เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ กับอักขรานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดสุพรรณบุรี/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
นิทานโบราณคดี
เรื่อง
ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

พระนิพนธ์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เรื่องห้ามไม่ให้เจ้า
ไปเมืองสุพรรณ

มีคติโบราณถือกันมาแต่ก่อนว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี จะห้ามมาแต่เมื่อใด ห้ามเพราะเหตุใด ถ้าเจ้านายขืนเสด็จไปจะเป็นอย่างไร สืบสวนก็ไม่ได้ความเป็นหลักฐาน เป็นแต่อ้างกันต่าง ๆ ว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายบ้าง ว่า มีอะไรเป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณ เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริตบ้าง แต่เมื่อมีคติโบราณห้ามอยู่อย่างนั้น เจ้านายก็ไม่เสด็จไปเมืองสุพรรณ เพราะไม่อยากฝ่าฝืนคติโบราณ หรือไม่กล้าทูลลาด้วยเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่พระราชทานอนุญาตให้ไป อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่า เจ้านายองค์ไหนได้เคยเสด็จไปเมืองสุพรรณ จนมาตกเป็นหน้าที่ของฉันที่จะเป็นผู้เพิกถอนคตินั้น ดูก็ประหลาดอยู่.

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในปีนั้น ฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่าง ๆ ทางฝ่ายเหนือตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วกลับมาทางเมืองกำแพงเพ็ชร มาประจบขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์ แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง หยุดพักเพียง ๒ วัน สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะกับคนหาบหามสิ่งของเพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี เวลานั้น พระยาอินทรวิชิต (เถียร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แกได้รับราชการในกรมมหาดเล็กแต่ในรัชชกาลที่ ๔ เคยอุ้มฉันมาเมื่อยังเป็นเด็ก จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมือง แต่สังเกตดู แกไม่เต็มใจจะให้ฉันไปเมืองสุพรรณ บอกว่า หนทางไกล ไม่มีที่จะพักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน ถ้าฉันไป เกรงจะลำบากนัก ฉันตอบว่า เมื่อขึ้นไปทางเหนือ ได้เคยเดินบกทางไกล ๆ มาหลายแห่งแล้ว เห็นพอจะทนได้ ไม่เป็นไรดอก ทั้งได้สั่งให้เรือไปคอยรับอยู่ที่เมืองสุพรรณ พวกเมืองสุพรรณรู้กันอยู่หมดว่า ฉันจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา แกได้ฟังตอบก็ไม่ว่ากระไรต่อไป แต่แกไม่นิ่ง ออกจากฉันแกไปหาพระยาวรพุทธิโภคัยซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในข้าราชการที่กับฉัน ไปถามว่า "นี่ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่า เขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม" พระยาวรพุทธิฯ ก็เห็นจะออกตกใจ มาบอกฉันตามคำที่พระยาอ่างทองว่า ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้กลับไปถามพระยาอ่างทองว่า ห้ามเพราะเหตุใด แกรู้หรือไม่ พระยาอ่างทองบอกมาว่า "เขาว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไป มักทำให้เกิดภัยอันตราย" ฉันได้ฟังก็เข้าใจในขณะนั้นว่า เหตุที่พระยาอ่างทองไม่อยากให้ฉันไปเมืองสุพรรณ คงเป็นเพราะแกมีความภักดีต่อพระราชวงศ์ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายแก่ฉัน จึงห้ามปราม ถ้าเป็นเจ้านายพระองค์อื่น ก็เห็นจะคิดอุบายบอกปัดไม่จัดพาหนะถวาย แต่ตัวฉันเผอิญเป็นทั้งเจ้าและเป็นนายของแกในตำแหน่งราชการ ไม่กล้าบอกปัด จึงพยายามห้ามอย่างนั้น ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้ไปชี้แจงแก่พระยาอ่างทองว่า ฉันเคยได้ยินมาแล้วว่า ไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ แต่ยังไม่รู้ว่า ห้ามเพราะเหตุใด เมื่อได้ฟังคำอธิบายของพระยาอ่างทองว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ฉันคิดว่า เทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ เพราะฉะนั้น ฉันเห็นว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่า ฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก ไม่เห็นว่าน่าวิตกอย่างไร พระยาอ่างทองจนถ้อยคำสำนวน ก็ไม่ขัดขวางต่อไป.

ฉันออกจากเมืองอ่างทองแต่พอรุ่งเช้า ต้องลองเรือข้ามลำน้ำน้อยที่ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญแต่ก่อน แล้วขี่ม้าต่อไป ท้องที่ในระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณเป็นทุ่งตลอดทาง เวลานั้น เป็นต้นฤดูแล้ง บางแห่งแผ่นดินแห้งพอขี่ม้าควบได้ บางแห่งยังไม่แห้งสนิท ได้แต่ขี่สบัดย่าง บางแห่งก็เป็นน้ำโคลน ต้องให้ม้าเดินลุยน้ำไป แต่เป็นที่นา มีหมู่บ้านราษฎรเป็นระยะออกไป จนใกล้จะต่อแดนเมืองสุพรรณจึงเป็นป่าพงที่ว่างอยู่ตอนหนึ่ง เรียกว่า "ย่านสาวร้องไห้" ชื่อนี้เคยได้ยินเรียกหลายแห่ง หมายความเหมือนกันหมดว่า ที่ตอนนั้น เมื่อถึงฤดูแล้งแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ ฉันขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนสาย ออกจะหิว เหลียวหาคนพวกหาบอาหารก็ตามไม่ทัน ถึงบ้านชาวนาแห่งหนึ่ง มีพวกชาวบ้านพากันออกมาคอยต้อนรับและมีแก่ใจหาสำรับกับข้าวตั้งเรียงไว้ที่หน้าบ้านเตรียมเลี้ยงพวกฉันที่ผ่านไป ฉันลงจากม้าไปปราศรัยแล้วเปิดฝาชีสำรับดู เห็นเขาหุงข้าวแดงแต่เป็นข้าวใหม่ในปีนั้นมาเลี้ยงกับปลาแห้งปีใหม่นั้นเหมือนกัน นอกจากนั้น มีกับข้าวอย่างอื่นอีก ๒–๓ สิ่งซึ่งไม่น่ากิน เห็นแต่ข้าวใหม่กับปลาแห้งก็อยากกินด้วยกำลังหิว เลยหยุดพักกินข้าวที่ชาวบ้านเลี้ยง อร่อยพิลึก ยังไม่ลืมจนบัดนี้ สังเกตดูชาวบ้านเห็นพวกเรากินเอร็ดอร่อยก็พากันยินดี ข้าวปลาบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมจนกินอิ่มกันหมด คงรู้สึกว่า หามาไม่เสียแรงเปล่า เมื่อกินอิ่มแล้ว ฉันวางเงินปลีกให้เป็นบำเหน็จทุกสำรับ.

ตรงนี้จะเล่าถึงเรื่องชาวบ้านเลี้ยงคนเดินทางไปอีกสักหน่อย เคยสังเกตมา ดูเหมือนชาวเมืองไทยไม่เลือกว่าอยู่หัวเมืองไหน ๆ ถ้ามีแขกไปถึงบ้าน ชอบเลี้ยงอาหารด้วยความอารี มิได้ปรารถนาจะเรียกค่าตอบแทนอย่างไร จะว่าเป็นธรรมดาของชนชาติไทยก็เห็นจะได้ ฉันเคยได้ยินคนไปเที่ยวตามหัวเมือง แม้จนฝรั่ง มาเล่าและชมเช่นนั้นเป็นปากเดียวกันหมด ฉันได้เคยเห็นเป็นอย่างประหลาดครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ "ประพาสต้น" (คือ มิให้ใครรู้จัก) เวลาเย็นวันหนึ่ง ทรงเรือพายไปในทุ่งทางคลองดำเนินสะดวก ไปถึงบ้านชาวไร่แห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นผู้หญิง กำลังตั้งสำรับไว้จะกินอาหารเย็นกับลูกหลาน พอแลเห็นพระองค์ แกสำคัญว่าเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จ เชิญให้เสวยอาหารที่แกตั้งไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นสนุกก็รับเชิญ แล้วตรัสชวนพวกที่ตามเสด็จเข้านั่งล้อมกินด้วยกัน แต่ในขณะเมื่อกำลังเสวยอยู่นั้น ลูกชายเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติมานั่งแล ๆ อยู่สักครู่หนึ่งออกปากว่า "เหมือนนัก" แล้วว่า "แน่แล้ว" ลุกขึ้นนั่งคุกเข่ากราบในทันที พวกเราถามว่า เหมือนอะไร มันบอกว่า "เหมือนรูปเจ้าชีวิตที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา" เลยฮากันทั้งวง เจ้าของบ้านได้พระราชทานเงินตอบแทนกว่าค่าอาหารหลายเท่า เวลาตัวฉันเองไปตรวจราชการตามหัวเมือง ไปพักร้อนหรือพักแรมใกล้หมู่บ้านที่ไหน พวกชาวบ้านก็มักหาสำรับกับข้าวมาให้โดยมิได้มีผู้ใดสั่งเสีย แม้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ทำเช่นนั้น โดยประสงค์จะเลี้ยงพวกบริพาร พระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานเงินปลีกวางในสำรับตอบแทนเสมอเป็นนิตย์ ฉันเองก็ทำเช่นนั้นเพื่อรักษาประเพณีที่ดีของไทยไว้มิให้เกิดท้อถอยเพราะเห็นว่า ทำคุณไม่ได้รับความขอบใจ เปรียบเหมือนเลี้ยงพระไม่สวดยถาสัพพี แต่คนเดินทางที่เป็นสาธุชนเขาก็ตอบแทนอย่างไรอย่างหนึ่งเหมือนกัน ยังมีอนุสนธิต่อจากการกินไปถึงที่พักนอนของคนเดินทาง ในเมืองไทยนี้ดีอีกอย่างหนึ่งที่มีวัดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง บรรดาคนเดินทางถ้าไปโดยสุภาพก็เป็นที่หวังใจได้ว่า จะอาศัยพักแรมที่วัดไหน พระสงฆ์ก็มีความอารีต้อนรับให้พักที่วัดนั้นเหมือนกันหมดทุกแห่ง การเดินทางในเมืองไทยจึงสะดวกด้วยประการฉะนี้.

|- | พ้นทุ่งนาในแขวงเมืองอ่างทอง ต้องฝ่าพงย่านสาวร้องไห้ไปสักชั่วนาฬิกาหนึ่ง ก็ออกท้องทุ่งในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อใกล้จะถึงชานเมือง แลเห็นต้นตาลเป็นป่าใหญ่คล้ายกับที่เมืองเพ็ชรบุรี นึกขึ้นถึงนิทานที่ได้เคยฟังเขาเล่าเมื่อตามเสด็จไปเมืองเพ็ชรบุรีแต่ฉันยังเป็นทหารมหาดเล็กซึ่งอ้างเป็นมูลของภาษิตว่า "เมืองสุพรรณมีต้นตาลน้อยกว่าเมืองเพ็ชรบุรีต้นเดียว" ดูก็ขันอยู่ นิทานนั้นว่า มีชายชาวสุพรรณ ๒ คนไปยังเมืองเพชรบุรี วันหนึ่ง เพื่อนฝูงชาวเมืองเพ็ชรหลายคนชวนให้ไปกินเหล้าที่โรงสุรา พอกินเหล้าเมา ตึงตัวเข้าด้วยกัน ก็คุยอวดอ้างกันไปต่าง ๆ ตามประสาขี้เมา คนที่เป็นชาวเมืองเพ็ชรคนหนึ่งอวดขึ้นว่า ที่เมืองไหน ๆ ไม่มีต้นตาลมากเหมือนเมืองเพ็ชรบุรี คนที่เป็นชาวสุพรรณขัดคอว่า ที่เมืองสุพรรณมีต้นตาลมากกว่าเมืองเพ็ชรเป็นไหน ๆ คนชาวเมืองเพ็ชรออกเคืองว่า เมืองสุพรรณเล็กขี้ประติ๋ว เมืองอื่นที่ใหญ่กว่าเมืองสุพรรณก็ไม่มีต้นตาลมากเท่าเมืองเพ็ชรบุรี คนชาวเมืองสุพรรณขัดใจตอบว่า อะไร ๆ ที่เมืองสุพรรณมีดีกว่าเมืองเพ็ชรถมไป ทำไมต้นตาลจะมีมากกว่าไม่ได้ เลยเถียงกันจนเกิดโทษะทั้งสองฝ่าย เกือบจะชกกันขึ้น คนชาวสุพรรณเห็นพวกเมืองเพ็ชรมากกว่า ก็รู้สึกตัว ยอมรับว่า "เอาเถอะ ต้นตาลเมืองสุพรรณมีน้อยกว่าเมืองเพ็ชรต้นหนึ่ง" พวกชาวเมืองเพ็ชรชะนะ ก็พอใจ เลยดีกันอย่างเดิม เขาเล่ามาดังนี้.

ห่างจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระยาอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ฉันเองรู้สึกเพลียถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่า เมื่อไรจะถึง หลายหน จนจวนพลบค่ำ จึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี แต่พอถึงก็รู้เรื่องแปลกประหลาด ด้วยพวกกรมการเมืองที่คอยรับอยู่มีแต่พระชัยราชรักษาปลัดเป็นหัวหน้า หาเห็นตัวพระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองไม่ ฉันถามพระปลัดว่า พระยาสุพรรณเจ็บหรือ เขาบอกว่า เข้าไปกรุงเทพฯ ฉันแปลกใจ ถามต่อไปว่า ไปแต่เมื่อไร เขาบอกว่า ไปเมื่อสักสองสามวันนี้เอง ก็ยิ่งประหลาดใจว่า ตัวฉันเป็นเสนาบดีไปตรวจราชการครั้งแรก ชอบที่เจ้าเมืองจะคอยรับเหมือนอย่างเมืองอื่น ๆ ที่ได้ไปแล้ว นี่อย่างไรพระยาสุพรรณจึงหลบหน้าไปเช่นนั้น ในส่วนตัวพระยาสุพรรณคนนั้นก็เคยรู้จักกับฉันมาแต่ก่อน และมิได้มีเหตุที่จะรังเกียจกันอย่างไร นึกว่า น่าจะมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้แกไม่อยู่สู้หน้าฉัน พอรุ่งขึ้นวันหลัง ก็รู้เหตุด้วยราษฎรพากันมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุพรรณหลายพวกว่า กดขี่ให้เดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ แต่รวมความก็อยู่ในว่า ลงเอาเงินแก่ราษฎร ไม่ถึงเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เห็นเรื่องราวเหล่านั้นฉันก็เข้าใจว่า เหตุใดพระยาสุพรรณจึงไม่อยู่สู้หน้า คงเป็นเพราะแกรู้ว่า จะถูกราษฎรฟ้อง และรู้ตัวว่า คงจะต้องถูกเอาออกจากตำแหน่ง แต่เกรงว่า ฉันจะชำระโทษที่เมืองสุพรรณให้ได้ความอัปยศอดสู จึงหลบเข้าไปกรุงเทพฯ เหมือนอย่างว่า "หนีไปตายเอาดาบหน้า" โดยจะชำระสะสางก็ให้เป็นในกรุงเทพฯ อย่าให้อับอายชาวเมืองสุพรรณเท่านั้นเอง แต่ฉันไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ตั้งใจแต่จะไปหาความรู้ กับจะดูว่า มีคนดี ๆ อยู่ที่ไหนบ้าง มิได้ปรารถนาจะไปเที่ยวค้นคว้าหาความผิดของเจ้าเมืองกรมการ สมัยนั้น ไปตามเมืองอื่นก็มิได้ผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองกรมการ จนมาถึงเมืองสุพรรณอันเป็นที่สุดทาง มามีเหตุเจ้าเมืองหลบหนี ก็มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างไรอย่างหนึ่งให้เด็ดขาด มิฉะนั้น ก็จะถูกดูหมิ่น ฉันจึงสั่งให้ถือเป็นยุติว่า พระยาสุพรรณไม่ได้เป็นเจ้าเมืองต่อไปแล้ว ส่วนคดีที่ราษฎรยื่นเรื่องราวก็ให้เป็นแล้วกันไป ด้วยพระยาสุพรรณถูกเอาออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว ฉันรับกับราษฎรว่า จะหาเจ้าเมืองที่ดีส่งไป มิให้เบียดเบียฬให้เดือดร้อน พวกที่ยื่นเรื่องราวก็พอใจ.

เมื่อฉันพักอยู่ที่เมืองสุพรรณครั้งนั้น มีเวลาไปเพียงที่เจดียวัตถุที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดพระป่าเลไลย สระน้ำสรงราชาภิเษก และไปทำพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมืองซึ่งในเวลานั้นยังเป็นศาลไม้เก่าคร่ำคร่า มีเทวรูปพระพิษณุแบบเก่ามากจำหลักศิลาตั้งอยู่ ๒ องค์ ฉันรับเป็นหัวหน้าชักชวนพวกชาวเมืองสุพรรณให้ช่วยกันสร้างศาลาใหม่ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูนและก่อเขื่อนถมดินเป็นชานรอบศาล พวกพ่อค้าจีนช่วยแข็งแรงทั้งในการบริจาคทรัพย์และจัดการรักษา ดูเหมือนจะเริ่มมีเฮียกงประจำศาลตั้งแต่นั้นมา.

เมืองสุพรรณเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในทางโบราณคดี แต่จะรอเรื่องนั้นไว้พรรณนาในนิทานเรื่องอื่น จะพรรณนาว่าแต่ด้วยของบางอย่างอันมีที่เมืองสุพรรณแปลกกับเมืองอื่น ๆ บรรดาที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อน คือ อย่างหนึ่ง มีศาลเจ้ามากกว่าที่ไหน ๆ หมด จะไปทางไหน ๆ ในบริเวณเมืองเป็นแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสายตา เป็นศาลขนาดย่อม ๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี ล้วนมีผ้าแดงหรือผีสีชมภูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย สังเกตเพียงตรงที่จวนเจ้าเมืองมีศาลเจ้ารายรอบถึงสี่ศาล อาการส่อว่า ชาวเมืองสุพรรณเห็นจะกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสสัยสืบกันมาช้านาน ที่เรียกว่า เจ้าผี นั้น ต่างกับเทพารักษ์ บอกอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เทพารักษ์ คือ เทวดาที่บุญพามาอยู่ประจำพิทักษ์รักษาอาณาเขตต์แห่งใดแห่งหนึ่งให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่เจ้าผี นั้น คือ มนุษย์ที่สิ้นชีพไปแล้ว ผลกรรมทำให้ต้องท่องเที่ยวเป็นผีอยู่ ยังไม่สามารถไปถือกำเนิดเกิดใหม่ได้ ถ้าผีไม่ชอบใจใคร ก็อาจจะทำร้ายให้เดือดร้อนรำคาญ เพราะฉะนั้น คนจึงกลัวผี ถ้าเชื่อว่า แห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ ก็ต้องเอาใจผี เช่น ปลูกศาลให้สำนักและเซ่นวักเรียกว่า "เจ้า" มิให้เบียดเบียฬ บางทีที่กล่าวกันว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณดุร้าย จะเกิดแต่ชาวสุพรรณเอาคติเจ้าผีไปปนกับเทพารักษ์ก็เป็นได้.

เมืองสุพรรณทำให้จับใจผิดกับที่อื่นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเมืองเนื่องกับนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนอันคนชอบกันแพร่หลายด้วยได้ฟังขับเสภาและจำเรื่องได้ยิ่งกว่านิทานเรื่องอื่น ๆ ตามที่กล่าวในเรื่องนิทานว่า ขุนศรีวิชัยกับนางเทพทองพ่อแม่ขุนช้างตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสิบเบี้ยก็ดี ว่า บ้านพันศรโยธากับนางศรีประจันพ่อแม่ของนางพิมอยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยงก็ดี ที่ว่า ขุนช้างไปครองบ้านหมื่นแผ้วพ่อตาอยู่ที่ตำบลบ้านรั้วใหญ่ก็ดี ที่ว่า ขุนช้าง พลายแก้ว กับนางพิม เมื่อยังเป็นเด็กเคยไปเล่นด้วยกันที่สวนข้างวัดเขาใหญ่ก็ดี ที่ว่า เณรแก้วอยู่วัดพระป่าเลไลยแล้วหนีไปอยู่วัดแคก็ดี ตำบลบ้านและวัดเหล่านั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง นอกจากนั้น ในเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ออกชื่อตำบลต่าง ๆ ในทางที่ไปว่า ออกทางประตูตาจอม ผ่านวัดตะลุ่มโปง โคกกำยาน นาแปลกแม่ ข้ามลำน้ำบ้านพลับ ถึงบ้านกล้วย ยุ้งทะลาย ผ่านเขาถ้ำพระ ตำบลต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังมีอยู่ทั้งนั้น ใครเคยชอบอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผน ไปถึงเมืองสุพรรณ ก็ออกสนุกที่ได้ไปดูเมืองขุนช้างขุนแผนด้วยอีกอย่างหนึ่ง.

ตั้งแต่ฉันไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นแล้ว เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ แม้ตัวฉันเองต่อมาก็ชอบไปเมืองสุพรรณ ได้ไปอีกหลายครั้ง เมื่อรัชชกาลที่ ๕ ฉันได้รับราชการเป็นตำแหน่งผู้จัดการเสด็จประพาสมาแต่ยังเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้บังคับบัญชาการตามหัวเมือง หน้าที่นั้นก็ยิ่งสำคัญขึ้น เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงใคร่จะทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ ต้องคิดหาที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ปีหนึ่ง ฉันกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ตรัสว่า "ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ" ฉันกราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้" ทรงพระสรวล ตรัสว่า "ไปซิ"

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองสุพรรณครั้งแรก ครั้งนั้น ฉันไปล่วงหน้าวันหนึ่งเพื่อจะตรวจทางและที่ประทับ ไปคอยรับเสด็จอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง วันที่ฉันไปถึงนั้น เวลาค่ำ พอกินอาหารแล้ว ฉันนั่งพูดอยู่กับพวกกรมการ พอสักยามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงยิงปืนนัดหนึ่ง ฉันจึงสั่งกรมการว่า พรุ่งนี้ให้ไปบอกพวกชาวบ้านเสียว่า เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นี่ อย่าให้ยิงปืน พูดยังไม่ทันขาดคำ ได้ยินเสียงปืนยิงซ้ำอีกสองสามนัด เห็นผิดสังเกต พวกกรมการดูก็พากันฉงน ฉันว่า "เกิดปล้นกันดอกกระมัง นี่อย่างไร ดูราวกับจะปล้นรับเสด็จ" สั่งให้กรมการกับตำรวจภูธรรีบไปในขณะนั้น กำชับให้จับตัวผู้ร้ายให้ได้ พวกกรมการไปได้สักประเดี๋ยว คนหนึ่งกลับมาบอกว่า "มิใช่ผู้ร้ายปล้น หามิได้ เป็นแต่พวกชาวบ้านยิงปืนจันทร์อังคาธ" ฉันแหงนแลดูดวงพระจันทร์ก็เห็นแหว่งจริงดังว่า มีเสียงปืนยิงอีกสักครู่หนึ่งก็เงียบไป คงเป็นเพราะพวกกรมการกับตำรวจภูธรไปห้าม.

ไทยเราเข้าใจกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ที่เกิดจันทร์อังคาธเป็นเพราะพระราหูเข้าจับจะกินพระจันทร์ รู้กันเช่นนั้นจนกระทั่งลูกเด็กเล็กแดง พอเห็นจันทร์อังคาธก็พอใจส่งเสียงอะไรแปลก ๆ ขึ้นไปบนฟ้า หวังจะให้พระราหูตกใจทิ้งพระจันทร์ ทำนองเดียวกับขับนกให้ทิ้งข้าวในท้องนา ที่จริงมิใช่กลัวว่าว่า พระจันทร์จะล้มตาย เป็นแต่จะช่วยให้พ้นความรำคาญเท่านั้น ยังเชื่อกันต่อไปว่า พระราหูมีแต่ครึ่งตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นดวงจันทร์ผ่านพ้นเงามืดเฉียงไป ก็เข้าใจพระราหูต้อง "คาย" พระจันทร์ ถ้าเห็นดวงจันทร์มุดเงามืดตรงไป ก็เข้าใจว่า พระจันทร์หลุดเลยออกไปทางท้องพระราหู จึงมักถามกันว่า "ขี้หรือคาย" และประสงค์จะให้พระราหูต้องคายพระจันทร์ เมื่อมีจันทร์อังคาธแล้ว ต่อไปถึงวันหลัง พอพระจันทร์ขึ้น ก็มักทำขวัญพระจันทร์ด้วย เมื่อฉันยังเป็นเด็กอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลามีจันทร์อังคาธ เคยเห็นเขาเอาเชี่ยนขันตีช่วยพระจันทร์ เคยช่วยเขาตี เป็นการสนุกอย่างยิ่ง เขาบอกว่า ถึงไม่มีอะไรจะตี เพียงดีดเล็บมือให้มีเสียงก็อาจจะช่วยพระจันทร์ได้ ดูพิลึก แต่เวลาฉันไปหัวเมือง เพิ่งจะไปพ้องกับจันทร์อังคาธเมื่อวันนั้น พึงเห็นได้ว่า ความเชื่อเช่นกล่าวมาคงจะมีมาเก่าแก่ทีเดียว ในอินเดียถือคติต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า เวลามีจันทร์อังคาธ ถ้าใครลงน้ำดำหัว เป็นสวัสดิมงคลยิ่งนัก พวกพราหมณ์พาคตินั้นเข้ามาเมืองไทยแต่โบราณเหมือนกัน จึงมีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษกเมื่อเวลาจันทร์อังคาธเป็นนิจ เพิ่งเลิกเมื่อรัชกาลที่ ๕.

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก เสด็จขึ้นไปทางทำลำน้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องก่อน แล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรสถานที่โบราณต่าง ๆ ทุกแห่ง เมื่อเสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง โปรดพระราชทานเงินให้สร้างกำแพงแก้วกับศาลที่พัก ขยายบริเวณศาลานั้นให้กว้างออกไปอีก ประพาสเมืองสุพรรณแล้ว เสด็จกลับทางคลองจรเข้ใหญ่ มาออกบ้านผักไห่ตาลานในจังหวัดอยุธยา แล้วเลยมาขึ้นรถไฟที่บางปอินกลับกรุงเทพฯ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งหลังแล้ว เสด็จไปประพาสเมืองสุพรรณบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ เสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองชัยนาท แล้วกลับล่องทางคลองมะขามเฒ่า เข้าปากน้ำเมืองสุพรรณข้างเหนือ ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวช ลงมาจนเมืองสุพรรณ แล้วเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีงิ้วรายมากรุงเทพฯ.

ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้ คนที่รู้ว่า เคยมีคติเช่นนั้น ก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานรักษาโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้ศูนย์ไปเสีย.