ห้องสิน/เล่ม ๑/ตอน ๑
หน้านี้อาจเข้าหลักเกณฑ์การลบตามนโยบายของวิกิซอร์ซด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้: อ1 – เนื่องจากย้ายเนื้อหาไปยังดัชนีแล้ว และหน้านี้ไม่ได้ใช้งานอีก
ถ้าคุณไม่เห็นด้วยในการแจ้งลบ โปรดระบุเหตุผลในหน้าคุยของหน้านี้ ถ้าหน้านี้ไม่เข้าเกณฑ์การลบหรือคุณตั้งใจจะปรับปรุงต่อ โปรดนำประกาศนี้ออก แต่ผู้ที่นำป้ายออกต้องไม่ใช่ผู้สร้างหน้าเด็ดขาด ผู้ดูแลระบบโปรดตรวจสอบว่ามีลิงก์ใด ๆ ที่เชื่อมโยงมายังหน้านี้ ประวัติของหน้า (การแก้ไขล่าสุด) และรุ่นใด ๆ ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามนโยบายก่อนที่จะดำเนินการลบ หน้านี้มีการแก้ไขล่าสุดโดย Librocubicular (ส่วนร่วม | ปูม) เมื่อเวลา 00:59, 26 ธันวาคม 2567 (0 วินาทีก่อน) |
หน้า ๑–๑๕ สารบัญ
เรื่องนี้ภาษาจีนว่า เรื่องห้องสินบุนอ๋อง(封神文王) แปลออกเป็นคำไทยว่า ครั้งแผ่นดินแฮ่(夏朝) ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนาม พระเจ้าตีเค้า(帝嚳) เสวยราชสมบัติ ณ เมืองเสี่ยง(商) อยู่วันหนึ่ง พระเจ้าตีเค้าพานางกั๋นเต๊ก(簡狄)ผู้เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย(次妃)เสด็จออกไปไหว้เทพารักษ์ตำบลเก้าบ๋วย(高禖) นางกั๋นเต๊กได้ฟองนกเหลืองฟองหนึ่ง นางจึงกินฟองนกนั้น ครั้นอยู่มา นางทรงครรภ์ประสูติบุตรชายคนหนึ่งชื่อ เคียด(契) ครั้นนานมา พระเจ้าทังหงอ(唐虞) ได้ราชสมบัติ เคียดผู้บุตรนางกั๋นเต๊กได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ครั้นพระเจ้าทังหงอสวรรคต เคียดซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ได้ราชสมบัติครองเมืองเสี่ยงสืบแซ่เชื้อพระวงศ์สิบสามชั่วกษัตริย์มาถึงแผ่นดินพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง(桀王) มีขุนนางผู้หนึ่งชื่อ ไท้อิด(太乙) เป็นคนมีสติปัญญา พระเจ้าเจ๊ดอ๋องให้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ครั้งนั้น ยังมีชายชาวนาคนหนึ่งชื่อ อิอี๋น(伊尹) ทำนาอยู่ตำบลอี๋วซิน(有莘) อิอี๋นผูกเพลงขับร้องสรรเสริญพระเจ้าทังหงอ ไท้อิดเห็นว่า อิอี๋นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงจัดผ้าแพรขาวกับสิ่งของทั้งปวงให้คนไปคำนับเชิญอิอี๋นถึงสามครั้ง อิอี๋นจึงมา ณ บ้านไท้อิด ไท้อิดก็พูดจาเกลี้ยกล่อมอิอี๋น อิอี๋นก็ยอมว่าจะทำราชการด้วยไท้อิด ไท้อิดจึงพาอิอี๋นเข้าไปถวายพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง เจ๊ดอ๋องมิได้รู้ว่า อิอี๋นเป็นคนดีมีสติปัญญา จึงคืนตัวอิอี๋นให้แก่ไท้อิด และพระเจ้าเจ๊ดอ๋องเชื่อแต่คำคนยุยง ว่าราชการบ้านเมืองมิได้อยู่ในยุติธรรม เสพแต่สุรา มัวเมาอยู่กับนางข้างใน ให้เสียเยี่ยงอย่างกษัตริย์แต่ก่อน กวนเล่งหอง(關龍逢) เสนาบดีผู้ใหญ่ เห็นดังนั้นจึงเข้าไปทูลทัดทานให้สติพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง พระเจ้าเจ๊ดอ๋องโกรธ จึงให้เอาตัวกวนเล่งหองไปฆ่าเสีย แต่นั้นมา ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็มิอาจที่จะทูลทัดทานพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง ไท้อิดจึงคิดกลอุบายแต่งให้คนใช้ไปร้องไห้รักศพกวนเล่งหอง หวังจะให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปแก่คนทั้งปวงว่า กวนเล่งหองเป็นคนสัตย์ซื่อ แต่พระมหากษัตริย์มิได้ตั้งอยู่ในยุติธรรม ความอันนั้นรู้ถึงพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง พระเจ้าเจ๊ดอ๋องรู้กลอุบายของไทอิดดังนั้น พระเจ้าเจ๊ดอ๋องโกรธ จึงให้เอาไท้อิดมาจำไว้ ณ ทิมแซ่ไถ่(夏台)
ครั้นอยู่มา พระเจ้าเจ๊ดอ๋องหายโกรธ จึงให้ไท้อิดพ้นจากโทษเวรจำ ไท้อิดลาพระเจ้าเจ๊ดอ๋องเดินมาถึงตำบลทุ่งนาแห่งหนึ่งจะไปบ้าน ครั้นไท้อิดเห็นชาวนาคนหนึ่งตั้งวงข่ายลงสี่ด้านหวังจะตลบนกเลี้ยงชีวิต ไท้อิดยืนพิเคราะห์ดูวงข่ายเห็นแยบคายสามารถนัก แม้นฝูงนกบินมาทั้งสี่ทิศก็มิอาจพ้นวงข่ายรอดชีวิตไปได้ ไท้อิดคิดปรานีแก่นก จึงยกมือไหว้ว่าแก่ชาวนาขอเลิกข่ายเสียสามด้าน ให้คงอยู่แต่ด้านเดียว นกตัวใดถึงแก่กรรมแล้วจึงให้ติดข่ายเถิด ไท้อิดว่าดังนั้นแล้วก็ไปบ้าน กิตติศัพท์นั้นก็ปรากฏไปแก่ราษฎรและหัวเมืองทั้งปวง ราษฎรและหัวเมืองทั้งปวงเห็นว่า ไท้อิดมีเมตตาแก่สัตว์ ควรจะเอาเป็นที่พึ่งได้ จึงชักชวนกันมาขึ้นแก่ไท้อิดถึงสี่สิบหัวเมือง ไท้อิดจึงตั้งอิอี๋นเป็นที่อาจารย์สำหรับศึกษาไต่ถามกิจการทั้งปวง
ฝ่ายพระเจ้าเจ๊ดอ๋องครองสมบัติมิได้อยู่ในยุติธรรม และหาผู้ใดจะทัดทานมิได้ ก็ยิ่งกระทำทุจริตเนือง ๆ ราษฎรและหัวเมืองขึ้นทั้งปวงได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ไท้อิดเห็นดังนั้นจึงคิดกับอิอี๋นซึ่งเป็นอาจารย์และหัวเมืองทั้งสี่สิบเมืองพร้อมใจกันยกเป็นกระบวนทัพเข้าเมืองเสี่ยง ทหารไท้อิดจับพระเจ้าเจ๊ดอ๋องได้ ไท้อิดมิได้ประหารชีวิตพระเจ้าเจ๊ดอ๋อง จึงให้เอาพระเจ้าเจ๊ดอ๋องไปปล่อยเสียที่ตำบลน้ำเฉา(南巢) ไท้อิดจึงว่าแก่หัวเมืองทั้งสี่สิบเมืองว่า บัดนี้ ก็สำเร็จการแล้ว เราจะกลับไปอยู่ที่แห่งเรา ทหารและหัวเมืองทั้งปวงได้ฟังไท้อิดว่าดังนั้นจึงว่า ท่านว่านี้ก็มิบังควร ขอเชิญท่านครองสมบัติในเมืองเสี่ยงสืบไปจึงจะควร หัวเมืองทั้งปวงพร้อมกันจึงอัญเชิญไท้อิดให้เป็นเจ้าเมืองเสี่ยง ชื่อ พระเจ้าเสี่ยงทาง(成湯) พระเจ้าเสี่ยงทางเมื่อได้สมบัติชันษาได้แปดสิบเจ็ดปี พระเจ้าเสี่ยงทางจึงสร้างพระนครหนึ่งชื่อ ปัดโต๋(亳都)
ขณะเมื่อพระเจ้าเจ๊ดอ๋องมิได้อยู่ในยุติธรรม ฝนแล้งมาประมาณเจ็ดปี ราษฎรได้ความเดือดร้อนด้วยอาหารยิ่งนัก พระเจ้าเสี่ยงทางเสด็จไปคำนับบวงสรวงเทพยดา ณ ตำบลซึงหนิม(桑林) เพื่อจะให้ฝนตกตามฤดูกาล แต่นั้นมา ฝนตกชุกชุมเป็นปรกติอย่างแต่ก่อน พระเจ้าเสี่ยงทางจึงให้เจ้าพนักงานเบิกคลังทองเงินมาพระราชทานทหารและขุนนางทั้งปวง พระเจ้าเสี่ยงทางบำรุงประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยยุติธรรม พระเจ้าเสี่ยงทางอยู่ในสมบัติได้สิบสามปีจึงสวรรคต ไท้กอ(太甲) บุตรพระเจ้าเสี่ยงทาง ได้ครองสมบัติสืบกษัตริย์ซึ่งเป็นวงศ์แห่งพระเจ้าเสี่ยทางครองเมืองปัดโต๋ลำดับมา คือ พระเจ้าไท้กอ หนึ่ง ออกเตง(沃丁) หนึ่ง ไท้แก(太庚) หนึ่ง เสียวกะ(小甲) เป็นน้องไท้กอ หนึ่ง หยงกี๋(雍己) หนึ่ง ไท้โบ๋(太戊) หนึ่ง ต้องเต๊ง(仲丁) หนึ่ง ฮั่วยิม(外壬) หนึ่ง ทันกะ(河亶甲) หนึ่ง โจอิด(祖乙) หนึ่ง โจสิน(祖辛) หนึ่ง อ๊อกกะ(沃甲) หนึ่ง เจ้าเต๊ก(祖丁) หนึ่ง น้ำแก(南庚) หนึ่ง ย่างกะ(陽甲) หนึ่ง พ่วนแก(盤庚) หนึ่ง เสี่ยวซิ้น(小辛) หนึ่ง เสี่ยวอิด(小乙) หนึ่ง บู๋เตง(武丁) หนึ่ง โจแก(祖庚) หนึ่ง โจกะ(祖甲) หนึ่ง หมินชิน(廩辛) หนึ่ง แกเต๊ง(庚丁) หนึ่ง บู๊อิด(武乙) หนึ่ง ไท้เต๊ง(太丁) หนึ่ง ตีอิด(帝乙) หนึ่ง ติวอ๋อง(紂王) หนึ่ง สิริกษัตริย์วงศ์พระเจ้าเสี่ยงทางครองเมืองปัดโต๋สืบมายี่สิบแปดองค์ คิดได้หกร้อยสี่สิบปี และเมื่อพระเจ้าตีอิด บุตรพระเจ้าไท้เต๊ง ได้ครองเมืองปัดโต๋ มีพระราชบุตรสามองค์ บุตรที่หนึ่งชื่อ มุ่ยจี๋วคี(微子啟) บุตรคนที่สองชื่อ มุ่ยจี๋วอ๋อง(微子衍) บุตรที่สามชื่อ ลิ้วอ๋อง(壽王) วันหนึ่ง พระเจ้าตีอิดและพระราชบุตรทั้งสามกับขุนนางออกไปชมดอกโบตั๋น(牡丹) ณ สวนงือหือ(御園) เป็นที่สวนเคยประพาส ขื่อตำหนักสวนหักลง ลิ้วอ๋องผู้เป็นพระราชบุตรที่สามเอามือเข้ารับไว้มิให้ขื่อตำหนักตกลง ขุนนางและทหารทั้งปวงเห็นดังนั้นก็สรรเสริญลิ้วอ๋องว่า มีกำลังหาผู้จะเสมอมิได้ เชียงหยง(商容)[1] ปวยเป๊ก(梅伯) เตียคี(趙啟) เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสามคน กราบทูลพระเจ้าตีอิดว่า ลิ้วอ๋องผู้เป็นพระราชบุตรที่สามมีกำลังและสติปัญญาควรจะเป็นอุปราชได้ พระเจ้าตีอิดก็ให้ลิ้วอ๋องเป็นที่อุปราช(太子) พระเจ้าตีอิดอยู่ในราชสมบัติสามสิบปี เมื่อพระเจ้าตีอิดใกล้จะสวรรคต มอบสมบัติให้ลิ้วอ๋อง แล้วสั่งบุนไท้สือ(聞太師) กับอึ้งปวยฮอ(黃飛虎) ซึ่งเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ให้เป็นผู้จัดแจงการงานบ้านเมือง
ครั้นพระเจ้าตีอิดสวรรคตแล้ว ลิ้วอ๋องก็ได้ครองราชสมบัติแทนพระเจ้าตีอิด ชื่อ พระเจ้าติวอ๋อง ครองเมืองปัดโต๋ให้ชื่อ เมืองจิวโก๋(朝歌)ตั้งอึ้งปวยฮอเป็นขุนนางผู้ใหญ่ว่าที่ฝ่ายทหาร และพระเจ้าติวอ๋องมเหสีสามองค์ชื่อ นางเกียงสี(姜氏) หนึ่ง ชื่อ นางอึงสี(黃氏) หนึ่ง ชื่อ นางเอียสี(楊氏) หนึ่ง และเมืองเอกซึ่งมาขึ้นแก่เมืองจิวโก๋มีสี่หัวเมือง เมืองเอกฝ่ายตะวันออกชื่อ เมืองตังลู้(東魯) เกียงฮวนฌ้อ(姜桓楚) เป็นเจ้าเมือง เมืองเอกฝ่ายตะวันตกชื่อ ใสเบกเฮ้า(西伯侯)[2] กีเซียง(姬昌) เป็นเจ้าเมือง เมืองฝ่ายทิศเหนือชื่อเมือง ปักเป๊กเฮ้า(北伯侯) ซ่องเฮ่าเฮ้า(崇侯虎) เป็นเจ้าเมือง เมืองฝ่ายทิศใต้ชื่อ นำเป๊กเฮ้า(南伯侯) งกจงฮู(鄂崇禹) เป็นเจ้าเมือง และเมืองเอกทั้งสี่เมืองมีเมืองขึ้นเมืองละสองร้อย เข้ากันเป็นเมืองขึ้นแก่พระเจ้าติวอ๋องเป็นเมืองแปดร้อยสี่เมือง และพระเจ้าติวอ๋องครองเมืองจิวโก๋ตั้งอยู่ในยุติธรรม ราษฎรและหัวเมืองทั้งปวงอยู่เย็นเป็นสุข
พระเจ้าติวอ๋องครองสมบัติได้เจ็ดปี ณ เดือนสี่ อ้วนหกทง(袁福通) เจ้าเมืองปักไฮ(北海) กับเมืองขึ้นเจ็ดสิบสองเมืองฝ่ายเหนือ เป็นกบฏ พระเจ้าติวอ๋องจึงสั่งให้บุนไท้สือเป็นนายทัพคุมทหารไปจับอ้วนหกทง
ครั้นอยู่ ณ เดือนสาม พระเจ้าติวอ๋องออก ขุนนางเฝ้าพร้อม เชียงหยง ขุนนางผู้เฒ่า จึงทูลพระเจ้าติวอ๋องว่า เป็นอย่างธรรมเนียมกษัตริย์ได้ครองเมืองจิวโก๋สืบมา ถ้าถึงเดือนสาม ขึ้นสิบห้าค่ำ เป็นวันเกิดแห่งเทพธิดาหนึงวาสี(女媧氏) กษัตริย์แต่ก่อนเคยเสด็จไปคำนับทุกองค์ ขอเชิญเสด็จไปคำนับหนึงวาสีตามธรรมเนียม พระเจ้าติวอ๋องจึงว่า เทพธิดาหนึงวาสีมีคุณประการใด ท่านจะให้เราไปคำนับ เชียงหยงจึงทูลว่า แต่ก่อนครั้งเมื่อจงกงสี(共工氏) พี่น้องทั้งสองรบกัน จงกงสีพ่ายแพ้ จงกงสีแค้นใจ เอาศีรษะกระทบภูเขา ภูเขาก็ทำลาย จงกงสีโดดขึ้นไปด้วยกำลัง และศีรษะจงกงสีกระทั่งฟ้า ฟ้าก็พังไป จงกงสีตกลงยังแผ่นดิน แผ่นดินก็ถล่มไป พระอาทิตย์และพระจันทร์มิอาจจะเดินส่องฟ้าได้ ก็มืดไปทั่วแผ่นดิน หนึงวาสีเห็นดังนั้นจึงเอาศิลาเหลือง ศิลาแดง ศิลาเขียว ศิลาขาว ศิลาดำ มาเคี่ยวให้ละลาย แล้วหนึงวาสีเอาไปปิดยาฟ้าและดินซึ่งทำลายทะลุถล่มไปให้ปรกติ พระอาทิตย์พระจันทร์ก็ส่องสว่างไปดังเก่า แต่นั้นมา คนทั้งปวงก็นับถือหนึงวาสีว่า มีคุณยิ่งนัก จึงปลูกเป็นศาลสามหลังจำหลักรูปหนึงวาสีไว้เป็นที่คำนับสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
พระเจ้าติวอ๋องได้ฟังดังนั้นเห็นชอบด้วย ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนสาม ขึ้นสิบห้าค่ำ พระเจ้าติวอ๋องเสด็จทรงรถพร้อมด้วยข้าทหารขุนนางทั้งปวงออกไป ณ ศาลเจ้าหนึงวาสี และแถวทางที่เสด็จนั้นราษฎรทั้งปวงเอาเจียมปูแผ่นดิน แพรแดงผูกปลายไม้ปักดุจช่องประตู ภาษาจีนถือคำนับว่า เป็นมงคล ครั้นพระเจ้าติวอ๋องเสด็จถึงศาลเจ้าหนึงวาสี กระทำคำนับตามธรรมเนียมแล้ว จึงเที่ยวชมศาลมาถึงห้องที่รูปหนึงวาสีตั้งอยู่นั้น พอลมพัดม่านซึ่งรูปหนึงวาสีเวิกออกไป พระเจ้าติวอ๋องเห็นรูปเทพธิดาหนึงวาสีซึ่งกระทำไว้นั้นงามยิ่งนัก จึงคิดว่า ตัวกูมีบุญหาผู้เสมอมิได้ ได้เป็นใหญ่แก่หัวเมืองทั้งสี่ทิศ มีมเหสีและนักสนมกำนัลจะนับมิได้ จะหารูปให้เหมือนรูปเทพธิดาหนึงวาสีที่ทำไว้หามิได้
พระเจ้าติวอ๋องจึงเรียกเอาพู่กันมาเขียนเป็นโคลงชมศาลเทพารักษ์ว่างามเป็นลวดลายทองสี่บท โคลงชมรูปเทพธิดาหนึงวาสีสี่บทว่า งามพร้อมทั่วสรรพางค์ จะดูไหนก็งามจำเริญใจจำเริญตา นี่หากว่าเป็นรูปไม้ ถ้าเป็นรูปสตรีงามดังนี้ จะรับไปเป็นมเหสีครองเมือง เชียงหยง ขุนนางผู้ใหญ่ เห็นดังนั้นจึงกราบทูลพระเจ้าติวอ๋องว่า เทพธิดาองค์นี้เป็นที่นับถือไปทั้งแผ่นดิน พระองค์เสด็จออกมาหวังจะเอาหนึงวาสีเป็นที่คำนับ จะให้บ้านเมืองเป็นสุข และพระองค์กลับมากระทำเป็นโคลงเชยชมดังนี้ดุจหนึ่งหาคำนับหนึงวาสีไม่ หนึงวาสีก็จะน้อยใจ ข้อหนึ่ง ราษฎรทั้งปวงเห็นโคลงนี้ก็จะติเตียนพระองค์ว่า หาคำนับหนึงวาสีไม่ กิตติศัพท์ทั้งนี้ก็จะลือไปในนานาประเทศทั้งหลาย ขอให้ลบโคลงเสียจึงจะควร
พระเจ้าติวอ๋องจึงว่า เราเห็นว่า รูปหนึงวาสีงาม จึงทำโคลงชมไว้ ถึงมาตรว่าราษฎรได้เห็นได้อ่าน ก็จะพลอยชมด้วยเราเสียอีก ท่านอย่าทัดทานเราเลย เชียงหยงและขุนนางทั้งปวงได้ฟังพระเจ้าติวอ๋องตรัสดังนั้นก็มิอาจที่จะทูลประการใดได้ พระเจ้าติวอ๋องก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง
ขณะเมื่อพระเจ้าติวอ๋องออกไปคำนับหนึงวาสีนั้น หนึงวาสีขึ้นไปเฝ้าฮกฮี(伏羲) แล้วไปเฝ้ายาติ(炎帝) ฮินหวน(軒轅) แปลภาษาไทยว่า เป็นเทพยดาผู้ใหญ่ทั้งสามองค์อยู่สวรรค์ หนึงวาสีกลับลงมายังที่อยู่ เห็นโคลงซึ่งติวอ๋องเขียนไว้นั้น หนึงวาสีโกรธนัก จึงคิดว่า แต่พระเจ้าเสี่ยงทางครองเมืองจิวโก๋สืบ ๆ แซ่เสี่ยงทางมาตราบเท่าถึงติวอ๋องได้หกร้อยสิบสองปี หามีผู้ใดจะดูหมิ่นแก่เราไม่ บัดนี้ ติวอ๋องดูหมิ่นเรา มาเขียนโคลงไว้ดังนี้ไม่ควรเลย เหตุดังนี้แซ่เสี่ยงทางจะสิ้นสูญแล้ว จำจะทำทดแทนติวอ๋องให้เห็นกำลังฤทธิ์ครั้งนี้ หนึงวาสีคิดดังนั้นแล้วก็ขึ้นขี่หงส์ เพ๊กเฮีย(碧霞)ถือฉัตร ห้องจี้(童子 )ถือธงนำหน้าหนึงวาสีไปโดยอากาศ ครั้นถึงเมืองจิวโก๋ หนึงวาสีเลื่อนลอยอยู่ตรงที่อยู่แห่งติวอ๋อง แลลงมาเห็นหินเก๋า(殷郊) หินท๋ง(殷洪) บุตรจิวอ๋องทั้งสอง นั่งเฝ้าติวอ๋องอยู่ หนึงวาสีพิจารณาดูก็รู้ว่า หินเก๋า บุตรติวอ๋องนี้ ตายไปจะเกิดเป็นเจ้าปี เจ้าวัน เจ้าเดือน(值年太歲) หินท๋งผู้นี้ตายไปจะเกิดเป็นเจ้าข้าวเปลือก เจ้าข้าวโพด เจ้าข้าวฟ่าง เจ้าถั่ว เจ้างา(五穀神) แล้วพิจารณาเห็นว่า ติวอ๋องยังจะครองสมบัติไปได้อีกยี่สิบแปดปีจึงจะสิ้นบุญ หนึงวาสีจะกระทำอันตรายแก่ชีวิตติวอ๋องยังมิได้ ก็กลับมายังที่อยู่ จึงสั่งให้ฮุ่ยเฮ้ย ท่องจิ้ว(彩雲童兒) เอาน้ำเต้ามา หนึงวาสีจึงเปิดฝาน้ำเต้า ก็บังเกิดเป็นควันพลุ่งขึ้นสูงประมาณสามสิบศอก ปลายควันนั้นบังเกิดเป็นธงปลิวอยู่
ขณะนั้น ปิศาจทั้งปวงเห็นธงสำคัญดังนั้นก็มาเฝ้าหนึงวาสีพร้อมกัน หนึงวาสีจึงว่า ท่านทั้งปวงจงกลับไปเถิด ให้อยู่กับเราแต่เฮาหลี(千年狐狸精) ว่า เสือปลา ฮิบี๋(九頭雉雞精) ว่า ไก่ ปีแป๋(玉石琵琶精) ว่า พิณ[3] หนึงวาสีจึงว่า แต่วงศ์พระเจ้าเสี่ยงทางครองเมืองจิวโก๋สืบมาถึงยี่สิบเจ็ดองค์ย่อมมาคำนับเราทุกองต์ แต่ติวอ๋องคนนี้หมิ่นประมาทเรา มาเขียนโคลงไว้ดังนี้ บัดนี้ วงศ์เสี่ยงทางจะสิ้นสูญเสียครั้งนี้ เราได้ยินเสียงหงส์ร้องบนเขากิสัว(岐山) ผู้มีบุญบังเกิดในเมืองไซรกี(西岐) แล้ว หงส์จึงร้องให้ประจักษ์ ท่านทั้งสามช่วยกันกระทำเล่ห์กลอุบายให้ติวอ๋องลุ่มหลงด้วยกามคุณและให้ปราศจากเมืองจงได้ แต่อย่าให้ราษฎรเป็นอันตราย ต่อเมื่อใดผู้มีบุญชื่อ บุนอ๋อง(文王) ได้ครองเมืองจิวโก๋แล้ว เราจึงจะให้ท่านทั้งสามเป็นที่ผู้ใหญ่ ปิศาจทั้งสามรับคำนับหนึงวาสีแล้วก็เป็นลมพัดหายไป
ฝ่ายพระเจ้าติวอ๋อง ตั้งแต่ได้เห็นรูปหนึงวาสีที่ศาลมาวันนั้น ให้หลงรักรูปหนึงวาสีอยู่เป็นนิตย์มิได้ขาด จนจะออกขุนนางก็นั่งคิดถึงหนึงวาสีมิเป็นอันที่จะว่าราชการ เข้าไปข้างในก็มิได้ยินดีด้วยมเหสีและกำนัลทั้งปวง คิดถึงแต่รูปหนึงวาสีเป็นนิตย์ วันหนึ่ง เวลาเย็น พระเจ้าติวอ๋องเสด็จอยู่ที่เคียงเข่งต้อย ว่า ที่นั่งเย็น ฮิวฮุน(尤渾) ฮุยต๋ง(費仲) สองคน กับมหาดเล็กน้อย ๆ เฝ้าพระเจ้าติวอ๋องอยู่ ตั้งแต่บุนไท้สือยกไปตีเมืองปักไฮ ฮิวฮุน ฮุยต๋ง เป็นคนชิดชอบอัชฌาสัยแห่งพระเจ้าติวอ๋อง ฮิวฮุน ฮุยต๋ง จะทูลความสิ่งใด พระเจ้าติวอ๋องเชื่อฟังทุกสิ่ง พระเจ้าติวอ๋องจึงบอกแก่คนทั้งสองว่า ตั้งแต่เราไปเห็นรูปหนึงวาสีมา เรามีความรักใคร่ยิ่งนัก คิดประการใดจึงจะได้สตรีที่รูปงามเหมือนรูปหนึงวาสีดังนี้ ฮุยต๋งจึงทูลแก่พระเจ้าติวอ๋องว่า พระองค์เป็นใหญ่ มีเมืองขึ้นถึงแปดร้อยสี่เมือง ขอให้มีหนังสือไปถึงเมืองเอกทั้งสี่เมืองให้จัดหาสตรีที่รูปงามเข้ามาถวายเมืองละร้อย ก็เห็นว่า จะจัดหาสตรีที่มีรูปงามเหมือนรูปหนึงวาสีได้ พระเจ้าติวอ๋องได้ฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วย อยู่วันหนึ่ง พระเจ้าติวอ๋องออก ขุนนางเฝ้าพร้อมกัน พระเจ้าติวอ๋องจงสั่งแกตึง แกกั๋ว ให้มีหนังสือไปถึงเมืองเอกทั้งสี่ให้จัดสตรีรูปงามเข้ามาเมืองละร้อยคน เชียงหยงได้ฟังพระเจ้าติวอ๋องสั่งดังนั้นจึงทูลว่า พระองค์ได้ดำรงแผ่นดินตั้งอยู่ในยุติธรรม อาณาประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว บัดนี้ จะให้เมืองเอกทั้งสี่จัดสตรีรูปงามถึงสี่ร้อยเข้ามาถวาย ข้าพเจ้าเห็นว่า ราษฎรทั้งปวงจะเดือดร้อน หนึ่ง เมืองปักไฮกับหัวเมืองเจ็ดสิบสองเมืองก็คิดเอาใจออกหากพระองค์อยู่ พระเจ้าติวอ๋องฟังเชียงหยงทูลทัดทานก็เห็นชอบด้วย มิได้โต้ตอบประการใด ก็เสด็จขึ้น ขุนนางทั้งปวงก็กลับไปบ้าน
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ
[แก้ไข]- ↑ ตอนนี้ใช้ว่า "เชียงหยง" ตอนอื่นใช้ว่า "เสี่ยงหยง" ฉะนั้น โปรดทราบว่า ทั้งสองคือคนเดียวกัน และตรงกับสำเนียงกลางว่า "ชัง หรง" (商容)
- ↑ ตอนนี้ใช้ว่า "ใสเบกเฮ้า" ตอนอื่นใช้ว่า "ไซรเป๊กเฮ้า" ฉะนั้น โปรดทราบว่า ทั้งสองคือเมืองเดียวกัน ตรงกับสำเนียงกลางว่า "ซีปั๋วโหว" (西伯侯) อันที่จริง "ไซรเป๊กเฮ้า" ไม่ได้เป็นชื่อเมือง เมืองชื่อ "ไซรกี(西崎)" ส่วน "ไซรเป๊กเฮ้า" แปลว่า พระยาประจิม (Earl of the West) เป็นชื่อบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองไซรกีซึ่งเป็นเมืองเอกทางตะวันตก แต่ในเรื่องนี้จะเห็นว่า ใช้ "ไซรเป๊กเฮ้า" และ "ไซรกี" เป็นชื่อเมืองเมืองเดียวกันสลับกันไป
- ↑ ตอนนี้ใช้ว่า "พิณ" ตอนอื่นใช้ว่า "กระจับปี่" ฉะนั้น โปรดทราบว่า ปิศาจพิณกับปิศาจกระจับปี่คือตัวเดียวกัน คำว่า "ปีแป๋" นั้นสำเนียงกลางว่า "ผีผา" (琵琶) เป็นชื่อเครื่องสายซึ่งดูคล้ายกระจับปี่ และกระจับปี่นั้นคือพิณชนิดหนึ่ง