ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมเรื่องเบ็ดเตล็ด 3 เรื่อง/เรื่อง 3

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ เจ้าคุณประตูดิน
ลายตู้แสดงภาพรัชกาลที่ ๒
อธิบายในเรื่องเจ้าคุณประตูดิน

คำอธิบาย เรื่อง เจ้าคุณประตูดิน

เรื่องนี้แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ตอบคำถามว่า บุคคลผู้ใดซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณประตูดิน

ผู้ที่ได้นามว่า เจ้าคุณประตูดินนั้น ทราบว่า เปนที่ท้าวศรีสัจจาในรัชการที่ ๒ กล่าวกันว่า ชื่อตัวชื่อ มิ คือ ผู้ที่บระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำรูปไว้ณมุขกระสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แลมีโคลง (เข้าใจว่า เปนพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔) จารึกไว้ที่รูปปั้นนั้นบท ๑ ขึ้นบาทต้นว่า

"แถลงลักษณรูปท้าว ศรีสัจ จาแฮ"

แต่อีก ๓ บาท ข้าพเจ้าคำโคลงไม่ได้ ครั้นไปดูเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เห็นทาสีลบโคลงเสียหมดแล้ว สืบหาผู้จำไว้ได้ยังไม่พบตัว จำได้แต่เนื้อความของโคลง ๓ บาทต่อไปนั้นเปนคำสรรเสริญว่า ท้าวศรีสัจจาเปนผู้เชี่ยวชาญในราชการในพระราชนิเวศน์เท่านั้น อนึ่ง ที่รูปท้าวศรีสัจจานั้น มีรูปโขลนคนรับใช้ปั้นไว้ด้วย ๒ คน ๆ หนึ่งชื่อ จ่าบัว คนหนึ่งชื่อ ตี อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ คนชื่อ ตี นั้น ข้าพเจ้ารู้จัก

เหตุที่เรียกท้าวศรีสัจจา มิ ว่า เจ้าคุณประตูดิน นั้น เพราะท้าวศรีสัจจา นิ มักออกนั่งว่าการ เช่น รับพวกขอเฝ้า เปนต้น ที่ประตูดินเปนมูลเหตุ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เจ้าคุณประตูดิน (ความที่กล่าวข้อนี้มีรูปเขียนไว้ในตู้ลายรดน้ำใบ ๑ เดี๋ยวนี้อยู่ที่หอพระสมุดฯ เขียนรูปแสดงพระราชวังครั้งรัชกาลที่ ๒ มีรูปหญิงมีบันดาศักดิ์คน ๑ นั่งรับแขกอยู่ที่ประตูพระราชวังเปนสำคัญ)

แต่คำที่เรียกว่า เจ้าคุณ นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า แต่เดิมเปนแต่คำสำหรับคนทั้งหลายเรียกยกย่อง มิใช่เปนยศศักดิ์ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง แต่โบราณมาดูเหมือนจะมีคำ ๒ คำเปนคู่กัน คือ "เจ้าครอก" คำ ๑ "เจ้าคุณ" คำ ๑ เปนคำสำหรับคนทั้งหลายเรียกผู้มียศ เจ้าครอกเรียกผู้มียศในราชสกุล เช่น เรียกพระองคืเจ้ากุว่า เจ้าครอกวัดโพธิ์ เปนตัวอย่าง แม้เจ้านายที่ทรงศักดิ์เปนเจ้าฟ้า แต่โบราณก็มักเรียกกันว่า "เจ้าครอกฟ้า" คำว่า เจ้าครอก นี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์แลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเรียกเจ้านายที่ยังมิได้ทรงกรมว่า "เจ้าครอก" มาจนในรัชกาลที่ ๕ คำว่า เจ้าคุณ นั้น ดูเปนคำสำหรับเรียกผู้ที่มียศภายนอกราชสกุลทั้งชายหญิง เปนต้นว่า พระภิกษุที่มียศเปนพระราชาคณะ ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณ ขุนนางมียศถึงกินพานทอง ก็เรียกว่า เจ้าคุณ สตรีที่มียศสูง ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณ มีทั้งที่เปนราชินิกูล เปนเจ้าจอมมารดา แลเปนท้าวนาง เจ้าคุณราชินิกูลนั้น เช่น เจ้าคุณนวล มารดาสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ เรียกกันว่า เจ้าคุณโต เปนตัวอย่าง ธิดาของเจ้าคุณนวลที่ได้มีตำแหน่งในพระราชวัง คือ เจ้าคุณนุ่น ก็เรียกว่า เจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณคุ้ม ก็เรียกว่า เจ้าคุณวังหน้า เจ้าคุณต่าย ก็เรียกว่า เจ้าคุณปราสาท เจ้าจอมมารดาที่ยกย่องกันว่าสูงศักดิ เช่น เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณวัง เจ้าจอมมารดาสีรัชกาลที่ ๒ ก็เรียกกันว่า เจ้าคุณพี่ แต่ท้าวนางที่เรียกกันว่า เจ้าคุณ ได้ยินแต่เรียกท้าวศรีสัจจา มิ นี้คนเดียว เห็นจะเปนเพราะได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณสิทธิ์ขาดเมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีเกียรติคุณยิ่งกว่าท้าวนางคนอื่น ๆ พวกชาววังยำเกรงมาก จึงเรียกกันว่า เจ้าคุณ เจ้าคุณที่กล่าวมาทั้งปวงนี้ เข้าใจว่า มิได้ทรงตั้ง เปนแต่คนทั้งหลายเรียก เมื่อสังเกตดูสมัยของตัวบุคคลที่กล่าวมา เห็นจะเรียกกันหนาหูเมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงทรงเรียกตามในพระราชนิพนธ์ เปนคำพูดของพวกนางชาววังในบทร้องเพลงช้า อ้างถึงเจ้าคุณประตูดินว่า "จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน" ดังนี้

มีความกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พวกชาววังเรียกสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีว่า เจ้าคุณประตูดิน ข้อนี้ ข้าพเจ้าไม่พบหลักฐาน และไม่เชื่อว่าจริง เพราะสมเด็จพระอมรินทรได้เปนท่านผู้หญิงมาแล้วแต่ก่อนเสวยราชย์ เมื่อประดิษฐานพระราชวงศ์มีพระราชโอรสธิดาเปนเจ้าฟ้าถึง ๔ พระองค์ เห็นว่า คนทั้งหลายคงเรียกว่า สมเด็จพระพันวัสสา ตามแบบอย่างพระอัครมเหษีครั้งกรุงเก่า ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงสถาปนาเปนสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เทียบทีกรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งกรุงเก่า ในรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายจึงเรียกสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ซึ่งเปนพระอัครมเหษีว่า สมเด็จพระพันวัสสา ตามอย่างครั้งรัชกาลที่ ๑ ต่อมา ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ความจริงจะเปนเช่นว่านี้ ถ้าคนเรียกสมเด็จพระอมรินทร์ว่า เจ้าคุณประตุดิน ไซ้ ในบทร้องเพลงช้าที่ทรงพระราชนิพนธคงทรงว่า "จะไปทูลเจ้าคุณประตูดิน" ไหนจะทรงว่า "จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน"

เจ้าคุณซึ่งเปนยศสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง พึ่งปรากฎว่า มีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งชั้นแรก ๒ คน คือ เจ้าคุณแข ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักใหม่ เปนธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ คน ๑ เจ้าคุณนุ่ม ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักเดิม เปนธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย คน ๑ เพราะเจ้าคุณทั้ง ๒ นี้เข้าไปมีตำแหน่งรับราชการในพระบรมมหาราชวัง โปรดฯ ให้มีปลัด (ทำนองพระราชาคณะ) ทั้ง ๒ คน คือ คุณปลัดขำ แลคุณปลัดเสงี่ยม ต่อมา ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เปนเจ้าคุณอีก ๒ คน คือ เจ้าคุณปุก เรียกกันว่า เจ้าคุณกลาง คน ๑ เจ้าคุณหรุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณน้อย คน ๑ ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเปนเจ้าคุณอีก ๒ คน คือ เจ้าคุณเป้า คน ๑ เจ้าคุณคลี่ คน ๑ เจ้าคุณทั้ง ๔ นี้หาปรากฎว่ามีปลัดไม่ เห็นจะเปนเพราะไม่ได้เข้าไปมีตำแหน่งรับราชการในพระบรมมหาราชวัง

นอกจากทรงตั้งเจ้าคุณ ๖ คนที่กล่าวมา พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดถานันดรเจ้าคุณให้เปนต่างชั้นอีกอย่าง ๑ คือ เจ้าคุณซึ่งเปนพระภคินีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงยกถานันดรเปนเจ้าคุณพระไอยิกา เจ้าคุณที่เปนธิดาของเจ้าคุณพระไอยิกา คือ เจ้าคุณที่เปนพี่สมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ นั้น โปรดฯ ให้มีถานันดรเปนเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ ดูเหมือนจะมีที่ใช้ตามที่ทรงกำหนดแต่สำหรับเขียนผ้าทรงทอดสดัปกรณ์ในพิธีกาลานุกาลเท่านั้น

พิเคราะห์ดูการที่ทรงตั้งเจ้าคุณเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น สันนิษฐานว่า จะเปนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ เพื่อจะทรงยกย่องธิดาสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์ให้มีบันดาศักดิ์สูง อย่าง ๑ อิกอย่าง ๑ น่าจะเปนเพราะสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์มีบุตร์ธิดามาก พวกบ่าวไพร่ผู้คนเห็นจะเรียกธิดาของสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์นั้นว่าเจ้าคุณฟั่นเฝือไป จึงทรงตั้งธิดาภรรยาหลวงขึ้นเปนเจ้าคุณ เปนการทรงจำกัดว่า ควรเรียกว่าเจ้าคุณได้เพียงนั้น การที่เรียกเจ้าคุณกันฟั่นเฝือ มีคำเล่ากันมาว่า ถึงเจ้าจอมมารดาต่างกรมผู้ใหญ่ เช่น เจ้าจอมมารดาศิลาของกรมพระพิพิธฯ กรมพระพิทักษ์ฯ แลเจ้าจอมมารดาปรางของกรมหลวงวงศาฯ เปนต้น บ่าวไพร่ก็เรียกันว่า เจ้าคุณ บางทีที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเจ้าคุณให้มีบันดาศักดิ์นั้น จะมีพระราชประสงค์เพื่อป้องกันการเรียกเจ้าคุณพร่ำเพรื่อทางพวกเจ้าจอมมารดาด้วยก็เปนได้ ประเพณีการทรงตั้งเจ้าคุณจึงได้เกิดมีมาในรัชกาลที่ ๔