ข้ามไปเนื้อหา

รัฐธรรมนูญบริติช/บทที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
บทที่ ๒
พระมหากษัตริย์

ฐานะของพระมหากษัตริย์บริติชนั้นต่างกับประธานาธิบดีของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งประธาธิบดีอยู่ในพรรคการเมือง แต่พระมหากษัตริย์บริติชไม่อยู่ในพรรคใด ฉะนั้น จึงทำให้ฐานะของพระองค์มั่นคงและไม่ลำเอียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทรงดำรงอยู่ในฐานะซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ เนื่องจากฐานะของพระองค์ดังกล่าวแล้ว จึงมีคำกล่าวว่า "พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรที่ผิดไม่ได้" (The King can do no wrong) ลอร์ดออกสฟอร์ดและแอสควีทได้บันทึกข้อความเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของกษัตริย์บริติชไว้ดังนี้ "บัดนี้ เรามีนิติประเพณีซึ่งวางรากฐานไว้อย่างดีแล้วถึงสองร้อยปีว่า ในที่สุด ผู้ซึ่งประทับอยู่บนราชบัลลังก์ทรงรับและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐมนตรีของพระองค์...พระองค์มีสิทธิและจำต้องพระราชทานข้อความที่พาดพิงเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ซึ่งทรงทราบมาให้รัฐมนตรี ต้องทรงชี้ข้อโต้แย้งซึ่งทรงเห็นว่า มีเหตุผลในการที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำ ต้องทรงแนะนำ (ถ้าทรงเห็นเหมาะสม) ในการที่จะดำเนินนโยบายอีกทางหนึ่ง. ความเห็นของพระมหากษัตริย์เรื่องต่าง ๆ นี้ รัฐมนตรีต้องรับไว้ด้วยความเคารพอย่างที่สุด และนำไปพิจารณาด้วยความเคารพและเห็นอกเห็นใจยิ่งกว่าความเห็นซึ่งบุคคลอื่นใดเสนอมา แต่ทว่า ในที่สุด พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐมนตรีเสมอ ภายหลังที่รัฐมนตรีได้พิจารณาทบทวนแล้วและรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องถวายความเห็นเช่นนั้น การที่รัฐมนตรีถวายความเห็นเช่นนั้นโดยตระหนักดีว่า ตนจะสามารถแสดงเหตุผลได้อย่างดีต่อรัฐสภาในกรณีถูกขอให้ชี้แจง..." ทั้งนี้ ก็เข้าหลักที่ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรที่ผิดไม่ได้" ลอร์ดแบลกสโตน นักปราชญ์กฎหมายอังกฤษกล่าวว่า "กษัตริย์ไม่เพียงไม่สามารถทำผิด แต่แม้เพียงคิดผิดก็ไม่ได้ จะทรงคิดทำอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ได้ ต้องถือว่า พระองค์ไม่ใช่คนไร้สติหรืออ่อนแอ" ฉะนั้น รัฐบาลของพระองค์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการกระทำของพระองค์ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการเสมอไป

ปัญหามีต่อไปว่า ถ้ากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรีมีความเห็นไม่ตรงกัน จะปฏิบัติอย่างใด คำตอบ ก็คือ คณะรัฐมนตรีต้องลาออก หรือมิฉะนั้น ก็กราบทูลให้ยุบสภาสามัญ เพื่อฟังเสียงราษฎร ซึ่งโดยปกติ พระมหากษัตริย์ไม่ทำ โดยเหตุที่ว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีชุดนั้นมีเสียงมากในสภา คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็คงเป็นพรรคเดิมนั่นเอง หรือถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคซึ่งสนับสนุนคณะรัฐบาลชุดนั้นกลับเข้ามาอีก ก็เป็นการกะทบกระเทือนถึงฐานะพระมหากษัตริย์เอง ในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามเจตน์จำนงของราษฎร ทั้ง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาได้ถวายคำแนะนำ