พระกวีนิพนธ์ฯ/เรื่อง 7
คำอธิบาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู้หัว รัชชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทางป่าโดยกระบวนเสือป่าเพื่อทรงบูชาพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าใน พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพ่อทรงแต่งประกาศสังเวยเทวดาในพระราชพิธีนั้น แต่เสด็จพ่อต้องทรงจัดการในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และทั้งในตำแหน่งผู้จัดการเสด็จประพาสด้วย จึงไม่ค่อยทรงมีเวลาพอแก่การแต่งหนังสือ ฉนั้น เวลาว่างจึงเหลืออยู่แต่ในเวลาเดินทาง ตามธรรมดา ในเวลาทรงม้าไปในป่า แรกออกจากที่ใหม่ ๆ ไม่ค่อยจะทรงวิ่ง อย่างเร็วก็เพียงสบัตย่าง ท่านทรงตรัสว่า "ให้ม้ามันรู้จักกับคนขี่เสียก่อน" และอากาศในตอนนี้กำลังสดชื่น ถ้าไม่มีเหตุจะต้องรีบร้อน ก็ทรงเรียกขุนพินิจอักษร (มหาจิตร์ จิตร์ยโสธร พระยาอุดรธานีเดี๋ยวนี้) มาให้จดตามที่ทรงบอกไปบนหลังม้าด้วย เมื่อทรงบอกให้เขียนไปจนแดดจัดขึ้นแล้ว จึงหยุดหันมาตรัสแก่ลูกว่า "เอาหรือยัง?" ถ้าเราทูลตอบว่า "พร้อมแล้ว" ท่านก็ทรงนำออกวิ่งทีเดียว จนเห็นม้าเหนื่อย จึงหยุดเดินให้พักเป็นระยะ ๆ ไปจนถึงที่พัก ลงจากหลังม้าแล้ว ขุนพินิจฯ ก็(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)พิมพ์(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) พอทรงเรียกตีว ก็ตั้งต้นอ่านที่ทรงไว้แต่วันวาน(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) แล้วท่านก็ทรงบอกต่อ เป็นเช่นนี้(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)ทุกวันจนจบ จึงเป็นอันว่า ประกาศสังเวยเทวดานี้ได้ทรงแต่งบนหลังม้าแต่ต้นจนจบ ทันงานพระราชพิธีบวงสรวง และได้ทรงเป็นผู้อ่านประกาศนี้เองในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2450 นั้น.
๏สรวมชีพข้ายุคลบาท รับพระราชโองการ มานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสยามธรเนนทร สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั่วไทยประชาชนชาติ ขอประกาศแก่เทพยเจ้า บรรดาเนานภาลัย แลพระไพรภูมารักษ์ เทพยพิทักษ์เจดีย์สถาน สิงสำราญอรัญประเทศ ด้วยนฤเบศร์ทรงสดับ ตำหรับราชพงศาวดาร ครั้งมอญม่าานก่อเข็ญ เป็นปรปักษ์ประทุษฐประเทศ ทั่วสยามเกษตรแปรปรวน สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เป็นต้นเค้าคิดสู้ กู้อิสสรภาพชาวสยาม ทำสงครามหลายคาบ ปราบข้าศึกหงษาวดี ซึ่งมาตีพระนคร ให้พ่ายถอนถอยทัพ กลับไปเป็นหลายครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินพระชนกนาถ พระบาทธรรมราชา ครั้นพระบิดาสวรรคต กำหนดในพงศาวดาร เมื่อปีขาลโทศก ตกจุลศักราชเก้าร้อย สร้อยห้าสิบสองโดยประมวญ สมเด็จพระนเรศวรยุพราช เสด็จเถลิงอาสน์ผ่านรัฐ พอข่าวผลัดแผ่นดินใหม่ ในกรุงศรีอยุธยา ลุหงษาราชสถาน พระยาม่านนันทบพิตร คิดเอาเปรียบเชิงศึก นึกจะจู่เอาชัย จึงให้ราโชรส นามปรากฏกะยอชวา ผู้มหาอุปราช ยาตรพยุหเสนางค์ มาโดยทางกาญจนบุรี ในเดือนยี่ศกนั้น ครั้นพระบาทปรเมศร์ องค์พระนเรศร์เป็นเจ้า ทรงทราบเค้าคดีศึก ยกสอึกมาชิงชัย จึงเสด็จไปต่อสู้ รบศัตรูแตกพ่าย จับได้นายเสนา มีพญาพสิมเป็นต้น ณตำบลจรเข้สามพัน อุปราชนั้นหนีได้ ม่านเสียชัยครั้งนั้น พลันเป็นเหตุร้อนเร่า แก่พระเจ้าหงษา เกรงบรรดาประเทศราช จะเอื้อมอาตม์เอาอิสสระ จึงมานะมุ่งหมาย จะทำลายเมืองไทย ให้เห็นเป็นตัวอย่าง รอช่องว่างปีหนึ่ง ถึงมโรงจัตวาศก ตกจุลศักราชเก้าร้อย เศษสร้อยห้าสิบสี่ มีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพ ไทยใหญ่กับมอญพม่า ให้อุปราชาเป็นใหญ่ มาชิงชัยอีกครั้ง กำลังพลมากมาย หลายเท่ายิ่งกว่าไทย เดินพลไกรทางเก่า เข้าทางกาญจนบุรี มาตั้งที่ชุมนุมพล ณตำบลตะพังกรุ สุพรรณนครเขตร์สถาน ฝ่ายภูบาลพระนเรศร์ เมื่อทราบเหตุศึกใหญ่ ไพรีชาวหงษา ยกเข้ามาครั้งนั้น จึงจัดสรรค์ทัพหลวง ทั่วกระทรวงสรรพเสร็จ เสด็จจากราชธานี กับองค์ศรีอนุชา พระเอกาทศรถ ชุมนุมหมดหมู่พล ณตำบลมะม่วงหวาน เบิกโขลนทวารเดินทัพ ไปรบรับปัจจามิตร เมื่อวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้นดิถีเก้าค่ำ ดำเนินพลไปสุพรรณ ตั้งทัพขันธ์ณค่าย หนองสาหร่ายที่มั่น ครั้นวันจันทร์แรมสองค่ำ ได้ทรงทำยุทธหัตถี มีชัยฆ่าอุปราช ขาดคอช้างด้วยพระหัตถ์ กำจัดศัตรูพ่ายแพ้ แก่พระเดชาภินิหาร เป็นอวสานแต่นั้น ข้าศึกขยั้นหยุดตี มีแต่ไทยไปรอน จนเมืองมอญเป็นข้า ตลอดมหายุทธสมัย ครั้งนั้นไซร้ปรากฎ ในเบื้องบทพงศาวดาร ว่าภูบาลพระนเรศร์ ปรารภเหตุมหาชัย ให้สถาปนาพระเจดีย์ ไว้ณที่ชัยสถาน มาจนกาลบัดนี้ จำนวนปีนานนับ สามร้อยกับยี่สิบเอ็ดสรุป พระสถูปพึ่งปรากฏ แน่กำหนดต้องหลักฐาน ข่าวสาส์นทราบเบื้องบาท บรมนาถพระเป็นเจ้า มงกุฎเกล้าประชาไทย ภูวนัยทรงโสมนัศ ตรัสให้เตรียมยาตรา พร้อมพระวงศาข้าทูลพีะบาท โดยเสด็จยาตรพาหน เป็นกระบวนพลเสือป่า อุตส่าห์เสด็จโดยทูรสถาน มานมัสการพระเจดีย์ ด้วยมีพระราชประสงค์ จะทรงพระราชูทิศ กุศลกิจทั้งหลาย ถวายสมเด็จพระนเรศร์ วิชิตเชษฐวีรราชา แลพระเอกาทศรถ เฉลิมพระเกียรติยศสองสุรราช แลประศาสน์ส่วนพระกุศล แก่เหล่าพลทหารไทย บรรดาได้ต่อสู้ หมู่มอญม่านครั้งนั้น ป้องกันสยามอาณาจักร หักกำลังเหล่าศัตรู เอาชีพสู้เอาชัย ดั่งได้กล่าวแต่หลัง ขอกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ จงทราบด้วยทิพยโสด ทรงปราโมทย์อนุโมทนา ในพระราชจริยาผ่านเผ้า พระมงกุฎเกล้าซึ่ทรงอุตส่าห์ เสด็จมาในครั้งนี้ ส่วนเสนีพลทหาร ซึ่งพระราชทานพระกุศล จงรับผลทั่วหน้า สมกับที่แกว้นกล้า ต่อสู้เศิกกษัย ฯ
๏อนึ่งไซร้ขออำนาจ แห่งพระราชศรัทธา ในพระอรหาธิคุณพุทธ อุตมธรรมและมหาสงฆ์ คือองค์พระรัตนไตร ทั้งที่ได้ทรงพลี ทวยเทพที่พระสถูปสถาน จงบันดาลอวยสวัสดิ์ ศิริพิพัฒนมงคล แก่ประชาชนชาวสยาม ให้มีความจำเริญยิ่ง ขจัดสิ่งสรรพอุปัทว์ สารพัตรพิพิธภัย เศิกกษัยสูญขาด สยามราษฎร์เป็นสุขสำราญ หากจะมีการชิงชัย จงพหลไทยทั้งผอง คือกองทหารบกเรือ แลเสือป่าเป็นต้น ทุกคนจงเหี้ยมหาญ ในกิจการป้องกัน ชาติขัณฑสิมา รักษาอิสสรภาพสยาม พยายามโดยน้ำใจ เช่นทหารไทยครั้งพระนเรศวร ปราบหมู่มวลดัสกร จนสยอนชื่อชาวไทย ทั่วไปทุกประเทศ อนึ่งขอเดชไตรรัตนคุณ แลอดุลยเทวอำนาจ ให้พระบาทพระมงกุฎเกล้า เป็นพระเจ้านิกรไทย จงเจริญชัยเดชานุภาพ ปราบศัตรูขามเข็ด ดุจสมเด็จพระนเรศร์ ทุกประเทศจงเกรงพระฤทธิ์ แลทรงสถิตย์สถาพร ในบวรเศวตฉัตร สิบศิริรัชชธำรง ทรงสำราญราชกรณียานุวัติ อนึ่งสยามรัฐราชอาณาจักร จงเรืองศักดิ์ศิริวิไล ทรงวิสัยอิสสรภาพ ตราบสิ้นดินแลฟ้า ประสิทธิ์ประสงค์เจ้าหล้า ทุกข้ออธิฐานโสตถิ์เทอญ ฯ