ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 56/ตอนที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ

ตั้งแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกสนองพระราชโองการฉะบับที่กล่าวนี้เข้ามาแล้ว ก็พร้อมกับพระองค์ด้วงยกกองทัพไปรบญวนซึ่งมาตั้งปกครองเมืองเขมร รุกแดนลงไปได้โดยลำดับจนถึงเมืองอุดงฦๅไชย หนือเมืองพนมเพ็ญซึ่งญวนตั้งอยู่เป็นที่มั่น ระยะทางราว ๑๕๐๐ เส้น (เดี๋ยวนี้ใช้รถยนต์แล่นราว ๕๐ นาฑี) ด้วยพวกเขมรพากันมาเข้ากับพระองค์ด้วงเป็นอันมาก แต่กระนั้น ก็ไม่สามรถจะตีเอาเมืองพนมเพ็ญได้ ด้วยญวนมีกำลังมากกว่าไทยในทางน้ำ เพราะอาจเอาเรือรบเรือลำเลียงขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อนได้สะดวก ข้างฝ่ายไทยไม่มีเรือ ก็ได้เพียงคอยรับพุ่งกีดกันมิให้ญวนขึ้นบกไปห่างทางน้ำได้ แต่พวกกองทัพญวนที่แยกย้ายกันไปตั้งค่ายอยู่ตามเมืองดอนถูกล้อมจนอดอยากหนีกลับไปได้ก็มี ที่ต้องยอมออกมานบนอบต่อไทยก็หลายแห่ง พอเปลี่ยนรัชชกาลทางเมืองญวน ด้วยพระเจ้ามินมางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเทียวตรีได้รับรัชชทายาท เห็นว่า การที่จะแปลงเมืองเขมรให้เป็นหัวเมืองญวนไม่สำเร็จ ก็เปลี่ยนกลับไปใช้อุบายอย่างเก่า ให้ส่งพระองค์อิ่ม มหาอุปโยราช คืนมาครองเมืองเขมรอยู่ในป้องกันของญวน เช่นเดียวกับพระองค์ด้วงครองเมืองเขมรอยู่ในป้องกันของไทย แต่พระองค์อิ่มมาอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญได้หน่อยหนึ่ง ก็ผะเอิญเกิดอหิวาตกะโรคขึ้นที่เมืองพนมเพ็ญ ญวนจึงกวาดต้อนผู้คนทิ้งเมืองพนมเพ็ญลงไปตั้งที่เมืองโจดกใกล้ชายทะเล ไทยได้เมืองพนมเพ็ญ ก็ได้บรรดาหัวเมืองริมทางน้ำทางฝ่ายข้างเหนือทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การสงครามได้เปรียบญวน ถ้าตีได้เมืองโจดกอีกเมืองหนึ่ง แล้วถมคลองขุดซึ่งเป็นทางคมนาคมเสีย ก็จะกันญวนให้ขาดจากแดนเขมรได้ จึงโปรดฯ ให้เตรียมกองทัพใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เป็นนายหน้า และให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรรังสรรค์ (คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพเรือ จมื่นไวยวรนาถ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ) เป็นนายทัพหน้า ยกลงไประดมตีเมืองโจดกเมื่อปลายปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ แต่การไม่สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ด้วยทัพเรือไปอ่อนแอเสียอีกเหมือนหนหลัง ก็ต้องถอยกลับมาทั้งทัพบกและทัพเรือ แต่นั้น เมืองเขมรก็แยกกันเป็น ๒ ภาค ภาคใต้เป็นของพระองค์อิ่ม ภาคเหนือเป็นของพระองค์ด้วง ไม่สามารถปราบปรามกันได้

ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ญวนให้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาเมืองเขมรอีกครั้งหนึ่ง มาตั้งทัพหลวงที่เมืองพนมเพ็ญ หมายจะรบพุ่งเอาชะนะไทยให้จงได้ กองทัพญวนขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งกองทัพช้างศึกออกต่อสู้ ตีกองทัพญวนแตกยับเยินไป แต่นั้น ญวนก็ขยาด หากล้ามาตีเมืองอุดงอีกไม่ ต่อนั้นมา มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นทางฝ่ายญวน ด้วยพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าตือดึกได้รับรัชชทายาท เปลี่ยนรัชชกาลใหม่ พระองค์อิ่ม มหาอุปโยราช ซึ่งญวนยกย่องเป็นเจ้าเมืองเขมร ก็สิ้นชีพลงด้วย รัฐบาลทางเมืองญวนเห็นการทางเมืองเขมรไม่สมประสงค์ จึงให้แม่ทัพญวนมีหนังสือมาชวนเจ้าพระยาบดินทรเดชาอย่าทัพ และให้ทูตมาเจรจาความแก่พระองค์ด้วงว่า ถ้าพระองค์ด้วงยอมอ่อนน้อมถวายบรรณาการต่อญวนเมือนอย่างเจ้ากรุงกัมพูชาแต่โบราณ ก็จะส่งพวกราชวงศ์เขมรคืนให้ แล้วจะเลิกทัพกลับไปจากเมืองเขมร พระองค์ด้วงนำความเสนอเจ้าพระบดินทรเดชา ๆ เห็นความข้อสำคัญมีอยู่ที่นักมารดากับครอบครัวของพระองค์ด้วงอยู่ในพวกเขมรที่ญวนจับเอาไปไว้และรับว่าจะส่งคืนมาให้นั้น จะไม่ให้ยอมเป็นไมตรีเกรงพระองค์ด้วงจะน้อยใจ จึงอนุญาตให้พระองค์ด้วงมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อนว่า ถ้าญวนยอมให้ปกครองบ้านเมืองเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์ราชาราชบิดา (ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร) ก็จะยอมถวายบรรณาการต่อเมืองญวนอย่างเดียวกัน เมื่อญวนได้รับหนังสือนั้น ก็ส่งนักมารดากับครอบครัวของพระองค์ด้วงคืนมา แต่เจ้านายราชวงศเขมรนั้นว่า ต่อพระองค์ด้วงแต่งทูตไปจิ้มก้องต่อเจ้าเวียดนามแล้ว จึงจะส่งคืนมาให้ แล้วญวนให้มาเตือนเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ช่วยจัดการให้ตลอดไป ญวนกับไทยจะได้กลับเป็นไมตรีกันอย่างเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่า ถ้าญวนถอยกองทัพกลับไปจากเมืองเขมรดัง่วา ก็คือ ยอมคืนเมืองเขมรทั้งหมดให้แก่ไทยนั้นเอง ข้อที่จะให้เจ้าเขมรส่งบรรณาการ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ก็เหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ ควรรับได้ จึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเชื่อญวน โปรดฯ ให้มีตราเชิญกระแสรับสั่งตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา ดังพิมพ์ไว้ต่อไปนี้.


(ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกมาให้กราบทูลพระกรุณาว่า) ญวนยกขึ้นมาครั้งนี้ มาตั้งอยู่เมืองพนมเพ็ญเป็นอันมาก ใช้คนมาบอกพระองค์ด้วงให้แต่งทูตไปสารภาพยอมขึ้นกับญวน แล้วจะส่งเจ้าผู้หญิงญาติพี่น้องมาอยู่ให้พร้อมมูลกัน การครั้งนี้เป็นการใหญ่ เหลือปัญญาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขอกระแสพระราชดำริจะให้สู้รบหรือจะให้ปราณีประนอมกันเสียให้แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมว่า ถ้าจะให้คิดไปตามการแล้ว วิสัยญวนไม่มีความสุจริต ยกตนข่มท่าน คิดจะเอารัดเอาเปรียบ เลียบเลียมเอาทุกครั้งทุกที ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอเอาเมืองบันทายมาศ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลั ยก็กันเอาเมืองเขมรไปเป็นสิทธิของตัว มาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็กันเอาเขตต์แดนเมืองเวียงจันท์ไป เหลือที่จะอดทน ซึ่งญวนมาชวนพูดเป็นทางไมตรีนั้น เพราะเหตุอันใด ญวนสู้รบฝีมือทแกล้วทหารฝ่ายเราไม่ได้หรือ ญวนจึงพูดเป็นทางไมตรี คิดให้เห็นความก่อน ที่ญวนให้นักมารดาบุตรภรรรยาพระองค์ด้วงมานั้น ญวนคิดแล้วว่า จะยึดเอานักมารดาบุตรภรรยาพระองค์ด้วงไว้ หาต้องการไม่ ต้องเสียเข้าเกลืออีแปะเปล่า ๆ ส่งมาให้เสียดีกว่า ญวนให้มา ก็จะให้ผูกพันพระองค์ด้วงเอาไปเป็นของญวน ทั้งจะได้บุญได้คุณเป็นทางพูดต่อไป เขมรจะได้เห็นความดีว่า ญวนไม่มีพยาบาท เป็นความคิดใหม่จะล้างความคิดเก่า ด้วยเจ้ามินมางทำกับเขมรยับเยิน จึงได้แตกร้าวจากญวน ซึ่งญวนว่า ให้พระองค์ด้วงแต่งพระยาพระเขมรคุมสิ่งของไปถวายเจ้าเวียดนาม แล้วให้มีหนังสือไปขอเจ้าหลานผู้หญิงซึ่งตกอยู่แก่ญวนนั้น ทรงพระราชดำริไม่เห็นว่า ญวนจะให้เจ้าผู้หญิงมา ญวนจะเอาไว้แย่งแผ่นดินเมืองเขมรเล่นมิดีหรือ ถ้าให้มา ก็เหมือนให้เมืองเขมรเสียเหมือนกัน ด้วยญวนได้ผลประโยชน์ในเมืองเขมรเป็นอันมาก โดยความรักเมืองเขมร สู้ลงทุนลงรอนสะเบียงอาหารรี้พลขึ้นมารักษาติดตามจะเอาเมืองเขมรคืน ไพร่พลล้มตายเสียเป็นอันมาก ญวนก็มีทิฏฐิมานะเสียดายทุนรอน จะให้เจ้าผู้หญิงมาง่าย ๆ ที่ไหน ซึ่งพระองค์ด้วงพูดไปกับญวนว่า จะมีหนังสือเข้ามาขอญวนแขกยังท่านเสนาบดีก่อน ถ้าโปรดฯ ก็ได้ ถ้าไม่ให้ใน ๓ เดือน จึงจะรู้นั้น ถึงกำหนดแล้ว ญวนก็ควงจะมาฟังความ ถ้าจะได้พูดจากับญวนต่อไปอีก ก็ให้พระองค์ด้วงพูดว่า พระองค์ด้วงมีหนังสือเข้าไปยังท่านเสนาบดีแล้ว ท่านเสนาบดีมีหนังสือออกมาถึงพระองค์ด้วงว่า ถ้าญวนส่งเจ้าผู้หญิงมาให้อยู่กับพระองค์ด้วงพร้อมญาติวงศกันแล้ว พระองค์ด้วงได้จัดการบ้านเมืองเขมรให้ไพร่บ้านพลเมืองได้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อ (สมเด็จพระนารายณ์ราชา) พระองค์เองเป็นเจ้ากัมพูชาในครั้งนั้น อย่าว่าแต่ญวนแขก ๔๔ คนเลย ถึงญวนซึ่งได้ส่งเข้าไปไว้ณกรุงเทพพระมหานครน้อยเท่าใด ก็จะคืนให้ทั้งสิ้น.