ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 1/เรื่องที่ 3
- คำนำพระราชพงษาวดาร
- ฉบับหลวงประเสริฐ
พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เดิมพระปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) แต่ยังเปนหลวงประเสริฐอักษรนิติ ไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่ง ๑ จึงขอมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ กรรมการหอพระสมุดเห็นเปนหนังสือพระราชพงษาวดารแปลกจากฉบับอื่น ๆ ที่มีแล้ว จึงให้เรียกชื่อว่า "พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ" ให้เปนเกียรติยศแก่ผู้พบแลพามาให้หอพระสมุด
หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้มีบานแพนกว่า เป็นหนังสือฉบับหลวง สมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้แต่งขึ้นเมื่อวัน ๔ ๑๒ ฯ ๕ ค่ำ ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ กล่าวเนื้อความตั้งต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพนันเชิงเมื่อจุลศักราช ๖๘๖ จะจบเพียงไหนทราบไม่ได้ ด้วยต้นฉบับที่หอพระสมุดได้มาได้แต่เล่ม ๑ เล่มเดียว ความค้างอยู่เพียงปีมโรง ฉศก จุลศักราช ๙๖๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อเตรียมทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ คเนดูเห็นจะมีเล่ม ๒ อิกเล่มเดียว ความจะมาจบเพียงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองเปนอย่างมาก
สมุดต้นฉบับที่ได้มา เปนสมุดดำ เขียนด้วยตัวรง ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า มีรอยถูกฝนชื้น ตัวหนังสือลบเลือนอยู่หลายแห่ง แต่โดยมากมีรอยพอเห็นตรงลบเลือนได้ กรรมการหอพระสมุดได้ให้พิมพ์พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ใน ร.ศ. ๑๒๖ ปีที่ได้มานั้นเปนครั้งแรก ครั้นปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้ หอพระสมุดได้หนังสือพระราชพงษาวดารความเดียวกับหลวงประเสริฐมาอิกฉบับหนึ่ง ๒ เล่มสมุดไทย เปนฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีเขียนเมื่อปีมเมีย ฉศก พ.ศ. ๒๓๑๗ เป็นเหตุให้ยินดี คาดว่า จะได้เรื่องราวพระราชพงษาวดารฉบับนี้จนจบ แต่ครั้นเอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบกันเข้า ได้ความปรากฎว่า ฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรีเปนฉบับลอกจากเล่มของหลวงประเสริฐอักษรนิตินี้เอง เพราะที่สุดไปค้างเขินอยู่ตรงคำต่อคำเหมือนกับฉบับหลวงประเสริฐ เปนอันได้ความว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ นี้ มีเพียงเท่าที่ได้มาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว จึงสิ้นหวังที่จะหาเรื่องต่อได้อิกต่อไป แต่ที่ได้ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรีมามีประโยชน์อยู่อย่าง ๑ ที่ได้ความซึ่งลบเลือนในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติบริบูรณ์
พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แม้ความที่กล่าวเป็นอย่างย่อ ๆ มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฎในพระราชพงษาวดารฉบับอื่นออกไปอิกมาก แลที่สำคัญนั้น ศักราชในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแม่นยำ กระบวนศักราชเชื่อได้แน่กว่าพระราชพงษาวดารฉบับอื่น ๆ หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ จึงเป็นหลักแก่การสอบหนังสือพงศาวดารได้เรื่องหนึ่ง
๏ ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร (พ.ศ. ๒๒๒๓) ณวัน ๔ ๑๒ ฯ ๕ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอกกฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเปนแห่งเดียว ให้รดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้.
๏ จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าเจ้าพแนงเชิง⟨.⟩
๏ ศักราช ๗๑๒ ขาลศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) วัน ๖ ๖ฯ ๕ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาด แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๗๓๑ รกาศก (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัดดิ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก พ.ศ. (๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรีขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัดดิเมืองลพบุรี.
๏ ศักราช ๗๓๓ กุญศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวง.
๏ ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่าแลเมืองแสงเชรา ได้เมือง
๏ ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว แลพญาใสแก้วแลพญาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ ได้ฆ่าพญาใสแก้วตาย แลพญาคำแหงแลพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ แลทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา.
๏ ศักราช ๗๓๖ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุฝ่ายบูรพทิศหน้าพระบันชั้นสิงห์สูงเส้น ๓ วา.
๏ ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิศณุโลก แลได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองแลครัวอพยพมาครั้งนั้นมาก.
๏ ศักราช ๗๓๘ มโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น พญาคำแหงแลท้าวผ่าคองคิดด้วยกันว่า จะยอทัพหลวง แลจะทำมิได้ แลท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี แลจึงเสด็จยกทัพหลวงตาม แลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพญาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน.
๏ ศักราช ๗๔๐ มเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ แลเห็นว่า จะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม.
๏ ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ แลให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน
๏ ศักราชได้ ๗๕๐ มโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพานแลจึงเจ้าทองลันพระราชกุมารท่านได้เสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรีขึ้นเสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้พิฆาฏเจ้าทองลันเสีย.
๏ ศักราช ๗๕๗ กุญศก (พ.ศ. ๑๙๓๘) สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านเจ้าพญารามเสวยราชสมบัดดิ.
๏ ศักราช ๗๗๑ (พ.ศ. ๑๙๕๒) สมเด็จพญารามเจ้ามีความพิโรธแก่เจ้าเสนาบดี แลท่านให้กุมเจ้าเสนาบดี ๆ หนีรอด แลข้ามไปอยู่ฟากปท่าคูจามนั้น แลเจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรีว่า จะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุทธยาถวาย ครั้นแลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาถึงไส้ จึงเจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุทธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัดดิ แลท่านจึงให้สมเด็จพญารามเจ้าไปกินเมืองปท่าคูจาม.
๏ ศักราช ๗๘๑ กุญศก (พ.ศ. ๑๙๖๒) มีข่าวมาว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเปนจลาจล แลจึงเสด็จขึ้นไปเถิงเมืองพระบาง ครั้งนั้น พญาบาลเมืองแลพญารามออกถวายบังคม.
๏ ศักราช ๗๘๖ มโรงศก (พ.ศ. ๑๙๖๗) สมเด็จพระอินทราชาเจ้า ทรงพระประชวร นฤพาน ครั้งนั้น เจ้าอ้ายพญาแลเจ้าญี่พญาพระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกันณสพานป่าถ่านเถิงพิราไลยทั้ง ๒ พระองค์ที่นั้น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพญาได้เสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพญาอ้ายแลเจ้าพญาญี่ชนช้างด้วยกัน เถิงอนิจภาพตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้น ท่านสถาปนาวัดราชบุณ.
๏ ศักราช ๗๙๓ กุญศก (พ.ศ. ๑๙๗๔) สมเด็จพระบรมราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองนครหลวงได้ แลท่านจึงให้พระราชกุมารท่านพระนครอินทรเจ้าเสวยราชสมบัดดิณเมืองนครหลวงนั้น ครั้งนั้น ท่านจึงให้พญาแก้วพญาไทยแลรูปภาพทั้งปวงมายังพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๘๐๐ มเมียศก (พ.ศ.๑๙๘๑) ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์ เสวยราชสมบัดดิ แลสมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เปนพระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกมาเปนโลหิต.
๏ ศักราช ๘๐๒ วอกศก (พ.ศ. ๑๙๘๓) ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร.
๏ ศักราช ๘๐๓ รกาศก (พ.ศ. ๑๙๘๔) ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข.
๏ ศักราช ๘๐๔ จอศก (พ.ศ. ๑๙๘๕) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ แลเข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวร แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน⟨.⟩
๏ ศักราช ๘๐๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๘๗) เสด็จไปปราบพรรค แลตั้งทัพหลวงตำบลปะท้ายเขษม ครั้งนั้น ได้เชลย ๑๒๐๐๐๐ ทัพหลวงเสด็จกลับคืน.
๏ ศักราช ๘๑๐ มโรงศก (พ.ศ. ๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยสมบัดดิ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า.
๏ ศักราช ๘๑๓ มแมศก (พ.ศ. ๑๙๙๔) ครั้งนั้น มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน.
๏ ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ. ๑๙๙๗) ครั้งนั้น คนทั้งปวงเกิดทรพิศม์ตายมากนัก.
๏ ศักราช ๘๑๗ กุญศก (พ.ศ. ๑๙๙๘) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา.
๏ ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๙๙) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน ครั้งนั้น เสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน.
๏ ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๐๐) ครั้งนั้น เข้าแพงเปนทนานล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกียนหนึ่งเปนเงินสามชั่งสิบบาท.
๏ ศักราช ๘๒๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๐๑) ครั้งนั้น ให้บุณพระสาสนาบริบูรณ แลหล่อรูปพระโพธิสัตว ๕๐๐ ชาติ.
๏ ศักราช ๘๒๒ มโรงศก (พ.ศ. ๒๐๐๓) เล่นการมหรศพฉลองพระ แลพระราชทานแก่สงฆ์แลพราหมณ์แลพรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้น พญาซเลียงคิดเปนขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช.
๏ ศักราช ๘๒๓ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๐๔) พญาซเลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิศณุโลก เข้าปล้นเมืองเปนสามารถ มิได้เมือง แลจึงยกทัพเปรอไปเอาเมืองกำแพงเพ็ชร แลเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวัน มิได้เมือง แลมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่.
๏ ศักราช ๘๒๔ มเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน แลให้พระกลาโหมไปตาม ได้คืนมา แล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า.
๏ ศักราช ๘๒๕ มแมศก (พ.ศ. ๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัดดิเมืองพิศณุโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชา ครั้งนั้น มหาราชท้าวลูกยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย จึงสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า แลสมเด็จพระอินทราชาเจ้า เสด็จไปกันเมือง แลสมเด็จพระบรมราชาเจ้าตีทัพพญาเถียรแตก แลทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร แลท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร แลครั้งนั้นเปนโกลาหลใหญ่ แลข้าเศิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้น สมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องเปนณพระภักตร์ แลทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป.
๏ ศักราช ๘๒๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๐๗) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี.
๏ ศักราช ๘๒๗ รกาศก (พ.ศ. ๒๐๐๘) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงพระผนวชณวัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาพระผนวช.
๏ ศักราช ๘๓๐ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๑๑) ครั้งนั้น มหาราชท้าวบุญชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก.
๏ ศักราช ๘๓๓ เถาะศก (พ.ศ. ๒๐๑๔) ได้ช้างเผือก.
๏ ศักราช ๘๓๔ มโรงศก (พ.ศ. ๒๐๑๕) พระราชสมภพพระราชโอรสท่าน.
๏ ศักราช ๘๓๕ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๑๖) หมื่นนครให้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ.
๏ ศักราช ๘๓๖ มเมียศก (พ.ศ. ๒๐๑๗) เสด็จไปเอาเมืองซเลียง.
๏ ศักราช ๘๓๗ มแมศก (พ.ศ. ๒๐๑๘) มหาราชขอมาเปนไมตรี
๏ ศักราช ๘๓๙ รกาศก (พ.ศ. ๒๐๒๐) แรกตั้งเมืองนครไทย.
๏ ศักราช ๘๔๑ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๒๒) พระสีหราชเดโชเถิงแก่กรรม.
๏ ศักราช ๘๔๒ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๒๓) พญาล้านช้างเถิงแก่กรรม และพระราชทานให้อภิเศกพญาซ้ายขาวเปนพญาล้านช้างแทน.
๏ ศักราช ๘๔๔ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๒๕) ท่านให้เล่นการมหรศพ ๑๕ วันฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ.
๏ ศักราช ๘๔๕ เถาะศก (พ.ศ. ๒๐๒๖) สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย.
๏ ศักราช ๘๔๖ มโรงศก (พ.ศ. ๒๐๒๗) สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า แลสมเด็จพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์.
๏ ศักราช ๘๔๗ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๒๘) พระราชโอรสท่านลาพระผนวช แลประดิษฐานพระองค์นั้นไว้ในที่พระมหาอุปราช.
๏ ศักราช ๘๔๘ มเมียศก (พ.ศ. ๒๐๒๙) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้างตำบลสัมฤทธิบูรณ.
๏ ศักราช ๘๔๙ มแมศก (พ.ศ. ๒๐๓๐) ท้าวมหาราชลูกพิราไลย.
๏ ศักราช ๘๕๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๓๑) สมเด็จพระบรมราชธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย แลเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้น เกิอุบาทว์เปนหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งเปนแปดเท้า ไก่ฟักไข่ออกตัวหนึ่งเปนสี่เท้า ไก่ฟักไข่สามค่องออกลูกเปนหกตัว อนึ่ง เข้าสารงอกเปนใบ อนึ่ง ในปีเดียวนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกเสด็จนฤพานณเมืองพิศณุโลก.
๏ ศักราช ๘๕๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๓๓) แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิไชย.
๏ ศักราช ๘๕๓ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๓๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี.
๏ ศักราช ๘๕๔ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๓๕) ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกแลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า.
๏ ศักราช ๘๕๘ มโรงศก (พ.ศ. ๒๐๓๙) ท่านประพฤติการเบญจาพิศพระองค์ท่าน แลให้เล่นการดึกดำบรรพ์.
๏ ศักราช ๘๕๙ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๔๐) ท่านให้ทำการปฐมกรรม.
๏ ศักราช ๘๖๑ มแมศก (พ.ศ. ๒๐๔๒) แรกสร้างพระวิหารวัดศรีสรรเพชญ.
๏ ศักราช ๘๖๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๔๓) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าแรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ แลแรกหล่อในวัน ๑ ๘ฯ ๖ ค่ำ ครั้งเถิงศักราช ๘๖๕ กุญศก (พ.ศ. ๒๐๔๖) วัน ๖ ๑๑ ฯ ๘ ค่ำ ฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ คณาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้น สูงได้ ๘ วา พระภักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก กว้างพระภักตร์นั้น ๓ ศอก แลพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก แลทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างหน้านั้นทองเนื้อ ๗ น้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อ ๖ น้ำสองขา.
๏ ศักราช ๘๗๗ กุญศก (พ.ศ. ๒๐๕๘) วัน ๓ ๑๕ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น ๓ ฤกษ์ ๙ ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองนครลำภาง ได้เมือง.
๏ ศักราช ๘๘๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างพระศรีสรรเพชญเสวยราชสมบัดดิ แรกตำราพิไชยสงคราม แลแรกทำสารบาญชีพระราชสาฤทธิทุกเมือง.
๏ ศักราช ๘๘๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๖๗) ครั้งนั้น เห็นงาช้างต้นเจ้าพญาปราบแตกข้างขวายาวไป อนึ่ง ในเดือน ๗ นั้น มีคนทอดบาตรสนเท่ห์ ครั้งนั้น ให้ฆ่าขุนนางเสียมาก.
๏ ศักราช ๘๘๗ รกาศก (พ.ศ. ๒๐๖๘) น้ำน้อย เข้าเสียสิ้นทั้งปวง อนึ่งแ ผ่นดินไหวทุกเมืองแล้ว แลเกิดอุบาทว์เปนหลายประการ ครั้นรุ่งปีขึ้นศักราช ๘๘๘ จอศก (พ.ศ. ๒๐๖๙) เข้าแพงเปน ๓ ทนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกียนหนึ่งเปนเงินชั่งหกตำลึง ครั้งนั้น ประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช แลให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก.
๏ ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๗๒) เห็นอากาศนิมิตรเปนอินทร์ธนูแต่ทิศหรดีผ่านอากาศมาทิศพายัพมีพรรณขาว วัน ๑ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ ครั้นค่ำลงวันนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระอาทิตยเจ้าเสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร.
๏ ศักราช ๘๙๕ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๗๖) สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัดดิ.
๏ ครั้นเถิงศักราช ๘๙๖ มเมียศก (พ.ศ. ๒๐๗๗) พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัดดิแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า.
๏ ศักราช ๙๐๐ จอศก (พ.ศ. ๒๐๘๑) แรกให้พูนดินณวัดชีเชียง ในเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าแลพระเจดีย์ เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน เถิงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาค่ำประมาณยามหนึ่ง เกิดลมพยุพัดหนักหนา แลฅอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก แลเรือไกรแก้วนั้นทลาย อนึ่ง เมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพ็ชรนั้นว่า พญานารายน์คิดเปนขบถ แลให้กุมเอาพญานารายน์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพ็ชร.
๏ ศักราช ๙๐๗ มเสงศก (พ.ศ. ๒๐๘๘) วัน ๔ ๔ฯ ๗ ค่ำ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พญาพิศณุโลกเปนทัพหน้า แลยกพลออกตั้งทัพไชยตำบลบางบาน ณวัน ๗ ๑๔ ฯ ๗ ค่ำ จึงยกทัพหลวงจากที่ทัพไชยไปเมืองกำแพงเพ็ชร เถิงณวัน ๓ ๙ฯ ๗ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชยณเมืองกำแพงเพ็ชร ณวัน ๑ ๑๔ฯ ๗ ค่ำ ยกทัพไปตั้งเชียงทอง แล้วยกไปตั้งณเมืองเชียงใหม่ เถิงณวัน ๑ ๔ฯ ๙ ค่ำ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนจากเมืองเชียงใหม่ เถิงวัน ๕ ๑๕ ฯ ๙ ค่ำ ทัพหลวงเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร แล้วจึงเสด็จมายังพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายพระนครศรีอยุทธยานั้น ในวัน ๔ ๔ฯ ๓ ค่ำ เกิดเพลิงไหม้เถิง ๓ วันจึงดับได้ แลจึงมีบาญชีเรือนเพลิงไหม้นั้น ๑๐๐๕๐ เรือน ณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๒ ค่ำ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ แลให้พญาพิศณุโลกเปนทัพหน้า แลยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองกำแพงเพ็ชร แรมทัพหลวงอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรนั้นเดือนหนึ่ง เถิงณวัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชย เถิงณวัน ๑ ๙ฯ ๓ ค่ำ จึงยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ แลณวัน ๓ ๓ฯ ค่ำ ๔ ได้เมืองลำพูนไชย วัน ๖ ๑๓ ฯ ๔ ค่ำ มีอุบาทว์ เห็นเลือดติดอยู่ณประตูบ้านแลเรือนแลวัดทั้งปวงในเมืองแลนอกเมืองทั่วทุกตำบล เถิงณวัน ๒ ๑๕ฯ ๔ ค่ำ ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเชียงใหม่มายังพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๙๐๘ มเมียศก (พ.ศ. ๒๐๘๙) เดือน ๖ นั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ในปีนั้น แผ่นดินไหว.
๏ ศักราช ๙๑๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๙๑) วัน ๗ ๕ฯ ๕ ค่ำ เสด็จออกสนาม ให้ชนช้าง แลงาช้างพญาไฟนั้นหักเปน ๓ ท่อน อนึ่ง อยู่ ๒ วัน ช้างต้นพระฉันทันต์ไล่ร้องเปนเสียงสังข์ อนึ่ง ประตูไพชยนต์ร้องเปนอุบาทว์ เถิงวัน ๑ ๕ฯ ๘ ค่ำ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเปนเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัดดิ ๔๒ วัน แลขุนชินราชแลแม่ญั่วศรีสุดาจันทร์เปนเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัดดิ ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แลครั้นเสวยราชสมบัดดิได้ ๗ เดือน พญาหงษาปังเสวกียกพลมายังพระนครศรีอยุทธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย แลเมื่อได้รับศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเปนโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศึกเถิงสิ้นชนม์กับฅอช้างนั้น แลเศิกหงษาครั้งนั้น เสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร ไปแก่พญาหงษา แลจึงเอาพญาปราบ แลช้างต้นพญานุภาพ ตามไปส่งให้พญาหงษาเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร แลพญาหงษาจึงส่งพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า สมเด็จพระราเมศวรเจ้า มายังพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๙๑๑ รกาศก (พ.ศ. ๒๐๙๒) ณวัน ๗ ๑๐ ฯ ๒ ค่ำ ได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าตนาวศรีสูง ๔ ศอกมีเศษ ชื่อ ปัจจัยนาเคนทร์ ครั้งนั้น แรกให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๙๑๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๙๓) เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าตำบลท่าแดง พรกรรมวาจาเปนพฤฒิบาศ พระพิเชฎฐ์เปนอัษฎาจารย์ พระอินโทรเปนกรมการ.
๏ ศักราช ๙๑๔ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๙๕) ครั้งนั้น ให้แปลงเรือแซเปนเรือไชยแลหัวสัตว.
๏ ศักราช ๙๑๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๙๖) เดือน ๗ นั้น แรกทำการพระราชพิธีมัธยมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตำบลไชยนาทบุรี.
๏ ศักราช ๙๑๖ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๙๗) เสด็จไปวังช้างตำบลบางลมุง ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง อนึ่ง ในเดือน ๑๒ นั้น ได้ช้างพลายเผือกตำบลป่ากาญจนบุรีสูง ๔ ศอกมีเศษ ชื่อ พระคเชนโทรดม.
๏ ศักราช ๙๑๗ เถาะศก (พ.ศ. ๒๐๙๘) วัน ๒ ๗ฯ ๗ ค่ำ ได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าเพชรบุรีสูง ๔ ศอกคืบมีเศษ ชื่อ พระแก้วทรงบาศ.
๏ ศักราช ๙๑๘ มโรงศก (พ.ศ. ๒๐๙๙) เดือน ๑๒ แต่งทัพไปลแวก พญาองค์สวรรคโลกเปนนายกอง ถือพล ๓๐๐๐๐ ให้พระมหามนตรีถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกียน ฝ่ายทัพเรือไส้ พญาเยาวเปนนายกอง ครั้งนั้น ลมพัดขัด ทัพเรือมิทันทัพบก แลพญารามลักษณ์ซึ่งเกณฑ์เข้าทัพบกนั้นเข้าบุกทัพในกลางคืน แลทัพพญารามลักษณ์นั้นแตกมาปะทัพใหญ่ ครั้งนั้น เสียพญาองค์สวรรคโลกนายกองแลช้างม้ารี้พลมาก.
๏ ศักราช ๙๑๙ มเสงศก (พ.ศ. ๒๑๐๐) วัน ๑ ๑ฯ ๔ ค่ำ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังมาก อนึ่ง ในเดือน ๓ นั้น ทำการพระราชพิธีอาจาริยาภิเศก แลทำการพระราชพิธีอินทราภิเศกในวังใหม่ อนึ่ง เดือน ๔ นั้น พระราชทานสัตสดกมหาทาน แลให้ช้างเผือกพระราชทาน มีกองเชิงเงิน ๔ เท้าช้างนั้น เปนเงิน ๑๖๐๐ บาท แลพระราชทานรถ ๗ รถเทียมด้วยม้า แลมีนางสำหรับรถนั้นเสมอรถ ๗ นาง อนึ่ง ในเดือน ๗ นั้น เสด็จไปวังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง.
๏ ศักราช ๙๒๑ มแมศก (พ.ศ. ๒๑๐๒) เสด็จไปวังช้างตำบลแสนตอ ได้ช้างพลายพัง ๔๐ ช้าง⟨.⟩
๏ ศักราช ๙๒๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๐๓) เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่ ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง อนึ่ง อยู่ในวัน ๗ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ ได้ช้างเผือก แลตาช้างนั้นมิได้เปนเผือก แลลูกติดมาด้วยตัวหนึ่ง.
๏ ศักราช ๙๒๓ รกาศก (พ.ศ. ๒๑๐๔) พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดมหาธาตุ แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลม่วงมดแดง แลพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์ให้เข้ามาเข้าพระราชวังณวัน ๗ ๑ฯ ๙ ค่ำ ครั้งนั้น พญาสีหราชเดโชเปนโทษรับพระราชอาชญาอยู่ แลพญาสีหราชเดโชจึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่า ครั้นพ้นวันพระแล้ว จะให้ลงพระราชอาชญา ฆ่าพญาสีหราชเดโชเสีย แลขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันแต่ในวันพระนี้ แลพระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาแต่ในวัน ๕ ๑๔ฯ ๘ ค่ำ เพลาเย็นนั้น มายังกรุง ครั้งรุ่งขึ้นในวันพระนั้น พระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ ครั้งนั้น ได้พระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น ครั้นแลรู้ว่าพระสังฆราชป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์เปนแม่นแล้วไซร้ ก็ให้เอาพระสังฆราชป่าแก้วไปฆ่าเสีย.
๏ ศักราช ๙๒๔ จอศก (พ.ศ. ๒๑๐๕) เสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายพัง ๗๐ ช้าง⟨.⟩
๏ ศักราช ๙๒๕ กุญศก (พ.ศ. ๒๑๐๖) พระจ้าหงษานิพัตรยกพลลงมาในเดือน ๑๒ นั้น ครั้นเถิงวัน ๑ ๕ฯ ๒ ค่ำ พระเจ้าหงษาได้เมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เมืองพิศณุโลกเข้าแพงเปน ๓ สัดต่อบาท อนึ่ง คนทั้งปวงเกิดทรพิศม์ตายมาก แล้วพระเจ้าหงษาจึงได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แล้วจึงยกพลลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ครั้งนั้น ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาออกเปนพระราชไมตรี แลสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่ายเสด็จมาทำสัตยาธิษฐานหลั่งน้ำสิโนทกตำบลวัดพระเมรุ แล้วจึงพระเจ้าหงษาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรเจ้าแลช้างเผือก ๔ ช้างไปเมืองหงษา ครั้งนั้น พญาศรีสุรต่านพญาตานีมาช่วยการเศิก พญาตานีนั้นเปนขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง ครั้นแลเข้าในพระราชวังได้ เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ณท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไปณทางตะแลงแกง แลชาวพระนครเอาพวนขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก แลพญาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปรอด ในปีเดียวนั้น พระเจ้าล้านช้างให้พระราชสารมาถวายว่า จะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้า แลทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง แลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีให้แก่พระเจ้าล้านช้าง.
๏ ศักราช ๘๒๖ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๐๗) พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมาส่งยังพระนครศรีอยุทธยา แลว่า จะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้านั้น แลจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้น พระเจ้าหงษารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น จึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง แลออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าได้ไปถวายแก่พระเจ้าหงษา อนึ่ง ในปีนั้น น้ำณกรุงพระนครศรีอยุทธยานั้นน้อยนัก.
๏ ศักราช ๙๓๐ มโรงศก (พ.ศ. ๒๑๑๑) ในเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าหงษายกพลมาแต่เมืองหงษา ครั้นเถิงวัน ๖ ๑ฯ ๑ ค่ำ พระเจ้าหงษาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี แลเมื่อเศิกหงษาเข้าล้อมพระนครศรีอยุทธยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน แลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระไทยใส่ แลเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าตรัสรู้ว่า พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น ก็มิไว้พระไทย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสียณวัดพระราม.
๏ ครั้งนั้น การเศิกซึ่งจะรักษาพระนครนั้นก็คลายลง ครั้งเถิงศักราช ๙๓๑ มเสงศก (พ.ศ. ๒๑๑๒) ณวัน ๑ ๑๑ฯ ๙ ค่ำ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุทธยาแก่พระเจ้าหงษา ครั้นเถิงวัน ๖ ๖ฯ ๑๒ ค่ำ ทำการปราบดาภิเศกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัดดิกรุงพระนครศรีอยุทธยา อนึ่ง เมื่อพระเจ้าหงษาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงษานั้น พระเจ้าหงษาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย.
๏ ศักราช ๙๓๒ มเมียศก (พ.ศ.๒๑๑๓) พญาลแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุทธยา พญาลแวกยืนช้างตำบลสามพิหาร แลได้รบพุ่งกัน แลชาวเมืองพระนครยิงปืนออกไปต้องพญาจัมปาธิราชตายกับฅอช้าง ครั้งนั้น เศิกพญาลแวกเลิกทัพกลับคืนไป ในปีนั้น น้ำณกรุงพระนครศรีอยุทธยามาก.
๏ ศักราช ๙๓๓ มแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) น้ำน้อย อนึ่ง สมเด็จพระนารายน์บพิตรเปนเจ้าเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัดดิเมืองพิศณุโลก.
๏ ศักราช ๙๓๔ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๑๕) น้ำน้อยนัก.
๏ ศักราช ๙๓๕ รกาศก (พ.ศ. ๒๑๑๖) น้ำน้อยเปนมัธยม.
๏ ศักราช ๙๓๖ จอศก (พ.ศ. ๒๑๑๗) น้ำมากนัก ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิศม์.
๏ ศักราช ๙๓๗ กุญศก (พ.ศ. ๒๑๑๘) พญาลแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุทธยา ในวัน ๗ ๑๐ ฯ ๑ ค่ำนั้น ชาวเมืองลแวกตั้งทัพเรือตำบลพแนงเชิง แลได้รบพุ่งกัน ครั้งนั้น เศิกลแวกต้านมิได้ เลิกทัพกลับไป แลจับเอาคนณเมืองปากใต้ไปครั้งนั้นมาก ในปีนั้น น้ำณกรุงศรีอยุทธยาน้อย.
๏ ศักราช ๙๔๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑) พญาลแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพ็ชรบุรี มิได้เมือง แลชาวลแวกนั้นกลับไป ครั้งนั้น พญาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองลแวกมาสู่พระราชสมภาร ครั้นอยู่มา พญาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง.
๏ ศักราช ๙๔๒ มโรงศก (พ.ศ. ๒๑๒๓) รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ.
๏ ศักราช ๙๔๓ มเสงศก (พ.ศ. ๒๑๒๔) ญาณประเชียรเรียนสาตราคมแลคิดเปนขบถ คนทั้งปวงสมัคเข้าด้วยมาก แลยกมาจากเมืองลพบุรี แลยืนช้างอยู่ตำบลหัวตรี แลบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับฅอช้าง แลในปีนั้น มีหนังสือมาแต่เมืองหงษาว่า ปีมเสง ตรีนิศกนี้ อธิกมาศมิได้ ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุทธยานี้มีอธิกมาศ อนึ่ง ในวัน ๗ ๙ฯ ๒ ค่ำ รู้ข่าวมาว่า พระเจ้าหงษานฤพาน อนึ่ง ในเดือน ๓ นั้น พญาลแวกยกพลมาเอาเมืองเพ็ชรบุรี ครั้งนั้น เสียเมืองเพ็ชรบุรีแก่พญาลแวก.
๏ ศักราช ๙๔๔ มเมียศก (พ.ศ. ๒๑๒๕) พญาลแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลายด่านตวันออก.
๏ ศักราช ๙๔๕ มแมศก (พ.ศ. ๒๑๒๖) ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้แต่จวนกลาโหม แลเพลิงนั้นลามไปเถิงในพระราชวัง แลลามไหม้ไปเมืองท้ายเมือง ครั้งนั้น รู้ข่าวมาว่า ข้างหงษาทำทางมาพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๒๗) ครั้งนั้น สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสวยราชสมบัดดิณเมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่า พระเจ้าหงษากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้น เสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงษา แลอยู่ในวัน ๕ ๓ฯ ๕ ค่ำ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคล แลช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน ชนกัน แลงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย แลโหรทำนายว่า ห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรัพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้งเถิงณวัน ๔ ๙ฯ ๕ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชยตำบลวัดยมท้ายเมืองกำแพงเพชร ในวันนั้น แผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายเมืองพิศณุโลกนั้น อยู่ในวัน ๔ ๘ฯ ๑๐ ค่ำ เกิดอัศจรรย์ แม่น้ำทรายหัวเมืองพิศณุโลกนั้นป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่ง เห็นสัตรีภาพผู้หนึ่ง หน้าประดุจหน้าช้าง แลทรงสัณฐานประดุจวงช้าง แลหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ณวัดปราสาทหัวเมืองพิศณุโลก อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ณท้องสนามนั้น อยู่ก็ล้มลงตายกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่ง เห็นตักแตนบินมาณอากาศเปนอันมาก แลบังแสงพระอาทิตย์บดมา แล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้น ให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ในปีเดียวนั้น พระเจ้าหงษาให้พระเจ้าสาวถี แลพญาพสิม ยกพลลงมายังกรุงพระนคร แล ณวัน ๔ ๒ฯ ๒ ค่ำ ๒ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาด เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้น เศิกหงษาแตกพ่ายหนีไป อนึ่ง ม้าตัวหนึ่งตกลูก แลศีศะม้านั้นเปนศีศะเดียว แต่ตัวม้านั้นเปน ๒ ตัว แลเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศีศะแก่กัน.
๏ ศักราช ๙๔๗ รกาศก (พ.ศ. ๒๑๒๘) พระเจ้าสาวถียกพลลงมาครั้งหนึ่งเล่า ตั้งทัพตำบลสะเกษ แลตั้งอยู่แต่ณเดือนยี่เถิงเดือนสี่ ครั้งเถิงถึงวัน ๔ ๗ฯ ๕ ค่ำ เวลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกาบาด เสด็จพยุหบาตราตั้งทัพไชยตำบลหล่มพลี แลณวัน ๗ ๑๐ ฯ ๕ ค่ำ เสด็จจากทัพไชยโดยทางชลมารคไปทางป่าโมก มีนกกระทุงบินมาทั้งซ้ายขวาเปนอันมากนำหน้าเรือพระที่นั่งไป ครั้นเถิงวัน ๕ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีปออกดาช้างม้าทั้งปวงอยู่ณริมน้ำ แลพระอาทิตย์ทรงกลด แลรัศมีกลดนั้นส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่ง มีทรงสัณฐานประดุจเงากลดนั้นมากั้งช้างพระที่นั่ง ครั้งนั้น ตีทัพพระเจ้าสาวถีซึ่งตั้งอยู่ตำบลสะเกษนั้นแตกพ่ายไป ในปีเดียวนั้น พระมหาอุปราชายกพลมาโดยทางกำแพงเพ็ชร ตั้งทำนาอยู่ที่นั่น.
๏ ศักราช ๙๔๘ จอศก (พ.ศ. ๒๑๒๙) ณวัน ๒ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ พระเจ้าหงษางาจีสยางยกพลลงมา เถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยาณวัน ๕ ๒ฯ ๒ ค่ำ แลพระเจ้าหงษาเข้าล้อมพระนคร แลตั้งทัพตำบลขนอนปากคู แลทัพมหาอุปราชาตั้งขนอนบางตนาว แลทัพทั้งปวงนั้นก็ตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ แลครั้งนั้น ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ แลพระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไป ในศักราช ๙๔๙ (พ.ศ. ๒๑๓๐) นั้น วัน ๒ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ เสด็จโดยทางชลมารคไปตีทัพมหาอุปราชาอันตั้งอยู่ขนอนบางตนาวนั้นแตกพ่ายลงไปตั้งอยู่ณบางกระดาน วัน ๖ ๑๐ฯ ๖ ค่ำ ๖ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราชาอันลงไปตั้งอยู่ณบางกระดานนั้นแตกพ่ายไป วัน ๕ ๑ฯ ๗ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตราออกตั้งทัพไชยณวัดเดชะ แลตั้งค่ายขุดคูเปนสามารถ วัน ๕ ๘ฯ ๗ ค่ำ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษา ๆ ต้านมิได้ ก็เลิกทัพไปตั้งณป่าโมกใหญ่ วัน ๒ ๑๐ ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ นั้นแตกพ่าย แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น วัน ๓ ๑๐ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเปนทัพซุ่มณทุ่งหล่มพลี แลออกตีทัพข้าศึก ครั้งนั้น ได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง แลทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย ครั้นข้าศึกเศิกแตกพ่ายเข้าค่าย แลไล่ฟันแทงข้าเสิกเข้าไปจนถึงน่าค่าย วัน ๒ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพญานครซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำมุทุเลานั้น ครั้งนั้น เข้าตีทัพได้เถิงในค่าย แลข้าเศิกพ่ายหนีจากค่าย แลเผาค่ายข้าเศิกเสียสิ้น แลพระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป แลพญาลแวกมาตั้งณบางซาย ครั้งนั้น เสด็จออกไปชุมพลทั้งปวงณบางกระดาน เถิงวัน ๕ ๑ฯ ๓ ค่ำ เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพไชยณซายเคือง แล้วเสด็จไปลแเวก ครั้งนั้น ได้ช้างม้าผู้คนมาก.
๏ ศักราช ๙๕๐ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๓๑) ณวัน ๒ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ แผ่นดินไหว.
๏ ศักราช ๙๕๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๓๒) เข้าแพงเปนเกียนละสิบตำลึง ปิดตราพญานารายน์กำชับ ณวัน ๖ ๗ ๒ ค่ำ แผ่นดินไหว.
๏ ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓) วัน ๑ ๑๓ฯ ๘ ค่ำ ๘ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วัน ๓ ๒ฯ ๑๒ ค่ำ มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้น ได้ตัวพญาพสิมตำบลจรเข้สามพัน.
๏ ศักราช ๙๕๔ มโรงศก (พ.ศ. ๒๑๓๕) วัน ๖ ๒ฯ ๑๒ ค่ำ อุปราชายกมาแต่เมืองหงษา ณวัน ๗ ๑ฯ ๑ ค่ำ เพดาลช้างต้นพญาไชยานุภาพตกออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี ครั้นเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ วัน ๑ ๙ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาด เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลม่วงหวาน แลณวัน ๔ ๑๒ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาด เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค อนึ่ง เมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหารไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น เถิงวัน ๒ ๒ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาด เสด็จทรงช้างต้นพญาไชยานุภาพเสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้น มิได้ตามฤกษ์ แลฝ่าฤกษ์หน่อยหนึ่ง แลเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายน์บพิตรเปนเจ้าต้องปืนณพระหัดถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่ง เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้น มหาอุปราชาขาดฅอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้นพญาไชยานุภาพ ซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาแลมีไชยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อ เจ้าพญาปราบหงษา.
๏ ศักราช ๙๕๕ มเสงศก (พ.ศ. ๒๑๓๖) วัน ๒ ๕ฯ ๑๐ ค่ำ เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท ครั้งนั้น ทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เอามอญเผาเสียประมาณ ๑๐๐ ณวัน ๖ ๑๐ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๖ บาด เสด็จพยุหบาตราไปเอาเมืองลแวก แลตั้งทัพไชยตำบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้น ได้ตัวพญาศรีสุพรรณในวัน ๑ ๑ฯ ๔ ค่ำนั้น.
๏ ศักราช ๙๕๖ มเมียศก (พ.ศ. ๒๑๓๗) ยกทัพไปเมืองสโตง.
๏ ศักราช ๙๕๗ มแมศก (พ.ศ. ๒๑๓๘) วัน ๑ ๓ฯ ๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาด เสด็จพยุหบาตราไปเมืองหงษา ครั้งก่อน ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลม่วงหวาน เถิงวัน ๒ ๑๓ฯ ๔ ค่ำ เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา.
๏ ศักราช ๙๕๘ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๓๙) วัน ๓ ๔ฯ ๖ ค่ำ ลาวหนี ขุนจ่าเมืองรบลาวตำบลคะเคียนด้วน แลณวัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ ฝนตกหนักหนาสามวันดุจฤดูฝน.
๏ ศักราช ๙๖๑ กุญศก (พ.ศ. ๒๑๔๒) วัน ๕ ๑๑ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาด เสด็จหยุหบาตราไปเมืองตองอู ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลวัดตาล แลในเดือน ๑๑ นั้น สงกรานต์ พระเสาร์แต่ราษีกันย์ไปราษีดุลย์ ครั้นเถิงวัน ๔ ๑๐ ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู แลทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น แลตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเปนอันมาก ครั้นวัน ๔ ๖ฯ ๖ ค่ำ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุทธยา.
๏ ศักราช ๙๖๓ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๔๔) เดือน ๗ เดือนเดียวนั้น มีสุริยุปราคา ในปีนั้น รับพระอิศวรแลพระนารายน์เปนเจ้าไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวทั้ง ๔ คานหาม.
๏ ศักราช ๙๖๔ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๔๕) เสด็จไปประพาศลพบุรี.
๏ ศักราช ๙๖๕ เถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖) ทัพพระเเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้.
๏ ศักราช ๙๖๖ มโรงศก (พ.ศ. ๒๑๔๗) วัน ๕ ๓ฯ ๒ ค่ำ เสด็จพยุหบาตราจากป่าโมกโดยทางฃลมารค แลฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพไชยตำบลพระหล่อ วันนั้น เปนวันอูน แลเปนสงกรานต์ พระเสาร์ไปราษีธนูเปนองษาหนึ่ง ครั้งนั้น ครั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว.






