชย พระยาสังฆะ เถิด ภาษากี ล่ามญวน ก็เข้าไปในค่าย แล้วกลับออกมาบอกหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ พระฤทธิฦๅไชย พระยาสังฆะ ว่า ให้กลับไปเสียก่อน องตอเวียนภู องลัน จะปรึกษาให้พร้อมกัน ได้ความแน่ประการใด จึงจะได้บอกให้รู้ ครั้นณวันเดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ ปีชวด โทศก จึงให้พระภักดีสุนทร น้องพระยาเสนาราชกุเชน พระวงศาประเทศ พระยกรบัตรเมืองสังฆะ ไปฟังดูที่หน้าค่ายญวนตามสัญญา องตอเวียนภู องลัน ก็หามาพูดจาไม่ กับพระยาราชนิกูลจัดให้สนองอี นายไพร่ ๒๕๐ คน อยู่คิดราชการป้องกันรักษาครอบครัวกับพระยาเดโชณเมืองกะพงสวาย ให้พระยามนตรีเสน่หาไพร่กะดี พระยามนตรีเสน่หาเมืองกะพงเสียม อยู่กับพระยาเชต ว่าที่ฟ้าทะละหะ ณเมืองบาราย พระยาเสนาราชกุเชน นายไพร่ ๒๐๐ คน อยู่ฟังราชการณเมืองสะโทง พระวงศาประเทศ นายไพร่ ๑๐๐ คน อยู่รักษาเมืองชีแควง จัดเอากองทัพหัวเมืองไว้กับพระยาราชนิกูล เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม เข้ากัน ๑๐๐๐ คน ด้วยสะเบียงอาหารที่เมืองสะโทงก็ขัดสนหนัก แล้วว่า กองทัพนอกกว่านั้นหนีแตกไปบ้านเมืองก็เป็นอันมาก กองทัพหัวเมืองยังอยู่แต่ ๒๐๐๐ เศษ พระยาราชนิกูล นายทัพนายกอง จึงถอยทัพลงมาตั้งฟังราชการอยู่ณด่านพนมศก แขวงเมืองนครเสียมราบ กับส่งญวน ๒๒ คน จีน ๒ คน พากันหนีจากค่ายกะพงธมจะไปบ้านเมือง กองตระเวณพระยาเชต ว่าที่ฟ้าทะละหะ พระยาเดโช และเจ้าเมืองกะพงแลง จับได้ คำให้การญวนฉะบับ ๑ กับหนังสือพระยาเดโชมีมาถึงจมื่นสรรเพธภักดีฉะบับ ๑ ถึงพระยาเสนาราชกุเชนฉะบับ ๑ หนังสือพระปลัดแสนท้องฟ้ามาถึงพระองค์แก้วฉะบับ ๑ หนังสือพระยาศรีธรรมาธิราชถึงพระยาแสนท้องฟ้าฉะบับ ๑ หนังสือญวนมาถึงนายทัพนายกองทางเมืองสะโทงฉะบับ ๑ หนังสือเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมร ๓ ฉบับ เข้ากันทั้งหนังสือญวนเขมร ๘ ฉะบับ กับปืนทองเหลืองญวนได้ไว้ในที่รบ กระสุนนิ้วกึ่ง ๒ นิ้ว ๖ กระบอก ส่งมาเมืองปัตบอง ที่พระยาราชนิกูลให้แต่สนองอีและพระยาเสนาราชกุเชนคุมไพร่นายละ ๒๐๐–๒๐๐ เศษอยู่รักษาเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย พระยาราชนิกูล นายทัพนายกอง ก็ถอยทัพลงมาตั้งฟังราชการอยู่ถึงด่านพนมศก แขวงเมืองนครเสียมราบ ไกลกับราชการที่จะคิดรักษาเขตต์แดนบ้านเมืองครอบครัวเขมร หนักแล้ว หนังสือพระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย มีมาถึงพระยาเสนาราชกุเชน ก็ได้ความว่า พระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย จะคิดรักษาเขตต์แดน ครอบครัว ไว้ ก็น้อยตัว เขตต์แดนเมืองกะพงสวายก็กว้างขวาง ทางที่ญวนจะยกกองทัพมาได้ก็หลายทาง แล้วว่า พระยาเดโชสามิภักดิ์สมัครเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณจะให้ราษฎรครอบครัวเขมรได้อยู่เย็นเป็นสุข เกลือกจะไม่สมความปรารถนา ก็กลัวความผิดในราชการนัก ด้วยเรอญวนชื่อ องดีดก องช้าย ขึ้นมาใหม่อีก ๒๐ ลำ ออกยามุขสงครามไปลาดตระเวนพบญวนคน ๑ ได้พูดจากัน ญวนแจ้งความว่า อย่าให้เขมรไว้ใจญวน มันจะคิดเอาเขตต์แดนบ้านเมืองเขมรให้จงได้ ทุกวันนี้ มันกำลังจัดแจงยกมาทางแซกันดานทางหนึ่ง ทางโงนเซอเตียนทางหนึ่ง เที่ยวสกัดครอบครัวรักษาเขตต์แดนเมืองกะพงสวาย เมืองบาราย เมืองเชิงไพร เมืองกะพงเสียม ข้าพระพุทธเจ้าทราบข้อควาในหนังสือพระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย ข้าพระพุทธเจ้ามิไว้ใจกับราชการ ด้วยพระยาราชนิกูลก็ถอยทับมาตั้งฟังราชการอยู่ด่านพนมศก ให้แต่พระยาเสนาราชกุเชน นายไพร่ ๒๐๐ คน อยู่รักษาเมืองสโทง พระวงศาประเทศ นายไพร่ ๑๐๐ คน อยู่รักษาเมืองชีแครง เกลือกญวนจะยกจู่โจมมาตั้งมั่นลงที่เมืองสโทง เมืองชีแครง กันเอาเขตต์แดนไปได้ ก็จะเสียราชการไป ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือไปถึงพระยานุภาพไตรภพ เจ้าเมืองนครเสียมราบ ให้ชักเอานายทัพนายกองไพร่พลในกองทัพพระยาราชนิกูล กับคนเมืองนครเสียมราบ ตามแต่พระยานุภาพไตรภพจะเกณฑ์เอาไปให้พอกับราชการ รีบยกขึ้นไปให้ถึงเมืองสโทงโดยเร็ว อย่าให้ทันญวนมาตั้งกันเอาเขตต์แดนไปได้ ให้พระยานุภาพไตรภพกับพระองค์แก้วตั้งรักษาเขตเเดนบ้านเมืองครอบครัวอยู่ที่เมืองสโทงก่อน แล้วจะให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปคิดราชการทางเมืองสโทง เมืองกะพงสวาย ให้พระยาเสนาราชกุเชน สนองอี นั้นไปคิดราชการกับพระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย จะได้พูดจาตักเตือนเอาใจพระยาพระเขมรไพร่พลทั้งปวงให้สู้รบกับกองทัพญวนให้แข็งแรง ข้าพระพุทธเจ้าได้ลอกสำเนาตรากระแสพระราชดำริที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขึ้นไปให้คิดทำราชการรักษาเขตต์แดนบ้านเมืองเขมรไว้ ไปให้พระยานุภาพไตรภพ พระองค์แก้ว และนายทัพนายกอง ทราบเกล้าทราบกระหม่อมด้วยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบเงินตราให้พระยานุภาพไตรภพ ๑๑ ชั่ง จะได้จัดซื้อเข้าเจือจานกองทัพอย่าให้ขัดสน จะไม่ได้ถอยทัพกลับมา อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แล้วก็ได้ให้พระยาณรงควิไชย พระพรหมบริรักษ์ พระอินทรธิบาล ไปจัดทัพ ชักคนในกองทัพพระยาราชนิกูลให้พระยานุภาพไตรภพ แต่พระยาราชนิกูล พระยาอภัยสงคราม หลางรักษาเทพ ข้าพระพุทธเจ้าให้กลับมาณเมืองปัตบอง จะได้ปรึกษาหารือไล่เลียงไถ่ถามค่ายญวนซึ่งตั้งอยู่ณเมืองกะพงธม การควรที่จะทำได้ไม่ได้ประการใด เจ้าพระยายมราชขึ้นไปถึงพร้อมกันแล้ว จะได้คิดราชการต่อไป พระยาณรงควิไชย พระพรหมบริรักษ์ พระอินทรธิบาล ได้กราบถวายบังคมลาไปจากเมืองปัตบองแต่ณวันเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีชวด โทศก
อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหนังสือไปถึงพระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย ฉะบับหนึ่ง พระยาเชตฟ้า ว่าที่ทะละหะ ฉะบับ ๑ พระยาราชเดชะ ว่าที่พระยาจักรี ฉะบับ ๑ ใจความว่า ญวนเข้าหากองทัพที่เมืองโพธิสัตว แจ้งความว่า มีใจเจ็บแค้นพระยาพระเขมรหัวเมืองทั้งปวง เกิดสู้รบกับกองทัพญวนครั้งนี้ ทแกล้วทหารไพร่พลแข็งแรง แต่กองทัพพระยาเดโช พระยาเชต พระยาราชเดชะ พระยาเดโช พระยาเชต พระยาราชเดชะ มีความประมาทไว้ใจเชื่อถือสติปัญญาญวนให้เสียท่วงทีไปได้ ให้คิดระมัดระวังรักษาตัวให้มั่นคง เอาใจทแกล้วทหารไพร่พลให้สู้รบกับกองทัพญวนให้แข็งแรง ข้าพระพุทธเจ้าให้หลวงเพ่งเมืองนครเสียมราบถือไปถึงพระยาเดโช พระยาเชต พระยาราชเดชะ แต่ณวันเดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีชวด โทศก ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งญวน ๒๒ คน จีน ๒ คน เข้ากัน ๒๔ คน คำให้การองกายเหียบญวน กับต้นหนังสืออักษรเขมร พระยาเดโช เจ้าเมืองกะพงสวาย มีมาถึงจมื่นสรรเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็ก ฉะบับ ๑ ถึงพระยาเสนาราชกุเชนฉะบับ ๑ หนังสือพระปลัดแสนท้องฟ้ามาถึงพระองค์แก้วฉะบับ ๑ หนังสือพระยาศรีธรรมาธิราชมาถึงพระยาแสนท้องฟ้าฉะบับ ๑ เข้ากันหนังสืออักษรเขมร ๔ ฉะบับ หนังสือญวนมีอักษรเขมรกำกับมาถึงนายทัพนายกองทางเมืองสโทงฉะบับ ๑ มีมาเกลี้ยกล่อยมพระยาพระเขมร ๓ ฉะบับ เข้ากันหนังสือญวนหนังสือเขมร ๘ ฉะบับ กับสำเนาหนังสือข้าพระพุทธเจ้าคัดเอาข้อความในท้องตรากระแสพระราชดำริมีประกาศไปถึงพระยาพระเขมรหัวเมืองทั้งปวงฉะบับ ๑ เข้าผนึกปิดตราให้หมื่นศรีสังหาร ตำรวจนอกซ้าย หมื่นวิเศษ ตำรวจสนมซ้าย เข้ามาแจ้งราชการด้วยแล้ว
หนังสือมาณวันจันทร เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ ปีชวด โทศก ศักราช ๑๒๐๒
ตั้งแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกสนองพระราชโองการฉะบับที่กล่าวนี้เข้ามาแล้ว ก็พร้อมกับพระองค์ด้วงยกกองทัพไปรบญวนซึ่งมาตั้งปกครองเมืองเขมร รุกแดนลงไปได้โดยลำดับจนถึงเมืองอุดงฦๅไชย หนือเมืองพนมเพ็ญซึ่งญวนตั้งอยู่เป็นที่มั่น ระยะทางราว ๑๕๐๐ เส้น (เดี๋ยวนี้ใช้รถยนต์แล่นราว ๕๐ นาฑี) ด้วยพวกเขมรพากันมาเข้ากับพระองค์ด้วงเป็นอันมาก แต่กระนั้น ก็ไม่สามรถจะตีเอาเมืองพนมเพ็ญได้ ด้วยญวนมีกำลังมากกว่าไทยในทางน้ำ เพราะอาจเอาเรือรบเรือลำเลียงขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อนได้สะดวก ข้างฝ่ายไทยไม่มีเรือ ก็ได้เพียงคอยรับพุ่งกีดกันมิให้ญวนขึ้นบกไปห่างทางน้ำได้ แต่พวกกองทัพญวนที่แยกย้ายกันไปตั้งค่ายอยู่ตามเมืองดอนถูกล้อมจนอดอยากหนีกลับไปได้ก็มี ที่ต้องยอมออกมานบนอบต่อไทยก็หลายแห่ง พอเปลี่ยนรัชชกาลทางเมืองญวน ด้วยพระเจ้ามินมางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเทียวตรีได้รับรัชชทายาท เห็นว่า การที่จะแปลงเมืองเขมรให้เป็นหัวเมืองญวนไม่สำเร็จ ก็เปลี่ยนกลับไปใช้อุบายอย่างเก่า ให้ส่งพระองค์อิ่ม มหาอุปโยราช คืนมาครองเมืองเขมรอยู่ในป้องกันของญวน เช่นเดียวกับพระองค์ด้วงครองเมืองเขมรอยู่ในป้องกันของไทย แต่พระองค์อิ่มมาอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญได้หน่อยหนึ่ง ก็ผะเอิญเกิดอหิวาตกะโรคขึ้นที่เมืองพนมเพ็ญ ญวนจึงกวาดต้อนผู้คนทิ้งเมืองพนมเพ็ญลงไปตั้งที่เมืองโจดกใกล้ชายทะเล ไทยได้เมืองพนมเพ็ญ ก็ได้บรรดาหัวเมืองริมทางน้ำทางฝ่ายข้างเหนือทั้งสิ้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การสงครามได้เปรียบญวน ถ้าตีได้เมืองโจดกอีกเมืองหนึ่ง แล้วถมคลองขุดซึ่งเป็นทางคมนาคมเสีย ก็จะกันญวนให้ขาดจากแดนเขมรได้ จึงโปรดฯ ให้เตรียมกองทัพใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เป็นนายหน้า และให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรรังสรรค์ (คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพเรือ จมื่นไวยวรนาถ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ) เป็นนายทัพหน้า ยกลงไประดมตีเมืองโจดกเมื่อปลายปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ แต่การไม่สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ด้วยทัพเรือไปอ่อนแอเสียอีกเหมือนหนหลัง ก็ต้องถอยกลับมาทั้งทัพบกและทัพเรือ แต่นั้น เมืองเขมรก็แยกกันเป็น ๒ ภาค ภาคใต้เป็นของพระองค์อิ่ม ภาคเหนือเป็นของพระองค์ด้วง ไม่สามารถปราบปรามกันได้
ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ญวนให้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาเมืองเขมรอีกครั้งหนึ่ง มาตั้งทัพหลวงที่เมืองพนมเพ็ญ หมายจะรบพุ่งเอาชะนะไทยให้จงได้ กองทัพญวนขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งกองทัพช้างศึกออกต่อสู้ ตีกองทัพญวนแตกยับเยินไป แต่นั้น ญวนก็ขยาด หากล้ามาตีเมืองอุดงอีกไม่ ต่อนั้นมา มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นทางฝ่ายญวน ด้วยพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าตือดึกได้รับรัชชทายาท เปลี่ยนรัชชกาลใหม่ พระองค์อิ่ม มหาอุปโยราช ซึ่งญวนยกย่องเป็นเจ้าเมืองเขมร ก็สิ้นชีพลงด้วย รัฐบาลทางเมืองญวนเห็นการทางเมืองเขมรไม่สมประสงค์ จึงให้แม่ทัพญวนมีหนังสือมาชวนเจ้าพระยาบดินทรเดชาอย่าทัพ และให้ทูตมาเจรจาความแก่พระองค์ด้วงว่า ถ้าพระองค์ด้วงยอมอ่อนน้อมถวายบรรณาการต่อญวนเมือนอย่างเจ้ากรุงกัมพูชาแต่โบราณ ก็จะส่งพวกราชวงศ์เขมรคืนให้ แล้วจะเลิกทัพกลับไปจากเมืองเขมร พระองค์ด้วงนำความเสนอเจ้าพระบดินทรเดชา ๆ เห็นความข้อสำคัญมีอยู่ที่นักมารดากับครอบครัวของพระองค์ด้วงอยู่ในพวกเขมรที่ญวนจับเอาไปไว้และรับว่าจะส่งคืนมาให้นั้น จะไม่ให้ยอมเป็นไมตรีเกรงพระองค์ด้วงจะน้อยใจ จึงอนุญาตให้พระองค์ด้วงมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อนว่า ถ้าญวนยอมให้ปกครองบ้านเมืองเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์ราชาราชบิดา (ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร) ก็จะยอมถวายบรรณาการต่อเมืองญวนอย่างเดียวกัน เมื่อญวนได้รับหนังสือนั้น ก็ส่งนักมารดากับครอบครัวของพระองค์ด้วงคืนมา แต่เจ้านายราชวงศเขมรนั้นว่า ต่อพระองค์ด้วงแต่งทูตไปจิ้มก้องต่อเจ้าเวียดนามแล้ว จึงจะส่งคืนมาให้ แล้วญวนให้มาเตือนเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ช่วยจัดการให้ตลอดไป ญวนกับไทยจะได้กลับเป็นไมตรีกันอย่างเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่า ถ้าญวนถอยกองทัพกลับไปจากเมืองเขมรดัง่วา ก็คือ ยอมคืนเมืองเขมรทั้งหมดให้แก่ไทยนั้นเอง ข้อที่จะให้เจ้าเขมรส่งบรรณาการ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ก็เหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ ควรรับได้ จึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเชื่อญวน โปรดฯ ให้มีตราเชิญกระแสรับสั่งตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา ดังพิมพ์ไว้ต่อไปนี้.
(ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกมาให้กราบทูลพระกรุณาว่า) ญวนยกขึ้นมาครั้งนี้ มาตั้งอยู่เมืองพนมเพ็ญเป็นอันมาก ใช้คนมาบอกพระองค์ด้วงให้แต่งทูตไปสารภาพยอมขึ้นกับญวน แล้วจะส่งเจ้าผู้หญิงญาติพี่น้องมาอยู่ให้พร้อมมูลกัน การครั้งนี้เป็นการใหญ่ เหลือปัญญาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขอกระแสพระราชดำริจะให้สู้รบหรือจะให้ปราณีประนอมกันเสียให้แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมว่า ถ้าจะให้คิดไปตามการแล้ว วิสัยญวนไม่มีความสุจริต ยกตนข่มท่าน คิดจะเอารัดเอาเปรียบ เลียบเลียมเอาทุกครั้งทุกที ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอเอาเมืองบันทายมาศ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลั ยก็กันเอาเมืองเขมรไปเป็นสิทธิของตัว มาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็กันเอาเขตต์แดนเมืองเวียงจันท์ไป เหลือที่จะอดทน ซึ่งญวนมาชวนพูดเป็นทางไมตรีนั้น เพราะเหตุอันใด ญวนสู้รบฝีมือทแกล้วทหารฝ่ายเราไม่ได้หรือ ญวนจึงพูดเป็นทางไมตรี คิดให้เห็นความก่อน ที่ญวนให้นักมารดาบุตรภรรรยาพระองค์ด้วงมานั้น ญวนคิดแล้วว่า จะยึดเอานักมารดาบุตรภรรยาพระองค์ด้วงไว้ หาต้องการไม่ ต้องเสียเข้าเกลืออีแปะเปล่า ๆ ส่งมาให้เสียดีกว่า ญวนให้มา ก็จะให้ผูกพันพระองค์ด้วงเอาไปเป็นของญวน ทั้งจะได้บุญได้คุณเป็นทางพูดต่อไป เขมรจะได้เห็นความดีว่า ญวนไม่มีพยาบาท เป็นความคิดใหม่จะล้างความคิดเก่า ด้วยเจ้ามินมางทำกับเขมรยับเยิน จึงได้แตกร้าวจากญวน ซึ่งญวนว่า ให้พระองค์ด้วงแต่งพระยาพระเขมรคุมสิ่งของไปถวายเจ้าเวียดนาม แล้วให้มีหนังสือไปขอเจ้าหลานผู้หญิงซึ่งตกอยู่แก่ญวนนั้น ทรงพระราชดำริไม่เห็นว่า ญวนจะให้เจ้าผู้หญิงมา ญวนจะเอาไว้แย่งแผ่นดินเมืองเขมรเล่นมิดีหรือ ถ้าให้มา ก็เหมือนให้เมืองเขมรเสียเหมือนกัน ด้วยญวนได้ผลประโยชน์ในเมืองเขมรเป็นอันมาก โดยความรักเมืองเขมร สู้ลงทุนลงรอนสะเบียงอาหารรี้พลขึ้นมารักษาติดตามจะเอาเมืองเขมรคืน ไพร่พลล้มตายเสียเป็นอันมาก ญวนก็มีทิฏฐิมานะเสียดายทุนรอน จะให้เจ้าผู้หญิงมาง่าย ๆ ที่ไหน ซึ่งพระองค์ด้วงพูดไปกับญวนว่า จะมีหนังสือเข้ามาขอญวนแขกยังท่านเสนาบดีก่อน ถ้าโปรดฯ ก็ได้ ถ้าไม่ให้ใน ๓ เดือน จึงจะรู้นั้น ถึงกำหนดแล้ว ญวนก็ควงจะมาฟังความ ถ้าจะได้พูดจากับญวนต่อไปอีก ก็ให้พระองค์ด้วงพูดว่า พระองค์ด้วงมีหนังสือเข้าไปยังท่านเสนาบดีแล้ว ท่านเสนาบดีมีหนังสือออกมาถึงพระองค์ด้วงว่า ถ้าญวนส่งเจ้าผู้หญิงมาให้อยู่กับพระองค์ด้วงพร้อมญาติวงศกันแล้ว พระองค์ด้วงได้จัดการบ้านเมืองเขมรให้ไพร่บ้านพลเมืองได้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อ (สมเด็จพระนารายณ์ราชา) พระองค์เองเป็นเจ้ากัมพูชาในครั้งนั้น อย่าว่าแต่ญวนแขก ๔๔ คนเลย ถึงญวนซึ่งได้ส่งเข้าไปไว้ณกรุงเทพพระมหานครน้อยเท่าใด ก็จะคืนให้ทั้งสิ้น.
แต่ในที่สุด ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ในท้องที่ อาจทราบเหตุการณ์และความจริงเท็จได้ดีกว่าที่ในกรุงเทพฯ โปรดพระราชทานอนุญาตให้เจ้าพระยาบดินเดชาบัญชาการตามเห็นสมควร เจ้าพระยา บดินทรเดชาก็ตอบหนังสือไปถึงแม่ทัพญวนว่า รับจะบอกสนับสนุนเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมีทางไมตรีกับญวน แล้วให้พระองค์ด้วงแต่งทูตไปจิ้มก้องถวายบรรณาการพระเจ้ากรุงเวียดนามยังเมืองเว้ ญวนก็คืนราชวงศเขมรมาให้ดังว่า แล้วเลิกทัพกลับไปในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๐ ไทยก็ได้ครอบครองเมืองเขมรต่อมาเหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้อภิเษกพระองค์ด้วง (ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนโรดม และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อันได้รับรัชชทายาทต่อมา) เป็นสมเด็จพระหริรักษ์ฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา และโปรดฯ ให้หากองทัพกลับ ดังสำเนาที่พิมพ์ไว้ต่อไปนี้.
๏หนังสือเจ้าพญาจักรีมาเถีงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก ด้วยบอกเข้าไปว่า พญาสราชเดช, พญาบวรนายก, พญาธนนาธิบดี, ซึ่งแต่งให้ไปเมืองเว้ ตามซึ่งบอกเข้ามาแต่ก่อนนั้น ณวัน ๓ฯ ๖ ค่ำ ปีมะแม นพศก ญวนนำพญาราชเดช, พญาบวรนายก, พญาธนนาธิบดี, มาส่งณอุดงมีไชย ครั้นณวัน ๑๐ ฯ ๖ ค่ำ องจันคำมาง, องพ่อคำมาง, นายไพร่ ๙๑๖ คน กับฟ้าทะละหะหลง, พญาพระเขมร ขึ้นมาณท่ากพงหลวง ญวนนายไพร่ กับฟ้าะละหะ, พญาพระเขมร แห่หนังสือเจ้าเวียดนาม กับตราทองเหลืองสี่เหลี่ยมกาไหล่ทองดวง ๑ งาช้างเล็กสี่เหลี่ยมดวง ๑ จดหมายรายสิ่งของกับของ มาให้พระองค์ด้วง, องจันคำมาง, องพ่อคำมาง, บอกกับพระองค์ด้วงว่า ให้พระองค์ด้วงแต่งพญาพระเขมรลงไปรับเจ้าผู้หญิงมาเถิด ครั้นณวัน ๒ฯ ๗ ค่ำ พระองค์ด้วงแต่ให้สมเด็จเจ้าพญา พญากลาโหม พญาเชษฐ์ พญาพระเขมร ลงไปรับเจ้าผู้หญิงณเมืองพนมเปญ ณวัน ๖ฯ ๗ ค่ำ องญวนแม่ทัพให้องลันบิด, องซูจิว, องภู, องจันเกว่, นำเจ้าผู้หญิง กับญาติวงศ พญาพระเขมร ขึ้นมาส่งณท่ากพงหลวง แล้วองญวน ๔ นายขึ้นมาหาเจ้าพญาบดินทรเดชา, พระองค์ด้วง, ณอุดงมีไชย ว่า องญวนแม่ทัพให้นำเจ้าผู้หญิง พญาพระเขมร ขึ้นมาส่งให้พระองค์ด้วงพร้อมมูลกันแล้ว องญวนแม่ทัพจะเลิกกองทัพถอยกลับไปเมืองเว้ณวัน ๑๑ ฯ ๗ ค่ำ เจ้าพญาบดินทรเดชาเห็นว่า องญวนให้นำเจ้าหลานญาติวงศา พญาพระเขมร ส่งให้พระองค์ด้วงพร้อมมูลกันตามที่ได้พูดจาไว้แต่เดิมแล้ว องญวนว่า จะเลิกทัพกลับไปบ้านเมือง และกองทัพหัวเมืองซึ่งเกณฑ์ลงมาเข้ากระบวนทัพ ได้ให้ไปตั้งรักษาค่ายด่านทางหลายตำบล ขัดสนสะเบียงอาหาร จึงให้เลิกคนเมืองร้อยเอ็จ, เมืองสุวรรณ์ภูม์, เมืองขุขันธ์, เมืองศีศะเกษ, เมืองเขมราฐ, เมืองนคราชสิมา, เมืองปราจิน, ๗ เมือง เป็นคน ๗๒๓๘ คน ให้กลับไปบ้านไปเมืองทันทำไร่นา คนในกองทัพยังอยู่ที่อุดงมีไชย, เมืองโพธิสัตว์, ๖๔๖๒ คน เจ้าพญาบดินทรเดชาให้แปลหนังสือญวนออกเป็นไทย ต้นหนังสือเจ้าเวียดนามอักษรญวนซึ่งเขียนใส่แพรต่วนเข้าผนึกใส่หีบมานั้น เป็นตราตั้งพระองค์ด้วงมอบให้พระองค์ด้วงไว้ ได้ส่งแต่คำแปลกับต้นหนังสือองเลโบ จดหมายรายสิ่งของ กับคำให้การพญาราชเดช, พญาธนนาธิบดี, ให้หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ พาพญาราชเดช, พญาธนนาบดี, เข้ามาแจ้งราชการณกรุงเทพฯ ได้นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวน คำให้การพญาราชเดช, พญาธรรนาธิบดี, ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองฯ แล้ว
ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมร เข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ คิดราชการถูก อุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถีงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอก จัตวาศก นับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อณวัน ๕ ๖ฯ ๗ ค่ำ ปีมะแม นพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็ง เบ็ญจศก ช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้ขอนไม้น้อยลอยมาได้เกาะเป็นที่ยึดที่หน่วงว่ายเข้าหาฝั่ง เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ได้ทีแล้ว ก็เร่งรีบว่ายเข้าให้เถีงฝั่ง คิดต่อไปเสียให้ตลอด ฉันใดเมืองเขมรจะเรียบร้อยมีความสุขยืดยาวไปนาน ๆ อย่าให้กลับกลายไปในเร็ว ๆ นี้ เหมือนคำบุราณว่า ก้นหม้อไม่ทันดำ ควันไฟไม่ทันดับ จะต้องลำบากยากใจ ให้ไพร่พลได้ความยากแค้นเดือนร้อนต่อไปอีก ไม่ควรเลย ให้เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ตริตรองให้จงหนัก และซึ่งเจ้าเทียวตรีชิงตั้งแต่งพระองค์ด้วงให้มาเป็นเจ้าเมืองเขมร ให้เมืองเขมรเป็นเมืองพึ่งบุญเมืองญวน ให้เข้าของพระองค์ด้วงมา ทำความดีนักหนา จะเอาชื่อเสียวให้ปรากฎนั้น ก็ทรงเข้าพระทัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับเจ้าเวียดนามก็จะต้องประมูลอากรกันไป เดี๋ยวนี้ เจ้าผู้หญิงเจ้าผู้ชายญาติวงศามาพร้อมมูลกันอยู่ที่อุดงมีไชย ฝ่ายเราจะจัดแจงอย่างไรบ้าง ก็จัดแจงเอาตามใจเถิด เจ้าพญาบดินทรฯ จะทนุบำรุงพระองค์ด้วงประการใดจึงจะดี จะต้องการสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคประการใด จะต้องการช้าหรือเร็ว ก็ให้บอกเข้าไป จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดแจงออกมาให้ทันการ ให้เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ เร่งตกแต่งการบ้านเมืองเสียให้มั่นให้เสร็จ จะได้เลิกถอนกองทัพพากันกลับเข้าไปหาบุตรภรรยาทำบุญให้ทานให้สบาย และความชอบนายทัพนายกองซึ่งได้ออกไปลำบากกรากกรำอยู่ช้านาน กลับเข้าไปก็จะโปรดเกล้าฯ พูนบำเหน็จตั้งแต่งให้มียศถาศักดิตามผู้มีความชอบมากและน้อย หนังสือมาณวัน ๔ ๔ฯ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแมนักษัตร นพศก
(สารตรานี้ ในสำเนาที่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย จดไว้ว่า โปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ) เรียง แล้วทรงแก้ไข แต่พึงสังเกตเห็นได้ว่า มีพระราชดำรัสบอกข้อความให้เรียง เมื่อเรียงขึ้นถวาย ตรงไหนถ้อยคำไม่ตรงดังพระราชดำรัส ก็ทรงแก้ไข สารตราฉะบับนี้จึงควรนับว่าเป็นพระราชนิพนธ์ได้ แต่ตอนเก็บเนื้อความตามใบบอกซึ่งอยู่ข้างต้นนั้นมิใช่พระราชนิพนธ์)
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก