กฎหมายไทยฯ/เล่ม 1/เรื่อง 20
สำหรับตระลาการศาลรับสั่ง
๏พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณะที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดินประชุมเฝ้าพร้อมกัน พระยาภาษกรวงษ์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทุกวันนี้โจรผู้ร้ายชุกชุมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า ควนจะจัดข้าทูลอองผู้มีปัญญาเฉียบแหลมควรจะเปนตระลาการชำระความโจรผู้ร้ายซึ่งเปนเสี้ยนหนามแผ่นดินให้สงบลง ด้วยบัดนี้เจ้าพระยายมราชผู้เปนอธิบดีในกรมพระนครบาลก็ชราป่วยอยู่ จะบังคับว่ากล่าวราชการในกรมพระนครบาลหาใคร่จะตลอดไปไม่ จึงทรงปฤกษากับด้วยที่ปฤกษาราชการแผ่นดินเหนตามพระกระแสพระราชดำริห์พร้อมกัน จึงโปรดเกล้าฯ จัดข้าทูลลอองให้ตระลาการศาลรับสั่ง แลทรงตั้งพระราชบัญญัติจัดเปนข้อสำหรับตระลาการศาลรับสั่งไว้ครั้งนี้ ให้ประพฤติตามข้อพระราชบัญญัติจงทุกประการ ฯะ
๏ข้อ๑ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า๚ ตั้งข้าทูลอองผู้ที่ควรจะเปนใหญ่ในความนครบาลนายหนึ่ง กับตระลาการเท่านั้นนาย เปนตระลาการศาลรับสั่งชำระความนครบาลเก่าใหม่ ให้ยกตระลาการศาลกรมพระนครบาลแลพธำมรงค์ผู้คุมมารับราชการอยู่ในตระลาการศาลรับสั่ง ฯะ
๏ข้อ๒ให้ตระลาการกรมพระนครบาลทำสารบบความผู้ร้ายที่ค้างชำระอยู่ และเจ้าพนักงานกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า ทำสารบบความผู้ร้ายซึ่งหัวเมืองบอกส่งเข้ามาณกรุงเทพ๚ เก่าใหม่มากน้อยเท่าใด มายื่นต่อท่านตระลาการศาลรับสั่งให้สิ้นเชิง และให้ตระลาการศาลรับสั่งพร้อมกันตรวจสารบบความที่ยื่นกับเรื่องราวของราษฎรที่เปนความนครบาลจะร้องใหม่ต่อไปนั้น ถ้าความโจรผู้ร้ายปล้นสดมแลความผู้ร้ายฆ่าฟันกันตายเปนความใหญ่ ๆ ก็ให้ตระลาการศาลรับสั่งรับไว้ชำระ ถ้าเปนความผู้ร้ายย่องเบาลักล้วงทรัพย์สิ่งของเล็กน้อย ตระลาการศาลรับสั่งเหนควรจะให้ตระลาการในกรมพระนครบาลคนหนึ่งคนใดชำระอยู่คงกรม ก็ให้ส่งไปชำระให้แล้วโดยเรว ฯะ
๏ข้อ๓ให้ผู้ซึ่งเปนใหญในศาลรับสั่งพร้อมกับตระลาการพิเคราะห์ตรวจดูรูบความฉกรรจไม่ฉกรรจควรจะให้ตระลาการแยกกันชำระถามนายหนึ่งฤๅจะรวมกัน ๒ นาย ๓ นาย สุดแต่ผู้ซึ่งเปนใหญ่จะบังคับ ฯะ
๏ข้อ๔ถ้าถามอ้ายผู้ร้ายเพื่อนอ้ายผู้ร้ายได้ความแล้ว ให้เอาคำให้การมาเสนอต่อผู้ใหญ่ในศาลรับสั่งก่อน แล้วให้ผู้ใหญ่ประชุมตระลาการให้พร้อมกันตรวจคำให้การ ถ้าเหนพิรุธควรจะทำตามจารีตนครบาลประการ⟨ใ⟩ด ก็ให้ผู้ใหญ่สั่งไปตามการ ถ้าเหนไม่พร้อมกัน ก็ให้โหวตจับ⟨ฉ⟩ลาก ถ้าข้างใหนมาก ก็ให้ผู้ใหญ่ทำตามฝ่ายผู้ที่เหนมาก ฯะ
๏ข้อ๕เวลาตระลาการศาลรับสั่งชำระความอยู่พร้อมกัน ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งเข้าไปพูดจาเสี้ยมสอนผู้ร้าย แลกั้นกางขัดขวางท้าทายอ้างท่านคนโน้นคนนี้ซึ่งเปนการข่มขี่ให้ตระลาการศาลรับสั่งเสื่อมเสียอำนาจ ถ้ามีผู้ใดทำการดังกล่าวมานี้ ให้ทหารขับไล่ผู้นั้นไปเสียให้พ้นที่ชำระความจงได้ ฯะ
๏ข้อ๖ถ้าอ้ายผู้ร้ายซัดทอดถึงพวกเพื่อนอ้ายคนร้ายที่ควรจะเอาตัวมาชำระแลพยานที่ควรจะสืพเอาความจริงนั้น ถ้าเปนผู้ใหญ่เหนควรจะให้ตระลาการฤๅกรมกองกระเวรซ้ายกระเวรขวาแลทหารนายพธำมรงค์ผู้คุมแลผู้ใดที่จะไปเอาตัวอ้ายผู้ร้ายพวกอ้ายผู้ร้ายแลพยานนั้น ก็ให้มีตราอำนาจมอบให้กับผู้นั้น ๆ ต้องไปตามบังคับสั่ง ๚ะ
๏ข้อ๗ถ้าอ้ายผู้ร้ายพวกอ้ายผู้ร้ายแลพยานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง แลวังเจ้าตั้งกรมแล้วยังไม่ตั้งกรม แลอยู่ในบ้านท่านเสนาบดีบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย จะเอาตัวมิได้ ขัดขวางประการใด ก็ให้ผู้ใหญ่นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ๚ะ
๏ข้อ๘ผู้ซึ่งเปนใหญ่ในศาลรับสั่งนั้นให้ตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเปนผู้รับของกลาง แลให้มีที่รักษาของกลาง แลให้มีผู้ทำบาญชีสองนายสำหรับให้จตหมายเปนสารบบไว้ว่า ของกลางอย่างนั้น ๆ เท่านั้นสิ่ง อ้ายผู้ร้ายเท่านั้นคน เพื่อนอ้ายผู้ร้ายเท่านั้นคน ให้นายพธำมรงค์นั้น ๆ รักษาไว้เท่านั้นคน ให้ถูกต้องกันทั้งสองฉบับ ๚ะ
๏ข้อ๙ถ้าอ้ายผู้ร้ายแลพวกอ้ายผู้ร้ายแลตัวจำนำที่ได้ตัวมาแล้ว ผู้เปนใหญ่สั่งให้จำทำโทษไว้นั้น ห้ามอย่าให้นายพธำมรงผู้คุมยอมให้มีประกันละเลยประกันเชิงลาได้เปนอันขาต ถ้านายพธำมรงผู้คุมให้มีประกันไปโดยลำพังตน จะทำโทษผู้ให้ประกันไปจงหนัก ถ้าเพื่อนอ้ายผู้ร้ายที่ควรจะมีประกันได้ ผู้ใหญ่แลตระลาการพร้อมกันสั่ง นายพธำมรงผู้คุมจึงให้ประกันได้ ห้ามอย่าให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมให้เหลือเกินเปนอันขาด ๚ะ
๏ข้อ๑๐ห้ามอย่าให้ตระลาการศาลรับสั่งรับสินบลรับของคำนันของลูกความ ถ้าลูกความจะไปมาหาสูที่บ้านผู้ซึ่งเปนใหญ่แลตระลาการศาลรับสั่ง ก็ให้ไล่ลูกความนั้นไปเสียจากบ้านตระลาการผู้นั้น ถ้าลูกความจะมีข้อความที่จะชี้แจงให้ตระลาการเข้าใจ ก็ให้ลูกความไปชี้แจงข้อความที่ชำระ ถ้าผู้ใหญ่แลตระลาการศาลรับสั่งไม่ทำตามข้อพระราชบัญญัตินี้ มีผู้มาฟ้อง พิจารณาเปนสัตย์ จะทำโทษตามโทษานุโทษ ๚ะ
๏ข้อ๑๑ให้ผู้ใหญ่แลตระลาการศาลรับสั่งซึ่งประชุมชำระความอยู่ด้วยกันนั้น ให้มีความสวามิภักดิสามคีรศปรองดองต่อกัน อย่าให้เปนข้อวิวาทจนถึงกล่าวคำหยาบต่อน่าลูกความทั้งปวง อย่าให้ลูกความและผู้อื่นทั้งปวงดูหมี่นประมาทให้เสียพระเกรียติยศได้ พระราชบัญญัติตั้งไว้ณวันอังคาน เดือนแปดอุตราสาธ ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๒๓๖ ปีจอฉอศก ๚ะ