ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 56/ตอนที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ

แต่ในที่สุด ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ในท้องที่ อาจทราบเหตุการณ์และความจริงเท็จได้ดีกว่าที่ในกรุงเทพฯ โปรดพระราชทานอนุญาตให้เจ้าพระยาบดินเดชาบัญชาการตามเห็นสมควร เจ้าพระยา บดินทรเดชาก็ตอบหนังสือไปถึงแม่ทัพญวนว่า รับจะบอกสนับสนุนเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมีทางไมตรีกับญวน แล้วให้พระองค์ด้วงแต่งทูตไปจิ้มก้องถวายบรรณาการพระเจ้ากรุงเวียดนามยังเมืองเว้ ญวนก็คืนราชวงศเขมรมาให้ดังว่า แล้วเลิกทัพกลับไปในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๐ ไทยก็ได้ครอบครองเมืองเขมรต่อมาเหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้อภิเษกพระองค์ด้วง (ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนโรดม และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อันได้รับรัชชทายาทต่อมา) เป็นสมเด็จพระหริรักษ์ฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา และโปรดฯ ให้หากองทัพกลับ ดังสำเนาที่พิมพ์ไว้ต่อไปนี้.

 หนังสือเจ้าพญาจักรีมาเถีงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก ด้วยบอกเข้าไปว่า พญาสราชเดช, พญาบวรนายก, พญาธนนาธิบดี, ซึ่งแต่งให้ไปเมืองเว้ ตามซึ่งบอกเข้ามาแต่ก่อนนั้น ณวัน ค่ำ ปีมะแม นพศก ญวนนำพญาราชเดช, พญาบวรนายก, พญาธนนาธิบดี, มาส่งณอุดงมีไชย ครั้นณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ องจันคำมาง, องพ่อคำมาง, นายไพร่ ๙๑๖ คน กับฟ้าทะละหะหลง, พญาพระเขมร ขึ้นมาณท่ากพงหลวง ญวนนายไพร่ กับฟ้าะละหะ, พญาพระเขมร แห่หนังสือเจ้าเวียดนาม กับตราทองเหลืองสี่เหลี่ยมกาไหล่ทองดวง ๑ งาช้างเล็กสี่เหลี่ยมดวง ๑ จดหมายรายสิ่งของกับของ มาให้พระองค์ด้วง, องจันคำมาง, องพ่อคำมาง, บอกกับพระองค์ด้วงว่า ให้พระองค์ด้วงแต่งพญาพระเขมรลงไปรับเจ้าผู้หญิงมาเถิด ครั้นณวัน ค่ำ พระองค์ด้วงแต่ให้สมเด็จเจ้าพญา พญากลาโหม พญาเชษฐ์ พญาพระเขมร ลงไปรับเจ้าผู้หญิงณเมืองพนมเปญ ณวัน ค่ำ องญวนแม่ทัพให้องลันบิด, องซูจิว, องภู, องจันเกว่, นำเจ้าผู้หญิง กับญาติวงศ พญาพระเขมร ขึ้นมาส่งณท่ากพงหลวง แล้วองญวน ๔ นายขึ้นมาหาเจ้าพญาบดินทรเดชา, พระองค์ด้วง, ณอุดงมีไชย ว่า องญวนแม่ทัพให้นำเจ้าผู้หญิง พญาพระเขมร ขึ้นมาส่งให้พระองค์ด้วงพร้อมมูลกันแล้ว องญวนแม่ทัพจะเลิกกองทัพถอยกลับไปเมืองเว้ณวัน ๑๑ ฯ  ค่ำ เจ้าพญาบดินทรเดชาเห็นว่า องญวนให้นำเจ้าหลานญาติวงศา พญาพระเขมร ส่งให้พระองค์ด้วงพร้อมมูลกันตามที่ได้พูดจาไว้แต่เดิมแล้ว องญวนว่า จะเลิกทัพกลับไปบ้านเมือง และกองทัพหัวเมืองซึ่งเกณฑ์ลงมาเข้ากระบวนทัพ ได้ให้ไปตั้งรักษาค่ายด่านทางหลายตำบล ขัดสนสะเบียงอาหาร จึงให้เลิกคนเมืองร้อยเอ็จ, เมืองสุวรรณ์ภูม์, เมืองขุขันธ์, เมืองศีศะเกษ, เมืองเขมราฐ, เมืองนคราชสิมา, เมืองปราจิน, ๗ เมือง เป็นคน ๗๒๓๘ คน ให้กลับไปบ้านไปเมืองทันทำไร่นา คนในกองทัพยังอยู่ที่อุดงมีไชย, เมืองโพธิสัตว์, ๖๔๖๒ คน เจ้าพญาบดินทรเดชาให้แปลหนังสือญวนออกเป็นไทย ต้นหนังสือเจ้าเวียดนามอักษรญวนซึ่งเขียนใส่แพรต่วนเข้าผนึกใส่หีบมานั้น เป็นตราตั้งพระองค์ด้วงมอบให้พระองค์ด้วงไว้ ได้ส่งแต่คำแปลกับต้นหนังสือองเลโบ จดหมายรายสิ่งของ กับคำให้การพญาราชเดช, พญาธนนาธิบดี, ให้หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ พาพญาราชเดช, พญาธนนาบดี, เข้ามาแจ้งราชการณกรุงเทพฯ ได้นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวน คำให้การพญาราชเดช, พญาธรรนาธิบดี, ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองฯ แล้ว

ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมร เข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ คิดราชการถูก อุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถีงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอก จัตวาศก นับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อณวัน ค่ำ ปีมะแม นพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็ง เบ็ญจศก ช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้ขอนไม้น้อยลอยมาได้เกาะเป็นที่ยึดที่หน่วงว่ายเข้าหาฝั่ง เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ได้ทีแล้ว ก็เร่งรีบว่ายเข้าให้เถีงฝั่ง คิดต่อไปเสียให้ตลอด ฉันใดเมืองเขมรจะเรียบร้อยมีความสุขยืดยาวไปนาน ๆ อย่าให้กลับกลายไปในเร็ว ๆ นี้ เหมือนคำบุราณว่า ก้นหม้อไม่ทันดำ ควันไฟไม่ทันดับ จะต้องลำบากยากใจ ให้ไพร่พลได้ความยากแค้นเดือนร้อนต่อไปอีก ไม่ควรเลย ให้เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ตริตรองให้จงหนัก และซึ่งเจ้าเทียวตรีชิงตั้งแต่งพระองค์ด้วงให้มาเป็นเจ้าเมืองเขมร ให้เมืองเขมรเป็นเมืองพึ่งบุญเมืองญวน ให้เข้าของพระองค์ด้วงมา ทำความดีนักหนา จะเอาชื่อเสียวให้ปรากฎนั้น ก็ทรงเข้าพระทัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับเจ้าเวียดนามก็จะต้องประมูลอากรกันไป เดี๋ยวนี้ เจ้าผู้หญิงเจ้าผู้ชายญาติวงศามาพร้อมมูลกันอยู่ที่อุดงมีไชย ฝ่ายเราจะจัดแจงอย่างไรบ้าง ก็จัดแจงเอาตามใจเถิด เจ้าพญาบดินทรฯ จะทนุบำรุงพระองค์ด้วงประการใดจึงจะดี จะต้องการสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคประการใด จะต้องการช้าหรือเร็ว ก็ให้บอกเข้าไป จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดแจงออกมาให้ทันการ ให้เจ้าพญาบดินทรเดชาฯ เร่งตกแต่งการบ้านเมืองเสียให้มั่นให้เสร็จ จะได้เลิกถอนกองทัพพากันกลับเข้าไปหาบุตรภรรยาทำบุญให้ทานให้สบาย และความชอบนายทัพนายกองซึ่งได้ออกไปลำบากกรากกรำอยู่ช้านาน กลับเข้าไปก็จะโปรดเกล้าฯ พูนบำเหน็จตั้งแต่งให้มียศถาศักดิตามผู้มีความชอบมากและน้อย หนังสือมาณวัน ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแมนักษัตร นพศก

(สารตรานี้ ในสำเนาที่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย จดไว้ว่า โปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ) เรียง แล้วทรงแก้ไข แต่พึงสังเกตเห็นได้ว่า มีพระราชดำรัสบอกข้อความให้เรียง เมื่อเรียงขึ้นถวาย ตรงไหนถ้อยคำไม่ตรงดังพระราชดำรัส ก็ทรงแก้ไข สารตราฉะบับนี้จึงควรนับว่าเป็นพระราชนิพนธ์ได้ แต่ตอนเก็บเนื้อความตามใบบอกซึ่งอยู่ข้างต้นนั้นมิใช่พระราชนิพนธ์)