บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 6
ปัญหา เหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอด้วยพระองค์? การมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นั้นมีราชประเพณีมาแต่ครั้งใด?
ตอบ เรื่องเฟสท์คิงและสกันด์คิงของไทย หรือเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระปิ่นเกล้าฯ ที่นับว่า มีศักดิ์เสมอกัน ความข้อนี้สอบสวนได้จากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพระราชอนุชาเสมอด้วยพระองค์นั้น มิใช่เพียงแต่ว่า "มีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หายิ่งนัก" เท่านั้น เพราะเมื่อได้รับอัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชย์ ได้ทรงพิจารณาดูทางโหราศาสตร์ เห็นว่า พระปิ่นเกล้านี้มีพระชาตาวิเศษนัก สมควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น การที่ทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว ดูไม่เป็นการสมควร ทรงเห็นเป็นอัปมงคล จึงได้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เปนการเสมอกันกับพระองค์ ผิดกันก็แต่คำนำหน้าที่ว่า รับพระบรมราชโองการ กับพระบวรราชโองการ เท่านั้น
เรื่องการยกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นี้ นับว่า ทรงอ้างถึงพระราชประเพณีอันมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา และยึดเอาพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเป็นตัวอย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่า ทั้งสมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ดูเป็นการผิดแบบแผนทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ นี้ เป็นการคิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรหรือ หรือมีประเพณีอันใดมาแต่เดิม?
เมื่อได้พิจารณาดูในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏความว่า ได้ทรงตั้งพระบรมราชา ราชบุตร อภิเษกให้ครองกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระองค์เสด็จประทับ ณ เมืองพิษณุโลก และเมื่อก่อนสวรรคต พระองค์ได้ทรงตั้งราชโอรสพระองค์น้อยเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อสวรรคตแล้ว พระบรมราชาผู้เป็นพระเชษฐาได้ครองกรุงศรีอยุธยา จึงให้ราชอนุชาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกต่อมา
เรื่องนี้ไปได้ความในหนังสือราชาธิราชตอนหนึ่งว่า สมัยเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ครองเมืองหงสาวดี เป็นไมตรีกับเชียงใหม่ ไทย พะม่า และลังกา ได้แต่งข้าหลวงให้ส่งปริศนาไปทายกัน ไทยสมัยนั้นสอบศักราชตรงกันกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ๆ ส่งปริศนาไปถวายพระธรรมเจดีย์ ๆ แก้ได้ ยกย่องถึงแต่งราชทูตเชิญราชบรรณาการไปเฉลิมพระยศเป็น "มหาธรรมราชา" ตอนนี้ในราชาธิราชมีคำต่อนิดหนึ่งว่า "เหมือนพระเจ้าตา" จึงเป็นอันปรับเรื่องนี้ได้
ที่ว่า ปรับเรื่องได้นั้น เป็นดังนี้ พิจารณาเรื่องทางกรุงสุโขทัยเมื่อเป็นอิสสระอยู่นั้น เป็นวงศ์หนึ่งต่างหากจากกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้เป็นพระญาติพระวงศ์แก่กัน เมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งวงศ์ขึ้น ก็มีการรบพุ่งกันบ้าง ไมตรีกันบ้าง มาเกี่ยวดองกันเมื่อปรากฏในสมัยพระอินทราชว่า มหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกสวรรคต เมืองเหนือเป็นจลาจล พระยาบาลเมืองกับพระยารามผู้น้องแย่งราชสมบัติกัน ทรงยกทัพขึ้นไปไกล่เกลี่ยสำเร็จเรียบร้อย เพราะทั้งสองยอมตกลงรับคำตัดสิน จึงให้พระยาบาลเมืองผู้พี่เป็นมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก พระยารามผู้น้องครองเมืองศรีสัชนาลัย เป็นวงศ์พระร่วงทั้งคู่ และเพื่อควบคุมให้เป็นที่เรียบร้อย ได้ให้ราชโอรสทั้งสาม คือ เจ้าอ้าย เจ้าญี่ เจ้าสาม ไปครองเมืองต่าง ๆ กัน โดยฉะเพาะเจ้าสามพระยา ได้ครองอยู่ที่เมืองชัยนาทอันเป็นแดนติดต่อแดนระหว่างสุโขทัยกับไทยอยุธยานั้น ได้ทรงขอธิดาพระยาบาลเมืองให้เป็นพระชายา การอภิเษกครั้งนี้คงไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่นนอกจากจะสมานให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ต่อมาไม่ได้จัดการเรื่องราชสมบัติ จึงเป็นเหตุให้เกิดแย่งราชสมบัติกันขึ้น เจ้าอ้าย เจ้าญี่ สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิเชิงสะพานป่าถ่าน เจ้าสามพระยาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ธิดาพระยาบาลเมืองได้เป็นอัครมเหสี มีราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยาบาลเมืองมหาธรรมราชาจึงเป็นพระเจ้าตา
ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พอพระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) มีพระชนม์พรรษาได้สิบห้าปี ซึงยังทรงพระเยาว์อยู่มาก พระราชบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก การที่พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจยิ่งปล่อยราชโอรสอันเป็นรัชทายาทมีอายุน้อยเท่านี้ขึ้นไปครองเมืองเหนือซึ่งเพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ เป็นที่น่าสงสัย เพราะอาจถูกฆ่าได้โดยง่าย ฉะนั้น ในต้อนนี้ต้องเดาด้วยเหตุผลและไม่มีผิดว่า การที่ส่งพระราเมศวรขึ้นไปทั้งที่ยังทรงพระเยาว์นี้ คงเป็นเพราะ "พระเจ้าตา" หรือมหาธรรมราชาบาลเมือง สิ้นพระชนม์ และพวกพระยารามซึ่งเคยแย่งราชสมบัติก่อการร้ายขึ้น พวกพิษณุโลกเห็นจะมากกว่าพวกศรีสัชนาลัย และคงรวมเข้าเป็นกลาง ไปทูลขอเอาพระราเมศวรซึ่งมีเชื้อสาย "พระเจ้าตา" มาครองเมืองพิษณุโลก และเมื่อเอารัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยามาครองเสียเช่นนี้ ทางศรีสัชนาลัยก็ยอม เกรงกลัวพระบารมี ไม่คิดต่อสู้ ข้างฝ่ายพระบรมราชาผู้เป็นพระราชบิดาก็คงทรงยินดีอยู่เองที่ทรงสามารถรวบรวมอาณาจักรไทยทางเหนือได้โดยไม่ต้องลำบากแก่ไพร่พล ทั้งพระชนนีของพระราเมศวรและพระญาติข้างพระชนนีก็คงจะช่วยกันอุดหนุน ด้วยประการนี้ พระราเมศวร แม้จะมีพระชนม์มายุน้อย ก็ไม่น่าวิตกประการใด และเมื่อพระราชบิดาสวรรคต ราชสมบัติก็ตกอยู่แก่พระราเมศวร ซึ่งต่อมาเฉลิมพระเกียรติเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระบรมไตรโลกนาถจึงได้ราชสมบัติทั้งพระนครศรีอยุธยาและนครสุโขทัยถูกต้องตามกฎหมาย เป็น Right heir ทีเดียว และก่อนที่จะรวมเขตต์เข้าด้วยกัน ก็เผชิญพระยายุษฐิระ เชื้อสายพระยาราม ไม่พอใจ ไปคบกับท้าวลกแห่งลานนา ต้องปราบปรามกันอยู่จน "ยวนพ่าย"
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเห็นว่า ยังไม่สามารถจะรวมกันไดสนิทนัก จึงได้จัดให้รัชทายาทไปครองเมือง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่นั้นเป็นต้นมา ได้จัดส่งรัชทายาทไปครองเสมอมา ตลอดจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คงไม่ใช่เชื้อพระร่วง จึงต้องยกราชธิดาให้ขุนพิเรนทรเทพซึ่งเป็นเชื้อพระร่วงให้ไปครองเมืองพิษณุโลก และเมื่อได้มีเชื้อพระร่วง คือ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ทั้งสองพระองค์ก็ได้ครองเมืองพิษณุโลกสมประสงค์ในภายหลัง จนเกิดศึกหงสาวดี เมื่อเกิดศึกนั้น พระนเรศวรจะทำศึกใหญ่ ต้องการรวมกำลังอยู่ทีเดียว จึงต้อนกำลังจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาอยู่ในกรุงสิ้น ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือทรุดโทรมลง
เมื่อพระนเรศวรเสวยราชย์ หากบ้านเมืองเรียบร้อย คงตั้งให้พระอนุชาไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ในครั้งนั้น เนื่องด้วยคนเมืองเหนือลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยาหมด เพราฉะนั้น เมื่อตั้งพระเอกาทศรถ ก็เลยตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งครองอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ควบคุมคนหัวเมืองเหนือทั้งปวงที่อยู่ในกรุง มีกฎหมายลักษณะกบฏศึกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถบังคับพวกหัวเมืองฝ่ายเหนือกล่าวไว้ ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อพระเอกาทศรถเสวยราชย์ ชาวเมืองเหนือถูกกวาดมาอยู่กรุงศรีอยุธยาเสียแล้วกว่าสิบปี จึงไม่เป็นต่างพวกต่างพ้อง กลายป็นพวกเดียวกันอยู่กรุงศรีอยุธยามาจนบัดนี้ ฉะนั้น พระเอกาทศรถจึงไม่จำเป็นต้องตั้งรัชทายาทไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ของเราก็ลงเอยที่ตรงนี้