ข้ามไปเนื้อหา

ไซอิ๋ว/เล่ม ๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลงสารบัญ




พงศาวดารจีนเรื่อง
ไซอิ๋ว
เล่ม ๑



ปกใน ขึ้นลงสารบัญ



หนังสือ
ไซอิ๋ว
เล่ม ๑




พิมพ์ครั้งที่ ๑
๑,๐๐๐ เล่ม
ราคาเล่มละ ๖ บาท




มีกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
รัตนโกสินทรศก ๑๒๕




โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ถนนราชบพิตร กรุงเทพฯ



หน้า (๑) ขึ้นลงสารบัญ



แจ้งความ


แจ้งความ หนังสือไซอิ๋วที่ข้าพเจ้าพิมพ์ขึ้นใหม่ในคราวนี้ ข้าพเจ้าพิมพ์ขึ้นไม่สู้มากนัก เพราะประสงค์จะให้แล้วเร็ว ด้วยได้ทราบว่า หนังสือเรื่องนี้มีผู้ประสงค์จะต้องการอ่านฟังมากด้วยกัน บัดนี้ เกรงว่า จะพิมพ์ขึ้นน้อยเกินไปสักหน่อย เมื่อจำหน่ายหมดแล้วจึงจะพิมพ์เพิ่มเติมขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะต้องการหนังสือเรื่องนี้อ่านเร็ว ๆ ก็ขอให้รีบมาซื้อไปเสีย แล้วข้าพเจ้าจะได้พิมพ์เล่ม ๒ ต่อไป เพราะกว่าที่ข้าพเจ้าจะได้จัดพิมพ์เพิ่มเติมขึ้นอีกในครั้งหลังต่อไปให้แล้วบริบูรณ์ได้ก็ยังจะเป็นเวลาที่ต้องคอยนานอยู่

หรือถ้าท่านผู้ใดจะประสงค์ให้ทำปกงาม ๆ สำหรับจัดขึ้นตู้ห้องสมุดให้โอ่โถง หรือจะพิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ แลใบเสร็จก็ได้ ข้าพเจ้าจะรับทำให้ท่านได้ตามความประสงค์ทุกอย่าง โดยคิดราคาก็ไม่สู้แพงนัก แต่พอสมควรเท่านั้น



โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ตำบลถนนราชบพิตร กรุงเทพฯ
วันที่ ๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๕
นายเล็ก



หน้า (๒) ขึ้นลงสารบัญ



คำนำ


เรื่องไซอิ๋วนี้เป็นเรื่องที่แตกออกจากพงศาวดารซุยถังในแผ่นดินของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ กระษัตริย์ที่สองในวงศ์ถัง นักปราชญ์ฝ่ายจีนได้เรียบเรียงไว้ ผู้แปลแปลตามต้นฉบับเดิมในภาษาจีน นายเล็ก เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร เห็นว่า เป็นเรื่องน่าอ่าน่าฟัง จึงจ้างนายติ่นแปลออกจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยแล้ว แต่ถ้อยคำยังไม่ชัดเจน จึงมาว่าจ้างนายวรรณ เอดิเตอร์ตุลวิภาคพจนกิจ ให้เรียบเรียงอีกชั้นหนึ่ง ข้อความคงตามเดิม แก้แต่ถ้อยคำขัดเขินแลไม่ชัดให้ชัดขึ้นเท่านั้น

ในเรื่อไซอิ๋วนี้มีคำแลความเป็นสุภาษิตบ่อย ๆ ทั้งเนื้อเรื่องก็น่าอ่าน น่าฟัง สนุกมาก ยืดยาวไม่ต่ำกว่าร้อยชุด เจ้าของจึงได้จ้างช่างแกะแกะรูปภาพตามเรื่องพิมพ์ไว้ให้ท่านผู้อ่านเห็นรูปของคนบุราณด้วยตามชุดแลเรื่องนั้น ๆ

ในเล่มหนึ่งนี้มีความยาวสิบสองชุด ในชุดที่หนึ่ง มีคำอธิบายพระนามพระพุทธเจ้าแลมีรูปพระพุทธเจ้าดังต่อไปนี้



หน้า (๓)–(๔) ขึ้นลงสารบัญ




รูปที่ ๑ พระเซ็กเกียมองนิฮุดโจ๊


คำว่า ฮุดโจ๊ยูไล แปล ฮุด ว่า พุทโธ โจ๊ ว่า เจ้า ยูไล ว่า มาชอบ อธิบายว่า พระองค์มาชอบทุกชาติทุกภพ ได้แก่ สร้างพระบารมีสามสิบประการมา คือ พระบารมี ๑๐ พระอุปบารมี ๑๐ พระปรมัตถบารมี ๑๐ จนถึงปัจฉิมภวิก ตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ภาวนาให้มรรคเกิดขึ้นถึงความตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาศัยเหตุนี้ นักปราชญ์จีนจึงได้ออกพระนามว่า ฮุดโจ๊ยูไล แปลว่า ผู้รู้มาชอบ ด้วยประการฉะนี้

แต่ที่พระองค์ออกพระนามของพระองค์เองนั้นมักทรงตรัสว่า ตถาคต แปลว่า ไปชอบฉะนั้น จึงเป็นความติดต่อสัมพันธ์กันได้ว่า มาชอบไปชอบด้วยประการทั้งปวง คือ สุคโต แปลว่า ไปแล้วดี



หน้า (๕)–(๖) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒ พระถังซัมจั๋ง


พระถังซัมจั๋ง คือ พระโพธิสัตว์ แปลว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในที่จะได้ตรัสรู้ เดิมคือกิมเสี้ยนโพธิสัตว์ เวลาสดับธรรม ถีนมิทธะครอบงำง่วงเหงา พระเห็นดังนั้นจึงให้จุติลงมาสร้างบารมีในประเทศจีนเป็นบุตรตั่นกองหยีจอหงวนมารดาชื่อนางอุนเกี๋ยว เอาลอยน้ำไปแต่เล็ก ท่านเจ้าวัดกิมซัวยี่เก็บมาเลี้ยงไว้จนเติบใหญ่รู้พระพุทธศาสนาช่ำชองกว่าพระสงฆ์ทั้งปวง พระอาจารย์ให้อุปสมบท จึงมิได้ตกไปเป็นมิจฉาทิฐิ ครั้นไปอาราธนาพระไตรปิฎกกลับมาแล้ว จึงได้กลับขึ้นไปเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ตามเดิม



หน้า (๖)–(๗) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๓ พระกวนอิม


พระโพธิสัตว์กวนอิมมีบุญญาบารมีมาก ควรตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ยังไม่พอแก่ความอธิษฐานเดิม ท่านจึงได้เที่ยวไปทุก ๆ อาณาเขต เห็นควรจะช่วยก็โปรดให้เห็นหนทางมรรคแลผล แปลงมาเป็นกิริยาภาคต่าง ๆ ชักนำให้สัตว์พ้นทุกข์ แม้ในทุกวันนี้ ถ้าใครจิตบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองต้องทุกข์ภัยอันใด ยกมือขึ้นนมัสการระลึกถึงพระนามของท่าน นโม กวนอิมโพธิสัตว์ ขอจงมาช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด สามคำหรือเจ็ดคำหรือมาก ๆ ท่านก็มาช่วยให้เห็นปรากฏได้ เพราะท่านมีบุญญาภิสังขารมากมาย



หน้า (๗)–(๘) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๔ พระโอเซ้า


พระโอเซ้าท่านสำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์ อาศัยอยู่บนภูเขาภูท่อซัว ทำสำนักบนต้นไม้ใหญ่ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายย่อมหาผลไม้มาถวายอยู่เสมอเนืองนิตย์มิได้ขาด เมื่อพระถังซัมจั๋งไปอาราธนาพระไตรปิฎกถึงที่เขาตำบลนี้ พระโอเซ้าจึงให้คาถาธรรมซิมเกงแก่พระถังซัมจั๋งไปเพื่อกันตัว ตั้งแต่นั้นมา พระถังซัมจั๋งจึงค่อยคลายวิตกหวั่นหวาด เพราะได้คาถาวิเศษภาวนาอยู่เสมอ ๆ



หน้า (๘)–(๙) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๕ เง็กเซียงฮ่องเต้


พระอิศวร คือ เง็กเซียงฮ่องเต้ ผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงสพิภพ เพราะท่านมีกุศลธรรมแลอิทธิฤทธิ์บุญญาธิการมากแก่กล้า จึงได้มาเป็นเจ้าแห่งเทพยดาทั้งปวงเสวยซึ่งทิพยกามารมณ์ เช่นคำที่พระตรัสแก่เห้งเจียว่า ตำแหน่งที่พระอิศวรนี้มิใช่จะได้ง่าย ๆ ต่อมีความบริสุทธิ์ในทานแลศีลมากถึงพันห้าร้อยห้าสิบกัลป์ กัลป์หนึ่งเป็นหมื่นเก้าพันหกร้อยปี จึงจะได้มารับบรมสุขเป็นเจ้าอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้ เห้งเจียเป็นเดรัจฉานชาติต่ำช้า จะชิงที่เง็กเซียงฮ่องเต้ได้หรือ



หน้า (๙)–(๑๐) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๖ อ๋องโป๊เนี่ยเนี้ย


นางท้าวเทวราช คือ อ๋องโป๊เนี่ยเนี้ย ท่านประกอบด้วยทานศีลอันบริสุทธิ์แลได้รักษากุศลกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ จึงได้มาเป็นนางฟ้าที่หนึ่งรับซึ่งความสุขอยู่ในชั้นดาวดึงส์ มีนางเทพธิดาเป็นบริวารห้อมล้อม ก็โดยกุศลสุจริตที่ได้สะสมมาแต่ในชาติก่อน จึงได้มาเป็นเทพอัปสรสาวสวรรค์อ๋องโป๊เนี่ยเนี้ยใหญ่ยิ่งกว่าเทพอัปสรกันยาทั้งปวงในชั้นดาวดึงสพิภพ



หน้า (๑๐)–(๑๑) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๗ ท้ายเสียงเล่ากุน


ท้ายเสียงเล่ากุนท่านอยู่ในวิมานดุสิต สำนักลีหีนเทียน ท่านได้สำเร็จในการประกอบยาทิพย์ มีฤทธาอานุภาพใหญ่กว้าง เทพยดาทั้งหลายต้องมาเคารพทั้งสิ้น คือ เป็นเซียนใหญ่อยู่ในชั้นดุสิต รักษาอารมณ์ทางพรหมวิหาร คือ ฌานสมาบัติ



หน้า (๑๒)–(๑๓) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๘ เห้งเจีย


เห้งเจียเดิมอยู่เขาฮวยก๊วยซัว แขวงเมืองเง่าล่ายก๊ก กำเนิดเกิดออกจากฟองศิลา ฟองศิลานั้นถึงกำหนดก็ลั่นแตกออกมาเป็นลิงเผือก ครั้นออกมาได้อายอากาศเข้าก็เป็นกายสิทธิ์ ครั้นไปเที่ยวศึกษาหาอาจารย์เรียนวิชาไปพบสุโพธิสอนธรรมอันวิเศษให้ ก็ยิ่งมีฤทธิ์เดชเชี่ยวชาญมากขึ้น ไปกระทำการร้ายในวิมานดาวดึงส์ พระพุทธเจ้าบันดาลเขาห้ายอดครอบไว้ ภายหลังพระถังซัมจั๋งแก้ออก จึงได้อาสาตามเป็นศิษย์ไปไซทีอาราธนาพระไตรปิฎกกลับมาถึงเมืองไต้ถัง แล้วก็ได้สำเร็จมรรคผล



หน้า (๑๔)–(๑๕) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๙ โป๊ยก่าย


โป๊ยก่ายเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ชั้นดาวดึงส์ เป็นขุนนางนายทหารของเง็กเซียงฮ่องเต้ เป็นผู้บังคับการทหารเรือในแม่น้ำทงทีฮ้อ เง็กเซียงฮ่องเต้ให้เป็นแม่ทัพเรียกว่า ที่ผ่องง่วนโซ่ย มาเวลาหนึ่ง นางอ๋องโป๊เนี่ยเนี้ยเลี้ยงโต๊ะ ก็ไปประชุมด้วย เสพสุรามาเข้าไป แล้วก็ไปหยอกนางฟ้าที่ประตูพระราชวังของเง็กเซียงฮ่องเต้

เทพบุตรที่รักษาประตูนำความมากราบทูลเง็กเซียงฮ่องเต้ เง็กเซียงฮ่องเต้โปรดให้ชำระได้ความจริง ทรงติว่า อุลามก จึงสาปลงมาเมืองมนุษย์ โป๊ยก่ายจุติจากเทวโลกปฏิสนธิในท้องแม่สุกร อาศัยอยู่ที่เขาฮุ้นจั่นซัว ภายหลังตามพระถังซัมจั๋งไปไซทีอาราธนาพระธรรม กลับมาถึงเมืองไต้ถัง แล้วได้สำเร็จมรรคผล



หน้า (๑๖)–(๑๗) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๐ ซัวเจ๋ง


ซัวเจ๋งเดิมอยู่บนสวรรค์เป็นเทพบุตร เป็นขุนนางข้างที่ของเง็กเซียงฮ่องเต้สำหรับพระองค์เสด็จราชรถ พนักงานคอยแหวกพระวิสูตร มาเวลาหนึ่ง เง็กเซียงฮ่องเต้ประชุมอินทร์พรหมแลเทพบุตรเลี้ยงเครื่องทิพย์ เวลานั้น ซัวเจ๋งเปิดพระสูตรหาทันพิจารณาไม่ ชายพระวิสูตรสะบัดไปถูกคนโทแก้วมณีวิเศษตกแตก เง็กเซียงฮ่องเต้กริ้ว ทรงปรับโทษสาปให้ลงมาเกิดเป็นเงือกอยู่ในลำแม่น้ำลิ้วซัวฮ้อ ต่อภายหลังได้ตามพระถังซัมจั๋งไปไซทีอาราธนาพระธรรม กลับมาถึงเมืองไต้ถัง ได้สำเร็จมรรคผล



หน้า (๑๘)–(๑๙) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๑ ยี่หนึงจินกุน


ยี่หนึงจินกุนเดิมอยู่ที่ลำแม่น้ำก๊วนจิวที่ปากน้ำ เป็นหลานของเง็กเซียงฮ่องเต้ เวลาเมื่อเห้งเจียทำสงครามกับเทพบุตร เทพบุตรสู้เห้งเจียไม่ได้ เง็กเซียงฮ่องเต้รับสั่งให้มาช่วยกำจัด จับตัวเห้งเจียได้ ยี่หนึงจินกุนมีฤทธิ์อานุภาพมาก แปลงตัวได้หลายประการ จึงสามารถจับเห้งเจียได้ ครั้นกำจัดเห้งเจียแล้ว มีความชอบ ได้รับรางวัลของเง็กเซียงฮ่องเต้ กลับไปอยู่ตามเดิม



หน้า (๒๐)–(๒๑) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๒ พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้


พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ คือ หลีซิบิ๋น เป็นพระเจ้าแผ่นดินไต้ถัง พระองค์เป็นสมเด็จพระราชโอรสของพระเจ้าถังโกโจ๊ คือ ถังตงหลีเอี๋ยน พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ได้ครองราชสมบัติมาได้สิบสามปีก็ประชวรสวรรคตได้สามวันแล้วกลับฟื้น เมื่อพระองค์แน่นิ่งไปสามวันนั้น พระองค์ลงไปยังเมืองนรก ได้เห็นสัตว์นรกทนทุกขเวทนาแสนสาหัส ครั้นพระองค์กลับฟื้นคืนมา ก็มีพระทัยศรัทธาเชื่อกรรมเชื่อผล ทรงสละพระราชทรัพย์แจกจ่ายไทยทานกระทำการพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นมาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กวนอิมแปลงกายเป็นเถรมาแนะนพให้พระองค์คิดไปอาราธนาพระไตรปิฎกมาตั้งพิธีสวดอุทิศให้พวกที่สู่กรรมนั้นได้พ้นโทษ พระองค์จึงรับสั่งให้พระถังซัมจั๋งไปไซทีอาราธนาพระไตรปิฎกธรรม



หน้า (๒๒)–(๒๓) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๓ งุยเต็ง


งุยเต็งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ เป็นผู้สำเร็จราชการ งุยเต็งถอดดวงจิตได้ ทำราชการอยู่ในเมืองมนุษย์ แต่ถอดดวงจิตไปเป็นเพชฌฆาตของเง็กเซียงฮ่องเต้ในสวรรค์ เมื่อพระเจ้าถังไทจงทรงพระสุบินว่า มีพระยานาคมาขอให้พระองค์ช่วยชีวิต พระองค์ได้รับคำกับพระยานาคแล้ว จึงให้งุยเต็งเข้ามาในพระราชวัง ทรงเล่าหมากรุก มิได้ทรงทราบว่า งุยเต็งถอดดวงจิตได้ เมื่อเวลากำลังเดินหมากรุกอยู่ งุยเต็งง่วงหลับไปทีหนึ่ง ก็ไปฆ่าพระยาเล่งอ๋องที่กลางอากาศ งุยเต็งมีบุตรหญิงคนหนึ่ง ยกให้ตั่นกองหยีจอหงวนเป็นภรรยา



หน้า (๒๔)–(๒๕) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๔ ถักทะลีทีอ๋อง


ถักทะลีทีอ๋อง คือ ท้าวจาตุราช เป็นที่แม่ทัพของเง็กเซียงฮ่องเต้ มีบุตรชายสามคน คือ กิมจา หนึ่ง หมอกจา หนึ่ง โลเฉีย หนึ่ง ถักทะลีทีอ๋องมีอานุภาพเชี่ยวชาญ เง็กเซียงฮ่องเต้จึงให้เป็นแม่ทัพสำหรับปราบปิศาจในที่ทั้งปวง เมื่อปิศาจร้ายเกิดขึ้นในที่ใด ก็คุมพลเทพบุตรไปกำจัดพวกปิศาจมารร้ายเหล่านั้น



หน้า (๒๖)–(๒๗) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๕ โลเฉีย


โลเฉียเป็นบุตรที่สามของถักทะลีทีอ๋อง มีศักดาเดชานุภาพกล้าหาญ แลมีอาวุธหกอย่างสำหรับกำจัดจับพวกผีปิศาจยักษ์มารร้าย แปลงกายได้หลายประการ เป็นทหารเอกของเง็กเซียงฮ่องเต้



หน้า (๒๘)–(๒๙) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๖ ตั่นกองหยีจอหงวน


ตั่นกองหยีจอหงวนเข้าสอบไล่วิชาหนังสือได้ชั้นที่หนึ่ง เป็นขุนนางของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ ชำนาญในการหนังสือยิ่งกว่าขุนนางทั้งปวง ในเวลานั้น ได้บุตรสาวงุยเต็งชื่อ นางอุนเกี๋ยว เป็นภรรยา มีบุตรชายคือ ถังซัมจั๋ง มารดาคือ นางเตียวสี มีรับสั่งให้ไปกินเมืองกังจิว เมื่อลงเรือจ้าง เล่าฮอง เจ้าของเรือ คิดร้าย จับตั่นกองหยีมัดผลักลงน้ำ พระยานาครับไปเลี้ยงไว้มาจนพระถังซัมจั๋งบวชแล้วจึงได้กลับมาเมืองมนุษย์ได้



หน้า (๓๐)–(๓๑) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๗ นางอุนเกี๋ยว


นางอุนเกี๋ยวเป็นบุตรงุยเต็ง ขุนนางผู้ใหญ่ ได้สามีคือ ตั่นกองหยีจอหงวน มีบุตรชายคือ พระถังซัมจั๋ง เมื่อนางตามตั่นกองหยีจอหงวนจะไปเมืองกังจิ๋ว มากลางทางถูกโจรจับสามีทิ้งน้ำ เก็บเอาตรากับหนังสือสำคัญพานางไปเมืองกังจิว เวลานั้น นางกำลังมีครรภ์ จำเป็นต้องตามใจเล่าฮองไปจนคลอดบุตรแล้วต่อพระถังซัมจั๋งได้บวชแล้ว นางจึงได้กลับเมือง



หน้า (๓๒)–(๓๓) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๘ นางเตียวสี


นางเตียวสีเป็นมารดาของตั่นกองหยีจอหงวน เป็นย่าของพระถังซัมจั๋ง เมื่อตั่นกองหยีได้เป็นขุนนางจะออกไปกินเมืองกังจิวก็รับมารดาไปด้วย แต่มากลางทาง บังเอิญมารดาเป็นไข้ไปไม่ได้ ตั่นกองหยีมีราชการร้อนก็เช่าที่พัดให้มารดาอยู่รักษาตัว ครั้นตั่นกองหยีไปถูกโจรกระทำร้ายตั้งแต่นั้นมาก็มิได้ข่าวเลย นางเตียวสีก็ตั้งตาคอยบุตรร้องไห้จนตามัวมืดเป็นฝ้าแลไม่เห็นสิ่งใด มาจนพระถังซัมจั๋งได้บวชแล้วตามมาหาเลียหาให้ตาจึงได้สว่าง ต่อภายหลัง มารดากับบุตรแลวงศ์ญาติจึงได้พร้อมกัน



หน้า (๓๔)–(๓๕) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๑๙ จีนแสอวนซิ้วเซ้ง


จีนแสอวนซิ้วเซ้งเป็นบุตรอวนทีกัง ขุนนางฝ่ายโหร จีนแสอวนซิ้วเซ้งเป็นหมอดูทายดุจตาเห็นวิเศษกว่าหมอดูทั้งปวง พระยาเล่งอ๋องในมหาสมุทรเกียฮ้อแปลงตัวมาทดลองความรู้ จีนแสทายดังตาเห็น เธอตั้งโต๊ะดูอยู่ที่ประตูเมืองข้างทิศตะวันตกในเมืองเชียงอาน



หน้า (๓๖)–(๓๗) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒๐ เล่าช้วน


เล่าช้วน เล่าช้วนคนนี้เป็นคนพลเรือนอยู่ในเมืองเชียงอาน เวลาวันหนึ่ง เล่าช้วนไม่อยู่ มีพระสงฆ์มาเรี่ยไรหล่อพระพุทธรูป ภรรยาเอากำไลทองคำที่ใส่ข้อมือถวายพระสงฆ์ไป เล่าช้วนโกรธพูดหยาบคาย ภรรยามีความเสียใจผูกคอตาย เล่าช้วนคิดถึงภรรยาร้องไห้ทุกวันทุกคืน เวลานั้น พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ได้กลับจากเมืองนรก มีประกาศว่า ผู้ใดรับอาสาเอาแตงโมไปเมืองนรกจะมีบำเหน็จรางวัลให้ เล่าช้วนคิดถึงภรรยา จึงเข้ารับอาสาไป ภายหลังได้พบกับภรรยาแลกลับมายังมนุษยโลกตามเดิม



หน้า (๓๘)–(๓๙) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒๑ สมภารฮวดเม้ง


ท่านสมภารฮวดเม้งอยู่วัดกิมซัวยี่ เป็นที่พระราชาคณะใหญ่ บรรดาวัดที่อยู่ในหัวเมืองกังจิวต้องมาขึ้นแลเคารพทั้งสิ้น โดยเหตุที่เป็นผู้มัธยัสถ์ถือสิกขาวินัยเคร่งครัด ทั้งเป็นผู้สำเร็จในทางฌานเชี่ยวชาญมาก เมื่อพระถังซัมจั๋งยังเป็นทารก มารดาปล่อยลอยมาในน้ำ ท่านเก็บได้ เลี้ยงไว้จนได้บวชเรียน คือ ท่านเป็นอาจารย์ของพระถังซัมจั๋ง



หน้า (๔๐)–(๔๑) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒๒ พระยาเล่งอ๋อง


พระยานาคเล่งอ๋องนี้เป็นผู้รักษาการอยู่ในแม่น้ำเกียฮ้อ มีฤทธิ์อานุภาพแปลงตัวมาหาหมอดู จีนแสอวนซิ้วเซ้งก็ดูให้ดังตาเห็น แต่เล่งอ๋องแกล้งทำให้ฝนตกเคลื่อนคลาดเวลาไป เง็กเซียงฮ่องเต้จึงได้ลงโทษให้งุยเต็งเอาไปประหารชีวิตเสียในกลางอากาศ



หน้า (๔๒)–(๔๓) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒๓ เล่าฮอง


เล่าฮองผู้นี้เป็นคนแจวเรือจ้าง อาศัยอยู่ในแม่น้ำฮองกัง คอยรับคนโดยสารข้ามฟาก ถ้าเห็นผู้โดยสารมีทรัพย์สิ่งของควรจะเอาได้ ก็ฆ่าเจ้าของทรัพย์เก็บเอาทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ ทำอยู่อย่างนี้เนือง ๆ มา เวลานั้น ตั่นกองหยีจอหงวนลงโดยสารมาในเรือ เล่าฮองก็นำเรือไปที่ลับ จับบ่าวไพร่ฆ่าเสียหมด แล้วจับตัวตั่นกองหยีตีจนตายผลักลงในน้ำ ยังแต่นางอุนเกี๋ยวไม่ฆ่า พาไปเลี้ยงเป็นภรรยา นำท้องตราขึ้นไปกินเมืองกังจิว ต่อภายหลัง งุยเต็งยกกองทัพไปจับตัวเล่าฮองฆ่าเอาศพเซ่นตั่นกองหยีที่แม่น้ำฮองกัง



หน้า (๔๔)–(๔๕) ขึ้นลงสารบัญ



รูปที่ ๒๔ เฮ๊กฮองไต้อ๋อง


เฮ๊กฮองไต้อ๋องเดิมกำเนิดเป็นหมีดำ ได้ปฏิบัติบวชสำเร็จแบ่งภาคเปลี่ยนแปลงเป็นมนุษย์ได้ มีฤทธิ์เดชศักดากล้าหาญ อาศัยอยู่ที่เขาเฮ๊กฮองซัว ถ้ำเฮ๊กฮองต๋อง ใกล้วัดกวนอิมเซียนยี่ เมื่อเวลาพระถังซัมจั๋งมาถึงวัดก็เข้าพักอาศัยนอน เฮ๊กฮองไต้อ๋องลักเอาผ้ากาสาวพัสตร์ของพระถังซัมจั๋งไป ถูกเห้งเจียกำจัดจับได้ พระโพธิสัตว์กวนอิมเอาตัวไปเลี้ยงที่น่ำไฮ้




สารบัญ ขึ้น



สารบัญ[1]


ตอน ชื่อตอน หน้า
ไทย จีน อังกฤษ
  • รากเทวาอุบัติ มูลรากนั้นปรากฏ
  • บ่มเพาะจิตใจและธรรมชาติบังเกิดเป็นวิถีทางอันยิ่งใหญ่
  • 靈根育孕源流出
  • 心性修持大道生
  • The divine root conceives, its source revealed;
  • Mind and nature nurtured, the Great Dao is born.
  • ซาบซึ้งสัทธรรมของพระสุภูติ (โผเถโจ๊ซือ)
  • วานรกำจัดมารแล้วฟื้นสัญชาตญาณเดิม
  • 悟徹菩提真妙理
  • 斷魔歸本合元神
  • Fully awoke to Bodhi's wondrous truths;
  • He cuts off Māra, returns to the root, and joins Primal Spirit.
๒๓
  • สี่สมุทรพันไศลล้วนศิโรราบ
  • ลบนามสัตว์ทั้งสิบในนรกขุมที่เก้า
  • 四海千山皆拱伏
  • 九幽十類盡除名
  • Four Seas and a Thousand Mountains all bow to submit;
  • From Ninefold Darkness ten species' names are removed.
๔๒
  • ได้เป็นขุนม้า ขุนกระบี่ยังไม่พอใจ
  • ได้นามว่า ยิ่งใหญ่เสมอฟ้า เจ้าวานรก็ยังทุกข์ตรม
  • 官封弼馬心何足
  • 名注齊天意未寧
  • Appointed a BanHorse, could he be content?
  • Named Equal to Heaven, he's still not appeased.
๖๖
  • มหามุนี (ไต้เซีย) ก่อกวนที่ประชุมท้อสวรรค์และลักน้ำอมฤต
  • เมืองฟ้าปั่นป่วน เทวาจับยักษ์
  • 亂蟠桃大聖偷丹
  • 反天宮諸神捉怪
  • Disrupting the Peach Festival, the Great Sage steals elixir;
  • With revolt in Heaven, many gods would seize the fiend.
๘๗
  • พระกวนอิมมาประชุมและสืบสาเหตุ
  • ยุวมุนี (ยี่หนึงจินกุน) แสดงฤทธีปราบมหามุนี
  • 觀音赴會問原因
  • 小聖施威降大聖
  • Guanyin, attending the banquet, inquires into the cause;
  • The Little Sage, exerting his power, subdues the Great Sage.
๑๐๕
  • มหามุนีหนีจากเบ้าแปดตรีลักษณ์ (เบ้าโบ้ยก่วย)
  • ชาติลิงแน่นิ่งใต้เขาห้าธาตุ (เง้าเห้งซัว)
  • 八卦爐中逃大聖
  • 五行山下定心猿
  • From the Eight Trigrams Brazier the Great Sage escapes;
  • Beneath the Five Phases Mountain, Mind Monkey is still.
๑๒๔
  • พระพุทธองค์เทศนาธรรมาภิมัย
  • พระกวนอิมรับพระพุทธฎีกาไปเมืองเชียงอาน
  • 我佛造經傳極樂
  • 觀音奉旨上長安
  • Our Buddha makes scriptures to impart ultimate bliss;
  • Guanyin receives the decree to go up to Chang'an.
๑๔๐
  • ตั่นกองหยีถึงแก่วิบัติระหว่างเดินทางไปรับตำแหน่ง
  • สมณะลอยคลอง (กังลิ้ว) แก้แค้นแทนพ่อแม่
  • 陳光蕊赴任逢災
  • 江流僧復讎報本
  • Chen Guangrui, going to his post, meets disaster;
  • Monk River Float, avenging his parents, repays his roots.
๑๕๙
  • นาคราชวางแผนเลอะเลือนจนขัดเทวโองการ
  • อัครมหาเสนาบดีงุยมีจดหมายถึงยมทูต
  • 老龍王拙計犯天條
  • 魏丞相遺書託冥吏
  • The Old Dragon King's foolish schemes transgress Heaven's decrees;
  • Prime Minister Wei's letter seeks help from an official of the dead.
๒๐๗
  • พระเจ้าไทจงประพาสนรกแล้วฟื้นคืนพระชนม์
  • เล่าช้วนถวายแตงให้มัจจุราช และครองรักกับภริยาอีกครั้ง
  • 遊地府太宗還魂
  • 進瓜果劉全續配
  • Having toured the Underworld, Taizong returns to life;
  • Having presented melons and fruits, Liu Quan marries again.
๒๓๕
  • กษัตริย์ถังเรียกประชุมคณะเสนาโดยพระราชศรัทธา
  • พระกวนอิมเสด็จมาจำแลงด้วงทอง
  • 唐王秉誠修大會
  • 觀音顯聖化金蟬
  • The Tang emperor, firmly sincere, convenes a Grand Mass;
  • Guanyin, in epiphany, converts Gold Cicada.
๒๖๑
  • ดาวทอง (กิมแช) ช่วยพ้นซ่องเสือ
  • ปั๋วชินจับภิกษุขังไว้ที่ผาสองยอด
  • 陷虎穴金星解厄
  • 雙叉嶺伯欽留僧
  • In the den of tigers, the Gold Star brings deliverance;
  • At Double-Fork Ridge, Boqin detains the monk.
๒๙๙
  • ชาติลิงสำนึกตัว
  • โจรชั่วทั้งหกหายไปไร้ร่องรอย
  • 心猿歸正
  • 六賊無蹤
  • Mind Monkey returns to the Right;
  • The Six Robbers vanish from sight.
๓๑๓
  • เทวาแอบช่วยที่เขานาคขด (จั่วปั่วซัว)
  • ได้ม้ามโนมัยที่บึงอินทรีสังเวช (บึงเองเส้า)
  • 蛇盤山諸神暗佑
  • 鷹愁澗意馬收韁
  • At Serpent Coil Mountain, the gods give secret protection;
  • At Eagle Grief Stream, the Horse of the Will is reined.
๓๓๘



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ

[แก้ไข]
  1. สารบัญเพิ่มโดยวิกิซอร์ซ ต้นฉบับไม่ได้แบ่งเป็นตอน ๆ เช่นนี้ ส่วนตอนที่ปรากฏนี้ วิกิซอร์ซเทียบเอากับต้นฉบับจีน เพื่อประโยชน์ในการอ่าน




ขึ้น เล่ม ๒