รัฐธรรมนูญบริติช/บทที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
บทที่ ๑
รัฐธรรมนูญบริติช

มีผู้กล่าวว่า ประเทศอังกฤษมีรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (unwritten constitution) ซึ่งเป็นทั้งความจริงและไม่เป็นความจริงทั้งสองอย่าง ที่ว่าเป็นความจริง เพราไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยละเอียดเป็นฉะบับเดียวอย่างรัฐธรรมนูญของเรา แต่ที่ว่าไม่เป็นความจริง ก็เพราะมีกฎหมายหลายฉะบับซึ่งวางหลักในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปกครองโดยรัฐสภา ปัญหาจึงมีว่า ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วปฏิบัติกันอย่างใด คำตอบก็คือ นอกจากกฎหมายซึ่งวางหลักในการปฏิบัติในบางเรื่องแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติ ก็ใช้ธรรมนิยม (conventions) หรือตัวอย่างที่ศาลสูงสุดไว้วางบรรทัดฐานไว้

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญของบริติชนี้มีลักษณะยืดหยุ่นได้ง่าย (flexible) เพราะการแก้ไขง่ายกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศอื่นซึ่งมีลายลักษณ์อักษรอย่างรัฐธรรมนูญของไทยเราเป็นต้น การแก้รัฐธรรมนูญของอังกฤษอาจทำได้โดยรัฐสภาผ่านกฎหมายเช่นเดียวกับผ่านกฎหมายธรรมดาอื่น

รัฐธรรมนูญของทุกประเทศย่อมมีบทบัญญัติซึ่งวางกฎเกณฑ์ว่าด้วยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ สำหรับรัฐธรรมนูญบริติช แยกออกเป็นสอง คือ

(๑) กฎเกณฑ์ซึ่งปรากฏชัดโดยกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติชื่อ "Act of Settlement" ซึ่งประกาศใช้ในรัชชกาลพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๔ (ค.ศ. ๑๗๐๑) มีบทบัญญัติหลายเรื่องเกี่ยวกับการปกครองแผ่นดิน อาทิเช่น พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกจากดินแดนบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ไม่ได้นอกจากได้รับความยินยอมของรัฐสภา ตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตราบเท่าที่ความประพฤติดี เป็นต้น กฎเกณฑ์เช่นว่านี้ เรียกกันว่า "กฎหมายของรัฐธรรมนูญ" (Laws of the Constitution) และศาลสถิตย์ยุติธรรมจะบังคับให้เป็นไปตามนั้น

(๒) กฎเกณฑ์อีกประเภทหนึ่งของรัฐธรรมนูญบริติช คือ กฎเกณฑ์ซึ่งมีผู้เคารพปฏิบัติตามกันมา ทั้ง ๆ ที่กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างใด และถึงแม้จะมีผู้ละเมิด ก็ไม่มีใครจับตัวไปลงโทษได้ กฎเกณฑ์เหล่านี้มีมากหลาย ขอยกตัวอย่างเพียงสองกฎ เช่น มีกฎอยู่ว่า คณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือมิฉะนั้น ก็ต้องกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาสามัญ ในกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า สภาฯ ไม่ไว้วางใจตนต่อไปแล้ว หรือกฎที่ว่า ในปีหนึ่ง จะต้องมีประชุมรัฐสภาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ความจริงไม่มีกฎหมายบัญญัติอย่างรัฐธรรมนูญของเราซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา ๔๔ ว่า ในปีหนึ่ง ให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสองสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด

กฎเกณฑ์ในประเภทสองนี้ เรียกว่า "ธรรมนิยมแห่งรัฐธรรมนูญ" (Conventions of the Constitution) ตามตัวอย่างอันแรก ปัญหามีว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ลาออกหรือกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาฯ จะทำอย่างไร ก่อนตอบปัญหานี้ เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การประกอบรูปรัฐสภาของอังกฤษนี้มีธรรมเนียมซึ่งเป็นที่เข้าใจกันมาหลายร้อยปีว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีบริหารไปตามเจตน์จำนงของประชาชน ฉะนั้น จริงอยู่ ไม่มีกฎหมายใดที่จะบังคับให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาสามัญได้ในเมื่อแพ้คะแนนเสียงในเรื่องสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะถือกันว่า ประชาชนทั้งชาติไม่สนับสนุนต่อไป ถ้าขืนอยู่ ก็จะถึงขณะหนึ่งที่รัฐบาลไม่เพียงละเมิดธรรมนิยมแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จะกลายไปสู่ขั้นของการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองซึ่งมีอยู่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะสมาชิกซึ่งค้านรัฐบาลก็จะไม่ยอมออกเสียงเห็นชอบกับร่างกฎหมายของรัฐบาล ผลก็เท่ากับไม่ได้มีการประชุมสภา และรัฐบาลก็บริหารไม่ได้ และถ้ารัฐบาลจงใจจะบริหารต่อไป ก็จะปฏิบัติการไปโดยพลการ เพราะสภาสามัญไม่อนุติในกิจการต่าง ๆ ซึ่งตนคิดจะกระทำ

ในกรณีที่ว่า ต้องมีประชุมปีหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งสมัย ถ้ารัฐสภาไม่ให้มีการประชุม รัฐบาลก็จะเก็บภาษีอากรไม่ได้ เพราะกฎหมายเรื่องภาษีอากรนั้น รัฐบาลได้รับอนุญาตเป็นปี ๆ

โดยสรุป รัฐธรรมนูญบริติชจึงประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ

(๑) หลักประชาธิปไตย เพราะเหตุว่าการบริหารของรัฐบาลทำไปในนามของราษฎรซึ่งเลือกอุดมคติของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยมีคะแนนเสียงส่วนมากเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไป

(๒) หลักรัฐสภา เพราะราษฎรมีผู้แทนของตนในสภาสามัญ ซึ่งถ้ามีกรณีขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจในประเทศ จะเป็นพระมหากษัตริย์ก็ดี รัฐบาลก็ดี สภาขุนนางก็ดี ในที่สุด ต้องยอมให้เป็นไปตามความประสงค์ของสภาสามัญ

(๓) หลักมีพระมหากษัตริย์ เพราะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามกฎหมายซึ่งวางไว้

(๔) หลักให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมือง เพราะว่าคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาสามัญซึ่งถือว่า เป็นผู้แทนของปวงชนบริติช ความรับผิดชอบนี้ไม่อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งในคณะรัฐมนตรีโดยฉะเพาะ แต่ถือว่า คณะรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งมีฐานะเสมือนหนึ่งคณะกรรมการซึ่งสภาสามัญแต่งตั้งไปให้เป็นผู้แทนของเขา

ในหลัก ๔ ประการดังกล่าวมานี้ หลักที่สำคัญที่สุด คือ หลักประชาธิปไตย เพราะผู้แทนราษฎรนั้น ราษฎรที่มีสิทธิตามกฎหมายเลือกตั้งเป็นผู้เลือกมาโดยตรง พระมหากษัตริย์ก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี สภาสามัญก็ดี หรือแม้สภาขุนนาง ก็เป็นเพียงเครื่องมือของราษฎรในการดำเนินกิจการของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้