เรื่องความรู้เบ็ดเตล็ด 3 เรื่อง/เรื่อง 2

จาก วิกิซอร์ซ
ความเห็น เรื่อง วิชาหัดเด็ก

การเล่า่เรียนของเด็กทั้งหลาย ว่าโดยทั่วไปมิได้กำหนดเปนตระกูลแลชนิด ข้าพเจ้าเห็นว่า เปน ๓ ชั้น

ชั้นต้น แต่เกิดมาชันคอได้ ก็เรียนที่จะคว่ำ จะนั่ง จะคลาน จะเดิน จะพูด จะวิ่ง ขึ้นไปโดยลำดับ นับเปนการร่ำเรียนโดยธรรมดาบังคับชั้น ๑

ส่วนชั้นกลางนั้น แต่เด็กเข้าใจภาษาแลรู้รักษาตัวแล้ว ก็ต้องเรียนวิชาบางอย่างที่จะเปนประโยชน์แก่ตนเองต่อไปภายหน้า คือ วิชาหนังสือ เปนต้น บรรดาที่เปนวิชากลางสำหรับแลควรแก่เด็กทั่วไป นับเปนการร่ำเรียนสำหรับตัวชั้น ๑ ชั้นหลังนั้น เมื่อรุ่นขึ้น ก็รำเรียนวิชาเลือกแต่อย่างเดียวหรือสองอย่างซึ่งจะรู้ไว้เปนทางหาเลี้ยงชีวิตตน เปนต้นว่า คนใดรักในวิชาหนังสือ ก็ตั้งหน้าเล่าเรียนในวิชานั้นให้รู้ลึกซึ้ง ไปทำการเปนเสมียนหรือเปนมหาเปรียญไปตามที ที่รักในทางช่างก็ฝึกให้ชำนิชำนาญหาการรับจ้างจนตั้งตัวเปนนายงานได้ ยิงวิชาอย่างอื่น ๆ ก็มีอิกมาก นับเปนการร่ำเรียนหาเลี้ยงชีวิตชั้น ๑

ในเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ดำริห์แลจงใจที่จะกล่าวในที่นี้ จะว่าแต่วิชาชั้นที่ร่ำเรียนสำหรับตัวชั้นเดียว แลว่าแต่วิชาสำหรับเด็กไทยเราประเทศเดียว คือ เมื่อเด็กอายุตั้งแต่ ๗ ขวบจน ๑๑ ขวบ ควรจะเรียนอะไรบ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่า ความรู้ควรจะสอนเด็กในระหว่างนั้นมีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ

 ให้อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้

 ให้คิดเลขเปน

 ให้รู้จักรักษาอิริยาบถ

 ให้หุงเข้าต้มแกงเปน

 ให้เย็บผ้าเปน

 ให้ขึ้นต้นไม้เปน

 ให้ว่ายน้ำเปน

 ให้ปลูกทัพกระท่อมที่อยู่เปน

 ให้รู้จักปลูกต้นไม้

๑๐ ให้รู้จักเลี้ยงสัตว

ความรู้ตามข้าพเจ้าคิดเห็นทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มิใช่ว่า จะต้องให้ไปเรียนในโรงเรียนทุกอย่าง ล้วนเปนความรู้ซึ่งบิดามารดาแลผู้เลี้ยงดูอาจสอนให้เด็กได้แทบทั้งนั้น ถึงว่าเช่นนี้ ถ้าไม่อธิบาย จะชักให้ท่านผู้อ่านสงสัยหรือเข้าใจผิดโดยหลายประการ คือ ประการหนึ่ง จะสงสัยว่า เด็กอายุเพียงเท่านั้น ที่ไหนจะเรียนวิชาได้ถึงเก้าอย่างสิบอย่าง ประการหนึ่ง จะเห็นว่า ที่จะสอนความรู้แก่เด็กถึง ๑๐ อย่างดังนี้ คงจะเปนเครื่องเดือดร้อนแก่เด็ก ประการหนึ่ง จะเห็นว่า ที่กำหนดเปนความรู้บางอย่างในสิบอย่างนั้น ไม่ควรจะสอนเด็ก เพราะไม่มีประโยชน์อยางไร

ถ้าความสงสัยแลความเข้าใจของท่านผู้อ่านมีอยู่เช่นนี้ ในข้อที่เด็กอายุเท่านั้นจะเรียนไม่ได้ หรือข้อที่จะเปนการเดือดร้อนแก่เด็กนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงโดยชัดเจนว่า ข้าพเจ้าได้ทดลองแล้ว แลไม่ได้เปนเช่นนั้นเลย ในข้อที่ความรู้เหล่านั้นจะเปนประโยชน์หรือไม่เปนประโยชน์นั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงทีละอย่าง ๆ ต่อลงไปนี้ก่อน แล้วจึงจะอธิบายวิธีที่ฝึกสอน

 ความรู้อ่านหนังสือแลเขียนหนังสือนี้ ที่จะเปนประโยชน์หรือไม่เปนประโยชน์นั้น ไม่เปนข้อต้องเถึยงจะต้องอธิบาย แต่ว่าการสอนวิชาหนังสือแก่เด็กอายุเพียงในระหว่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นควรจะสอนเพียงให้อ่านหนังสือออก คือ อ่านจดหมายหรือเรื่องอะไร ๆ ได้ ความเข้าใจก็สอนเพียงนั้น ไม่ต้องให้เรียนศัพท์แสงโคลงฉันท์ที่ลึกซึ้ง ส่วนวิชาเขียนหนังสือนั้นเล่า ก็สอนเพียงให้รู้จักเขียนจดหมายด้วยเส้นดินสอหรือให้วิเศษก็เส้นหมึกลงในแผ่นกระดาษ ไม่ต้องกวดขันวิธีสเปลล์ คือ ใช้ตัวอักษรให้แขงแรกนัก วิชาอ่านเขียนที่ควรสอน ว่าโดยย่อก็พอให้เด็กเข้าใจความบรรดาจดหมายเรื่องราวที่เขาเขียนมาให้อ่าน แลอาจเขียนความประสงค์ของตนลงเปนหนังสือได้เท่านั้น

 ความรู้คิดเลขนั้นเล่า ในส่วนประโยชน์ก็ไม่มีข้อควรถุ้งเถียงเหมือนกัน แต่กำหนดที่จะให้เด็กรู้นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า เพียงสามัญวิธี คือ นับ, บวก, ลบ, คูณ, หาร, กับมาตราวิธีคิดเรือนเงิน กับสั้นยาว แลเวลา ฤดู เดือน ปี เท่านั้นก็พอควร

 ความรู้รักษาอิริยาบถนั้น จะต้องอธิบายเบื้องต้นว่า ข้าพเจ้าหมายความรู้อย่างไรก่อน ความรู้ซึ่งข้าพเจ้ารวมเข้าในหมวดว่ารักษาอิริยาบถนี้ คือ

รู้จักรักษาสามัคคีไม่วิวาทหรือพูดจากันด้วยวาจาไม่ดี ประการ ๑

ยำเกรงอ่อนน้อมเชื่อฟังไม่หมิ่นประมาทผู้ใหญ่ ประการ ๑

รู้จักรักษาของ คือ รู้จักหนักเบามิให้สิ่งของที่ตัวใช้หรือรักษาเปนอันตราย ประการ ๑

รู้จักอาหารแลความประพฤติที่จะเปนอันตรายไข้เจ็บแก่ตัว คือ ให้รู้ว่า อาหารที่บูติเน่าเปนของทำให้ท้องเสีย แลความสอาดหมดจดย่อมเปนทางให้มีความสบาย เปนต้น ประการ ๑ ความรู้เหล่านี้รวมกนที่ข้าพเจ้าจัดเปนหมวดเรียกว่า รักษาอิริยาบถ เมื่ออธิบายเช่นนี้แล้ว ก็จะแลเห็นได้ว่า ล้วนแต่เปนประโยชน์ทั้งนั้น

 ความรู้หุงเข้าต้มแกงนั้น ก็แทบจะไม่ต้องกล่าวชี้แจงประโยชน์ จะควรอธิบายก็แต่ทำไมจึงเห็นควรเปนวิชาสอนเด็กด้วยเท่านั้น

ควรสอนเด็กก็เพราะอย่างเดียว ที่เด็กอายุเท่านั้นควรจะสอนได้แล้ว ไม่ควรจะให้ไปเสียเวลาเรียนต่อเมื่อเติบใหญ่

แลการหุ้งเข้าต้มแกงที่ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรจะสอนเด็กในชั้นนี้ ก็แต่เพียงให้รู้จักหุงเข้าให้สุก กับทำกับเข้าได้บางอย่าง เช่น ปิ้งปลา ทอดเนื้อ แกงต้มส้มหรือแกงเผ็ดอะไรสักอย่าง ๑ สองอย่าง เปนต้น

 ความรู้เย็บผ้านั้น ก็เปนประโยชน์ที่รู้แล้วอาจเย็บเครื่องนุ่งห่มของตัว หรือเมื่อสิ่งเหล่านั้นขาดชำรุดลง ก็พอจะซ่อมแซมได้ ความรู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นสมควรจะสอนเด็กเพียงให้รู้จักเย็บแลให้ตัดผ้าเย็บเปนเสื้อบางอย่าง คือ กุยเฮ็ง หรือเสื้อกระบอก เปนต้น ได้ เมื่อว่าโดยย่อ ถ้าผ้านุ่งขาด ก็ให้เย็บเองได้ แลส่งผ้าผืนให้ ก็ให้ัตดแลเย็บเสื้อสวมได้เท่านั้น ความรู้อย่างนี้ เห็นว่า ควรแก่เด็กทั่วไปทั้งชายหญิง ที่จะเข้าใจว่า เปนวิชาสำหรับแต่ผู้หญิงพวกเดียวนั้น เปนเข้าใจผิดแท้

 การที่ให้หัดขึ้นต้นไม้นั้น ดูอยู่ข้างจะให้ซุกซนอยู่สักหน่อย แต่เมื่อพิจารณาดูประโยชน์ ก็แลเห็นได้เปนหลายอย่าง คือ

เปนการทำให้ร่างกายเส้นสายแขงแรง ที่ฝรั่งเขาเรียก เอกเซอไซส์ หรือยิมแนสติก อย่าง ๑

เปนประโยชน์แก่การที่จะทำมาหากินไปภายหน้า คือ เปนชาวสวน เปนต้น อย่าง ๑

เปนประโยชน์แก่การหนีภัยอันตรายในภายหน้า คือ ไปป่าพบเสือ จะได้หนีมัน เปนต้น อย่าง ๑

เปนประโยชน์ในการทำเหย้าเรือนในภายหน้า อย่าง ๑

 การหัดให้ว่ายน้ำนั้น ถึงจะอธิบายประโยชน์ ก็เห็นจะเข้าใจได้ตลอดแล้ว

 ความรู้ปลูกทัพกระท่อมที่อาศรัยนั้น ข้าพเจ้าหมายความว่า เหมือนอย่างหาไม้ไผ่ จาก แลเครื่องมือให้พร้อมแล้ว ก็ให้เด็กอาจจะช่วยกันปลูกเปนกระท่อมที่อยู่ได้ หรือจะว่าคบเด็กสร้างบ้านก็ตาม

ความรู้อย่างนี้มีประโยชน์ แลความรู้อย่างอื่นรวมอยู่ด้วยหลายอย่าง คือ รู้จักใช้เครื่องมือสามัญ เช่น มีดพร้าเลื่อยขวาน เปนต้น ได้อย่าง ๑

จะรู้จักสิ่งของซึ่งควรประติดประต่อให้เปนประโยชน์ได้อย่าง ๑

จะเปนความรู้ติดตัวไปทำที่อาศรัยตนได้ในภายหน้า อย่าง ๑

ความรู้เรื่องนี้ก็ย่อมจะแลเห็นประโยชน์ได้โดยง่าย

 ความรู้ปลูกไม้นั้น ก็มีประโยชน์หลายอย่าง คือ

จะรู้กระบวรบำรุงที่ดินด้วยไขทางน้ำไม่ให้ท่วมแลการที่จะรักษาให้สอาด อย่าง ๑ จะรู้เหตุความเจริญ แลภัยของต้นไม้ แลวิธีแก้ไขป้องกันมิให้เสีย อย่าง ๑ ประโยชน์เหล่านี้ย่อมเปนต้นทางการเพาะปลูกทำเรือกสวนไร่นา โดยที่สุดการรักษาพื้นที่บ้านของตนต่อไปภายหน้าก็จะได้รับประโยชน์แต่ความรู้อย่างนี้ด้วย

๑๐ ความรู้จักเลี้ยงสัตวนั้น คือ เลี้ยงให้มากขึ้น มิใช่เลี้ยงให้ชน การเลี้ยงสัตวซึ่งเห็นควรสอนเด็ก เพราะธรรมดาสัตวที่อาศรัยคนเลี้ยง หรือเมื่อจะว่าอิกอย่าง ๑ ว่า ธรรมดาคนจะเลี้ยงสัตวก็ต้องมีความกรุณาต่อสัตว มีความประสงค์จะให้สัตวเหล่านั้นได้ความสุขอยู่เปนนิจ ดังนี้ จึงตั้งพยายามบำรุงรักษาสัตว พิจารณาเห็นทุกข์ของสัตวมีอย่างใด ก็คิดแก้ไขปลดเปลื้องป้องกัน เลือกสิ่งซึ่งจะมีความสุขแก่สัตวเลี้ยงดูโดยเต็มใจ นิสัยอันนี้ประกอบด้วยความกรุณา อย่าง ๑ ความพิจารณา อย่าง ๑ ความเพียร อย่าง ๑ ซึ่งจะฝึกหัดได้ด้วยความแนะนำในความสนุกของเด็กเท่านั้น แลนิสัยเหล่านี้ไม่ใช่เปนประโยชน์แต่ในการเลี้ยงสัตวอย่างเดียว ถ้าติดมีไปในสันดานแล้ว ย่อมจะเปนประโยชน์ไปในอย่างอื่นได้อิกมาก ตลอดจนการทำนาค้าขายบรรดาซึ่งต้องอาศรัยกำลังสัตวด้วย

ความรู้ทั้ง ๑๐ อย่าง ข้าพเจ้าเห็นว่า เปนประโยชน์ต่างกันเปนส่วน ๆ ดังชี้แจงมานี้ จึงเห็นว่า ควรจะฝึกสอนเด็กทุกอย่าง

เมื่อว่าเช่นนี้แล้ว จะต้องอธิบายให้เข้าใจชัดเจนว่า ทำไมจึงจะสอนวิชาทั้ง ๑๐ อย่างนี้แก่เด็ก ๆ อายุเพียง ๗ ขวบไปหา ๑๑ ขวบได้ ในวิชา ๑๐ อย่างนี้ สอนได้โดยลักษณะต่างกัน วิชาบางอย่าง คือ

หุงเข้าต้มแกง
ขึ้นต้นไม้
ปลูกทัพกระท่อม
เลี้ยงสัตว

๕ อย่างนี้ ล้วนเปนการเจือสนุก สอนแนะนำไปในกระบวรให้เด็กเล่นได้

วิชาบางอย่าง คือ รักษาอิริยาบถ ๑ ว่ายน้ำ ๑ สองอย่างนี้ อยู่ในความประพฤติเสมอ แลเปนการสนุกเนื่องอยู่ในการประพฤติเสมอ

ส่วนรักษาอิริยาบถก็สอนไปในการดูแลปกครองเด็ก วิชาว่ายน้ำก็สอนในเวลาที่อาบน้ำชำระตัวเด็กได้

วิชาบางอย่าง คือ วิชาหนังสือ ๑ วิชาเลข ๑ วิชาเย็บผ้า ๑ สามอย่างนี้ เปนวิชาต้องสอนในที่เล่าเรียนตามเวลา จึงจะได้

ว่าโดยย่อ วิชาทั้ง ๑๐ อย่างนั้น สอนได้โดยลักษณะต่างกัน ๓ ประการ คือ สอนเปนการเล่น ประการ ๑ สอนเปนการประพฤติเสมอ ประการ ๑ สอนเปนการเรียน ประการ ๑

อนึ่ง ในวิชาทั้ง ๑๐ อย่างนั้น ว่าตามที่เด็กจะรู้ได้ก็ยังต่างกัน คือ วิชาบางอย่าง เพียงแต่ผู้ใหญ่แนะนำ เด็กก็จะรู้ได้ด้วยความเต็มใจ วิชาพวกนี้ คือ หุงเข้าต้มแกง ๑ ขึ้นต้นไม้ ๑ ว่ายน้ำ ๑ เย็บผ้า ๑ ปลูกทัพกระท่อม ๑ ปลูกต้นไม้ ๑ เลี้ยงสัตว ๑ รวม ๗ อย่างด้วยกัน วิชาบางอย่าง ผู้ใหญ่ต้องบังคับกะเกณฑ์ เด็กจึงจะรู้ ในพวกนี้ คือ วิชาหนังสือ ๑ วิชาเลข ๑ รักษาอิริยาบถ ๑ วิชาทั้ง ๑๐ อย่างสอนได้โดยลักษณะต่างกันแลเด็กย่อมจะรู้ได้โดยลักษณะต่างกันดังนี้ ทั้งกำหนดเวลาที่จะสอนได้ ๕ ปี คือ แต่เด็กอายุ ๗ ขวบไปจนถึง ๑๑ ขวบ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าผู้ปกครองดูแลเด็กมีอุสาหแล้ว คงจะสอนได้โดยง่าย

วิชาทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ว่าที่แท้ก็เปนของธรรมดาเด็กเราเรียนกันอยู่แล้วแทบทั้งนั้น แต่ว่าไม่ได้เรียนโดยวิธีแลไม่ใคร่ได้เรียนทั่วทุกอย่าง ดูแต่เด็กชาวบ้านนอกเล็ก ๆ ใครไปสอนให้มันว่ายน้ำ ใครไปสอนให้มันขึ้นต้นไม้ ใครต้องสอนให้มันเลี้ยงควาย เพราะนิสัยเด็กเหมือนกับเรือไฟที่เปิดจักรแล่นเต็มสติมไปข้างหน้า กล่าวคือ ไม่มีความขี้เกียจที่จะซุกซนอยู่เปนเปรกติ ถ้าผู้ใหญ่คอยถือท้ายแนะนำให้ซนไปข้างได้การแล้ว ก็จะเปนประโยชน์ได้โดยง่าย ดีกว่าจะกักขังไม่ให้ซน คือ เขียนวงให้นั่ง เปนต้น เช่นนั้นก็เสมอหยุดจักรให้เรือลอย หาไม่ก็กักสติมไว้จนหม้อระเบิด กล่าวคือ ที่เด็กกลายเปนโง่เซอะหรือจะเล็ดลอดไปเสียคนไม่ให้ผู้ใหญ่รู้จักก่อนเท่านั้น

ข้าพเจ้าว่าเพ้อมา ยังหาได้กล่าวถึงวิธีสอนไม่ วิธีสอนวิชาทั้ง ๑๐ อย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ชั้นต้น ต้องจัดเวลาการเลี้ยงเด็กนั้นหรือเหล่านั้นให้ยุติก่อน

คือ เวลานั้นต้องตื่น เวลานั้นต้นเล่น เวลานั้นต้องกิน เวลานั้นต้องเรียน เวลานั้นต้องเลิก เปนต้นดังนี้ จนตลอดถึงเวลานอน ถ้าผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กด้วยกำหนดเวลาแน่นอนดังนี้ เปนประโยชน์หลายอย่าง คือ เคยเข้าแล้วเด็กไม่เกียจคร้าน นิสัยความหมั่นแลความเสมอก็ติดตัวเด็ก การรักษาอิริยาบถก็ต้องจับสอนไป คือ ตั้งแต่ปัดที่นอน พับผ้า เปนต้น แลต้องรักษาความสอาดหมดจดในที่อยู่ให้เสมอ จนเด็กเคยเข้าแล้วก็เกิดนิสัยเกลียดสกกระปรกขึ้นเอง วิชาหนังสือแลวิชาเลขก็จับสอนไปแต่แรก แต่ชั้นแรก ๆ ต้องผ่อนให้เรียนน้อย ๆ เพียงวันละชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมงก็ตาม เพราะเปนการเดือดร้อนของเด็กกว่าอย่างอื่น วิชาที่ต้องสอนเปนพื้นเสมอไปแต่แรกเท่านี้ วิชานอกนั้นต้องดู ถ้าเด็กมีนิสัยแลกำลังพอจะเรียนอย่างใดได้เสมอเมื่อใด ก็สอนต่อเมื่อนั้น แต่ต้องค่อย ๆ สอน อย่าเร่งรัด เปนต้นว่า วิชาปลูกทัพกระท่อม ก็ต้องสอนแต่ปลูกเรือนตุ๊กกระตาไปก่อน แล้วจึงค่อยขยับขึ้นไป การหุงเข้าต้มแกง ก็ต้องสอนแต่หุงด้วยหม้อหนูขึ้นไปก่อน การปลูกต้นไม้ ก็ให้ทำสวนเล็ก ๆ เล่น เลี้ยงสัตว ก็เพียงกระต่ายหรือนกสีชมพูไปก่อน การฝึกสอนชั้นนี้ ผู้ใหญ่ต้องเปนธุระแลออกสนุกด้วยกับเด็ก จึงจะสอนได้ ถ้าเปนที่เลี้ยงเด็กมาก ๆ อย่างโรงเรียนเลี้ยงเด็ก ก็ต้องให้เหมือนกัมปนีช่วยกันทำการเหล่านั้น มีผู้ใหญ่เปนสภานายกคอยดูแล ถ้าเห็นเด็กคนใดควรจะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างใดได้ ก็ให้ทำ ให้เปนเกียรติยศกันในกระบวรทำหน้าที่ได้ดี ดังนี้ เด็กเหล่านั้นคงจะรู้วิชา ๑๐ อย่างได้ทุกคน จะต่างกันก็ที่รู้ดีบ้าง ไม่สู้ดีบ้าง ตามอุปนิสัยเกิดมาโง่แลฉลาด

เรื่องความรู้สำหรับตัวเด็กนี้ ข้าพเจ้าคิดเห็นทีละอย่างหนึ่งสองอย่าง แลได้ทดลองสอนเด็กตามวิธีอธิบายมานี้ เห็นสำเร็จได้ จึงได้เรียบเรียงส่งมาลงวชิรญาณให้ท่านทั้งปวงอ่านเล่นตามสมควร

ดำรงราชานุภาพ