หน้า:ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร - สนร - ๒๕๐๕.pdf/25

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐

อยู่ช้านาน ก่อนแต่กาลเมื่อองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีได้กลับออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้นมา ภายหลัง ก็ได้สมความปรารถนาโดยสวัสดีมีไชยได้ชนะพวกญวนไกเซินทั้งสิ้น ได้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองญวน มีอำนาจโตใหญ่ยิ่งกว่าเก่า ตั้งแต่นั้นมา ผู้ครองฝ่ายญวนก็กลับมีใจเอื้อมเอิบจะมาเกลี้ยกล่อมเอาเมืองเขมรไปให้อยู่ในอำนาจเหมือนอย่างครั้งสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ตน ซึ่งเป็นพระบิดาขององค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เอง นั้น แต่องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เอง กับสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก ยังถือความซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพมหานครอยู่ ยังหาเข้าเกลี้ยกล่อมญวนไม่ เป็นแต่รับรองโอภาปราสัยพวกญวนที่ไปมาโดยฉันเมืองไมตรี องค์พระนารายน์รามาธิบดีได้เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีไม่ช้า อยู่ได้ ๓ ปี ได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่ง กลับออกไปแล้วก็ถึงแก่พิราลัย ในปีมะโรง ฉศก ศักราช ๑๑๕๘[1] องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เมื่อยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีราชดนัย ๔ คือ นักองค์จัน ๑ นักองค์พิม ๑ นักองค์สงวน ๑ นักองค์อิ่ม ๑ นักองค์สงวนนั้นเป็นน้องมารดาเดียวกับนักองค์จัน ครั้นเมื่อออกไปอยู่เมืองบรรทายเพชรพร้อมกับราชดนัยทั้ง ๔ นั้น จึ่งได้มีราชดนัยน้อยอีกองค์หนึ่ง ชื่อ นักองค์ด้วง ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีถึงพิราลัยแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ ออก ก็ได้ยกย่องทำนุบำรุงนักองค์จันเป็นราชดนัยใหญ่ ซึ่งเมื่อพระบิดาถึงแก่พิราลัย มีชนมายุเพียง ๖ ขวบนั้น เป็นที่อ้างว่า เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี แล้วทำนุบำรุงรักษาแผ่นดินโดยความซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพมหานครอยู่ถึง ๙ ปี ในระหว่างนี้ นักองค์พิมถึงชีพิตักษัยเสีย ยังคงราชดนัยสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีแต่ ๔ เมื่อนักองค์จันมีชน-


  1. พุทธศักราช ๒๓๓๙