ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/เรื่องที่ 1/ส่วนที่ 2
วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาเช้า เสด็จออกขุนนางณพระที่นั่งท้องพระโรง หมื่นพิพัฒน์โกษารับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่า กำหนดจะได้ให้ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง ขุนวิเศษนุชิต กรมคลัง นายเทียรฆราษ อาลักษณ์ นายจิตรบำเรอ แวงตำรวจนอกซ้าย นายบัลลังก์กุญชร แวงตำรวจในขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ออกไปพระราช ทานมอบเมืองให้เจ้านครเปนเจ้าขันฑสิมาพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งนี้ ได้ฤกษ์ณวันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาเช้า ๔ นาฬิกา ๒ บาท เปนมงคลฤกษ์ แลให้พนักงานพระคลังมหาสมบัติเบิกทองแผ่แผ่นพระสุพรรณบัตรหนัก ๖ สลึง กว้าง–ยาว–สำหรับจารึกพระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องทองจำหลักสูง ๕ นิ้วกึ่ง ใหญ่รอบ ๖ นิ้ว ทั้งฝาทั้งตัวหนัก ๒ บาท ๓ สลึงเฟื้อง สูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่แผ่นพระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องเงินหนัก ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง สูง ๖ นิ้วกึ่ง ใหญ่รอบ ๗ นิ้ว สำหรับใส่กล่องทองซึ่งใส่พระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องทองจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก–สูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่พระราชโองการ แล้วตีกล่องเงินจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก–สูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่กล่องทองซึ่งใส่พระราชโองการ แล้วให้ตีผอบทองจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก–สูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่ตราพระครุธพ่าห์ แล้วให้ตีกล่องเงินจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก–สูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่ผอบทองรองตราพระครุธพ่าห์ เปนพนักงานคลังมหาสมบัติได้ทำ อนึ่ง ให้เจ้าพนักงานกรมคลังวิเศษเบิกงาต่อพระคลังมหาสมบัติไปให้ช่างกลึงกล่องสูง–ใหญ่รอบ–สำหรับใส่พระราชโองการองค์ ๑ พระสุพรรณบัตรองค์ ๑ แล้วให้ทำเจียดเขียนลายทองสำหรับใส่ผอบตราพระครุธพ่าห์องค์ ๑ แล้วให้มีถุงแพรลายทองสำหรับใส่กล่องพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร แลใส่เจียดรองตราพระครุธพ่าห์ด้วยจงทุกองค์ แล้วให้จัดพานรองแว่นฟ้า ถ้ามิได้พานรองแว่นฟ้า จะได้เปนพานรองมุกทึบก็เอาเถิด ให้ได้ ๓ สำรับ แล้วให้มีถุงย่นแพรลายทองมีระบายปากผูกกะโจมสูงต่างคลุม ถ้ามิได้ผูกกะโจมสูงย่นถุงต่ำไป ก็ให้มีคลุมสักหลาดแดงด้วยทั้งสามสำรับ สำหรับใส่พระราชโองการสำรับ ๑ ใส่ตราพระครุธพ่าห์สำรับ ๑ ใส่พระสุพรรณบัตรสำรับ ๑ เปนพนักงานพระคลังวิเศษ แลกล่องทอง กล่องเงิน กล่องงา กล่องเจียด แลพานถุงย่นทั้งนี้ เปนพนักงานอาลักษณ์ได้เร่งรัดตรวจตราว่ากล่าว แลให้กรมแสงในซ้ายเบิกขี้ผึ้งกลึงหุ่นตราพระครุธพ่าห์องค์ ๑ แลกำหนดจะได้จารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร แลจำลองตราพระครุธพ่าห์ แลปิดตราพระราชโองการ ได้ฤกษ์ณวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาเช้า ๕ นาฬิกา ๓ บาท แลให้กรมแสงในซ้ายเชิญตราพระราชโองการ พระครุธพ่าห์ ออกมา ให้อาลักษณ์แลกรมแสงในซ้ายแต่งบายศรี ๒ สำรับ ศีศะสุกรคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ เทียนเงินคู่ ๑ เข้าตอกดอกไม้ธูปเทียนแป้งหอมน้ำมันหอม แลให้อาลักษณ์เบิกผ้าขาวต่อพระคลังวิเศษมานุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑ สำหรับนุ่งห่มจารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร ครั้นจะใกล้ได้ฤกษ์จารึก ให้จุดธูปเทียนบูชาเข้าตอกดอกไม้จุณเจิมแป้งน้ำมัน แล้วจึงให้อาลักษณ์นุ่งห่มผ้าขาวกราบถวายบังคมสามลา แล้วจึงให้จารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร แลจำลองตราพระครุธพ่าห์ลงขี้ผึ้งหุ่นซึ่งกรมแสงในซ้ายทำไว้นั้น แล้วจึงเชิญพระราชโองการ พระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เข้ากล่องใส่ถุงย่นพาน แล้วอาลักษณ์ได้ปิดตราประจำขี้ผึ้งปากถุงกล่อง ปากถุงย่นพาน ตามธรรมเนียม เสร็จแล้วจึงเชิญพานพระราชโองการ ตราพระครุธห์พ่าห์ พระสุพรรณบัตร ขึ้นไว้บนพระที่นั่ง แลเมื่อจารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร แลจำลองตราพระครุธพ่าห์ เปนพนักงานจตุสดมภ์แลผู้รับสั่งได้มานั่งกำกับดูแลด้วยจนสำเร็จ ครั้นถึงกำหนดฤกษ์จะได้เชิญพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จไปลงเรือพระที่นั่งนั้น ให้สนมพลเรือนแลข้าหลวงผู้จำทูลนุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยขาว ไปเชิญรับพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ไปส่งขึ้นวอจตุรมุข แลให้พนักงานสี่ตำรวจเชิญพระวอจตุรมุขมีคนหาม ๑๐ คนมาคอยเตรียมรับพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ณประตูพระราชวัง แลให้กรมวังจัดเครื่องสูงแห่พระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร น่า ๓ คู่ หลัง ๒ คู่ สัปทน ๔ คัน แล้วให้กรมกลาโหมเกณฑ์กลองชนะ ๓ คู่ ปี่คัน ๑ แตรงอนคู่ ๑ สำหรับแห่แลประโคมพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร แลให้มหาดไทยเกณฑ์พระหลวงขุนหมื่นฝ่ายทหารพลเรือนนุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยขาว เดินประสานมือแห่น่า ๒๐ แห่หลัง ๑๐ รวม ๓๐ คู่ แล้วให้เกณฑ์ทหารใส่เสื้อเกราะแลหมวก ถือปืนแลธนูหางไก่ แห่น่าพระหลวงขุนหมื่นซึ่งประสานมือแห่นั้น ข้างน่า ๓๐ ข้างหลัง ๑๕ มีธงริ้วธงฉานแห่ด้วยตามธรรมเนียม ไปส่งจนลงเรือพระที่นั่ง แลข้าหลวงผู้จำทูล ๕ นาย กับสนมผู้เชิญตรานาย ๑ นั้น ให้เคียงข้างพระวอแห่ไปด้วยข้างละ ๓ คนจนถึงเรือพระที่นั่ง แลให้พนักงานสี่ตำรวจไปปลูกฉนวนคอยรับพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ณสพานริมบ้านพระเนาวโชติ แล้วให้พนักงานสี่ตำรวจเชิญเรือพระที่นั่งศรีสนกซึ่งแห่พระศพเข้ามาแต่เมืองนครนั้นมาตกแต่งดาดสีหลังคา แลรอยเขียนเก่าซึ่งชำรุดเศร้าหมองอยู่นั้น ให้กรมช่างเขียนไปวาดเขียนตกแต่งซ่อมแปลงให้งามให้ดี ให้พนักงานกรมวังเอาม่านลงไปผูกทั้ง ๔ ด้านที่หลังคาดาดสีจะเชิญพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ลงอยู่นั้น แล้วจึงให้เชิญพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จลงเรือพระที่นั่ง แลให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์คู่เรือแห่พระหลวงขุนหมื่นยาว ๗–๘–๙ วา ขึ้นไป ให้แต่งตัวจงโอ่โถง กินเครื่องอุปโภคบริโภคตามบันดาศักดิ์ แห่น่าเรือพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ๑๕ คู่ แห่หลัง ๗ คู่ แห่ลงไปส่งจนด่านปากลัดตามธรรมเนียม แลสัปทน ๔ คัน กลองชนะ ๓ คู่ ปี่คัน ๑ แตรงอนคู่ ๑ นั้น ให้แห่แลประโคมไปด้วยสำหรับพระราชโองการแต่ณกรุงออกไปตามหัวเมืองแลบ้านรายทางออกไปจนถึงเมืองนคร แล้วให้ประโคมพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ กลับเข้ามาจนถึงกรุง แลให้ชาววังผู้อยู่เวรสั่งไปมหาดไทยกลาโหมให้หมายบอกแก่เจ้าพนักงานให้ทำกิจการทั้งปวงให้ครบจงทุกพนักงาน อย่าให้ขาดค้างช้าเสียราชการพระเจ้าอยู่หัวไปแต่พนักงานใดพนักงานหนึ่งได้ตามรับสั่ง แลเรื่องราวข้อรับสั่งทั้งนี้
ได้สั่งเวร |
|
||
|
|||
|
|||
|
ในลักษณพระราชโองการนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตสัมภาราดิเรกเอกอุดม บรมจักรพรรดิสุนทรธรรมมิกราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาตรัสเอาพระยานครเปนเจ้าขัณฑสิมา นามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ครั้นพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์เสด็จโดยขุนสกลมณเฑียร กรมวัง ขุนวิเศษนุชิต กรมคลัง นายจิตรบำเรอ นายบัลลังก์กุญชร แวงจัตุลังคบาท จำทูลมานี้ไซ้ ให้พระยาราชสุภาวดี ผู้ช่วยราชการ แลพระยาพระหลวงเสนาบดีขุนหมื่นมหาดเล็กข้าเฝ้าทั้งหลาย ตรวจจัดเครื่องราชบริโภคสำหรับกระษัตริย์ประเทศราชพระราชทานมอบโดยขนาด
ในลักษณพระสุพรรณบัตรนั้นว่า ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครคืนเมืองเปนเจ้าขัณฑสิมา นามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เศกไปณวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอก อัฐศก
ในลักษณหนังสือซึ่งสนองพระราชโองการนั้นว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้านครศรีธรรมราช ขอกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระอนันตคุณอันมหาประเสริฐ ด้วยข้าพระพุทธเจ้า ขุนวิเศษนุชิต กรมคลัง ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง นายเทียรฆราษ อาลักษณ์ นายจิตรบำเรอ แวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชร แวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระราชโองการ แลตราพระครุธพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จไปพระราชทานมอบเมืองให้ข้าพระพุทธเจ้า ทรงพระนามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ เจ้าขัณฑสิมาเมืองนครศรีธรรมราช เสร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเชิญพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์เสด็จกลับโดยขุนวิเศษนุชิต กรมคลัง ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง นายเทียรฆราษ อาลักษณ์ นายจิตรบำเรอ แวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชร แวงขวา แวงจัตุลังคบาท เข้ามากราบถวายบังคมแด่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ข้าพระพทุธเจ้าขอกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว
บรมสุจริตปฏิการาธิคุณ อดุลยดิเรกเอกสัตยา ในขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ถวายอภิวาทบังคมแด่พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระอนันตคุณอันมหาประเสริฐ ด้วยขุนวิเศษนุชิต กรมพระคลัง ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง นายจิตรบำเรอ แวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชร แวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์เสด็จออกไปมอบพระนครศรีธรรมราชเสร็จแล้ว เชิญพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์เสด็จโดยแวงจัตุลังคบาทกลับยังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ขอกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
เรื่อง ตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี
กฎให้แก่พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท เสนาบดีข้าหลวงผู้อยู่รักษาเมืองนครศรีธรรมราช แลพระยากระลาโหม พระยาโกษา พระอุไทยธรรม์ พระส้วย เสนาบดีข้าเฝ้าผู้จะออกไปทำราชการครั้งนี้ ด้วยทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ครั้งพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมือง ๆ นครหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมา ก็ได้พึ่งพาอาไศรยสัปยุทธชิงไชยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ ขัณฑสิมาก็จะระส่ำระสายเปนไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิ กฤษฎานุภาพคงขัติยราชผู้หนึ่ง ครั้งนี้ ราชธิดาก็ได้ราชโอรส ฝ่ายพระยานครก็ได้ไปตามเสด็จพระราชดำเนินช่วยทำการยุทธชิงไชยเหมมันพม่าข้าศึก ครั้นจะเอาไว้ให้บังคับพลช่วยการแผ่นดินพระนครศรีอยุทธยา ก็เปนฝาเปนตัวอยู่เสร็จสิ้น ประการหนึ่ง ก็มีทาษกรรมกรแต่ ๒๐–๓๐ หาต้องการที่อยู่ไม่ ฝ่ายเจ้านราสุริวงษ์สวรรค์ครรไล ควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้านราสุริวงษ์สืบไป แลซึ่งจะบำรุงพระเกียรติยศนั้น ฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาฝ่ายซึ่งผู้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน ให้พระราชทานราชทรัพย์ ช้างม้าต้น เครื่องราชาโภค พระมาลาอย่างฝรั่งสีเหลือง พระเกี้ยวทองคำ พระยอดทองคำ พระยิกาทองคำ หนักทอง ๒ ตำลึง มีขนนกการเวก องค์ ๑ ฉลองพระองค์ทรงประพาศสีเหลือง สังเวียนบังพระกร ฉลองพระสอ หนักทอง ๒ ตำลึง ๑ บาท ๑ เฟื้อง ฉลองพระองค์อย่างน้อยเข้มขาบก้านแย่งดุมผ้า ๑ ฉลองพระองค์ยี่ปุ่นพี้นโหมดดอกเครือ ๑ สององค์ ภูษาลายหกคืบบัวผันพื้นขาว ๑ ภูษาลายหกคืบช่องกระจกฅอนกขาว ๑ สององค์ ภูษาคลุมบรรธมเทพประนมสี่ทิศซับแพรกรวยแดงองค์ ๑ สนับเพลาเชิงงอนองค์ ๑ พานพระศรีทองคำ หนัก ๑๘ ตำลึง ๓ บาท เครื่องในทองคำ ตลับภูทั้งสร้อย หนัก ๓ บาท ๑ สลึง เต้าปูน หนัก ๑ ตำลึง ๑ บาท จอกเฟืองมีเชิง หนัก ๓ บาท ๒ สลึง จอกเฟืองน้อย หนัก ๒ บาท ๓ สลึง ผอบใหญ่ หนัก ๑ ตำลึง ๑ สลึง ผอบน้อย หนัก ๑ ตำลึง ๑ เฟื้อง ด้ามมีดหมาก หนัก ๑ บาท ๑ สลึง ๗ สิ่ง หนักทอง ๖ ตำลึง ๑ เฟื้อง พระเต้าทองคำ หนัก ๑๑ ตำลึง องค์ ๑ บ้วนพระโอษฐทองคำ หนัก ๓ ตำลึง องค์ ๑ พานเงินจำหลักปากกะจับรองพระภูษา หนัก ๒ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ บาท องค์ ๑ สุพรรณภาชนเงินของคาว ๓ เท้า ปากจำหลักอย่างยี่ปุ่น หนัก ๓ ชั่ง ๕ ตำลึงหนึ่ง สุพรรณภาชนเงินของเสวย ๔ เท้า ปากจำหลักอย่างยี่ปุ่น หนัก ๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาท หนึ่ง บ้วนพระโอษฐเงินอย่างเทศ หนัก ๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาท หนึ่ง พระกลดองค์ ๑ พรมที่ ๕ คืบผืน ๑ เงินตรา ๓๐ ชั่ง ฉลองพระบาทอย่างเทศหักทองขวางคู่ ๑ พระเสลี่ยงงาองค์ ๑ เรือพระที่นั่งครุธดาดสีลำ ๑ พระแสงดาบยี่ปุ่น ด้ามกัลปังหา ส้นทองคำ ปลอกทองคำ องค์ ๑ พระแสงหอกซัด ด้ามแก้ว ปลอกทองคำ ประดับพลอย ๒ องค์ พระแสงปืนส้นคร่ำทอง ๑ พระแสงปืนยาว ๔ คืบคร่ำทอง ๑ สององค์ พระแสงปืนคาบศิลายาวท้ายพระที่นั่ง ๑๐ องค์ ออกไปผ่านขัณฑสิมา นามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระนามนั้นทรงพระสุพรรณบัตรสุวรรณรัตนราชนามพระราชทานใส่กล่องทอง กล่องเงิน กล่องงา ถุงแพร ใส่พานแว่นฟ้า มีถุงย่น ปิดตราประจำขี้ผึ้ง ออกมาด้วยแล้ว แลซึ่งเครื่องราชาโภคสิ่งใดมิครบนั้น ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาบดีทำนุบำรุงจัดแจงขึ้นจงบริบูรณ์ แลซึ่งลูกหลวงเสนาบดีข้าเฝ้ามหาดเล็กเมืองนครได้เข้ามาทำการณกรุงนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตามยศกลับออกไปทำราชการด้วยพระเจ้านครศรีธรรมราชแล้ว แลซึ่งลูกหลวงเข้ามาทำราชการด้วยนั้น ให้รับพระราชทานฉลองพระองค์อย่างน้อยเข้มขาบก้านแย่งพื้นแดงดุมตาด ๑ เสื้อก้านแย่งกระบวนจีนพื้นม่วงดุมผ้า ๑ ผ้าพ้วยห่มนอนลายเขมราษฎ์พื้นแดงซับในแพร ๑ ถาดหมากคนโทก้าไหล่ทองอย่างเจ้าราชนิกูลสำรับ ๑ พรมน้อยสี่คืบผืน ๑ เงินตรา ๕ ชั่ง ปืนรองทรงยาว ๔ คืบคร่ำทองรางครึ่งท่อน ๑ ปืนรองทรงส้นท้ายหอยโข่งคร่ำทอง ๑ สองบอก เรือรบลำ ๑ ซึ่งเสนาบดีข้าเฝ้าแลมหาดเล็กได้รับพระราชทาน
พระยากระลาโหม ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง
พระยาโกษา เสื้อยี่ปุ่นผืน ๑ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง เรือรบลำ ๑
พระอุไทยธรรม์ เสื้อเข้มขาบสีจันผุดดอกผืน ๑ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง เรื่อรบลำ ๑
พระส้วย ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง
นายกิ่ง มหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายเรือง มหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายบุนนาก มหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายนรสีห์ นายเพ็ง นายคลัง นายศรีรักษ์ นายบุญมี นายนาก มหาดเล็ก ๖ คน เงินคนละ ๑ ชั่ง เปนเงิน ๖ ชั่ง กลับคืนออกมาทำราชการด้วยพระเจ้านครศรีธรรมราชตามรับสั่ง ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชบำรุงจัดตั้งไปทำราชการโดยควร ประการหนึ่ง ราชาโภคสิ่งใดไม่ครบ ให้เสนาบดีตักเตือนเจ้าพนักงานบำรุงขึ้นจงบริบูรณ์ อิกประการหนึ่ง ควรให้พระเจ้าขัณฑสิมาบำรุงฝ่ายน่าฝ่ายในให้สรรพไปด้วยสุรางคนางปรางปราสาทราชเรือนหลวงน้อยใหญ่ในนอกพระนครขอบขัณฑสิมา จงพิจิตรรจนาไปด้วยโยธาข้าทหารให้เปนเกียรติยศศักดิศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป ประการหนึ่ง ควรให้ตรวจตราตกแต่งซ่อมแปลงกำแพงค่ายคูประตูเมืองพ่วงรอหอรบเชิงเทิน แลบำรุงซ่องสุมหมู่โยธาทหารให้ชำนิชำนาญในการยุทธไว้จงสรรพ มีราชการโดยเสด็จฯ การสงครามควรพระเจ้านครศรีธรรมราชติดตามโดยเสด็จฯ ถ้าพระเจ้านครศรีธรรมราชพฤฒิภาพชราโดยเสด็จฯ มิได้ ควรให้แต่งฝ่ายน่าเสนาบดีคุมไพร่พลโยธาข้าทหารติดตามโดยเสด็จฯ ช่วยราชการ ถ้าแลฝ่ายน่าเสนาบดีทวยหาญหมู่ใดมิได้ปลงใจลงในราชการแผ่นดิน ย่อท้อต่อข้าศึกคบคิดกันหลบหลีกหนีประการใด ควรให้ลงพระราชอาญาโดยพระไอยการ อิกประการหนึ่ง ควรพระเจ้าขัณฑสิมาปลงราชหฤไทยเที่ยงลงในจตุปาริสุทธศีล บังคับบัญชากิจการราชการแผ่นดินตามบุรพประเพณีกระษัตริย์สืบมา อย่าอาสัจอาธรรม์ อิกประการหนึ่ง ควรบำรุงคันถธุระวิปัสนาธุระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้สมณพราหมณาจารย์กุลบุตรเล่าเรียน จะได้เปนบุญแห่งอาตมสืบไป อิกประการหนึ่ง ควรตรวจตราดูพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญวัดวาอารามแห่งใดชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่นั้น ควรซ่อมแปลงทำนุกบำรุงปฏิสังขรณ์ขึ้นให้รุ่งเรือง ก็จะเปนบุญแห่งอาตมภาพสืบไป ว่ามาทั้งนี้เปนปลาย ควรปลงราชหฤไทยลงอยู่ในจตุปาริสุทธศีลเปนอาทิ ให้กอบด้วยศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เปนปลาย มาดหมายอภิญญาอยู่ในไตรสรณาคมน์ ก็อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งไภยอุปัทวทั้งปวง ประการหนึ่ง ปืนเปนกระทู้การสงคราม ถ้าจะคิดอ่านขวนขวายเอาเงินจัดซื้อมิทันการ กว่าจะบอกเข้ามาขอเงินกรุงออกไปท่าทางไกล ถ้าขัณฑสิมาผู้ใดมีสติกำลังมั่งคั่งพอจะอาไศรยได้ ให้หยิบยืมเงินทดรองจัดซื้อปืนส่งเข้ามา จึงจะพระราชทานเงินออกไปใช้ให้ต่อภายหลัง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ก็ให้จัดแจงแก้ไขจัดซื้อไว้สำหรับราชการจงเต็มท้องที่ แล้วให้หาราชทรัพย์ใช้หนี้นายเงิน อย่าให้เปนหนี้ท่าน ปืนก็ให้ได้ไว้สำหรับการแผ่นดิน ประการหนึ่ง ควรให้จัดแจงเรือรบเรือไล่ดีบุกดินประสิวเข้าปลาอาหารเข้าไว้ในพระนครให้ได้จงมาก มีราชการปลายด่านแดนขัดสนประการใด ให้บอกหนังสือเข้ามา ทรงพระกรุณาจะให้ยกกองทัพกรุงออกไปช่วย จึงจะได้อาไศรยสดวก อิกประการหนึ่ง ถ้าฝ่ายพระนครศรีอยุทธยาขัดข้องด้วยอาหาร จะได้พึ่งพาอาไศรยบ้าง ประการหนึ่ง ส่วยสาอากรในเมืองนคร แขวงหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองนคร สิ่งใดซึ่งเปนพระราชทรัพย์สำหรับเข้าพระคลังหลวงณกรุงค้างเกินอยู่เก่าใหม่มากน้อยเท่าใดนั้น ควรจะส่งเข้ามา ก็ให้ส่ง ควรมิส่งเข้ามา ขัดสนจะขอไว้ ก็ให้บอกหนังสือเข้ามา จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ประการหนึ่ง คลองท่าขามซึ่งจะออกไปทเลฝ่ายตวันตก มีตราออกไปแต่ก่อนให้ขุดชำระยังมิสำเร็จนั้น ให้ดูท่วงทีมาดหมายไว้ในใจ จึงจะให้มีตราออกไปต่อภายหลัง ประการหนึ่ง เมืองไทร เมืองตานี เปนข้าขัณฑสิมาพระนครศรีอยุทธยา มิได้มาช่วยการสงคราม เสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนปฤกษาให้มีตราโกษาธิบดีออกไปลองใจยืมเงินเมืองละพันชั่งเพื่อจะดูน้ำใจเมืองไทร เมืองตานี แลตราโกษาธิบดีนั้นก็ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาธิบดีคิดอ่านอุบายถ่ายเทว่ากล่าว เมืองก็ให้ได้ ทั้งเงินก็ให้ได้ ราชการก็อย่าให้เสีย จึงจะเปนเกียรติยศความชอบแก่พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาธิบดีสืบไป ถ้าได้เงินมา หาต้องการที่จะเปนหนี้ไพร่ฟ้าประชากรซื้อปืนไม่ ให้เอาเงินใช้ค่าปืนไว้สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชบ้าง ส่งเข้ามาเปนกำลังราชการพระนครศรีอยุทธยาบ้าง ถ้าเห็นว่า จะแต่งเรือไปจัดซื้อปืน ก็ขัดสน อิกประการหนึ่ง สำเภาลูกค้าก็มิสู้เข้าออก เห็นหาได้ปืนเปนกำลังไม่ จะเนิ่นช้าไป ถ้าเห็นจะเปนประการดังนี้ ให้ส่งราชทรัพย์นั้นเข้ามาณกรุง จัดซื้อปืนได้ จึงจะแบ่งออกไปให้เปนกำลังเมืองนครศรีธรรมราชบ้าง ประการหนึ่ง พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท พระฉอำ ข้าหลวง แลรี้พลกรุงซึ่งออกไปทำราชการ มีบุตรภรรยาอยู่ณเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ถ้าต้องการจะเอาไว้ช่วยราชการพลางก่อน ก็ให้บอกเข้ามาขอไว้ ถ้าไม่ต้องการที่จะอยู่แล้ว ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ที่จะให้เข้ามาตามเสด็จพระราชดำเนิน ควรให้พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท พระฉอำ แลรี้พลทั้งปวง ยกบุตรภรรยาพาครอบครัวเข้ามาทำราชการณกรุงให้สิ้น เสร็จราชการแล้ว พอใจจะออกไปทำราชการเมืองนคร ก็จะทรงพระกรุณาให้ออกไปตามสมัคต่อภายหลัง เรื่องราวซึ่งว่ากล่าวทั้งนี้โดยประมาณ ถ้าราชการผันแปรประการใด ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราชแลเสนาบดีข้าเฝ้าคิดอ่านปฤกษาหารือดำริห์ประพฤติการผันแปรโดยราชปัญญาให้ชอบด้วยการขนบแผ่นดินจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงจะเปนเกียรติยศศักดิศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป บัดนี้ ให้เจ้าพระยาอินทวงษาอรรคมหาเสนาธิบดีคุมเรือรบเรื่อไล่ถือพล ๕๐๐ แลขุนวิเศษนุชิต กรมคลัง ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง นายเทียรฆราษ อาลักษณ์ แลนายจิตรบำเรอ แวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชร แวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์ออกมาพระราชทานมอบเมืองให้พระเจ้านครศรีธรรมราชรับราชการผ่านแผ่นดินเมืองนครสืบไป ถ้าแลเจ้าพระยาอินทวงษาออกมาถึงเมืองนครแล้ว เมืองนครสงบอยู่หาราชการศึกมิได้ ให้ซับทราบสอดฟังเข้ามาข้างฝ่ายกรุง ถ้าได้ข่าวว่า กรุงมีการศึก ให้เร่งรีบเข้ามาช่วยราชการให้ทันท่วงที ถ้าฝ่ายกรุงสงบอยู่หาราชการศึกมิได้ ให้เจ้าพระยาอินทวงษาอยู่ชำระว่ากล่าวเร่งรัดส่วยสาอากรในเมืองนครแว่นแคว้นหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครแต่บรรดาซึ่งเปนพระราชทรัพย์จะได้เข้ายังพระคลังหลวงณกรุงค้างเกินอยู่เก่าใหม่มากน้อยเท่าใดนั้น ให้เจ้าพระยาอินทวงษาเร่งรัดได้มากน้อยเท่าใดควรจะส่งเข้ามา ก็ให้ส่งเข้ามา ควรมิส่งเข้ามา พระเจ้านครศรีธรรมราชขัดสนจะขอไว้ ให้บอกเข้ามาขอไว้ จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ประการหนึ่ง ปืนพม่า ๑๐๐ ปืนยักตรา ๒๐๐ ซึ่งให้ออกไปส่งพระเจ้านครนั้น ถ้าออกไปถึงเมืองนครแล้ว ปืนพม่า ๑๐๐ นั้น ให้พระราชทานไว้สำหรับเมืองนคร แต่ปืนยักตรา ๒๐๐ นั้น ถ้าเมืองนครสงบอยู่หาราชการศึกมิได้ พระเจ้านครพอจะจัดปืนอื่นสำรองไว้สำหรับเมืองได้ ให้ส่งปืน ๒๐๐ นั้นกลับคืนเข้ามา ถ้าเมืองนครยังมิราบคาบ จะขอไว้สำหรับราชการก่อน ก็ให้เอาไว้เถิด ประการหนึ่ง ถ้าพระราชโองการเสด็จจะประทับถึงหัวเมืองใด ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการปลูกหอรับเชิญพระราชโองการขึ้นประทับ แต่งการสมโภชกราบถวายบังคมตามธรรมเนียม แล้วให้รับส่งต่อกันออกไปกว่าจะถึงเมืองนคร ตามอย่างพระราชโองการเสด็จไปมอบเมืองทุกครั้ง อย่าให้เสียราชการเสียพระยศพระเกียรติไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าแลพระราชโองการเสด็จถึงเมืองนครแล้ว ให้เสนาบดีพระหลวงขุนหมื่นข้าเฝ้าผู้อยู่รักษาเมืองนครแต่งการรับสู่พระราชโองการ แลทำการสมโภชกราบถวายบังคม พระราชทานมอบเมืองแก่พระเจ้านครตามตำรากฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนให้เปนเกียรติยศศักดิศรีไว้สำหรับแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไปจงทุกประการ
กฎให้ไว้ณวันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอก อัฐศก
วันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาเช้า เสด็จออกขุนนางณพระที่นั่งท้องพระโรง หมื่นพิพัฒน์โกษาได้เอาร่างกฎนี้อ่านกราบทูลพระกรุณาถวายแต่ต้นจนจบ ทรงพระกรุณาฯ ให้ตกแซกวงกาโดยพระราชดำริห์ ทรงแต่งจนสำเร็จแล้ว ทรงพระกรุณาให้อ่านแต่ต้นจนจบอิกครั้งหนึ่ง แล้วทรงพระกรุณาสั่งว่า เรื่องราวกฎซึ่งทรงแต่งนี้เสร็จดีอยู่แล้ว ให้ลงกระดาษตามร่างนี้เถิด แลทรงพระกรุณาสั่งซึ่งจะได้เชิญพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร ตราพระครุธพ่าห์ ออกไปพระราชทานมอบเมืองแก่พระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งนี้ เปนกฏหมายอย่างธรรมเนียมได้เคยทำมาแต่ก่อนประการใด แลเจ้าพนักงานได้รับพระราชทานค่าธรรมเนียมประการใด ให้ทำเปนกฎหมายเขียนรงลงไว้จงงามดี แล้วให้เอากราบทูลพระกรุณาถวาย แล้วให้เอาไว้เปนกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับแผ่นดินสืบไป เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์
- พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม
- หม่อมเจ้าประทุมไพจิตร
- หม่อมเจ้ามงคล
- เจ้าพระยาอนุวงษ์ราชา
- เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช
- เจ้าพระยามหาสมบัติ
- เจ้าพระยาอินทวงษา
- เจ้าพระยาราชนายก
- พระยาราชทูต
- พระสมบัติบาล
- พระศรีมโหสถ
- พระยาจักรี
- พระยามหาเสนา
- พระยายมราช
- พระยาพิไชยไอสวรรย์
- พระยาสุรเสนา
- พระยาธรรมไตรโลก
- พระยาพิไชยราชา
- พระยาธิเบศร์บดี
- พระยาพิจิตร
- พระครูพิเชต
- พระมหาอำมาตย์
- พระราชสุภาวดี
- พระวิชิตณรงค์
- พระท้ายน้ำ
- ขุนหลวงพระไกรสี
- ขุนไชยอาญา
เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ด้วย สมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษา พระอาลักษณ์ ก็เข้ามาถวายพระพรอยู่ด้วย
วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาเช้า ได้ส่งกฎฉบับนี้ให้แก่พระยาโกษา พระอุไทยธรรม์ นคร รับไปณศาลาลูกขุนในพระราชวังแล้ว
คิดค่าตั้ง ค่าตรา ค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้านครจะได้ออกไปผ่านเมืองนครครั้งนี้ แลเจ้าพนักงานทั้งปวงจะได้รับพระราชทานทวีขึ้นเท่าตัวกับเปนเจ้าพระยานคร เปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ในนี้
ค่ารับสั่ง ๔ ต่อ ๆ ละ ๖ ตำลึง เปนเงิน ๑ ชั่ง ๔ ตำลึง
ค่าทูลฉลอง ๑๘ ตำลึง
ค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง
ค่าตรา ๑๐ ชั่ง
กรมแสงในซ้ายได้รักษาตราพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ แล้วได้เชิญออกปิดพระราชโองการ แลจำลองตราพระครุธพ่าห์ ๓ ชั่ง
อาลักษณ์ได้แต่งพระราชโองการ แลได้จารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร เงิน ๓ ชั่ง บายศรีซ้ายขวา ๒ สำรับ ศีศะสุกร ๑ เทียนเงินคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ สองคู่ อาลักษณ์ได้ทำเอง ผ้าขาวสำหรับนุ่งห่มจารึกพระราชโองการสำรับ ๑ เบิกพระคลังวิเศษ
สนมผู้ได้รับเชิญตราพระราชโองการ ตราพระครุธพ่าห์ แต่พระที่นั่งมาขึ้นพระมณฑปแห่ลงไปส่งจนถึงพระที่นั่ง ๑ ชั่ง
ค่ากฎสำหรับผู้ผ่านเมือง ๓ ตำลึง
ค่าตรานำให้หัวเมืองรายทางปลูกหอรับพระราชโองการแลทำกิจการทั้งปวง ๗ ตำลึง ๑ บาท
คนหามพระมณฑปพระราชโองการ ๑๐ คน คนถือเครื่องสูงแห่พระราชโองการ ๑๐ คน ถือสัปทนสำหรับพระราชโองการ ๔ คน กลองชนะ ๓ คู่ ๖ คน ปี่สำหรับกลองชนะคน ๑ แตรงอนคู่หนึ่ง ๒ คน รวม ๓๓ คน ๆ ละ ๒ บาทเงิน ๑๖ ตำลึง ๒ บาท
ขุนพิศณุกรรม์ กรมช่างเขียน ได้เขียนเรือพระที่นั่งสำหรับทรงพระราชโองการ บายศรีหัวท้าย ๒ สำรับ ศีศะสุกรคู่ ๑ เทียนเงินคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ สองคู่ ผ้าขาวกาสานุ่งห่มเขียนเรือพระที่นั่งสำรับ ๑ ขุนพิศณุกรรม์ได้ทำเอง เงินกำนนหัว ๓ ตำลึง ท้าย ๓ ตำลึง
พันเงิน พันทอง ได้ค่าพระราชทานพระเสลียง ๓ ตำลึง พระกลด ๓ ตำลึง รวม ๖ ตำลึง
คิดศิริเข้ากันเบ็ดเสร็จเปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ยกค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ชั่ง รวม ๓๐ ชั่ง เสียแล้ว คงจะได้เสียแต่ค่าเบ็ดเสร็จนอกค่าตั้งค่าตรา เปนเงิน ๑๐ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท
ถ้าเปนแต่เจ้าพระยานคร หักลงกึ่งหนึ่ง คงเรียกกึ่งหนึ่ง ทั้งค่าตั้ง ค่าตรา แลค่าเบ็ดเสร็จทั้งปวง ศิริเข้ากันเปนเงิน ๒๐ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ยกค่าตั้ง ๑๐ ชั่ง ค่าตรา ๕ ชั่ง รวม ๑๕ ชั่ง เสียแล้ว คงจะได้เสียแต่ค่าเบ็ดเสร็จนอกกว่าค่าตั้งค่าตรา เปนเงิน ๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ขอเดชะ
วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีวอก อัฐศก เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จออกณตำหนักแพ หมื่นพิพัฒน์โกษากราบทูลพระกรุณาว่า คิดเงินค่าธรรมเนียมพระเจ้านครจะได้ออกไปผ่านเมืองนครครั้งนี้ ทั้งค่าตั้ง ค่าตรา ค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานทั้งปวง เบ็ดเสร็จเข้ากันเปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ยกค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ชั่ง รวม ๓๐ ชั่ง เสียแล้ว คงแต่ค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานทั้งปวง ๑๑ ชั่ง ๓ บาท แลบัดนี้ เจ้าพนักงานทั้งปวงปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า พระเจ้านครขัดสนอยู่ รับพระราชทานค่าธรรมเนียมแต่กึ่งหนึ่ง เปนเงิน ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง จึงทรงพระกรุณาฯ สั่งว่า ครั้นจะเรียกเอาลดแต่กึ่งหนึ่ง กฎหมายอย่างธรรมเนียมจะฟั่นเฟือนไป อนึ่ง เจ้าพนักงานทั้งปวงจะว่ากล่าวติเตียนว่า พระเจ้านครออกไปผ่านแผ่นดินเมืองนครเปนกระษัตริย์ประเทศราช เงินค่าธรรมเนียมของเราก็ติดอยู่ พระเจ้านครจะเสียเกียรติยศไป อย่าให้ลด ให้เจ้าพนักงานเรียกเอาค่าธรรมเนียมจงเต็ม อย่าให้เขาว่ากล่าวติเตียนได้ จึงจะเปนเกียรติยศศักดิศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครสืบไป แลกฎหมายค่าธรรมเนียมทั้งนี้ให้ลงรงไว้เปนกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับแผ่นดินสืบไป เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยาอินทวงษา พระยาราชนายก พระยาจักรี พระยายมราช พระยารามัญวงษ์ พระท้ายน้ำ พระมหาเทพ ทั้งพระเจ้านคร เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ด้วย
วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก อัฐศก ได้แจกเงินค่าธรรมเนียมพระเจ้านครเสียให้เจ้าพนักงานทั้งปวงเปนส่วน
นายพิมาน | ชาววัง ๓ ตำลึง | |
นายจำเนียร |
นายแกว่น มหาดไทย ๖ ตำลึง
นายฤทธิ นายเวร รับ กลาโหม ๓ ตำลึง
นายวิสูตรมณเฑียร | กลาโหม ๓ ตำลึง | |
นายบริบาล |
หลวงราชมานู หมื่นเสน่ห์ราชา ชาวปี่ ๑ กลองชนะ ๖ เจ็ดคน ๓ ตำลึง ๒ บาท แตร ๒ คน ๑ ตำลึง
คนหามพระวอ นายศรี นายเวร หมื่นจ่า ๑๐ คน ๕ ตำลึง
ชาวอภิรมย์ถือเครื่องสูง นายเรือง ภูดาษ มารับ ๑๐ คน ๕
ตำลึง พันเงิน พนักงานพระเสลี่ยง ๓ ตำลึง
พันทอง พนักงานพระกลด นายเรืองภูดาษ มารับ ๓ ตำลึง
สนมผู้เชิญพระราชโองการ หลวงราชบำเรอ ขุนจันทาทิตย์ ๑ ชั่ง
ค่าเขียนเรือทรงพระราชโองการ ขุนพิศณุกรรม์ ๖ ตำลึง
คนถือสัปทน หมื่นวิสูตร รับ ๒ บาท
ค่าตรานำ ๗ ตำลึง ๑ บาท
อาลักษณ์ ขุนมหาสิทธิ ๓ ชั่ง
กรมแสงใน หลวงราชโกษา ๓ ชั่ง