ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 15

จาก วิกิซอร์ซ
สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (พ.ศ. 2451) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 15 พิธีไถหว่าน

เทศกาลไถหว่านประจำปี[1] หน้า 65

บทที่ 15
พิธีไถหว่าน

เราได้พรรณนามาแล้วว่า เขาเพาะปลูกข้าวกันอย่างไรในดินแดนซึ่งความงอกงามของรวงข้าวบ่งบอกถึงความอยู่รอดของผู้คนหลายพันคน ในพฤติการณ์เช่นนี้ ย่อมไม่น่าแปลกใจที่จะพบเจอว่า มีการประกอบพิธีกรรมอันสำคัญยิ่งก่อนปลูกข้าวในแต่ละปี พิธีนี้เรียกว่า "เทศกาลไถหว่าน"[1] และคาดหมายได้ว่า จะไม่มีใครลงมือเพาะปลูกในไร่นาตนจนกว่าจะดำเนินพิธีในวันนักขัตฤกษ์นี้แล้ว

ฝนจะมาราวมีนาคมหรือเมษายน และชาวนาจะหันไปง่วนอยู่กับงานซึ่งอยู่เบื้องหน้าตน จะมีการปรึกษาโหราจารย์ในเรื่องวันมงคลสำหรับเทศกาลไถหว่าน และเมื่อกำหนดวันนี้กันแล้ว ทุกคนจะใจจดใจจ่อรอดูว่า จะเกิดอะไรขึ้น เพราะในวันนี้จะได้รู้กันสักทีว่า ฤดูกาลที่จะถึงจะดีร้ายประการใด

เจ้าชายพระองค์หนึ่งจะทรงเป็นประธานในเทศกาล และปฏิบัติงานแทนพระเจ้าแผ่นดินเป็นการเฉพาะคราว เจ้าชายจะทรงสวมมงกุฎ[2] ทรงมีร่มหลวง[3] และยิ่งกว่านั้น จะทรงได้เงินภาษีส่วนหนึ่งด้วย สมัยหนึ่งเคยยอมให้ข้าทาสบริวารส่วนพระองค์ของเจ้าชายหยิบฉวยข้าวของจากร้านค้าตามเส้นทางที่ขบวนผ่านโดยไม่ต้องชำระราคาก็ได้

เจ้าชายจะทรงตื่นแต่เช้าตรู่ และฉลองพระองค์ชุดพิเศษทำจากวัสดุเลอค่า พระองค์จะทรงครุยยาวทำจากผ้าตาข่ายสีขาวทับเสื้อคลุม ครุยนั้นมีรูปผลหมากรากไม้ปักอยู่เนืองแน่น โดยถักด้วยเงินและทอง ก่อนเสด็จออกจากพระตำหนัก พระองค์จะทรงหยอกเย้ากับพระสหาย เพื่อที่เขาเหล่านี้จะได้ชมดูพระองค์ในชุดวันนักขัตฤกษ์แบบเต็มตัวอย่างเต็มตา เมื่อทรงพร้อมดีแล้ว พระองค์จะประทับคานหามปิดทองซึ่งมีชายฉกรรจ์แปดคนหามไปบนไหล่ คณะขุนนาง ซึ่งบางคนถือข้าวของชวนมองอันเชื่อกันว่าจำเป็นต่อความสำเร็จลุล่วงของงานพิธี จะโดยเสด็จด้วย ในบรรดาข้าวของเหล่านี้ ได้แก่ ร่มหลวง[3] พัดขนาดใหญ่อย่างที่นักบวชถือ[4] ดาบประดับด้วยดอกไม้ขาว และวัวทองคำตัวเล็กมีมาลัยกลิ่นหอมหวานคล้องคอ

เบื้องหน้าคานหามอันงามสง่า มีบุรุษชุดแดงนุ่งโจงถือกลองแบบทั่วไปขึ้นตีเหมือนที่เขาตีกลองกันทั่วไป ทหารแต่งเครื่องแบบล้าสมัย นักบวชห่มผ้าเหลือง ขุนนางนุ่งผ้าทอง และชายหญิงจากทุกชนชั้นแต่งองค์ทรงเครื่องสีสดใสกว่าใคร เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ เป็นทิวแถวไปข้างหน้าผู้หามคานหาม ด้านหลังคานหามนั้นมีนักบวชเป่าเขาสัตว์และหอยสังข์เป็นเสียงพิลึกพิลั่น และที่สุดมีคนมามุงดูเป็นแนวยาว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนใจใคร่รู้ว่า กำลังจะมีอะไรกัน

ขบวนดำเนินไปด้วยเสียงครึกครึ้นยิ่งนักจนถึงพื้นที่แห่งหนึ่งภายนอกกำแพงนคร มีการตระเตรียมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ที่นี่แล้ว มียกพื้นดาดหลังคาทำด้วยไผ่ ใบจาก และแผ่นไม้ รวมถึงผืนผ้าสีแดงขาวซึ่งออกจะสกปรกสักหน่อย เบื้องหน้าปะรำเปิดโล่งนี้มีเสาไผ่สามต้นปักตรึงไว้กับพื้นเป็นเครื่องกำหนดเขตที่ว่างที่เจ้าชายจะต้องทรงไถหว่าน ในเพิงไม่ไกลจากนี้มีวัวหนุ่มสีขาวนวลซึ่งจะใช้เทียมคันไถ มีการใช้ด้ายทำจากฝ้ายศักดิ์สิทธิ์[5] ล้อมรอบปะรำ เพิง และพื้นที่ที่เลือกสรรไว้ ด้วยความมุ่งหมายเหมือนเคย คือ ป้องกันผีร้ายที่อยู่ ๆ กระสันอยากเข้าไปในวงล้อม เล่นลูกไม้ต่าง ๆ แล้วก่อกวนพิธีการ

ในอาณาบริเวณที่พิทักษ์รักษากันไว้นั้น มีไถทำด้วยไม้คล้ายกับที่พรรณนาไว้ในบทที่แล้ว เพียงแต่มีริ้วผ้าและบุปผาประดับไว้อย่างตระการ นอกจากนี้ ตรงปลายแอกและปลายคานมีการแกะสลักอย่างวิจิตรทั้งคู่ และมีรูปเคารพปิดทององค์เล็กอยู่ตรงจุดที่ผูกแอกไว้กับคาน

ครั้นเจ้าชายเสด็จถึงพื้นที่ จะมีการถวายพระภูษาสามชิ้น ภูษาเหล่านี้พับไว้อย่างประณีตบรรจง และดูเหมือนกันทุกจุด เพียงต่างกันที่ความยาว เจ้าชายจะทรงพินิจผ้าผืนน้อยทั้งสามผืนนี้อย่างถ้วนถี่ ก่อนจะทรงเลือกมาผืนหนึ่ง ถ้าทรงเลือกภูษาผืนยาวที่สุด ปีนั้นจะมีฝนน้อย และผู้คนจะปล่อยผ้านุ่งให้ตกถึงตาตุ่มได้ ถ้าทรงเลือกผืนสั้นที่สุด ฤดูฝนจะตามมา และผู้คนที่ทำนาปีจำจะต้องถกผ้านุ่งให้สูงเหนือเข่า เมื่อเลือกพระภูษาแล้ว เจ้าชายจะทรงพันพระภูษานี้ไว้รอบพระวรกาย และเป็นอันพร้อมเริ่มแรกนาได้ พระองค์จะทรงถือคันไถกับคทายาว[6] พร้อมกัน และจะต้องทรงคุมไถไปรอบที่ว่างที่กำหนดเขตไว้ด้วยไม้ไผ่นั้นเก้ารอบ ขุนนางผู้หนึ่งจะต้องเดินนำโคหนุ่มพลางประพรมน้ำมนต์ไปบนพื้น เมื่อดำเนินไปสามรอบแล้ว หญิงชราจำนวนหนึ่งจะเข้าร่วมประกอบพิธี บุคคลเหล่านี้เป็นสตรีชราที่สุดเท่าที่จะหามาได้ แต่จะแต่งองค์อลังการ และเมื่อเสร็จงานในวันนั้นแล้ว จะได้รับอนุญาตให้เก็บเครื่องแต่งกายไว้เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน หญิงดังกล่าวจะหามคทาปิดทอง[7] ไว้บนไหล่ ที่ปลายคทานี้มีตะกร้าสองใบแขวนอยู่ ใบหนึ่งเคลือบทอง ใบหนึ่งเคลือบเงิน ตะกร้าเหล่านี้บรรจุเมล็ดข้าวที่ปลุกเสกแล้ว คันไถจะดำเนินไปตามหนทางที่สมควรอีกสามรอบ โดยที่สตรีเหล่านั้นดำเนินตามเจ้าชาย แล้วโปรดกระจายเมล็ดพันธุ์อันทรงค่าไปทางซ้ายและขวา ทุกคนเพียรพยายามจะให้ได้เมล็ดข้าวเหล่านี้มาสักนิด เพื่อนำไปประสมกับเมล็ดพันธุ์ทั่วไปสำหรับใช้หว่านในนา เพราะถ้าได้เมล็ดปลุกเสกมาประสมกับเมล็ดชนิดทั่วไปแล้ว ฤดูเก็บเกี่ยวย่อมจะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในบั้นปลาย เจ้าชายจะทรงพระดำเนินอีกสามรอบ เสร็จแล้ว จะเสด็จออกจากพื้นที่ จะมีการปลดด้ายศักดิ์สิทธิ์[5] และผู้คนจะกรูกันเข้ามาท่วมท้นสถานที่ พลางเก็บเมล็ดข้าวใด ๆ ที่ตนเจอ และใส่ใจถนอมเมล็ดเหล่านั้นไว้เพราะจะนำโชคดีมาให้

แต่พิธียังไม่แล้วสิ้น ยังเหลือสิ่งสำคัญยิ่งอีกอย่างให้ต้องกระทำ จะมีการถอดแอกฝูงโคแล้วพากลับเพิง ก่อนนำกระทงเล็ก ๆ ซึ่งทำจากใบตองและบรรจุเมล็ดพันธุ์หลายชนิดมาวางไว้เบื้องหน้าพวกมัน ใส่ข้าวกระทงหนึ่ง เมล็ดพันธุ์หญ้ากระทงหนึ่ง ข้าวโพดกระทงหนึ่ง ฯลฯ ถ้าเจ้าวัวหนุ่มกินข้าวโพดหมดสิ้น และเหลือข้าวเอาไว้ เช่นนี้ ปีนั้น รวงข้าวจะแย่ ส่วนรวงข้าวโพดจะงาม ฉะนั้น จึงปรากฏว่า ในวันนี้ ชาวนาจะได้รู้ว่า สภาพอากาศแบบใดที่ตนจะต้องเผชิญ และเมล็ดข้าวชนิดใดจะออกรวงดกดื่นที่สุด

เจ้าชายจะทรงขึ้นคานหามกลับพระตำหนักอีกหน พร้อมเสียงกลองก้องกาหล เสียงแตรคำรน และมีคณะทหาร นักบวช ขุนนาง และผองไพร่กลุ่มเดิมเฝ้าแห่แหน ครั้งหนึ่งในอดีต ผู้คนมีความเชื่อถือมาก ทั้งในตัวพิธี และในสิ่งที่คาดว่าพิธีจะสำแดงให้ทราบ แม้จนบัดนี้ หลายพันคนก็ยังมีความเลื่อมใสใหญ่หลวงในพิธีกรรมทั้งปวงที่กระทำนั้น แต่ด้วยเหตุที่การศึกษาเริ่มแพร่หลาย ความเชื่อถือในพิธีอันทรงมนต์ขลังและงดงามดังแกล้งวาดนี้ย่อมจะสิ้นสูญไป อย่างไรก็ดี คงจะอีกนานกว่ายกเลิกพิธีเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะพิธีดังกล่าวทำให้มีโอกาสหยุดรื่นเริง และหากจะมีสิ่งใดที่ชาวสยามชอบใจยิ่งกว่าสิ่งอื่น สิ่งนั้นก็คือวันกินเลี้ยงรื่นเริง อันเป็นวันที่ถือกันว่า การงานเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ต่างหาก

หมายเหตุ

[แก้ไข]
  1. 1.0 1.1 หมายถึง แรกนาขวัญ
  2. อาจหมายถึง ลอมพอก
  3. 3.0 3.1 อาจหมายถึง กลด สัปทน ฯลฯ
  4. อาจหมายถึง บังแทรก บังสูรย์ ฯลฯ ซึ่งดูคล้ายตาลปัตร
  5. 5.0 5.1 อาจหมายถึง สายสิญจน์
  6. อาจหมายถึง ปฏัก
  7. หมายถึง คานสำหรับหาบตะกร้าใส่เมล็ดพันธุ์ในพิธี และหญิงเหล่านี้ก็คือที่เรียกกันว่า เทพีคู่หาบ