ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 1/เรื่องที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ พระราชพงศาวดารเหนือ

น่า
สารบาน
พงษาวดารเหนือ
บานแพนก
น่า
เรื่องพระยาสักรดำตั้งจุลศักราช
เรื่องสร้างเมืองสวรรคโลก
เรื่องอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก
เรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก
๑๖
เรื่องสร้างเมืองพิศณุโลก
๑๙
เรื่องสร้างพระชินสีห์ พระชินราช
๒๑
เรื่องสร้างเสนาราชนคร
๒๓
เรื่องพระยากาฬวรรณดิศตั้งเมืองต่าง ๆ
๒๕
เรื่องที่กัลปนา
๒๖
ทำเนียบคณะสงฆ์
๒๗
เรื่องพระร่วงศุโขไทย
๒๘
เรื่องพระยาแกรก
๓๐
เรื่องพระนเรศวรหงษา
๓๘
เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง
น่า ๔๓
เรื่องพระมาลีเจดีย์
๔๙
เรื่องพระยากง
๕๗
เรื่องพระเจ้าอู่ทอง
๖๓
เรื่องพระบรมราชาเมืองสวรรคโลก
๗๒
เรื่องขุนสิงหฬสาคร
๗๕
ตำนานพระแก้วมรกฎ
๗๙
พระนาคเสนปรารภจะสร้างพระแก้ว
๘๑
พระวิศุกรรมรับเปนช่างสร้างพระแก้ว
๘๓
เชิญพระบรมธาตุประดิษฐานในองค์พระแก้ว
๘๕
พระแก้วอยู่เมืองปาตลีบุตร
๘๗
พระแก้วอยู่เมืองลังกา
๘๙
พระแก้วอยู่เมืองอินทปัต
๙๓
พระแก้วอยู่กรุงศรีอยุทธยา
๑๐๑
พระแก้วอยู่เมืองกำแพงเพ็ชร
๑๐๓
พระแก้วอยู่เมืองเชียงใหม่
๑๐๕
พระแก้วอยู่เมืองหลวงพระบาง
๑๐๙
พระแก้วอยู่เมืองเวียงจันท์
๑๑๑

ศุภมัสดุ ลุศักราช ๑๒๓๑ สัปสังวัจฉรบุษยมาศกาฬปักษ์เอกาทศมีดิถีครุวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว อันเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเศกผ่านพิภพกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสวริยพิมานโดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมราชวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าเบื้องบาทบงกชมาศ จึงพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมพระอาลักษณแลกรมอักษรพิมพ์ ให้จัดหาหนังสือเรื่องพระราชพงษาวดารลำดับกระษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ สร้างไว้สำหรับทรงทอดพระเนตรเปนเครื่องประดับพระปัญญาแลสำหรับแผ่นดินสืบไป จึงพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ได้จัดอาลักษณจำลองเรื่องพระราชพงษาวดารลำดับกระษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหลายภาษา แลเรื่องพระราชพงษา

ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช ๓๐๖ ปีกุญ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงกระษัตริย์เมืองตักกะสิลามหานคร ทรงพระนามชื่อพระยาสักรดำมหาราชาธิราช ทรงอานุภาพมหิทธิฤทธิอันล้ำเลิศกว่ากระษัตริย์ทั้งหลายพระองค์เสวยราชสมบัติ พระองค์เสด็จออกยังพระที่นั่งเย็นเปนที่รโหถานพิมานจตุรมุขเบื้องอุดรทิศ จึงทรงพระดำริห์ด้วยพระพุทธสาสนาเปนฝ่ายข้างพระพุทธจักรนั้นฝ่ายหนึ่ง จึงมีพระราชโองการสั่งแก่อดีตพราหมณ์ปโรหิตว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนสิ้นพระพุทธสาสนาของพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ ๕๐๐๐ พรรษา ให้ตั้งจุลศักราชไว้สำหรับกรุงกระษัตริย์สืบไปเมื่อน่า จึงให้ตั้งณวันพฤหัศบดี เดือนห้า แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราชปีชวดเอกศกเปนมหาสงกรานต์ไปแล้ว จึงให้ยกขึ้นเปนจุลศักราชวันเดือนปีใหม่ ถ้าแลมหาสงกรานต์ยังมิไป ยังเอาเปนปีใหม่ไม่ได้ ด้วยดฤถีเดือนนั้นยังไม่ครบ ๓๖๐ วัน พระองค์ให้ตั้งพระราชกำหนดจุลศักราชแล้ว พระองค์สวรรคตในปีนั้น เสวยราชสมบัติ ๗๒ ปี จุลศักราชได้ศก ๑

จึงเจ้าฤๅษีสัชนาไลยแลเจ้าฤๅษีสิทธิมงคลทั้งสองพี่น้องมีอายุยืนได้ ๑๐๐ ปี แต่พระชินสีห์ยังดำรงราชสมบัติจนได้ตรัสแก่สัพพัญญุตญาณเปนพระพุทธเจ้าโปรดสัตวทั้งหลาย ทสคาเม มีบ้านอันขึ้นแก่นางสารีอันเปนมารดาพระสาริบุตรเถรเจ้า แลพราหมณ์ทั้ง ๑๐ บ้านย่อมเปนลูกหลานเจ้าฤๅษีทั้งสอง มีอายุยืนได้ ๓๐๐ ปี สูง ๓ วา อายุได้ ๒๐๐ ปี สูง ๙ ศอก หมู่ชะพ่อชีพราหมณ์กินบวชแลทรงพรตบห่อนจะฆ่าสัตวจึงมีอายุยืน ผู้มีเวรจึงพลันตาย ผู้หาเวรมิได้อายุยืน เจ้าฤๅษีสัชนาไลยจึงว่าแก่เจ้าฤๅษีสิทธิมงคลว่า เราจะเข้านฤพานแล้ว เอ็นดูแก่ลูกหลานแห่งเราอันจะสืบไปในอนาคตกาล แล้วก็ให้โอวาทไว้ในพระพุทธสาสนา กำกับไสยสาตรให้ไว้ด้วยกัน แลเจ้าฤๅษีสัชนาไลยจึงให้หาลูกหลานอันเปนผู้เถ้าผู้แก่กว่าชนทั้งหลาย จึงสั่งสอนว่า สูเจ้าทั้งหลายอันอยู่ทั้ง ๑๐ บ้านอย่าประมาทลืมตน ทั้งฝั่งน้ำสมุทก็หมดไปแล้ว เขาจะสร้างบ้านสร้างเมือง จะมีไภยเปนอันมาก สูท่านจงชวนกันทำกำแพงกันตัว อย่าได้เมามัวแก่ตัณหา สาตราเร่งตกแต่งไว้ ผู้ใดถ้าเปนใหญ่ให้ครอบครองกัน ชะพ่อชีพราหมณ์ภายน่าจะเปนคฤหัสถ์ตัดจุกเกล้าฆ่าสัตว น้ำพิศม์พืชมูลชมพูจะกลายเปนเหล้า ชะพ่อชีพราหมณ์จะมาทุกตำบล จะละคำพระทศพล จะเอาคำโทโสโลโภ มักได้ให้ท่านฉิบหาย ปู่จะสั่งเจ้าไว้ สูเจ้าจงเอาพนมเพลิงเข้าไว้ในเมืองเปนที่สร้างพรตบูชากูณฑ์ผู้ เถ้าจะสั่งสอน จงทำตามคำ ครั้นเจ้าฤๅษีสั่งสอนลูกหลานแล้ว ก็เหาะขึ้นไปถึงเขาใหญ่ชื่อภูเขาหลวง สร้างสมณธรรมภาวนาได้ปัญจมฌานสมบัติขาดจากตัณหาด้วยปัญญาแห่งตน

จึงบาธรรมราชให้หาชะพ่อชีพราหมณ์ทั้งหลายนายบ้านมาพร้อมกันแล้ว จึงปันน่าที่ให้ชะพ่อชีพราหมณ์กำหนดกฎหมายเกณฑ์น่าที่ ให้ทำกำแพงหนา ๘ ศอก สูง ๔ วา กว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น จึงบาธรรมราชผู้รู้ฤกษ์พานาทีได้ยินในสำนักนิ์เจ้าฤๅษีผู้เปนปู่ว่า ณวันพฤหัศบดี เดือนอ้าย ขึ้นหกค่ำ ปีมโรงโทศก ภายน่าจะได้ลูกนาคมาเปนพระยาตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๕๐๐ ปี พระฤๅษีเจ้าท่านทำนายไว้ ถ้าอรรคสาวกแลสมณพราหมณ์ชีมิเปนธรรมเมื่อใด อกเมืองจะหักเจ็ดภาค หาผู้จะยามิ ได้ ฝ่ายคฤหัสถ์จะเปนฝ่ายชี ๆ จะเปนฝ่ายคฤหัสถ์ รู้นักจะพลันตาย อย่าหมายใจต่างทาง ปู่รำคาญแต่เท่านี้จะมีไปภายน่า แลมีบาธรรมราชเปนประธาน ให้ชะพ่อชีพราหมณ์ตัดเอาแลงมาทำเปนกำแพง มีบาธรรมราชเปนผู้ใหญ่ ว่าท่านทั้งหลายย่อมบังคับบัญชากันให้เอาแลงมาทำเปนแผ่น ก่อเปนกำแพงถึงเจ็ดปีจึงแล้ว บานประตูเปนพนักงานเมืองใด ทำประตูสกัด ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น ทำด้วยปูน สร้างวัดวาอารามกุฎีสถานให้เปนทานแก่สงฆ์ทั้งหลายอันได้บรรลุโลกุตรธรรมเปนพระโสดาบันแลสกิทาคามิอนาคามิ แล้วจึงชะพ่อชีพราหมณ์ตั้งวิหารพระอิศวรแลพระนารายน์เปนที่ตั้งพิธี ชวนกันอดอาหาร ๗ วัน กินบวช ๗ วัน จึงสระเกล้า จึงขึ้นโล้อัมพวายแก่อิศวรเปนเจ้าอยู่ท่าพระดาบศอันจะมา

แลเจ้าฤๅษีคำนึงถึงตระกูล พอเข้าฌานสมาบัติอันเปนบาทแห่งอภิญญาแล้ว เหาะมาในอากาศเวหา ก็เข้าถึงพนมภูผา ยังชะพ่อชีพราหมณ์ทั้งหลาย ก็มาให้บูชา แลบาธรรมราชเปนประธานจึงถามว่า ข้าแต่ปู่เจ้าทั้งสอง ข้าพเจ้าก่อสร้างเมืองตามคำเจ้ากูบริบูรณ์แล้ว ขอพระนามกรเมืองแก่เจ้ากู แล้วเจ้าฤๅษีสัชนาไลยว่า วันนี้เราขึ้นไปเยือนพระอินทรถึงสวรรคเทวโลก เราจึงลงมาวันนี้ ก็ให้ชื่อว่าเมืองสวรรคโลกมาจนถึงบัดนี้ แล้วเจ้าฤๅษีสัชนาไลยแลเจ้าฤๅษีสิทธิมงคลให้ประชุมชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลายแล้วก็ว่า ผู้ใดจะสมควรแก่เมืองนี้ พราหมณ์ก็ว่า มีแต่บาธรรมราชเปนผู้เถ้าผู้แก่กว่าตูข้าทั้งหลาย แลฤๅษีว่า ในแผ่นดินนี้จะเปนพระยามีสามตระกูล คือ กระษัตริย์ แลเศรษฐี แลพราหมณ์ ประเสริฐในแผ่นดินนี้ แลเจ้าฤๅษีจึงตั้งบาธรรมราชให้เปนพระยา ชื่อพระยาธรรมราชา จึงตั้งนางท้าวเทวีอันเปนหลานสาวแห่งนางโมคคัลลีบุตรนายบ้านหริภุญไชยมาเปนอรรคมเหษีอยู่ในราชวังแล้ว แลเจ้าฤๅษีจึงคิดได้ว่า ธาตุแลกระดูกนิ้วซ้ายตูหากไปเอามาเมื่อพระเจ้านิพพาน ตูก็เอามากับพระธาตุอันพระเจ้าศรีธรรมาโสกราชแจกไว้ ยังฝังอยู่ที่ใต้ต้นไม้รัง มีแร้งตัวเมียหากอยู่เฝ้ารักษา แลท่านจงเอามาประดิษฐานไว้เถิด ครั้นเจ้าฤๅษีสั่งสอนลูกหลานแล้ว ก็เหาะไปในอากาศเวหา ถึงภูผาหลวงได้ ๗ วันก็นิพพาน

แลพระยาธรรมราชาเจ้าจึงให้หาชะพ่อชีพราหมณ์ชุมนุมกันพิภาษเอาพระธาตุพระพุทธเจ้าขึ้นมาบรรจุไว้ในเมือง จึงให้ช่างก่อที่บรรจุพระธาตุ จึงให้บาพิศณูคนหนึ่ง บาชีพิศคนหนึ่ง บาฤทธิรจนาคนหนึ่ง บาอินท์คนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาทั้งห้าคนนี้ย่อมเปนช่าง คิดอ่านด้วยกันว่า เราทำให้ดูงามดูหลากกว่าช่างทั้งหลายในแผ่นดินนี้ ครั้นคิดด้วยกันแล้ว จึงให้ตัดเอาแลงมาทำเปนแผ่นยาว ๓ ศอก กว้างศอก ๑ ยาว ๕ ศอก กว้าง ๒ ศอก ทำเปนบัวหงาย แลน่ากระดานแลชานทรงมันให้งาม จึงขุดเปนสระกรุด้วยแลงทำด้วยปูน จึงตั้งฐานชั้นหนึ่ง แลสมเด็จพระเจ้าธรรมราชาธิราชเสด็จไปด้วยชะพ่อชีพราหมณ์ทั้งหลายถึงต้นไม้รังซึ่งแร้งทำรังนั้น แล้วจึงขุดเอาผะอบแก้วใหญ่ห้ากำใส่พระธาตุนั้นขึ้นมา จึงบูชานมัสการด้วยดอกไม้ธูปเทียน แล้วเชิญพระธาตุมาถึงเมือง แล้วพระธรรมราชาเจ้าจึงป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธา ก็เอาทองมาประมวญกันได้ ๒๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีเปนสำเภาเภตรา จึงใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ จึงก่อเปนพระธาตุเจดีย์สรวมขึ้น ปีหนึ่งจึงแล้วแต่องค์ ยอดยังไม่มี แลพระสงฆเจ้าทั้งหลายจึงนมัสการ อันว่าชะพ่อชีพราหมณ์ทั้งหลายอันอยู่ในปัญจมัชฌคามอันเปนหลานเหลนแห่งนางโมคคัลลีอันเปนพระมารดาพระโมคคัลลาน์ แลนางสารีเปนพระมารดาพระสาริบุตรอันอยู่ในปัญจมัชฌคาม ก็กลายมาเปนเมืองสวรรคโลก แลพระธาตุพระสาริบุตรเจ้าก็บรรจุไว้ในเจดีย์พระธาตุข้างเหนือ แลธาตุพระโมคคัลลาน์เจ้าก็บรรจุไว้ในบ้านนางโมคคัลลี แลนางทั้งสองนี้ก็เปนญาติแก่กัน แลบ้านอุตรคามินีเดิมแต่ล้วนชะพ่อชีพราหมณ์ไปค้าขายแก่กัน กินบวชถือศีลด้วยกัน แลเจ้าธรรมกุมารลูกพระธรรมราชา แลเจ้าอุโลกกุมาร เปนเจ้าภิกษุทรงไตรปิฎก แลออกจากพระสาสนา พระบิดามารดาแลเผ่าพันธุ์ให้เปนพระยา จะได้ช่วยกันป้องกันอันตรายศัตรูอันจะมาแต่ทิศต่าง ๆ ครั้นคิดแล้วจึงให้พระสาสนนั้นไปแก่ชาวบ้านปัญจมัชฌคามให้ทำกำแพงล้อมบ้านให้รอบคอบ แล้วให้ตั้งเรือนหลวง แล้วจึงให้มารับเอาเจ้าอุโลกกุมาร ราชาภิเศกให้เปนพระยาศรีธรรมาโสกราชในเมืองหริภุญไชยด้วยนางพราหมณี แล้วให้ชาวบ้านอุตรคามทำกำแพงล้อมบ้านให้มั่นคง แล้วจึงชะพ่อชีพราหมณ์ผู้ใหญ่มารับเอาธรรมกุมารไปราชาภิเศกด้วยนางพราหมณี ก็ได้ชื่อว่ากัมโพชนคร คือเมืองทุ่งยั้ง แลให้สาสนนั้นไปถึงบ้านบุรพคามตกแต่งกำแพงแลคูให้ทำพระราชวังให้บริบูรณ แล้วจึงให้ชะพ่อชีพรามหณ์ผู้ใหญ่มารับเอาเจ้าสีหกุมารไปราชาภิเศกด้วยนางพราหมณีนั้น จึงให้ชื่อเมืองบริบูรณ์นคร อันว่าเมืองทั้งสี่เมืองนี้ก็เปนกระษัตริย์ซื่อตรงต่อกัน แล้วจะได้มีใจโลภแก่ราชสมบัติหามิได้ ต่างกันต่างก็อยู่ ครั้นถึงเทศกาลก็ถวายบังคมลาแล้วก็ไป แลจะได้มีใจชังแลมีจิตรฤษยาแก่กันหามิได้ แต่กระษัตริย์สืบ ๆ กันมาได้ ๓ ชั่วตระกูล

พระพุทธศักราชได้ ๕๐๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๘๖ ปีกุญ พระยาอภัยคามินีศีลาจารย์บริสุทธิ์อยู่ในเมืองหริภุญไชยนครย่อมออกไปจำศีลอยู่ในเขาใหญ่ จึงร้อนถึงอาศนนางนาคอยู่มิได้ ก็ขึ้นมาในภูเขาใหญ่นั้น ก็มาพบพระยาอยู่จำศีล เธอก็มาเสพเมถุนด้วยนางนาค ๆ อยู่ได้เจ็ดวันแล้วจะลาไป พระยาจึงให้ผ้ารัตตกัมพลแลพระธำมรงค์ไปแก่นางนาคให้ชมต่างพระองค์ นางนาคก็กลับลงไปพระยาก็เข้ามาเมืองดังเก่า แลนางนาคก็มีครรภ์แก่ แลนางนาคก็ว่า ลูกตูนี้มิใช่เปนไข่ แลจะเปนมนุษย์ทีเดียว แลจะคลอดในเมืองนี้มิได้ แล้วจึงขึ้นมาถึงภูเขาที่อาศนแห่งพระยานั้น ก็ประสูตรกุมาร ผ้าแลแหวนนั้นนางก็ไว้แก่ลูกตนแล้วก็หนีลงไปเมืองนาค

แลมีพรานพเนจรคนหนึ่งออกไปหาเนื้อในป่า ได้ยินเสียงกุมารร้องไห้ แลพรานเข้าไปก็เห็นกุมาร แล้วพรานก็สัญญาว่า ลูกท้าวหลานพระยา แลเห็นตูมากลัวตู แลซัดลูกเสีย พรานจึงเอากุมารนั้นไปให้ภรรยาตนเลี้ยงไว้เปนบุตรบุญธรรม

แลสมเด็จพระเจ้าอภัยคามินีราชใช้ให้เสนาอำมาตย์สร้างพระมหาปราสาท จึงให้เกณฑ์เอาชาวบ้านมาถากไม้ตั้งเสาพระมหาปราสาท แลพรานนั้นก็ต้องเกณฑ์มาถากไม้ จึงเอากุมารนั้นเข้ามาไว้ด้วย แลร้อนด้วยรัศมีพระอาทิตย์ พรานนั้นจึงเอากุมารเข้ามาไว้ในร่มพระมหาปราสาท ๆ ก็โอนไปเปนหลายที พระยาเห็นก็หลากพระไทย จึงให้เอาพรานนั้นเข้ามาถามดู แลพรานจะพรางมิได้ก็บอกว่า ลูกเขาซัดเสียในป่า แลข้าพเจ้าเอามาเลี้ยงไว้เปนลูก พระยาจึงถามว่า มีอันใดอยู่ด้วยกุมารนั้นบ้าง จึงกราบทูลว่า มีแหวนแลผ้าอยู่ด้วยกัน แลพระยาจึงให้พรานเอามาดูก็รู้ว่าเปนราชบุตรแห่งตน พระองค์จึงให้รางวัลแก่พรานนั้น แล้วพระองค์จึงให้หาชะแม่นมรับเอากุมารนั้นมาเลี้ยงไว้ แล้วพระองค์ให้ชื่อกุมารนั้นว่าเจ้าอรุณราชกุมาร

แล้วยังมีกุมารผู้หนึ่งอันเกิดร่วมชาติมนุษย์ด้วยนางอรรคมเหษีชื่อว่าเจ้าฤทธิกุมาร เปนน้องเจ้าอรุณราชกุมาร แลเจ้าพี่น้องทั้งสองร่วมใจกัน แลเจ้าอรุณราชกุมารได้พุทธทำนายพระพุทธเจ้าเมื่อไปฉันเพนนอกบ้านปัญจมัชฌคาม แลพระยาอภัยคามินีมาคิดแต่ในพระไทยว่า เมืองใดจะสมควรแก่ลูกแห่งกูนี้ จึงเห็นแต่เมืองสัชนาไลย ยังแต่พระราชธิดาแลพระราชบุตรหามิได้ แลพระยาอภัยคามินีจึงเอาเจ้าอรุณราชกุมารเปนพระยาในเมืองสัชนาไลย ก็ได้นามชื่อพระยาร่วง แลพระองค์จึงให้สร้างพระวิหารทั้ง ๕ ทิศ สร้างพระจำลองไว้แทนพระองค์ ติดพระมหาธาตุแลพระรเบียงสองชั้น แล้วเอาแลงทำเปนค่าย แลเสาโคมรอบพระวิหาร แลพระองค์ก็ให้หาช่างทองมาทุกบ้านทุกเมือง จึงให้เอาทองแดงมาทำเปนลำพระขรรค์ยาว ๘๘ ศอกกึ่ง ต้น ๕ ศอกกึ่ง ปลาย ๓ ศอก แลแก้วใส่ยอด ๑๕ ใบ แลบัลลังก์แท่นรองยอดใหญ่ ๙ กำ ตระกูลทองดี ๑๐ ชั้นแลหุ้มทองแดง ขลิบขนุนลงมาถึงตีนคูหา แลสร้างอุโบสถให้เปนทานแก่พระสงฆเจ้า แลให้สร้างที่ต้นรังพระธาตุเปนวิหารแลพระเจดีย์ จึงให้ชื่อว่าวัดเขารังแร้ง แลพระเจ้าอรุณราช คือพระยาร่วงนั้น แลท้าวพระยาประเทศเมืองใด ๆ จะทนทานอานุภาพพระองค์ก็หามิได้ มาถวายบังคมทั่วสกลชมพูทวีป เพราะพระองค์ต้องพุทธทำนายพระพุทธเจ้า แลอายุพระองค์เจ้าได้ ๕๐ ปี พอคำรบพระพุทธศักราชได้ ๑๐๐๐ ปี จุลศักราช ๑๑๙ ปีมโรงนพศก จึงคนอันเปนใหญ่กว่าทั้งหลายนำเอาช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูมาถวายแก่พระองค์ ด้วยบุญที่พระองค์ทำหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้าแต่ชาติก่อน แลเมื่อพระองค์จะลบศักราชพระพุทธเจ้า จึงให้นิมนต์พระอชิตเถร แลพระอุปคุตเถร แลพระมหาเถรไลยลาย คือพราหมณ์เปนเชื้อมาแต่พระรามเทพ แลพระอรหันต์เจ้าทั้ง ๕๐๐ พระองค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง แลชุมนุมพระสงฆเจ้าทั้งหลายณวัดโคกสิงคารามกลางเมืองสัชนาไลย แลท้าวพระยาในชมพูทวีป คือไทยแลลาวมอญจีนพม่าลังกาพราหมณ์เทศเพศต่าง พระองค์เจ้าให้ทำหนังสือไทยเฉียงมอญพม่าไทยแลขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น

พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิมาช่วยลบศักราช มาเราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเปนข้าเราให้ได้ ครั้นพระยาทั้งสองพี่น้องคิดด้วยกัน แล้วจึงบังคับอำมาตย์ทั้งหลายให้แต่งเรือลำหนึ่งยาวแปดวา ปากกว้างสี่ศอก ครั้นได้ฤกษ์วันอาทิตย์ เสด็จออกไปด้วยกำลังน้ำ แลอันเปนชาติแห่งนางช้างวลาหกเทวบุตร แลนอกนั้นเทวบุตรไปด้วย พระองค์ทั้งสองมีแต่พระขรรค์ธนูศิลป์ ทั้งพระภูมิ์แลพระพายเจ้าก็พัดพาไป แลนางเมขลาเจ้าสมุทก็ยินดีรักษามิให้เปนอันตราย แลไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงกรุงจีน แลวันเมื่อไปถึงนั้นบังเกิดเปนอัศจรรย์ให้เปนหมอกตกมิให้เห็นพระจันทร์พระอาทิตย์ แลจีนทั้งหลายให้ขนลุกหนังหัวพองทั้งเมือง สท้านสเทือนหวั่นไหวนักหนา แลพระยากรุงจีนจึงให้หาเสนาอำมาตย์มาชุมนุมในท้องพระโรง แลพิพากษาด้วยกัน แล้วจึงใช้ให้ขุนแก้วการจีนพิจารณาดูในท้องมหาสมุท แลขุนแก้วการจีนไปข้างใต้ข้างเหนือ มิได้เห็นสำเภาลำใดลำหนึ่งในท้องทเลมิได้ แลเห็นแต่เรือน้อยลำหนึ่ง มีไทยสองคนขี่ลอยมา แลขุนแก้วการจีนได้เห็นแล้วจึงกลับไปทูลพระเจ้ากรุงจีน ๆ ก็รู้ในพระไทยแห่งพระองค์ ด้วยมีพระพุทธทำนายไว้แต่ก่อนอยู่ในเมืองแห่งกูว่า มีไทยสองคนพี่น้องจะข้ามทเลมาแสวงหาเมีย แลชายผู้หนึ่งจะเปนเจ้าแก่ชาวชมพูทวีป แลจะลบศักราชพระพุทธเจ้าแล้ว แลมาถึงกูนี้เที่ยงแท้แล้ว ครั้นพระยากรุงจีนรู้ในพระไทยแล้ว จึงใช้พลจีนออกมารับพระองค์ขึ้นมาถึงเรือนหลวง แล้วจึงให้นั่งบนแท่นแก้ว แลพระยากรุงจีนจึงถวายบังคมแล้วจึงชวนเจรจา แลพระยาร่วงก็ทรงภาษาได้ทุกประการ แลพระเจ้ากรุงจีนจึงนำเอาพระราชธิดามาถวายให้เปนพระอรรคมเหษี ด้วยเหตุว่านางนั้นได้ทำบุญไว้ด้วยพระองค์แต่ชาติก่อนมา ได้สร้างพระไตรปิฎกทั้งสามไว้ในพระพุทธสาสนาพระพุทธเจ้ากกุสนธ์ แลเมื่อพระพุทธเจ้าเราไปนั่งฉันจันหันในบ้านปัญจมัชฌคาม เปนนาคให้น้ำเปนทานแก่พระพุทธเจ้าเรา ๆ ก็ทำนายไว้ว่า นาคนี้จะได้ลบศักราชพระตถาคตเมื่อถ้วน ๑๐๐๐ ปี ได้แก่พระยาร่วงเจ้านี้ แลพระยากรุงจีนก็รู้ทุกประการ จึงตามพระไทยพระยาร่วงทุกประการ อันจะขัดนั้นมิได้ จึงให้นางราชกัลยาณีแก่พระองค์เจ้า แลพระยากรุงจีนใช้ให้อำมาตย์แต่งสำเภาเภตราลำหนึ่งกับเครื่องบรรณาการ แลพระยากรุงจีนจึงผ่าตรามังกรออกเปนสองภาค แลข้างหางให้มาแก่พระราชธิดา ถ้าแลเมื่อน่าไปจะมีราชสาสนถึงกันแล้ว ให้เอาตราประกับกันดู ถ้าแลเปนดวงเดียวกัน จึงสันทัดว่าราชสาสนพระราชธิดา พระเจ้าร่วงจึงมาสู่สำเภากับด้วยนางพสุจเทวี แลเจ้าฤทธิราชกุมาร แลฝูงจีนทั้งหลาย ๕๐๐ เปนบริวาร ใช้สำเภาไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงด้วยอานุภาพแห่งเทพยดา ครั้นถึงเมืองสัชนาไลยแล้ว ขณะนั้นน้ำทเลขึ้นมาถึงเมืองสัชนาไลย จึงใช้สำเภาไปมาหากันได้ พระองค์เสด็จขึ้นถึงเรือนหลวงแห่งพระองค์เจ้าแล้ว แลท้าวพระยาทั้งหลายกราบถวายบังคม แลจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย จึงมีเกิดถ้วยชามแต่นั้นมา ท้าวไททั้งสองก็อยู่เย็นเปนศุข ตั้งแต่ทำบุญให้ทานรักษาศีลแลถือความสัจอยู่มิให้พลาดพลั้ง จึงมีตระบะเดชะ ว่าสิ่งใดก็เปนสิ่งนั้นทุกอัน แลพระองค์ก็จึงให้เอาพสุจกุมารผู้เปนน้องตั้งพระราชวังอยู่นอกเมือง แลเจ้าพสุจกุมาร เจ้าฤทธิกุมาร เปนอันรักใคร่กันเปนนักหนา มิได้ฉันทาโทษาแก่กัน ไปมาด้วยกัน เข้าไปถวายบังคมด้วยกันมิได้ขาดในพระราชวัง

แลเมืองพิไชยเชียงใหม่มีแต่พระราชธิดา แลหาพระราชบุตรมิได้ แต่อำมาตย์เมืองพิไชยเชียงใหม่จึงกราบทูลขอพระราชทานเจ้าฤทธิกุมารจะให้เสวยราชสมบัติสืบตระกูลมิให้ขาดเสียได้ แลสมเด็จพระอรุณราชจึงพระราชทานเจ้าฤทธิกุมารผู้เปนน้อง เสด็จขึ้นไปด้วยกัน แลให้เจ้าพสุจกุมารอยู่รักษาเมืองกับนางพสุจเทวี พระองค์ทรงช้างเผือกงาดำมีฤทธิยิ่งนักหนากับด้วยอำมาตย์เสนาเสด็จประพาศตีนพนมใหญ่กึ่งกลางหน แลจึงเจ้าฤทธิกุมารผู้น้องผันหน้าช้างเข้าต่อกันแล้ว พระองค์จึงจับเอาคนทีทองเต็มไปด้วยน้ำทรงอธิษฐานให้เปนแดนแว่นแคว้นแห่งเจ้าแต่วันนี้ไป พระองค์จึงทรงเทน้ำในคนทีทองลงไปเปนสำคัญ แล้วจึงเอาตะปูทองแดงใหญ่ ๓ กำ ๓ วา ๓ ตัวปักไว้เปนประธาน ครั้นพระองค์ปักแดนไว้ให้แล้ว ก็เสด็จขึ้นถึงเมืองแล้ว นางมลิกาลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่มาต้อนรับเสด็จเข้าไปในเรือนหลวงแล้ว ท้าวพระยาอำมาตย์เสนาทั้งหลายก็กราบถวายบังคมแก่พระองค์เจ้าแล้ว

แลขณะนั้น พระอรหันต์เจ้านับได้เปนหลายพระองค์ แลพระมหากระษัตริย์เจ้าจึงให้ไปว่า นางมลิกาเทวีผู้นี้เปนไฉน อำมาตย์จึงให้ไปถามพระอรหันต์เจ้า ๆ จึงเล็งด้วยทิพยจักษุรู้แล้ว จึงบอกแก่อำมาตย์ว่า อุบาสิกาเขาได้ให้ทานเข้าบิณฑบาต อันรายไปด้วยดอกมลิแลทานเชื่อเองแล้ว อำมาตย์จึงไปทูลแก่พระองค์ก็ชื่นชมยินดีนักหนา จึงราชาภิเศกเจ้าฤทธิกุมารให้เปนพระยาลือกับด้วยนางมลิกาเทวี เมืองพิไชยเชียงใหม่จึงคิดกระตัญญูแต่นั้นมา แลลาวผู้หญิงจึงสู่ขอเอาผัวเปนจารีตสืบมา แลพระยาร่วงจึงกลับคืนลงมาเมืองพระองค์ดังเก่า

แลพระยาร่วงขณะนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยแลเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเปนท้าวเปนพระยา เสด็จไปไหนก็ไปคนหนึ่งคนเดียว แลพระองค์เจ้าก็รู้ทั้งบังเหลื่อม รู้จักไตรเพททุกประการ ว่าให้ตายก็ตายเอง ว่าให้เปนก็เปนเอง อันหนึ่งขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเปนหินแลง แลขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วยวาจาสัจแห่งพระองค์ ๆ ได้ทำบุญแต่ชาติก่อนมา แลเดชะแก้วอุทกประสาทพระยากรุงจีนหากให้มาแก่พระองค์ ๆ จะไปได้ ๗ วันน้ำมิเสวยก็ได้

ในกาลวันหนึ่งพระองค์ก็ทรงว่าวคว้าลงขาดลอยไปถึงเมืองตองอู แลพระยาตองอูนั้นเปนข้าพระร่วงเจ้า แต่ก่อนชื่อนายอู ไปคล้องลิงเผือกให้แล้วจึงเอาบ้านเมือง ด้วยเดชะคล้องลิงเผือกอันเปนทิพย์จึงได้เปนพระยานั้น แลว่าวพระยาร่วงเจ้าขาดลอยไปตกอยู่บนปราสาท พระยาร่วงเจ้าตามไปถึงเมืองตองอู แลพระยาร่วงเจ้านั่งอยู่ในบรรณศาลานอกเมือง ครั้นค่ำพระองค์ก็ลอบเข้าไปทำชู้ด้วยธิดาพระยาตองอูอยู่ในปราสาทอันแล้วไปด้วยเหล็กดาดลงมาทุกชั้น แต่เมื่อพระร่วงเจ้าจะขึ้นเอาว่าวนั้น พระองค์เจ้าให้พระยาตองอูยืนขึ้น พระองค์ก็เหยียบบ่าพระยาตองอูขึ้นเอาว่าว ครั้นเอื้อมหยิบมิถึงพระหัดถ์ พระองค์ก็เหยียบศีศะขึ้นเอาว่าว ด้วยพระองค์คิดว่าเปนข้ามิได้ถือความ แลพระองค์เอาว่าวได้แล้วพระองค์ก็หนีมา แลลูกสาวจึงบอกแก่พระยาตองอูผู้บิดา ๆ จึงรู้ จึงให้ไปตามเอาตัวพระองค์คืนมา แลสาวไส้พระองค์ออกใส่พานทองไว้ จึงส่งตัวพระองค์มาจากเมือง แลพระองค์ก็ไม่รู้ว่าเขาเอาไส้ไว้ ด้วยกรรมที่พระองค์เปนกา แลพระยาตองอูเปนปลา แลกาลากไส้ออกไว้จะกินก็บมิกิน แต่นั้นมาลาวมักเปนผีกินไส้กินพุงคนทั้งหลาย ครั้นพระร่วงเจ้ามาถึงเมืองสัชนาไลย แลมายังพระอรรคมเหษีแลพระสนมทั้งหลายถวายบังคมแล้ว ก็เปลื้องอาภรณ์ออกจากพระองค์ไว้แล้ว แลเจ้าพสุจกุมารก็เข้าไปถวายบังคม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพสุจกุมารว่า กูจะไปอาบน้ำ มิเห็นกูมา เจ้าเปนพระยาแทนพี่เถิด แลเจ้าพสุจกุมารก็ไม่รู้แลสำคัญว่า ๆ เล่น ครั้นพระองค์ลงไปอาบน้ำที่กลางแก่งเมือง ก็อันตรธานหายไปไม่ปรากฏ ในพุทธศักราช ๑๒๐๐ พระยาร่วงสิ้นทิวงคต จุลศักราช ๑๕๗ ปีชวดสัปตศก

เสนาอำมาตย์ท้าวพระยาทั้งหลายก็ร้องไห้ร่ำไรไปมา ทั้งพระสนมชาวแม่ทั้งหลายเปนทุกข์นักหนา แลเจ้าพสุจกุมารจึงให้ราชทูตถือข่าวสาสนขึ้นไปทูลพระยาลือกุมารราชนครเมืองพิไชยเชียงใหม่ผู้เปนน้องพระองค์ พระยาลือรู้แล้วจึงลงมาราชาภิเศกเจ้าพสุจกุมารให้เปนพระยาในเมืองสัชนาไลยแล้ว ครั้นพระร่วงเจ้าทิวงคตวันหนึ่งแล้ว ช้างอันเกิดร่วมชาตินั้นก็ตายคนละวัน แลพระยาลือกุมารขึ้นไปเมืองพิไชยเชียงใหม่ดังเก่า

แลมีเสนาคนหนึ่งชื่อไตรภพนารถ คิดอ่านราชการณรงค์สงครามรอบคอบนัก จึงทูลแก่พระยาพสุจราชว่า เมืองเรานี้พระเจ้าข้าหาผู้มีบุญมิได้แล้ว แลอันตรายจะบังเกิดมีไปเมื่อภายน่า ขอพระองค์ให้แต่งกำแพงแลหอรบไว้ให้มั่นคง แล้วจึงมีพระราชโองการตรัสสั่ง ขุนไตรภพนารถรับพระราชโองการตรัสสั่งแล้ว จึงให้หาเสนาอำมาตย์ซ้ายขวา แลตำรวจนอกใน ไพร่พลโยธาทั้งหลาย ให้ย่อกำแพงเข้าไปเปนป้อมให้รอบเมือง แลให้ย่อชาลาถมไว้ แลที่ถมนั้นให้ไว้ปืนใหญ่ทุกแห่งทุกตำบล แลค่ายชั้นในแลค่ายชั้นนอก แลตั้งค่ายเชิงเรียงพนมแห่งหนึ่ง พนมหัวช้างแห่งหนึ่ง พนมบ่อนเบี้ยแห่งหนึ่ง แลให้แต่งพระนครราชธานี แล้วตั้งป้อมแลช่องปืนใหญ่ แล้วให้ตกแต่งหัวเมืองเอก ๕ หัวเมือง เมืองโท ๘ หัวเมือง แต่งสรรพยุทธทั้งปวงไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก แล้วให้แต่งคนเร็วม้าใช้แล่นหากัน จงฉับพลันทุกน่าด้าน

แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกน่าด้าน แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองกัมโพชนคร ให้กำหนดกฎหมายสืบ ๆ กันไปถึงเมืองคิรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคิรี นครคิรี เมืองขอนคิรี แลเมืองเหล็ก เมืองสิงเทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร ท้าวพระยาตกแต่งบ้านเมืองทุกแห่ง แลเมืองพิบูลย์นครอันขึ้นแก่เมืองหริภุญไชย คือเมืองลำพูนทุกวันนี้ แลเมือง ๘ หัวเมืองนั้นให้แต่งเครื่องสาตราวุธแลตรวจด่านทาง ให้แต่งคนเร็วม้าใช้ไปฟังข่าวแก่กันให้เปนอันหนึ่งอันเดียวทุกเมือง แลเจ้าพสุจราชให้พาพานิชพ่อค้าสำเภาลำหนึ่งให้ถือราชสาสนไปถึงเมืองกรุงจีนถึงพระเจ้ากรุงจีนผู้เปนตา ทูลขอช่างหล่อปืน ๑๐ คน แลพระเจ้าตาก็ให้มาตามพระเจ้าหลานทูลขอ มาได้ ๗ เดือนก็ถึงเมืองสัชนาไลย เจ้าพสุจราชจึงให้ช่างหล่อปืนใหญ่ ๑๒๐ บอก ปืนนกสับ ๕๐๐ บอก จึงมีช่างหล่อสำริดถมปัดแต่นั้นมา พระองค์จึงให้ตั้งคนทั้งหลายรักษาไว้ตามช่องทั้งดินแลลูกเปนอันมาก ลูกนั้นให้เอาดินปั้นเผาเปนเฉลียงให้เปนลูกปืน

ครั้นถึงเดือนอ้าย ขึ้นค่ำหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าเชียงแสน ให้เสนาอำมาตย์แลมหาอุปราชตรวจจัดรี้พลโยธาช้างม้าเครื่องสาตราวุธทุกท้าวพระยา ปืนหอกดาบโล่ห์ธนูน่าไม้เกราะเหล็กเกราะเขา แล้วจึงตั้งพระยาเชียงราย พระยาเชียงลือ เปนแม่ทัพน่า ตั้งพระยาเชียงเงิน พระยาเชียงตุง เปนปีกขวา ตั้งพระยาเชียงน่าน พระยาเชียงฝาง เปนปีกซ้าย

เจ้าพสุจราชจึงให้อุปทูตขึ้นไปฟังข่าว ได้รู้อาการทั้งปวงแล้ว จึงกลับมาทูลแก่พระยาพสุจราช ๆ จึงให้กฎหมายไปแก่พระยาพิไชยเชียงใหม่อันเปนพระญาติแห่งพระองค์แล้ว พระยาลือธิราชถึงทิวงคต ยังแต่บุตรชายผู้เปนหลานแห่งพระองค์ ชื่อพระพรหมวิธี จึงให้ขับพลเมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน เข้าเมืองเชียงใหม่สิ้นเชิง ท้าวพรหมวิธีจึงให้ทหารอาสานั่งด่านทางให้รู้ว่าถึงตำบลใด พระยาพสุจราชจึงให้ขับครัวเข้าเมืองสัชนาไลยสิ้นเชิง แต่ครัวชายฉกรรจ์นั้นให้อยู่ตั้งรบถอยหลังเข้ามาหาค่าย พระยาศรีธรรมไตรปิฎกจึงให้ขับพลเข้าในเมืองสัชนาไลย ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองสัชนาไลย ทาง ๕๐ เส้น จึงให้พลทหารโยธาล้อมเมืองสัชนาไลยเข้าไว้ จะเข้ามิได้ด้วยข้างในปืนใหญ่ปืนน้อยมาก จะเข้าข้างหัวเมืองพลโยธาอาสาสู้ตายลงเปนอันมาก พระยาพสุจราชจึงให้พลโยธาโห่ร้องตีกลองใหญ่ทุกประตู ข้าศึกสท้านสเทือนด้วยเสียงกลองแลปืนใหญ่ อาสาข้างนอกตายเปลือง

พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าวัดเขารังแรงรู้อาการแล้ว จึงชุมนุมพระสงฆ์ทั้งหลายว่า เราทั้งหลายอย่าให้เขาทั้งหลายรบกัน ไพร่พลทั้งปวงจะตายเปนอันมาก ครั้นคิดด้วยกันแล้ว พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจึงไปถวายพระพรแก่สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ก็ฟังอำนาจพระอรหันต์เจ้า แล้วพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจึงเข้าไปห้ามพระยาพสุจราช ๆ ก็ฟังคำพระอรหันต์เจ้า ด้วยพระยาศรีธรรมไตรปิฎกเปนคู่กันกับนางประทุมเทวี แต่ชาติก่อนให้ทานมิร่วมใจกัน จึงมาเกิดไกลกัน จึงให้มารบกัน พระยาพสุจราชรู้แจ้งเพราะพระอรหันต์เจ้าแล้ว จึงมายังชาวเจ้าชาวแม่นางเถ้านางแก่ทั้งหลาย ให้ประดับประดานางประทุมเทวี แล้วพสุจราชจึงไปถวายบังคม แล้วก็เวนพระราชธิดาให้แก่พระยาศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ก็ยินดีนักหนา แล้วอนุญาตแก่กัน แล้วพระยาศรีธรรมไตรปิฎกก็ให้ยกทัพถึงเมืองเชียงแสน แล้วท้าวพระยาก็ต่างคนต่างไปบ้านเมืองตน

พระยาศรีธรรมไตรปิฎกก็ได้พระราชกุมารในสำนักนนางประทุมเทวีสองคน ผู้หนึ่งชื่อเจ้าไกรสรราช ผู้หนึ่งชื่อเจ้าชาติสาคร เจ้ากุมารทั้งสองประกอบด้วยอานุภาพ ทั้งรูปทรงก็งาม ทั้งใจก็เปนกุศล

แต่ชาติก่อนพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเปนภิกษุ ได้สร้างพระไตรปิฎกเมื่อสาสนาพระกกุสนธ์เจ้า ครั้นพระองค์เกิดมาตรัสรู้ในไตรปิฎกทั้งสาม พระองค์จึงรู้ในพระไทยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตวันตกตวันออก แล้วเสด็จไปอาไศรยฉันจันหันใต้ต้นสมอ แลควรจะไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกคิดแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งจ่านกร้อง จ่าการบุรณ์ ให้ทำเปนพ่อค้าเกวียนไปด้วยคนละ ๕๐๐ เล่ม เต็มไปด้วยทุนทรัพย์ทั้งหลาย

จ่านกร้อง จ่าการบุรณ์ รับพระราชโองการแล้วทูลลา พวกพานิชพ่อค้าตามส่งแล้ว จ่านกร้อง จ่าการบุรณ์ จึงมาจากเมืองเชียงแสน มาถึงเมืองน่าน แล้วก็มาเมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้า แล้วจึงข้ามแม่น้ำตรอมตนิม แล้วจึงข้ามแม่น้ำแก้วน้อย แล้วจึงถึงบ้านพราหมณ์ ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตบ้านพราหมณ์ข้างตวันออก ๑๕๐ เรือน ข้างตวันตก ๑๐๐ เรือนมีเศษ

จ่านกร้อง จ่าการบุรณ์ คิดอ่านกันว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเจ้าเราใช้เรามาที่นี้ ชรอยจะเปนปฤษณามาแก่เราทั้งสองนี้ แล้วมีอาญาฐานที่นี้ก็เปนอันราบคาบนักหนาทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์ก็อยู่ทั้งสองฟาก มาเราจะสร้างเมืองถวายแก่เจ้าเราเถิด ครั้นเจ้าทั้งสองคิดกันแล้ว จ่านกร้องจึงให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่มข้ามไปข้างตวันตก ก็ตั้งทับประกับเกวียนไว้ แล้วจึงทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์แลไพร่ของตนรวมกันเปนคน ๑๐๐๐ ทำอิฐ จ่าการบุรณ์ทำบาญชีชะพ่อพราหมณ์แลไพร่ของตนรวมกันเปนคน ๑๐๐๐ เท่ากัน ทำอิฐได้เปนอันมาก แล้วจึงให้หาชะพ่อพราหมณ์อันเปนผู้เถ้าผู้แก่ตามไสยสาตร จึงให้ชะพ่อพราหมณ์กินบวชถือศีลเขนง ๗ วัน แล้วสระเกล้า แล้วขึ้นโล้ถีบอัมพวายแก่พระอิศวรเปนเจ้า จึงเอาพระอิศวรออกไปเลียบที่ตั้งเมือง จึงให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมืองแล้ว จึงปันน่าที่ยาว ๕๐ เส้นสกัดสิบเส้นสิบวา ปันน่าที่ไว้แก่พราหมณ์จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด ครั้นปันน่าที่แล้ว พอได้ณวันพฤหัศบดี เดือนสาม ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลูฉศก เพลาเช้า ต้องกับเพลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจันหันใต้ต้นสมอ วันนั้นพระอุบาฬีเถรแลพระคิริมานนท์ก็นิพพานในที่นั้น แต่ก่อนก็เรียกว่าพนมสมอ บัดนี้ก็เรียกว่าเขาสมอแครง เขาบรรจุพระธาตุเจ้าทั้งสองไว้ในที่นั้น แลครั้นพระสงฆ์องค์ใดเข้ามาอยู่ที่นั้น ก็ย่อมเรียกตามที่นั้นว่าเปนอรัญวาสี จ่านกร้องสร้างข้างตวันตก จ่าการบุรณ์สร้างข้างตวันออกแข่งกัน ทำปีหนึ่งกับเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้านพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งคูก็รอบกัน หนทางเด็กเลี้ยงวัวลูกชาวบ้านหริภุญไชยไปมา ปั้นพระนอนเล่นทั้งสองฟากเปนประตูแปดอันตามอันดับกัน เจ้าทั้งสองจะให้ชื่อประตู ก็ถามคนอันเปนผู้เถ้าผู้แก่ทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายจึงว่า ทั้งสองสิเปนมหาเสนา การทั้งนี้ตามแต่ปัญญาเจ้าทั้งสองเถิด สร้างเมืองปีหนึ่งกับ ๗ เดือนจึงแล้วดังนี้แล ครั้นจ่านกร้องจ่าการบุรณ์ทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก ทั้งทวารบานประตูบริบูรณ์แล้ว จึงสั่งชีพ่อพราหมณ์ให้รักษาเมือง ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงนำเอาเกวียนแลคน ๕๐๐ เล่มขึ้นไปสองเดือนจึงถึงเมืองเชียงแสนราชธานี จ่าทั้งสองเข้าไปถวายบังคม จ่าทั้งสองจึงกราบทูลพระกรุณาว่า พระองค์เจ้าใช้ตูเข้าไปถึงที่พระพุทธเจ้าฉันจันหันใต้ต้นสมอ สถานที่นั้นเปนอันสนุกนักหนา ข้าพเจ้าชวนกับชะพ่อพราหมณ์ทั้งหลายสร้างเมืองถวายแก่พระองค์เจ้าแล้ว

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยินดีนักหนา จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่เสนาอำมาตย์ให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย พระองค์จึงให้จ่าทั้งสองไปก่อนเปนทัพน่า ท้าวพระยาทั้งหลายเปนปีกซ้ายขวา เจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร พระราชโอรสทั้งสอง เปนกองรั้งหลังตามเสด็จพระราชบิดาพระราชมารดาออกจากพระนครณวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมหกค่ำ เพลาเช้า ไปได้สองเดือนจึงถึง พระองค์ให้ตั้งทับพลับพลาทองริมน้ำไกลเมืองประมาณ ๑๐๐ เส้น สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงให้ท้าวพระยาทั้งหลาย แลเจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร ตามเสด็จเข้าไปในเมือง แล้วจึงให้ชื่อเมือง จึงมีพระราชโองการตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่า เราจะให้ชื่อเมืองอันใดดี พราหมณาจารย์จึงกราบทูลตอบพระราชโองการว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ได้ยามพิศณุ พระองค์ได้ชื่อเมืองตามคำพราหมณ์ว่าเมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาต ก็ชื่อว่าโอฆบุรีตวันออก ตวันตกชื่อจันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลายว่า เราชวนกันสร้างพระธาตุแลพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ ครั้นสร้างของพระยาแล้ว ต่างคนต่างก็สร้างคนละองค์

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงรำพึงในพระไทยจะใคร่สร้างพระพุทธรูปให้แล้วด้วยสำริด ครั้นพระองค์รำพึงแล้ว จึงให้หาช่างได้บาพิศณุคนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาธรรมราชคนหนึ่ง บาราชกุศลคนหนึ่ง ได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลย ๕ คน มาแต่เมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง เปนช่าง ๖ คน จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งช่างทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายให้ชวนกันรักษาศีล ๕ ประการอย่าให้ขาด ครั้นสั่งช่างแล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่ไพร่ทั้งหลายให้ขนดินแลแกลบให้แก่ช่าง ๆ จึงประสมดินปั้นเปนรูปพระพุทธเจ้าสามรูปตามมีพระราชโองการตรัสสั่งนั้น ให้เหมือนพิมพ์เดียวแลใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นปั้นเบ้าคุมพิมพ์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายก็นำเอาทองสำริดมาถวายแก่ พระองค์เจ้า ชวนกันหล่อพระพุทธรูปเปนอันมาก แลช่างหล่อชวนกันกินบวชเจ็ดวัน ก็ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งเจ็ดทิศ ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงเอาพิมพ์เข้าเตา วันเธอหล่อนั้นวันพฤหัศบดี เพ็ญ เดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมพระสงฆ์ทั้งหลาย มีพระอุบาฬีแลพระคิริมานนท์เปนประธาน แลพระสงฆเจ้าทั้งหลาย หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป แลรูปพระศรีศาสดา พระชินสีห์ ทั้งสองพระองค์นั้น ทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่พระชินราชเจ้านั้นมิได้เปนองค์เปนรูปหามิได้ แต่ช่างหล่อถึงสามทีก็มิได้เปนองค์ แลพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกก็เกิดเปนทุกข์ยิ่งนักหนา แลพระองค์ก็ตั้งสัจจาธิษฐานว่า ด้วยบุญเดชะอันกูได้เรียนพระไตรปิฎกแลได้ทำพิธีกรรมฐานสอนสงฆ์ทั้งหลายให้อยู่ทางมรรคผลแก่พระสงฆเจ้า อนึ่ง จะปรารถนาเปนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาลนับมิได้ แต่พระองค์เจ้ารักษาศีลแลถือความสัจมิได้ขาด แลมีใจกรุณาแก่คนแลสัตวทั้งหลาย ครั้นพระองค์ตั้งสัจอธิษฐานแล้ว จึงมีพระราชโองการว่าแก่เจ้าประทุมเทวีให้ตั้งสัจอธิษฐานบ้างเถิด ครั้นนางตั้งสัจอธิษฐานแล้ว ก็ร้อนถึงอาศนพระอินทรเจ้า ๆ จึงนฤมิตรเปนตาปขาวลงมาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้า ถ้าจะนฤมิตรเปนไปทีเดียวก็จะได้ แต่ว่าจะให้ปรากฏแก่ตาคนทั้งหลาย ช่วยทำเปนช่าง น้ำก็มิกิน เข้าก็มิกิน ตาก็มิหลับ ใจก็แขงหาที่จะกลัวมิได้ แลมีรูปอันแก่กว่าคนทั้งหลาย แต่เทียวไปมาช่วยสองวันทีหนึ่งสามวันทีหนึ่ง จึงทำตรีศูลไว้ในพระภักตรให้เปนสำคัญ ให้รู้ว่าพระอินทรเจ้าสุราไลยลงมาช่วย ครั้นถึงเดือนหนึ่ง พิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างทั้งหลายตั้งเตาจะหล่อพระชินราชแต่ณวันพฤหัศบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีกุญตรีศก เพลาเช้า พุทธศักราช ๑๕๐๐ ปีกุญสัมฤทธิศก ด้วยอานุภาพพระอินทราธิราชเจ้า ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ ครั้นบริบูรณ์แล้ว พระอินทรเจ้าเสด็จออกจากเมือง อำมาตย์จึงเข้าไปกราบทูลแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้รู้อาการว่า ตาปขาวที่มาช่วยกันนั้นไปแล้ว พระองค์เจ้าจึงให้ไปตามแลดูให้รู้เหตุ อำมาตย์ตามไปถึงกลางหนทาง ก็อันตรธานหายไปในที่นั้น อำมาตย์จึงเอาไม้ไปปักไว้เปนสำคัญ จึงเข้ามาทูลให้พระองค์เจ้ารู้เปนอันแม่นมั่นว่า พระอินทรเจ้ามาช่วย พระองค์เจ้าจึงให้ตีดินนั้นออก จึงเห็นตรีศูลในพระภักตรแห่งพระพุทธรูปนั้น พระองค์เจ้าจึงให้ช่างทั้งนั้นช่วยกันขุดเกษาพระพุทธรูปนั้น ก็เปนรูปอันงามบริบูรณ์แล้วทั้ง ๓ พระองค์ ๆ หนึ่งชื่อพระชินราช องค์หนึ่งชื่อพระชินสีห์ องค์หนึ่งชื่อพระศรีศาสดา พระองค์ฝากชื่อไว้ว่าราชด้วย ชื่อพระเจ้าพระองค์หนึ่ง ให้เอาไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เปนที่เสี่ยงทาย ไว้ท่ามกลางเมืองพิศณุโลก แล้วพระองค์เจ้าจึงให้ตั้งพระราชวังฝ่ายตวันตกบริบูรณ์ แล้วจึงให้เอาเจ้าสุลเทวีลูกพระยาสัชนาไลยมา แล้วพระองค์จึงให้ราชาภิเศกกับด้วยเจ้าไกรสรราชณเมืองลโว้ แลพระองค์เจ้ากับท้าวพระยาทั้งหลายช่วยกันฉลองวัดวาอารามแลพระพุทธรูปเจ็ดวัน แล้วพระองค์ให้ตั้งบ้านส่วยสัดพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์นั้นบริบูรณ์ แล้วพระองค์จึงตั้งจ่านกร้องแลจ่าการบุรณ์ ให้เปนมหาเสนาซ้ายขวาคนทั้งสอง ครั้นได้ฤกษ์วันดีเปนวันอาทิตย์พระองค์เจ้าจึงให้ยกพลเสนาท้าวพระยาตามลำดับมาจากวัง ทั้งนั้นหาไภยอันตรายมิได้ พระองค์เจ้าเสด็จไปสถานที่ใด ย่อมมีเงินแลทองเกิดทุกราวทาง ครั้นว่าอันใดก็เปนเงินเปนทอง ทุกแห่งทุกหนทุกตำบล เสด็จขึ้นไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงนครบุรีรมย์ แลเจ้าชาติสาครข่มเหงท้าวพระยาทั้งหลายมิได้ให้ยิ่งกว่าตนได้ ย่อมรักษาตระกูลแห่งตนอยู่ด้วย

สมเด็จพระเจ้าไกรสรราชจึงสั่งอำมาตย์เสนาในให้สร้างเมืองหนึ่งใกล้เมืองลโว้ทาง ๕๐๐ เส้น จึงแต่งพระราชวังแลคูหอรบเสาใต้เชิงเรียงบริบูรณ์แล้ว จึงให้อำมาตย์รับเอาดวงเกรียงกฤษณราชกับพระราชเทวีไปราชาภิเศกร่วมเมืองนั้น ชื่อว่าเสนาราชนครแต่นั้นมา แต่พระพุทธสาสนาล่วงแล้วได้ ๑๕๐๐ ปี พงษาวดารนี้มีแต่เมืองสัชนาไลยมาเปนโบราณมายังไม่สิ้น ท้าวพระยาจะมีมาน่านี้ก็ยังมาก แลพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้แต่งเจ้าชาติสาครไปกินเมืองเชียงราย แลพระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๕๐ ปี (ก็ทิวงคต) พระพุทธศักราช ๑๕๐๐ แลอำมาตย์ทั้งหลายจึงให้สาสนนั้นไปบอกแก่เจ้าชาติสาครผู้เปนลูกพระองค์นั้น ก็เสด็จลงมาจากเมืองเชียงรายแห่งตน ก็ส่งสการศพพระบิดาแล้ว แลจะได้บอกไปมาหากันญาติผู้เปนพี่น้องให้รู้มิได้ แต่นั้นมาเมืองใคร ๆ อยู่ มิได้ไปมาหากันก็เปนอันไกลกันแล้ว เจ้าชาติสาครก็ได้เสวยราชสมบัติ แทนสมเด็จพระราชบิดาเมืองพิไชยเชียงแสน แต่ตระกูลกระษัตริย์ทิวงคต มาได้เจ็ดชั่วกระษัตริย์ไปแล้ว พุทธศักราช ๑๕๐๑ ปี

(อนึ่งเมื่อ) พระพุทธศักราช ๑๐๐๒ ปี จุลศักราช ๑๐ ปีรกาสัมฤทธิศก จึงพระยากาฬวรรณดิศราช บุตรของพระยากากะพัตรได้เสวยราชสมบัติเมืองตักกะสิลามหานคร จึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลลงไปสร้างเมืองลโว้ได้ ๑๙ ปี เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๐๑๑ พรรษา จุลศักราชได้ ๑๐ ปีรกาสัมฤทธิศก แล้วพระยากาฬวรรณดิศราช ให้พระยาทั้งหลายไปตั้งเมืองอยู่ทุกแห่ง แลขุนนางขึ้นไปถึงเมืองทวารบุรี เมืองสันตนาหะ แลเมืองอเส เมืองโกสัมพีแล้วมานมัสการที่พระพุทธเจ้าตั้งบาตรตำบลบ้านแม่ซ้องแม้วนั้น พระยากาฬวรรณดิศราช ก็ถอยลงมาเมืองสวางคบุรี ที่บรรจุพระรากขวัญของพระพุทธเจ้าไว้แต่ก่อนนั้น แล้วพระยากาฬวรรณดิศราช จึงอาราธนาพระรากขวัญกับพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามา ว่าจะบรรจุไว้เมืองลโว้ จึงพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาทำพระอริยปาฏิหาริย์ลอยกลับขึ้นไปเหนือน้ำถึง เมืองสวางคบุรี แล้วก็อาราธนาลงมาแล้ว กลับขึ้นไปถึงเจ็ดครั้ง พระรากขวัญกับพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไม่อยู่ได้ในเมืองลโว้ จนพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๐๑๕ พรรษา จุลศักราชได้ ๑๗ ปีมโรงสัปตศก แล้วพระยากาฬวรรณดิศราช กลับขึ้นไปทำนุบำรุงเมืองนาเคนทรแล้วกลับลงมาเมืองสวางคบุรี จึงอาราธนาพระรากขวัญ กับพระบรมธาตุ กับข้อพระกรของพระพุทธเจ้าที่บรรจุไว้ในพระเจดีย์แต่ครั้งพระอานนท์ แลพระอนุรุทธเถรเจ้า กับพระยาศรีธรรมาโสกราช ท่านชุมนุมกันบรรจุไว้แต่ครั้งก่อนนั้น ลงมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์เมืองลโว้ สิ้นสองปี พระองค์สวรรคตเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๐๔๓ พรรษา จุลศักราชได้ ๔๐ ปีเถาะสัมฤทธิศก ลำดับนั้นพระยาพาลีราชได้ครองเมืองศุโขไทยสืบมา

อนึ่ง พระยาร่วงพระราชทานที่ไร่แลนาสัดวัดวาอารามไว้เปนพระกัลปนาอุทิศไว้สำหรับวัดโคกสิงคารามตำบลนา ๕๐๐ ไร่ ตำบลโอทาน้ำ ๒๕๐ ไร่ ตำบลคลองวัดกูปไปถึงป่าปูน ๑๕๐ ไร่ ตำบลนาดอนได้ ๔๖๐ ไร่ อันนี้ขึ้นแก่วัดโคกสิงคาราม แลที่ไร่แลนาสัดขึ้นแก่วัดแก้วราชประดิษฐาน ตำบลนาตะแคงได้ ๒๕ ไร่ ตำบลทุ่งขาลาได้ ๗๖๐ ไร่ ตำบลศีศะกระบือได้ ๗๕๐ ไร่ อันนี้ขึ้นแก่วัดแก้วราชประดิษฐาน แลที่ไร่แลนาสัดขึ้นแก่วัดอุทยานใหญ่ ตำบลบ้านป่าอ้อยเหลืองได้ ๑๒๕๐ไร่ ตำบลม่วงถวายด่านระกาเปนแดนไปถึงปู่เจ้าศาลตลุงได้ ๕๒๐ ไร่ ขึ้นแก่วัดเขาหลวง แต่นาวัดเจ้าจันทร์มาถึงบ่อหินมีคันนาใหญ่กลางทุ่งเปนแดนได้ ๑๕๐ ไร่ ตำบลนามาได้ไร่แลนา ๓๕๐ ตำบลบ้านหนองจรเข้ได้ไร่แลนา ๕๖๐ ไร่ อันนี้ขึ้นแก่วัดเขาหลวง ที่ไร่แลนาสัดขึ้นแก่วัดเขาอินทร์อรัญวาสี จันหันพระธรรมไตรโลก

เถ้านอกวัดป่าแก้วมาถึงถนนหลวงได้ไร่แลนา ๕๐๐ ไร่ แต่เชิงพนมน้อยมาถึงบ่อแก้วได้ไร่แลนา ๔๐ ไร่ ตำบลนามะกอกปมได้ไร่แลนา ๕๖๐ ไร่ ตำบลตาลต้นเดียวทุ่งยั้งได้ไร่แลนา ๒๕๐ ไร่ อันนี้ขึ้นแก่วัดเขาอินทร์ แลที่ไร่แลนาสัดไว้สำหรับวัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว ตำบลบ้านเชียงขางคชได้ไร่แลนา ๒๔๐ ไร่ ตำบลบ้านหนองอินทร์ได้ไร่แลนา ๕๗ ไร่ ตำบลบ้านพระยานนทภักดีได้ไร่แลนา ๖๐๐ ไร่ ตำบลบ้านฝ้ายต้นได้ไร่แลนา ๘๗๐ ไร่ มีเข้าเดือนเปนแดน

อันนี้ขึ้นแก่วัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว แลอันนี้คณะวัดพระมหาธาตุหนขวา ถ้าหาพระครูธรรมไตรโลกวัดเขาอินทร์แก้วมิได้ ให้พระครูยาโชดวัดอุทยานใหญ่ขึ้นเปนพระครูธรรมไตรโลกวัดเขาอินทร์แก้ว ถ้าหาพระครูธรรมเสนามิได้ ให้เอาพระครูธรรมไตรโลกเปนพระครูธรรมเสนา ถ้าหาพระสังฆราชามิได้ ให้เอาพระครูธรรมเสนาเปนพระสังฆราชาวัดพระมหาธาตุ แต่คณะคามวาสีคณะฝ่ายซ้ายวัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว ถ้าหาพระครูญาณไตรโลกมิได้ ให้เอาพระครูญาณสิทธิเปนพระครูญาณไตรโลก ถ้าหาพระครูธรรมราชามิได้ ให้เอาพระครูญาณไตรโลกเปนพระครูธรรมราชา ถ้าหาพระสังฆราชามิได้ ให้เอาพระครูธรรมราชาเปนพระสังฆราชาวัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว อันนี้ฝ่ายซ้าย เปนประเวณีแต่โบราณมา

ขณะนั้นบุตรพระยาร้อยเอ็ดเปนนายส่วยน้ำถึงแก่พิราไลย ขณะนั้นนายคงเคราเปนส่วยน้ำเสวยเมืองลโว้ไปส่งเมืองกัมพูชาธิบดี สามปีส่งที หนึ่ง แต่นั้นมานายคงเคราคุมไพร่ ๓๐๐ คนรักษาน้ำเสวยอยู่ในทุ่งทเลชุบศร มีเรือเล็กร้อยหนึ่ง นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งอายุ ๑๑ ขวบ ชื่อนายร่วง แต่ชาติก่อนเอาผลมะทรางทำน้ำอัฐบานถวายพระโกนาคมพุทธเจ้า จึงว่าไรเปนนั้น ครั้นอยู่มาน้ำมาก เอาเรือพายเล่นในท้องพรหมมาศ เหนื่อยแล้วขึ้นมา จึงว่า น้ำลงเชี่ยวนัก ให้ไหลกลับไปถึงเรือนเราเถิด พอตกคำลง น้ำก็ไหลกลับมาส่งถึงบ้าน นายร่วงเห็นดังนั้นก็นิ่งอยู่ ครั้นอยู่มานายคงคุมไพร่เปนนายกองนั้นตาย ไพร่ทั้งปวงจึงยกนายร่วงบุตรนายกองเปนนายกองบังคับไพร่ต่อมา

ครั้นอยู่มาครบคำรบ นักคุ้มคุมเกวียน ๕๐ เล่มกับไพร่ ๑๐๐๐ หนึ่งมาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงษ์สืบมา ลุ้งน้ำเล่มละ ๒๕ ใบ ครั้นมาถึงที่สระน้ำนั้น ก็จอดเกวียนพร้อมกัน จึงให้หานายกองให้เปิดประตูจะตักน้ำ หาพบนายกองไม่ ถามไพร่ ๆ บอกว่า นายร่วงบุตรนายคงเปนนายได้รักษา จึงบอกนาย ๆ ก็มาพูดจากับนักคุ้มว่า ลุ้งน้ำเอามาหนักเสียเปล่า ครั้งนี้ไขว่ชลอมใส่ไปเถิด จะได้มากได้พอนานจึงมาตัก นักคุ้มก็ตอบว่า ตาห่างจะขังน้ำได้ฤๅ นายร่วงว่า กลัวจะไม่มีที่ใส่อิก นักคุ้มกลัวก็รับ จึงเกณฑ์สานชลอมเล่มละ ๒๕ ใบ ให้นักคุ้มนำกราบทูลพระเจ้าลแวกเถิด ครั้นกำหนดจะกลับจึงเปิดประตู เอาชลอมลงจุ้มน้ำยกขึ้นใส่เกวียนบรรทุกลงแล้ว นักคุ้มกลัวก็ยกไปจากที่นั้น ครั้นแรมร้อนมาถึงแดนด่าน คนคุมน้ำมา สงไสยในใจอยู่ว่าชลอมจะขังน้ำจะได้ฤๅ บันดาลให้น้ำในเล่มเกวียนนั้นไหลลงเห็นทั่วกัน จึงสรรเสริญ ฉนั้นจึงจาฤกลงไว้ ที่นั้นจึงเรียกว่าด่านพระจาฤก จึงยกไปทางตึกโช ครั้นถึงเมืองเข้าแล้ว ผู้คนก็เล่าฦๅกันว่า เอาชลอมบรรทุกมาไม่มีน้ำ พระเจ้ากัมพูชาจึงเอานักคุ้มนายกองคุมเกวียนไปถาม ก็ทูลทุกประการ ยกชลอมน้ำแกล้งเทลงในพเนียงจนไม่มีที่ใส่ เสนาอำมาตย์จึงกราบทูลพระเจ้ากัมพูชา ๆ ตกพระไทยว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว เราคิดว่าจะจับตัวฆ่าเสียให้ได้ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตพระยาพระเขมรก็เห็นด้วย จึงเกณฑ์ทัพเมืองขอมไปตามจับ ขอมรับอาสาตามจับ นายร่วงรู้ข่าวดังนั้นก็หนีไปถึงแดนเมืองพิจิตร ไปอาไศรยเขาอยู่ริมวัด ขอเข้าชาวบ้านกิน ชาวบ้านเาเข้ามาให้แก่นายร่วงกับปลาหมอตับหนึ่ง นายร่วงอดอาหารมาก็กิน หยิบปลาข้างละแถบ แล้วโยนลงไปในสระ ให้ปลาเปนว่ายไป จนคุ้มเท่าบัดนี้ นายร่วงก็หนีไปจากที่นั้น ไปอาไศรยอยู่วัดเมืองศุโขไทยพอได้อุปสมบท สมภารจึงเรี่ยรายชาวบ้านเอานายร่วงอุปสมบทเปนภิกขุ จึงเรียกพระร่วง ขอมดำดินมาถึงเมืองลโว้ที่สระน้ำเสวยนั้น ถามชาวบ้านว่า นายร่วงนายกองส่วยน้ำอยู่ฤๅ ชาวบ้านบอกกว่า ขึ้นไปเมืองเหนือ ขอมรู้ดังนั้นก็ยกแยกกันไป ครั้นไปถึงเมืองสวรรคโลก ถามชาวบ้านว่า นายร่วงมาแต่เมืองใต้มาอยู่นี่ฤๅ ชาวบ้านบอกว่า เขาเล่าฦๅกันว่าไปอยู่เมืองศุโขไทย บวชเปนภิกขุอยู่ ขอมได้ความดังนั้นก็ไปเมืองศุโขไทย ผุดขึ้นกลางวัด พอพระร่วงมากวาดวัดอยู่ ขอมจึงถามว่า พระร่วงอยู่ไหน พระร่วงบอกว่า อยู่นี่เถิดจะบอกให้ ขอมก็อยู่ที่นั้นเปนหินอยู่คุ้มเท่าบัดนี้

พระพุทธศักราช ๑๕๐๒ ปี เจ้าเมืองศุโขไทยทิวงคต เสนาบดีประชุมกันว่า วงษานุวงษ์ไม่มีแล้ว เราจะเห็นผู้ใดเล่า เห็นแต่พระร่วงบวชอยู่วัด ก็เห็นด้วยอยู่พร้อมกัน จึงเสนากรมการพร้อมกันไปวัดอัญเชิญพระร่วงเจ้าลาผนวช แล้วรับพระร่วงเข้ามาครองกรุงศุโขไทย พระยาศรีจันทราธิบดีจึงยกพลขึ้นไปเมืองสาวัตถี จึงเอาอ่างแก้วที่วัดสวรรค์ทารามไปลูกหนึ่งกับพระไตรปิฎก ครั้นไปถึงเมืองฉเชียงหลวง จึงให้เอางาช้างเผือกงาดำมาแกะเปนรูปพระร่วง กับเขี้ยวงูใหญ่ ทั้งพระไตรปิฎก กับพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ทั้งอ่างแก้วมาบรรจุไว้ที่หินปูนใช้ได้ ๑๐๒ ปี พระองค์สวรรคต

พระมหาพุทธสาครเปนเชื้อมา ได้เสวยราชสมบัติอยู่ริมเกาะหนองโสน จึงเรียกวัดเดิมกัน จึงมีพระมหาเถรไลยลายองค์หนึ่ง เปนเชื้อมาแต่พระรามเทพมาแต่ก่อน ได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ พระองค์ กับทั้งพระศรีมหาโพธิ์สองต้น มาแต่เมืองลังกาสีหฬ เธอจึงพาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถี จึงถ่ายเอาอย่างวัดเชตุวนารามมาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางทานนอกเมืองกำแพงเพ็ชร ชื่อวัดสังฆคณาวาศหนึ่ง แล้วจึงเอาพระศรีมหาโพธิ์ใส่อ่างทองคำมาปลูกไว้ที่ริมหนองนากะเล นอกวัดเสมาปากน้ำ จึงเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย ๓๖ พระองค์ จึงให้ชื่อวัดพระศรีมหาโพธิ์ลังกา แล้วจึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์บ้าง ในพระพุทธรูปใหญ่บ้าง ในพระปรางบ้างเปนพระบรมธาตุ ๓๖ พระองค์ด้วยกัน แล้วบรรจุไว้ในพระพุทธไสยาศน์วัดป่าโมกนั้น ๓๖ พระองค์ ในพระปาเลไลยนอกเมืองพันธุมบุรีนั้น ๓๖ พระองค์ ในพระปรางค์วัดเดิมกันเมืองหนองโสนนั้น ๓๖ พระองค์ ที่พระพุทธบาท ๓๖ พระองค์ ในถ้ำเขานครสวรรค์ ๓๖ พระองค์ ในถ้ำขุดคะสรรค์ ๓๖ พระองค์ ในเขาหินตั้งเมืองศุโขไทย ๓๖ พระองค์ ในเขาตุ้มแก้ว ๓๖ พระองค์ ในเมืองชองแก้ว ๓๖ พระองค์ ในพระเจดีย์วัดเสนาศน์ ๓๖ พระองค์ ในพระเจดีย์วัดคณะทาราม ๓๐ ในพระมหาธาตุ ๓๐ พระองค์ สามวัดนี้อยู่ในเมืองพิศณุโลก สิ้น ๙๗ ปีสวรรคต ศักราชได้ ๓๓๖ ปี พระยาโคดมได้ครองราชสมบัติอยู่ ณวัดเดิม ๓๐ ปี สวรรคตมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อพระยาโคตรตะบอง ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ทรงอานุภาพยิ่งนัก

อยู่มาโหราทำฎีกาถวายทำนายว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสีย ทั่วขอบเขตรทุกแห่ง ครั้นมานานโหรากราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองสั่งให้ป่าวร้องเอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้นไฟคลอกไม่พอง ด้วยเทวดารักษาอยู่จึงมิตาย ครั้นเพลาเช้าสมณะไปบิณฑบาต พบทารกเอามาเลี้ยงไว้

ครั้นอยู่นานมาราษฎรมาป่าวร้องกันว่า โหรทูลว่าผู้มีบุญจะมาก็ตื่นกันเปนโกลาหลจะไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่า ถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ชาวเมืองชวนกันไปดูผู้มีบุญ ทารกที่เพลิงคลอกนั้นอยู่วัดโพธิ์ผีไห้อายุได้ ๑๗ ปีก็ถัดไปดูผู้มีบุญ สมเด็จอำมรินทราแปลงตัวลงมาเปนคนชราจูงม้ามาถึงที่ทารกผู้นั้นอยู่ จึงถามทารกว่าจะไปไหน ทารกตอบว่าจะไปดูผู้มีบุญ เจ้าของม้าจึงว่าจะถัดไปเมื่อไรจะถึง ฝากม้าไว้ด้วยเถิดจะมาเล่าให้ฟัง ทารกก็รับเอาม้าไว้ เจ้าของม้าจึงว่าถ้าอยากเข้าเอาเข้าของเราในแฟ้มกินเถิด อนุญาตให้แล้ว เจ้าของม้าก็ไป แต่ทารกคอยนานอยู่แล้วหารู้ว่าตัวเปนผู้มีบุญไม่ จึงเปิดแฟ้มดูเห็นของกินแล้วก็หยิบกินเข้าไป ด้วยเปนเครื่องทิพย์ก็มีกำลังขึ้น จึงเห็นน้ำมันในขวดก็เอาทาตัวเข้า แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้หมดหายบาดแผลสิ้น จึงแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ ก็คิดในใจว่ากูนี้ผู้มีบุญฤๅ เอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่เข้าเผ่นขึ้นหลังม้า ม้าก็เหาะมาพอถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองแลเห็นก็หวาดหวั่นไหวตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไปหาถูกพระองค์ไม่ ไปตกลงเมืองล้านช้างพระยาโคตรตะบองก็หนีไป พระยาแกรกครองราชสมบัติ ชะพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อพระเจ้าสินธพอำมรินทร์ราษฎรเปนศุขยิ่งนัก

พระยาโคตรตะบองตามตะบองไปเมืองล้านช้างเจ้าเมืองสัจจนาหะกลัวบุญญาธิการ พระยาโคตรตะบอง จึงยกพระราชบุตรให้เปนอรรคมเหษี เจ้าเมืองสัจจนาหะรำพึงคิดแต่ในพระไทยว่า ที่ไหนคงจะคิดขบถต่อกูเปนมั่นคง จะจับฆ่าเสีย มารำพึงคิดแต่ในใจว่าทำไฉนจะรู้แยบคาย จึงให้ไปหาลูกสาวมา ให้ลอบถามดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะตาย นางก็รับคำพระราชบิดาแล้ว ก็กลับมาอ้อนวอนพระราชสามีว่า พระองค์ก็ทรงมหิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศไม่มีผู้ใดจะเสมอทำไมพระองค์จึงจะตาย แต่นางร่ำไรอ้อนวอนเปนหลายครั้ง พระยาโคตรตะบองจึงบอกว่า อันตัวเรานี้มีกำลัง หามีผู้ใดจะอาจเข้ามาทำร้ายเราได้ จะฆ่าด้วยอาวุธอันใดมิได้ตาย ถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย นางปลอบประโลมถามได้ความดังนั้นแล้ว จึงบอกแก่พระราชบิดา ๆ ได้ฟังดังนั้นดีพระไทยนัก จึงคิดแก่เสนาบดีทำกา จับหลักไว้ที่พระบังคน เอาหอกขัดเข้าไว้ทำสายใย ครั้นพระยาโคตรตะบองเข้าที่พระบังคน อุจาระตกลงไปถูกสายใยเข้า หอกก็ลั่นขึ้นมาสวนทวารเข้าไป พระยาโคตรตะบองมานึกแต่ในใจว่าเสียรู้ด้วยสัตรี จะอยู่ทำไมในเมืองนี้ จะกลับลงไปในแดนเมืองเราเถิดพระองค์ดำริห์ดังนั้นก็หนีไป พอเข้าแดนกรุงพระนครแล้ว ก็ข้ามไปถึงที่นั้นก็สิ้นพระชนม์ลง เสนาบดีกราบทูลพระเจ้าสินธพอำมรินทร์ว่าพระยาโคตรตะบองมาสิ้นพระชนม์ลงที่ หลังวัด

ฝ่ายพระเจ้าสินธพอำมรินทร์ สั่งให้ทำการศพพระราชทานเพลิงเสีย ที่พระราชทานเพลิงนั้นสถาปนาเปนพระอารามขึ้น ให้นามชื่อวัดศพสวรรค์จนทุกวันนี้

พระพุทธศักราช ๑๘๕๐ ปีมโรงสัปตศก พระเจ้าสินธพอำมรินทร์เสวยราชสมบัติได้ ๓ ปี เสด็จออกยังพระที่นั่งสังเขตรปราสาทจัตุรมุขเบื้องบุรพทิศ ณวันอาทิตย์เดือนห้าขึ้นสามค่ำ เปนวันประชุมเจ้า พระยาแลพระยาพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย มารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาแต่ณวันพุฒแรม ๑๓ ค่ำ ตามเมืองใกล้ไกล

ยังมีพระไทยเถรองค์หนึ่งเปนเชื้อมาแต่พระนาคเสน เอาเลข กะหํ ปายา มาถวาย จึงลบพระพุทธศักราช ๑๘๕๗ เปนจุลศักราช ๓๐๖ ปีมโรงฉศก เปนจุลศักราชใหม่สำหรับอาณาจักรจะได้ใช้สืบไปกว่าจะสิ้นพระพุทธสาสนาพระพุทธเจ้า ๕๐๐๐ พรรษา แล้วพระองค์สร้างวัดวิหารแกลบไว้ เปนหลักพระพุทธสาสนา พระเจ้าสินธพอำมรินทร์เสวยราชสมบัติ ๕๙ ปี พระองค์สวรรคต

(ต่อนี้กล่าวถึงบุพกรรมแห่งพระยาสุทัศนซึ่งครองเมืองอินทปัต แล มีเรื่องพระยาแกรกความซ้ำกันกับที่กล่าวมาแล้ว)

ยังมีบุรุษผู้หนึ่งทำบุญให้ทานแลรักษาศีล แลได้สร้างพระเชตุพนถวายแก่พระพุทธเจ้า ทั้งน้ำอาบแลน้ำฉันไม้สีฟันแลน้ำบ้วนพระโอษฐทั้งดอกไม้แลเข้ากระยาคู เข้าบิณฑบาตเปนอาหาร แลใจบุรุษผู้นั้นไม่รู้จักฉันทาโทษาแก่ท่านผู้อื่น ตั้งแต่ให้ทานรักษาศีลมิให้ขาด แต่ในสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลเปนเจ้า แลบุรุษผู้นั้นครั้นตายได้ไปเกิดในสวรรค์ แล้วก็มีมาเกิดในสาสนาพระพุทธเจ้าเรานี้ ในตระกูลเศรษฐีมีในบ้านอโรชคาม มีเศรษฐี ๕๐๐ เปนบริวาร ชื่อเจ้าสุทัศนกุมาร จำเริญใหญ่ขึ้นมา แลเศรษฐีผู้บิดาให้มีเรือน จึงร้อนถึง อาศนพระอินทราธิราช แลพระอินทรเจ้าจึงให้พระวิศุกรรม มานฤมิตรเปนปราสาททองมีพื้นได้ ๗ ชั้น ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ทั้งโรงช้างม้าแลเรือนหลวง กำแพงแก้ว ๗ ชั้น สวนอุทยานแลสระโบก ขรณีเต็มไปด้วยบัว ๕ ประการ แลกำแพงเมืองย่อมแล้วด้วยทอง ชื่อว่าเมืองอินทปัตนคร แลเศรษฐีทั้งหลายจึงราชาภิเศกเจ้าสุทัศนเปนกระษัตริย์ แต่พระพุทธเจ้ายังทรมานอยู่โปรดสัตวทั้งหลาย แลเที่ยวมาบิณฑบาตณเมืองนั้น แลยังมีพรรณิพกพิการผู้หนึ่ง ถือกระลาขอทานเขากินในกลางถนนกลางตลาด ก็มาพบพระพุทธเจ้าในหนทางจึงเอาเข้าที่ในกระลานั้นใส่บาตรด้วยมืออันเน่า ห้อยอยู่ แล้วนิ้วมือนั้นขาดลงไปในบาตรพระพุทธเจ้า ครั้นพระพุทธเจ้ามาถึงที่ฉันจันหัน พระพุทธเจ้าก็ยกเอานิ้วมืออันตกลงนั้นออกเสีย จึงฉันจันหัน ครั้นฉันแล้วพระพุทธเจ้าจึงแย้มพระโอษฐ แลพระอานนท์ทูลถาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรอานนท์ พรรณิพกพิการอันให้บิณฑบาตเปนทานแก่ตถาคตแล้วจะได้เปนพระยาในเมืองนี้ จะได้ลบศักราชตั้งไสยสาตร ครั้นพระพุทธเจ้าทำนายแล้วเท่านั้น แลพระยาสุทัศนแต่ได้เปนพระยาในเมืองอินทปัตนคร แลมีพระชนมายุได้ ๑๕๐ ปี ก็ทิวงคตเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำวัน ๕ ปีมเสงพุทธศักราชได้ ๑๖๐๐ ปี ยังแต่บุตรหลานสืบ ๆ กันมา ปรางคปราสาทอันแล้วไปด้วยทองก็หายสิ้นทุกสิ่งทุกอัน ก็อันตรธานเปนศิลาทุกประการ แลจำเดิมแต่นั้นมา พระยาโคตมเทวราชผู้หลาน ได้เปนพระยาในเมืองนั้น แลชาวบ้านเล่าฦๅว่าผู้มีบุญมาเกิดแล้ว แลบ้านเมืองเราสนุกสบายยิ่งนัก

ยังมีบุตรพรรณิพกผู้หนึ่ง เกิดมามีรูปอันลามก หลังขดเอวคดแข้งโกง เปนคนเน่าทั้งตัว เหตุมิได้รักษาศีลแลให้ทานดุจอานนทเศรษฐี แลบุตรพรรรณิพกผู้นั้นคลานเข้าไปจะดูผู้มีบุญ แลสมเด็จพระอินทรเจ้าลงมาแต่สวรรค์ ทำเพศเปนมนุษย์ขี่ม้าข้ามหนทางมา เห็นพรรณิพกนั้นจึงถามว่า ท่านจะคลานไปไหน พรรณิพกจึงขานว่าข้าจะอุส่าห์คลานไปไหว้ท่านผู้มีบุญ แลพระอินทรเจ้าจึงว่าดูกรท่าน เราฝากม้าแลเครื่องทั้งนี้ไว้แก่ท่านบัดเดี๋ยวหนึ่งเถิด พรรณิพกจึงว่าท่านไปอย่าช้า แลพระอินทรเจ้าจึงส่งม้าแลเครื่องทั้งนั้นไว้ให้แล้วจึงสั่งว่าถ้าเรานานมา แลของทั้งนี้เปนของท่านเถิด ครั้นสั่งแล้วพระอินทรเจ้าก็ไปจากที่นั้น พรรณิพกจึงคิดว่าบุรุษผู้นี้เอาม้าแลเครื่องมาฝากเราไว้ จะมีอันใดบ้าง จึงแลดูเห็นขวดน้ำมันยาทิพย์ จึงเอามาทาที่คดคอกก็เหยียดออกดูตรงเปนอันดี แลจึงทาทั้งตัวก็รงับดับหายโทษสิ้น ทั้งตัวก็งามดังทอง จึงคิดใจใหญ่ว่าชรอยตูนี้เปนผู้มีบุญเที่ยงแท้ จึงเปลื้องผ้าเก่าที่ตนนุ่งห่มไปนั้นเสีย จึงทรงเครื่องทิพย์แลมงกุฏพระขรรค์งามดุจดังเทวดา แลพระยาโคตมเทวราชรำพึงว่า ถ้าผู้มีบุญมาในแผ่นดินจะต่อด้วยกัน ถ้ามาในอากาศจะเอาตัวหนีไปอื่น ครั้นพรรณิพกทรงม้าแก้วม้าก็พาเหาะไปในอากาศเวหา ครั้นพระยาโคตมเทวราชแลเห็นผู้มีบุญเหาะมาในอากาศ ก็สดุ้งตกใจกลัวจึงพานางอรรคมเหษีแลบุตรี ทั้งเสนาอำมาตย์ไพร่พลโยธา พลช้างม้าออกจากพระนครในวันนั้นทั้งแปดหมื่น ไปข้างปาจิณทิศได้ ๑๕ วันแล้วแสวงหาที่จะตั้งเมือง แลพระอินทราเจ้าจึงเอาพรรณิพกอันงามนั้นตั้งเปนพระยาได้ชื่อว่าพระยาแกรก ยกนางอันเปนเผ่าพันธุ์ของพระยาโคตมเทวราชให้เปนนางอรรคมเหษี แลพอจุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ พระอินทรเจ้าเปนประธาน ให้ลบศักราชในเมือง แลมีลูกหลานสืบ ๆ กันมา ถอยจากตระกูลกระษัตริย์แต่นั้นมา

แลพระยาโคตมเทวราช เสด็จมาถึงบ้านโกณฑัญญคามพราหมณ์ชื่อโกณฑัญญพราหมณ์ เปนใหญ่กว่าพราหมณ์ทั้งหลายได้ ๕๐๐ ครั้นเห็นพระยาแต่ไกล โกณฑัญญพราหมณ์ทั้งหลายก็ไปต้อนรับพระมหากระษัตริย์ ๆ จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ดูราชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย บ้านท่านนี้ชื่อใด ชีพ่อพราหมณ์ทูลว่าบ้านนี้ชื่อโกณฑัญญคาม แต่ตูข้าเปนชีพ่อพราหมณ์ได้ ๕๐๐ คน จึงมีพระราชโองการว่า เราจะสร้างเมืองในสถานที่นี้ ท่านทั้งหลายจะยินดีฤๅไม่ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยินดีด้วยกันทั้งสิ้น พระเจ้าโคตมเทวราช จึงถามพราหมณ์แลเศรษฐีทั้งหลายว่า บ้านนี้เปนโบราณมาฤๅสร้างขึ้นใหม่ เศรษฐีทูลว่าบ้านนี้เปนบ้านโบราณมาได้สองชั่วสามชั่วผู้เถ้าผู้แก่ พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จเข้ามาบิณฑบาตในบ้านนี้พระยาได้ฟังดังนั้นยินดี ให้เสนาอำมาตย์ตั้งพลับพลาทอง แล้วให้ชีพ่อพราหมณ์ผู้เถ้าผู้แก่ กับเศรษฐีประชุมพร้อมกัน จึงให้ชีพ่อพราหมณ์ตั้งพิธีกินบวชสิ้น แลรำเขนงเจ็ดวันแล้วสระเกล้าขึ้นโล้อัม พวาย ถวายแก่พระอิศวรพระนารายณ์ แล้วไปเลียบที่จะตั้งพระราชวัง ให้พราหมณ์ป่าวเทวดา เป่าสังข์ทั้งสามรอบ แลปักไม้แลเส้นสรวงให้พราหมณ์เสียจรรไร แลจ่ายน่าที่ไว้อำมาตย์เสนาแลคนทั้งหลายขุดคูแลพูนกำแพงถึงเจ็ดเดือน ทั้งพระราชวังแลเมือง ทั้งบ้านเศรษฐีแลบ้านพราหมณ์ เข้าอยู่ในเมืองสิ้น ไพร่พลอยู่ชั้นนอกสามชั้นรอบเมือง พระเจ้าโคตมเทวราช ก็เอาบ้านพราหมณ์เปนเมือง แลโกณฑัญญพราหมณ์มีบริวาร ๕๐๐ โกณฑัญญเศรษฐีมีบริวาร ๕๐๐ สมเด็จพระเจ้าโคตมเทวราชเสด็จอยู่สำราญเปนศุขพุทธสาสนาได้ ๑๖๐๐ ปี จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ท่านจงเคารพผู้เถ้าผู้แก่ทั้งหลาย แลอำมาตย์นั้นหูหนักไม่ได้ยินถนัดได้ยินไปว่าพระมหากระษัตริย์สั่งว่า ท่านทั้งหลายสร้างพลาโอจงทุกคน ๆ เถิด เสนาบดีจึงทูลว่า พระองค์เจ้าสั่งให้ตูข้าพเจ้าสร้าง พลาโอจงทุกคน พระองค์เจ้าจะต้องพระราชประสงค์อันใด จึงมีพระราชโองการว่า เราสั่งให้ท่านทั้งหลายเคารพผู้เถ้าผู้แก่ สั่งสอนเท่านั้นสิว่าให้สร้างพลาโอเล่า แลมีพระโองการตรัสห้ามมิให้เอาเปนอำมาตย์แต่นั้นมา แลพระยาโคตมเทวราช มีพระราชบุตรองค์หนึ่งชื่อเจ้ากาญจนกุมาร เปนพระยาแทนพระบิดา นานมาจึงชื่อเจ้าไวยยักษา ครั้นใหญ่มาชื่อเจ้าโคตรตะบอง ไปสร้างเมืองพิจิตร จึงมีชื่อพระยาโคตรตะบอง เจ้าไวยยักษาไปสร้างเมืองพิไชย จึงได้ชื่อพระยามือเหล็ก

จุลศักราช ๒๑๕ ปีเถาะเบญจศก พระเจ้าจันทโชติกับเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ขึ้นไปครองเมืองลโว้ ทั้งพระพี่นางทรงพระนามชื่อเจ้าฟ้าแก้วประพาฬขึ้นไปด้วย พระยาจันทโชติ เสวยราชสมบัติได้ ๕ ปี สร้างวัดกุฎีทองถวายพระอาจารย์ พระอรรคมเหษีสร้างวัดคงคาวิหาร

ศักราช ๒๒๐ ปีมแมสัมฤทธิศก พระเจ้าอโนรธามังฉ่อเจ้าเมือง สเทิม ปฤกษาเสนาบดีว่าเราจะยกไปตีเมืองลโว้ เดือนสิบสองให้เกณฑ์ช้าง ๓๐๐๐ ม้า ๕๐๐๐ พลแสนหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสรรพสาตราเสร็จ ให้พระยาเริงจิตรตองเปนทัพน่า ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง ม้า ๑๕๐ พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอซูเปนปีกขวา ช้างร้อยหนึ่งม้า ๑๕๐ พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอทางปีกซ้าย ช้างร้อยหนึ่ง ม้า ๑๕๐ พลหมื่นหนึ่ง โปวิจารำทัพหลัง ช้าง ๗๐๐ พลสองหมื่น ครั้นได้พิไชยฤกษ์ วันอังคารเดือนสิบสองขึ้น ๑๓ ค่ำ ยกทัพหลวงออกจากพระนคร มาทางกลาง ๓๙ วันถึงเมืองลโว้นั้น ณวันเดือนอ้ายแรม ๑๓ ค่ำ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ สั่งให้นายทัพนายกองเข้าล้อมเมืองไว้สี่ด้านถึง ๗ วัน หามีผู้ใดออกมารับทัพไม่ พระเจ้าจันทโชติจึงปฤกษาเสนาบดีว่า ทัพมาล้อมครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เสนาบดีจะคิดประการใดดี เสนาบดีก็นิ่งอยู่ หมื่นจะสูกราบทูลว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก คิดจะใคร่เปนไมตรี ด้วยทหารเรายังมิชำนาญศึก พระเจ้าจันทโชติก็เห็นด้วย จึงเข้าไปปฤกษาเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ว่าศึกครั้งนี้ยกมามิรู้ตัว ไพร่บ้านพลเมือง สท้านสเทือนอยู่ เราจะถวายพระพี่นางไปเปนทางพระราชไมตรีเห็นศึกจะอ่อนลง เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ก็เห็นด้วย เสด็จออกสั่งให้เสนาบดีแต่งวอกับนางกำนัลร้อยหนึ่ง วันศุภมงคลฤกษ์ จึงเชิญเจ้าฟ้าแก้วประพาฬขึ้นสู่สีวิกากาญจนอลงกฎ กับข้าสาว ออกไปกับพระราชสาสน ถวายพระพี่นางเปนทางพระราชไมตรี จึงให้เสนามุขมนตรีนำเอาพระเจ้าพี่นางมาถวาย ครั้นถึงค่ายพระเจ้า อโนรธามังฉ่อ เสนาอำมาตย์นำขึ้นเฝ้า ถวายพระราชสาสนทราบแล้วก็ดีพระไทย สั่งให้รับนางมาตำหนักใน ทอดพระเนตรศิริวิลาศงามยิ่งนัก มีควมประดิพัทธในนางยิ่งนัก จึงให้จัดทองสิบชั่ง ช้างร้อย ม้าร้อย ให้เสนาบดีนำกลับลงไปถวายพระเจ้าจันทโชติ แต่นั้นมาเมืองลโว้กับเมืองสเทิม เปนสุวรรณปถพีเดียวกัน พระราช สาสนไปมาหากัน

ครั้นณวันพุฒเดือนสามแรมสามค่ำ ยกทัพกลับไปถึงพระนครจึงแต่งการพิธี จึงอภิเศกเจ้าฟ้าแก้วประพาฬ เปนพระอรรคมเหษีเอกทั้งสองพระนครไพศาลสมบูรณ์ทั่วทุกหญิงชาย เจ้าฟ้าแก้วประพาฬทรงพระครรภ์ถ้วนคำรบประสูตรพระราชกุมาร พระราชบิดาเสน่หายิ่งนัก ครั้นจำเริญใหญ่ขึ้น พระราชบิดาให้เอาช่างมาทำลูกขลุบให้พระราชกุมารเล่นเปนนิจจนใหญ่ห้ากำ พระราชบิดาถวายพระนามพระราชกุมารชื่อพระนเรศวร ทุกประเทศธานีเกรงบุญสมภารยิ่งนัก

เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ มีพระราชกุมารองค์หนึ่ง ครั้นพระชนม์ได้ ๑๔ ปี ลาพระราชบิดาจะขึ้นไปเยี่ยมเยียนพระเจ้าป้าณเมือง สเทิม พระราชบิดาจัดแจงพลทหารให้แล้วลายกไปถึง พระเจ้า อโนรธามังฉ่อให้รับพระราชนัดดาเข้ามา ก็ชื่นชมโสมนัศ พระกุมารทั้งสองก็รักใคร่กัน

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พากันขึ้นไปเล่นบนปราสาท พระเจ้าอโนรธา มังฉ่อเสด็จออกอยู่ที่พระแกล ทอดพระเนตรเห็นเจ้ากุมารทั้งสองขึ้นไปบนปราสาท เห็นพระราชนัดดาเปนสี่กร จึงคิดแต่ในพระไทยว่า อ้ายลูกคนนี้มันจะเอามอญเปนข้ามันเสียหมด ดำริห์ว่าฉนั้นแล้วก็นิ่งอยู่ ครั้นอยู่มาพี่น้องวิวาทกันด้วยขี่ม้าตีคลีที่สนามเล่น พระนเรศวรแพ้พระราชกุมารเปนหลายครั้ง คิดแค้นจะใคร่ฆ่าพระราชกุมารนั้นเสีย พระราชกุมารรู้จึงคิดกันกับพี่เลี้ยงจะหนีไป ให้เกลี้ยกล่อมมอญจะพามาด้วย ครั้นพี่เลี้ยงไปเกลี้ยกล่อมพวกพลก็เข้ามา ครั้นพร้อมเสร็จให้ผูกพลายทองแดงออกเล่นทุกวัน ได้ทีเพลาค่ำประมาณยามเศษยกหนี พวกพลนั้นยกไปก่อนห้าวันหกวัน แล้วทำทีเปนเที่ยวหากิน เพลารุ่งเช้าชาวพระนครพูดจากันแซ่ไปว่า พระราชกุมารหนีไป พาชาวเมืองไปด้วยเปนอันมาก ทราบถึงพระนเรศวร ๆ เอากิจการกราบทูลพระราชบิดาว่า พระราชกุมารพาพลชาวเมืองไป จะขออาสาออกไปจับพระราชบิดาห้ามว่าอย่าไปเลยสู้เขาไม่ได้ พระนเรศวรก็มิฟัง ให้เกณฑ์ทัพ พระนเรศวรทรงช้างต้นพลายตุ่นสูง ๖ ศอกยกตามมาแดนไทยทัน ศักราช ๔๓๑ ปี จะเข้าชนพลายทองแดง ๆ เล็กทานมิได้ถอยมา พระนเรศวรได้ทีจับเอาลูกขลุบเงื้อขึ้น จะทิ้งเอาพระราชกุมาร ๆ ร้องว่าเจ้าพี่เล่นเปนทารกหาควรไม่ พระนเรศวรได้ยินลอายพระไทยก็วางลูกขลุบลงเสีย พอพลายทองแดงได้ต้นพุดทราที่มั่นยันถนัด หันรับช้างพระนเรศวรเปรไป พระราชกุมารบ่ายของ้าวจ้วงฟันเห็นเปนสี่กร พระนเรศวรตกพระไทยพระภักตร์เผือดไปเกี่ยวช้างพระที่นั่ง พระราชกุมารพาพวกพลมาพระนคร (พา) ครอบครัวมาถวายพระราชบิดา แล้วกราบทูลกิจจานุกิจทุกประการ ให้แต่งการสมโภชพระราชกุมาร ขนานนามพระนารายณ์ แต่นั้นมาเมืองสเทิมกับเมือง ลโว้ ขาดทางพระราชไมตรีกันแต่นั้นมา มอญนเรศวรซึ่งได้มานั้นอยู่ที่เมืองบ้าง อยู่บางขามโพชายบ้าง คุ้มเท่าบัดนี้

จุลศักราช ๒๔๒ ปีรกาโทศก มหาอำมาตย์ได้ครองราชสมบัติได้ ๑๒ ปีสวรรคต พระนารายน์สร้างวัดปีหนึ่ง ศักราช ๒๔๙ ปี มเมียนพศก พระนเรศวรยกพล ๔๐ แสนมาล้อมกรุง ตั้งค่ายอยู่ตำบลนนตรี ทราบว่าพระนารายน์ได้ครองราชสมบัติ เกรงพระเดช เดชานุภาพเปนอันมาก จึงให้แต่งหนังสือเปนใจความว่าเรายกพยุหแสนยากร จะใคร่สร้างวัดพนันคนละวัด พระน้องเราจะเห็นประการใด ถ้าเราแพ้จะยกกลับ ถ้าพระน้องแพ้เราจะครองเมือง ครั้นแต่งเสร็จแล้วให้สมิงจาโปถือเข้าไปถวาย เสนานำแขกเมืองเข้าเฝ้ากราบทูลทุกประการ จึงตรัสว่าพระเจ้าพี่จะสร้างก็สร้างเถิด คนละมุมเมืองข้างทิศพายัพ เราอยู่ข้างทิศหรดี ไปทูลพระนเรศวร ๆ ก็ สั่งนายทัพนายกองจัดการทำอิฐเปนอันมาก ก่อพระเจดีย์กว้าง ๔ เส้น สูง ๙ เส้น ๑๐ วา พระนารายน์ก่อพระเจดีย์กว้าง ๓ เส้น สูง ๗ เส้น ๔ วา ๒ ศอก พระนเรศวรก่อ ๑๕ วันถึงบัวกลุ่ม ให้นามวัดภูเขาทอง พระนารายน์จะแพ้ คิดเปนกลอุบายทำโครงเอาผ้าขาวดาดพระนเรศวรเห็นดังนั้นคิดกลัวเลิกทัพกลับไป พระนารายน์ให้ก่อจนแล้วให้นามวัดใหญ่ไชยมงคล

แล้วพระนารายน์ไปสร้างพระปรางค์เมืองลโว้ ขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองลพบุรี แต่นั้นมาเปนเมืองลูกหลวง พระนารายน์ประชวรลงมา ครั้นถึงพระราชวัง ๓ วันสวรรคต ถวายพระเพลิงที่วัดพระองค์สร้างให้ชื่อวัดนารายน์อิศรา แต่นั้นมาเมืองว่างเปล่าอยู่อำมาตย์ ๙ คนรบฆ่าฟันชิงราชสมบัติกัน โลหิตในเมืองนั้นประดุจหนึ่งท่วมท้องช้าง แต่ทำศึกสิ้น ๒ ปี ศักราชได้ ๓๑๑ ปีมเสงเอกศกพระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติเก้าปี จึงกำหนดตั้งพิกัดอากรขนอนตลาดไว้ทุกตำบล จึงสั่งให้ยกวังเปนวัด เรียกว่าวัดเดิมแต่นั้นมา ศักราช ๓๖๐ ปีมแมสัมฤทธิศกลงมาสร้างเมืองใหม่ สร้างตำหนักวังอยู่ท้ายเมือง ไปสร้างวัดโปรดสัตวยังหาแล้วไม่ สวรรคตลงที่นั้น ศักราช ๒๗๓ ปีมแมโทศก ครั้นสิ้นกระษัตริย์หามีผู้ใดจะบำรุงพระพุทธสาสนาแลอาณาประชาราษฎรไม่ พราหมณ์ประโรหิตคิดกันว่า จะเสี่ยงเรือสุพรรณหงษ์เอกไชยกับเครื่องกกุธภัณฑ์ไป

ขณะนั้นหมู่เด็กเลี้ยงโคอยู่ณทุ่งนา ๔๗ คน เลี้ยงโคตำบลมีปลวกอันใหญ่สูงศอกเศษ ตั้งตัวเปนคนหนึ่งขึ้นว่าราชการบนจอมปลวกนั้นหมู่เด็กทั้งปวงหมอบราบอยู่เปน นิจ จึงตั้งเปนขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรเทพ เปนที่ขุนนางผู้ใหญ่ ว่าราชการบนปราสาทปลวก โกรธข้าราชการสั่งให้เพ็ชฌฆาฏเอาไปฆ่าเสียด้วยไม้ขี้ตอก ไปตัดศีศะ ๆ นั้นก็ขาด เรียกว่าบ้านหัวปลวกแต่นั้นมา ครั้งนั้นพราหมณ์ประโรหิตโหราสโมสร เสี่ยงเครื่องกกุธภัณฑ์กับเรือเอกไชยสุพรรณหงษ์ไปตามชลมารค ไปถึงบ้านเด็กเล่น เรือสุพรรณหงษ์ก็หยุดอยู่ พลพายเรือมิได้ไป พราหมณ์เป่าสังข์แตรงอนแตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน รับเอานายหมู่เด็กมาครองราชสมบัติ จึงเรียกว่าบ้านเด็กเล่นแต่นั้นมาจึงเชิญขึ้นเสวยราชสมบัติ ให้เอาพวกเด็กเล็กเพื่อนกันลงมาตั้งให้เปนข้าราชการ อยู่มาวันหนึ่งลงไปสรงน้ำ เห็นลูกมอญมาขายผ้าพ่อลูกได้เบญจลักษณ จึงให้มหาดเล็กไปตามดูให้รู้ว่านางจะอยู่ที่ไหน มหาด เล็กก็ไปดูเห็นที่อยู่แล้ว ก็กลับมาทูลประพฤดิเหตุทุกประการ อยู่มากาลวันหนึ่งนางนั้นมีรดูโลหิตติดผ้า เอาผ้าไปตากผึ้งจับเห็นเปนอัศจรรย์ คนก็เห็นมาก ครั้นถึงวันศุกรขึ้น ๑๑ ค่ำเวลาเช้า จึงแต่งเรือลงไปรับกับคานหามถึงแล้ว ชาวบ้านตกใจเปนอันมาก ก็รับนางขึ้นคานหามมาพระราชวัง แต่นั้นมาจึงเรียกว่าบ้านคานหามมาจนบัดนี้ ครั้นถึงพระราชวังจึงรับนางขึ้นราชาภิเศกเปนเอกอรรคมเหษีไพร่บ้านพลเมือง อยู่เย็นเปนศุขทั่วไป

ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมากเอามาเลี้ยงไว้ให้นามชื่อว่า นางสร้อยดอกหมาก ครั้นวัฒนาการเจริญขึ้น จึงให้หาโหรมาให้ทำนายว่า ลูกกูคนนี้จะควรคู่ด้วยกระษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูหาเห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตวันตกกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่าจะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเปนแน่ พระเจ้ากรุงจีนให้แต่งพระราชสาสนเข้ามา ให้ขุนแก้วการเวทถือเข้ามา ขุนนางผู้ใหญ่นำเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน จึงสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าไปเฝ้า ในพระราชสาสนนั้นว่า พระเจ้ากรุงจีนให้มาเปนทางพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เปนพระอรรคมเหษี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว ครั้นได้แจ้งในพระราชสาสนดังนั้นก็ดีพระไทย จึงตรัสว่าเดือน ๑๒ จะยกออกไป ให้ตอบแทนเข้าของไปเปนอันมาก ทูตทูลลากลับไป จึงสั่งให้จัดเรือเอกไชยเปนกระบวนพยุห

จุลศักราช ๓๙๕ ปีมเมียเบญจศก ครั้นณวันเดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ ได้ศุภวารฤกษ์ดี จึงยกพยุหไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนา บดี เสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลองพอน้ำขึ้น จึงประทับพระที่นั่งอยู่น่าวัด จึงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าน่าบัน จึงทรงพระดำริห์ว่า จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร เดชะบุญญาภิสังขารของเรา ๆ จะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรด้วยกันเสร็จ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมา กลั้วเอาเรือรีบขึ้นไปประทับแทบกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐลงดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งรื้อขึ้นไปถึงที่ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นประจักษ์แก่ตาแล้ว เสด็จนมัสการจึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นเสร็จแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม พระสงฆ์สมภารลงมาถวายไชยมงคลว่า มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเปนศุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งครั้นน้ำหยุดจะลง พระองค์ก็สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลายแลเสนามนตรีกลับขึ้นไปรักษาพระนคร แต่พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยลำเดียว ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางหลัง ก็เสด็จไปโดยสดวกจนถึงเขาไพ่ พอจีนทั้งหลายเที่ยวอยู่ในท้อง ทเลนั้นเห็นเปนอัศจรรย์นัก จึงนำเอาเนื้อความกราบทูลพระเจ้ากรุงจีน ๆ ก็สดุ้งตกใจนัก จึงสั่งให้เสนาผู้ใหญ่ไปดูว่าจะมีบุญจริงฤๅ ๆ ประการใด ให้ประทับสองแห่ง ที่อ่าวนาคคืนหนึ่ง ครั้นเพลาค่ำจีนใช้คนสอดแนมดูว่าจะเปนประการใด ครั้นไปฟังดูได้ยินเสียงดุริยางคดนตรีคฤกครื้นไป จึงเอาเนื้อความดังนั้นกราบทูล จึงสั่งให้เชิญมาอยู่อ่าวเสือคืนหนึ่งจึงแต่งการรับ ครั้นเพลาราตรีกาล เทพยดาบันดาลดุริยางคดนตรี ครั้นรุ่งขึ้นจึงพระเจ้ากรุงจีนแต่งการกระบวนแห่รับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามา พระราชวัง จีนทั่วประเทศสรรเสริญบุญทั่วไป พระเจ้ากรุงจีนให้ราชาภิเศกนางสร้อยดอกหมาก เปนพระอรรค มเหษีพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภา ๕ ลำ กับเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก ให้จีนมีชื่อ ๕๐๐ คนเข้ามาด้วย จึงพระเจ้ากรุงจีนให้เชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งไปเฝ้า ตรัสว่าบ้านเมืองหามีผู้ใดรักษาไม่แลเกลือกจะมีศึกมาย่ำยีให้พากันกลับไปพระนครเถิด พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ถวายบังคมลาพานางลงสำเภา สิบห้าวันมาถึงแดนพระนครขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะ ราษฏร เทพนิกร ก็โสมนัศยินดีทั่วไปจึงแต่งการรับเสด็จ พระราชาคณะถานานุกรม ๑๕๐ ไปรับที่เกาะจึงเรียกเกาะพระแต่นั้นมา แล้วก็เชิญเสด็จมาท้ายเมืองที่ปากน้ำแม่เบี้ย แลเสนาบดีราชาคณะจึงเชิญเสด็จเข้าพระราชวัง สั่งให้จัดที่ตำหนักซ้ายขวาสำเร็จแล้ว จึงให้เถ้าแก่กับเรือพระนั่งลงมารับนาง ๆ จึงตอบว่า มาด้วยพระองค์โดยยาก มาถึงพระราชวังแล้วเปนไฉนจึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่ลงมารับแล้วไม่ไป เถ้าแก่เอาเนื้อความกราบทูลทุกประการ พระองค์แจ้งดังนั้นก็ว่าเปนหยอกเล่น มาถึงนี่แล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด นางรู้ความดังนั้นสำคัญว่าจริงยิ่งเศร้าพระไทยนัก ครั้นรุ่งเช้าแต่งกระบวนแห่มารับ จึงเสด็จพระราชดำเนินมาด้วย ครั้นถึงเสด็จไปบนสำเภารับนาง ๆ ตัดพ้อว่าไม่ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่าไม่ไปแล้วก็อยู่นี่ พอตกพระโอษฐลงนางก็กลั้นใจตาย พวกจีนไทยร่ำรักแซ่ไป จุลศักราช ๔๐๖ ปีมโรงฉศก จึงเชิญศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะสถาปนาเปนพระอารามให้นามชื่อวัด พระเจ้าพระนางเชิงแต่นั้นมา

พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงยกพลลงไปขุดบางเตยจะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้ จึงสร้างวัดน่าพระธาตุถวายพระอาจารย์ แล้วมาสร้างวัดมงคลบพิตร พระเจ้าสายน้ำผึ้งอยู่ราชสมบัติได้ ๔๒ ปี สวรรคต จุลศักราช ๔๒๗ ปีมเสงสัปตศก

พระยาธรรมิกราชาพระราชบุตรพระเจ้าสายน้ำผึ้งได้เสวยราชสมบัติมีช้างเผือกสอง ช้าง สร้างวัดมุขราช ประชาราษฎรสมณะชีพราหมณ์เกษมศุขทุกชายหญิง เล่นเต้นรำ มิได้มีวิวาทลักฉกกัน ทรงทศพิธ ราชธรรมบำรุงพระพุทธสาสนา ประเทศราชเกรงพระเดชานุภาพยิ่งนักแต่ดอกไม้ทองเงินขึ้นเปนอันมาก ขนอนอากรบ่อนเบี้ยช่วงเรือลำละ ๑๐ เบี้ย ๔๐ เบี้ย มิให้เรียกแก่ราษฎรล้ำเหลือ ฝนตกตามรดู น้ำงามตามรดู เสวยราชย์ ๔๒ ปี จุลศักราช ๔๕๘ ปีมเมียอัฐศกให้ขุดคลองบางตะเคียนออกไปบางยิหน

จุลศักราช ๖๖๙ ปีขาลเบญจศก เมืองหงษาวดีใช้ให้ผีเปนพระลอยลงมาทางเมืองเถินลงมาตามลำน้ำ คนทั้งปวงเห็นเปนอัศจรรย์จึงอาราธนาไว้บูชา พระลอยลงมามิได้อยู่เมืองใด แต่ทำปาฏิหารสมาธิแก่ราษฎรบูชามาทุกเมือง จนเอาเนื้อความกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ครั้นลอยลงมาถึงน่าตำหนัก ลอยอยู่นั้น น้ำก็ไหลลงเชี่ยวทวนน้ำอยู่สั่งให้ตั้งฉัตรราชวัตรสมโภช ชาวพระนครชมชื่นทุกคน เปนโกลาหลทั่วทิศได้ ๗ วัน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไป เชิญพระขึ้นมาประดิษ ฐานไว้ในกรุง กระยาจกชราผู้หนึ่งแอบอยู่ที่ทางเสด็จร้องขึ้นว่า อย่าเสด็จลงไปเลยมิใช่พระเขาใช้ทำมาดอก เชิญเสด็จกลับเสียเถิดก็เสด็จกลับขึ้นไป จึงให้หาตัวชายชราผู้นั้นหาพบไม่ ก็ตกพระไทยจึงสั่งให้ป่าวร้องให้หาคนชรา

ครั้นอยู่มาบุตรชาวบ้านบางน้ำผึ้งรบให้ตาพาไปไหว้พระลอยที่เขาฦๅกันนั้น จะใคร่ได้เห็น ตาพาลูกหลานมา ครั้นถึงกลางน้ำ ตาผู้นั้นทำให้เหมือนพระลอย ครั้นแล้วก็กลับมา ลูกหลานก็ว่า ตาแกทำพระลอยได้ ข่าวรู้ไปถึงกรุงกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ๆ ให้เอาตัวตาผู้นั้นมา ๆ กราบทูลว่ามิใช่พระเปนผีเขาใช้ให้มาดูบ้านเมือง จะขอทำถวาย พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอม จึงให้ทำสายสิญจน์มงคล เครื่องเส้นเข้าเปลือกเข้าสารเสร็จแล้ว ก็ลงไปริมน้ำอ่านโองการ ซัด เข้าเปลือกเข้าสารสายสิญจน์วงพระนั้น ๆ ก็จมน้ำไป วุ่นวายเปนอลหม่านขึ้นกลัวว่าจะเข้าคลองในเมือง จึงสั่งให้สวดพระพุทธมนต์สายสิญจน์กันไว้ทุกคลอง พระนั้นเข้ามิได้ ไปอยู่บางกะจะ ตาแก่นั้นตามไปได้กลิ่น บอกแก่ผู้กำกับว่าอยู่นี้ แต่จะขึ้นไปเมืองเหนือ จึงสั่งให้ทำจั่นดักไว้คลองสะแก แต่เที่ยวหากันอยู่นั้นถึง ๓ วัน ทันกันเข้าที่ปากน้ำประสบจับได้ มัดด้วยสายสิญจน์ ลงไปกราบทูลว่าได้แล้ว จะจัดแจงฆ่าถ่วงเผานั้นหามีพระเกียรติยศไม่ จะได้กลับคืนขึ้นไปหาเจ้าของ พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดบัญชาตาม จึงสั่งให้ต่อโลงตอกหมันยาชันให้มั่นคงแล้ว เอาผีใส่ลงในโลง ผนึกยาชันมิให้น้ำเข้าได้ แล้วเอาสายสิญจน์วงพันเส้นวักแล้ว ก็อ่านโองการกำชับว่าใครจะมาทุบตีอย่าให้ออก จงไปถึงเจ้าของ ก็ยกโลงลงน้ำลอยทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองหงษาวดี พระเจ้าอยู่หัวให้หาตาผู้นั้นมาจะปูนบำเหน็จก็หาพบไม่ จุลศักราช ๖๗๑ ปีเถาะเอกศก พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาววัด ๑ พระอรรคมเหษีทรงสร้างวัดมเหยงค์วัค ๑ พระองค์อยู่ในราชสมบัติ ๙๗ ปี พระองค์สวรรคต ศักราช ๖๗๒ ปีมโรงโทโศก

พระยาเชียงทองเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่ายังมีพระอาจารย์พระองค์หนึ่งมาถวายพระพรว่า สมเด็จพระพุทธเจ้ายังทรงพระทรมานอยู่นั้น เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ลังกาทวีป เปนเหตุด้วยพระภิกขุสององค์วิวาทกันสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองลังกา ทวีปมาสู่พระเชตุพนเมืองสาวัตถี จึงตรัสธรรมเทศนาแก่พระอานนท์ว่า สืบไปเมื่อน่าเมืองสาวัตถี จะกลายเปนเมืองหงษาวดี เหตุว่าจะมีกระษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้าศรีธรรมาโสกราช จะสร้างพระมาลีเจดีย์องค์หนึ่งในกลางพระนคร แลพระมหากระษัตริย์นั้นมีศรัทธายิ่งนักให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ให้คนเข้าสองประตู ออกสองประตู จึงพระเจ้าศรีธรรมาโสกราชตรัสสั่งชาวพระคลังให้ เอาทองคำมากองไว้ในพระนคร ถ้าคนเข้าไปช่วยทำพระมาลีเจดีย์นั้น ก็ให้รับเอาทองคำตำ ลึงหนึ่งก่อน จึงให้ช่วยทำการ แลทุกวันนี้ยังปรากฏมีอยู่ แลพระมาลีเจดีย์นั้นอยู่ทิศอุดร พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ครั้นแจ้งประพฤดิเหตุแล้ว ก็มีพระไทยยินดีนัก จุลศักราช ๔๑๓ ปีชวดตรีศก จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งขุนการเวก แลพระยาศรีธรรมราชา ภูดาษราชวัตรเมืองอินทร์ ภูดาษกินเมืองพรหม ยกรบัตรนายเพลิงกำจายนายชำนององครักษ์ นายหาญใจเพ็ชร์ นายเด็จสงคราม ข้าหลวงแปดนายกับไพร่ ๕๐๐ คุมเอาเครื่องบูชาขึ้นไปถวายพระมาลีเจดีย์ แลข้าหลวงขุนการเวก ยกออกจากกรุงแต่ณวันพฤหัศบดีเดือนอ้ายขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ไปทางสุพรรณบุรีไปถึงบ้านชบา ยกแต่บ้านชบาไปถึงเมืองพระยาเจ็ดตน ยกจากเมืองพระยาเจ็ดตนไปถึงบ้านรังงาม ยกจากบ้านรังงามไปด่านทราง ยกจากด่านทรางไปถึงเจ้าปู่หิน ยกแต่เจ้าปู่หินไปจากแม่น้ำชุมเกรียวนั้น มีพระพุทธไสยาศน์องค์หนึ่งทองสำริดพระองค์ยาวห้าเส้น ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวงก็ชวนกันเข้าไปนมัสการ จึงตั้งสัจจาธิฐานว่า ขอเดชะพระบารมีพระพุทธไสยาศน์ให้ข้าพเจ้าทั้งปวงนี้ไปถึง ได้นมัสการพระมาลีเจดีย์ในเมืองหงษาวดีสำเร็จความปรารถนานั้นเถิด ข้าหลวงทั้งปวงกราบถวายบังคมนมัสการก็ลาออกจากแม่น้ำชุมเกรียว ก็ไปถึงเขาฝรั่งยางหิน ไปถึงตำบลเขาหลวง พอสิ้นแดนกรุงศรีอยุทธยา ไปถึงด่านทุ่งเขาหลวงสิ้นเขตรแดนนับได้ ๓๘ วัน ครั้นแล้วจึงตั้งสัจจาธิฐานอิกครั้งหนึ่ง ยกออกจากที่ขุนการเวกกับข้าหลวงทั้งปวง จึงตั้งนมัสการพระศรีรัตนไตรยแล้วก็ยกไปขาดระยะบ้าน ไม่มีผู้คนเดินเลย บ่ายหน้าต่อทิศอุดร เปนป่าใหญ่เดินไปมาไม่ต้องแดด เปนทุ่งอยู่กลางเปนป่าละเมาะ คนทั้งปวงสิ้นอาหาร กินแต่ผลไม้เปนอาหาร สิ้นหนทาง ๓๐ วัน จึงเข้าเมืองหงษาวดี มีด่านบ้านพราหมณ์รายไปบ้าง ขุนการเวกกับข้า หลวงทั้งปวงเดินต่อ ๆ กันไป สิ้นหนทางนั้น ๓๐ วัน จึงถึงเมือง หงษาวดีนั้น คิดเข้ากันสิ้นทาง ๒ เดือนกับ ๒๑ วัน จึงเข้าเมือง หงษาวดี ขุนการเวกกับพระยาศรีธรรมราชา ข้าหลวงทั้งปวงพากันเข้าไปในพระอาราม พบปะขาวรูปหนึ่ง ขุนการเวกจึงถามปะขาวว่าอารามนี้ท่านผู้ใดเปนใหญ่ ปะขาวบอกว่าพระสังฆราชา ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวง จึงเข้าไปนมัสการพระสังฆราชา ๆ จึงซักไซ้ไต่ถามว่าอุบาสกทั้งปวงนี้มาแต่สถานที่ใดฤๅ ขุนการเวกกราบทูลพระสังฆราชาว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนี้ เปนข้าทูลลอองสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา ๆ มีพระกมลหฤไทยเลื่อมไสศรัทธาในพระมาลีเจดีย์ยิ่งนัก จึงตรัสใช้ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนี้คุมเอาเครื่องสักการบูชาพอสมควร ขึ้นมานมัสการพระมาลีเจดีย์นั้น พระสังฆราชา ปราไสว่า อาตมภาพขออนุโมทนา ด้วยพระราชทรัพย์แห่งพระองค์นั้นเถิด วันนี้ท่านไปอยู่สำนักนิ์ให้สบายก่อนเถิด ต่อพรุ่งนี้จะให้ปะขาวนำไปนมัสการตามความปรารถนา

ครั้นรุ่งเช้าพระสังฆราชาให้ปะขาวนำข้าหลวงทั้งปวงเข้าไปในอาราม ทำประทักษิณพระรเบียงนั้นได้รอบหนึ่ง แลพระรเบียงนั้นเปนสี่เหลี่ยมจัตุรัศ ขุนการเวกจึงให้นายน้อยหาญใจเพ็ชร์วัดพระรเบียงข้างหนึ่ง แต่ยาวได้ ๒๐ เส้น ชื่อพระรเบียงยาว ๒ เส้น ๑๐ วา มีพระพุทธรูปรายรอบหล่อด้วยทองสำริดทั้งสิ้น เปนพระพุทธรูปสูง ๑๐ วา เสาพระรเบียงแปดเหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมนั้นวัดได้ ๙ ศอก สูงถึงท้องขื่อวัดได้ ๒๐ วา ก่ออิฐกระชับรักแล้วถือปูน หุ้มด้วยทองแดงหนาสามนิ้ว แลที่แปกลอนรแนงรเบียงทำด้วยไม้แก่น พื้นพระรเบียงดาษด้วยดีบุกน่าสิบสองนิ้ว ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวง ก็เข้านมัสการในพระรเบียง พอเพลาพลบค่ำก็ชวนกันกลับมาที่อยู่

ครั้นเพลารุ่งเช้าพระสังฆราชาให้ปะขาวนำขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวง ขึ้นไปนมัสการพระมาลีเจดีย์ คือองค์พระมาลีเจดียธาตุ ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวง ก็เข้าไปถึงตีนบันไดใต้พระมหาธาตุ นายหาญใจเพ็ชร์วัดฐานพระมาลีเจดีย์นั้น ด้านหนึ่งยาว ๓๕ เส้น ๕ วาทั้งสี่ด้านยาว ๑๔๑ เส้น บันไดขึ้นพระมาลีเจดีย์นั้นทำด้วยทองแดงตั้งลงกับอิฐ แม่บันไดรอบใหญ่ ๔ กำกึ่ง ลูกบันไดใหญ่รอบ ๓ กำ ปะขาวขุนการเวก ข้าหลวงทั้งปวง ขึ้นไปดูประตูพระมหาธาตุนั้นกว้าง ๒ เส้น สูงได้ ๕ เส้น มีหงษ์ทองคำสี่ตัวเข้าประชุมกันเปนแท่นรอง พระพุทธรูปบนหลังหงษ์สองร้อยองค์ แต่ล้วนทองคำทั้งแท่ง สูงสองศอก แลข้อเท้าหงษ์นั้นใหญ่รอบ ๑๑ กำ ตัวหงษ์นั้นสูง ๑๖ ศอกทำด้วยทองคำทั้งแท่ง แลองค์พระมหาธาตุแผ่ทองคำเปนแผ่นอิฐ หนานั้นสามนิ้วกว้างสามศอกยาวห้าศอก ทองคำหุ้มองค์พระมหาธาตุขึ้นไปจนถึงยอด แล้วเอาลวดทองแดงร้อยหูกันเข้า เอาสายโซ่คล้องเข้าเปนตาข่ายหุ้มรัดข้างหน่วงขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง แลยอดพระมาลีเจดีย์มีลูกแก้วใหญ่ได้ห้าอ้อมมัชฌิมบุรุษ ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวง ขึ้นแต่เชิงบัน ไดนั้นแต่เช้า ขึ้นไปถึงประตูพระมาลีเจดีย์พอเพลาเที่ยงก็ได้นมัสการแล้วกลับลงมาถึงเชิง บันไดก็พอค่ำ พื้นพระมาลีเจดีย์ซึ่งรองหงษ์เหยียบอยู่นั้นดาษด้วยแผ่นเงินหนาสามนิ้ว กว้างสามศอกเปนสี่เหลี่ยม ปะขาวบอกข้าหลวงว่า เหล็กกระดูกพระมาลีเจดีย์ที่ร้อยลูกแก้วนั้น ใหญ่รอบ ๑๑ กำ ขุนการเวกจึงถามว่า พระมาลีเจดีย์ใหญ่นักหนาฉนี้คือท่านผู้ใดสร้าง ปะขาวจึงบอกว่า พระพุทธศักราช ๒๑๑ ปี ยังมีพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามชื่อพระเจ้าศรีธรรมาโสกราช สร้างพระมาลีเจดีย์ไว้นั้น ให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ให้คนเข้าสอง ประตู ให้ออกสองประตู เอาทองกองไว้ ถ้าผู้ใดรับเอาทองคำตำลึงหนึ่งแล้ว จึงให้ผู้นั้นเข้าไปทำการ ถ้าผู้ใดมิรับเอาทองคำตำ ลึงหนึ่งนั้น ก็มิได้ให้เข้าไปทำการเลย ทำการพระมาลีเจดีย์นั้น แต่คนตกตายทำบาญชีไว้ได้ถึง ๙ โกฏิ แลคนตายครั้งนั้น พระอัตถกถาจารย์เจ้าผู้รู้วิสัชนาว่าได้ไปสวรรค์ทั้งสิ้น แลขุนการเวกจึงถามปะขาวว่า เมื่อก่อนนั้นก่อด้วยอิฐฤๅ ๆ ศิลา ปะขาวบอกว่าก่อด้วยอิฐ จึงนำขุนการเวกไปดูอิฐที่เหลือนั้นสักร้อยแผ่น ขุนการเวกก็ให้วัดแผ่นอิฐนั้นน่าสี่ศอกหกนิ้ว โดยกว้างห้าศอก โดยยาวห้าวาสองศอก ขุนการเวกจึงถามปะขาวว่าในเมืองหงษาวดีนี้ยังมีสิ่งใดประหลาดอยู่บ้าง ปะขาวจึงนำขุนการเวกกับข้าหลวงทั้งปวงไปดูบ่อน้ำมันดินน้ำมันงา ขุนการเวกจึงให้วัดบ่อน้ำมันดินนั้น โดยยาวเส้นหนึ่งกับห้าวาจัตุรัศทั้งสองบ่อ ขุนการเวกจึงถามว่าผู้ใดทำไว้ ปะขาวบอกว่าน้ำมันดินนั้น ท้าวมหาพรหมประดิษฐานไว้ สำหรับพระภิกษุสามเณร ปะขาวนางชีทั้งปวง ให้เปนยาทาแก้เมื่อยขบแก้เจ็บหลัง กับแก้ถีนะมิทธะเงียบเหงาหาวนอน แล้วก็ให้ทานสัตวทั้งหลายกินแก้โรคต่าง ๆ มีเรี่ยวแรงทำการได้สดวก แลบ่อน้ำมันงานั้นพระอินทราชาธิราชใช้ให้พระเวศุกรรมเทวบุตรลงมาประดิษฐาน ไว้ให้พระสงฆ์ตามดูหนังสือแลบูชาพระศรีรัตนไตรยเจ้า แลให้ทานสัตวทั้งหลายตามแต่ผู้ใดจะปรารถนา ขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวงก็กลับมาหาพระสังฆราช ๆ ว่าพรุ่งนี้จะให้ปะขาวนำไปนมัสการพระเชตุพนมหาวิหาร ข้าหลวงทั้งปวงก็กลับมาที่อยู่ ครั้นเพลารุ่งเช้า ปะขาวก็นำขุนการเวกแลข้าหลวงทั้งปวงไปที่พระเชตุพนมหาวิหาร แลบันไดนั้นขุนการเวกให้วัด บันไดก่ออิฐโดยกว้างได้ ๑๗ เส้นกับ ๑๐ วา แต่เชิงบันไดขึ้นไปบนถนน ๑๕ เส้น ถนนยาวได้ ๑๗ เส้นกับ ๑๐ วา ปะขาวก็พาเข้าไปในพระเชตุพนชั้นในกว้าง ๓๐ เส้นกับ ๑๐ วา เสาก่อด้วยอิฐเปนแปดเหลี่ยม วัดดูแต่เหลี่ยมหนึ่งได้เจ็ดวา แต่ประตูพระเชตุพนเข้าไปจนถึงพระอาศนบัลลังก์ ที่ตรัสพระธรรมเทศนา วัดได้ ๓๗ เส้นกับ ๑๐ วา ด้านแปพระเชตุพนยาวได้ ๗๕ เส้น เสาสูงถึงท้องขื่อวัดได้ ๑ เส้น ๑๐ วา พระรัตนบัลลังก์อยู่หว่างกลางห้องหนึ่งนั้น พื้นบนดาษด้วยทองคำหนาสามนิ้ว มีพื้นลดลงมาอิกห้องหนึ่งดาษด้วยนากหนาสามนิ้ว มีพื้นลดลงมาอิกชั้นหนึ่ง ดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว รอบรัตนบัลลังก์ทั้งสี่ด้าน ที่อาศนพระสงฆ์กว้างสามเส้น พื้นนั้นดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว ที่พื้นบริสัชนั่งนั้น ดาษด้วยดีบุกหนาห้านิ้ว นับเสาพระเชตุพนได้ ๓๐๐๐ เสา มีกำแพงแก้วรอบพระเชตุพนสูงสิบวา ขุนการเวกจึงถามปะขาวว่า พระเชตุพนนี้ท่านผู้ใดสร้าง ปะขาวบอกว่าอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีสร้างถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้า ที่อันนี้เปนที่สวนเจ้าเชต จึงให้ชื่อพระเชตุพน มหาวิหาร ตามนามพระราชกุมารผู้เจ้าของสวน มหาเศรษฐีสร้างสิ้นทรัพย์ถึง ๔๔ โกฏิ สร้างพระเชตุพนขึ้นจนสำเร็จ มหาเศรษฐีจ้างแต่คนในเรือนแห่งมหาเศรษฐีนั้นเองให้ทำการจ้าง ทองคำเสมอคนละตำลึงทอง คนในเรือนมหาเศรษฐีนั้น นับได้ ๑๒ อักโขภินี มหาเศรษฐีนั้นอยู่ปรางคปราสาทเจ็ดชั้น มีกำแพงแก้วสูงสองวา ขุนการเวกจึงถามปะขาวว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานั้น พระสงฆ์แลบริสัชนั่งเต็มพระเชตุพนฤๅมิได้ ปะขาวบอกว่าเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานั้น พระสงฆ์แลบริสัชเต็มออกไปจนกำแพงแก้วแล้วยังมิพอ บริสัชยังเหลืออยู่นั้นก็เปนอันมากปะขาวกับขุนการเวกแลคนทั้งปวงก็กลับมา ขุนการเวกให้วัดทางแต่พระเชตุพนมาถึงพระมาลีเจดีย์ เปนทาง ๒๕ เส้น ก็พากันมานมัสการพระสังฆราชา ๆ ก็ปราไสว่า อุบาสกไปนมัสการพระเชตุพนเห็นสนุกดีอยู่ฤๅ ขุนการเวกกับข้าหลวงทั้งปวงจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้มาพบมาเห็นทั้งนี้ ก็เปนบุญลาภแก่ข้าพระพุทธเจ้านักหนา ได้มานมัสการบูชาเกิดความยินดีหาที่สุดมิได้ พระสังฆราชาจึงสั่งให้ปะขาวนำไปดูรฆังทองหล่อหนา ๑๑ นิ้ว ปากกว้าง ๕ วา ๒ ศอก สูง ๑๑ วา ไม้ตีรฆังใหญ่รอบ ๓ กำยาว ๓ วา โรงรฆังสูง ๑๕ วา เสานั้นไม้แก่น ข้าหลวงทั้งปวงก็กลับมานมัสการพระสังฆราชา ขุนการเวกจึงถามว่าพระสงฆเจ้ามีสักกี่อาราม เปนพระสงฆ์มากน้อยสักเท่าใด พระสังฆราชาจึงบอกว่า พระสงฆ์มีแต่อารามเดียวเท่านี้ มีบาญชีมีพระวรรษาเปนพระสงฆ์ ๒๐๐๐๐๐ กับ ๓ พระองค์ พระสังฆราชาจึงถามขุนการเวกว่าพระสงฆเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้น ผ้าอันใดเปนผ้าพระสมณะสำรวม ขุนการเวกกราบทูลว่า พระสงฆ์ในกรุงศรีอยุทธยา ฝ่ายคันถธุระทรงผ้ารัตตกัมพลแดง ฝ่ายวิปัสนาย่อมทรงเหลือง พระสังฆราชาก็ว่า ทรงผ้ารัตตกัมพลแดงนั้นได้ชื่อว่าพระพุทธชิโนรสแท้จริง แลพระสังฆราชาว่าในเมืองหงษาวดีนั้นทรงผ้าแดงทั้งสิ้น พระสังฆราชาจึงเขียนอักษร ส่งให้กับขุนการเวกนั้นตัว ๑ ถ้าจะว่าเปนอักษรขอมเรียกว่าตี ว่าตามอักษรไทยเรียกตามตัวว่าเลขเจ็ด ก็พิเคราะห์โดยธงไชยก็ได้ทั้งสามตัวนั้นแล เลขเจ็ดตัวนั้นได้แก่เมืองหงษาวดี ตีนั้นได้แก่เมืองลังกาทวีป ตะนั้นได้แก่กรุงศรีอยุทธยาเหตุว่าเปนเมืองท่าน้ำ ต่ำกว่าเมืองเชียงใหม่ ๑๕๐ เส้น พระสังฆราชาจึงเขียนเปนบาฬีแปลตัดบทพิเคราะห์เปนคำไทยส่งให้ขุนการเวก ให้เอาลงไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาโพ้นเถิด ขุนการเวกกับข้าหลวงทั้งปวงอยู่ได้ประมาณ ๒๕ วัน แลคนซึ่งไปด้วย ๕๐๐ นั้น ที่ประมาทไม่ตั้งอยู่ในศีลกล่าวมุสาทำปาณาติบาต ตายเสียที่ตามระยะทาง ๓๐๐ คน ที่เห็นสบายสนุกนั้นก็ลาบวชอยู่ณเมืองหงษาวดี ๕๐คน ขุนการเวกพระยาธรรมราชาข้าหลวงแปดนาย กับไพร่ ๑๕๐ ก็กราบลาพระสังฆราชา กลับคืนมายังกรุงศรีอยุทธยา ครั้นถึงแล้วก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็กราบทูลแจ้งประพฤดิเหตุ ซึ่งพระสังฆราชาจดหมายสั่งมานั้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือพระสังฆราชานั้น พระเจ้าอยู่หัวมีพระไทยปรีดาภิรมย์หรรษายิ่งนัก ทรงพระกรุณาตรัสถามข้าหลวงทั้งปวงต่าง ๆ แล้วพระราชทานรางวัลต่าง ๆ ตามควร ขุนการเวก พระยาธรรมราชา ภูดาษวัดเมืองอินทร์ ภูดาษกินเมืองพรหม นายเพลิงกำจาย นายชำนององครักษ์ นายหาญใจเพ็ชร์ นายเด็จสงคราม กับไพร่ ๑๕๐ คน บรรดามาด้วยกันทั้งสิ้นนั้น ก็กราบถวายบังคมลาบวช ทรงพระกรุณาโปรดให้บรรพชา ตามเลื่อมไสศรัทธา

ขณะนั้นพระยากง ได้ครองเมืองกาญจนบุรี พระอรรคมเหษีทรงพระครรภ์ ให้หาโหรมาทำนายว่าจะเปนหญิงฤๅชาย โหรพิเคราะห์ดูก็รู้ว่าจะเปนพระราชกุมาร โหรจึงกราบทูลว่า พระราชกุมารนี้มีบุญมากนัก ใจก็ฉกรรจ์ จะฆ่าพระราชบิดาเสียเปนมั่นคง ครั้นทรงพระครรภ์แก่ กำหนดจะประสูตรพระราชกุมาร พระราชบิดาเอาพานรับพระราชกุมาร พระนลาตกระทบขอบพานเปนรอยบู้อยู่เปนสำคัญ พระยากงมาคิดแต่ในพระไทยว่าจะเอากุมารนี้ไว้มิได้ พระยากงให้เอาพระราชกุมารไปฆ่าเสีย มารดารู้ว่าพระราชบิดาจะเอาบุตรไปฆ่าเสีย นางคิดกรุณาแก่บุตรยิ่งนัก จึ่งทำอุบายถ่ายเทปกปิดเสียให้กลบเกลื่อนสูญไปด้วยความคิดของนาง จึงลอบเอากุมารราชบุตรอายุ ๑๑ เดือนไปให้ยายหอมเลี้ยงไว้ ครั้นจำเริญไวยใหญ่ขึ้น ยายหอมจึงเอากุมารไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเปนบุตรบุญธรรม พระยาราชบุรีให้ดูแลการงานเบ็ดเสร็จทุกสิ่ง ครั้นถึงเทศกาลเอาดอกไม้ทองเงินไปถวายพระยากงทุกปีมิได้ขาด บุตรบุญธรรมจึงถามว่า ทำไมเอาดอกไม้ทองเงินไปให้พระยากาญจนบุรีด้วยเหตุอันใด พระยาราช บุรีบิดาเลี้ยงจึงว่าเราเปนเมืองขึ้นแก่เขา พระราชบุตรตอบว่า ไม่เอาไปให้นั้นจะเปนประการใด พระยาราชบุรีว่าไม่ได้ เขาจะว่าเราคิดขบถ จะยกทัพลงมาจับเราฆ่าเสีย พระราชบุตรว่ากลัวอะไร พระยาราชบุรีก็นิ่งอยู่ ถึงปีแล้วหาเอาดอกไม้ทองเงินไปไม่ พระยากงเจ้าเมืองกาญจนบุรี เห็นว่าพระยาราชบุรีเปนขบถ เกณฑ์พลลงมาจะจับพระยาราชบุรีฆ่าเสีย ครั้นพระยาราชบุรีรู้ดังนั้น จึงเกณฑ์คนประจำน่าที่ ให้บุตรบุญธรรมเปนแม่ทัพ ยกออกรับทัพพระยากาญจนบุรี ๆ ครั้นมาใกล้ประมาณ ๓๐ เส้น ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้แล้วให้มีหนังสือให้คนถือเข้าไปถึงพระยาราชบุรีเปนใจ ความว่า ให้พระยาราชบุรีออกมาหาเรา แม้นมิออกมาหาเราจะปล้นเอาเมือง พระยาราชบุรีทราบดังนั้น ปฤกษากับบุตรบุญธรรมว่าจะคิดประการใดดี ราชบุตรจึงว่าจะขออาสาชนช้าง พระราชบิดาก็จัดช้างพลายงางอนสูง ๖ ศอกผูกเครื่องมั่น ให้บุตรบุญธรรมเปนนายทัพ ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกออกไป พระยากงเห็นดังนั้น ก็ผูกช้างพลายมงคลออกมาท่ามกลางพล เข้าโจมไล่ช้างพระราชกุมาร ๆ รับช้างพระยากง ๆ เสียทีขวางตัวทานบมิอยู่ พระราชกุมารจ้วงฟันพระยากงตายกับฅอช้าง ไพร่พลนายทัพนายกองแตกรส่ำรสายหารับไม่ หนีไปเมือง พระราชกุมารขับพลไล่รุกขึ้นไปถึงเมืองกาญจนบุรีเข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าปล้นเอาเมืองได้ โหรา ปโรหิตจึงยกพระราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อพระยาพาน ครั้นเข้าประถมยาม พระยาพานก็เข้าไปข้างใน ตั้งใจหมายจะสังวาศด้วยมารดา ก็เข้าไปในตำหนัก วิฬาร์แม่ลูก ๆ ร้องจะกินนม แม่ห้ามลูกไว้ว่าอย่าร้องไป ดูลูกเขาจะเข้าหาแม่ พระยาพานก็สดุ้งตกใจ ไฉนวิฬาร์มาร้องดังนี้ก็ถอยออกมา ครั้นถึงทุติยยามก็กลับเข้าไปอิก ม้าแม่ลูกอยู่ที่ใต้ถุน ลูกนั้นร้องจะกินนม แม่ม้าจึงว่า อย่าเพ่อกินก่อน ดูลูกเขาจะเข้าไปหาแม่ พระยาพานตกใจ เหตุ ไฉนม้าจึงว่าดังนี้ ก็ถอยออกมา ครั้นถึงตติยยาม ก็กลับเข้าไปอิกถึงมารดา ๆ จึงถามว่าท่านเปนบุตรผู้ใด พระยาพานบอกว่าเปนบุตรพระยาราชบุรี มารดาจึงถามว่า พระยาราชบุรีได้มาแต่ไหน เจ้านี้เปนลูกของข้า เมื่อประสูตรบิดาเอาพานทองรับ พระภักตร์กระทบพานเปนรอยบู้อยู่ ถ้ามิเชื่อส่องพระฉายดูเถิด พระองค์คือลูกของข้า โหรทำนายว่ามีบุญนัก บิดาจึงให้เอาเจ้าไปฆ่าเสีย แม่จึงเอาไปฝาก ยายหอมไว้ พระยาพานได้สำคัญเปนแน่ก็ทรงพระกรรแสงว่าได้ผิดแล้วฆ่าบิดาเสียดังนี้เศร้า พระไทยนัก จึงตรัสว่ายายหอมหาบอกให้รู้ไม่ก็ให้เอายายหอมไปฆ่าเสีย แร้งลงกิน จึงเรียกว่าท่าแร้งมาจนคุ้มเท่าบัดนี้

ขณะเมื่อพระยาพานฆ่าบิดากับยายเลี้ยงคิดเปนเวร ตั้งแต่ทำบุญให้ทานแก่ยาจกวรรณิพกมิได้ขาดเปนนิตย์ พระอรรคมเหษีมีครรภ์แก่ประสูตรพระกุมารพระองค์หนึ่ง พระองค์เสน่หาในพระราชบุตรเปนกำลัง จึงทรงพระดำริห์ว่าบิดารักเราผู้บุตร เหมือนหนึ่งเรารักพระราชโอรสเราฉนี้ มิควรที่เราจะกระทำเลย เพราะว่าเราเปนคนโมหจิตร มิได้คิดให้ผิด ด้วยเราหารู้ไม่ฉนี้ ก็เสียพระไทยสลดลง จึงปฤกษากันว่าทำไฉนจึงจะล้างกรรมเวรอันนี้ได้ ทรงพระดำริห์ว่ายังเห็นอยู่แต่องค์พระคิริมานนท์พอจะส่องสว่างได้ จึงให้อำมาตย์ราชเสวกาไปอาราธนาพระคิริมานนท์ แลพระองคุลิมาล มาฉันในพระมณเฑียรสถานให้ได้โดยเร็ว อำมาตย์ก็ชวนกันไปเที่ยวอาราธนาพระคิริมานนท์ พระองคุลิมาล ซึ่งได้พระอรหัตตรัสรู้ธรรมพิเศษ เข้ามารับบิณฑบาตฉันในพระราชวัง ครั้นเพลาเช้าก็เข้าไปในพระราชวัง พระยาพานกราบนมัสการ ถวายเครื่องสูปะพยัญชนะแล้วเสร็จ ยกพระหัดถ์ขึ้นนมัส การตรัสถามพระผู้เปนเจ้าว่า โยมนี้เปนคนมืดมนท์หารู้จักคุณแลโทษไม่ ฆ่าบิดาเสียฉนี้ผิดนักหนาแล้ว โยมนี้ทำผิดจะคิดหาความชอบ ฉนี้เห็นจะเปนประการใด พระมหาเถรทั้งสองถวายพระพรว่า มหาบพิตรทำให้ผิดประเพณีให้เปนครุกรรมถึงบิตุฆาฏ จะไปสู่มหาอเวจีช้านานนัก นี่หากว่าพระองค์รู้สึกตัวว่าทำผิดคิดจะใคร่หาความชอบ จะให้ตลอดไปนั้นมิได้ แต่ว่าจะบำบัดเบาลง ๑๐ ส่วนเท่า คงอยู่สักเท่าส่วน ๑ ให้ก่อพระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหินจะค่อยคลายโทษลง พระยาพานได้ฟังดังนั้นก็เลื่อมไสศรัทธา พระมหาเถรทั้งสองก็ลาไปอาราม ครั้นพระมหาเถรไปแล้ว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีคิดการสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิน สร้างวัดเบื้องสูงท่าประธมทำพระวิหาร ๔ ทิศไว้พระจงกรมองค์ ๑ พระสมาธิทั้ง ๓ ด้าน ประตูแขวนฆ้องใหญ่ปากกว้าง ๓ ศอกทั้ง ๔ ประตู ทำพระรเบียงรอบพระวิหาร แล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ใหญ่เสร็จแล้ว ฉลองเล่น มโหรศพครบ ๗ วัน ๗ คืน ให้ทานยาจกวรรณิพกแล้ว ให้บุรณพระแท่นประสูตรพระพุทธเจ้าณเมืองโกสินาราย

จุลศักราช ๕๕๒ ปีเถาะโทศก พระยาพานยกทัพขึ้นไปเมืองลำพูนไปนมัสการพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า ถึงสามปีแล้วก็ยกทัพกลับลงมาเมืองใต้ จึงปรายเงินทองต่างเข้าตอกดอกไม้ ถวายพระบรมธาตุ มาทุก ๆ ตำบล มาแต่เมืองลำพูนลำปาง ลงมาทางเดิมบางนางบวชจนถึงเมืองนครไชยศรีสิ้นเก้าปี รู้ทั่วกันว่าพระยาราชบุรีเปนบิดาเลี้ยงจะมาจับ ก็ยกทัพหนีขึ้นไปยังประเทศราช เสนาบดีจึงเชิญขึ้นครองราชสมบัติ ๔๙ ปีสวรรคต จุลศักราช ๖๖๙

มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง เสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายยกพระราชกุมารขึ้นเสวยราไชสวรรยาธิปัติ ถวายพระนามพระพรรษา ราษฎรเปนศุขยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาได้ ๙๐ ปี สร้างวัดศรีสรรเพชญ์ วัดสวนหลวง พระองค์เสด็จสวรรคต จุลศักราช ๙๐๖ ปีวอกฉศกพระรามบัณฑิตย์ได้เสวยราชสมบัติ ถวายพระนามสมเด็จพระรามพงษ์บัณฑิตย์อุดมราชาปิ่นเกล้าพระเจ้าอยู่หัว เสด็จยังพระที่นั่งจัตุรมุขเบื้องบุรพา จึงมีพระราชโองการ ตรัสแก่ขุนวิชาชำนาญธรรมเปนนักปราชผู้ใหญ่ว่าด้วยจุลศักราชนั้น มากำกับอยู่ด้วยพระพุทธศักราชนั้นหาควรไม่ ไปภายน่า กุลบุตรจะเกิดมาเมื่อภายหลัง น้ำใจก็จะกระด้างทั้งปัญญาก็จะน้อย ทั้งมิจฉาทิฐิก็จะมากกว่าสัมมาทิฐิ ครั้นจะไว้จุลศักราชต่อไปบัดนี้ พระพุทธศักราชจะฟั่นเฟือนไป ด้วยมิจฉา ทิฐิ จะยกย่องแต่ฝ่ายจุลศักราช พระพุทธจักรก็จะอยู่ในอำนาจอาณาจักร ทั้งอายุสัตวก็จะถอยจากเดือนปี ประเพณีจะแปรปรวนไปทุกที จึงมีพระราชโองการดำรัสแก่มหาโชติพราหมณ์กับขุนวิชาชำนาญธรรม ให้ยกจุลศักราชออกเสีย ให้ตั้งพระพุทธศักราชไว้เปนกำหนดสืบไป พระพุทธศักราชล่วงได้ ๙๕๕ พรรษานักษัตรกุกกุฏะสังวัจฉรศรีธนญไชยสร้างวัดโลกสุธาพระใจร้าย พระพุทธศักราชได้๙๕๗พรรษา นักษัตรสังวัจฉร พระสังฆราชลงมาแต่เมืองหงษาวดี จะลงมาถามถึงอัตถกถาจะเสื่อมสูญฤๅยัง ผู้ใดจะทรงไว้ได้ทั้งพระไตรปิฎก อยู่วัดโพธิ์หอม

ขณะนั้นองค์อินทร์เปนเชื้อมาแต่พระยากาฬปักษ์ มาได้ราชสมบัติได้ ๓๕ ปี สร้างวัดน่าพระเมรุ ไว้เปนหลักพระพุทธสาสนา จุลศักราช ๙๐๐ ปีชวดสัมฤทธิศกเสด็จสวรรคต

ขณะนั้นพระเจ้ากาแต เปนเชื้อมาแต่นเรศร์หงษาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ แล้วมาบุรณวัดโปรดสัตววัดหนึ่ง วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง วัดใหญ่วัดหนึ่ง สามวัดนี้แล้ว จึงให้มอญน้อยเปนเชื้อมาแต่พระองค์ ออกไปสร้างวัดสนามไชย แล้วมาบุรณวัดพระปาเลไลยในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรีนั้น ข้าราชการบุรณวัดแล้ว ก็ชวนกันบวชเสียสิ้นสองพันคน จึงขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี แล้วพระองค์จึงยกนาเปนส่วนสัดวัดไว้ พระองค์อยู่ในศิริราชสมบัติ ๔๐ ปีจึงสวรรคต จุลศักราช ๕๖๕ ขาลเบญจศก

พระยาอู่ทองกับพระเชษฐา แลราชบุตรกับครอบครัวยกลงมาแต่เมืองฉเชียงหลวง มาณเมืองสวรรคเทวโลกลงมายังกรุง ครั้นลงมาถึงที่อันหนึ่ง ครั้นเห็นสงบเงียบอยู่ ก็ยกไปท้ายเมืองฝั่งใต้จึงตั้งที่ประทับพลับพลาอยู่ที่นั้น ราษฎรนั้นนับถือว่าเปนผู้มีบุญ ก็ เข้าประชุมสโมสรพร้อมกัน จึงยกให้เปนเจ้าแผ่นดิน บังคับบัญชาราชการตามประเพณีอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อน ครั้นเรียบราบสำเร็จแล้ว จึงยกพระเชษฐาธิราชให้ครองเมืองสุคันธคีรี พระเจ้าท้องลันราชเปนประถมกระษัตริย์สืบมา พระยาสุคันธคีรีเจ้าเมืองเชียงใหม่ จะใคร่หาภรรยาให้แก่บุตรเปนอรรคมเหษี พระยาสุคันธคีรีให้หาโหรามาพิเคราะห์ดูจะอยู่ทิศใด โหรกราบทูลว่าคู่ต่างเมือง มีผู้มาบอกข่าวว่าบุตรพระยาอู่ทองคนหนึ่งงามดังนางสวรรค์ เจ้าไชยทัตจะใคร่ได้เปนพระอรรคมเหษี จึงเอาเพศเปนเถร เจ้าไชยเสนผู้น้องเปนภิกษุไปเพื่อน พากันมาสองคน ครั้นมาถึงราชธานีเข้าแล้วก็อาไศรยอยู่ริมพระราชวัง ฟังดูคนทั้งหลายในเมืองจะพูดจากันเปนประการใด ก็ลาเพศเปนเถรแล้ว ก็ปลอมเข้าไปในวัง จะเข้าวังนั้นมิได้ เห็นแต่ต้นพิกุลอยู่ริมกำแพงวัง ก็ปีนข้ามกำแพงวังเข้าไป กำบังกายมิให้คนเห็นเจ้าจึงเข้าไปหานาง ๆ จึงถามว่าท่านนี้เปนบุตรผู้ใด พระองค์จึงบอกว่าเรานี้เปนบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ พี่จะใคร่ได้นางเปนอรรคมเหษี แต่ไปมาหากันจนมีครรภ์แก่ พระยาอู่ทองพิจารณาดูเห็นผิดประหลาดอยู่ ครั้นจะว่ากลัวลูกจะน้อยใจ พระทวารถึงเจ็ดชั้นยังเข้ามาได้ผิดประหลาดนัก เห็นอยู่แต่ท่อน้ำ ทรงพระดำริห์ฉนั้นแล้ว ก็สั่งให้ทำลอบเหล็กใบหนึ่ง ดักไว้ที่ท่อน้ำ เจ้าไชยทัตหาทันรู้ไม่ เคยประดาน้ำเข้าไปก็ติดลอบตาย พระยาอู่ทองใช้คนไปดู เห็นเจ้าไชยทัตตายอยู่ จึงว่าทำผิดคิดมิชอบเข้าลอบตายเอง จึงให้เอาศพนั้นมาเห็นรูปงามนักหนา จะเปนเชื้อกระษัตริย์องค์ใดเสียดายนัก จึงทรงดำริห์ว่าจะมาแต่ผู้เดียวฤๅ ก็ให้เที่ยวหาดู ครั้นมาพบน้องชายเข้าที่วัดรามวาศ เอาตัวมาถึงวังก็รู้ว่าเปนบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ จึงให้ลาผนวชออกแล้ว ก็ราชาภิเศกกับพระราชบุตรี

พระยาอู่ทองตรัสแก่เสนาบดีว่า พระตำหนักเวียงเหล็ก ให้หาที่ไชยภูมิจะสร้างเมืองใหม่ จึงให้อำมาตย์ข้ามไปฝั่ง ที่ฝั่งเกาะตรงวังข้ามเกณฑ์ไพร่ถางแผ้ว พอพบพระฤๅษีองค์หนึ่งอยู่ในดงโสนริมหนองน้ำ ทรงนามชื่อสักธรรมโคดม ๆ จึงถามคนถางว่าจะทำเปนประการใด ในแว่นแคว้นของเราฉนี้ คนแผ้วถางจึงบอกว่า พระมหากระษัตริย์จะสร้างเมืองใหม่ พระฤๅษีจึงว่าเรามาอยู่สถานที่นี้ก็นานมาแล้ว แต่พระพุทธเจ้ายังสร้างพระบารมีอยู่จนได้ตรัสได้ ๙๑๗ ปี แล้ว จะมาสร้างเมืองดีอยู่แล้ว เราก็จะลาไปอยู่เขาแก้วบรรพต แต่ที่อันนี้เปนที่กองกูณฑ์อัคคี หาเปนที่ไชยภูมิไม่ ให้ไปข้างทิศหรดีเปนที่ไชยภูมิดี มีต้นหมันเปนสำคัญอยู่ต้นหนึ่ง จึงให้อำมาตย์ไปเที่ยวดูได้เห็นเปนแน่ ก็นำเอาเหตุทั้งนี้มากราบบังคมทูล ทรงทราบจึงให้หาเสนาพฤฒามาตย์มาสโมสรพากันไปหาพระดาบศ ว่ามหากระษัตราธิราชเจ้าให้อาราธนาเข้าไปในพระราชวัง พระดาบศเธอจึงตอบว่าเรายังหาเข้าไปไม่ ท่านจงจัดให้คนไปตัดไม้มากองกูณฑ์อัคคีดูให้รู้เหตุ จึงอำมาตย์เสนาบดีทั้งหลายทั้งปวงก็ใช้ให้คนไปตัดไม้มา ตามคำพระดาบศสั่งทุกประการ แล้วพระดาบศจึงให้จุดเพลิงเผาไม้ฟืน ซึ่งกองไว้นั้นรุ่งโรจน์ เปลวเพลิงสูงเท่าต้นตาล รัศมีสว่างรุ่งเรืองไปทั่วประเทศ ครั้นเพลิงสงบเปนปรกติค่อยบันเทาลงแล้ว พระดาบศก็เอาน้ำพระวิศณุมนต์มาประพรมกองกูณฑ์อัคคีแล้ว พระดาบศจึงว่าแก่เสนา บดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่า จะมีกระษัตริย์ไปภายน่านั้นเปนอันมากจะเปนเมืองท่าสำเภา แต่ทว่าจะเกิดยุทธนาการไม่รู้วาย ครั้นว่าเท่าดังนั้นแล้ว จึงให้อำมาตย์เสนาบดีผู้ใหญ่ กลับมากราบทูลพระมหากระษัตริย์เถิด เสนาบดีผู้ใหญ่ก็ชวนกันไปกราบทูลประพฤดิเหตุ ซึ่งได้เห็นนั้นสิ้นทุกประการ ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ออกไปอาราธนาพระดาบศเข้ามาใน พระราชวัง อำมาตย์เสนาบดีผู้ใหญ่ก็ไปพร้อมกันตามรับสั่ง ครั้นถึงที่นั้นหาพบพระดาบศไม่ จึงให้คนเที่ยวค้นหาไปทุกแห่งทุกตำบลก็หาพบไม่ จึงสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปแผ้วถางให้ราบรื่นเปนอันดี

(ต่อนี้เปนเรื่องท้าวอู่ทอง แลมีเรื่องเจ้าไชยทัตไชยเสน ความซ้ำกับข้างต้น)

แลในเมืองพระยาแกรกมาอยู่ ครั้นสิ้นบุญพระยาแกรกแล้ว ก็ถอยลงมาถึงสามชั่วพระยาแล้ว ยังแต่ผู้หญิงอันสืบตระกูล แลเศรษฐีทั้งสอง คือ โชดกเศรษฐี แลกาลเศรษฐี ๆ ทั้งสองคนนี้คิดอ่านด้วยกันแล้ว จึงเอาเจ้าอู่ทองลูกโชดกเศรษฐีประสมด้วยกันกับพระราชธิดาให้ครองเมืองนั้น ได้เจ็ดปี ห่าลงเมือง โคกระบือช้างม้าตาย แลคนทั้งหลายก็ตายพิปริตหนักหนา อำมาตย์จึงทูลแก่ท้าวอู่ทองว่าไพร่พลเมืองตายเปนอันมาก พระองค์จึงให้ยกพลช้างม้าออกจากพระนครเมื่อเที่ยงคืน ว่าสถานที่ใดสบายเราจะไปสร้างเมืองอยู่ในที่นั้น แลไปข้างฝ่ายทักษิณได้ ๑๕ วัน จึงถึงแม่น้ำอันหนึ่ง แลเห็นเกาะอันหนึ่งเปนปริมณฑลงามแลจะข้ามมิได้ จึงให้ตั้งทัพตามริมน้ำ ทั้งไพร่พลทั้งหลาย ตรัสสั่งอำมาตย์ให้ไปตัดเรือจะข้ามน้ำเข้าหาเกาะ ครั้นได้เรือแล้ว เสนาอำมาตย์ไพร่พลช้างม้าข้ามมาหาเกาะแล้ว จึงบุกป่าโสนเข้าไปกลางเกาะ เห็นดาบศตนหนึ่งอยู่ในใต้ต้นไม้ พระยาก็ตรัสปราไสด้วยดาบศ แลพระยาจึงถามว่าเจ้ากูมาอยู่ที่นี้ ช้านานแลฤๅ ๆ พึ่งจะมาอยู่ พระดาบศจึงบอกว่าเรามาอยู่ที่นี้ แต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรมานมีพระชนม์อยู่ อายุเราได้ ๑๕๐ ปีแล้ว แลอาจารย์เราสองคน คนหนึ่งไปตายในเขาสรรพลึงค์ คนหนึ่งไปตายในพนมภูผาหลวง ยังแต่เราผู้เดียวนี้แล เมื่อพระพุทธเจ้ามาถึงนี่ เราได้นิมนต์ให้นั่งบนตอตะเคียน อันลอยมาค้างอยู่ในที่นี่ เราก็ถวายมะขามป้อมสมอแก่พระพุทธเจ้า ๆ จึงแย้มพระโอษฐ พระอานนท์จึงทูลถามพระพุทธเจ้า ๆ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ฐานที่นี้จะเปนเมืองอันหนึ่ง แต่เรามาหกโยชน์ เขาก็เรียกว่าศรีอโยทธยา พระพุทธเจ้ามีพระบัณฑูรไว้ดังนี้ ครั้นพระดาบศบอกแล้ว พระยายินดีนักหนา พระยาเสด็จไปเลียบดูที่จะตั้งพระราชวังแลเรือนหลวง แลตั้งกำแพงแลค่ายคูไปรอบเมือง แลแต่งพระราชวังแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปสู่เมือง กับด้วยสนมชาวแม่ แพทย์พราหมณาจารย์ทั้งหลายเข้ามาเมือง

แลสมเด็จท้าวอู่ทองเมื่อเข้าไปในเมืองวันนั้น พระดาบศยังเข้าฌานสมาบัติบูชากูณฑ์ใต้ต้นไม้ สถานนอกอาศรม ครั้นพระยาไปพระดาบศก็ออกจากฌานในวันนั้น ครั้นณวันอาทิตย์เดือนอ้ายขึ้นหกค่ำปีมโรงโทศกเพลาเช้า พระดาบศจึงเขียนรูปเมืองด้วยถ่านเพลิง ทิ้งเพลิงขึ้นไปในอากาศตกลงมา แลบลิ้นออกเปนทางสามแพร่ง แสดงให้เปนอุบัติเหตุว่า ผู้ใดเกิดในที่นั้นย่อมมุสาวาท ความจริงน้อยไป แลพระยาอู่ทองได้ยินแล้วก็กำหนดไว้แต่ในใจ แลพระดาบศจึงบอกแก่พระยาอู่ทองว่า เราจะอยู่ด้วยบพิตรมิควรแก่เรา สถานที่นี้เปนของท่านเถิด เราจะลาท่านขึ้นไปรักษาพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าอยู่กว่าจะสิ้นชีวิตรเรา ครั้นพระดาบศว่าแล้วก็เข้าฌานสมบัติ ออกจากฌานแล้วก็ขึ้นไปที่พระพุทธบาทแล้ว ก็เข้านิพพานในที่นั้น

ท้าวอู่ทองก็ครองเมืองศรีอโยทธยาเปนศุข มีพระราชบุตรสามพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อเจ้าอ้าย องค์หนึ่งชื่อเจ้ายี่ องค์หนึ่งชื่อเจ้าสามจำเริญใหญ่มามีรูปอันงามประกอบด้วยปัญญา แลท้าวพระยาทั้งหลายก็กลัวอานุภาพเธอนักหนา เจ้าอ้ายไปกินเมืองนคร เจ้าน้องยี่ไปกินเมืองตนาว เจ้าน้องสามไปกินเมืองเพ็ชรบุรี

ฝ่ายพระเจ้าอู่ทอง มีพระราชบุตรีอิกองค์หนึ่ง เมื่อจะประสูตรนั้น ท้าวอู่ทองฝันเห็นว่าดอกบัวลอยมา เธอจึงตรัสให้พราหมณ์มาทาย พราหมณ์จึงทายว่า พระองค์เจ้าจะได้บุตรเขยมาต่างเมืองข้างเหนือ พราหมณ์ได้พระราชทานรางวัลแล้ว ก็ออกมาจากพระราชวัง

เจ้าพัตตาสุจราชผู้เปนพระยาวรราช เสวยสมบัติในเมืองสัชนาไลยมีพระราชกุมารสองพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อเจ้าธรรมไตรโลก พระองค์หนึ่งชื่อบรมไตรโลก แลสมเด็จพระเจ้าพัตตาสุจราช ทรงพระชราภาพนักหนาแล้ว พระชนมายุได้ ๑๖๐ ปีก็ถึงทิวงคต ณวันศุกรเดือนสิบสองขึ้นห้าค่ำปีฉลู ครั้นทำสการศพพระบิดาแล้ว อำมาตย์เสนาทั้งหลายจึงราชาภิเศกเจ้าธรรมไตรโลก เปนพระยาแทนบิดาเปนช้านาน พระองค์เจ้ามาคิดในพระไทยว่า ท่านผู้ใดให้ทานเปนอันพอใจแลรักษาศีลเปนอันมาก แลพระองค์จะใคร่ออกทรงบรรพชาให้ได้ พระองค์จึงออกไปจากเมืองสัชนาไลยได้ ๒ ราตรี ถึงเมืองโอฆบุรีอันเปนเมืองแห่งพระญาติ แลพระยาญาติห้ามมิฟัง จึงออกไปกับพระยาทั้งหลายแห่ห้อมล้อมไปยังท้ายเมือง ตัดพระเกษาโกนเกล้าจึงพระยาญาติทั้งหลายก็เอาพระเกษาใส่ผอบทองบรรจุไว้ แลพระองค์เจ้าก็อุปสมบทพระอุบาฬีเถรเปนพระอุปัชฌาย์ พระคิริมานนท์เปนกรรมวาจา พระสุเมธังกรเปนอนุสาวนะ ชุมนุมพระสงฆ์ ๒๐๐ องค์ ผนวช ณวันพฤหัศบดีเดือนหกขึ้นค่ำหนึ่ง เพลาเช้า ก็งามนักหนา ประดุจดังภิกษุอันได้ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเจ้าโกรพราช ยังอำมาตย์เสนาชวนกันสร้างอารามถวายแก่พระองค์ตามบทคาถาทั้งแปดบทดังนี้

ปฐมํ โพธิปัล์ลังกํ ทุติยํ อนิมิส์สกํ,
ตติยํ จังกมํ เสฏ์ฐํ จตุต์ถํ รตนาฆรํ.
ปัญ์จมํ อชปาลัญ์จ มุจ์จลิน์เทน ฉัฏ์ฐมํ,
สัต์ตมํ สิริเทวานํ อัฏ์ฐมํ ปรินิพ์พุตํ.

ครั้นพระเจ้าโกรพราชสร้างอารามถวายแล้ว พระองค์เจ้าตั้งเมตตาปฏิบัติกรรมฐาน แลพระสงฆ์ทั้งหลายให้ชื่ออริยสงฆ์แต่นั้นมา แลพระเจ้าโกรพราชจึงให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกษไว้ จึงให้ชื่อว่าวัดจุฬามณีแต่นั้นมาถึงบัดนี้แล

สมเด็จพระยาสุคนธคีรีเจ้าเมืองพิไชยเชียงใหม่ มีพระราชบุตรสองพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อเจ้าไชยทัตกุมาร องค์หนึ่งชื่อเจ้าไชยเสนกุมารสองพระองค์เปนพระภิกษุขึ้นไปเรียนพระไตรปิฎก ถึงเมืองภุกามได้สามพรรษาก็จบพระธรรมแล้ว เจ้าจึงไปเรียนไตรเพทข้างไสยสาตรได้จบบริบูรณ์ก็กลับมาเมืองวิเท่ห์ รื้อมาเมืองหงษา แลมาอาไศรยอยู่อารามแห่งหนึ่งจะใคร่ลองคุณความรู้อันตนได้เรียนมา แลพี่น้องทั้งสองชวนกันขึ้นไปถึงบนปราสาทพระยาแล้ว ฉวยอุ้มเอาพระราชธิดาลงมาจากปรา สาทมาถึงวัดเวลาเที่ยงคืนหาผู้ใดจะรู้มิได้แลพี่น้องทั้งสองยินดีนักหนา แต่อุ้มไปอุ้มมาได้สามวันแล้ว เจ้ากูก็เอาทวะดึงษาการมาเปนกรรมฐานปลงปัญญาญาณว่ารูปผี ครั้นเวลากลางคืนพระเจ้าหงษาย่อมมาดูลูกสาวตนมิเห็นลูกสาวตนในกลางคืนนั้นก็ คิดหลากพระไทย จึงเอาพรรณผักกาดใส่ผมไว้ ครั้นพรรณผักกาดตกลงก็งอกถึงกุฎี แลพระยาจึงให้อำมาตย์ไปกุมเอาตัวเจ้ากูทั้งสององค์นั้นมา พระยาจะให้เอาไปฆ่าเสีย เจ้ากูจึงว่ามหาบพิตรอย่าเพ่อฆ่าเรา ๆ จะลองวิชาคุณอันเราได้เรียนมานั้นให้ท่านดูก่อน จึงให้คนตักน้ำใส่ขันอันใหญ่มาแล้ว เจ้ากูองค์หนึ่งเปนนกยาง องค์หนึ่งเปนปลาว่ายอยู่ในขันนั้น แลนกยางจึงคาบเอาปลาพาบินไป พระยาหงษาเห็นหลาก จึงให้คนตามไปดูมิได้เห็นบาตรแลจีวรในกุฎี แลเจ้ากูทั้งสองก็เข้าไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว แลพระบิดามารดาก็ยินดีนักหนา แลพระยาสุคนธคีรีจะใคร่ได้เจ้าไชยทัตมาเปนพระยาแทนพระองค์ ๆ จึงให้ประจุออกจากสมณะแล้วแต่ว่ามิพอใจผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แลพระเจ้าสุคนธคีรีให้หาโหรมาทายดูจึงรู้ว่าคู่พระองค์เจ้าอยู่ต่างเมือง แลเขาก็เล่าฦๅว่าลูกสาวพระยาอู่ทองมีผู้หนึ่งงามดังนางฟ้า เจ้าไชยทัตจะใคร่ได้เปนอรรคมเหษี แลเอาเพศเปนสามเณร กับเจ้าไชยเสนผู้น้องอันเปนเจ้าพระภิกษุเปนเพื่อนกันมาถึงเมืองศรีอยุทธยา ราชธานี มาอยู่อาไศรยในวัดใกล้พระราชวัง ฟังกิติศัพท์คนทั้งปลายเล่าฦๅแก่กัน ครั้นรู้ตระหนักแล้วเจ้าก็ลาเพศออกจากสามเณร แล้วซ่อนกำบังกายเข้าไปในพระราชวังเข้ามิได้ จึงเห็นต้นพิกุลต้นหนึ่งอยู่ใกล้กำแพงวัง เจ้าจึงขึ้นข้ามเข้าไปได้ จึงให้นิทราไว้มิให้ผู้ใดรู้ แลเจ้าจึงเข้าไปหานางได้แล้ว นางถามว่าท่านนี้เปนบุตรผู้ใด จึงบอกว่าเรานี้เปนบุตรเจ้าเชียงใหม่ พี่หาภรรยาที่ชอบใจมิได้ พี่จึงมาหาเจ้า จะใคร่ได้เจ้าไปเปนนางอรรคมเหษีแต่เที่ยวไปหานางทุกวันจนนางทรงครรภ์แก่แล้ว สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเห็นลูกดูหลากตาแต่มิออกปากกลัวลูกจะน้อยใจ แล้วคิดว่าพระทวารบานประตูได้ร้อยชั้นยังเข้ามาได้ จะมาในที่ใด ถ้าเว้นไว้แต่ท่อน้ำ ครั้นพระองค์เจ้ารำพึงแล้ว จึงตรัสสั่งคนทั้งหลายให้ทำเปนลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำนั้น

ฝ่ายเจ้าไชยทัต เคยประดาน้ำเข้าไปทุกวัน ๆ นั้น ก็เข้าลอบเหล็กติดอยู่ช้านานก็ตายในที่นั้น ต้องคำโบราณว่าทำมิชอบเข้าลอบตายเอง พระเจ้าอู่ทองจึงให้คนไปดูก็เห็นคนตายอยู่ จึงเอารูปนั้นมาดูเห็นหลาก เปนบัณฑิตย์รูปงาม แลพระองค์จึงเสียดายพระองค์คิดว่าจะมาแต่ผู้เดียวฤๅ ๆ มีเพื่อน พระองค์จึงให้คนค้นหา จึงได้พบน้องชายอยู่อาราม ก็ให้คุมเอาตัวมาในพระราชวัง จึงให้ถามดูรู้ว่าบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ แลพระราชเทวีอันทรงครรภ์แก่ก็ทรงพระกรรแสงไห้รักสามี ว่ากูจะเปนม่าย แลลูกจะหาพ่อมิได้ จะอายแก่ไพร่พลทั้งหลาย เขาจะทายประมาณครรภ์ เห็นหน้าพระเจ้าอาว์ดุจดังเห็นหน้าผัวอันตาย พระเจ้าอู่ทองจึงให้เจ้าไชยเสนอันเปนภิกษุนั้นลาพระผนวชแล้ว จึงราชาภิเศกให้เปนพระยา

แลสมเด็จพระเจ้าอู่ทองตรัสใช้คนทั้งหลาย ให้ไปเอาคนปล้ำพนันเมืองทั้งคู่ แลรูปพระยาแกรกนั้น มาแต่เมืองอินทปัตนคร มาไว้ในเมืองศรีอยุทธยา พระเจ้าอู่ทองมีพระชนมายุได้ ๑๐๐ ปีเศษ ก็ทิวงคตณวันศุกรเดือน ๘ ขึ้นหกค่ำปีฉลูฉศกพุทธศักราชได้ ๑๖๐๐ ปี

เจ้าไชยเสนได้เปนพระยาในเมืองศรีอยุทธยาราชธานี ทำบุญให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวนา ช้านานได้ ๒๗ ปี แลพระราชกุมารจึงมีไวยอันเจริญใหญ่มา แลพระเจ้าไชยเสนผู้เปนอาว์ จึงราชาภิเศกเจ้าสุวรรณกุมารเปนพระยาแทนพระองค์แล้ว พระองค์เสด็จไปด้วยราชเทวี แลฝูงนางเปนบริวาร ช้างม้าเปนอันมาก ถึงเมืองพิไชยเชียงใหม่ แลพระญาติก็ชื่นชมนักหนา แลพระเจ้าสุคนธคีรีจึงราชาภิเศกเจ้าไชยเสน ให้เปนพระยาแทนพระองค์เจ้า สมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชา คิดถึงคุณพระบิดาอันมาแต่ไกล แลเกิดพระองค์ ๆ จึงให้ช่างทั้งหลายหล่อพระสำริดรูปหนึ่งน่าตัก ๔ วาแล้วพระองค์ทำบุญให้ทานแก่เจ้ากูโยคาวจรฉลองพระพุทธรูปอุทิศไปแก่พระบิดา แล้ว พระองค์มีพระราชธิดาสองพระองค์ องค์หนึ่งชื่อเจ้ากัลยาเทวี องค์หนึ่งชื่อเจ้าสุนันทาเทวี มีรูปอันงามดุจดังนางเทพธิดาอันมีในสวรรค์นั้นแล

จะกล่าวถึงพระเจ้าธรรมไตรโลกเสวยราชสมบัติณเมืองสัชนาไลยราชธานี มีราชบุตรสามพระองค์ ๆ หนึ่งชื่อพระธรรมราชา พระองค์หนึ่งชื่อเจ้าบรมราชา พระองค์หนึ่งชื่อเจ้าราชาธิราช พระบิดาจะใคร่ให้พระธรรมราชาผู้เปนพี่เจ้าทั้งสองนั้นเปนพระยาแลพระองค์ก็รู้ว่ากระษัตริย์ลูกด้วยกัน อันเนื่องกันสืบ ๆ มาแต่โบราณ พระธรรมราชาแลพระบรมราชาต่างคนต่างสัญญากัน ยกพลโยธาแลจัดเครื่องบรรณาการไปถวาย ขอพระราชธิดาพระเจ้าสุวรรณราชณเมืองศรีอยุทธยา แลพระองค์จึงพระราชทานนางทั้งสองให้ธรรมไตรโลกแลนางกัลยาเทวีได้แก่พระธรรมราชา นางสุนันทาเทวีได้แก่พระบรมราชา แลกระษัตริย์ทั้งสองได้แล้วจะคืนไปเมืองมิได้ หลงด้วยรูปทรงนางทั้งสอง แลสมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชาผู้เปนพ่อตา จึงให้บุตรทั้งสองให้ทำกำแพงคนละครึ่ง ทั้งหอรบทบทาท้าวให้มั่นคง อยู่เปนศุขในเรือนหลวงแห่งพระองค์เจ้า แลสมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชาให้ก่อพระมหาธาตุสวมไม้ตะเคียนที่พระพุทธเจ้านั่ง แลสร้างอารามอุโบสถ ที่พระธรรมศาลา พระพุทธรูป พระปฏิมากร กุฎีสถานให้เปนทาน แล้วพระองค์เจ้ารักษาศีลเมตตาภาวนา พระชนมายุได้ ๙๘ ปี พระองค์ทิวงคตณวันพุฒเดือนหกแรมหกค่ำปีฉลูฉศก แลกระษัตริย์ทั้งสองพี่น้องคิดอ่านด้วยกันทำสการศพพระองค์แล้ว อำมาตย์ทั้งหลายจึงราชาภิเศกเจ้าธรรมราชาให้เปนพระยาจำเดิมแต่นั้นมาพระเจ้ากรุงจีนรู้ข่าวว่าพระเจ้าหลานได้เสวยราชสมบัติณเมือง ศรี อยุทธยา พระองค์ให้แต่งจีนคนหนึ่งมีกำลัง จะให้เข้าไปปล้ำพนันเมือง จึงให้จีนใช้สำเภาเข้ามาสู้ด้วยไทย สู้ไทยมิได้แลแพ้แล้วก็หนีไป แลภายน่าไปครั้นสิ้นบุญพระเจ้าธรรมราชาผู้พี่แล้ว อำมาตย์เสนาจึงราชาภิเศกพระบรมราชาเสวยราชสมบัติณเมืองศรีอยุทธยาราช ธานี แลอรรคมเหษีชื่อนางสุนันทราเทวี มีครรภ์พระราชบุตรคนหนึ่ง ครั้นถ้วนทศมาศจะประสูตรวันนั้นก็เปนอันมืดมนท์อนธการ แลจีนจามพราหมณ์นักเทศคุลาฝรั่งอังกฤษยี่ปุ่นวิลันดา ก็แต่งสำเภาเข้ามาค้าขายถึงนครศรีอยุทธยา ก็ถวายเครื่องราชบรรณาการแก่สมเด็จพระเจ้าบรมราชา ด้วยบุญญาธิการแห่งพระองค์ ๆ จึงให้พระนามแก่พระราชกุมารชื่อวรเชษฐกุมาร ครั้นพระชนม์ได้ ๑๖ ปี สมเด็จพระบรมราชามีพระไทยจะใคร่มอบสมบัติให้แก่เจ้าวรเชษฐกุมาร แลพระองค์จะใคร่ผนวชในพระสาสนา หวังจะเอานฤพานเปนเบื้องน่าจึงมีพระโองการตรัสสั่งแก่เสนาอำมาตย์ ให้ส่งข่าวสาสนไปถึงพระยาญาติฝ่ายข้างเหนือข้างใต้ ให้รู้ว่าพระบรมราชาจะผนวชบวชเปนบวรณพสาครแล้ว ครั้นวันพุฒเดือนหกขึ้นค่ำหนึ่งปีฉลูฉศก เสด็จไปจากพระนครด้วยพระยาวรเชษฐ ทั้งพระสนมชาวแม่ทั้งหลาย แลเสนามนตรี แห่ห้อมล้อมไปเปนบริวาร ไปถึงวัดสมโณโกฏิ มีพระสังฆราชาเปนอุปัชฌาย์ มหาเทพโมฬีเปนกรรมวาจา มหาธรรมไตรโลกวัดสุทธาเปนอนุสาวนะ ชุมนุมพระสงฆ์เจ้า ๑๐๐ พระองค์ นั่งหัตถบาศอุปสมบทเจ้าบรมราชาเปนภิกษุ แลพระสงฆเจ้าทั้งหลายก็จะออกบวชใหม่ โดยประมาณมากกว่า ๑๐๐ สมเด็จพระบรมราชาค่อยเจริญเมตตาภาวนาณะวัดสมโณโกฏิ แลพระมหาเทพโมฬีถวายอารามวัดสมโณโกฏิแก่พระองค์เจ้าแล้ว ก็ลาขึ้นมาอยู่ในอารามวัดป่าหลวงนอกเมืองชลอน ตราบเท่าสิ้นชนมายุพระองค์เจ้าในอาราม ที่นั้นแล

ศักราชถ้วน ๑๐๐๐ พระร่วงเจ้าลบทีหนึ่ง แลพระยาธรรมิกราชจะได้ลบ แลโหราพฤฒาจารย์มิได้เอาทูลบอกกล่าว ก็ล่วงพ้นมาแล้วแล อันนี้ท่านพระเจ้าโคตมมหาราชแต่เมื่อยังเปนพรรณิพก ยังมิได้เปนพระยาแกรก แลพระโคตมมหาราชยังอยู่เมืองอินทปัตนคร แลพระองค์ตรัสแก่ขุนสิงหฬสาคร ให้เอาสินค้าของหลวงออกไปขาย ขุนสิงหฬสาครรับพระราชโองการแล้วก็ทูลลา จึงนำพานิชพ่อค้าทั้ง ๕๐๐ ลงสำเภาลำหนึ่ง แลสิ่งของเปนอันมาก ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงใช้สำเภาออกไปจากเมืองอินทปัตนคร หวังว่าจะไปบริเฉทประ ภังยิหน แลไปช้านานได้เจ็ดเดือนก็หลงเข้าอับอยู่ เพราะว่าหาลมมิได้ มิรู้ที่จะไปมาได้ช้านาน ๑๕ วัน อนึ่งเปนอกุศลแก่ชาวพ่อค้าทั้งหลาย แลลมอันบังเกิดขึ้นมา มิใช่ลมจะโคสลาตันหามิได้ แลเปนพยุพัดสายสมอขาด แลพยุพาเอาสำเภาไปจากทเลแล่นตัดออกจากปากอ่าว แล้วก็ไปถึงมหาสมุทอันใหญ่ ครั้นสำเภาลำใดไปถึงที่นั้น บห่อนจะกลับคืนมาได้ แลแต่ไปช้านานได้เจ็ดเดือน จึงเห็นเมืองกุเวรนครเปนเมืองพระกาลเจ้า ปราสาทแลกำแพงก็แล้วไปด้วยเงินทองคนทั้งหลายแลเห็นก็ยินดีนักหนาว่าทีนี้เรา มาพบเมืองแล้ว เรามิกลัวตายเลย จึงจอดสำเภาเข้าแล้ว ต่างคนต่างขึ้นไปซื้อขายกินกลางตลาดนั้น ก็ลงมาสำเภาแห่งตน แลข้าขุนสิงหฬนครได้เห็นแม่นางคนหนึ่ง เหมือนเจ้าผู้หญิงตน แลมันก็มาบอกแก่ขุนสิงหฬสาครนั้นว่าได้เห็นแม่นางคนหนึ่งเหมือนนายผู้หญิง ขุนสิงหฬสาครได้ยินก็ยินดีจึงขึ้นไปแลดูก็เห็นเมียตน ไม่รู้ว่าตายหามิได้ ครั้นเห็นแม่นาง ๆ เห็นผัวตนก็ยินดี แล้วก็ร้องไห้ร่ำไรไปมาต่อกันแล้ว แม่นางจึงบอกแก่ผัวตนว่า ท่านหลงมาเข้าเมืองพระกาลเจ้าแล้ว ยังอิกเจ็ดวันน่าที่พ่อค้าทั้งหลายแลตัวท่านก็จะตายด้วยกันสิ้น ข้าจะบอกให้รู้เอาตัวรอดเถิด แลข้าจะเล่าเนื้อความให้ท่านฟัง แลท่านค้าของหลวง แลท่านมาจากข้านั้น ท้องข้ายังอ่อนอยู่ ท่านมาช้านาน ท้องข้าแก่ขึ้นได้แปดเดือนจะคลอดลูก แลพระกาลเจ้าให้อำมาตย์ไปผูกรันฟัด แลผูกฅอข้ามาจากที่นั้นข้าก็ตาย ก็ได้มาเกิดเปนผีกินอยู่เมืองนี้ แลข้าจะบอกให้ท่านรู้ แลเงินข้าใส่หีบไว้ ๒๐ ชั่ง แลทองชั่ง ๑ แลข้าผู้ชาย ๙ คน ข้าผู้หญิง ๑๐ คน ทั้งของท่านของข้ารวมด้วยกัน แลทรัพย์ทั้งนั้นเมื่อจะขาดใจข้าให้น้องสาวท่านเอาไว้ ถ้าแลท่านไปถึงบ้านท่านถามน้องสาวท่านเอาเถิด แลท่านทำบุญหลั่งน้ำมาถึงข้าด้วยเถิด แลข้าจะบอกท่านให้ทำเข้าตากเข้าตูใส่ถุงใส่ไถ้ให้จงมาก แล้วพันเข้ากับตัว แลขึ้นไปปลายเสากระโรงคอยแลดู ถ้าแลปลายเสากระโดงฟัดไปถึงต้นหมากเดื่อ อันโอนมาริมมหาสมุททเล แลท่านจับกิ่งหมากเดื่อจงมั่นแล้ว จึงไต่ตามกิ่งหมากเดื่อเข้าไปต้นเถิด ท่านจึงจะรอดตัว แลท่านเร่งไปเถิด พระกาลท่านร้ายนัก ครั้นเห็นท่านผู้ใดผู้นั้นก็จะตายทันใจ ถ้าผู้ใดทำสักการบูชาพระกาลเจ้าดีใจนักหนา ท่านเอยพระกาลพระกุลีเจ้าย่อมร้ายนักฟัดตีเอาให้ได้ ถ้าผู้ใดทำรูปพระกาลพระกุลี ให้ไหว้นบนอบทำสักการบูชาจึงจะพ้นความตาย แลคนทั้งหลายมิทันเถ้าทันแก่ฟัดเอาไว้เปนข้า ข้าท้าวบ่าวพระยาก็ดี เข็ญใจก็ดี เปนสัตวเดียรฉานก็ดี ย่อมสูบเอาหัวใจแลเลือดทั้งหลายกินเปนอาหาร แลทั้งตัวก็เอามาไว้เปนบ่าวเปนข้าตามวิบากแล้ว เว้นไว้แต่บุญผู้นั้นมาก จึงจะเอามิได้ด้วยบุญผู้นั้นแล ข้าสั่งท่านเท่านี้ท่านจงไปเถิด แลขุนสิงหฬสาครก็ลงมาสู่สำเภาแห่งตน มิให้ผู้ใดรู้สักคน แลจึงทำเข้าตูเข้าตากใส่ไถ้เปนอันมากแล้วก็พันเข้ากับตัวแล้ว ก็ขึ้นใบต้นหนด้วยตนเอง จึงให้พานิชชักสมอขึ้นแล้ว ก็ให้บ่ายหัวสำเภาไปตามริมมหาสมุทตามคำเมียสั่ง แลลมต้องใบก็พาเอาสำเภานั้นไปเปนอันเร็ว แลปลายเสากะโดงระกิ่งหมากเดื่อเข้าแล้ว ตนก็ฉวยจับเอากิ่งหมากเดื่อนั้นได้ก็โหนขึ้นอยู่ที่นั้น แลสำเภานั้นแล่นไปได้ ๗ วัน ก็ตกลงท้องมหาสมุทอันใหญ่สู่มหาอวิจี แลพานิชทั้งหลายก็ตายฉิบหายสิ้น คือตกนรกทั้งเปน แลขุนสิงหฬสาครก็ค่อยไต่ตามกิ่งหมากเดื่อนั้นลงมา ๗ วัน จึงถึงค่าคบอันใหญ่แล้วจะลงมิได้เลย ด้วยค่าคบนั้นใหญ่ประมาณ ๑๐ วา กินแต่ลูกหมากเดื่อเปนอาหารอยู่ช้านาน แลเห็นเชือกเขาพันต้นหมากเดื่อขึ้นไป จึงไต่ตามเครือเขามาได้ ๗ วันจึงถึงโคนต้น จึงเห็นราชสีห์ยืนอยู่ในที่นั้น ก็ตกใจกลัวนักหนา จึงเอาลูกหมากเดื่อทิ้งแต่เช้าไปถึงตวันเที่ยง จึงรู้ว่าราชสีห์ตาย จึงลงมาผลักให้ล้มลงแล้ว เอาดาบเถือเอาหนังราชสีห์พันเข้าแล้วก็แบกไต่ตามแนวป่าขึ้นมา แลกินเข้าตากเข้าตูมาเปนช้านานได้ ๑๕ วัน จึงชาวด่านเขาได้ตัวก็พาเอาตัวมาถึงเมืองพระยาๆ จึงให้ถาม แลขุนสิงหฬสาครจึงบอกแก่พระยาว่าพระเจ้าโคตมมหาราชเมืองอินทปัตนครให้ไปค้า สำเภา ๆ ก็อับปางเสียสำเภา เหลือมาแต่ข้าผู้เดียว จึงได้หนังราชสีห์มาแต่ป่าพระหิมพานต์ แลพระยาจึงให้เลี้ยงดูแล้ว จึงให้เถือเอาหนังราชสีห์ไว้หน่อยหนึ่ง แล้วจึงส่งให้ไปแก่พระยาเถือเอาหนังราชสีห์ไว้ทุก ๆ เมือง กว่าจะถึงเมืองอินทปัตนั้น ยังหนังราชสีห์นั้นเท่าพรมปูนั่งนั้นแล ครั้นถึงเมืองอินทปัตนคร ขุนสิงหฬสาครจึงเอาหนังราชสีห์เข้าไปถวายแก่พระเจ้าโคตมมหาราช ๆ จึงถาม หาเหตุ แลขุนสิงหฬสาครจึงกราบทูลอาการทั้งปวงแก่พระมหากระษัตริย์เจ้า ๆ เห็นความจริง จึงให้พระราชทานเงินทองแก่ขุนสิงหฬสาครเปนอันมาก แล้วขุนสิงหฬสาครก็ทูลลามาบ้านแห่งตนแล้วจึงถามข้าไทแลน้องสาวแห่งตนตามคำ เมียตนสั่งมา ข้าไทแลน้องสาวบอกเนื้อความดังนั้นให้พี่ตนฟัง ก็สมคำเมียตนที่ตายบอกมานั้นทุกประการแล ฯ

ตำนานพระแก้วมรกฎ

แต่ที่นี้จะกล่าวเรื่องตำนานพระแก้วมรกฎต่อไป ดำเนินความแต่ต้นดังนี้ จะกล่าวนิทานพระแก้วเจ้าอันประเสริฐล้ำเลิศยิ่งนักหนา ยังมีพระอรหันต์เจ้าพระองค์หนึ่งทรงนามชื่อว่าพระนาคเสน อันจบด้วยไตรปิฎก แลมีปัญญาอันฉลาดฦกล้ำ แลรู้โจทนาแก้ปฤษณาปัณหาทั้งปวง ซึ่งพระอรหันต์เจ้าองค์นั้นเธอเปนอาจารย์แก่พระยามิลินทราชมหากระษัตริย์ นั้นแล เดิมเมื่อพระศรีสากยมุนีโคดมบรมพุทธครูเจ้า พระองค์ได้เสด็จดับขันธ์เข้าสู่เมืองแก้ว กล่าวคืออมตมหานฤพานไปแล้วนั้น ครั้นอยู่มานานได้ ๕๐๐ พระวัสสา ยังมีพระอรหันต์เจ้าพระองค์หนึ่ง มีนามปรากฏชื่อว่าพระมหานาคเสน เปนศิษย์แห่งพระมหาธรรมรักขิตเถร อยู่ในอโสการามอันมีในปาตลีบุตรมหานครแล ครั้นพระมหาธรรมรักขิตเถรเจ้านิพพานไปแล้ว อยู่มาข้างหลังพระมหานาคเสนองค์เปนศิษย์เธอจึงพิจารณาเห็นโดยปัญญาแห่งเธอ ว่า ควรเราจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าไว้ให้เปนที่นมัสการแก่มนุษย์แลเทพาไปข้างน่า นั้นควรแล แต่ว่าเราจะสร้างด้วยเงินแลคำให้มั่นคงถึง ๕๐๐๐ พระวัสสานั้นหาได้ไม่ด้วยคนทั้งปวงเขามีโลภะโทสะโมหะมาก กลัวแต่เขาจะทำให้พระพุทธรูปเจ้าฉิบหายยับเยินเสียแต่ข้างน่านั้นแลควรเราจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วลูกประเสริฐอย่าให้พวกคนบาปทั้งปวงทำอันตรายให้ ฉิบหายได้แต่ข้างน่านั้นจึงควรแล แต่ว่าเราจะได้แก้วอันสมควรจะสร้างพระพุทธรูปเจ้าแต่ที่ไหน ครั้นพระมหานาคเสนคิดวิตกดังนี้แล้ว

เมื่อนั้นบั้นสมเด็จอมรินทราธิราชบพิตร พระองค์จึงคิดเห็นอัธยาไศรยแห่งพระมหานาคเสนเถรเจ้า อันมีความปรารถนาจะใคร่สร้างพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วดังนั้นแล้ว จึงสมเด็จบพิตรพระองค์จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์กับด้วยพระวิศณุกรรมเทพบุตรนั้น แล้ว พระองค์จึงเข้าไปไหว้พระมหานาคเสนเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า บัดนี้พระผู้เปนเจ้ามีความปรารถนาจะใคร่สร้างพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วลูก ประเสริฐ จะให้เปนที่นมัสการบูชาแก่มนุษย์แลเทพยดาทั้งปวงนั้นแล แต่นั้นบั้นพระมหานาคเสนเจ้าจึงรับขานกับพระอินทราว่า เออเราก็มีความปรารถนาอยากจะใคร่สร้างยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วลูกประเสริฐ นั้นจริงแล แต่นั้นบั้นโกสินทร์อมรินทราธิราชบพิตรพระองค์จึงไหว้พระมหานาคเสนเจ้าต่อไป ว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า ถ้าแลพระผู้เปนเจ้ามีความปรารถนาจะใคร่สร้างพระพุทธรูปเจ้า ด้วยแก้วลูกประเสริฐจริงแท้ ข้าจะช่วยสง เคราะห์ให้แล้วโดยสมความปรารถนา ข้าจะใช้ให้วิศณุกรรมเทพบุตรไปเอาแก้วอันมีในเขาเวบุลบรรพตมาถวายแก่พระผู้ เปนเจ้าแล ครั้นสมเด็จพระอินทราไหว้พระมหานาคเสนเท่านั้นแล้ว พระอินทร์จึงตรัสแก่พระวิศณุกรรมเทพบุตรว่า ดูกรเจ้าวิศณุกรรม เจ้าจงไปนำเอามายังแก้วลูกประเสริฐ อันมีอยู่ในเขาเวบุลบรรพตนั้นมาโดยเร็วเถิด เราจะเอามาถวายแก่พระนาคเสนเจ้า ท่านจะสร้างเปนพระพุทธรูปไว้ให้เปนที่นมัสการบูชาแก่มนุษย์แลเทพาไปข้างน่า แล

เมื่อนั้นบั้นพระวิศณุกรรมเทพบุตร กราบทูลสมเด็จอมรินทราธิราชเจ้าว่า ข้าแต่พระอินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ข้าพเจ้าไปเอาแก้วลูกประเสริฐในเขาเวบุลบรรพตนั้น ซึ่งพวกกุมภัณฑ์คน ธรรพยักษ์อารักษเทพยดาทั้งปวงที่เขาอยู่รักษาแก้วไว้นั้นก็มีมากนักหนาจะให้ แต่ข้าพเจ้าไปคนเดียวเท่านั้นเห็นเขาจะไม่ให้ ข้าพเจ้าขอเชิญองค์สมเด็จพระอินทราเจ้าจงเสด็จไปด้วยข้าพเจ้าเถิด ซึ่งพวกกุมภัณฑ์คนธรรพยักษ์ทั้งปวง ครั้นเขาได้เห็นองค์สมเด็จพระอินทราเจ้าแล้วเขาก็จะให้แก้วลูกประเสริฐ ถวายแก่สมเด็จพระราชบพิตรเจ้าแล

เมื่อนั้นบั้นสมเด็จพระอินทรา ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังถ้อยคำแห่งพระวิศณุกรรมเทพบุตรกราบทูลนั้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปสู่เขาเวบุลบรรพต พร้อมกับพระวิศณุกรรมเทพบุตรนั้นแล ครั้นถึงแล้วพระองค์ก็เห็นคนธรรพกุมภัณฑ์ทั้งปวง อยู่ในเขาเวบุลบรรพตเปนอันมาก พระอินทร์จึงทรงตรัสแก่พวกกุมภัณฑ์คนธรรพยักษ์ทั้งปวงว่า ดูกรท่านทั้งหลายทั้งปวง เราเข้ามาสู่เขาเวบุลบรรพตบัดนี้ ด้วยเราจะมาขอเอาแก้วลูกประเสริฐไปถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้า ด้วยท่านมีความ ปรารถนาจะสร้างแปลงเปนพระพุทธรูปเจ้าแล ท่านทั้งปวงจงให้แก้วลูกประเสริฐแก่เราเถิด

เมื่อนั้นบั้นกุมภัณฑ์คนธรรพยักษ์ทั้งปวง จึงกราบทูลสมเด็จพระอินทราว่า ข้าแต่พระองค์เจ้า ซึ่งแก้วลูกประเสริฐอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงรักษาไว้นี้ มิใช่เปนแก้วสิ่งใดสิ่งอื่นเลย แม่นแก้วมณีโชติอันเปนของพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า มีแก้วทั้งหลายพันลูกเปนบริวารล้อมอยู่ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจะถวายแก้วลูกนี้แก่องค์สมเด็จมหาราชเจ้านั้น ครั้นบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าเกิดมาแต่ข้างน่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงก็หาแก้วลูกประเสริฐจะถวายท่านมิได้เสีย อนึ่งซึ่งแก้วมณีโชติลูกนี้ก็มีอิทธิเลิศมหิทธิศักดานุภาพนักหนา ถ้าสำ แดงฤทธิเสด็จที่ใดดังนั้น คนทั้งปวงก็จะมีความสงไสยว่า พระยาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตนประเสริฐเกิดมาในที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงก็มิอาจที่จะถวายแก้วมณีโชติลูกนี้แก่องค์สมเด็จ มหาราชเจ้าได้แล แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจะขอถวายแก้วมรกฎลูกหนึ่ง มีรัศมีอันเขียวงามบริสุทธิ์ แก่องค์สมเด็จมหาราชเจ้าแล ซึ่งมณีโชติลูกนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังถวายไม่ได้ ขอองค์สมเด็จมหาราชเจ้าจงเอาแก้วมรกฎลูกนี้เพื่อถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้า เถิด ซึ่งแก้วมรกฎลูกนี้มีแก้วลูกประเสริฐเปนบริวารพันลูกล้อมเปนบริวาร อยู่ถัดกำแพงอันล้อมแก้วมณีโชติลูกนั้นแล

เมื่อนั้นบั้นสมเด็จอมรินทราธิราช ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังถ้อยคำพวกกุมภัณฑ์คนธรรพยักษ์ทั้งปวงหากกราบทูล นั้นแล้ว พระองค์ก็พาเอาพระวิศณุกรรมเสด็จเข้าไปสู่ที่มีแก้วมรกฎนั้นแล พระองค์ก็ถือเอายังแก้วมรกฎลูกประเสริฐ ครั้นได้แล้วพระองค์ก็พาเอาพระวิศณุกรรมเทพบุตร เสด็จรีบมาจากเขาเวบุลบรรพต ครั้นถึงอโสการามแล้ว พระองค์ก็เอาแก้วมรกฎลูกนั้นเข้าไปถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้าแล้ว พระองค์ก็กราบลาพระมหานาคเสนเจ้าแล้วก็เสด็จคืนเมื่อสู่เมืองสวรรค์อันเปน ที่อยู่ของพระองค์นั้นแล อยู่มาแต่นั้นบั้นพระมหานาคเสนเจ้า ครั้นท่านได้แก้วมรกฎลูกนั้นแล้วก็มีความยินดีเปนที่สุด แล้วท่านจึ่งลำลึกนึกในใจว่า เราจะได้บุทคลผู้ใดมีปัญญาอันฉลาด อาจ มาสร้างแปลงยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วมรกฎลูกนี้ ให้สำเร็จดังความปรารถนาของเรานี้เล่า ครั้นพระมหานาคเสนเจ้านึกในน้ำพระไทยดังนี้แล้ว

เมื่อนั้นพระวิศณุกรรมเทพบุตร ก็ฉลาดรู้อัธยาไศรยน้ำใจแห่งพระมหานาคเสนเจ้าแล้ว พระวิศณุกรรมจึ่งจำแลงแปลงกายเปนมนุษย์คนหนึ่งเข้ามาไหว้พระมหานาคเสนเจ้า แล้วว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า ข้านี้ก็ฉลาดเคยสร้างแปลงพระพุทธรูปเจ้าแล ถ้าและพระผู้เปนเจ้ามีความ ปรารถนาจะใคร่สร้างพระพุทธรูปเจ้า ด้วยแก้วมรกฎลูกนี้ ข้าก็จะสร้างแปลงให้สำเร็จความปรารถนาพระผู้เปนเจ้าเถิด

เมื่อนั้นบั้นพระมหานาคเสนเจ้า ครั้นได้ฟังยังถ้อยคำพระวิศณุ กรรมเทพบุตรอันจำแลงแปลงเปนมนุษย์เข้ามาบอกแก่ตนนั้นแล้ว ท่านก็มีน้ำใจยินดีเปนที่สุด ท่านจึงพูดกับบุรุษคนนั้นว่าถ้าท่านเคยฉลาดสร้างแปลงอย่างนั้น ท่านจงสร้างแปลงยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้ว มรกฎลูกนี้ ให้เปนที่นมัสการแก้มนุษย์แลเทพบุตรทั้งปวงเถิด

เมื่อนั้นจึงพระวิศณุกรรมเทพบุตร อันจำแลงแปลงเปนบุรุษนั้น ครั้นได้ฟังพระมหานาคเสนบอกตนเท่านั้นแล้ว ท่านก็สร้างแปลงยังพระพุทธรูปเจ้าด้วยแก้วมรกฎลูกนั้น นานได้ ๗ วันจึงสำเร็จการแล้วพระวิศณุกรรมเทพบุตรจึงนิมิตรเปนมหาวิหารอันใหญ่แล้ว ให้ประดับไปด้วยเครื่องประดับทั้งปวงต่าง ๆ มีแก้วเปนประธาน ให้ทั่วไปในอโส การามที่นั้นแล้ว จึงตั้งไว้ยังพระแก้วเหนือแท่นรัตนบัลลังก์กาญจนอันประเสริฐ ในท่ามกลางพระมหาวิหารที่นั้นแล้ว จึงพระวิศณุกรรมเทพบุตรก็เสด็จขึ้นไปสู่สวรรคเทวโลกอันเปนที่อยู่แห่งตนนั้น แล

เมื่อนั้นบั้นพระอินทร์พระพรหม แลเทพยดานาคครุธมนุษย์กุม ภัณฑ์ทั้งปวง ครั้นได้รู้ว่าพระวิศณุกรรมเทพบุตรได้สร้างแปลงยังพระแก้วเจ้า ให้แก่พระมหานาคเสนเจ้าแล้ว ก็มีความชื่นชมโสมนัศทุกตนทุกพระองค์แล้ว จึงนำมายังสิ่งของอันควรบูชาทั้งปวง มีดอกไม้แลธูปเทียนเปนประธานแล้ว ก็พากันเข้ามาถวายนมัสการบูชาพระแก้วเจ้าเปนอันมากนัก แม้ว่าพระอรหันตาสาวกเจ้าทั้งปวงได้ร้อยโกฏิพระองค์อันอยู่ในชมพูทวีปทั้ง ๔ ทิศ ๘ ทิศ มีพระมหานาคเสนเปนประธาน ก็พร้อมกันเข้ามานมัสการพระแก้วเจ้าทั้งสิ้น แม้ท้าวพระยามหากระษัตริย์ แลเสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงอันอยู่แต่ประเทศราชทั้ง ๔ ทิศ ๘ ทิศ ก็พากันเข้ามาถวายนมัสการบูชาพระแก้วเจ้าทั้งสิ้น ซึ่งพระแก้วเจ้าพระองค์นั้นอันหาจิตรวิญญาณมิได้ ก็กระทำปาฏิหาริย์เปล่งออกยังฉัพพรรณรังษีมากนักหนาหาที่จะเปรียบมิได้

เมื่อนั้นพระอินทร์พระพรหม กับทั้งหมู่เทพยดานาคครุธกุมภัณฑ์ ทั้งปวง แลพระอรหันต์เจ้าทั้งปวง ครั้นได้เห็นยังอัศจรรย์นั้นแล้ว ก็มีน้ำใจยินดีซึ่งอานุภาพพระแก้วเจ้านั้นเปนที่สุดก็พร้อมกันไปส้องสาธุ การมากนักหนา แล้วก็สมเสพด้วยเสียงดุริยดนตรีทิพย์ต่าง ๆ นั้นแล

เมื่อนั้นจึงพระมหานาคเสนเจ้า จึงนำเอามายังพระบรมธาตุเจ้า ๗ พระองค์อันงามบริสุทธิ์ แลมีฉัพพรรณรังษีต่าง ๆ กัน อันพระอินทร์พระพรหมแลเทพยดาทั้งปวงหากรักษาไว้นั้นมาแล้ว ท่านจึงให้ตั้งไว้ยังพานเงิน ๗ พานซ้อนกันขึ้นแล้ว จึงตั้งไว้ยังสุวรรณพานทอง ๗ พาน ซ้อนกันขึ้นแล้วเล่า ตั้งยังพานแก้ว ๗ พานซ้อนกันขึ้นบนพานเงินพานทองนั้นแล้ว จึงเชิญพระบรมธาตุเจ้า ๗ พระองค์นั้นใส่ในผะอบแก้วลูก ๑ อันวิจิตรงามมากนักด้วยฤทธิ์แห่งตนแล้ว จึงยกผะอบแก้วขึ้นประดิษ ฐานไว้บนพานเงินพานทองพานแก้วนั้นแล

เมื่อนั้นจึงพระอรหันต์เจ้าทั้งปวง มีพระมหานาคเสนเจ้าเปนประธาน กับพระอินทร์พระพรหมแลหมู่เทพยดาแลคนทั้งปวงก็มีความชื่นชมโสมนัศหาที่สุดมิ ได้ ก็พร้อมกันถวายนมัสการบูชาด้วยสุคนธรศทั้งปวง มีดอกไม้เปนประธานแล้ว ก็พร้อมกันสรรเสริญยกยอคุณพระแก้วเจ้านั้นเปนที่สุด จึงเทพยดาเจ้าทั้งปวงก็หว่านลงยังดอกไม้ทิพย์ถวายบูชาแล้ว ก็สรงยังพระบรมชินธาตุเจ้า ๗ พระองค์ด้วยน้ำสุคนธ รศอันหอมนักในผะอบแก้วนั้นแล้ว จึงพระบรมธาตุเจ้า ๗ พระองค์นั้นก็กระทำปาฏิหาริย์เปล่งพระรัศมี ๖ ประการ ให้รุ่งเรืองสว่างไปทั่วทิศทั้ง ๔ ทิศทั้ง ๘ แล้ว ก็ให้รุ่งขึ้นทั่วพื้นอากาศเวหาทั้งมวญนั้นแล

เมื่อนั้นพระมหานาคเสนเจ้า จึงตั้งสัตยาธิษฐานขออาราธนาเชิญ พระบรมธาตุเจ้า ๗ พระองค์นั้น ให้เสด็จเข้าไปในพระองค์พระแก้วเจ้านั้นแล

เมื่อนั้นพระบรมธาตุเจ้า๗พระองค์นั้น จึงพระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าในพระโมฬี พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าไปในพระภักตร์ พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าในพระหัตถ์กำขวา พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าในพระหัตถ์กำซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าข้างขวา พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าในเข่าข้างซ้าย พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าในพระชงฆ์แห่งพระแก้วเจ้าสิ้นทั้ง ๗ พระองค์นั้นแล้ว

เมื่อนั้นพระแก้วเจ้าก็ทำปาฏิหาริย์ยกขึ้นยังฝ่าพระบาทกำขวาดุจดังจะเสด็จลง จากแท่นบัลลังก์กาญจนนั้น

เมื่อนั้นพระอินทร์พระพรหมเทพยดา แลคนทั้งปวง เห็นเปนน่าอัศจรรย์นักหนา ก็ร้องป่าวกันให้ส้องสาธุการเปนอันมากแล้วก็ถวายบูชาด้วยแก้วแลเงินคำ ผ้าผ่อนเครื่องอาบอบแก่พระแก้วเจ้าเปนอันมากนั้นแล

เมื่อนั้นพระมหานาคเสนเจ้าครั้นท่านได้เห็นอัศจรรย์อันนั้นแล้วท่านจึงเล็ง อรหัตมรรคญาณไปแต่ข้างน่านั้น จึงเห็นว่าพระแก้วเจ้านี้จะไม่ได้อยู่ในเมืองปาตลีบุตรเปนมั่นคง ท่านจึงทำนายไว้ว่า ดูกรท่านทั้งปวง ซึ่งพระแก้วเจ้าของเราองค์นี้ มิใช่จะอยู่เมืองปาตลีบุตรที่นี้เปนมั่นคงเลย ท่านยังจะเสด็จไปโปรดสัตวในประเทศ ๕ แห่ง คือลังกาทวีปเปนกัมโพชวิไสยแห่ง ๑ ศรีอยุทธยาวิไสยแห่ง ๑ โยนก วิไสยแห่ง ๑ สุวรรณภูมิวิไสยแห่ง ๑ ปมหลวิไสยแห่ง ๑ เข้ากันเปน ๕ แห่งนี้แล ครั้นพระมหานาคเสนเจ้าทำนายไว้ดั่งนี้แล้ว ซึ่งคนทั้งปวงอันได้นมัสการบูชาพระแก้วก็ตั้งอยู่ชั่วแดนอายุแห่งตน ครั้นจุติจากมนุษโลกแล้ว ก็เมื้อเกิดในสวรรคเทวโลกสิ้นทุกคนนั้นแล ซึ่งพระมหานาคเสนเจ้าอันประกอบด้วยศีลาทิคุณบริสุทธิ์ แลปรากฏในพระสาสนาพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแห่งเรานี้เหมือนอย่างพระสุริยอาทิตย์ อันปรากฏในนภากาศเวหา แลยกยอพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองงามต่อถึง ๕๐๐๐ พระวัสสา ท่านจึงสร้างพระแก้วเจ้าพระองค์นี้ไว้ให้เปนที่นมัสการบูชาแก่เทพยดาแลคน ทั้งปวง ครั้นท่านตั้งอยู่ตามเขตรอายุของท่านนั้น อันมีสังโยชนธรรมหากสิ้นแล้ว ท่านก็ถึงแก่พระนิพพานธาตุ มีวิบากขันธ์แลกรรมชะรูปในอันนั้นแล

อยู่แต่นั้นไปข้างน่า จึ่งชาวเมืองปาตลีบุตรทั้งปวงมีพระมหากระษัตริย์ แลเสนาอำมาตย์ราชมนตรี เศรษฐีพราหมณเปนประธาน ก็พร้อมกันปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าสืบ ๆ มานานได้ ๓๐๐ ปี ตั้งแรกแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระมหานครนฤพานไปแล้วนั้น มาผสมเข้า ๓๐๐ ปีนั้นพระพุทธสาสนาครบ ๕๐ พระวัสสา จึงมาถึงพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าตะละกะเปนหลานแห่งพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าบุนดะละราชาธิราชท่านก็ได้ครองราชสมบัติเปนกระษัตริย์ใน เมืองปาตลีบุตรที่นั้น ท่านก็ปฏิบัติรักษาพระแก้วเจ้าองค์นั้นต่อไป ท่านจึ่งมีพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่าศิริกิตติกุมาร ครั้นพระเจ้าตะกะละอันเปนพระราชบิดาได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น จึงเจ้าศิริกิตติราชกุมารอันเปนพระราชโอรสก็ได้ครองราชสมบัติเปนกระษัตริย์ ในเมืองปาตลีบุตรที่นั้นสืบแทนพระราชบิดาแห่งตนแล้ว ก็ปฏิบัติรักษาพระแก้วเจ้าต่อไปนั้นแล แต่นั้นการศึกสงครามก็เกิดมีในเมืองปาตลีบุตรที่นั้นมากนัก คนทั้งปวงก็รบพุ่งกันฉิบหายล้มตายมาก แต่นั้นซึ่งคนทั้งปวงพวกเข้าอยู่ปฏิบัติรักษาพระแก้วเจ้านั้น เขาเห็นเหตุจะไม่ดีกลัวพระแก้วเจ้าจะฉิบหายเสีย เขาจึ่งเชิญเอาพระแก้วขึ้นสู่สำเภาลำหนึ่ง พร้อมกับด้วยพระปิฎกธรรมเจ้า กับสิ่งของอันคนทั้งปวงบูชาพระแก้วเจ้านั้นขึ้นสู่สำเภาลำนั้นแล้ว เขาพาหนีไปสู่กัมโพชวิไสยคือว่าลังกาทวีป ครั้นพระแก้วเจ้าเข้าไปอยู่ในลังกาทวีปนานได้ ๒๐๐ ปีแล้ว แรกแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานมาผสมเข้ากับ ๒๐๐ ปีนั้น พระพุทธศักราชครบ ๑๐๐๐ พระวัสสา

ในกาลครั้งนั้นมีกระษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้า อนุรุธราชาธิราช ท่านก็ได้ครองราชสมบัติในพระนครภุกาม แลกระษัตริย์พระองค์นั้นมีฤทธาศักดานุภาพนัก อาจสามารถเหาะไปด้วยล่องอากาศเวหาได้ พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชพระองค์นั้นท่านก็คำนับยังพระสาสนาเปนที่สุด ท่านก็ปฏิบัติรักษาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆเจ้า เปนนิจมิได้ขาด ทีนั้นยังมีพระภิกษุเจ้าพระองค์หนึ่ง มีนามปรากฏ ชื่อว่าสีลขันธ์ ได้อุปสมบทภาวเปนภิกษุสงฆ์ได้ ๕ พระวัสสา ท่านนั้นได้ร่ำเรียนมาก มีปัญญาก็ฉลาดนัก ท่านก็มาพิจารณาดูยังปิฎกธรรมอันมีอยู่ในเมืองภุกาม ทีนั้นท่านก็เห็นว่าพระปิฎกธรรมนั้นผิดอักขระพยัญชนะหาถูกต้อง ไม่ ท่านจึ่งไหว้พระอาจารย์อันอยู่ในวิหารที่นั้นว่า ข้าแต่พระอาจารย์เจ้า ซึ่งเราทั้งปวงได้กระทำบรรพชากรรมแลอุปสมบทกรรมมาแต่ก่อนนั้นผิดเสียแล้ว แลด้วยว่าไม่ถูกอักขระพยัญชนะ บัดนี้เราจะคิดอ่านสถานใดดีเล่า

เมื่อนั้นบั้นพระอาจารย์จึ่งตอบความท่านสีลขันธ์ว่า แต่ข้างหลัง อันเราทั้งปวง ก็ยังหาได้พิจารณาดูในพระปิฎกธรรมทั้งปวงให้รู้เห็นที่ผิดแลชอบเสีย ถ้าแม้จะกระทำบรรพชากรรม แลอุปสมบทกรรมก็ดี เราทั้งปวงก็ได้ทำสืบ ๆ มาตามอย่างธรรมเนียมท่านแต่ก่อนนั้นแล ถ้าแลพระปิฎกธรรมทั้งปวงหากผิดด้วยอักขระพยัญชนะเสียอย่างนั้นเจ้าจงคิดอ่าน พิจารณาดูด้วยปัญญาของเจ้าเถิด ครั้นพระอาจารย์กล่าวเท่านั้นแล้ว จึ่งเจ้าสีลขันธภิกษุนั้น ท่านจึ่งพิจารณาดูว่าตัวของข้านี้ก็ได้อุปสมบทภาวเปนภิกษุแล้ว แต่จะขึ้นฤๅไม่ขึ้นนั้นก็ยังหารู้ไม่ ควรแต่ตูจะไปอุปสมบทในเมืองลังกาทวีปเถิด ท่านพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ท่านจึ่งเข้าไปบอกแก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิราช อันเปนเจ้าพระนครภุกามนั้นว่า ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร พระองค์จงเข้าพระไทยในถ้อยความอาตมาจะถวายพระพรบัดนี้เถิด ซึ่งพระปิฎกธรรมทั้งปวงอันมีอยู่ในเมืองของพระองค์นี้เปนผิดเสีย ไม่ถูกต้องตามอักขระพยัญชนะเลย แม้ว่าเราจะทำบรรพชากรรมแลอุปสมบทกรรมมาแต่ข้างหลังนั้นเปนผิดเสียแล้วแล พระองค์เจ้าจงทรงเห็นในน้ำพระไทยของพระองค์เถิด

เมื่อนั้นบั้นพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังถ้อยความอันพระสีลขันธภิกษุหากถวายพระพรนั้นแล้ว พระองค์จึ่งทรงตรัสต่อพระสีลขันธภิกษุว่า ถ้าแลพระปิฎกธรรมทั้งปวงอันมีอยู่ในเมืองของเราผิดเพี้ยนเสีย ไม่ถูกต้องตามอักขระพยัญชนะอย่างนั้น ซึ่งพระปิฎกธรรมอันไม่ผิดด้วยอักขระพยัญชนะนั้น ยังจะมีแต่เมืองไหนเล่า พระสีลขันธภิกษุจึ่งถวายพระพรว่า ซึ่งพระปิฎกธรรมไม่ผิดอักขรพยัญชนะนั้น พระมหาพุทธโฆษาจารย์เถรเจ้า ท่านหากเขียนไว้ในเมืองลังกาทวีปนั้นเปนอันบริสุทธิ์นักหนาแล

เมื่อนั้นพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชมหากระษัตริย์ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังดังนั้น แล้วท่านก็มีความยินดีเปนที่สุด แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสแก่เสนาบดีให้จัดแจงแต่งสำเภา ๒ ลำ แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ ๘ พระองค์กับพระสีลขันธภิกษุนั้น กับแต่งให้อำมาตย์ ๒ คน แลบ่าวไพร่ทั้งปวงพร้อมแล้ว ก็ให้ขึ้นบนสำเภาทุกคน พระองค์ก็ให้นำไปยังสิ่งของบรรณาการเปนอันมาก มอบให้แก่อำมาตย์ทั้ง ๒ แล้ว พระองค์ก็ส่งสำเภานั้นไปสู่เมืองลังกาทวีปนั้นแล จึ่งพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชนั้น ครั้นพระองค์ได้ส่งสำเภา ๒ ลำนั้นไปแล้ว ท่านสังเกตดูว่ากาลบัดนี้สมควรที่สำเภา ๒ ลำนั้นจะถึงเมืองลังกาทวีปแล้ว ท่านจึ่งขึ้นหลังม้าอัศดรเหาะไปทางอากาศเวหา ท่านก็ไปถึงเมืองลังกาทวีปพร้อมกับสำเภา ๒ ลำในวันเดียวนั้น ครั้นพระองค์ได้ไปถึงเมืองลังกาทวีปแล้ว พระองค์จึ่งแต่งให้อำมาตย์ ๒ คนนั้น นำเอาเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พระเจ้าลังกาทวีป ท่านจึ่งสั่งให้กราบทูลพระเจ้าลังกาว่า พระเจ้าอนุรุธ ราชาธิราชอันเปนสหายท่านก็เสด็จมาถึงเมืองลังกาทวีปที่นี้ด้วย ท่านมีความปรารถนาจะขอเขียนเอาพระปิฎกธรรมทั้ง ๓ กับพระคัมภีร์สัททาวิเสสขึ้นไปไว้ปฏิบัติรักษาในเมืองภุกามนั้นแล

เมื่อนั้นบั้นพระมหากระษัตริย์เจ้าพระนครเมืองลังกาทวีป ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังข่าวสาร อันอำมาตย์ทั้งสองหากกราบทูลนั้นแล้วพระองค์ก็มีความยินดีเปนที่สุด พระองค์จึ่งตรัสแก่อำมาตย์ทั้งปวงให้นำเอาสิ่งของบรรณาการเข้าปลาอาหารเปน อันมากให้ไปทูลถวายแก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชแล้ว พระองค์ซ้ำให้ปลูกโรงเปนตำหนักพักเซาแก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชนั้นแล้ว

เมื่อนั้นเจ้าภิกษุสีลขันธ์องค์ นั้นท่านก็เข้าไปไหว้พระมหาสังฆ ราชทั้งปวง ในเมืองลังกาทั้งปวงนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ซึ่งพระปิฎกธรรมทั้งสามแลพระคัมภีร์สัททาวิเสสอันมีในชมพูทวีปนั้น ก็ผิดด้วยอักขระพยัญชนะเสียนัก แม้จะกระทำบรรพชากรรมแลอุปสมบทกรรมก็กลัวจะไม่ชอบ ข้าทั้งปวงจึ่งได้พร้อมกันเข้ามาในเมืองลังกาทวีปที่นี้ ด้วยมีความปรารถนาจะขอเขียนเอาพระปิฎกธรรมทั้งสามกับพระคัมภีร์สัททาวิเสส ขึ้นไปไว้เปนมูลพระสาสนาในชมพูทวีป อนึ่งข้าทั้งปวงซ้ำจะขอบวชเปนสามเณร แลอุปสมบทภาวเปนภิกษุให้บริสุทธิ์ก่อน

เมื่อนั้นเจ้าสีลขันธภิกษุไหว้ขึ้นทั้งนั้น ซึ่งพระสังฆราชเจ้าจึงกล่าวตอบพระสีลขันธภิกษุว่า เออสาธุดีแล ข้าทั้งปวงจะบอกกล่าวแก่พระภิกษุสงฆ์แลคนทั้งปวงให้ทั่วไปในลังกาทวีปนี้ ก่อน ครั้นมหาสังฆราชกล่าวตอบพระสีลขันธ์เท่านั้นแล้ว ท่านก็ให้บอกกล่าวไปแก่พระภิกษุสงฆ์แลคนทั้งปวงมีพระมหากระษัตริย์เจ้าพระนครลังกาทวีปเปน ประธาน

เมื่อนั้นพระมหากระษัตริย์แลเสนาอำมาตย์ราชมนตรีแลคนทั้งปวงก็ มีความยินดีหาที่สุดมิได้ จึงพร้อมกันนำมายังเครื่องสมณะบริกขารเปนอันมากแล้ว จึงมหาสังฆราชเจ้านั้น ก็ให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงเข้ามาพร้อมมูลกันในอุโบสถวัดนั้น แล้วก็ให้เจ้าภิกษุสงฆ์ ๘ องค์อันไปแต่ชมพูทวีปนั้น มีพระสีลขันธ์เปนประธาน ก็ให้บวชเปนสาม เณร แล้วก็ให้อุปสมบทภาวเปนภิกษุสงฆ์ทั้ง ๘ องค์นั้นแล

เมื่อนั้นเทพยดาเจ้าทั้งปวงก็มีความยินดีมากนักหนา ก็หว่านลงยังเข้าตอกดอกไม้ถวายบูชาเปนอันมากนั้นแล

เมื่อนั้นจึงพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชเจ้า ท่านก็หว่านพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงเขียนเอายังพระปิฎกธรรมสาร ซึ่งตนพระองค์ก็เขียนเอาด้วยตนเอง ครั้นสำเร็จเสร็จการอันเขียนเอายังพระปิฎกธรรมนั้นได้ครบถ้วนแล้ว พระองค์ก็ขอเอาพระแก้วมรกฎเจ้ากับพระมหากระษัตริย์เจ้าพระนครลังกาซึ่งเปนพ ระสหาย ครั้นได้แล้วท่านก็ให้ยกเอาพระแก้วมรกฎเจ้ากับทั้งพระปิฎกธรรมอันพวกเมืองภุ กามหากเขียนเอานั้นขึ้นสู่สำเภาลำ ๑ แล้วก็ให้ยกเอาพระปิฎกธรรมอันพวกชาวเมืองลังกาช่วยเขียนนั้น กับพระภิกษุ ๘ องค์นั้นขึ้นสู่สำเภาลำ ๑ แล้วพระองค์ก็สั่งให้ออกมาจากลังกาทวีปทั้ง ๒ ลำนั้นแล้ว จึงพระอนุรุธราชาธิราช พระองค์ก็เสด็จขึ้นสู่หลังม้าแก้วอัศดรแล้วก็เหาะมาทางอากาศ พระองค์ก็มาถึงพระนครภุกามแล้วก็อยู่ตามศุขสวัสดิ พระองค์ก็คอยท่าสำ เภา ๒ ลำนั้นอยู่แล

บัดนี้จะกล่าวถึงสำเภา ๒ ลำนั้นก่อน ครั้นออกมาถึงท่ามกลางมหาสมุท ซึ่งสำเภาลำอันใส่พระปิฎกธรรมพวกชาวลังกานั้นก็เข้าไปถึงเมืองภุกามโดย สวัสดี ซึ่งสำเภาลำใส่พระแก้วเจ้ากับพระปิฎกธรรม อันชาวเมืองภุกามหากเขียนเอานั้น ก็พลัดเข้าไปถึงเมือง อินทปัตมหานครนั้นแล

เมื่อนั้นพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชมหากระษัตริย์ ครั้นพระองค์ได้ทรงคอยยังสำเภา ๒ ลำนั้น ก็เห็นแต่สำเภาพระปิฎกธรรมเข้ามาแต่ลำเดียว ซึ่งสำเภาทรงพระปิฎกธรรมแลพระแก้วเจ้านั้น ก็ไม่เห็นเข้ามาเลย พระองค์ก็น้อยน้ำพระไทยเปนนักหนา พระองค์ก็นึกแหนงแคลงพระไทยอยู่ จะเปนเหตุผลอันตรายประการใดก็ไม่รู้เลย พระองค์ก็พิจารณาไปในน้ำพระไทยอยู่ดังนี้มิได้ขาด ครั้นอยู่มามินานเท่าใด พระองค์จึงได้ข่าวว่าสำเภาอันทรงพระปิฎกธรรมกับพระแก้วเจ้านั้น พลัดเข้าไปในเมืองอินทปัตมหานคร พระองค์ก็มิอาจที่จะอยู่ช้าได้ พระองค์ขึ้นสู่หลังม้าแก้วอาชาไนย ก็เสด็จไปด้วยล่องอากาศเวหา จึงไปถึงเมืองอินทปัตมหานครแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงสู่อารามแห่งหนึ่ง อันใกล้เมืองอินทปัตมหานครนั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จลงจากหลังม้าแก้วอาชาไนยแล้ว พระองค์ก็แลเห็นแผ่นศิลาแห่งหนึ่งใหญ่หนานัก พระองค์ก็ถ่ายปัสสาวะลงเหนือหลังศิลาแผ่นนั้น น้ำปัสสาวะของพระองค์นั้นก็ลอดหินนั้นลงมาลุ่มนั้นแล

เมื่อนั้นยังมีพระภิกษุองค์หนึ่ง อันอยู่ในอารามที่นั้น ท่านก็มาเห็นยังน้ำมูตรแห่งพระมหากระษัตริย์องค์นั้น อันลอดหลังหินลงไปท่านก็บังเกิดความอัศจรรย์เปนนักหนา ท่านจึงถามพระเจ้าอนุรุธรา ชาธิราชเจ้าพระองค์นั้นว่า ดูกรอุบาสก ท่านนี้มาแต่เมืองใด ท่านนี้มีชื่อใด

เมื่อนั้นพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชมหากระษัตริย์ ท่านก็บังความเสียไม่บอกตามสัจซื่อ ท่านจึงไขไปว่าข้านี้เปนคนใช้พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชเจ้าพระมหานครภุกาม แลเจ้าภิกษุองค์นั้นซ้ำถามว่าท่านนี้มีธุรกิจการอะไร ท่านจึ่งเข้ามาเมืองอินทปัตมหานครนี้เล่า พระเจ้าอนุ รุธราชาธิราชจึงไหว้ว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า ซึ่งเจ้าพระนครภุกามนั้น ใช้ให้ข้ามานำสำเภาอันทรงพระแก้วเจ้า กับทั้งพระปิฎกธรรมซึ่งพลัดหลงเข้ามาถึงเมืองอินทปัตมหานครนี้แล

เมื่อนั้นจึ่งเจ้าภิกษุองค์นั้น ครั้นท่านได้ยินความพระเจ้าอนุรุธ ราชาธิราชบอกเล่านั้นแล้ว ท่านก็ไปแจ้งความแก่พระสังฆราชเจ้าว่า นี้นั้นตามเหตุผลทุกประการ ครั้นพระมหาสังฆราชทราบถ้อยความดังนั้นแล้ว ท่านก็เข้าไปถวายพระพรแก่พระเจ้าอินทปัตมหานครนั้นว่า อาตมาภาพขอถวายพระพรแก่มหาราชบพิตร ซึ่งพระเจ้าอนุรุธราชาธิ ราชเจ้าพระนครภุกาม แต่งให้คนใช้นำเอาพระปิฎกธรรมกับทั้งพระแก้วอันพลัดหลงมาในเมืองพระองค์นี้ แล

เมื่อนั้นบั้นพระมหากระษัตริย์เจ้าพระนครอินทปัต ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังเหตุผล อันพระมหาสังฆราชถวายพระพรนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงคิดในพระไทยแล้วพระองค์จึงไหว้พระมหาสังฆราชเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า ซึ่งสำเภาพระปิฎกธรรมกับทั้งพระแก้วเจ้าอันพลัดเข้ามาถึงบ้านเมืองของเรานี้ ก็เพราะบุญสมภารของข้า แลข้าไม่ให้แล ครั้นพระองค์ทรงตรัสเท่านั้นแล้ว จึงพระมหาสังฆราชเจ้าก็ลาหนีเมื้อพระอาวาศของท่าน แต่นี้ความก็เลื่องฦๅไปทั่วพระมหานครอินทปัตนั้นแล

เมื่อนั้นจึงพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบยังข่าวสาร อันชาวเมืองทั้งปวงหากได้บอกกันว่า พระเจ้าอินทปัต มหานครไม่ให้ยังสำเภาพระปิฎกธรรมกับพระแก้วเจ้าแก่ตน พระองค์ก็ทรงพระกริ้วโกรธเปนนักหนา พระองค์จึงพิจารณาดูน้ำพระไทยของพระองค์ว่า แม้กูจะฆ่าเสียยังกระษัตริย์เจ้าเมืองอินทปัตมหานครเสนาอำมาตย์ก็ได้แต่ว่า กูได้เกิดมาในชาตินี้กูก็ได้เปนพระยาธรรมิกราชาธิราชย่อมได้พูดยังสัตย์แลคน ทั้งปวงโดยชอบธรรมมากนัก ครั้นแลจะฆ่าเสียยังคนทั้งปวงเหล่านี้ มหากรรมอันหนักก็ถึงยังองค์กูพระมหากระษัตริย์เจ้านี้แล อย่ากระนั้นเลยควรแก่กูพระมหากระษัตริย์จะแสดงศักดานุภาพ ให้แก่คนทั้งปวงได้เห็นเปนที่อัศจรรย์ ให้เขาเข็ดขามเกรงกลัวแก่ฤทธิ์เดชของกูเถิด ครั้นพระองค์ทรงพระราชดำริห์ในพระไทยดังนี้แล้ว พระองค์ก็เอาไม้มากระทำเปนรูปดาบ จึงทาด้วยฝุ่นหินดิบดีแล้ว พระองค์ก็เหาะขึ้นไปสู่อากาศเวหา แล้วจึงกระทำประทักษิณรอบกำแพงเมืองอินทปัตมหานครสามคาบ สกดคนทั้งปวงมีพระมหากระษัตริย์เปนประธานแล้ว จึงเสด็จเข้าไปในพระมหาปราสาทราชมณเฑียรแห่งพระมหากระษัตริย์เมืองอินทปัต มหานครนั้น แล้วท่านจึงเอาดาบไม้นั้นขีดพระสอเจ้าพระนครนั้นแล้ว แลขีดฅอพระอรรคมเหษี แลฅอเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงแล้ว จึงเสด็จไปโดยอากาศแล้วจึงป่าวร้องด้วยพระสุรสิงหนาทว่าดูราท่านทั้งปวงเฮย ถ้าแลท่านทั้งปวงจะไม่ให้ยังสำเภาพระปิฎกธรรมกับพระแก้วเจ้าแก่เราพระมหากระษัตริย์ดังนี้ เราผู้พระมหากระษัตริย์ก็จะตัดศีศะท่านทั้งปวงพรุ่งนี้เสียจงสิ้น ถ้าท่านทั้งปวงมิเกรงกลัวเข็ดขามแก่พระราชอาชญาของเราพระมหากระษัตริย์ดัง นั้น ท่านทั้งปวงจงลูบฅอท่านทั้งปวงดูเถิด

เมื่อนั้นบั้นพระมหากระษัตริย์แลเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อย บรรดาอยู่ในเมืองอินทปัตมหานครนั้น ครั้นได้ยินเสียงสิงหนาททองอาจป่าวร้องทั่วเมืองอินทปัตมหานครนั้นแล้ว ก็มีความตกใจเปนนักหนา จึงพากันลูบฅอดูทุกคนก็เห็นฝุ่นหินติดอยู่ที่ฅอทุกคน ก็มีความเข็ดขามเกรงกลัวแก่ฤทธิ์เดชของพระองค์เจ้าอนุรุธราชาเปนนักหนา จึงพระมหากระษัตริย์เจ้าพระนครอินทปัตก็มิอาจที่จะเอาไว้ได้ พระองค์จึงใช้ให้อำมาตย์ทั้งสองผู้ฉลาดด้วยปัญญาไปกราบทูลแก่พระเจ้าอนุรุ ธราชาธิราชว่า ข้าแต่พระองค์เจ้าซึ่งสำเภาพระแก้วเจ้ากับทั้งพระปิฎกธรรมอันพลัดหลงเข้ามา ในที่นี้ ถ้าแลเปนสำเภาของพระองค์เจ้าจริงแท้ ซึ่งพระเจ้าอินทปัต มหานครท่านก็ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรี ท่านก็ไม่ขัดขวางไว้เลย ท่านก็ใช้ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ มาทูลถวายคืนให้แก่พระองค์เจ้าแลแต่ ว่าพระองค์เจ้าเสด็จมาเปนแต่พระองค์หนึ่งพระองค์เดียว จะมอบหมายแก่พระองค์เจ้าก็ไม่สมไม่ควรเลย ขอเชิญพระองค์เจ้าเสด็จไปยังพระนครภุกามเสียก่อน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจักขอพระราชทานส่งไปต่อภายหลัง

เมื่อนั้นจึงพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังถ้อยคำอำมาตย์ทั้ง ๒ หากกราบทูลนั้น พระองค์ก็เสด็จหนีมาโดยทางอากาศก็มาถึงพระนครภุกามแล้ว

เมื่อนั้นฝ่ายพระเจ้าอินทปัตมหานคร ครั้นเมื่อพระเจ้าอนุรุธ ราชาธิราชเสด็จหนีไปเมืองภุกามแล้ว พระองค์ก็ให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวง ยกเอาพระแก้วมรกฎเจ้าให้ประดิษฐานในที่อันสมควรแล้ว พระองค์ก็ให้จัดแจงส่งไปกับทั้งสำเภาพระปิฎกธรรม ให้แก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชนั้นแล

เมื่อนั้นฝ่ายพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ครั้นพระองค์ได้สำเภาพระปิฎกธรรม ซึ่งพระเจ้าอินทปัตมหากระษัตริย์ส่งไปนั้นแล้ว พระองค์ก็ให้คนทั้งปวง ยกเอาพระปิฎกธรรมเจ้าจากสำเภาขึ้นไปไว้ในที่อันสมควรแล้ว พระองค์ก็ไม่เห็นยังพระแก้วเจ้านั้น แล้วพระองค์ก็ทรงเห็นในน้ำพระไทยว่า ซึ่งพระเจ้าอินทปัตมหานครมีความปรารถนาจะใคร่ ได้พระแก้วเจ้าไว้ปฏิบัติรักษา พระองค์ก็ไม่มีอาไลยกับพระแก้วเจ้านั้นแล พระองค์ก็ยกย่องพระพุทธสาสนาในเมืองภุกามที่นั้น ให้รุ่งเรืองงามมากนั้นแล

ขณะนั้น จึ่งพระสาสนาของพระบรมพุทธครูเจ้านั้น ก็ล่วงลับดับไปนานได้ ๑๑๗๒ จึ่งพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชนั้น พระองค์ให้ตัดเสียซึ่งพระพุทธศักราชอันเก่าซึ่งล่วงไปแล้วนั้น ท่านจึงให้ตั้งเอายังพระพุทธศักราชแรกแต่นั้นมา ซึ่งพระปิฎกธรรมทั้ง ๓ พระคัมภีร์ก็ดี พระคัมภีร์สัททาวิเสสทั้งปวงก็ดี ก็ไม่ผิดด้วยอักขระพยัญชนะสักแห่ง พระองค์ก็แผ่ไปในสกลชมพูทวีปทั้งปวงต่อ ๆ มาจนกาลบัดนี้แล

บัดนี้จะกล่าวถึงพระเจ้าอินทปัตมหานครนั้นก่อน ครั้นพระองค์ได้พระแก้วมรกฎแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ ให้บอกแก่ชาวเมืองทั้งปวงทั่วไปในพระนครทั้งปวงแล้ว ก็พร้อมมูลกันมาฉลองบูชาพระแก้วเจ้าด้วยสิ่งทั้งปวงอันควรบูชาเปนอันมาก นักหนา อยู่มาแต่นั้น พระองค์ก็ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าเปนนิตย์มิได้ขาดนั้นแลแต่นั้นซึ่งพระพุทธสาสนาของพระบรมพุทธครูเจ้านั้น ก็รุ่งเรืองงามไปทั่วสกลชมพูทวีปทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระแก้วเจ้านั้นแล พระแก้วเจ้าองค์นั้นก็ตั้งอยู่ในเมืองอินทปัตมหานครนั้นสิ้นกาลนานนัก ได้หลายชั่วพระมหากระษัตริย์ ซึ่งครองราชสมบัติในเมืองอินทปัตมหานครนั้น ต่อมาถึงพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าเสนกราชกระษัตริย์ ก็ได้ครองราชสมบัติในเมืองอินทปัตมหานครนั้น ท่านก็ได้ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าต่อไปนั้นแล

ครั้นอยู่มาแต่นั้น ซึ่งพระเจ้าเสนกราชพระองค์นั้น ท่านก็มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ครั้นเจริญพระกายใหญ่มาพอเล่นแล้ว จึงเจ้าราชบุตรพระองค์นั้น ก็เอาแมลงวันเขียวมาเลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง ใส่ไว้ในผะอบคำแล้ว ก็เล่นไปทุกวันนั้นแล

ในกาลนั้นยังมีสับบุรุษคนหนึ่ง อันเปนอาจารย์แห่งพระเจ้าเสนกราช จึงอาจารย์คนนั้นก็ได้ลูกชายคนหนึ่ง ซึ่งบุตรอาจารย์คนนั้นก็เลี้ยงแมลงมุมเสือตัวหนึ่ง จึงกุมารทั้งสองก็ถือเอาซึ่งของเล่นแห่งตนไปเล่นอยู่ด้วยกันทุกวัน ยังมีในวันหนึ่งซึ่งแมลงมุมเสือของกุมารลูกปโรหิตอาจารย์นั้น ก็กินแมลงวันเขียวของเจ้าราชบุตรองค์นั้นเสีย จึงเจ้าราชบุตรองค์นั้นก็ร้องไห้มากนัก จึงบ่าวชายของเจ้าราชบุตรองค์นั้น ก็เข้าไปในพระราชวังแล้ว ก็กราบบังคมทูลพระเจ้าอินทปัต มหานครนั้นว่า ข้าแต่พระองค์ ซึ่งแมลงมุมเสือของลูกปโรหิตอาจารย์นั้น ก็มากินแมลงวันเขียวของเจ้าราชบุตรของพระองค์เสียแล้ว แลซึ่งเจ้าราชบุตรก็ร้องไห้อยู่เปนนักหนา

เมื่อนั้นจึงพระเจ้าอินทปัตมหานคร ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังยังถ้อยคำอันราชบุรุษหากกราบทูลนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงพระกริ้วโกรธเปนนักหนา แล้วจึงทรงตรัสแก่เพ็ชฌฆาฏทั้งปวงว่า ให้ไปจับเอากุมารคนนั้นมาแล้ว พระองค์ก็ให้ผูกไปจมสระเสียนั้นแล แต่นั้นฝ่าย ปโรหิตาจารย์ผู้เปนบิดาแห่งกุมารคนนั้น ก็มีความเคียดแค้นเปนนักหนาจึงกล่าวว่าพระมหากระษัตริย์พระองค์นี้หาชอบธรรม ไม่ ควรแต่กูจะหนีไปในประเทศราชที่อื่นเถิด ครั้นปโรหิตาจารย์คิดเท่านั้นแล้วมินาน ก็พาเอาบุตรภรรยาบ่าวชายหญิงของท่านออกจากเมืองหนีไปในประเทศที่อื่นนั้นแล

แต่นั้นยังมีพระยานาคตัวหนึ่ง อันอยู่ในสระที่นั้น ท่านก็โกรธแก่พระเจ้าอินทปัตมหานครนั้นว่า พระมหากระษัตริย์พระองค์นี้หาชอบธรรมไม่ มัดเอาคนอันหาโทษบมิได้มาจมเสียในสระที่อยู่ของเราให้ตายเสีย พระมหากระษัตริย์พระองค์นี้กระทำไม่ชอบธรรม ควรเราจะกระทำปาฏิหาริย์ ให้น้ำท่วมเมืองอินทปัตมหานครที่นี้เถิด ครั้นพระยานาคตรัสเท่านั้นแล้ว ก็ให้น้ำท่วมเมืองอินทปัตมหานครด้วยฤทธาศักดานุภาพแห่งตนนั้นแล ซึ่งผู้คนอันอยู่ในเมืองอินทปัตมหานครก็ฉิบหายจมน้ำตายเปนอันมาก เท่ายังเศษเหลืออยู่แต่พวกคนทั้งปวงอันขึ้นอยู่บนเรือบนสำเภานั้นแล แต่นั้นยังมีมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งท่านก็ยกเอาพระแก้วเจ้า กับทั้งพวกคนทั้งปวงที่อยู่รักษาพระแก้วเจ้าขึ้นสู่สำเภาลำหนึ่งแล้ว ก็ออกหนีไปแต่เมืองอินทปัตมหานครแล้ว ก็ขึ้นไปสู่บ้านแห่งหนึ่ง ฝ่ายหนเหนือนั้นแล

บัดนี้มาจะกล่าวถึงพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้า อาทิตยราช พระองค์ก็ได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงศรี อยุทธยา ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบว่าน้ำท่วมเมืองอินทปัตมหานครแล้วพระองค์ก็ทรงพระวิ ตกไปเปนอันมาก กลัวแต่พระแก้วเจ้าจะฉิบหายเสียพระองค์ก็เสด็จไปจากกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา พร้อมด้วยจัตุรงคเสนาทแกล้วทหารเปนอันมาก ครั้นไปถึงเมืองอินทปัตมหานครแล้วพระองค์ก็ให้สืบสวนได้พระแก้วมรกฎเจ้าได้ แล้ว ก็กวาดเอาผู้คนที่สมัคกับพระแก้วเจ้านั้นเปนอันมาก ก็เสด็จกลับเจ้ามายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาแล ซึ่งพระเจ้าอาทิตยราชพระมหากระษัตริย์พระองค์นั้นครั้นพระองค์ได้พระแก้ว เจ้ามาแล้ว ก็มีน้ำพระไทยเลื่อมไสยินดีในพระแก้วเจ้าเปนที่สุด พระองค์จึงทรงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงให้จัดแจงแต่งการฉลองบูชา พระแก้วเจ้าเปนอันมาก ด้วยสิ่งมีต้นว่าแก้วแลเงินคำเปนประธานแล้ว จึงให้ป่าวร้องแก่ราษฎรทั้งปวงให้ทั่วไปในทิศทั้ง ๔ ทั้ง ๘ ฝ่ายคนทั้งปวงอันอยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้ง ๘ นั้นก็นำมา ยังสิ่งของแก้วแหวนแลเงินคำ แลธูปเทียนแลดอกไม้อันมีกลิ่นสุคนธรศต่าง ๆ มาพร้อมกันแล้ว ก็ฉลองบูชาพระแก้วเจ้านั้นสิ้นกาลอันนานได้เดือนหนึ่งแล้ว แล้วก็เชิญแห่เอาพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในพระศรีรัตนศาสดาราม อันประดับประดาด้วยแก้วแลเงินคำเปนอันงามบริสุทธิ์เปนนักหนาแล้ว จึงพระเจ้าอาทิตยราชมหากระษัตริย์ พระองค์ก็ทรงพระปีติโสมนัศในน้ำพระไทยหาที่สุดมิได้ พระองค์ก็ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้านั้นเปนนิตย์มิได้ขาด ซึ่งว่าคนทั้งปวงอันอยู่ในพระมหานครก็ดี อันอยู่นอกพระนครทั้ง ๔ ทิศทั้ง ๘ ทิศก็ดี ก็เข้ามาถวายนมัสการบูชาพระแก้วเจ้าทุกวันมิได้ขาดนั้นแล ด้วยเดชะอานุภาพพระแก้วเจ้านั้น ซึ่งพระพุทธสาสนาของพระบรมพุทธครูเจ้า ก็รุ่งเรืองงามมากนักในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา หาที่จะประมาณมิได้ซึ่งพระแก้วเจ้านั้น ก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาสิ้นกาลอันนานมากนักหนา สืบมาได้หลายชั้นพระมหากระษัตริย์เจ้าแล้ว อยู่มาข้างน่าแต่นั้นจึงเจ้าพระยายากำแพงเพ็ชร ก็ลงมาทูลขอพระแก้วเจ้าขึ้นไปไว้ในเมืองกำแพงเพ็ชร ท่านก็ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าต่อไป มินานเท่าใดท่านก็ได้ราชบุตรคนหนึ่ง ครั้นราชบุตรคนนั้นเจริญใหญ่ขึ้นแล้ว ท่านก็ตั้งขึ้นให้ไปเปนเจ้าเมืองลโว้ ครั้นราชบุตรคนนั้นได้เปนเจ้าเมืองลโว้แล้ว ก็รฦกนึกถึงพระแก้วเจ้าเปนที่สุด ด้วยท่านมีน้ำใจอยากได้พระแก้วเจ้าเมื้อไว้ปฏิบัติรักษาบูชา ท่านจึงมาสู่เมืองกำแพงเพ็ชรแล้ว จึงขึ้นกราบทูลพระมารดาว่า ข้าแต่พระราชมารดาเปนเจ้า ข้านี้จะใคร่ได้พระแก้วเจ้าเมื้อไว้ปฏิบัติรักษาบูชาในเมืองลโว้ ขอพระราชมารดาเจ้าจงกราบทูลพระราชบิดา ขอเอาพระแก้วเจ้าให้แก่ข้าบ้างเถิด เจ้าเมืองลโว้อันเปนราชบุตรมีความอ้อนวอนแก่พระราชมารดาเปนหลายพักหลายหนอ ยู่

ฝ่ายพระราชมารดา ครั้นได้ยินยังถ้อยคำลูกของตนอ้อนวอนอยู่ดังนั้น ก็มิอาจที่จะขัดขืนได้ ท่านจึงขึ้นไปกราบทูลเจ้าเมืองกำแพง เพ็ชรอันเปนพระราชสามีว่า ข้าแต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเกษา ซึ่งเจ้าเมืองลโว้อันเปนพระราชโอรสของพระองค์นั้น มีความปรารถนาให้ข้าพระพุทธเจ้ามากราบทูลขอพระราชทานเอาพระแก้วเจ้าขึ้น ปฏิบัติรักษาในเมืองลโว้ ขอพระองค์ได้โปรดให้แล้ว ซึ่งความปรารถนาเถิด

เมื่อนั้นฝ่ายเจ้าเมืองกำแพงเพ็ชรผู้เปนพระราชสามี ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังถ้อยคำพระอรรคมเหษีกราบทูลนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงพระราชเมตตาในพระราชโอรสเปนนักหนา พระองค์จึงทรงตรัสว่า ดูกรเจ้ามเหษี ถ้าแลเจ้าราชบุตรมีความปรารถนาอย่างนั้นเราก็จะให้โดยความมักนั้นทุกประการแล แต่ว่าพระแก้วเจ้านั้นอยู่ในอารามที่นั้น ก็มีอยู่มากนักเปนหลายองค์อยู่ ถ้าเจ้าราชโอรสรู้จักพระแก้วเจ้าเปนแน่แท้ก็ให้เอาขึ้นไปเถิด เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสเท่านั้นแล้ว

ฝ่ายพระอรรคมเหษี ก็กราบถวายบังคมลาลงมาแล้วก็บอกเล่าแก่พระราชบุตรแห่งตนให้แจ้งแล้ว ก็ให้หามายังนายประตูปราสาทที่อยู่รักษาพระแก้วเจ้านั้นแล้ว จึงกล่าวว่าดูกรเจ้านายประตู บัดนี้ ซึ่งเจ้าเมืองลโว้อันเปนพระราชโอรสของข้านี้ ท่านมีความปรารถนาจะใคร่ได้พระแก้วเจ้าขึ้นไปไว้ปฏิบัติรักษาในเมืองลโว้ ข้าก็ได้กราบทูลก็ทรงพระกรุณาแล้ว แลแต่ว่าข้านี้ยังไม่รู้ว่าพระแก้วเจ้าองค์ใด จะเปนพระแก้วมรกฎเจ้าแน่แท้นั้น ข้าทั้งสองแม่ลูกก็ยังหารู้ไม่ เจ้าจงแก้ไขบอกด้วยกลอุบายแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเถิด

เมื่อนั้นจึงนายประตูรักษาพระแก้วเจ้า ก็รับพระประสาทแล้วก็กราบทูลว่าข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าจะเอาดอกไม้แดงทอดไว้ที่ฝ่าพระหัดถ์พระแก้วมรกฎเจ้าแล้ว พระแม่เจ้าจงรู้ในสำคัญนั้นเถิด

ฝ่ายพระอรรคมเหษี แลพระราชโอรส พระองค์ได้ทรงฟังนายประตูกราบทูลบอกอาการนั้นแล้ว ก็มีความยินดีเปนที่สุด จึงพระราชทานทองคำหนักสองตำลึงให้แก่นายประตูแล้ว จึงนายประตูก็กราบถวายบังคมลาลงมาแล้ว ครั้นถึงเวลากลางคืนนายประตูก็เอาดอกไม้แดงเข้าไปวางไว้ในฝ่าพระหัดถ์พระแก้วมรกฎเจ้านั้นแล้ว

ฝ่ายพระอรรคมเหษี แลพระราชโอรส ก็พากันเข้าไปในปราสาทพระแก้วเจ้า ก็เห็นสำคัญอันนายประตูหากทำไว้นั้นแล้ว เจ้าพระราชบุตรก็ให้บ่าวชายของท่านยกเอาพระแก้วเจ้าได้แล้ว ก็พาหนีไปยังเมืองลโว้แล้ว ท่านก็ได้ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าอยู่นานได้ปีปลายเก้าเดือนแล ท่านก็เอากลับลงมาส่งให้แก่เจ้าเมืองกำแพงเพ็ชร อันเปนพระราชบิดาของท่านนั้นแล แต่นั้นมาข้างน่ายังมีพระยาองค์หนึ่ง มีนามปรากฏชื่อว่าพระยาพรหมทัต ท่านครองราชสมบัติในเมืองเชียงราย ซึ่งพระยาพรหมทัตองค์นั้น ท่านก็ได้เปนมิตรไมตรีกับพระเจ้ากำแพงเพ็ชรมาแต่ก่อน ครั้นได้ทราบว่าเจ้าเมืองกำแพงเพ็ชรได้พระแก้วมรกฎมาปฏิบัติรักษาดังนั้น ท่านก็มีความปรารถนาอยากได้พระแก้วมรกฎเจ้าขึ้นมาปฏิบัติรักษาในเมือง เชียงราย ท่านจึงพาเอาเสนาอำมาตย์ไพร่พลทั้งปวง ลงมาสู่เมืองกำแพงเพ็ชรแล้ว ก็ขอเอายังพระแก้วเจ้ากับเจ้าเมืองกำแพงเพ็ชรอันเปนพระสหายได้แล้ว ท่านก็แห่เอาพระแก้วมรกฎเจ้าขึ้นไปไว้ณเมืองเชียงราย ท่านก็ปฏิบัติรักษาบูชาเปนนิตย์ทุกวันมิได้ขาด แม้คนทั้งปวงก็เข้ามานมัสการบูชาเสมออยู่ทุกวันมิได้ขาดนั้นแล ครั้นอยู่มาแต่นั้นไปข้างน่า ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่อันเปนอาว์เจ้าเมืองเชียงรายนั้นก็เกิดอริวิวาทกัน จึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เปนอาว์ ก็ลอบล้อมเอาไพร่พลโยธาทแกล้วทหารเปนอันมาก ท่านก็ยกขึ้นไปรบพุ่งกับเมืองเชียงราย ๆ ก็แตกกระจัดกระจายไปแล้ว ท่านก็ให้คนทั้งปวงเชิญเอาพระแก้วเจ้าแล้ว ก็กวาดเอาครอบครัวผู้คนหนีลงมาไว้ณเมืองเชียง ใหม่แล้ว ท่านก็สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่านนั้นแล้ว ท่านก็ให้ประดับประดาไปด้วยแก้วแลเงินคำเปนอันมากบริสุทธิ์แล้ว ก็เชิญพระแก้วเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทนั้นแล้ว ท่านก็ให้บอกกล่าวป่าวร้องแก่ราษฎรทั้งปวงทั้งขอบแขวงทุกตำบล จึงคนทั้งปวงก็นำมา ยังเครื่องสักการบูชา เข้ามาพร้อมมูลกันเปนอันมากแล้ว ก็ฉลองบูชาพระแก้วเจ้านั้นได้ ๗ วัน ๗ คืนนั้นแล

ในครั้งนั้นพระพุทธสาสนาในเมืองเชียงใหม่ ในครั้งนั้นก็รุ่งเรืองงามเปนที่สุด ด้วยเดชานุภาพพระแก้วเจ้านั้น ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์นั้นท่านก็ได้ปฏิบัติรักษาพระแก้วเจ้าอยู่นาน ต่อแดนอายุของท่าน ครั้นสิ้นอายุแล้วท่านก็ได้ถึงแก่กรรมไปนั้นแล แต่นั้นมาราชตระกูลลูกหลานทั้งปวง ก็ได้ครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่สืบต่อกันไป ก็เปนช้านานหลายชั้นแล้ว แรกตั้งแต่องค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถศาสดาจารย์ แต่พระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานครนฤพานไปแล้วนั้นต่อมาถึงพระมหานาค เสนสร้างพระแก้วมรกฎเจ้าต่อ ๆ มา จนถึงพระแก้วมรกฎเจ้าไปอยู่เมืองเชียงใหม่นั้น ซึ่งพระพุทธศักราชล่วงไปได้ ๒๐๐๐ ครบจุลศักราชได้ ๘๑๘ พรรษา ซึ่งพระแก้วมรกฎเจ้าก็อยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่นั้นแล

ครั้นอยู่ไปข้างน่าแต่นั้นยังมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง เปนบุตรของพระเจ้าวิชุนราชมหากระษัตริย์ ครองราชสมบัติในเมืองศรีสัตนา คนหุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานครนั้นแล้ว ซึ่งเจ้าราชกุมารพระองค์นั้นทรงพระนามว่าเจ้าโพธิสารราชกุมารแล ครั้นพระองค์เจริญพระไวยใหญ่มาได้สิบห้าปีแล้ว จึงพระเจ้าวิชุนราชมหากระษัตริย์ผู้เปนพระราชบิดาของเธอนั้น ท่านก็ได้ถึงพิราไลยไปนั้นแล จึงเจ้าฟ้าโพธิสารราชกุมารท่านก็ได้ครองราชสมบัติ ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานคร แทนพระราชบิดาของพระองค์นั้นแล อยู่ไปข้างน่าแต่นั้นจึงพระแซกคำเจ้าเสด็จมาโดยทางอากาศ ก็มาตั้งอยู่ในเมืองชวาละวัติมหานครที่นั้นแล แต่นั้นพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์ ก็ให้คนทั้งปวงทำการฉลองบูชาพระแซกคำเจ้ามากนักแล้ว ก็ให้ปฏิบัติรักษาบูชาเปนนิตย์มิได้ขาดนั้นแล ซึ่งพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์พระองค์นั้น ท่านมีบุญสมภารก็มาก มีเดชานุภาพก็มากนัก

แต่นั้นยังมีพระมหากระษัตริย์พระองค์หนึ่งท่านครองราชสมบัติในเมือง เชียงใหม่ ท่านได้ยินข่าวสารว่าพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์พระองค์นั้น มีบุญฤทธิ์แลอิทธิฤทธิ์มหิทธิศักดานุภาพมากนักดังนั้น ท่านก็มีความยินดีซึ่งบุญพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์เปนนักหนา ท่านจึงให้อำมาตย์นำเอาพระราชธิดาองค์หนึ่งอันเปนบุตรของท่านนั้น ชื่อว่านางยอดคำราชกัญญา มาถวายพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์พระองค์นั้นแล

จึงพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์พระองค์นั้น ท่านก็ได้ตั้งไว้ยังนางยอดคำราชกัญญาองค์นั้น ให้เปนอรรคมเหษีแล้ว จึงแปลงพระนามว่านางหอสูงนั้นแล อยู่ไปข้างน่าแต่นั้นจึงนางหอสูงราชเทวีองค์นั้น ก็ประสูตรพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าเจ้าไชยเสษฐาราชกุมารนั้นแล ครั้นอยู่ไปข้างน่าแต่นั้น ยังมีห้ามคนหนึ่ง ก็ประสูตรพระราชบุตรองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าเจ้ากิถนาวะราชกุมารนั้นแล ครั้นอยู่ไปข้างน่าแต่นั้นอิกจึงพระอรรคมเหษีองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่านางหอขอก ก็ประสูตรพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าเจ้าสีลวะวงษาราชกุมารนั้นแล ซึ่งพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์พระองค์นั้น แรกแต่ท่านได้ครองราชสมบัติ ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละมหานครมานั้น ท่านก็ได้ยังพระราชโอรสสามองค์นี้แล

บัดนี้มาจะกล่าวถึงพระมหากระษัตริย์ในเมืองเชียงใหม่ ครั้นท่านได้ให้นางยอดคำอันเปนราชธิดาของท่านนั้น มาเปนพระอรรค มเหษีแห่งพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์ ในเมืองศรีสัตนาคนหุต อุตมรัตนชวาละมหานครแล้ว อยู่ไปมินานเท่าใดเลยท่านก็ได้ถึงแก่กรรมไปนั้นแล จึงเมืองเชียงใหม่หาตระกูลวงษาเจ้านายที่จะสืบแทนบ้านเมืองต่อไปนั้นมิได้

ฝ่ายเสนาอำมาตย์ราชบัณฑิตย์ทั้งปวง ก็มาปฤกษาพร้อมมูลกันในสิหิงคมหาอาราม พร้อมกับมหาสังฆราชเจ้ากูเจ้าวัดที่นั้นแล้ว จึ่งแต่งให้อำมาตย์ทั้งหลายนำเอาซึ่งเครื่องราชบรรณาการ ให้เปนราชทูตเข้าไปสู่เมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานครแล้วก็ขอ เอาเจ้าไชยเสษฐาราชกุมาร ให้เมื้อครองราชสมบัติในเมืองเชียง ใหม่นั้นแล

ฝ่ายพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์ พระองค์เปนเจ้าพระมหานครศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละมหานคร ก็มิอาจที่จะขัดขืนได้ด้วยเห็นแก่ราชไมตรี ท่านจึ่งให้เสนาอำมาตย์ทั้งปวง จัดแจงแต่งยังจัตุรงคเสนาทั้งสี่พร้อมแล้ว ท่านก็พาเอาเจ้าไชยเสษฐาราชกุมารอันเจิรญอายุได้สิบสองปีนั้น ขึ้นไปครอบครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่แล้ว จึ่งทรงพระนามว่าพระไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์นั้นแล จึ่งพระเจ้าโพธิสารราชมหากระษัตริย์ ครั้นพระองค์ได้พาเอาเจ้าไชยเสษฐาธิราชกุมาร อันเปนราชโอรสของพระองค์ ขึ้นไปตั้งแต่งให้ครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ก็พาเอาเสนาอำมาตย์ราชจัตุรงค์ทั้งปวง ก็เสด็จกลับคืนมาหาเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานครของพระองค์ นั้นแล ครั้นอยู่มาแต่นั้นไปนานได้ ๓ ปี พระองค์มีอายุแต่ชาติมาได้ ๔๒ ปี พระองค์ก็ถึงแก่พิราไลยไปตามบุญกรรมของท่านนั้นแล แต่นั้นเสนาอำมาตย์ราชบัณ ฑิตย์แลไพร่พลเมืองทั้งปวง ก็ปฤกษาพร้อมมูลกันยกเอาเจ้ากิถนาวะราชกุมาร ขึ้นครองราชสมบัติเปนเจ้ากระษัตริย์ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละวัติ มหานครนั้นแล้วจึงปฤกษาพร้อมมูลกัน ก็ยกเอาเจ้า ศรีวรวงษาราชกุมารให้ไปเปนเจ้าเมืองเวียงจันทนบุรีราชธานีแล้ว จึ่งแต่งทูตนำราชสาสนไปบอกข่าวแก่พระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์ในเมือง เชียงใหม่ว่าพระเจ้าโพธิสารอันเปนพระราชบิดาของพระองค์นั้นก็ได้ถึงพิราไลย ไปแล้วแล

เมื่อนั้น จึ่งพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์ ครั้นพระองค์ได้ทรงฟังข่าวสารนั้นแล้ว ก็มิอาจที่จะตั้งอยู่ได้ ด้วยน้ำพระไทยของท่านก็ลำลึกนึกถึงยังพระราชบิดาแลบ้านเมืองของท่านนั้น พระองค์จึ่งพิจารณาในน้ำพระไทยว่า ควรแก่กูผู้เปนพระมหากระษัตริย์ได้ไปดูบ้านเมืองของกูก่อน จะได้ทำบุญให้ทานพร้อมกับด้วยญาติพี่น้องทั้งปวง ถวายพระราชกุศลไปแก่พระราชบิดาของกูจึ่งควรแล ครั้นพระองค์ทรงคิดในน้ำพระไทยดังนี้แล้ว พระองค์จึ่งทรงพระวิตกต่อไปว่า เมื่อกูผู้เปนพระมหากระษัตริย์ไปถึงเมืองชวาละวัติมหานครของกูแล้ว ที่จะได้กลับคืนมาหาเมืองเชียงใหม่นั้นจะช้าเร็วประมาณสักเท่าใดกูก็หาทราบ ไม่เลย ควรแต่กูผู้เปนพระมหากระษัตริย์เชิญเอาพระแก้วเจ้าไปด้วยควร ครั้นพระองค์ทรงพระวิตกดังนี้แล้ว พระองค์ก็จัดแจงยังเสนาอำมาตย์ราชจัตุรงค์พร้อมเสร็จแล้ว พระองค์ก็ให้ไปอาราธนาเชิญเอาพระแก้วเจ้ามาแล้ว พระองค์ก็เสด็จมายังเมืองศรีสัตนคนหุต อุตมรัตนชวาละวัติมหานคร พร้อมกับด้วยเสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงนั้นแล ครั้นพระองค์ลงมาถึงเมืองชวาละวัติมหานครแล้ว พระองค์ก็ให้เชิญเอาพระแก้วมรกฎเจ้าขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาท ที่พระแซกคำเจ้าอยู่นั้น พระองค์ก็ให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงจัดแจงสิ่งของซึ่งจะทำบุญให้เปนทาน อันมากแล้ว พระองค์ก็พร้อมด้วยเจ้านายขัติยราชวงษา เสนาอำมาตย์ไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวง ก็พากันฉลองบูชาคุณพระแก้วมรกฎเจ้าแล้ว ก็ทำบุญให้ทานเปนอันมากนานได้ ๗ วัน ๗ คืน ครั้นเสร็จราชการทำบุญให้ทานแล้ว พระองค์ก็ปฏิบัติรักษาบูชาพระแก้วเจ้าอยู่เปนนิตย์ทุกวันมิได้ขาดนั้นแล ซึ่งพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์นั้น ท่านก็อยู่ในเมืองศรีสัตนคน หุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานครนานได้ ๓ ปีนั้นแล

บัดนี้มาจะกล่าวถึงเสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวง อันอยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่นั้นก่อนแล ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์หนีมาอยู่เมืองชวาละวัติมหานคร แล้วนั้น ครั้นอยู่มานานได้ ๓ ปี เขาจึงพิจารณากันวา บ้านเมืองเรานี้ไม่มีพระมหากระษัตริย์ครอบครองราชสมบัตินั้น กลัวจะมีความพิบัติฉิบหายเสีย เขาพิจารณากันดังนี้แล้ว เขาจึ่งพร้อมมูลสืบหาขัติยราชวงษาอันเปนเนื่องแนวเชื้อสายกระษัตริย์มาแต่ ก่อนนั้น เขาจึ่งเห็นยังพระสงฆ์องค์หนึ่งมีนามปรากฏชื่อว่าพระเมกุฏิอันเปนราชวงษามา แต่ก่อน เขาจึ่งได้ไปขออาราธนาให้ลาพรตเสีย แล้วจึ่งพร้อมมูลกันทำพิธีขัติยราชาภิเศกขึ้นเปนกระษัตริย์ ให้ครอบครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่นั้นแล

บัดนี้มาจะกล่าวถึงพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์ ซึ่งพระองค์เสด็จอยู่ในเมืองชวาละวัติมหานคร ครั้นพระองค์ได้ทรงทราบยังข่าวสารอาการพระเมกุฏิได้ขึ้นครองราชสมบัติใน เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ก็ทรงกริ้วโกรธนัก จึงให้เสนาบดีกะเกณฑ์ไพร่พลโยธาทแกล้วทหารทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็เสด็จยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสนได้แล้ว พระองค์ก็รวบรวมไพร่พลโยธาทั้งปวง จะยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่นั้นแล

เมื่อนั้นฝ่ายพระเมกุฏิ อันเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ครั้นเธอได้ยินข่าวสารว่า พระเจ้าไชยเสษฐาธิราชนั้นยกขึ้นมาตีเอาเมืองเชียงแสนได้แล้ว เธอก็มีความเข็ดขามเกรงกลัวแต่พระราชเดชานุภาพพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชนั้นเปน นักหนา ท่านจึ่งยกเอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายแก่เจ้าเมืองอังวะแล้ว เจ้าเมืองอังวะก็ให้เกณฑ์กองทัพยกเข้ามาหนุนเมืองเชียงใหม่เปนอันมากนัก

เมื่อนั้นฝ่ายพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชเจ้ามหากระษัตริย์ พระองค์ก็พาไพร่พลโยธาอาสาทแกล้วทหารทั้งปวง ยกเข้าไปถึงปลายแดนเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงทรงทราบว่าพระเมกุฏิยกเอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายแก่พม่า ๆ จึ่งยกกองทัพขึ้นมาอุดหนุนเมืองเชียงใหม่เปนอันมากนัก พระองค์จึ่งทรงดำริห์การว่า ครั้นกูจะยกกองทัพเข้าไปตีเมืองเชียงใหม่ การศึกสงครามครั้งนี้จะยืดยาวเปนมหาสงครามอันใหญ่ ถ้าไพร่ลาวตายก็เสียข้าพระราชบิดาของกู ถ้าไพร่เมืองเชียง ใหม่ตายก็จะเสียข้าพระราชมารดาของกูก็จะฉิบหายทั้งสองฝ่าย ครั้นพระองค์ทรงดำริห์การดังนี้แล้ว พระองค์จึ่งให้ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ในเมืองเชียงแสนนานได้ ๙ ปีแล้ว พระองค์จึ่งเลิกทัพกลับลงมาเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวาละวัติมหานครของ พระองค์ แล้วพระองค์จึ่งพิจารณาดูน้ำพระไทยของพระองค์ว่า ซึ่งเมืองชวาละวัติมหานครนี้ก็เปนที่คับแคบนัก มีภูเขาใหญ่น้อยก็มากนัก ไม่สมควรที่กูผู้เปนพระมหากระษัตริย์จะอยู่ครองราชสมบัติที่นี้เลย ควรแต่กูผู้เปนพระมหากระษัตริย์ จะไปสร้างแปลงอยู่ในที่อันกว้างขวางนั้นจึงควรแล ครั้นพระองค์ทรงพิจารณาดังนี้แล้ว พระองค์ก็จัดแจงตั้งแต่งเจ้านายเสนาบดีไว้ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตมรัตนชวา ละวัติมหานครไว้เรียบร้อยเปนอันดีแล้ว พระองค์ก็พาเอาเสนาบดีไพร่พลทั้งปวงขึ้นไปเอาพระแก้วเจ้าแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงไปเวียงจันทนบุรีแล้ว พระองค์ก็ให้จัดแจงสร้างแปลงบ้านเมืองให้ดีงามแล้ว พระองค์ก็อยู่ครองราชสมบัติในเมืองเวียงจันทนบุรีแล้ว ท่านก็ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่านนั้นแล้ว ก็ให้ประดับประดาปราสาทหลังนั้นด้วยแก้วแลเงินคำเปนอันงามบริสุทธิ์แล้ว ท่านก็ให้เชิญเอาพระแก้วเจ้าแลพระแซกคำเจ้า ขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทหลังนั้นแล้ว พระองค์ก็ให้จัดแจงยังเครื่องสมณะบริกขารทั้งปวงมีบาตรคำฉัตรคำร่มคำพานคำแล เครื่องสำหรับบูชาด้วยแก้วแลเงินคำอันรุ่งเรืองงามมากนักแล้ว ก็ถวายบูชาไว้ยังพระแก้วเจ้าพระแซกคำเจ้านั้น แลซึ่งพระเจ้าไชยเสษฐาธิราชมหากระษัตริย์ พระองค์ก็ให้สร้างพระเจดีย์ลูกหนึ่งไว้ฝ่ายตวันออก ถัดเจดีย์พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชสร้างไว้นั้นแล้ว พระองค์จึงให้กระทำพระเจดีย์น้อย ๓๐ ลูกให้แวดวงเปนบริวารทั่วทุกกำทุกพาย แล้วพระองค์จึงปลงพระนามพระมหาเจดีย์เจ้าว่าพระโลกจุฬามณีศรีเชียงใหม่แล้ว พระองค์จึงให้จัดแจงข้าหญิงร้อยหนึ่ง ข้าชายร้อยหนึ่ง ให้เปนข้ารักษาพระแก้วเจ้าแลพระแซกคำเจ้าแล้ว พระองค์ก็ให้ทำการสมโภชบูชาพระแก้วเจ้า แลพระแซกคำเจ้า แลทำบุญให้ทานนานได้เดือนหนึ่งจึงเสร็จการ ด้วยเดชะการทำบุญนั้นแล้วพระองค์ก็อยู่ครอบครองราชสมบัติในเมืองเวียงจันทน บุรีราชธานี ด้วยอันเปนบรมศุขเกษมต่อแดนอายุของพระองค์นั้นแล ครั้นสิ้นอายุแล้ว พระองค์ก็ถึงพิราไลยไปตามบุญกรรมของท่านนั้นแล